ตอนที่เข้าสู่วงการจัดโต๊ะคอม และเริ่มใช้จอคอมพิวเตอร์หลายจอ (ตอนนี้ผมมีจอคอมพิวเตอร์รวมแล้ว 3 จอ สำหรับการทำงาน) ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ มีคนในกลุ่มจัดโต๊ะคอมทักว่า มีหลายจอแบบนี้ สีไม่ตรงกัน ไม่งงเหรอ ซึ่งผมก็ตอบเลยว่าไม่ซีเรียสครับ เพราะว่าผมไม่ได้ทำงานด้านกราฟิก หรือตัดต่อวิดีโอ (โดยเฉพาะไม่ได้เกรดสี) เน้นท่องเว็บ อ่านอีเมล เล่นโซเชียลมีเดีย เล่นเกมบ้าง สีมันจะเพี้ยน จะไม่ตรง ไม่ใช่ปัญหาเลย แต่เมื่อ 9.9 ที่ผ่านมา เกิดวู่วาม อยากลองดูว่า แล้วถ้าเรา Calibrate จอซะบ้าง มันจะทำให้ความรู้สึกในการใช้งานคอมพิวเตอร์เปลี่ยนไปแค่ไหน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ตัวอุปกรณ์ Calibrate จอที่ผมพูดถึงในบล็อกตอนนี้ก็คือ SpyderX Elite ครับ ซื้อมา 9,790 บาท ผ่อน 0% 10 เดือน จากร้าน lndgadget ซึ่งเป็นร้านมีชื่อ น่าเชื่อถือ ร้านนึง ที่เป็นที่รู้จักในสายบล็อกเกอร์ และ Content creator เลย ใครสนใจพวก กล้อง ไฟ โดรน อะไรพวกเนี้ย แวะไปดูได้ครับ ร้านนี้รู้จักกัน ผมขออวย 🤣🤣
ก่อนอื่น อธิบายเซ็ตอัปของผมก่อนนะครับ ผมใช้จอหลักเป็น HUAWEI MateView GT 34″ และมีจอเสริมอีก 2 ตัว ตัวซ้ายเป็นจอพกพาโนเนม แบบมีแบตเตอรี่ในตัว ซื้อมาหลายปีแล้ว ตอนนี้ร้านที่ขายผม ปิดหนีไปแล้ว 🤣🤣 ส่วนด้านขวา เป็นจอ Dell P2217H ซื้อแบบมือสองมา เอามาใช้เป็นจอแนวตั้ง เพราะรุ่นตระกูล P เนี่ย มันหมุนหน้าจอได้ ขนาดจอมันเหมาะกับการวางบนโต๊ะผมพอดี
แต่ถ้าดูจากรูปด้านล่าง จะเห็นว่า 3 จอนี้ สีไม่ตรงกันเลยแม้แต่น้อยครับ HUAWEI MateView GT 34″ นี่จะดูสีสด (ผมเปิดโหมดการแสดงผลแบบ P3) ส่วนจอ Dell นี่จะดูสีนวลๆ และจอโนเนมนั่น แม้จะโทนสีคล้ายๆ กับจอ Dell แต่มันจะดู Overexpose สีซีดๆ อยู่

ผมก็ใช้งานมานานพอสมควร ไม่ได้รู้สึกมีปัญหาอะไรนะ เพราะอย่างที่บอกครับ ผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องจอสีไม่ตรงกัน ก็แหม ไม่ได้ทำงานใดๆ ที่ซีเรียสเรื่องสีนี่นา แต่หลังๆ มาเนี่ย ได้รีวิวจอคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หลายๆ ตัว ที่มีการเคลมเรื่องขอบเขตสี (Color gamut) กันมากขึ้น ในฐานะคนที่รีวิวแล้วชอบคอนเฟิร์มว่ามันทำได้ตามสเปกจริงไหม ก็อยากจะมีเครื่องมือวัดกะเขา (จอบางตัว ไม่มีการพูดถึงสเปกพวกนี้ด้วยซ้ำ แต่การรู้สเปกพวกนี้ ก็จะได้รู้ว่าจอมันคุณภาพดี แสดงผลสีได้สมจริงมากน้อยแค่ไหน เวลาเทียบกะยี่ห้อและรุ่นอื่น ที่ราคาใกล้กัน อะไรแบบนี้ บวกกับที่บ้านก็มีโน้ตบุ๊กหลายตัว มีจอคอมพิวเตอร์หลายตัว ก็รู้สึกว่า เออ ซื้ออุปกรณ์สำหรับ Calibrate สีมาลองใช้ดูซักหน่อยไหม
ประกอบกับไปเจอว่า SpyderX Elite ราคามัน 9,790 บาท ผ่อน 0% 10 เดือนได้ ตกเดือนละไม่ถึงพัน ไม่ทำให้เดือดร้อนกับค่ากินค่าอยู่ ก็เลยจัดมาแบบวู่วาม 1 หน่วยครับ

จริงๆ แล้ว อุปกรณ์สำหรับช่วย Calibrate หน้าจอนี่มีหลายยี่ห้อครับ แต่ถ้าเราค้น Google หา “อุปกรณ์ Calibrate หน้าจอ” เราจะเห็นผลการค้นหาส่วนใหญ่พูดถึง อุปกรณ์ของบริษัท Datacolor ซึ่ง SpyderX นี่ก็คือรุ่นล่าสุดของเขา มีสองโมเดลให้เลือก คือ SpyderX Pro และ SpyderX Elite ซึ่งรุ่น Pro มันจะเป็นรุ่นเบสิก และเน้นสำหรับการ Calibrate หน้าจอใดหน้าจอหนึ่งเป็นหลัก ส่วนใครที่อยาก Calibrate พวกโปรเจ็กเตอร์ หรือ ต้องการทำให้จอหลายๆ จอ สีตรงกันด้วย (เขาเรียก Display matching in studio) ต้องซื้อรุ่น Elite ครับ (อ่านตารางเปรียบเทียบฟีเจอร์ของรุ่น Pro กับ Elite จากเว็บไซต์ของ Datacolor)

ภายในกล่องเนี่ย ก็จะมีเจ้าตัว SpyderX ที่มีสาย USB แบบติดมาในตัวเลย ความยาวสายราวๆ 130 เซ็นติเมตร เรียกว่ายาวพอสำหรับเอาไปใช้งานในแทบจะทุก Setting ของการวางจอคอมพิวเตอร์และตัวคอมพิวเตอร์ครับ การใช้งานอะ ก็คือ แกะเอาฝาครอบเลนส์ออก เลนส์ตัวนี้คือเซ็นเซอร์ที่เอาไว้วัดความสว่างและสีของหน้าจอครับ

พอได้เอามาใช้ ก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้ว ตัวอุปกรณ์อะ มันคือ SpyderX ครับ ความแตกต่างระหว่างรุ่น Pro และ Elite มันอยู่ที่ตัวซอฟต์แวร์ ที่มันจะเป็นโปรแกรม SpyderX Pro หรือ SpyderX Elite โดยตัว Elite มันก็จะมีฟีเจอร์เยอะกว่านั่นแหละ ราคาสองรุ่นนี้ก็ต่างกันเยอะนะ Pro มันราคา 6,590 บาท ส่วน Elite ราคา 9,790 บาท ต่างกัน 3,200 บาท
ซอฟต์แวร์ ผมลองไปอ่าน License agreement แล้ว เขาว่าจะลงกับคอมพิวเตอร์กี่เครื่องก็ได้ ตราบเท่าที่ยังอยู่ที่สถานที่ (Location) เดียวกัน และสามารถนำไปติดตั้งบนโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์พกพาแบบอื่นๆ ได้อีก 5 เครื่อง สามารถ Activate ตัวโปรแกรมผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้ แบบ Manual ก็ได้ แต่ผมยังสงสัยอยู่ว่า แล้วถ้าเกิดสมมติผมลงบนโน้ตบุ๊กไปแล้ว มันก็เท่ากับใช้ไลเซ่นส์ไป 1 อัน แล้วถ้า Uninstall ออก เราจะได้ไลเซ่นส์คืนไหม (ควรจะได้นะ) หรือ ถ้าเกิดโน้ตบุ๊กมันอยู่ภายในบ้านผม (Location เดียว) มันจะถือว่าลงได้ปกติไหม … น่าคิด … แต่คิดว่าเวลาที่รันโปรแกรม มันจะมีการเช็กไลเซ่นส์อัตโนมัติแหละ ถ้าเกิดโปรแกรมของผม ส่วนใหญ่อยู่ใน 1 Location แล้วอาจจะมีอีก 5 เครื่อง อยู่คนละ Location ก็น่าจะถือว่าโอเคสำหรับบริษัท Datacolor ล่ะ


ทีนี้พูดถึงการใช้งานบ้าง เราก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรมมาครับ มันจะมีแผ่นกระดาษใบเล็กๆ บอกว่าให้ไปที่ไหน และด้านในของกล่อง มันจะมาสติกเกอร์ปิดเอาไว้ บนนั้นจะมี Serial number อยู่ มันคือโค้ดที่ต้องใส่เพื่อ Activate โปรแกรมครับ เมื่อ Activate แล้ว ก็พร้อมที่จะทำการ Calibrate หน้าจอ ซึ่งเราทำได้ 3 แบบ คือ
*️⃣ ReCAL เอาไว้ Calibrate หน้าจอซ้ำ หลังจากที่เคยทำมาก่อน
*️⃣ CheckCAL เอาไว้แค่วัดความแม่นยำของการแสดงผลสีของหน้าจอที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
*️⃣ FullCAL เอาไว้ Calibrate หน้าจอที่เพิ่งทำเป็นครั้งแรก
การ Calibrate ก็ง่ายๆ เลย มันจะมีคำอธิบายขั้นตอนให้เราอ่าน (แต่เป็นภาษาอังกฤษนะ) แต่หลักๆ มันจะเป็นแบบนี้ครับ ก่อนอื่นต้องเปิดจอทิ้งไว้ก่อนซัก 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าวอร์มอัพจอเรียบร้อย จอแสดงประสิทธิภาพออกมาเต็มที่ที่สุด จากนั้นก็…
*️⃣ เลือกว่าจะ Calibrate จออันไหน เราสามารถเปลี่ยนชื่อจอได้ด้วย (และควรเปลี่ยน จะได้จำได้) ในกรณีที่เรามีแค่จอเดียว ก็คลิก Next ได้เลย
*️⃣ เลือกประเภทของจอที่เรากำลังจะ Calibrate ของผมเป็น SpyderX Elite มันก็มีให้เลือกเป็นจอ Desktop, Laptop และ Projector ครับ เลือกตามจริงไปนั่นแหละ
*️⃣ เลือกด้วยว่า เราสามารถควบคุมจอด้านไหนได้บ้าง ซึ่งหลักๆ มันจะมีสองส่วน คือ ความสว่าง (Brightness) และ อุณหภูมิของสี (Kelvin preset) ส่วนใหญ่จอมันจะให้ปรับได้แค่ความสว่างแหละ ส่วนจอสเปกดีๆ หน่อย มันจะให้ปรับอุณหภูมิสีได้ แต่หลายๆ จอ มันไม่มี Kelvin preset มาให้ มันให้เราปรับสี RGB เอาเอง โหดไป๊
*️⃣ เลือก Display technology ซึ่งถ้าเป็นจอไฮโซ ให้เลือก Wide LED ครับ ถ้าจอทั่วๆ ไป เลือก Standard LED ไป
*️⃣ จากนั้นเลือก Target value ด้วย มันจะมีค่า Recommended value มาให้ คือ Gamma 2.2, White point 6500K แล้วในบางกรณี มันจะมีกำหนดค่า Brightness มาให้ด้วย (เฉพาะกรณีการ Calibrate ในบางสถานการณ์) ซึ่งค่า Recommended value มักจะเป็น 120 cd/m2
ตัวอุปกรณ์ Calibrate หน้าจอ SpyderX เนี่ย ด้านนอกมันจะมีเซ็นเซอร์วัดแสงด้วยนะ เอาไว้สำหรับวัดความสว่างของห้องทำงาน ณ ขณะนั้น เวลา Calibrate แบบเต็มเหนี่ยวจะต้องคำนึงถึงความสว่างของห้องด้วย พวกที่ทำงานระดับมืออาชีพ เขาจะมีการควบคุมความสว่างของห้องเอาไว้ให้คงที่ ซอฟต์แวร์ SpyderX Elite มันจะทำการ Calibrate แล้วแนะนำให้เราปรับความสว่างของหน้าจอให้สว่างพอที่จะสู้กับความสว่างของห้องทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าสีที่แสดงออกมา มันตรงตามมาตรฐาน คือ ถ้าสว่างไม่พอ หรือสว่างมากเกินไปอะ มันจะบอกให้เราปรับเพิ่มหรือลดความสว่าง เพื่อให้ได้ค่าที่กำหนดเอาไว้


พอ Calibrate เสร็จอะ มันก็จะมีหน้าจอที่จะสรุปให้เราเห็นว่าภาพที่ออกมาหลังจากการ Calibrate แล้วเป็นยังไง โดยมีรูปให้ดูหลายแบบ และเราสามารถที่จะ Switch กลับไปกลับมาระหว่างภาพก่อนการ Calibrate กับหลัง Calibrate ให้เทียบกันได้ ผมขอถ่ายมาเฉพาะภาพที่เป็นแถบสี ที่มันแสดงหลายๆ สี มาให้ดูแล้วกันนะครับ จะเห็นว่าก่อนทำการ Calibrate เนี่ย สีมันจะดูจืดๆ อยู่ และสีโทนฟ้า 2 อันที่อยู่ตรงด้านซ้ายสุดของแถวที่ 2 จากด้านล่าง กับ อันขวาสุดของแถวที่ 3 จากด้านล่าง ที่ก่อน Calibrate มันจะใกล้ๆ กัน ก็จะดูต่างกันมากขึ้นด้วย โดยรวมที่ผมรู้สึกได้คือ หลังจาก Calibrate แล้ว ภาพมันออกมาโทนอุ่นมากขึ้น และสีสันมีความสดขึ้นด้วย
อีกฟีเจอร์นึงที่ SpyderX Elite มี และมันช่วยคนทำงานได้เยอะมาก ก็คือ Display matching in studio ครับ คือ เป็นการ Calibrate ให้หน้าจอหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน รุ่นไหน มีการแสดงผลสีตรงกัน ซึ่งใช้ได้ทั้งกับจอทุกจอที่ต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน และจออื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้ต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน
หลักการทำงานของมันก็ง่ายๆ ก็คือ มันจะให้เราตั้งความสว่างของหน้าจอให้สว่างสุดเอาไว้ก่อน แล้วก็จะวัดค่าความสว่างเอาไว้ จากนั้นมันจะเอามาเทียบกันว่า จอไหนแสดงความสว่างได้น้อยที่สุด มันก็จะแนะนำให้ทำการ Calibrate โดยให้ความสว่างของทุกจอ อยู่ที่ค่าสูงสุดของจอแสดงผลที่สว่างน้อยสุดนั่นแหละ
จากนั้นมันก็จะทำการ Calibrate หน้าจอ และปิดท้ายด้วยการให้เรา Fine tune สี ซึ่งอันนี้เราจะต้องปรับด้วยสายตาเพิ่มอีกหน่อย แต่เมื่อเสร็จเรียบร้อย และทำได้ถูกต้องนะ สีของจอทุกตัวที่ Calibrate ก็จะออกมาตรงกันหรือใกล้เคียงกันมากๆ ครับ เช่น โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ที่มันจะมีจอแสดงผลหลัก และจอ ScreenPad Plus ที่อยู่ตรงเหนือคีย์บอร์ด พอ Calibrate แล้วสีที่ได้ออกมาตรงกันเป๊ะๆ เลยครับ

แต่ผมพบว่าการ Calibrate จอของซอฟต์แวร์ SpyderX Elite เนี่ย มันเหมาะกับการใช้งานจอแนวนอน และต้องเป็นจอแบบเต็มๆ เป็นหลักนะครับ เพราะจอ ScreenPad Plus นี่ แสดงผลโปรแกรมล้นๆ เลย หรือเวลาผมไป Calibrate จอ Dell ที่เป็นจอแนวตั้งของผม มันก็แสดงผลเกินๆ อยู่หน่อยๆ ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรมาก เพราะคนใช้งานเจ้าอุปกรณ์ Calibrate หน้าจอนี้ มักจะเป็นสายทำงานกราฟิก รูปภาพ วิดีโอ ที่มักจะใช้งานจอแสดงผลแนวนอนเป็นหลักครับ แต่จริงๆ จะดีกว่านี้นะ ถ้าออกแบบโปรแกรมให้สามารถปรับขนาดของหน้าต่างโปรแกรมให้เหมาะสมกับหน้าจอประเภทต่างๆ ได้เลย


ผมลองเอามา Calibrate จอ HUAWEI, Dell และจอโนเนมจากจีนของผมดู ผลก็คือ สีมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่ไม่ตรงเป๊ะซะทีเดียว แต่ก็ดีกว่าตอนแรกมากครับ ลองเปรียบเทียบกันดูได้ แต่ผมพบว่าจอโนเนมของผม มันมีข้อจำกัดพอสมควรตอน SpyderX Elite พยายาม Calibrate ครับ

พอดีจอพกพา Lenovo L15 ที่ผมสั่งไปตอน 9.9 เช่นกัน มันมาส่งพอดี ซึ่งผมตั้งใจจะเอามาแทนจอพกพาโนเนมอยู่แล้ว ผมก็เลยถือโอกาสเอามาลอง Calibrate แบบ Display matching in studio อีกที ผลที่ได้คือ 3 จอให้ผลการแสดงสีสันที่ใกล้เคียงหมดแล้วครับ (แต่ผมแปลกใจว่าทำไมเวลาถ่ายรูป จอกลางมันดันติดแดงหว่า สงสัยซอฟต์แวร์ของกล้องสมาร์ทโฟนมันไปปรับสีให้แหง … ไม่ได้ข้อเฟ้ย)

พอ Calibrate เสร็จอะ มันจะให้เราทำการเซฟโปรไฟล์สี (Color profile) เอาไว้ครับ ซึ่งเราสามารถปรับตั้งได้หลายแบบมาก และเมื่อเราต้องการใช้โปรไฟล์ไหน เราก็ไปเลือกอันนั้นครับ โปรไฟล์มันจะถูกบันทึกเป็นไฟล์นามสกุล .icm ซึ่งเราสามารถจะนำไฟล์เนี้ย ไป Import ลงคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ด้วย

การ Import ก็แค่เรียกใช้โปรแกรม Color Management แล้วเลือกจอที่เราต้องการจะใส่ Color profile ลงไป จากนั้นกด Add แล้วเลือกไฟล์ .icm ที่เราเซฟมานั่นแหละครับ จากนั้นก็ไปเลือกโปรไฟล์ที่ต้องการใน Display setting อีกที
บทสรุปการรีวิว SpyderX Elite | ซื้อดีหรือไม่ซื้อดี?
แน่นอนว่าสำหรับคนที่ทำงานด้านกราฟิก ถ่ายรูป ตัดต่อวิดีโอที่ต้องมีการเกรดสี แบบจริงจัง หรือพวกโรงพิมพ์ การมีอุปกรณ์ประเภทนี้สำคัญครับ และการ Calibrate หน้าจอ มันไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วจบนะ ซอฟต์แวร์มันมีการตั้งค่าให้คอยเตือนให้ Calibrate ใหม่เป็นระยะๆ ด้วย และมันมีฟีเจอร์ในการวัดแสงสภาพแวดล้อม เพื่อทำการ Calibrate จอเมื่อสภาพแสงเปลี่ยนด้วย การซื้อมาใช้จึงคุ้มค่า และเขาก็ให้ไลเซ่นส์ใช้แบบคุ้มจริงๆ อะ คือ ซื้อมาใช้ชิ้นเดียว จะลงโปรแกรมบนกี่เครื่องก็ว่าไป ตราบเท่าที่ยังอยู่บน Location เดียวกัน
สำหรับคนทั่วไป บอกเลยไม่จำเป็น เพราะมันไม่ได้ซีเรียสเรื่องสีอยู่แล้ว SpyderX ไม่ว่าจะ Pro หรือ Elite ก็ถือว่าราคาแพงเอาเรื่องอยู่นะ ถ้าอยากลองเล่น ไปลองเช็กเพื่อนๆ ดูว่ามีใครใช้ป่าว แล้วยืมเอาง่ายกว่าครับ 🤣🤣 แต่สำหรับผม ผมคุ้ม เพราะผมมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง จอหลายตัว เอามา Calibrate ใช้งานก็คุ้ม (ถ้าจะคิดว่าคุ้ม 🤣🤣) นอกจากนี้ผมยังเอามาใช้รีวิวได้อีก เพราะมันช่วยวัดได้ว่าขอบเขตสีที่จอแสดงผลได้ มันมีค่าเท่ากับเท่าไหร่ ผมเอาไว้เทียบกับสเปกได้
ว่าจะลงลิงก์ซื้อให้ แต่ไปดูแล้ว สินค้าหมด งั้นไม่ลงลิงก์ให้แล้ว