ผมไปรู้จักเครื่องมือตัวนึงจากโพสต์ที่เพื่อนผมแชร์บน Facebook มันชื่อ QuillBot ซึ่งเป็นบริการให้ AI ช่วยเรียบเรียงประโยคภาษาอังกฤษให้ดูดีขึ้น ซึ่งในฐานะที่มีความจำเป็นต้องเขียนอีเมลสื่อสารกับคนต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษอยู่บ่อยๆ ผมก็ได้ลองใช้ QuillBot นี่มาราวๆ 2 สัปดาห์ และผมก็รู้สึกว่า ขนาดบริการฟรีมันยังดีขนาดนี้ เราก็ควรจะอุดหนุนเขาซักหน่อยดีกว่า แค่เดือนละไม่ถึง 200 บาท กับความสามารถที่ได้เพิ่มขึ้น และเราก็ได้ใช้บ่อยๆ อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงการลองใช้ Google Translate ร่วมกับ QuillBot เพื่อที่จะได้เขียนภาษาไทยแล้วได้ภาษาอังกฤษสละสลวยออกมาเลยว่าเป็นยังไงบ้าง บล็อกตอนนี้ก็เลยจะขอเขียนแนะนำเฉพาะตัว QuillBot บ้าง ว่าทำอะไรได้บ้าง และถ้าเกิดเราเลือกสมัครเป็นพรีเมียมแล้ว จะได้ความสามารถอะไรเพิ่มมาบ้าง
QuillBot ทำอะไรได้บ้าง?
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ QuillBot มีบริการให้ใช้อยู่ 6 บริการ คือ ตัวช่วยเรียบเรียงประโยค (Paraphraser) เครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์ (Grammar checker) เครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism checker) ใช้ทุกเครื่องมือของ QuillBot ในที่เดียว (Co-Writer) สรุปจับใจความ (Summarizer) และ ตัวสร้างบรรณานุกรม (Citation generator) ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องทำงานด้านเอกสารภาษาอังกฤษอย่างมากครับ

สำหรับคนที่เห็นชื่อของเครื่องมือแต่ละตัวแล้วยังงงๆ ว่ามันคืออะไรยังไง ผมขออธิบายสรุปๆ แบบนี้ให้อ่านครับ แล้วอ่านบล็อกต่อไปเรื่อยๆ ผมจะอธิบายการทำงานของเครื่องมือแต่ละตัวให้ได้อ่านกัน
เครื่องมือ | คำอธิบาย |
---|---|
ตัวช่วยเรียบเรียงประโยค (Paraphraser) | เครื่องมือนี้จะช่วยเรียบเรียงประโยคภาษาอังกฤษที่เราเขียนขึ้นมาใหม่ให้สละสลวยขึ้น โดยสามารถตั้งค่าให้ AI เรียบเรียงใหม่ โดยพิจารณาจากรูปแบบการใช้งานที่เราต้องการ ได้แก่ มาตรฐาน (Standard) ลื่นไหล (Fluency) เป็นทางการ (Formal) เรียบง่าย (Simple) สร้างสรรค์ (Creative) เติมให้ยาวขึ้น (Expand) ทำให้สั้นลง (Shorten) |
เครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์ (Grammar checker) | เครื่องมือนี้จะช่วยตรวจสอบไวยากรณ์ หรือตัวสะกดต่างๆ ของประโยคภาษาอังกฤษที่เราเขียน อันไหนที่เหมือนจะไม่ถูกต้องก็จะมีการขีดเส้นใต้สีแดงกำกับไว้ พร้อมเสนอแนะทางเลือกให้เราดู อันนี้จะคล้ายๆ กับเครื่องมือตรวจสอบของโปรแกรมจำพวก Microsoft Word แต่มันมีการใช้ AI เข้ามาช่วยด้วย |
เครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism checker) | เป็นเครื่องมือที่เอาไว้ใช้สแกนข้อความเอกสารเพื่อตรวจสอบว่าเอกสารชิ้นนี้มีการคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นหรือไม่ เป็นอะไรที่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้ใช้มากนัก แต่คนที่ทำงานด้านวิชาการ เขียนพวกรายงานวิจัย รวมถึงครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา จะได้ใช้บ่อย |
ใช้ทุกเครื่องมือของ QuillBot ในที่เดียว (Co-Writer) | สำหรับเครื่องมือตัวนี้ เรียกง่ายๆ ก็คือ Online word processor (คล้ายๆ Google Docs) บนแพลตฟอร์มของ QuillBot ที่ให้เราพิมพ์เอกสารกันบนนี้ แล้วสามารถใช้เครื่องมือของ QuillBot ทุกอย่างได้พร้อมกันในที่เดียวเลย |
เครื่องมือสรุปจับใจความ (Summarizer) | เครื่องมือตัวนี้จะวิเคราะห์ข้อความทั้งหมด แล้วไม่ว่ามันจะยาวขนาดไหนก็ตาม มันก็จะพยายามสรุปให้สั้นในระดับที่พอจะอ่านได้แบบไวๆ โดยยังจับใจความสำคัญของข้อความทั้งหมดได้ |
ตัวสร้างบรรณานุกรม (Citation generator) | เป็นเครื่องมือที่คล้ายกับฟังก์ชัน Insert citation ของ Microsoft Word ครับ ซึ่งจะช่วยให้เราบริหารจัดการแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้ในจุดเดียว และสามารถแทรกใส่ในตัวเอกสารได้เลย หากเราลบอันไหน มันก็จะไปจัดการลบออกให้โดยอัตโนมัติ |
ในกรณีที่เราใช้แพ็กเกจฟรี เราจะสามารถใช้ได้แค่ ตัวช่วยเรียบเรียงประโยค (Paraphaser) เครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์ (Grammar checker) และเครื่องมือสรุปจับใจความ (Summarizer) โดยตัวช่วยเรียบเรียงประโยคเนี่ยก็จะมีข้อจำกัดคือ เรียบเรียงประโยคได้ครั้งละไม่เกิน 125 คำเท่านั้น และเครื่องมือสรุปจับใจความก็จะถูกจำกัดที่ 1,200 คำเท่านั้น ส่วนเครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคำแต่อย่างใด
ตัวช่วยเรียบเรียงประโยค (Paraphraser)
เป็นเครื่องมือหลักของ QuillBot เลยก็ว่าได้ สำหรับคนที่ใช้แพ็กเกจฟรี ก็จะสามารถใช้เครื่องมือตัวนี้ได้ด้วย แต่จะมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ดังนี้ครับ
ฟรี | พรีเมียม |
---|---|
🟢 ใช้ได้แค่โหมด Standard และ Fluency | 🟢 มีให้เลือกครบทุกโหมด คือ Standard, Fluency, Expand, Shorten, Formal, Simple และ Creative |
🟢 เรียบเรียงได้ครั้งละ 125 คำ | 🟢 เรียบเรียงได้ไม่จำกัดจำนวนคำต่อครั้ง |
🟢 ตัวเลือกระดับการเปลี่ยนคำศัพท์ 3 ระดับ | 🟢 ตัวเลือกระดับการเปลี่ยนคำศัพท์ 4 ระดับ |
🟢 เลือกคำที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนได้แค่ 1 คำ หรือ 1 วลี | 🟢 เลือกคำที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนได้ไม่จำกัด |
🟢 สรุปจับใจความได้ 1,200 คำต่อครั้ง | 🟢 สรุปจับใจความได้ 6,000 คำต่อครั้ง |
🔴 ประมวลผลรวดเร็ว | 🟢 ประมวลผลรวดเร็ว |
🔴 เรียบเรียงประโยคใหม่ด้วยไวยากรณ์ระดับสูง | 🟢 เรียบเรียงประโยคใหม่ด้วยไวยากรณ์ระดับสูง |
🔴 เปรียบเทียบการเรียบเรียงในโหมดต่างๆ ได้ (เฉพาะการใช้งานบนเดสก์ท็อปเท่านั้น) | 🟢 เปรียบเทียบการเรียบเรียงในโหมดต่างๆ ได้ (เฉพาะการใช้งานบนเดสก์ท็อปเท่านั้น) |
🔴 ตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (ได้เดือนละ 20 หน้า หน้าละไม่เกิน 250 คำ) | 🟢 ตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (ได้เดือนละ 20 หน้า หน้าละไม่เกิน 250 คำ) |
🔴 ตรวจสอบโทนการเขียน | 🟢 ตรวจสอบโทนการเขียน |
การใช้งานไม่ยุ่งยากเลย แค่เปิดเว็บไซต์ QuillBot ขึ้นมา แล้วก็ Copy & paste ข้อความที่เราต้องการจะเรียบเรียงซะใหม่ จากนั้นก็เลือกโหมดว่าเราอยากให้ข้อความนั้นถูกเรียบเรียงมาในสไตล์ไหน เลือกการตั้งค่า Synonyms หรือ ตัวเลือกสำหรับการหาคำศัพท์มาเปลี่ยนแทนของเดิม โดยซ้ายสุดคือเปลี่ยนคำให้น้อยที่สุด ก็จะมีข้อความใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด และขวาสุดคือเปลี่ยนให้มากที่สุด ข้อความที่ได้ก็อาจจะเพี้ยนไปจากของเดิมเยอะ ปกติผมก็จะเลือกอยู่ประมาณระดับ 2 พอ แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว
จากนั้นก็กด Rephrase แล้วก็รอ เราก็จะได้เห็นข้อความที่ถูกเรียบเรียงใหม่อยู่ทางขวามือครับ

ประโยคด้านบนอะ ถ้าเกิดเราเลือกโหมดแตกต่างกัน มันก็จะได้ข้อความที่แตกต่างกันด้วยนะ มาดูกันว่าแต่ละโหมดเป็นยังไงบ้าง ต้นฉบับนี่ผมคิดแล้วก็เขียนแบบลวกๆ เลยครับ ลองจงใจใช้ไวยากรณ์ผิดด้วย (เช่น พูดถึงอดีต แต่ดันใช้ I am เป็นต้น) ผลที่ได้จากการเรียบเรียง ก็ตามด้านล่างนี้เลยครับ
โหมด | ข้อความ |
---|---|
ต้นฉบับ | I wonder if I should try to write a blog in English. In the past, I am reluctant to do that because English is not my mother tongue. Writing a blog in English is really troublesome. But now I have QuillBot, a tool that can help me paraphrase whatever I write into something more fluent and easier to read. I think I should consider writing a blog in English, too. |
Standard | I’m not sure if I should try to write an English blog. I’ve been hesitant to do that in the past because English is not my mother tongue. It’s very challenging to blog in English. But thanks to QuillBot, a technology, I can now paraphrase anything I write into something more fluid and readable. I suppose I ought to think about publishing a blog in English as well. |
Fluency | I’m thinking of starting a blog in English. In the past, I was hesitant to do so because English is not my first language. Writing a blog in English is quite difficult. But now I have QuillBot, a programme that can help me paraphrase whatever I write and make it more fluent and easy to read. I’m thinking about starting a blog in English as well. |
Formal | I wonder if I should attempt to write an English blog. In the past, I have been hesitant to do so because English is not my native language. Writing a blog in English is quite difficult. But now I have QuillBot, a technology that can assist me rewrite my writing so that it is more readable and flows better. I believe that I should also explore writing a blog in English. |
Simple | I’m not sure if I should try to write an English blog. Because English is not my first language, I used to be hesitant to do that. It’s very hard to write a blog in English. But now I have QuillBot, a tool that can help me change whatever I write into something that flows better and is easier to read. I think I should also think about starting a blog in English. |
Creative | I’m debating whether or not to try starting an English-language blog. Because English is not my first language, I have been hesitant to do so in the past. Putting together a blog post in English is a major pain. I used to have to rewrite everything by hand, but now I have QuillBot, which helps me rewrite everything I write so that it flows better and is easier to read. Keeping a blog in English is something I need to give some serious thought to. |
Expand | I’m debating whether or not I should make an effort to compose a blog post in English. Due to the fact that English is not my first language, I have traditionally been hesitant to do that. The process of writing a blog post in English is very challenging. However, I now have QuillBot, a programme that will assist me in rephrasing everything I write into something that is more coherent and simpler to understand. I’ve been thinking that maybe I might also consider starting a blog in English. |
Shorten | Should I write an English blog? I’ve been hesitant because English isn’t my first language. English blogging is difficult. QuillBot helps me rephrase my writing to make it more smooth and readable. I should start an English blog. |
เป็นไงบ้างครับ มันเจ๋งมากเลยไหม ประโยคภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ ทื่อๆ ที่ผมเขียน พอเอามาให้ QuillBot เรียบเรียงให้ใหม่ มันดูดีขึ้นเลย เอาตรงๆ นะ จากที่ผมได้ลองใช้ดูจาก 7 โหมดที่มีให้เลือก มันจะมี 5 โหมดที่คนทั่วไปน่าจะได้ใช้ประโยชน์ครับ นั่นคือ Standard, Fluency, Formal, Simple และ Shorten และสำหรับคนที่ไม่อยากเสียเงิน ผมก็ว่า Standard และ Fluency นี่ก็เรียกว่าเหลือๆ สำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่เราอยากจะเขียนอีเมลหาเพื่อนร่วมงาน หาหัวหน้า ลูกค้า อะไรพวกนี้ ซึ่ง 125 คำนี่บอกเลยว่าถือว่าเยอะนะครับ เพราะเขาประเมินกันว่า เอกสาร 1 หน้ากระดาษเนี่ย ก็ 250 คำโดยประมาณ พูดง่ายๆ คุณสามารถให้ QuillBot เรียบเรียงประโยคภาษาอังกฤษให้ฟรีๆ ได้ทีละครึ่งหน้าแล้ว
แต่สำหรับคนที่ทำงานด้านรายงาน งานวิจัย อะไรพวกนี้ ก็อาจจะอยากสมัครเป็นแพ็กเกจพรีเมียม เพื่อที่จะได้ใช้โหมด Formal ที่เลือกใช้คำศัพท์ได้ดูเป็นทางการกว่าครับ
เครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์ (Grammar checker)
เป็นอีกเครื่องมือที่มีให้ใช้ในแพ็กเกจฟรีด้วย และสามารถ Copy & paste ข้อความมาเช็กได้แบบไม่จำกัดคำเลย แล้วมันก็จะตรวจสอบว่ามีจุดไหนที่ผิดไวยากรณ์บ้าง และสามารถให้คำแนะนำกับเราได้ว่าจุดที่ผิดนี้ ควรจะถูกแก้เป็นอะไร ซึ่งความผิดพลาดที่ QuillBot ตรวจสอบได้เนี่ย มันรวมถึงตัวสะกดด้วยนะ ตัวไหนผิด และ AI คิดว่าเรากำลังจะพิมพ์คำว่าอะไร มันก็แนะนำได้

แต่ต้องทำความเข้าใจเอาไว้ด้วยว่า ฟีเจอร์นี้จะไม่เข้าไปช่วยเรียบเรียงข้อความใดๆ ให้เราเลยนะครับ ใครจะใช้ฟีเจอร์นี้ ต้องมั่นใจในการเขียนของตัวเองว่าโอเคนะ มันเหมาะกับคนที่ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษแบบที่มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ครบ แต่อยากให้แน่ใจว่าเราใช้ไวยากรณ์ไม่ผิด อันนี้ก็คล้ายๆ กับฟีเจอร์ Proofing tool ของ Microsoft Office นั่นแหละครับ แต่ก็อีกนั่นแหละ มันใช้ AI (และ Machine learning) ในการทำให้ตัว QuillBot สามารถตรวจจับความผิดของไวยากรณ์ได้ดีขึ้น พร้อมคำแนะนำที่ดีขึ้น
แต่ Paraphraser ของ QuillBot ก็ช่วยตรวจเรื่องไวยากรณ์แล้วก็แก้ให้ด้วยนะ เพียงแต่ว่ามันมีการเรียบเรียงประโยคซะใหม่ด้วยไง ก็เลยทำให้มันไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการแค่ตรวจเช็กไวยากรณ์ ซึ่งถ้าเกิดต้องการแค่ตรวจเช็กไวยากรณ์แล้วละก็ Grammarly อาจจะเหมาะสมกว่า แถมตัวโปรแกรมเองก็มีตัวเลือกให้ใช้งานเยอะกว่าด้วย ถ้าจะใช้แบบฟรีๆ ก็มีปลั๊กอินสำหรับเบราว์เซอร์ และหากใช้แพ็กเกจพรีเมียมแบบผม ก็จะมีทั้ง Add-on สำหรับ Microsoft Office รวมถึงโปรแกรมสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Keyboard สำหรับ iOS และ Android

ข้อสังเกตคือ Grammarly จะช่วยเรียบเรียงประโยคให้ด้วย แต่มันจะพยายามจะคงเอาไว้ซึ่งประโยคดั้งเดิมให้มากที่สุด โดยจะเน้นไปที่การแนะนำเพื่อให้ถูกไวยากรณ์ หรือไม่ก็เพื่อให้ประโยคมีความชัดเจนมากขึ้น เป็นต้น และหากใครอยากจะให้ Grammarly แนะนำในระดับที่สูงขึ้น ก็ต้องเสียเงินซื้อแพ็กเกจ ซึ่งตกปีละ $144 (ถ้าเกิดเลือกจ่ายเป็นรายปี ซึ่งราคาจะถูกลงไปมากๆ เมื่อเทียบกับค่าบริการเป็นรายเดือน) เป็นอะไรที่แพงกว่ามากๆ เมื่อเทียบกับค่าบริการของ QuillBot ($49.95 เมื่อเลือกจ่ายเป็นรายปี)
เครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism checker)
เครื่องมือตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ครูหรืออาจารย์จะได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด แต่เป็นฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานทั่วไปอาจจะไม่ได้ใช้งานเลย อันนี้ไม่ใช่ความสามารถของตัว QuillBot เองนะครับ เขาไปใช้บริการของแพลตฟอร์มชื่อ Copy Leaks ครับ น่าจะไปใช้ส่วนของ API Integration มาใช้ สำหรับคนที่อยากจะไปใช้บริการเพื่อตรวจสอบการคัดลอกผลงานที่เป็นภาษาอังกฤษ และใช้ไม่เกิน 10 หน้าต่อปี (น้อยโคตรๆ อะ) ก็ไปใช้บัญชีฟรีที่ CopyLeaks.com ได้เลย

โดยปกติแล้ว เวลาสแกนหาการคัดลอกผลงานอะ เขาจะไม่ได้สแกนทีละ 2 ประโยคแบบผมนะครับ อันนี้มันแค่ทดสอบอะ ถ้าจะสแกนกันจริงจัง ปกติเขาสแกนกันทีเป็นหน้าๆ หรือบางคนเล่นง่ายๆ คือ โยนไฟล์เอกสารเข้าไปทั้งไฟล์ให้สแกนเลยครับ
บริการนี้มันเหมือนเป็นของแถมสำหรับคนสมัคร QuillBot แบบพรีเมียมมากกว่า เพราะ 20 หน้าต่อเดือน ถ้าคุณเป็นครูอาจารย์ที่ต้องตรวจงานลูกศิษย์บ่อยๆ มันก็ไม่น่าจะพออยู่ดี และไม่อยากบอกว่าซื้อเพิ่มจำนวนหน้าก็แพงมาก 100 หน้า $24.95 แน่ะ แต่ถ้าเราไปที่เว็บไวต์ CopyLeaks.com ที่เป็นต้นทางอะ 100 หน้า/เดือน มันตกเดือนละ $9.16 เอง (ถ้าจ่ายเป็นรายปี) แต่ข้อดีของ QuillBot ก็คือ มันมีให้ทุกเดือน เดือนละ 20 หน้าอยู่แล้ว และหากต้องการเพิ่ม ก็ซื้อเพิ่มเป็นครั้งคราวได้
ใช้ทุกเครื่องมือของ QuillBot ในที่เดียว (Co-Writer)
เครื่องมือตัวนี้ มันก็คือ Online word processor คล้ายๆ กับ Google Docs นั่นเอง มันก็มีเครื่องมือสำหรับการจัดหน้าเอกสารแบบพื้นฐานอยู่ครบ เมื่อพิมพ์เอกสารเสร็จก็สามารถ Export ออกมาเป็นไฟล์ Microsoft Word ได้ โดยในเครื่องมือตัวนี้ มันจะมี Grammar checker รันไว้ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถแก้ไขจุดที่ไวยากรณ์ผิดพลาดได้ และหากเรารู้สึกว่าตรงไหนเขียนแล้วดูไม่เวิร์ก ก็ไฮไลต์ประโยคนั้นเอาไว้ แล้วใช้ Paraphraser เรียบเรียงให้ใหม่เลยก็ได้

นอกจากนี้มันก็มีฟีเจอร์เช่น การค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ การจดโน้ตเพื่อบันทึกไอเดีย หรืออะไรก็ตามที่เราอาจจะนึกขึ้นมาได้ตอนที่กำลังพิมพ์เอกสารอยู่ รวมถึง Citations หรือ ฟีเจอร์การบริหารจัดการแหล่งข้อมูลอ้างอิง ซึ่งสามารถเลือก Style ที่เป็นมาตรฐานของงานเขียนได้หลากหลาย และสามารถอ้างอิงได้ทั้งเว็บไซต์ หนังสือ และบทความงานวิจัย (Journal article)

Citations ทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมา ก็สามารถเอาไปแทรกตามจุดต่างๆ ในเอกสารได้ และเมื่อแทรกเสร็จแล้ว มันก็จะทำการสร้างหน้าบรรณานุกรมที่หน้าท้ายสุดให้โดยอัตโนมัติ
เครื่องมือสรุปจับใจความ (Summarizer)
เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมาก คนที่ทำงานด้านสื่อสารองค์กรหรือสื่อสารมวลชนเนี่ย น่าจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ เวลาที่เจอเนื้อหาข้อความที่ยาวมากๆ แล้วต้องการสรุปจับใจความเพื่อเอาไปใช้ต่อ ซึ่งถ้าใช้บริการฟรีเนี่ย ก็จะสรุปเนื้อหาได้จากบทความที่ยาวไม่เกิน 1,200 คำ แต่ถ้าเป็นแบบพรีเมียม (เสียตังค์) เราจะสแกนได้ยาวสุด 6,000 คำเลยทีเดียว ซึ่งเอาตรงๆ นะ ถ้าจะใช้แค่สรุปใจความอะ แบบฟรีก็แทบจะเหลือเฟือแล้ว 1,200 คำนี่คือเกือบ 5 หน้ากระดาษเลย

การสรุปใจความทำได้ไม่ยาก ก็แค่ Copy & paste ข้อความลงไปที่กล่องข้อความทางซ้ายก่อน จากนั้น QuillBot จะสแกนหาคีย์เวิร์ดจากบทความมาให้ เราก็เลือกว่าคำไหนบ้างที่เป็นคีย์เวิร์ด ซึ่งการเลือกอันนี้สำคัญครับ เพราะมันจะเป็นตัวบอก AI ให้รู้ว่า เรื่องนี้มันน่าจะเกี่ยวกับอะไร เช่น ผมลองก๊อปปี้เนื้อข่าวจาก CNN มาข่าวนึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของ Elon Musk ที่มีต่อเพนตากอน สหรัฐอเมริกา ว่า SpaceX สนับสนุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับยูเครนไม่ไหวแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก ประมาณนี้
ถ้าเกิดเราไม่เลือกคีย์เวิร์ดเลย จะเห็นว่ามันก็สรุปเนื้อหามาได้โอเคประมาณนึง แต่ว่ามันจะดูแปลกๆ หน่อย เช่น ประโยคสุดท้ายเนี่ย มันอารมณ์ตัดมาห้วนๆ อ่านแล้วก็งงว่า Internal numbers on Starlink นี่คืออะไร แต่ถ้าเราเลือกคีย์เวิร์ดสำคัญๆ ของบทความข่าวนี้มา ได้แก่ Ukraine, Pentagon, cost, SpaceX และ StarLink ผลก็คือ การสรุปใจความของข่าว มันทำออกมาได้ดีขึ้นมากเลย (แน่นอนว่าข้อความก็แอบยาวขึ้นด้วยเช่นกัน) เพราะ AI มันต้องสรุปใจความของเนื้อหาที่รายรอบคีย์เวิร์ดเหล่านั้น
ไม่เลือกคีย์เวิร์ดเลย | เลือกคีย์เวิร์ดตามความเหมาะสม |
---|---|
SpaceX has warned the Pentagon it may stop funding the Starlink internet service in Ukraine. The satellite internet terminals have been a vital source of communication for Kyiv’s military. Documents obtained by CNN provide a rare breakdown of SpaceX’s internal numbers on Starlink. | Elon Musk’s SpaceX has warned the Pentagon that it may stop funding the Starlink satellite internet service in Ukraine. SpaceX sent a letter to the Pentagon last month saying it can no longer continue to fund the service as it has, documents obtained by CNN show. Musk tweeted on Friday that the “operation has cost SpaceX $80 million and will exceed $100 million by the end of the year”. |
ตัวสร้างบรรณานุกรม (Citation generator)
เครื่องมือสุดท้ายของ QuillBot ก็คือ Citation generator ที่ให้เราสร้าง Citation ได้ทั้งจากหนังสือ เว็บไซต์ และบทความวิจัยต่างๆ ซึ่งเราเลือกได้ทั้งแบบพิมพ์ข้อมูลเข้าไปเอง หรือ ค้นเอาจากอินเทอร์เน็ต โดย AI ก็จะไปวิเคราะห์ข้อมูลแล้วกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ออกมาเป็นรูปแบบของ Citation style ที่เราเลือกให้เองโดยอัตโนมัติก็ได้ จากนั้นเราก็สามารถดาวน์โหลดบรรณานุกรมมาเป็นรูปแบบ Microsoft Word, BibTeX หรือ CSL-JSON ก็ได้

อย่างไรก็ดี มันมีข้อจำกัดนะครับ ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาที่มีพื้นฐานอยู่บนภาษาละติน คิดว่างั้นนะ เพราะผมลองค้นหาด้วยภาษาไทย หรือ ภาษาจีนแล้ว มันไม่ขึ้นผลการค้นหา แต่พอค้นเป็นภาษาอังกฤษหรือสเปน มันค้นหาเจออะ ฉะนั้น ในกรณีของคนไทยเยี่ยงเราๆ ท่านๆ ฟังก์ชันนี้อาจจะไม่ได้ประโยชน์มาก ยกเว้นเรากำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ
แต่จริงๆ แล้ว แพ็กเกจพรีเมียมนี่จำเป็นไหม?
ถ้าคุณอ่านมาจนถึงตรงนี้ คุณก็อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วมันจำเป็นจะต้องเสียเงินสมัครเป็นแพ็กเกจพรีเมียมไหม? ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ถ้าคุณไม่ได้ใช้เยอะ และไม่ได้ทำอะไรที่เป็นทางการมากๆ เน้นใช้แค่การเรียบเรียงประโยค และช่วยตรวจเรื่องไวยากรณ์ ฟรีแพ็กเกจมันก็โอเคอยู่นะ
หลักๆ ประโยชน์ของ QuillBot คือการเรียบเรียงประโยค การใช้แพ็กเกจพรีเมียม มันแลกมาด้วยฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตัวเลือกโหมดการแปล และถ้าเราต้องเขียนอะไรยาวๆ จริงๆ เช่น บล็อกซักตอน หรือต้องเขียน Press release เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะได้ QuillBot นี่ช่วยได้เยอะอยู่นะ

อ้อ! เกือบลืมอีกอย่าง ภาษาอังกฤษอะ มันมีใช้กันหลายประเทศ ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักๆ เลย ก็จะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย แต่ละประเทศเนี่ย ก็จะมีสไตล์การใช้ภาษาอังกฤษแตกต่างกันออกไป ดังนั้น หากเราจะใช้ QuillBot เราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมด้วยว่าเราจะเขียนภาษาอังกฤษสไตล์ไหนนะครับ เช่น ออฟฟิศผมก็จะเป็น British English เป็นต้น