Home>>รีวิว>>รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED โน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงด้วย Intel Gen 12th การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX3050Ti
โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED สองสี สีเงินและสีดำ วางหันหลังชนกัน
รีวิว

รีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED โน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงด้วย Intel Gen 12th การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX3050Ti

ปกติโน้ตบุ๊กตระกูล Vivobook ของ ASUS เนี่ยจะเป็นรุ่นที่ใช้งานแนวไลฟ์สไตล์ซะมาก แต่ว่าโน้ตบุ๊กตัวล่าสุดที่ทาง ASUS ส่งให้ผม คือ Vivobook Pro 14X OLED นี่เป็นรุ่นสำหรับคนที่ต้องการประสิทธิภาพสูงสำหรับการทำงานจำพวกกราฟิกและเล่นเกม ด้วย CPU Intel Gen 12 H-series และ GPU NVIDIA GeForce RTX3050Ti มาดูกันว่าเมื่อเอามาใช้งานแล้ว ประสบการณ์ในการใช้งานจะเป็นยังไงกันบ้างนะครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ที่รีวิวครั้งนี้ เป็นความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ที่ให้ยืมมารีวิวเพื่อเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันอ่านครับ

แกะกล่องของ ASUS Vivobook Pro 14X OLED ก็จะได้ตัวโน้ตบุ๊กซึ่งมีสีเดียวให้เลือก คือ สีเทาดำเข้มๆ กับอะแดปเตอร์ไฟที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะเป็นอะแดปเตอร์แบบ 150 วัตต์ ไม่มีอุปกรณ์เสริมอื่นใดให้มา ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะโน้ตบุ๊กตัวนี้เป็นรุ่นโปร ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อครบถ้วน จนไม่น่าจะต้องหาอุปกรณ์เสริมอื่นใดมาใช้

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED กำลังปิดหน้าจอเก็บอยู่

บอกเลยว่า ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่เรียกว่าสวยเลยครับ ฝาของตัวเครื่อง หรือด้านหลังของจอมันมีการทำกรอบนูนๆ ขึ้นมา แล้วมียี่ห้อกับชื่อรุ่น ASUS Vivobook พร้อม Tagline คือ Explore the Possibilities กับแฮชแท็ก #GoFurther #BeFearless ด้วย

บริเวณส่วนี่นูนของฝาเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

ส่วนด้านล่างของตัวเครื่อง เราจะได้เห็นแผ่นยางกันลื่นอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของตัวเครื่อง โดยที่ด้านหลังเนี่ยเป็นยางสีส้มสวยเลย มันมีการทำช่องระบายอากาศสำหรับดูดอากาศเข้า เพื่อใช้ระบายความร้อนภายในระบบ ซึ่งช่องระบายความร้อนออกอยู่ตรงด้านท้ายของตัวเครื่อง บริเวณใต้เครื่องด้านหน้า ซ้ายและขวา มีลำโพงสเตริโอติดตั้งอยู่

ด้านล่างของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

ด้านซ้ายของตัวเครื่องมีพอร์ต USB-A ที่เป็น USB 2.0 ให้มา 2 พอร์ต กับไฟ LED 2 ดวง เอาไว้สำหรับแสดงสถานะของการทำงานของเครื่อง และสถานะของการชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องมีช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟ DC-In พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 1 (5Gbps) พอร์ต HDMI 2.1 พอร์ต Thunderbolt 4 ที่รองรับทั้ง Display Port และ Power Delivery สล็อตอ่าน MicroSD card และช่อง Audio combo jack

หน้าจอของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่เป็นหน้าจอ OLED ขนาด 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.5K 2,880×1,800 พิกเซล อัตรารีเฟรชภาพสูงสุด 120Hz มีความสว่างสูงสุด 600 nits แสดงผลสีได้ 1.07 พันล้านสี Color gamut 100% DCI-P3 และ 133% sRGB ได้รับการรับรอง VESA CERTIFIED Display HDR True Black 600 และได้รับการรับรองเรื่องความแม่นยำของสีจาก PANTONE ด้วย

เว็บแคม และรูไมโครโฟนสำหรับสนทนาที่อยู่ด้านบนของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ข้างๆ เว็บแคมมีสวิตช์เลื่อนเพื่อปิดหน้ากล้อง

ด้านบนของหน้าจอมีเว็บแคมความละเอียดระดับ Full HD ที่มีพร้อมกับชัตเตอร์สำหรับปิดเว็บแคมของกล้องเพื่อความเป็นส่วนตัว กับไมโครโฟน 3 ตัวเอาไว้ช่วยเรื่องบันทึกเสียงและประชุมออนไลน์ ขอบจอบางมากๆ ครับ หน้าจอแสดงผลนี่กินพื้นที่ราวๆ 87%

คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

ตัวคีย์บอร์ดของ ASUS Vivobook Pro 14X OLED มีขนาดใหญ่ น่าจะพิมพ์สะดวกมากๆ มีการเล่นสีกับปุ่มด้วย เช่น ปุ่ม Esc นี่ก็เป็นสีส้ม ส่วนปุ่มรอบๆ ก็เป็นสีเทา ปุ่ม Enter ทำเหมือนแผ่น Film slate เป็นต้น TouchPad มีขนาดใหญ่มากมีสัมผัสที่ดีประมาณนึง แต่แอบฝืดๆ นิดๆ

โดยรวม เป็นโน้ตบุ๊กที่ดีไซน์สวย วัสดุดีทีเดียว ยังคงรักษาความเป็นโน้ตบุ๊กสายไลฟ์สไตล์ของ Vivobook อยู่ แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือประสิทธิภาพที่สูง สามารถนำไปใช้ทำงานได้หลากลาย

สเปกและประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ตัวนี้ เท่าที่ดูข้อมูล เขามีจำหน่ายในไทยแค่สเปกเดียวเลย คือ ใช้ CPU Intel Core i7-12650H ที่มาพร้อมการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX3050Ti และแรม 16GB LPDDR5 กับ Storage ความจุ 512GB แต่เป็น PICe 3.0 ฉะนั้นเลยไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะเห็นว่าผลการทดสอบความเร็วของ Storage ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 ได้ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแบบ Sequential ได้สูงสุดที่ 2,995.9MB/s และ 1,662.82MB/s ตามลำดับ

ผลการทดสอบความเร็วของ SSD ของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4

สเปกคร่าวๆ ของโน้ตบุ๊กตัวนี้เป็นแบบนี้ครับ เท่าที่ดูแล้ว สเปกในส่วนของ CPU ใกล้ๆ กับ ASUS ZenBook Duo 14 OLED ที่ผมเคยได้มารีวิวก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นตัวรุ่นธรรมดาที่ใช้การ์ดจอ Intel Iris Xe ประมาณนึง คือ แม้จะได้ CPU รุ่นเล็กลงมานิดหน่อย และ SSD เป็นแค่ PCIe 3.0 แต่การ์ดจอนี่ได้การ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX3050Ti เลยครับ

ฮาร์ดแวร์สเปก
CPUIntel®Core™ i7-12650H Processor 2.3 GHz (24M Cache, up to 4.7 GHz, 10 cores)
GPUIntel® Iris™ Plus Graphics, NVIDIA® GeForce® RTX™ 3050Ti Laptop GPU, 4GB GDDR6
RAM16GB LPDDR5 on-board
Storage512GB M.2 NVMe PCIe 3.0 SSD
Display14.5″ 2,880×1,800 OLED (16:10)
CameraFull HD 1080p
Ports1×USB 3.2 Gen 1 (USB-A)
2×USB 2.0 (USB-A)
1×Thunderbolt 4 (รองรับ Display port และ Power Delivery) เป็น USB 3.2 Gen 2
1×HDMI 2.1
1×3.5mm Combo audio jack
MicroSD card reader
ConnectivityWiFi 6E (802.11ax) Dual band 2×2
Bluetooth 5
Battery70WHr

ผลที่ได้ก็คือ ในส่วนของประสิทธิภาพในการใช้งานทั่วไป เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ดู จะเห็นได้ว่า คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนที่ได้จากโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 OLED ที่แพงกว่ากันหมื่นนึงไปพอสมควร ตัวนั้นทดสอบด้วย PCMark 10 ได้ 5,672 คะแนน ส่วน ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่ได้ 6,879 คะแนน หรือคะแนนสูงกว่าราวๆ 21.3% ซึ่งคะแนนในส่วนของ Productivity และ Digital content creation นี่คือสูงกว่าแบบเห็นได้ชัดเจนครับ ทำให้รู้สึกได้ว่า เดี๋ยวนี้แม้จะแค่ทำงานสายเอกสาร แต่การ์ดจอมันก็มีผลช่วยให้ประสิทธิภาพดีขึ้นแล้วสินะ

ผลการทดสอบโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ด้วยโปรแกรม PCMark 10

ในส่วนของการเล่นเกม ลองทดสอบด้วยตัว Benchmark จากเกม Final Fantasy XV ดูครับ ผลที่ได้คือ คะแนนก็ค่อนข้างโอเค แม้จะทดสอบที่ระดับคุณภาพกราฟิกแบบ High quality ที่ Full HD และหากเรายอมลดคุณภาพของกราฟิกลงมาหน่อย ก็จะได้คะแนนสูงขึ้นพอสมควรเลยด้วย ฉะนั้น ใครที่จะซื้อโน้ตบุ๊กตัวนี้มาเผื่อเล่นเกมแบบชิลล์ๆ จำพวก PUBG หรือ Fortnite เนี่ย ก็พอไหวนะเออ แค่อาจจะต้องปรับเรื่องคุณภาพกราฟิกลงมาหน่อย และหากอยากได้เฟรมเรตสูงขึ้นอีก ก็ลดเรื่องความละเอียดของเกมลง

ด้วยความที่เป็นการ์ดจอที่รองรับ Ray tracing ผมก็อยากรู้ว่า แล้วมันจะเอามาเล่นเกมได้ขนาดไหน ผมก็ลองใช้โปรแกรม Benchmark ของเกม Bright Memory Infinite ครับ ผลที่ได้คือ ถ้าเกิดเปิดด้วยคุณภาพกราฟิกสูง ที่ความละเอียด 2.5K แต่ใช้ DLSS มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ จะได้เฟรมเรตที่ 24fps ซึ่งแอบน้อย แต่หากลดความละเอียดลงมาเหลือ 1,440×900 พิกเซลและใช้ DLSS ด้วย แม้จะเปิดคุณภาพกราฟิกระดับสูง ก็ได้เฟรมเรตที่สูง 75fps สบายๆ ครับ

โน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ขณะกำลังทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark จากเกม Bright Memory

ตอนที่ทำการทดสอบประสิทธิภาพเนี่ย ผมก็เซ็ตให้เครื่องมันรันแบบเต็มประสิทธิภาพ พัดลมคือหมุนได้เต็มที่ สิ่งที่ได้คือ พัดลมแรงเป็นระยะๆ เสียงดังเอาเรื่องอยู่นะครับ ภรรยาผมได้ยิน นึกว่าฝนตก 🤣🤣

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS Vivobook Pro 14X OLED

ในแง่ของการพกพา เจ้านี่คือโน้ตบุ๊กขนาด 14.5 นิ้ว เป็นไซส์ที่ที่เหมาะแก่การพกพาแต่ไหนแต่ไร ตัวเครื่องมีความหนาประมาณ 1.79 เซ็นติเมตร ก็หนาประมาณนึงตามสไตล์ของโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง น้ำหนักคือ 1.68 กิโลกรัม ถือว่าหนักประมาณนึง พอๆ กับ ASUS ZenBook 14 Duo OLED เลย แต่ถ้ามองว่ามันคือโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงสำหรับทำงานได้หลากหลาย ยันพวกงานวิดีโอหรือกราฟิก ก็เรียกว่าสมเหตุสมผลอยู่

มองในแง่ของพอร์ตการเชื่อมต่อ ถ้าดูแค่เฉพาะ Interface ก็ถือว่ามีครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น USB-A, USB-C/Thunderbolt และ HDMI เอาไว้เชื่อมต่อการแสดงผลไปยังจอภายนอกหรือโปรเจ็กเตอร์ แต่ถ้ามองในแง่ของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ แอบขัดใจ เพราะ ASUS ให้ USB 2.0 มา 2 พอร์ต สงสัยกะไว้ให้เสียบคีย์บอร์ดกับเมาส์? และ USB-A อีกพอร์ตที่เหลืออยู่ ก็เป็นแค่ USB 3.2 Gen 1 ที่มีแบนด์วิธ 5Gbps เท่านั้น อันนี้ผมเดาว่าเป็นเพราะ ASUS น่าจะมองว่า พวก External SSD ที่รองรับแบนด์วิธ 10Gbps ของ USB 3.2 Gen 2 เนี่ย น่าจะใช้ Interface เป็น USB-C กันหมดแล้ว (เช่น WD My Passport 1TB ในรูปด้านล่าง เขาก็แถมสายแบบ USB-C to USB-C ในกล่องแล้ว) ก็ให้ไปเสียบกับพอร์ต USB-C/Thunderbolt 4 ที่ให้มาด้วยดีกว่ามั้ง

ภาพระยะใกล้ของ External SSD ยี่ห้อ WD รุ่น My Passport SSD ความจุ 1TB

แต่ในความรู้สึกของผม ผมก็ยังอยากให้ ASUS ให้พอร์ต USB-A 2 พอร์ตด้านซ้ายเป็น USB 3.2 Gen 1 แทนที่จะเป็น USB 2.0 ส่วน USB-A อีกพอร์ตที่ด้านขวา เป็น USB 3.2 Gen 2 จะดีกว่าอะ

แล้วด้วยความที่มันเป็นโน้ตบุ๊กสเปกแรง แถมอะแดปเตอร์ไฟก็ 150 วัตต์ แน่นอนว่าความร้อนย่อมสูง ก็ไม่แปลกที่จะต้องออกแบบระบบระบายความร้อนให้ดี การที่เอาช่องระบายความร้อนไปไว้ด้านหลัง มันมีข้อดีตรงที่ลมร้อนที่ออกมามันจะไม่ไปโดนมือของเรา ในกรณีที่เราใช้งานโน้ตบุ๊กร่วมกับเมาส์ ซึ่งมักจะต้องวางมือไว้ด้านซ้ายหรือขวาของตัวเครื่อง แต่มันก็แลกมาด้วยการที่โน้ตบุ๊กก็เลยกางหน้าจอ 180 องศาไม่ได้นะครับ แต่เท่าที่ลองวัดดูก็คือกางได้ประมาณ 140 องศา (วัดด้วยแอป Measure บน iPhone)

ปุ่ม Power ของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือด้วยในตัว

ในส่วนของการใช้งานนั้น เท่าที่ผมลองใช้งานมา คีย์บอร์ดใช้งานได้ดีทีเดียว และตัวปุ่ม Power เนี่ย มันก็ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือในตัว รองรับ Windows Hello ด้วย แต่มันแอบแปลกใจนิดนึงคือ ปุ่ม Power ปกติเขาจะวางไว้ตรงมุมบนด้านขวาสุดของคีย์บอร์ด แต่เจ้านี่กลับเอาปุ่ม Delete ไปวางแทน แล้วให้ปุ่ม Power อยู่ตรงด้านซ้ายมือของปุ่ม Delete อีกที แต่เท่าที่ดู ASUS ก็มาสไตล์นี้ตลอด ตอน ASUS ZenBook S 13 OLED ก็ทีนึงแล้ว แต่ตัวกล้องเว็บแคมไม่ได้มีเซ็นเซอร์อินฟราเรดก็จะใช้ Windows Hello สแกนใบหน้าไม่ได้นะครับ แต่แค่ตัวสแกนลายนิ้วมือก็สะดวกมากๆ แล้ว (จริงๆ เวลาพกไปใช้นอกสถานที่เนี่ย สแกนลายนิ้วมือสะดวกกว่าสแกนใบหน้าครับ)

ด้วยสเปกระดับนี้ ขนาดเล่นเกมยังสบายเหอะ นับประสาอะไรกับการทำงานพวก ท่องเว็บ ทำงานเอกสาร ฉะนั้นคงไม่ต้องรีวิวตรงนี้โดยละเอียดก็ได้ 🤣🤣 ถ้าเราซื้อ เขาบอกว่าจะมี Office Home and Student 2021 มาให้ด้วย แต่ไม่รู้ว่าจะมาในรูปแบบไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ตัวโปรแกรม Microsoft Office อะ มันติดตั้งมาให้เลย แต่ยังไม่มีไลเซ่นส์อะ ตอนผมใช้เพื่อรีวิว ผมก็ล็อกอินด้วยบัญชี Microsoft Account ของผมเอง (ผมใช้ Microsoft 365 Family)

เอาจริงๆ ซื้อสเปกระดับนี้ เขาต้องซื้อมาเพื่อทำงานกราฟิกหรือวิดีโอมากกว่าครับ ซึ่งการผสมผสานระหว่าง CPU Intel Core i7 Gen 12th กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX3050Ti นี่ทำให้มันพร้อมทำงานประเภทนี้จริงๆ นอกจากนี้ พวกฟีเจอร์บนตัวโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ มันก็ทำมาเพื่อสาย Creator ครับ

จอของ ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่คือสเปกอลังการมากครับ เขาบอกเลยว่าขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 133% sRGB กันเลย แถมค่า ∆E < 2 ด้วย แต่เอาจริงๆ ผมก็งงๆ กับเรื่อง 133% sRGB ครับ และพยายามหาข้อมูลแล้วก็ไม่สามารถตอบได้ แต่พอเอา SpyderX Elite มาทำการ CheckCAL (หมายถึงการตรวจสอบค่าสีของจอ โดยเทียบกับค่าสีมาตรฐาน) ก็พบว่าจอนี้มีขอบเขตสี DCI-P3 ที่ 100% ตามสเปก แต่ sRGB นี่ก็ 100% ด้วย ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอิ SpyderX Elite นี่มันวัดเกิน 100% ไม่ได้หรือเปล่า แต่โดยรวมก็ต้องถือว่า จอ OLED ของโน้ตบุ๊กตัวนี้ เป็นไปตามสเปกแหละนะ

มาดูที่ TouchPad กันต่อเครับ ของ ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่ใหญ่อยู่ ใช้งานสบายครับ แต่งวดนี้แทนที่เราจะได้ NumberPad แบบรุ่นอื่นๆ เขากลับให้สิ่งที่เรียกว่า ASUS Dial มาแทนครับ มันคือซอฟต์แวร์เวอร์ชันของ Microsoft Surface Dial และพวก Microsoft Wheel Device อื่นๆ อะ ซึ่งเมื่อเราแตะตรงมุมบนด้านขวาของ TouchPad แล้ว มันจะเป็นการเรียกใช้งาน ASUS Dial และหากเราแตะตรงนี้ค้างเอาไว้ เราจะเปิดโปรแกรม ProArt Creator Hub ขึ้นมาเพื่อทำการปรับแต่ง

หน้าจอแอป ProArt Creator Hub ของ ASUS กำลังแสดงส่วนของ Control Settings ในหัวข้อ ASUS Dial สำหรับโปรแกรม Adobe Illustrator

เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ ASUS Dial นี่ ทำงานฟังก์ชันอะไรบ้าง ซึ่งมันรองรับโปรแกรมในตระกูล Adobe Illustrator ครบเลยครับ ใครทำงานสายกราฟิกและวิดีโอ และใช้โปรแกรมในตระกูล Adobe นี่คือได้ประโยชน์จากตรงนี้แน่ๆ แต่ผมอะ ไม่ใช่สาย Creator แถมผมใช้โปรแกรมตระกูล Affinity (ที่เป็นชุดซอฟต์แวร์คล้ายๆ Photoshop, Illustrator และ InDesign แต่เป็นไลเซ่นส์แบบ Perpetual หรือซื้อขาย จ่ายเงินทีเดียวจบ) เลยไม่ได้ประโยชน์จาก ASUS Dial มากนัก

โปรแกรม Adobe Illustrator ที่มีการเรียกใช้ ASUS Dial

อย่างไรก็ดี ผมว่าความรู้สึกในการใช้ ASUS Dial เมื่อเทียบกับฮาร์ดแวร์อย่าง Microsoft Surface Dial นี่ มันก็คนละแบบกันนะครับ อาจจะต้องทำความเคยชินกับการใช้นิ้วแตะแล้วลากซักหน่อย แต่ถ้าใครถนัดแล้ว Workflow ในการทำงานก็อาจจะดีขึ้นก็ได้นะครับ

หน้าจอโปรแกรม ProArt Creator Hub ในหัวข้อ Color Calibration ที่กำลังขอให้เชื่อมต่ออุปกรณ์สำหรับ Calibrate สี

ตัว ProArt Creator Hub นี่มีฟังก์ชันการ Calibrate สีของจอด้วยนะครับ แต่ว่าเราต้องมีอุปกรณ์สำหรับการทำ Calibrate สีก่อนนะครับ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ซอฟต์แวร์ของ ASUS นั้น รองรับแค่ตัว Calibrate สี x-rite i1Display Pro หรือ i1Display Pro Plus เท่านั้น ไอ้ Spyder X ที่ผมใช้คราวก่อน ใช้ร่วมกับ ProArt Creator Hub นี่ไม่ได้นะครับ แต่ก็สามารถใช้ซอฟต์แวร์ Spyder X เองมา Calibrate จอได้อยู่ดี

หน้าเว็บไซต์ X-Rite ที่แสดงรายการสินค้าที่เลิกผลิตไปแล้ว ซึ่ง 2 ในนั้นคือ ตัว Calibrate สีรุ่น i1Display Pro และ i1Display Pro Plus

แต่ที่ฮาคือ อิตัว Calibrate ของ x-rite ทั้ง 2 รุ่นที่ ASUS รองรับ ตอนนี้เขาไม่ผลิตแล้วนะ เขาไปทำรุ่น i1 Pro แทนแล้วอะ เท่าที่ดูข้อมูลจากเว็บ แต่ก็ยังเชื่อว่าหลายคนในประเทศไทย น่าจะยังมีเจ้า 2 รุ่นนี้ใช้อยู่แหละ ถ้าใครใช้อยู่ก็น่าจะได้ประโยชน์จากการที่ซอฟต์แวร์มันรองรับโดยตรง แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ใช่ปัญหาหรอกครับ เพราะอุปกรณ์ Calibrate สีพวกนี้ มันมีซอฟต์แวร์มากับตัวมันอยู่แล้ว อ่านบล็อก Calibrate จอ 1st time ของผมได้

ถ้าถามว่า แล้วทำไม ASUS ถึงได้สนับสนุนอุปกรณ์ของ x-rite ผมเข้าใจว่าเพราะจอของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ตัวนี้ มัน Pantone validated ไง แล้วอิ Pantone นี่ก็ของ x-rite ครับ เขาควบกิจการไปตอนปี 2007 ตอนนี้ก็ได้แต่ขอให้ ASUS รองรับตัว Calibrate สีรุ่นใหม่ของ x-rite ด้วยนะ และหากรองรับตัว Calibrate สีของค่ายอื่นอย่าง Spyder ของ Datacolor ด้วยก็ยิ่งดี

หน้าจอโปรแกรม ProArt Creator Hub ในส่วนของ Dashboard ที่แสดงข้อมูล CPU Load และ Fan Load พร้อมตัวเลือกการตั้งค่า Fan Profile

ตัวโปรแกรม ProArt Creator Hub เนี่ย มันมีตัวเลือกในการตั้งค่าอย่าง WorkSmart ที่ช่วยให้เราสามารถตั้งค่าการเปิดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาเป็นกลุ่มได้ และตัวเลือกการตั้งค่าที่เกี่ยวกับงานด้าน Creator อย่าง Color Calibration และ Control Settings แต่ผมก็แปลกใจที่มันดันมีหัวข้อ Dashboard ที่เอาไว้ดูข้อมูล CPU Load, Fan Load และการตั้งค่าความเร็วพัดลม รวมถึงการทำ Performance Optimization ซึ่งผมก็งงๆ ว่า ASUS ใส่มาให้ในนี้ทำไม เพราะ ASUS เขามีโปรแกรมชื่อ My ASUS ที่เอาไว้จัดการเรื่องนั้นอยู่แล้วอะ

หน้าจอโปรแกรม MyASUS ในหัวข้อ Customization ที่กำลังแสดงตัวเลือกสำหรับ Battery Health Charging และ Fan Profile

ซึ่งโปรแกรม MyASUS นี่ถือเป็นจุดขายจุดนึงของโน้ตบุ๊กของ ASUS เลยครับ แต่ละรุ่นก็จะมีความแตกต่างกันไปสำหรับตัวเลือกการตั้งค่าในโปรแกรม MyASUS แต่ฟีเจอร์หลักๆ เลยก็จะมีการตั้งค่าการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อถนอมอายุแบต ซึ่งผมว่า ASUS เป็นแบรนด์แรกๆ เลยนะ ที่มีฟีเจอร์นี้ การปรับความเร็วของพัดลม การตั้งค่า AI Noise Canceling ทั้งไมโครโฟนและลำโพง (ซึ่งโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ จะมีฟีเจอร์นี้ แต่โน้ตบุ๊กรุ่นเก่าๆ จะไม่มี) ฟังก์ชัน Link to MyASUS ที่ให้เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเข้ากับโน้ตบุ๊กของ ASUS ได้แบบไร้สาย และตอนหลังมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยแปลงพวกแท็บเล็ตให้กลายเป็น Wireless display ได้ด้วย (แต่หากอยากใช้แบบเต็มประสิทธิภาพ ต้องเสียตังค์เพิ่ม) และสำหรับบางรุ่นก็จะมีตัวเลือกเรื่องการปรับแต่งสีและความสว่างของจอแสดงผลด้วย

หน้าจอการตั้งค่า ASUS OLED Care

แต่สำหรับโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED นี่ มันมีตัวเลือกเพิ่มเพราะเป็นจอ OLED ก็คือ ฟีเจอร์จำพวก Pixel refresh และ Pixel shift ที่จะช่วยยืดอายุของจอภาพ โดยพยายามจะให้พิกเซลบนจอมีการเคลื่อนไหว เพื่อจะลดอาการ Screen burn-in ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเวลาที่จอแสดงผลมันแสดงผลภาพหรือสีเดิมๆ ซ้ำๆ ในที่เดิมๆ เป็นเวลานานๆ (ปัญหาประมาณนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับจอภาพแบบ CRT ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดสิ่งที่เรียกว่า Screensaver นั่นเอง)

หน้าต่างโปรแกรม MyASUS ที่สว่าง แต่ Windows Explorer ที่อยู่ด้านหลัง และไม่ได้ถูกโฟกัส ถูก Dim ให้มืด

นอกจากนี้ มันยังมีตัวเลือกการตั้งค่า ให้ทำการ Dim หน้าต่างโปรแกรมในส่วนที่เราไม่ได้โฟกัสใช้งานลง แล้วให้สว่างเฉพาะหน้าต่างโปรแกรมที่เรากำลังใช้งานอยู่ด้วย อันนี้ก็เพื่อประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊กนั่นเอง

ผมตั้งข้อสังเกตนิดนึงคือฟีเจอร์การจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่ของ ASUS Battery Health Charging ที่เมื่อก่อนมันจะมีตัวเลือกให้ 3 ตัว คือจำกัดที่ 60% (เหมาะกับพวกเสียบปลั๊กชาร์จทิ้งไว้เลยเป็นหลัก) 80% (เหมาะสำหรับคนที่เสียบปลั๊กชาร์จทิ้งไว้ แต่ก็อาจจะมีต้องถอดปลั๊ก หยิบโน้ตบุ๊กออกไปใช้บ้าง) และปล่อยให้ชาร์จเต็ม 100% (เหมาะสำหรับคนที่เน้นใช้แบบไม่เสียบปลั๊กเป็นส่วนใหญ่) แต่ตอนนี้มันมีให้เลือกแค่ 80% เท่านั้น เข้าใจว่าเพราะมีหลายคนที่เลือกแบบ 60% แล้วปรากฏว่าต้องถอดปลั๊กเอาไปใช้งาน แบตเตอรี่มันเหลือน้อยไป สุดท้าย 80% เซฟสุดในแง่ของประสบการณ์ในการใช้งาน

ภาพบริเวณด้านขวาของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED ที่มีการเสียบอุปกรณ์เสริมต่างๆ ครบ

พอร์ตการเชื่อมต่อ ที่ตอนแรกผมบ่นๆ เรื่องพอร์ตการเชื่อมต่อของโน้ตบุ๊กตัวนี้ ผมลองกับ Use case ของผมเองเลย คือ วางใช้งานบนโต๊ะ แล้วทำการเชื่อมต่อกับจอแสดงผลแบบพกพา ซึ่งเป็นแบบโนเนมของประเทศจีน ที่ต้องเชื่อมต่อผ่าน HDMI หรือ USB-C (ไม่รองรับ Alt mode) และเสียบ Dongle ของเมาส์ไร้สายด้วย ผลก็คือตามภาพครับ เสียบเต็มทุกช่องเลย USB-A เอาไว้เสียบ Dongle ของเมาส์ไร้สาย (แต่จริงๆ เอาไปเสียบกับ USB-A อีกฝั่งได้ หรือหาเมาส์ไร้สายแบบ Bluetooth ก็ได้เช่นกัน ประหยัดการใช้พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 1 นี่) พอร์ต HDMI ก็เอาไว้ต่อจอแสดงผลภายนอก และเราสามารถจ่ายไฟจาก USB-C นี่ไปที่จอแสดงผลพกพาได้อีก

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้พอร์ต USB-A และ USB-C เราก็อาจจะเลือกไปเสียบ USB dongle หรือสายชาร์จ กับพอร์ต USB-A อีกฝั่งก็ได้นะ

ผมลองเอาโน้ตบุ๊กตัวนี้มาใช้ประชุมออนไลน์ด้วย กล้อง Full HD มีความชัดดีประมาณนึง แต่ก็แค่ดีกว่ากล้องเว็บแคมแบบ 720p แหละนะ ใครที่อยากได้ภาพตัวเองชัดๆ หล่อๆ สวยๆ ก็อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการจัดแสงเพิ่มเติม ปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วย คือ บางทีก็กลัวเผลอเปิดเว็บแคม หรือมีใครแฮกมาแอบดูภาพของเราจากเว็บแคม เขาก็มีสวิตช์สำหรับปิดกล้องเว็บแคมแบบ Physical ไว้ให้ด้วย

ลำโพงของโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED คือเสียงดังฟังชัดดีมาก ไม่ต้องเปิดดังสุดๆ ก็ดังแล้ว คุณภาพเสียงก็เรียกว่าดีทีเดียว สมกับที่จูนโดย harman/kardon ครับ

เล่นเกม Final Fantasy VII Remake Integrade บนโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

จากที่ได้ทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark พบว่าไม่น่าห่วงเรื่องการเล่นเกมเลย มันน่าจะทำได้สบายๆ แหละ แต่เพื่อความมั่นใจ เลยเอามาเล่นเกม Final Fantasy VII Remake Intergrade ดูครับ โดยปรับความละเอียดหน้าจอเป็น 2.5K เต็มประสิทธิภาพของตัวโน้ตบุ๊ก และให้คุณภาพกราฟิกสูงสุดด้วย ผลก็คือ ถ้าเป็นฉากที่มีตัวละครไม่เยอะ ก็สามารถได้เฟรมเรตสูงระดับ 60-70fps ครับ แต่พอมีตัวละครในฉากหลายๆ ตัว กราฟิกดูรกๆ หน่อย เฟรมเรตก็จะตกลงมาเหลือราวๆ 38fps คือไม่ถึงกับลื่นไหล แต่ก็ไม่ได้กระตุกจนน่ารำคาญ แต่แลกมาด้วยกราฟิกสวยกริ๊บเลย

ด้วยความที่เครื่องมันประสิทธิภาพสูง เวลาทำงานเต็มเหนี่ยว ตัวเครื่องก็จะอุ่นๆ หน่อยครับ ตรงบริเวณคีย์บอร์ดเนี่ย จะอุณหภูมิประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส ยังพอจะใช้พิมพ์งานได้โดยไม่รู้สึกแย่เท่าไหร่ แต่ด้านใต้ของตัวเครื่องอ่ะ จุดที่ร้อนที่สุดอาจจะไปได้ถึง 48-50 องศาเซลเซียสเลยนะ (นี่คือตั้งพัดลมให้วิ่งเร็วที่สุดแล้วนะ) มันคงไม่ใช่โน้ตบุ๊กที่เราจะเอามาวางบนตักเพื่อเล่นเกมหรือตัดต่อวิดีโอแน่นอนครับ

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS Vivobook Pro 14X OLED

เป็นโน้ตบุ๊กที่ประสิทธิภาพสูง เอาไว้ใช้งานหนักๆ อย่างงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ นอกสถานที่ โดยไม่ต้องใช้จอเสริม หน้าจอ OLED ให้ขอบเขตสีที่กว้าง Calibrate ดีๆ ก็พร้อมใช้งานได้เลย โดยที่ตัวโน้ตบุ๊กก็ไม่ถึงกับเรียกว่าหนักมาก เมื่อเทียบกับสเปกที่ได้ คือ ถ้าเป็นสาย Content creator แล้วมองว่า ASUS ZenBook Pro 14 Duo UX8402 ที่เป็นตัวมีการ์ดจอแยก มันราคาแรงไปหน่อย (74,990 บาท) ตัวนี้ก็ได้สเปกและประสิทธิภาพที่น่าจะใกล้เคียงกัน ในราคาที่ถูกกว่าสองหมื่นกว่าบาทอะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กตัวนี้ที่เว็บไซต์ของ ASUS นะครับ Vivobook Pro 14X OLED (N7401, 12th Gen Intel)|แล็ปท็อป For Creators|ASUS ประเทศไทย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า