QMiro-201W ตัวนี้ เป็นอะไรที่ผมอยากให้ทาง QNAP ประเทศไทยเอามาวางจำหน่ายมากๆ ซึ่งผมมีโอกาสได้เอามาลองตั้งกะต้นปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เขียนรีวิวเอาไว้ เพราะว่าเขาไม่ได้เอามาวางจำหน่ายอะ เขียนไปเดี๋ยวคนถามหา ไม่มีขาย โดนด่าอีก 🤣🤣 แต่ตอนนี้ทาง QNAP เขาพร้อมเอามาวางจำหน่ายแล้ว เลยรีวิวได้ฮะ ต้องเอากลับมาลองเล่นใหม่ เพราะลืมไปแล้วว่าอะไรเป็นอะไร 🤣🤣
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QMiro-201W ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง QNAP ประเทศไทยให้ยืมมาลองเล่น แล้วก็ลองใช้งานดูครับ ว่าเป็นยังไงบ้าง
เนื่องจาก QMiro-201W ตัวนี้เป็นอุปกรณ์เน็ตเวิร์กจำพวก Mesh WiFi Router/Access Point ครับ ก็เลยไม่ได้มีอะไรมาให้เยอะมากนัก สิ่งที่เราจะได้เมื่อแกะตัวเครื่องออกมาก็คือ ตัว QMiro-201W อะแดปเตอร์ DC ขนาด 24 วัตต์ และสาย LAN แบบ Gigabit LAN
ตัวเครื่อง QMiro-201W ดูสวยดีนะ มีสีที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสีที่เขาเรียกว่า Teal blue ครับ (ผมเองก็ยังงงว่ามัน Blue ตรงไหน เพราะในสายตาของผมอะ มันสีเขียวตุ่นๆ 🤣🤣) ด้วยความที่มันเป็นอุปกรณ์ WiFi มันก็จะต้องมีความร้อนที่เกิดขึ้นจากการส่งคลื่นสัญญาณความถี่สูง มันก็เลยมีพวกรูช่องระบายอากาศอยู่รอบๆ ตัวครับ ด้านหน้านี่เราก็เห็นทั้งด้านบนด้านล่าง

ส่วนด้านหลังก็เช่นกัน เราจะเห็นรูระบายความร้อนเยอะแยะเลย โดยด้านหลังนี่ ตรงบริเวณด้านล่างเราก็จะเห็นช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC In รูสำหรับรีเซ็ตตัว QMiro-201W พอร์ต LAN แบบ RJ-45 2 พอร์ต อันนึงเป็น WAN เอาไว้เสียบกับตัว เราต์เตอร์ สวิตช์ หรือ โมเด็ม ส่วนอีกพอร์ตเอาไว้เสียบกับอุปกรณ์อื่นได้ มีพอร์ต USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) มาให้พอร์ตนึง เอาไว้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวค่อยเล่าให้อ่านกัน

ตัวฉลากด้านหลัง จะอธิบายข้อมูลรุ่นของอุปกรณ์ สเปกนิดๆ หน่อยๆ และมี Serial number กับ MAC address ให้ดู พร้อมกับตัว Login username และ password กับ SSID และ WiFi password ที่เป็น Default มาให้ มี QR code ที่สแกนแล้วจะไปที่หน้าเว็บของ QNAP เพื่อไปแตะลิงก์ดาวน์โหลดแอป QuRouter ที่เอาไว้บริหารจัดการตัว QMiro-201W นี่ได้โดยตรงผ่านสมาร์ทโฟนด้วย

ด้านบนของ QMiro-201W เนี่ย จะมีปุ่มเล็กๆ อยู่ปุ่มนึง มันคือปุ่ม WPS (WiFi Protected Setup) ที่เอาไว้ให้เชื่อมต่ออุปกรณ์กับตัว Wireless Access Point หรือ Router นี่ได้แบบง่ายๆ แล้วเราจะเห็นดีไซน์ขอบพลาสติกขุ่นๆ ที่จะมีไฟ LED ซ่อนอยู่ด้านใน สามารถแสดงผลสีเขียวกับสีน้ำเงินได้ เอาไว้แสดงสถานะตอนใช้งาน
ติดตั้งใช้งานไม่ยาก เชื่อมต่อกับ QNAP ID ได้
การติดตั้งใช้งานไม่ยากเลยครับ เพราะแค่เสียบปลั๊ก เสียบสาย LAN มันก็เปิดเครื่องแล้ว รอมันมีเสียงดังปี๊บซักที แสดงว่ามันบูตเครื่องขึ้นเรียบร้อย เราก็ต่อ WiFi ของเครื่องเพื่อล็อกอินได้ (SSID ที่เป็น Default และรหัสผ่านสำหรับเชื่อมต่อ WiFi อยู่ด้านหลังแล้ว) จากนั้นก็เปิดเบราว์เซอร์แล้วล็อกอินมาที่ IP address ที่ระบุไว้ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง มันก็จะเข้าสู่หน้าจอ Smart Installation Guide ครับ เราก็ทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในนั้นได้เลย

ด้วยความที่มันเป็น Mesh WiFi ซึ่งในการใช้งานจริงๆ มันก็จะมีการใช้หลายตัวในสถานที่เดียวกัน แต่อาจจะวางไว้คนละห้อง อะไรแบบนี้ มันเลยมีตัวเลือกให้เราระบุด้วยว่า เราจะติดตั้งเจ้านี่ไว้ ณ จุดใด ก็จะมีตัวเลือกแบบที่เตรียมมาให้แล้ว คือ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ออฟฟิศ ห้องกินข้าว ห้องอ่านหนังสือ แต่ถ้าเกิดใครอยากตั้งชื่อตามใจฉันตามใจชอบ เขาก็มีตัวเลือก Custom location ไว้ให้เลือกด้วย

พอติดตั้งเสร็จอะ มันก็จะให้เรากำหนดรหัสผ่านของผู้ใช้งาน ซึ่งชื่อผู้ใช้งาน Default ก็จะเป็น Admin ครับ แต่สำหรับผู้ใช้งาน QNAP NAS จะมีตัวเลือกให้ล็อกอินผ่าน QNAP ID ได้ด้วย แต่ต้องแน่ใจว่าเราได้มีการเชื่อมต่อ QMiro-201W นี่กับอินเทอร์เน็ตด้วยนะ
สเปกของ QMiro-201W
เกือบลืมพูดถึงสเปกของ QMiro-201W นี่ไป เพราะมันเป็นแค่ Mesh WiFi แต่ก็นึกขึ้นได้ว่า สเปกมันก็มีผลต่อการรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยอะนะ
สเปก | รายละเอียด |
---|---|
หน่วยประมวลผล | Qualcomm IPQ4019 quad-core ARM Cortex A7 716.8MHz |
หน่วยความจำ | DDR3 512MB |
มาตรฐาน WiFi | 802.11a/b/g/n/ac (AC2200) 2.4GHz (400Mbps) 2×2 Dual band (20/40MHz) 5GHz (867+867Mbps) 2×2 Dual band (20/40/80MHz), 2×2 Single band (20/40/80MHz) |
ดูจากตรงนี้แล้ว จุดเด่นก็คือ มันเป็น Mesh WiFi ที่รองรับ Tri-band ซึ่งมันจะมีย่านความถี่สำหรับ 5GHz ที่เอาไว้ให้ตัว QMiro-201W เชื่อมต่อกันเองเพื่อสื่อสารกันได้ โดยไม่ไปกินแบนด์วิธ WiFi สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ทำให้หมดห่วงเรื่องแบนด์วิธโดนกั๊ก

แต่ข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดของ QMiro-201W นี่เลยก็คือ มันรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อ WiFi สูงสุดแค่ 802.11ac เท่านั้น ยังไปไม่ถึง WiFi 6 ครับ ซึ่งปัจจุบัน อุปกรณ์ในบ้านรวมถึงในออฟฟิศจำนวนมากเขาก็ใช้ WiFi 6 กันแล้ว แต่อย่างไรก็ดี แบนด์วิธสูงสุดที่ QMiro-201W ให้ได้ก็อยู่ที่ 867Mbps ที่ถือว่าใกล้เคียงกับ 1GbE LAN แล้วนะ
มาดูกันหน่อยว่า QMiro-201W มันทำอะไรได้บ้า
สำหรับตัว QMiro-201W นี่เขาก็มีซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า QuRouter ใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเบราว์เซอร์ ในหน้า Dashboard นี่ จะมีข้อมูลภาพรวมของระบบเน็ตเวิร์กที่ต่ออยู่กับ QMiro-201W นี่เลย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของตัวอุปกรณ์ สถานะของการเชื่อมต่อว่าเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตดีอยู่ไหม ความเร็วของการเชื่อมต่อกับพอร์ต WAN และมีอุปกรณ์ใดๆ เชื่อมต่ออยู่บ้าง อะไรแบบนี้

เราสามารถเลือกใช้งาน QMiro-201W ได้ใน 2 โหมดหลักๆ ซึ่งโดย Default นั้น QMiro-201W จะถูกตั้งค่าเป็น Wireless router ดูๆ แล้วเหมือนกับว่า QNAP ตั้งใจจะให้ QMiro-201W นี่เป็นอุปกรณ์เน็ตเวิร์กสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป และพวก Home Office หรือ พวกสาขาออฟฟิศเล็กๆ ที่อาจจะมีการเชื่อมต่อกับสาขาใหญ่ที่ใช้ QNAP NAS และอุปกรณ์เน็ตเวิร์กของ QNAP อยู่ อะไรแบบนี้
อีกโหมดนึงที่เลือกได้ก็คือ การใช้เป็น Access point ที่เอาไว้เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กเดิม เพื่อเพิ่มฟีเจอร์การเชื่อมต่อไร้สาย และสามารถขยายความครอบคลุมของเครือข่ายไร้สายได้ ผ่าน Mesh Wifi นั่นเอง

ตัว QMiro-201W ในฐานะ Router มันก็มีฟีเจอร์ที่พวก Router พึงมี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า Port forwarding เพื่อให้อุปกรณ์ภายในระบบเครือข่ายสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงเพื่อให้บริการได้ การตั้งวง Demilitarized zone (DMZ) หรือแม้แต่การตั้งค่า ALG (Application Layer Gateway) และสามารถตั้งค่า DDNS ได้ เพื่อที่จะได้จับคู่โดเมนเนมกับ Public IP Address ของเราได้ เพื่อจะได้เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น (ใช้ร่วมกับ Port forwarding นั่นแหละ)

QMiro-201W นี่มาพร้อมกับฟีเจอร์ QVPN เลยครับ สามารถใช้ได้ทั้งโปรโตคอล QBelt ของ QNAP เอง และ L2TP กับ OpenVPN ด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของ NAS ไปได้ เพราะไม่ต้องไปเซ็ตบน QNAP NAS นั่นเอง แต่อันนี้เหมาะกับการใช้งานที่มีจำนวนผู้ใช้งานไม่เยอะ เชื่อมต่อมาแต่ละครั้งไม่กี่คนนะ เพราะตัวหน่วยประมวลผลของ QMiro-201W มันไม่ได้ประสิทธิภาพสูงเท่ากับพวก QNAP NAS ที่ใช้ CPU Intel หรือ AMD อะไรแบบนี้

สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป เผื่อใครต้องการควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแบบง่ายๆ QMiro-201W นี่เขามีฟังก์ชันจำพวก Parental control ให้ด้วย แต่เป็นแบบง่ายๆ นะครับ คือ สามารถกลั่นกรองเว็บไซต์ที่จะเข้าได้ สามารถตั้งค่า Safe search ให้กับบริการหลักๆ เช่น YouTube และเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google หรือ Bing ได้ แต่โดยความเห็นส่วนตัว ฟีเจอร์นี้ทำอะไรเด็กยุคนี้ไม่ได้หรอก เพราะพวกเขาน่าจะมีวิธีหลบหลีกได้อีกเยอะ

พอร์ต USB มีไว้ทำไม? คำตอบอยู่ที่นี่ครับ มันมีหน้าจอการตั้งค่า USB แต่พอเข้ามาดู อ้าว มันมี FTP settings ไว้ตรงนี้ เกี่ยวอะไรด้วย? คือ QMiro-201W มันให้เราสามารถเอาพวก Flashdrive หรือ External HDD หรือ External SSD มาเสียบกับพอร์ต USB เพื่อให้ FTP users ที่ตั้งไว้ เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ต เพื่อถ่ายโอนข้อมูลได้นั่นเองครับ ซึ่งฟีเจอร์นี้มันจะเหมาะกับผู้ใช้งานตามบ้าน ที่อาจจะไม่ได้มี QNAP NAS มากกว่า เพราะถ้ามี QNAP NAS ผมว่าเปิด VPN แล้วเชื่อมต่อเข้ามาใช้งาน QNAP NAS ตรงๆ ไปเลยสะดวกกว่า

สำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์ของ QNAP ที่มีการตั้งค่า QuWAN เอาไว้ ก็จะสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายในสถานที่ต่างๆ เช่น ที่บ้าน Home office และที่ทำงาน เข้าด้วยกันผ่าน QuWAN ได้ด้วย แต่ผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป ก็อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ซักเท่าไหร่นะครับ แต่ผมว่าผู้ใช้งานระดับ SMEs ถ้าเกิดศึกษาเรื่องการใช้ QuWAN ดีๆ ผมว่าน่าจะได้ประโยชน์นะ

และแน่นอนว่าประโยชน์ที่เราจะได้จาก QMiro-201W มากที่สุด ก็คือการทำงานในฐานะ Mesh WiFi นั่นเอง มันจะช่วยขยายความครอบคลุมของเครือข่ายไร้สายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ผ่านการติดตั้งเจ้า QMiro-201W ตามจุดต่างๆ ที่เหมาะสม ซึ่งด้วยความที่มันเป็น Mesh WiFi แบบ Tri-band ที่จะมีการใช้สัญญาณในย่าน 5GHz ในการเชื่อมต่อระหว่างกัน โดยไม่ไปเบียดบังช่องสัญญาณในการใช้รับส่งข้อมูลของอุปกรณ์ในระบบเครือข่าย ทำให้มันได้ใช้แบนด์วิธีเต็มเหนี่ยว และยังรอรับอุปกรณ์ทั้งบนย่าน 2.4GHz และ 5GHz ด้วย แต่ขอย้ำว่าแอบเสียดายที่มันยังไม่รองรับ WiFi 6 802.11az เท่านั้นแหละ
บทสรุปการรีวิว QMiro-201W
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหาโซลูชัน Mesh WiFi ที่บ้านครับ คือ ต่อให้ไม่มีอุปกรณ์ QNAP NAS ก็ยังสามารถใช้งานใช้เจ้านี่ได้ และเอาจริงๆ ผมก็ยังลุ้นให้ QNAP เอา QMiroPlus-201W มาด้วย เพราะเจ้านั่นมันคือ Mesh WiFi ที่เป็น NAS แบบ 2-bay ในตัวด้วย สำหรับคนทั่วไปแล้ว QMiroPlus-201W ร่วมกับ QMiro-201W มันคือจบเลย ได้ทั้ง QNAP NAS และ Mesh WiFi
สำหรับคนที่มี QNAP NAS อยู่แล้ว การใช้ Mesh WiFi อย่าง QMiroPlus-201W เข้ามาด้วย ก็ยิ่งดีครับ อย่างที่มีคนแนะนำกันว่า ไม่ควรเอา QNAP NAS มาเชื่อมต่อออกอินเทอร์เน็ตโดยตรงหากไม่จำเป็น ผู้ใช้งานทั่วไปที่อยากจะเข้าถึง QNAP NAS จากอินเทอร์เน็ตก็จะลำบาก แต่ถ้าได้ QMiro-201W มาช่วย เปิด QVPN แล้วเชื่อมต่อกับ QNAP NAS ผ่าน VPN ให้ QMiro-201W นี่เป็นตัวกลาองออกอินเทอร์เน็ต ก็จะช่วยให้การเชื่อมต่อทำได้ปลอดภัยขึ้นนั่นเอง