Home>>รีวิว>>รีวิว Ninebot Kickscooter D18W สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเบาๆ คันนี้ จะเหมาะกับใครใช้งานยังไงบ้าง?
สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W จอดริมถนนในหมู่บ้าน ใกล้ๆ สวน
รีวิว

รีวิว Ninebot Kickscooter D18W สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเบาๆ คันนี้ จะเหมาะกับใครใช้งานยังไงบ้าง?

MONOWHEEL เขาส่งสกู๊ตเตอร์มาให้ผมรีวิว 2 คัน แต่ด้วยความที่ฝนฟ้าไม่ค่อยจะเต็มใจซักเท่าไหร่ก็เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสขี่ไปรีวิวซักเท่าไหร่ แต่ในที่สุดก็สามารถสะสมระยะทางในการขี่ได้มากพอที่จะเอาประสบการณ์ในการขี่ Ninebot Kickscooter D18W มาให้อ่านกันแล้วครับ ว่าเป็นยังไง เหมาะกับใคร เอาไปใช้งานยังไงบ้าง กับเจ้าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าราคา 16,900 บาทนี้

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W ตัวที่รีวิวครั้งนี้ ผมได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากบริษัท MAKEIO หรือที่หลายๆ คน อาจจะรู้จักในชื่อเว็บ monowheel.bike เขาให้ยืมมาลองขี่เพื่อเอาประสบการณ์ในการขี่มาเล่าสู่กันอ่าน ด้วยความที่เป็นสเปกสำหรับการเดินทางระยะใกล้ๆ ประกอบกับฟ้าฝนไม่อำนวยมาก ผมก็เลยได้ขี่ไปราวๆ 20 กว่ากิโลเมตร โดยประมาณ แต่เชื่อว่าด้วยประสบการณ์ในการขี่มาหลายรุ่น ระยะทางรวมเกิน 10,000 กิโลเมตร ผมก็จะมีข้อมูลที่น่าสนใจให้ได้อ่านในรีวิว เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจซื้อของท่านผู้อ่านได้ครับ

สำหรับ Ninebot Kickscooter D18W นี้ ทางร้านเขาประกอบมาให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็เลยไม่มีประสบการณ์ตรงในการแกะกล่องมาเล่าสู่กันอ่านนะครับ แต่จากที่เคยประกอบ Ninebot Kickscooter F40 ก็ต้องบอกว่ามันไม่ยุ่งยาก คือ มันประกอบมาจนเกือบเสร็จแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เอาแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาเสียบใส่กับคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ขันน็อตให้แน่ ซึ่งใช้ประแจรูปตัว L ที่มีแถมมาให้นั่นแหละ

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W จอดริมถนนในหมู่บ้าน ใกล้ๆ สวน

ประกอบเสร็จเรียบร้อย ได้หน้าตาแบบรูปด้านบนครับ ก็จะคล้ายๆ กับพวกซีรีส์ F อย่าง Ninebot Kickscooter F20A หรือ F40 ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้า ครับ โดยตามสเปกของ D18W แล้ว ก็จะเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับ F20A ที่ตอนนี้ทางร้านเขาเอา F25 มาแทนที่แล้ว ตัว D18W นี่ก็คือน่าจะมาแทน F20A ครับ ตามสเปกเขาบอกว่าได้ระยะทางสูงสุด 18 กิโลเมตร … แต่เดี๋ยวค่อยมาว่ากันว่าวิ่งได้ตามระยะจริงไหม

ตั้งแต่รุ่น MAX มาจนถึงซีรีส์ F และล่าสุด ซีรีส์ D ที่ดีไซน์เป็นแบบพับคอเป็นสามเหลี่ยม แม้ในแง่ของการเก็บหรือพับเข็นมันจะลำบากกว่าก็ตาม แต่ฐานที่ยืนของตัวสกู๊ตเตอร์มันคือ ใหญ่ เหยียบได้สบายเท้าดีมากทีเดียว ตัวโครงสร้างรถ เขาว่าเป็นอลูมิเนียมอัลลอยเกรดอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะทนทานกว่าอลูมิเนียมทั่วไป พวกข้อพับนี่กันแตกหักได้ดีกว่า 2.5 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนรูปทรง 3.8 เท่า

ล้อของ Ninebot Kickscooter D18W เป็นล้อยางลมขนาด 10 นิ้วทั้งหน้าและหลัง ซึ่งก็จะช่วยให้รองรับพวกสภาพถนนที่มีหลุมตื้นๆ เนินนิดๆ น่าจะเป็นแบบเดียวกับซีรีส์ F และใช้ยางแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาให้ทนทานขึ้น 10% ทนต่อการถูกตำแตกเพิ่มขึ้น 12% และว่ากันว่าขับขี่นิ่มนวล สบายขึ้น 16% ซึ่งอะไรพวกนี้คงจะไม่ได้รีวิวให้ เพราะมันต้องขี่ยาวๆ ประจำๆ เป็นปีๆ ถึงจะตอบได้ ส่วนเรื่องตำแตกนี่ต้องไปลองขี่ทับน็อตทับตะปูดูอะ ร้านเขาคงไม่แฮปปี้ถ้าผมจะทำแบบนั้น 🤣🤣 แต่จากประสบการณ์ที่เคยขี่ Ninebot Kickscooter MAX โดนตำแตกมาแล้ว แล้วที่เขาบอกว่าจะมีระบบ Sealant เพื่ออุดรูรั่วอัตโนมัติ เขาก็ทำได้ตามนั้นจริง ฉะนั้นอันนี้ก็น่าจะไว้ใจเขาได้ อ้อ! การโดนตำแตกไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ครับ ผมขี่ Ninebot Kickscooter F40 มาเกือบ 1,000 กิโลเมตรแล้ว ก็ยังดีอยู่นะ

ดอกยางเขาก็มีการออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพในการรีดน้ำ เพื่อป้องกันการลื่นไถลขณะขับขี่บนพื้นเปียกๆ จากประสบการณ์ขี่ในรุ่นอื่นๆ ที่ใช้ดอกยางคล้ายๆ กัน แต่เป็นรุ่นเก่ากว่า มันก็ขับขี่ได้ดีทีเดียวแหละ แต่ด้วยความที่ Ninebot Kickscooter D18W จะมีน้ำหนัก 14.9 กิโลกรัม ก็อาจจะรู้สึกโหวงๆ หน่อย หากคุณคุ้นเคยกับ Ninebot Kickscooter MAX ที่หนักกว่าพอสมควร แบบผม

ภาพระยะใกล้จากด้านซ้ายมือของบริเวณฐานที่เหยียบ

ด้วยความที่เป็นรุ่นสเปกวิ่งได้สูงสุดราวๆ 18 กิโลเมตร ฐานของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็จะไม่หนามาก ทำให้มีระยะสูงจากพื้นอยู่ประมาณนึงครับ ก็พอจะหมดห่วงเวลาที่ต้องขี่ขึ้นเนินลูกระนาด ไม่น่าจะครูดใต้ท้องสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าง่ายๆ ถ้าเราไม่ได้ขี่มาวิ่งผ่านแบบเร็วๆ ขาตั้งสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จะยังคงเป็นแบบเดิมๆ อยู่

จุดที่ชาร์จแบตเตอรี่ของ Ninebot Kickscooter D18W

ตรงบริเวณฐานคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก็จะมีจุดชาร์จแบตเตอรี่เหมือนซีรีส์ F ครับ ใช้ที่ชาร์จอันเดิมได้เลย เผื่อใครมีสกู๊ตเตอร์หลายคัน หรือเคยซื้อที่ชาร์จสำรองเอาไว้แบบผม อะแดปเตอร์ของตัวสกู๊ตเตอร์เป็นแบบ 70 วัตต์ (ของ F40 เป็น 71 วัตต์ ก็ใช้กันได้) มันก็คืออะแดปเตอร์ตัวเดียวกะ ES2/ES4 หรือ E25 นั่นแหละครับ เพื่อให้กันน้ำ เขาจะมีจุกยางปิดไว้ให้ แต่เท่าที่ลองใช้ดู รถเดโมคันที่ผมได้มา จุกยางมันเหมือนขยายตัวออกมา แล้วชอบเด้งออกมาเองเมื่อเวลาผ่านไปซักพัก แต่รุ่น F40 ที่ผมขี่นี่ไม่เป็นนะ

แฮนด์ของ Nineb

ดีไซน์แฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W นี่ก็จะเหมือนซีรีส์ F ครับ คิดว่า ณ ตอนนี้ดีไซน์แบบนี้น่าจะลงตัวที่สุดแล้ว แฮนด์ด้านซ้ายก็จะมีเบรก ซึ่งเป็นระบบเบรกแบบคู่ คือ ล้อหลังเป็นดรัมเบรก ส่วนล้อหน้าเป็นระบบเบรกไฟฟ้า (Regenerative brake) ที่หน่วงมอเตอร์แล้วปั่นไฟกลับด้วย และมีกระดิ่งแบบกระดิ่งจักรยานเล็กๆ ที่ตัวล็อกเวลาพับเก็บเนี่ย ทำหน้าที่เป็นตัวดีดกระดิ่งในตัว ส่วนแฮนด์ด้านขวาเป็นสวิตช์คันเร่งแบบเดิมครับ

ตัวล็อกคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter F40

มีข้อสังเกตนิดนึงคือ ซีรีส์ D นี่ เขาบอกว่าจะมีตัวล็อกคอแบบใหม่ แต่จากที่ได้ทราบข้อมูลมา รุ่น D18W นี่จะยังเป็นตัวล็อกคอแบบเก่า คล้ายๆ กับของซีรีส์ F แบบในรูปด้านบนครับ รูปด้านบนเป็นตัวล็อกคอของ Ninebot Kickscooter F40 ผมถ่ายรูปของ D18W มาให้ดูไม่ได้ เพราะตัวรถเดโมที่ได้มานี่ เขาเป็นตัวล็อกรุ่นใหม่เฉย ขนาดทีม MONOWHEEL ยังงงว่ามันปนมายังไง 🤣🤣

ตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อกับแอป Segway บนสมาร์ทโฟน รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เพื่อใช้ตั้งค่าต่างๆ รวมถึงการดูข้อมูลตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าและเก็บสถิติต่างๆ กับการร่วมชุมชนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าทั่วโลก แชร์รูปการใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของเรากับชุมชนได้ด้วย

ภาพระยะใกล้ของแฮนด์ Ninebot Kickscooter D18W ขณะกับลังวิ่งด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผมได้ลองเอาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W นี่ไปลองขี่แถวบ้านอยู่หลายรอบ ระยะทางรวมๆ ก็เกิน 20 กิโลเมตรอยู่ และแต่ละรอบ ก็ขี่จนแบตเตอรี่เหลือราวๆ 18-20% ก็ได้ข้อสรุปในเรื่องประสบการณ์การขี่ประมาณนี้นะครับ

🛴 ในแง่ความเร็ว เจ้านี่มาแบบเดียวกับซีรีส์ F คือ ไม่ว่าจะโหมด D หรือโหมด S ก็จะสามารถขี่ได้ด้วยความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่ากัน ผมลองใช้ Speedometer จับความเร็วแล้ว เทียบความเร็วตาม GPS กับตัวเลขบนหน้าปัด เท่ากันอยู่ ตรงตามนั้น

🛴 ระบบ Battery Management System ค่อนข้างดี คือ สามารถจ่ายไฟให้กับมอเตอร์ได้แรงพอที่จะทำให้สกู๊ตเตอร์คงระดับความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในช่วงระดับแบตเตอรี่ 20-100% ดีมากๆ เพราะถ้าเป็น Ninebot Kickscooter MAX นี่ แบตเตอรี่ลดลงเหลือ 70% นี่ก็จะเริ่มเห็นความเร็วตกแล้ว

🛴 ระบบเบรก ต้องแยกคุยระหว่างระบบเบรกไฟฟ้า (Regenerative brake) ที่ล้อหน้า กับระบบดรัมเบรกล้อหลัง คือ ระบบเบรกไฟฟ้ามันหน่วงนะ แต่ไม่ใช่ทุกรอบ ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร แต่เบรกล้อหลังคิดว่าเขาตั้งไว้แข็งพอสมควร เบรกหนึบมาก มาเร็วๆ เบรกแรงๆ มีหัวทิ่ม 🤣🤣

🛴 เป็นไปตามคาด เพราะระยะวิ่งจริงของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะไม่เคยได้ตามสเปก เขาถึงระบุว่า “ระยะทางสูงสุด” มันคือ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุม เช่น ขี่ด้วยความเร็วเท่าไหร่ สภาพถนนเป็นยังไง น้ำหนักบรรทุกเท่าไหร่ สำหรับ Ninebot Kickscooter D18W นี้ ผมหนัก 78 กิโลกรัม ขี่บนสภาพถนนปกติเลย มีความขุขระ มีสะพานข้ามคลองต่างๆ ไปตลอดทาง (ฝั่งธนบุรีจะเป็นแบบนี้เยอะ) ระยะทางสูงสุดแบบเซฟๆ ที่เจ้านี่จะวิ่งได้คือประมาณ 10-11 กิโลเมตร ครับ

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W จอดอยู่ตรงบริเวณที่จอดรถข้างทาง แถวๆ เชิงสะพานข้ามคลอง

🛴 Ninebot Kickscooter D18W ไม่เหมาะกับสภาพถนนที่จะมีทางชันสูงๆ สะพานสูงๆ เลยนะครับ ขี่โหมด S ที่แรงบิดสูงสุด ก็ยังมีลุ้นๆ เลย ความเร็วตกมาอยู่ที่ 15-18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นี่ขนาดวิ่งทำระยะมาประมาณนึงเพื่อให้เกิดแรงส่ง ถ้าเกิดต้องขึ้นจากเชิงสะพานเลย ไม่น่ารอด

หน้าจอแดชบอร์ดของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W ที่กำลังแจ้งสถานะแบตเตอรี่อุณหภูมิสูงอยู่

🛴 การขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W แบบสุด คือ รวดเดียว 10-11 กิโลเมตร แม้ว่าจะทำได้เพราะแบตเตอรี่ยังพอไหว แต่ผมไม่แนะนำให้ทำนะ เพราะแบตเตอรี่มันเล็ก ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนความร้อนมากมายนัก ผลคือ ถ้าขี่ยิงยาวแบบนี้ แบตเตอรี่จะมีอุณหภูมิสูงครับ ขี่เสร็จแล้ว ไม่แนะนำให้ชาร์จแบตเตอรี่ด้วย รอให้แบตเตอรี่เย็นก่อน ค่อยว่ากัน (ให้สัญลักษณ์แจ้งเตือนแบตเตอรี่หายไปก่อน)

บทสรุปการีวิวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter D18W

โดยสรุปแล้ว Ninebot Kickscooter D18W จึงเหมาะสำหรับการขี่สนุกๆ ภายในหมู่บ้านจัดสรร หรือขี่ไปซื้อของ ไปหาข้าวกิน ในระยะทางใกล้ๆ แบบไปกลับไม่เกิน 10 กิโลเมตร และไม่มีพวกเนินชันๆ สะพานสูงๆ ระหว่างทาง และแม้ว่าจะมีน้ำหนัก 14.9 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าหนักเมื่อเทียบกับ Ninebot Kickscooter ES2 แต่ล้อที่ดีกว่า ฐานที่เหยียบที่ใหญ่กว่า มันก็ทำให้ขับขี่สบายกว่า การออกแบบพับแบบสามเหลี่ยม และมอเตอร์ที่ล้อหน้า ทำให้รู้สึกหิ้วได้สะดวกสบายกว่า นี่ก็ทำให้มันเหมาะกับผู้ใช้งานแนวที่กะพกใส่รถเพื่อใช้ขี่ต่อในระยะสั้นๆ หรือ ใช้ขี่จากบ้านหรือคอนโดไปขึ้นรถไฟฟ้าที่อาจจะอยู่ห่างไปซัก 2-3 กิโลเมตร แล้วพอลงจากรถไฟฟ้า ก็ขี่ต่อไปออฟฟิศหรือจุดหมายปลายทางที่ห่างไปซัก 2-3 กิโลเมตร เช่นกัน

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม และซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ดูที่เว็บไซต์ MONOWHEEL ได้ครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า