รอบนี้ผมได้รีวิว Ninebot Kickscooter D Series 2 รุ่นรวดครับ แต่ค่อยๆ ได้เขียนทีละรุ่น เพราะว่าต้องลองใช้งานจริงแบบจริงๆ จังๆ ก่อน อย่าง Ninebot Kickscooter D38U คันนี้ เนื่องจากสเปกมันใกล้เคียงกับ Ninebot Kickscooter F40 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีน้ำหนักไม่มาก ในขณะที่สามารถวิ่งได้ระยะทางต่อเนื่องค่อนข้างไกล ก็เลยต้องรอจังหวะเหมาะๆ ที่จะได้ขี่สกู๊ตเตอร์คันนี้ไปทำงาน ไป-กลับ ระยะทาง 36 กิโลเมตร ดูว่าจะเป็นยังไง ท่ามกลางสภาพอากาศที่พายุเข้าถล่มกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็โชคดีที่ยังอุตส่าห์หาโอกาสขี่ไปทำงานจนได้ในที่สุด และเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันอ่านนี่ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Ninebot Kickscooter D38U คันที่รีวิวนี้ เป็นคันทดสอบที่ทาง MONOWHEEL เขาส่งมาให้ลองใช้งาน เพื่อเอาประสบการณ์ใช้งานจริงของผม ไปเล่าสู่กันอ่านครับ
ต่างจาก Ninebot Kickscooter D18W ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้า D38U นี่ผมได้มาแบบเป็นกล่องเลยครับ ก็เลยได้ลองแกะดูด้วยว่ามันมีอะไรมาให้บ้าง เท่าที่ดู (ถ้าร้านให้มาครบนะ เพราะอันนี้ก็เป็นคันทดสอบ) ก็มีตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D38U ที่พับเป็นสามเหลี่ยมอยู่ และยังไม่ได้ประกอบแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ มีคู่มือและน็อตสำหรับใช้ล็อกคอ ซึ่งมีการเคลือบกาวกันคลายมาให้แล้ว ให้มา 5 ตัว คงเผื่อหาย 1 ตัวแหละ นอกจากนี้ก็มีประแจหกเหลี่ยมเอาไว้ขันน็อตเพื่อประกอบคอ กับอะแดปเตอร์ DC 70 วัตต์ จุดที่ผมชอบของ Ninebot ก็คือ อะแดปเตอร์อันเนี้ย มันใช้ชาร์จได้ตั้งแต่รุ่น ES2 E25 MAX เรื่อยมายัน F Series และ D Series นี่แหละ

การประกอบง่ายมากๆ แค่กางสกู๊ตเตอร์ออกมา ล็อกคอให้เรียบร้อย เสียบแฮนด์เข้ากับคอสกู๊ตเตอร์ แล้วก็ขันน็อต 4 ตัวให้แน่ใจว่าแน่นดีแล้ว ก็เป็นอันเรียบร้อย แบตเตอรี่ที่เหลือไว้ให้ มันราวๆ 50-60% ก็พอเอาไปพร้อมใช้งาน แต่ว่าผมก็อยากแนะนำให้ทำการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มๆ ก่อนจะดีกว่านะครับ

ตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D38U เนี่ย ก็ดีไซน์คล้ายๆ กับพวกรุ่น F Series นะครับ แต่จุดที่เห็นว่าแตกต่างเนี่ย มี 4 เรื่องที่เห็นได้ชัดๆ เลย คือ ตรงบริเวณฐานคอสกู๊ตเตอร์มันมีแผ่นสะท้อนแสงติดเพิ่มเข้ามา แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมเขาไปติดต่ำขนาดนั้น เพราะถ้าจะให้ปลอดภัยเพิ่มเวลากลางคืน (เผื่อใครลืมเปิดไฟหน้า) ผมว่าติดไว้สูงๆ จะดีกว่าไหมอะ
อีกจุดนึงก็คือไฟท้าย ที่มีการเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นอย่างมาก ถ้าเกิดเปิดไฟนะ คือสว่างมาก เห็นชัดแจ๋วแน่ ดีกว่ารุ่นก่อนๆ เยอะ จุดที่สามคือ ตัวบอดี้ที่มีการทำสีแดงสดสวย พร้อมสายเบรกสีแดงสวยงาม ดีต่อใจมาก ใครชอบสีแดงดำแบบผมคือต้องยอมให้กับคันนี้จริงๆ และสุดท้ายคือ แผ่นสะท้อนแสงที่ติดอยู่สองข้างของล้อหลัง เหมือนรุ่น Ninebot Kickscooter MAX (ที่รุ่น F Series ไม่มี)


เอาจริงๆ นะ แม้หน้าตาจะเหมือนๆ กันในหลายๆ รุ่น แต่นอกจากสเปกมันจะแตกต่างกันบ้างแล้ว ดีไซน์ของตัวรถมันก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อยู่จริงๆ นะ ทั้งที่เห็นได้ชัดเจนและถ้าไม่เอามาเทียบกันบางทีก็นึกไม่ถึงว่า เออ อันนี้อีกรุ่นมันมีหรือไม่มีนี่หว่า


แทบจะเรียกว่าเป็นมาตรฐานแล้วสำหรับล้อของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่เป็นขนาด 10 นิ้ว ยางลม มีดอกยางที่ได้รับการออกแบบให้รีดน้ำได้ดี มีความคงทนมากขึ้นทั้งในแง่ของการใช้งานและป้องกันการถูกทิ่มตำแตก บังโคลนล้อหลังในรุ่นใหม่ๆ นี่ หมดห่วงเรื่องเวลาวิ่งฝ่าน้ำหรือพื้นเปียกๆ เร็วๆ แล้วน้ำดีดใส่หลังแล้ว (เป็นประสบการณ์ที่แย่มากเวลาขี่ Ninebot Kickscooter ES2 🤣🤣) และมีเหล็กมาช่วยค้ำ ไม่ให้มันดีดให้ตัวได้เวลาที่ขี่บนพื้นขรุขระหรือเจอหลุมเจอเนิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บังโคลนหลังแตก

Ninebot เขาน่าจะได้จุดพอดีสำหรับขนาดของฐานยืนแล้ว ฐานยืนของ Ninebot Kickscooter D38U เนี่ย ยืนสบายดีครับ ใหญ่พอสำหรับคนไซส์ซัก 180 เซ็นติเมตร บวกลบนิดหน่อย ได้สบายๆ
ส่วนของแฮนด์ดูจะเป็นดีไซน์มาตรฐานไปแล้ว มีเบรกอยู่ทางด้านซ้าย รวมถึงกระดิ่งและตัวล็อกเวลาที่เราพับเป็นสามเหลี่ยมแล้ว มันจะไปล็อกกับบังโคลนของล้อหลัง ส่วนแฮนด์ด้านขวาก็จะเป็นสวิตช์คันเร่ง

หน้าจอแดชบอร์ดเป็น LCD ทำมุมค่อนข้างโอเคสำหรับผู้ขับขี่ได้มองเห็นได้ชัด และมีความสว่างที่ดีพอที่เวลาขี่กลางแดดก็ยังสามารถมองเห็นได้สบายๆ การควบคุมยังเป็นแบบเดิมๆ ครับ คือมีปุ่ม Power เอาไว้เปิดปิดการใช้งาน และในระหว่างที่เปิดใช้งานอยู่ กดอีกทีก็เป็นการเปิดไฟหน้า กดสองทีติดกันก็เป็นการเปลี่ยนโหมดการขับขี่ มี 3 โหมดเหมือนเดิม คือ Eco, D และ S
จุดที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนมากอีกอย่างในแง่ของดีไซน์คือ ตัวล็อกคอสกู๊ตเตอร์ที่ดีไซน์ใหม่ครับ แอบรู้สึกว่าถ้าตั้งไว้แน่น ก็แอบแกะยากนิดนึง แต่ว่ามันออกแบบให้ดูแข็งแรงขึ้น และมีขั้นตอนในการปลดล็อกคอที่กระชับขึ้นด้วย
แต่จากที่ลองๆ ดู อย่างที่บอกว่าถ้ามันตั้งไว้แน่นก็จะแกะยากใช่มะ ทีนี้เหมือนกับว่าตอนที่เขาตั้งมาให้แต่ต้นอะ มันค่อนข้างแน่นเลยครับ อันนี้ถ้าใครคิดว่ามันแน่นเวอร์แกะยากมาก แนะนำให้ปรึกษาร้าน MONOWHEEL ก่อนนะครับ

ช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC ก็อยู่ที่เดียวกะรุ่น F Series และ D18W นั่นแหละ แต่จุกยางอันนี้ เท่าที่ผมลองใช้งานมา มันปิดได้แน่นสนิท และไม่อัดแน่นมากจนเผยอเปิดออกมาเองเหมือนตัว D18W ที่ผมรีวิวไป
ว่ากันด้วยเรื่องของสเปก Ninebot Kickscooter D38U นี่สามารถขี่ได้ระยะทางสูงสุด 38 กิโลเมตร ตามเลขรุ่นนั่นแหละ แต่จากประสบการณ์ที่ผมขับขี่จริง และหลายๆ ท่านที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็เหอะ ก็จะรู้กันดีว่ามันไม่เคยมีทางทำได้ตามสเปกนั้นเลยในการขับขี่จริง เพราะตัวเลขตามสเปก มันจะทดสอบภายใต้ตัวแปรที่ถูกควบคุมไว้เยอะมาก ทั้งความเร็ว น้ำหนักบรรทุก และสภาพของท้องถนนนะครับ
ฉะนั้น เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการขับขี่จริงๆ มันก็ต้องเอาไปลองขี่จริงจังตามสภาพการใช้งานจริงเลยครับ ฉะนั้น บล็อกตอนนี้ก็จะเป็นการเล่าจากประสบการณ์ขี่ไป-กลับทำงานของผม ระยะทางรวม 36 กิโลเมตรโดยประมาณ เส้นทางก็วิ่งจากพระราม 2 มุ่งหน้าดาวคะนอง ไปออกวงเวียนใหญ่ ขึ้นสะพานพุทธฯ ไปสนามหลวง และขากลับก็วิ่งมาทางโรงเรียนสวนกุหลาบฯ วนขึ้นสะพานพระปกเกล้าฯ มุ่งหน้าไปดาวคะนอง กลับมาทางพระราม 2 ครับ
ตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D38U มีน้ำหนัก 16.4 กิโลกรัม แต่ด้วยความที่น้ำหนักส่วนใหญ่มันถ่วงไปที่ล้อหน้าที่มีมอเตอร์อยู่ ถ้าหิ้วให้ถูกจุดจริงๆ จะสามารถหิ้วขึ้นได้สบายมากๆ ครับ และบอกตรงว่าๆ รู้สึกเบากว่า Ninebot Kickscooter MAX ที่หนักกว่าแค่ประมาณ 2 กิโลกรัมอยู่พอสมควร อย่างน่าประหลาดใจ เอาเป็นว่าผมหิ้วขึ้นสะพานลอยได้สบายๆ

ถ้าเป็นสมัยก่อนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของ Ninebot จะขี่ได้เร็วที่สุดก็เฉพาะตอนที่ขี่ในโหมด S เช่น ES4/MAX นี่ โหมด D จะวิ่งได้แค่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขี่โหมด S จะวิ่งได้ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (แต่ตอนนี้ MAX มันอัปเกรดเฟิร์มแวร์แล้ว ความเร็วโหมด S เหลือ 25 กิโลเมตรเฉยเลย) แต่นับตั้งแต่ F Series มา จนถึง D Series นี้ โหมด D และ S ก็จะมีความเร็วสูงสุดเท่ากันครับ ต่างกันแค่อัตราเร่งของมอเตอร์ที่โหมด S มันจะมีอัตราเร่งมากกว่า และสำหรับ Ninebot Kickscooter D38U นี่ ได้ความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การขี่รุ่นนี้ ต้องเทียบกับรุ่น Ninebot Kickscooter F40 ครับ เพราะสเปกใกล้เคียงกัน ในสเปกบอกว่ารองรับน้ำหนักได้สูงสุด 120 กิโลกรัม แต่ก็บอกได้เลยว่าถ้าขี่โหมด S เนี่ย ผู้ใหญ่สองคน ชาย-หญิง น้ำหนักรวมซัก 140 กิโลกรัม ก็ยังพอไหว หากไม่ได้ไปเจอทางลาดชันมากๆ แต่ถ้าขี่คนเดียว น้ำหนักตัวซัก 80 กิโลกรัม ผมว่าเจอทางลาดชันนี่สบายๆ ครับ ผมลองขี่ขึ้นสะพานข้ามคลองแถวบ้านที่สูงๆ หรือแม้แต่การขึ้นสะพานพระปกเกล้า ก็สามารถทำได้สบายๆ อยู่ แม้จะอยู่ในโหมด D ก็ตาม แต่หากต้องการขี่ขึ้นโดยเริ่มจากเชิงสะพานเลย แนะนำว่าให้ใช้โหมด S นะ ไม่งั้นความเร็วจะหนืดๆ หรืออาจจะไต่ไม่ไหว

ในความจำเป็นที่ต้องขับขี่เวลากลางคืน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D38U ก็มีไฟหน้าที่มีความสว่างมากพอ ปลอดภัยสำหรับการขับขี่แล้วต้องมองสภาพถนนไปด้วย ส่วนไฟท้าย ที่ปกติมันจะเป็นจุดอ่อนจุดนึงของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เพราะขนาดมันเล็ก และติดอยู่บริเวณล้อหลังที่ต่ำ งวดนี้ไฟบะเริ่ม สว่างชัดเจนมาก เวลาจอดชาร์จไฟ คือ สว่างเวอร์วัง 🤣🤣
พูดถึงการชาร์จไฟแล้ว ตามสเปก การชาร์จแบตเตอรี่ก็จะใช้เวลาราวๆ 6.5 ชั่วโมง ถ้าชาร์จจาก 0% ไปที่ 100% แต่จากที่ผมได้ลองใช้งาน ซึ่งพยายามเซฟๆ ไว้ไม่ให้แบตเตอรี่ลงต่ำกว่า 20% เนี่ย พบว่าจาก 20% ชาร์จไปที่ 100% จะอยู่ที่ราวๆ 4 ชั่วโมงกว่าๆ ถึง 5 ชั่วโมงครับ ก็คิดเผื่อกันไว้หน่อยเวลาใช้งานด้วยนะ

ส่วนเรื่องระยะทาง ผมได้ลองขี่ยิงยาวดูแล้ว พบว่า แบตเตอรี่ 80% เนี่ย จะขี่ได้ระยะทางราวๆ 18 กิโลเมตร โดยขี่ที่โหมด D ในสภาพถนนปกติเลยครับ มีทั้งขี่ข้ามสะพานข้ามคลองเป็นระยะๆ ในช่วงที่วิ่งจากบ้านผมออกมาที่ถนนพระราม 2 (แถวฝั่งธนบุรีจะมีสะพานข้ามคลองเยอะ) และมีวิ่งขึ้นสะพานพุทธฯ ขาไป และสะพานพระปกเกล้าฯ ในขากลับ ซึ่งในระดับแบตเตอรี่ 20-100% เนี่ย บอกเลยครับว่าความเร็วแทบไม่ร่วงเลย สามารถวิ่งได้ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสบายๆ (และผมวัดด้วย Speedometer ซึ่งใช้ GPS จับความเร็วแล้ว ก็ได้ความเร็วประมาณนี้จริงๆ) แต่แน่นอนว่าพอต่ำกว่า 20% แล้ว ความเร็วก็จะเริ่มตกลงเรื่อยๆ นะ และหากแบตเตอรี่อยู่ในช่วง 20-30% เราก็จะเริ่มรู้สึกได้แล้วว่าการออกตัวของรถ ในกรณีที่ชะลอหรือเบรกจนหยุดนิ่ง มันจะเริ่มช้า และรู้สึกได้ว่าความเร็วมันไม่ค่อยอยากจะขึ้นซักเท่าไหร่แล้ว
จากข้อมูลส่วนนี้ ถ้าจะให้ผมแนะนำระยะทางที่เซฟๆ ในการขี่ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมด แล้วกลายเป็นต้องแบกกลับเนี่ย ควรจะอยู่ที่ราวๆ 20-21 กิโลเมตร ในโหมด D ครับ
บทสรุปการรีวิวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D38U
สนนราคา 23,900 บาท นี่ผมว่าเอื้อมง่ายหน่อย ราคาดีกว่า Ninebot Kickscooter F40 อีก (27,300 บาท) ในขณะที่สเปกก็ใกล้ๆ กัน สำหรับคนที่กะว่าจะขี่ในระยะ 20 กิโลเมตร ผมว่าเป็นตัวเลือกที่ดีครับ
ปกติผมไม่ค่อยทิ้งท้ายแบบนี้ แต่งวดนี้ผมก็นึกได้ว่าควรพูดถึง นั่นคือ ราคาค่าตัวของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าดูอาจจะแพง แต่ (1) ในสภาพการจราจรที่ติดขัดแบบนี้ ผมลองขับรถไปทำงาน เทียบกะตอนขี่สกู๊ตเตอร์ไปทำงานแล้ว พบว่าใช้เวลาพอๆ กันเลยครับ แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านี่คาดเดาเวลาได้ดีกว่ามาก เพราะต่อให้รถติดขนาดไหน ก็ใช้เวลาพอๆ กัน แต่รถยนต์อะ ถ้าเจอรถติดคือบรรลัยเลย และ (2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 36 กิโลเมตร ถ้าเป็นรถยนต์อาจจะมีค่าน้ำมันอย่างน้อยๆ ก็เกือบ 60 บาทแล้ว (ถ้าน้ำมันยังลิตรละ 30 กว่าบาท และพยายามขับรถให้สิ้นเปลืองแค่ 20 กิโลเมตรต่อลิตร) แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ใช้ค่าไฟราวๆ 2 บาทกว่าๆ นะครับ ต่อให้ค่าไฟแพงแบบนี้ก็ตาม