เป็นโน้ตบุ๊กที่ควรจะได้รีวิวไปพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ก็โดนเลื่อนๆ ไปด้วยจังหวะที่ผมติดโควิด-19 และตามด้วยงานต่างๆ ที่ค้างคาไว้ในช่วงที่ผมต้องพักร่าง กับ ASUS ZenBook S 13 OLED (UM5302T) ที่ผมก็อยากรีวิวมากๆ ในฐานะของคนที่เคยใช้ ASUS ZenBook S (UX391UA) มาก่อน ซึ่งจุดเด่นของ ASUS ZenBook S เนี่ย ก็คือความบางและเบา ในระดับ 1 กิโลกรัม ในขณะที่ยังเลือกใช้ CPU ที่มีประสิทธิภาพสูง สเปกแรง และงวดนี้จุดขายอีกเรื่องก็คือจอ OLED นั่นเอง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S 13 OLED ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาลองใช้งานเพื่อรีวิวประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้อ่านกันครับ ออกตัวก่อนเลยว่า ผมเป็นคนชอบจอ OLED ด้วยนะ อาจจะลำเอียงนิดๆ เวลารีวิวจอ 🤣🤣

แกะกล่อง ASUS ZenBook S 13 OLED มันจะมีกล่องอยู่ข้างในอีกสองกล่อง กล่องแรกคือกล่องใส่ตัวโน้ตบุ๊กที่บางลงไปมาก คือ ตามเทรนด์การรักษ์โลก ใช้วัสดุในการทำแพ็กเกจจิ้งลดลง ประมาณนั้น (แต่จริงๆ รวมๆ ก็ยังมีหลายกลุ่ม ใช้กระดาษเยอะอยู่ แต่อาจจะเป็นกระดาษจำพวกรีไซเคิลละมั้ง) อีกกล่องคือ กล่องใส่อะแดปเตอร์และสายชาร์จ และมี USB-C to USB-A dongle มาให้อีกอัน แล้วภายในกล่องใหญ่ มันก็มีซองใส่โน้ตบุ๊กแถมมาให้ด้วย เอาไว้ใส่โน้ตบุ๊กพกไปไหนมาไหน เก๋ๆ … อ้อ กล่องใส่อะแดปเตอร์มันมีกิมมิกอีกอย่างนึงด้วยนะ เดี๋ยวค่อยพูดถึงตอนรีวิวตัวโน้ตบุ๊กละกัน

ตัวโน้ตบุ๊ก เป็นโน้ตบุ๊กขนาดจอ 13.3 นิ้ว ซึ่งเป็นไซส์ที่นิยมทำกันเวลาต้องการทำโน้ตบุ๊กที่ บาง เบา และเล็ก พกพาสะดวก แต่ยังได้ขนาดหน้าจอที่ไม่เล็กเกินไป แต่งวดนี้สังเกตได้ว่าสัดส่วนการแสดงผลของหน้าจอเนี่ย ถูกเปลี่ยนมาเป็น 16:10 แล้ว ซึ่งสัดส่วนการแสดงผลนี้ เป็นแบบที่โน้ตบุ๊กยุคหลังๆ นิยมกัน เพราะนอกจากจะได้ความกว้างของหน้าจอเต็มที่เหมือนแบบ 16:9 แล้ว มันเพิ่มจำนวนพิกเซลในส่วนของความสูงเข้ามาอีก ทำให้เวลาท่องเว็บ อ่านเอกสาร หรือทำงานกราฟิก มันได้พื้นที่การแสดงผลเพิ่มมาจากสัดส่วนการแสดงผลแบบเดิมอีกหน่อย


ขอบจอแสดงผลคือบางมาก ยกเว้นขอบด้านบนและด้านล่างที่หนาขึ้นอีกหน่อย เพราะด้านบนต้องมีกล้องเว็บแคม 720p กับไมโครโฟน 2 ตัว และไฟ LED แสดงสถานะการทำงานของกล้องเว็บแคม ส่วนด้านล่างต้องมีโลโก้ยี่ห้อ ASUS แฮ่ม!!

ตัวคีย์บอร์ด อย่าได้ดูถูกว่าเป็นโน้ตบุ๊กขนาดเล็กแล้วคีย์บอร์ดจะเล็ก จำกัดจำเขี่ยนะครับ ASUS ออกแบบให้คีย์บอร์ดนี่ใช้พื้นที่บนตัวเครื่องได้อย่างเต็มเหนี่ยวมากๆ และแม้แต่ TouchPad ก็ยังมีขนาดใหญ่แบบดีงามมาก และแน่นอน ตามสไตล์ของ ASUS ในตอนนี้ TouchPad ตัวนี้ก็จะมีฟีเจอร์ ASUS NumPad 2.0 ที่ใช้ TouchPad มาแสดงปุ่มตัวเลข สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องพิมพ์ตัวเลขเยอะๆ ด้วย

ปุ่ม Power ของตัวเครื่อง จะทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือได้ในตัว รองรับ Windows Hello ใช้ล็อกอิน และยืนยันตัวตนใดๆ ก็ตามที่รองรับ Windows Hello ได้เลย


รอบๆ ตัวเครื่อง ไม่มีอะไรมาก ด้านซ้ายมีพอร์ต USB-C ให้ 1 พอร์ต แล้วก็มีช่องระบายความร้อน ส่วนด้านขวาก็เป็นพอร์ต USB-C อีกสองพอร์ต ทั้ง 3 พอร์ตที่ให้มาเนี่ย เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) รองรับ Power Delivery (PD) ทั้งหมด แล้วก็มีไฟ LED แสดงสถานะของการทำงานของเครื่อง การชาร์จแบตเตอรี่ แล้วก็ช่องเสียบออดิโอแบบคอมโบแจ็ก 3.5 มม.

ด้านใต้ของตัวเครื่อง เราจะเห็นช่องสำหรับดูดอากาศเย็นเข้า เพื่อใช้ระบายความร้อนของตัวเครื่อง (การไหลเวียนของอากาศก็จะเป็นการดูดอากาศเย็นเข้าจากทางนี้ แล้วไประบายออกตรงช่องระบายความร้อนทางด้านขวา ซึ่งก็มีอยู่ตรงด้านล่างด้วยเช่นกัน) และมีลำโพงสเตริโอมาให้ 2 ตัว

ตัวเครื่องมีความบางมากๆ พับหน้าจอปิดลงมาแล้ว เหลือความหนาแค่ 14.9 มม. เท่านั้น ก็ประมาณว่าบางกว่าเอาสมาร์ทโฟน 2 เครื่องมาแปะรวมกัน และเวลากางหน้าจอออก ก็สามารถกางได้ถึง 180 องศา ในขณะที่เวลากางใช้งานตามปกติ ตัวเครื่องในฝั่งของคีย์บอร์ด มันก็จะยกเอียงขึ้นมาเล็กน้อย ตามดีไซน์แบบ ErgoLift ของ ASUS

และหากคุณคิดว่าดีไซน์ ErgoLift ของ ASUS ยังยังหน้าจอขึ้นมาไม่พอ จำที่ผมบอกเรื่องกล่องใส่อะแดปเตอร์และสายไฟของโน้ตบุ๊กได้ไหมครับ อิฝากล่องอะ มันออกแบบมาให้ใช้วางเพื่อเป็นฐานวางโน้ตบุ๊กได้ครับ แหม่ กิมมิกดีจริงๆ แต่ที่ผมเรียกมันว่ากิมมิกก็เพราะว่า มันพกพาไปใช้ที่ไหนต่อที่ไหนไม่สะดวกหรอกครับ แต่จะดีสุดก็คือ เอาไว้ใช้ที่บ้านเฉยๆ ซึ่งก็เป็นกิมมิกในแนวคิดรักษ์โลก คือ อย่างน้อยๆ ก็อาจจะไม่ต้องทิ้งฝากล่องนั่นแหละ
ส่วนในเรื่องความทนทานนั้น โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S 13 OLED นี่ผ่านมาตรฐาน MIL-STD 810H ด้วย หรือก็คือ
*️⃣ เอาไปไว้ในอุณหภูมิในช่วง 30 ถึง 63 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำระดับ -25 ถึง -33 องศาเซลเซียส แบบ 24×7 (แต่ไม่ได้เปิดใช้งานเครื่องนะ) จากนั้นเอากลับมาใช้งานในสภาพแวดล้อมปกติ ก็ต้องยังทำงานได้
*️⃣ เอามาทดสอบ Drop test ปล่อยให้ตกจากที่สูง 10 เซ็นติเมตร ในขณะที่ยังใช้งานอยู่ ก็ต้องยังทำงานได้
*️⃣ เอามาทดสอบการสั่นที่ความถี่ 5-500Hz ในสามแกน แบบสุ่ม เป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อแกน ก็ยังต้องกลับมาทำงานได้
*️⃣ เอาไปไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง 95% ณ อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 วัน ก็ยังต้องกลับมาทำงานได้
*️⃣ ต้องสามารถใช้งานได้ตามปกติ ณ ความสูง 15,000 ฟิต ในสภาวะที่มีแรงดันภายในห้องโดยสารเครื่องบินปกติ
ทาง ASUS เขาออกรุ่นนี้มาโดยมีตัวเลือกสเปกและราคา 4 แบบ โดยที่มีความแตกต่างกันอยู่ที่ตัว CPU และความจุของ RAM กับ Storage เป็นหลัก คือ
UM5302TA-LV511WS | UM5302TA-LV522WS | ||
CPU | AMD Ryzen 5 6600U | CPU | AMD Ryzen 5 6600U |
Storage | 512GB M.2 NVMe PCIe 4.0 | Storage | 512GB M.2 NVMe PCIe |
RAM | 8GB LPDDR5 on-board | RAM | 16GB LPDDR5 on-board |
ราคา | 31,990 บาท | ราคา | 33,990 บาท |
UM5302TA-LV701WS | UM5302TA-LV722WS | ||
CPU | AMD Ryzen 7 6800U | CPU | AMD Ryzen 7 6800U |
Storage | 512GB M.2 NVMe PCIe 4.0 | Storage | 1TB M.2 NVMe PCIe 4.0 |
RAM | 16GB LPDDR5 on-board | RAM | 16GB LPDDR5 on-board |
ราคา | 35,990 บาท | ราคา | 38,990 บาท |
ถือว่างวดนี้ ASUS มีทางเลือกให้มากขึ้นสำหรับคนที่อยากได้รุ่นที่บางเบาแบบนี้นะครับ และราคาเริ่มต้นถือว่าไม่แรงมากด้วย คือ 31,990 บาท และสำหรับสเปกขั้นต่ำที่ผมอยากแนะนำให้เลือกใช้ ก็คือ มีแรม 16GB เนี่ย ราคาก็เริ่มที่ 33,990 บาท ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าพร้อมจะจ่ายแพงขึ้นเพื่อได้ CPU ที่แรงขึ้น หรือ CPU แรงขึ้นไม่พอ อยากได้ Storage เพิ่มขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ราคาก็ยังต่ำกว่า 40,000 บาท ซึ่งเมื่อผมซื้อ ZenBook S เมื่อปี 2561 เนี่ย ราคามันเกือบ 45,000 บาท!!!!
ตัวที่ผมได้มารีวิวนั้น เป็นรุ่นรองท็อปครับ คือ เป็น AMD Ryzen 7 6800U ที่ให้แรมมา 16GB และให้ความจุมา 512GB นั่นเอง
ประสิทธิภาพของ ASUS ZenBook S 13 OLED
ก่อนอื่นเลย ในสเปกของ ASUS ZenBook S 13 OLED เขาบอกว่า ตัว Storage เป็น Performance SSD ก็เลยอยากรู้ว่ามันแรงแค่ไหน ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential เป็น 6,755MB/s และ 4,040MB/s ตามลำดับ ถือว่าไม่เลว ค่อยสมกับการที่รองรับ PCIe 4.0 หน่อย

ถัดมา ลองทดสอบประสิทธิภาพของการทำงานของโน้ตบุ๊ก ภายใต้สภาพแวดล้อม(จำลอง)ของการทำงาน ทั้งงานทั่วไป (เช่น ทำงานเอกสาร ท่องเว็บ ประชุมออนไลน์) ไปจนถึงงานด้านมัลติมีเดียอย่างการตกแต่งภาพ การตัดต่อวิดีโอ โดยทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ก็ได้คะแนนดีใช่ย่อย คือ 5,992 คะแนน โดยคะแนนในส่วนการใช้งานทั่วไปเนี่ยถือว่าทำได้ดีทีเดียว และคะแนนการทำงานด้านมัลติมีเดียก็ใช่ย่อย ส่วนนึงผมก็อยากยกความดีความชอบให้กับความเร็วของ Storage นี่แหละ เล่นซะคะแนนดีกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ Intel Gen 12 อย่าง ASUS ZenBook 14 Duo อีก

ถัดมาคือ ลองดูประสิทธิภาพของ CPU โดยการให้มาเรนเดอร์ภาพด้วยโปรแกรม Cinebench R23 ก็พบว่า ประสิทธิภาพของ CPU นี่ ยังถือว่าสู้ Intel Gen 12 ไม่ได้นะครับ แพ้ไปพอสมควรเลย แต่คะแนนก็ไม่ได้ถือว่าแย่ เพราะอย่างน้อยๆ Ryzen 7 6800U นี่ก็เป็น 8-core/16-thread อันนี้ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่ ASUS เลือกใช้ Performance SSD นี่ ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานในภาพรวมสูงขึ้นได้มากเลย

แล้วถ้าจะเล่นเกมล่ะ? ก็ลองดูจากตัว Benchmark ของเกม Final Fantasy XV ครับ ถ้าปรับมาที่ Standard quality ในความละเอียด 720p ก็ได้คะแนนในระดับที่สามารถเล่นได้สบายๆ อยู่นะ ฉะนั้น หากใครอยากเล่นเกมแบบชิลล์ๆ ไม่ต้องการความละเอียดสูง กราฟิกโหดๆ มาก ก็น่าจะยังเล่นได้

โดยรวมแล้ว ถ้าวัดกันแค่ประสิทธิภาพที่ประเมินจากโปรแกรม Benchmark ต่างๆ ละก็ ASUS ZenBook S 13 OLED นี่ก็ถือว่า เล็ก บาง เบา และทำได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าจริงๆ ทีนี้ขอมาพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งานกันบ้างดีกว่า ว่าพอเอาไปใช้จริงๆ แล้ว เป็นยังไง
ประสบการณ์ในการใช้งานจริง โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S 13 OLED
เอาเรื่องใกล้ตัวก่อน คือ ความเล็ก บาง เบา อันนี้ยอดเยี่ยมมาก ถ้าไม่เอาไปเทียบกับ Fujitsu UH-X ที่ผมซื้อให้ภรรยาใช้ ที่หนักไม่ถึง 800 กรัม เนี่ย ต้องเรียกว่าบางและเบาสุดๆ เลยครับ วัสดุที่ใช้ งานประกอบ การสัมผัส คือดูดีพรีเมียมมากๆ แต่มันแลกมาด้วยข้อจำกัดที่ชัดเจนมากเช่นกัน นั่นก็คือ พอร์ตการเชื่อมต่อจำกัดมากๆ คือ มี USB-C มาให้ 3 พอร์ตเท่านั้น ในยุคที่อุปกรณ์เชื่อมต่อจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Printer, External HDD, Flashdrive หรือแม้แต่จอยคอนโทรลเลอร์สำหรับเล่นเกม ยังคงเป็น USB-A อยู่ และสำหรับบางคนที่ยังอยากจะเอาโน้ตบุ๊กต่อจอแสดงผลภายนอก ซึ่งพวกจอราคาหลักพันเนี่ย ส่วนมากก็รองรับ HDMI ไม่ก็ Display Port มันก็ยังไม่สะดวกนัก ต้องหา USB-C Hub มาเสียบเพิ่ม ซึ่งก็เท่ากับมีค่าใช้จ่าย 800-1,000 บาท เพิ่มเข้ามาแหละ หากใครอยากได้ USB-C Docking สวยๆ ไว้ตั้งโต๊ะเลย ตัวนึงก็หลักพันต้นๆ ไปจนถึง 2-3 พัน เพราะในกล่องอะ เขาให้มาแค่ USB-C to USB-A dongle อันเดียว
พูดถึงเรื่องการเชื่อมต่อแล้ว อยากจะบอกว่าอย่าคิดว่าจะสามารถใช้จอพกพา (Portable display) กับมันได้ทุกตัวนะครับ จอพกพาหลายๆ ยี่ห้อ แม้จะรองรับการเชื่อมต่อจอผ่านพอร์ต USB-C ก็จริง แต่หลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ รุ่น มันต้องเป็นพอร์ต USB-C ที่รองรับ DisplayLink ครับ แต่เท่าที่ผมลอง ผมคิดว่า ASUS ZenBook S 13 OLED นี่ ตัวพอร์ต USB-C มันเป็น Alt mode ครับ ก็จะเสียบใช้งานไม่ได้ เพราะผมลองเสียบกับจอพกพาที่ผมมี ที่รองรับ DisplayLink มันใช้ไม่ได้ (ซึ่งผมใช้ต่อกับสมาร์ทโฟนที่รองรับ DisplayLink ได้ปกติ) แต่พอเอามาเสียบกะจอ HUAWEI MateView GT 34″ ของผม (ที่รองรับ Alt mode) มันใช้ได้ปกติ

ถัดมา มาดูที่ประสบการณ์การใช้งานกันบ้างครับ เริ่มจากประสบการณ์สัมผัสก่อนเลย จอ OLED 13.3 นิ้วของ ASUS ZenBook 13 OLED นี่ สวยครับ คมกริ๊บเลย ด้วยความละเอียด 2.8K (2,880×1,800 พิกเซล) และครอบคลุมขอบเขตสี 100% DCI-P3 ให้ความสว่าง 600 nits และมีความเร็วในการตอบสนอง (Response time) ต่ำระดับ 0.2ms แต่คิดว่าเพื่อประหยัดต้นทุน จะได้ไม่ต้องตั้งราคาเครื่องแพงมาก เขาก็เลยให้มาเป็นจอแบบธรรมคา ไม่ใช่จอสัมผัส แต่เพื่อให้สามารถแสดงสีสันได้สวยงาม สมจริง ก็ยังเป็นจอแบบกระจก มันก็จะแอบสะท้อนแสงอยู่พอสมควร แต่ไม่มาก เพราะจอ OLED มันสว่างจริงจัง เอาไปใช้งานกลางแจ้งก็สู้แสงได้สบายๆ

คีย์บอร์ด และ TouchPad ของโน้ตบุ๊กของ ASUS นี่ยังถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานของ ASUS ครับ พิมพ์สะดวก พิมพ์มันมือดี และถนัดมือดีมาก เลย์เอาต์ของปุ่มต่างๆ ดูเป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้น ผิดกับสมัยเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่บางรุ่น มันจะมีการวางปุ่มบางปุ่มแปลกๆ แล้วทำให้พิมพ์ไม่ถนัด เช่น ASUS ZenBook 14 Duo รุ่นแรก ที่ปุ่ม Shift ด้านขวามันเล็กจนน่ารำคาญเวลาพิมพ์ (ซึ่งเขาก็ได้แก้ไขตอนออก ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ที่เป็นรุ่นถัดมา) แน่นอน TouchPad ของรุ่นนี้ ก็รองรับ ASUS NumPad 2.0 ที่แปลงตัว TouchPad ให้สามารถพิมพ์ตัวเลขได้ สำหรับคนที่จะเอาไปใช้ทำงานที่ต้องพิมพ์ตัวเลขเยอะๆ เช่น การทำงาน Spreadsheet ต่างๆ

ปุ่ม Power ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือในตัว รองรับ Windows Hello ทำให้สะดวกในการใช้งานดี ล็อกอินเข้าเครื่องเพื่อใช้งานสะดวกขึ้น และบอกตรงๆ ในฐานะคนที่ใช้มาทั้งแบบสแกนใบหน้าด้วยกล้องอินฟราเรด และแบบสแกนลายนิ้วมือ ผมก็ยังมองว่าสแกนลายนิ้วมือ ใช้งานได้ชัวร์กว่า และในแทบจะทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะตอนใช้ในที่มีแสงจ้า หรือ เจอย้อนแสง
ในการใช้งานทั่วไป คงไม่ต้องรีวิวอะไรเยอะครับ ประสิทธิภาพของ CPU ต่อให้เป็นรุ่นราคาถูกสุด ที่ใช้ AMD Ryzen 5 6600U ก็ยังเพียงพอสำหรับท่องเว็บ ทำงานเอกสาร รับชมมัลติมีเดียเลยเหอะ แต่ถ้าใช้รุ่นที่ให้ RAM มา 16GB เนี่ย ก็จะวางใจในเรื่องการทำงานแบบ Multitasking เปิดโปรแกรมหลายๆ โปรแกรม หรือแม้แต่ท่องเว็บด้วยนิสัยเปิดแท็บเยอะๆ แบบผมได้สบายๆ อยู่ (RAM 8GB อาจจะน้อยไป สำหรับพฤติกรรมแบบนี้) และ ASUS เขาก็ให้ระบบปฏิบัติการ Windows 11 มาตั้งแต่ต้น เป็นเวอร์ชันล่าสุดเลย ไม่ต้องเสียเวลาอัปเดต (แต่สำหรับบางคนที่อยากได้ Windows 10 อาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้) และมี Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้ในตัวแล้ว แต่หากใครมีบัญชี Microsoft 365 ก็สามารถล็อกอินเพื่อเปลี่ยนไลเซ่นส์ได้เช่นกัน

หากต้องการใช้งานเพื่อความบันเทิง รับชมคลิปวิดีโอ ดูภาพยนตร์ จอแสดงผลแบบ OLED นี่คือให้สีสันสด สมจริง 1.07 พันล้านสี รองรับ Dolby Vision และ HDR ด้วย ส่วนระบบเสียงก็รองรับ Dolby Atmos อีก และด้วยเทคโนโลยี Smart amplifier ของ ASUS มันก็สามารถเร่งความดังของเสียงเพิ่มได้ 350% โดยที่ไม่เกิดการเพี้ยน (Distortion-free audio) ด้วย

ผมนี่ลองเอาเครื่องวัดความดังของเสียงมาลองวัด โดยเปิดคลิป Live ขององค์การนาซ่าเลยครับ เปิดเสียงดังสุด 100% วัดความดังของเสียงสูงสุดได้ 86 เดซิเบลเอ (dBA) โดยวัดในตำแหน่งที่ห่างจากตัวเครื่อง ประมาณแถวๆ คางของผมเวลาใช้งานโน้ตบุ๊กนี่แหละ เรียกว่าเสียงดังพอสมควร และจริงๆ เสียงอาจจะดังกว่านี้ หากเราเปิดคลิปที่เขาอัดเสียงมาดังๆ เลย

ใครที่อยากจะทำงานด้านมัลติมีเดีย ตกแต่งภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ หน้าจอแสดงผลแบบ OLED ความสว่างสูง และครอบคลุมสี 100% DCI-P3 นี่เรียกได้ว่าโอเคมากๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของฮาร์ดแวร์บ้าง ถ้าจะตัดต่อวิดีโอแบบ Full HD หรือตกแต่งกราฟิกที่ไม่ได้มีจำนวนเลเยอร์เยอะมากๆ นี่สบายๆ เรียกว่า เป็นโน้ตบุ๊กทำงานแบบพกง่าย ทำงานได้หลากหลาย ไปไหนมาไหนตัวเดียวก็เอาอยู่ และราคาในระดับ 3 หมื่นบาท ก็เรียกว่าพอสู้ไหวแหละ

จุดเด่นอีกเรื่องของโน้ตบุ๊กของ ASUS ก็คือตัวโปรแกรม MyASUS ที่จะมีฟีเจอร์ต่างๆ เพิ่มเข้ามาให้ทั้งเรื่องฟีเจอร์ต่างๆ อาทิ AI Noise-Celing Microphone และ Speaker การจำการการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อถนอมสุขภาพของแบตเตอรี่ให้อยู่กับเราได้นานๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบเสียบปลั๊กชาร์จทิ้งไว้ (ซึ่งหลังๆ ฟีเจอร์นี้ หลายๆ ยี่ห้อเขาก็มีกันนะ ผมเคยเขียนถึงวิธีการตั้งค่าเอาไว้มาในบล็อกก่อนหน้านี้แล้ว) และยังมีฟีเจอร์การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อให้สามารถถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลได้สะดวก หรือสามารถใช้จอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นจอแสดงผลแบบไร้สายได้ด้วย แต่แบบฟรีจะมีข้อจำกัด หากอยากใช้งานได้เต็มเหนี่ยวต้องเสียตังค์แบบ Subscription ซึ่งสู้ของ HUAWEI Ecosystem ที่ให้ใช้ฟรีๆ แบบเต็มๆ ไม่ได้ แต่ดีกว่าตรงที่มันใช้กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ทุกยี่ห้อ

เห็นเล็กๆ บางๆ แต่มันเล่นเกมได้โอเคอยู่นะ ไม่ใช่แค่เฉพาะเกมชิลล์ๆ ด้วยนะ ผมเอามาเล่น Final Fantasy VII Remake Intergrade ดูครับ ซึ่งเกมเนี้ย ตอนผมเอามาเล่นบนโน้ตบุ๊กหลายๆ ตัว ที่เป็น CPU Intel อะ มันมีปัญหาเกมเด้งตลอด ขนาดเปิดด้วยความละเอียดการแสดงผล 720p แท้ๆ นะ แต่มาเล่นบน ASUS ZenBook S 13 OLED นี่ ถ้าเลือกกราฟิกแบบต่ำ แล้วก็ความละเอียด 720p นี่คือ เล่นแบบลื่นๆ สบายๆ เลยครับ เกมไม่เด้งด้วย แต่บอกเลย พัดลมวิ่งแรงมาก 🤣🤣 กราฟิกชิปความร้อนพุ่งไปแบบเกือบ 70 องศาเซลเซียส แต่เกมไม่กระตุกนะ และตีบอสได้สบายๆ อยู่

ปัญหาเดียวที่ผมเจอตอนเล่นเกมก็คือ การที่ ASUS ZenBook S 13 OLED มันมีแค่พอร์ต USB-C นี่แหละครับ 🤣🤣 แล้วอิคอนโทรลเลอร์สำหรับเล่นเกมส่วนมากก็จะเป็น USB-A ไง มันไม่มีพอร์ตให้เสียบ ต้องใช้ตัว USB-C to USB-A dongle ที่เขาแถมมาใช้ด้วยกัน ไม่งั้นอีกวิธีนึงที่พอจะได้ ก็คือ ใช้ Wireless controller ที่เป็นบลูทูธแทน เพราะโน้ตบุ๊กตัวนี้รองรับ Bluetooth 5.2 ที่ Latency ค่อนข้างต่ำ แต่ก็อีกนั่นแหละ Wireless controller มันรองรับเวอร์ชันไหนนะ คนเล่นเกมจริงจังไม่น่าจะใช้บลูทูธ และคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กมันก็ไม่ได้เหมาะสำหรับการเล่นเกมซักเท่าไหร่
มาดูที่แบตเตอรี่บ้าง ว่าเป็นยังไง เขาให้แบตเตอรี่มา 67Wh เลย และผมลองเอามาเปิด YouTube ดูแบบยาวๆ นี่คือ 3 ชั่วโมงกินแบตเตอรี่ไปราวๆ 20% เท่านั้นเอง เรียกว่า ถ้ากะจะแค่เปิดดู YouTube ผ่าน WiFi คือ ดูได้ยาวมากๆ และผมลองใช้งานแบบทำงาน ก็เรียกว่าแบตเตอรี่น่าจะอยู่ได้สบายๆ 3-4 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น แล้วแต่พฤติกรรมการใช้งาน ก็สมกับเป็นรุ่นที่เอาไว้พกพาไปทำงานข้างนอกจริงๆ และหากจำเป็นต้องชาร์จแบตเตอรี่ ก็ใช้อะแดปเตอร์ที่รองรับ Power Delivery (PD) มาชาร์จได้ เร็วช้าก็อยู่ที่ว่ากำลังไฟกี่วัตต์ แต่อะแดปเตอร์ที่เขาให้มาอ่ะ เป็นแบบ 65 วัตต์ แต่มีขนาดใหญ่และหนักนิดนึง ถ้าใครไม่ชอบ ไปหาอะแดปเตอร์แบบ GaN มาใช้ก็ได้ครับ
ในขณะที่การระบายความร้อนของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S 13 OLED นี่ทำได้ดี แต่ถ้าจะให้ผมติเรื่องนึง น่าจะเป็นเรื่องความร้อนนี่อยู่ดีแหละ คือ มันป้องกันความร้อนไม่ให้ออกมาตรงบริเวณที่จะสัมผัสกับตัวของเราได้ไม่ดีเท่าไหร่ คือ แม้ว่าตัวเครื่องเวลาใช้งานหนักๆ มันจะไม่ได้ร้อนมาก แต่มันก็ยังอยู่ที่แถวๆ 45 องศาเซลเซียสอยู่ดีนะ ถ้าวัดตรงผิวสัมผัสด้านใต้ของตัวเครื่อง เอามาวางบนตักมันก็จะรู้สึกอุ่นๆ ไม่สบายผิว ส่วนตรงคีย์บอร์ด ความร้อนมันก็แผ่ขึ้นมาให้รู้สึกได้ แม้ว่าจะอยู่ที่ราวๆ 42-43 องศาเซลเซียสก็ตาม
บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S 13 OLED
เอาจริงๆ ในฐานะคนที่ได้ใช้ ASUS ZenBook S เมื่อ 4 ปีก่อน ก็ต้องบอกว่ารุ่นนี้เดินทางมาไกล และพัฒนาไปเยอะมากเลย ทั้งในเรื่องของดีไซน์ ประสิทธิภาพ และราคา ครับ ประสิทธิภาพนี่ดีขึ้นแบบชัดเจน ไม่น่าแปลกอะไร เพราะ CPU ในยุคนี้ กับ CPU เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มันเทียบกันไม่ได้หรอก ส่วนเรื่องของดีไซน์ ก็คือ ดูดี พรีเมียมขึ้นเยอะ และแตกต่างเพราะมีแนวคิดต่างกันอีก อะไรที่มันดีอยู่แล้วก็ทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม อันนี้โอเค
ใครที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กแบบ เล็ก บาง เบา แต่สามารถเอามาใช้งานได้หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้งานเกือบทุกอย่าง ในงบประมาณ 32,000 – 35,000 บาท นี่ ผมว่า ASUS ZenBook S 13 OLED เป็นตัวเลือกที่ดีนะ แบตเตอรี่ก็ถือว่าอึดพอสมควรด้วย นี่ถ้าเกิดว่าตัวนี้ออกมาก่อนที่ผมจะซื้อ Fujitsu UH-X ให้ภรรยาของผม ก็แอบลังเลเหมือนกันนะเออ