วันนี้นั่งเล่นเกมแนวฆ่าเวลาเพลินๆ ซึ่งเกมพวกเนี้ย มันก็จะมีรางวัลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้เรา หากเราดูโฆษณา ซึ่งเป็นช่องทางหารายได้อย่างนึงของคนทำเกม ปกติโฆษณามันก็จะเป็นพวกเกมแนวฆ่าเวลาเพลินๆ อื่นๆ ที่ตั้งเป้าหมายมาที่เรา เผื่อว่าเราจะหลวมตัวไปเล่นมัน แล้วอาจจะไป “ซื้อ” ไอเท็มในเกมมัน ถ้าเกิดเล่นติดลม แต่โฆษณาอันนี้มันแปลกไปครับ มันเป็นโฆษณาแอปจำพวกปล่อยเงินกู้ ซึ่งทำให้ผมนึกถึงข่าวนี้ของ Thai PBS ครับ ที่ว่าแอปเงินกู้เถื่อนกำลังระบาด
เฉพาะวันนี้วันเดียว ผมเห็นโฆษณาแอปเงินกู้เถื่อนไปประมาณ 3 อันแล้ว ภาพด้านล่างนี่คืออันนึงที่ผมแคปเก็บมา มันถึงขั้นจ้างคนไทยมาทำโฆษณาเวอร์ชันภาษาไทย เพื่อพยายามบอกว่าเป็นสินเชื่อที่ให้วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ และสามารถคืนเมื่อพร้อมได้ มีคลิปนึงบอกว่าให้ยืมได้ 12 เดือนเลยทีเดียว

ดอกเบี้ยต่ำแค่ไหน? เขาบอกว่า 0.7% ต่อวัน ดูเหมือนน้อยนะ วันนึงไม่ถึงร้อยละบาท แต่ถ้าเราลองคูณดูดีๆ 30 วันก็ 2.1% ต่อเดือน ปีนึงก็ 25.2% ต่อปีเลยทีเดียว ไม่น้อยเลยนะครับ ถ้าคิดว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตเขายังกำหนดให้ไม่เกิน 16% ต่อปี
แต่หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่า แต่มันก็แพงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตนิดเดียวเองนะ ก็ใช่ครับ แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่แค่ที่เรื่องอัตราดอกเบี้ยอะสิ เพราะเท่าที่อ่านจากข่าวของ ThaiPBS และคำเตือนจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย พวกแอปเงินกู้เถื่อนพวกนี้ มีทั้งแบบที่หลอกลวงจริงๆ จังๆ คือ หลอกให้โอนค่าธรรมเนียมเพื่อจะกู้เงิน จากนั้นก็เชิดหนีไปเลย หรือไม่ก็ ให้กู้ได้จริง แต่ก็จะได้วงเงินไม่สูงมาก (ซึ่งก็พอเหมาะพอดีกับความต้องการของเหยื่อ) ได้เงินไม่เต็มยอดที่กู้ เพราะต้องหักโน่นนี่นั่น สุดท้ายได้เงินไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่เวลาคำนวณดอกเบี้ย เอาตัวเลขยอดที่จะกู้ (ไม่ใช่ยอดที่ได้รับ) มาคำนวณ แถมเก็บดอกแพงกว่าที่โฆษณาไว้ และกำหนดใช้คืนไวมาก

ตอนนี้เท่าที่ดูพวกแอปเงินกู้มีอยู่เพียบทั้งบน Google Play Store และ Apple App Store เลยครับ แอปพวกนี้ผ่านการตรวจสอบของเจ้าของแพลตฟอร์มได้ไม่ยากเลย เพราะมันมักจะไม่ได้ผิดข้อตกลงการใช้งาน และที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากเราค้นหาแอปกู้เงินเนี่ย มันจะมีทั้งอันที่เป็นของเถื่อนและของที่ถูกกฎหมายปะปนกันไป แต่จากที่ผมลองไถๆ ดู ซัก 20 แอป บน Apple App Store จะมีแอปที่ถูกกฎหมายอยู่ราวๆ 5 แอป หรือพูดง่ายๆ คือ 75% ของแอปกู้เงินที่เจอ จะเป็นแอปกู้เงินเถื่อน!!
พอโฆษณามันไปเด้งบนคนที่เล่นเกมแนวฆ่าเวลา ซึ่งจำนวนไม่น้อยเลยก็อาจจะเป็นพวกวัยรุ่นหรือเยาวชน หรือคนทำงานหาเช้ากินค่ำที่กำลังอยากได้เงินไปหมุน ก็อาจจะหลวมตัวไปเป็นเหยื่อง่ายๆ
ก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง เพราะเท่าที่เห็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เขาก็ยังบอกได้แค่ว่า
การปราบปรามและควบคุมดูแลเงินกู้นอกระบบและมิจฉาชีพเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปิดช่องโหว่เพื่อป้องกันภัยการเงิน ขณะเดียวกันการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการติดตามข่าวสารการเตือนภัยสม่ำเสมอเพื่อให้รู้เท่าทัน เช่น เพจ PCT Police ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำคัญต้องไตร่ตรองด้วยเหตุและผล หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องก่อน ก็จะช่วยให้เราใช้บริการออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับใครที่อยากรู้ว่า เอ๊ะ แล้วแอปไหน บริการกู้เงินไหน ที่ไว้ใจได้ ถูกกฎหมาย แนะนำให้ดูจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยดูครับ