Home>>รีวิว>>รีวิว QNAP TS-433 NAS แบบ 4-bay ราคากำลังดีสำหรับการสร้าง Personal cloud ในบ้าน
กล่องของ QNAP TS-433
รีวิว

รีวิว QNAP TS-433 NAS แบบ 4-bay ราคากำลังดีสำหรับการสร้าง Personal cloud ในบ้าน

QNAP Thailand เขาส่งมาให้ผมรีวิวพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ไม่สามารถหยิบมันออกมารีวิวได้ เพราะผมดันติดโควิด-19 พอดี จะหยิบออกมาก็ขี้เกียจจะต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เลยรอจนหายดีและ ค่อยแกะออกมารีวิวครับ QNAP NAS TS-433 ตัวนี้จะเป็น NAS แบบ 4-bay ที่มาพร้อมหน่วยความจำ 4GB ใช้หน่วยประมวลผลเป็นสถาปัตยกรรม ARM Cortex A55 2.0GHz แบบ 4-core เหมาะสำหรับการใช้งานตามบ้าน หรือสำหรับช่างภาพที่ต้องการสื่อบันทึกข้อมูลไว้เก็บงานภาพถ่ายมากๆ นะผมว่า

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

QNAP TS-433 ที่รีวิวในบล็อกตอนนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง QNAP Thailand ให้ยืมมาเพื่อรีวิวให้ได้อ่านกันครับ

ภายในกล่องของ QNAP TS-433 นี่ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัว NAS ที่เป็นแบบ 4-bay มีดีไซน์ใหม่ที่สังเกตได้ 2 เรื่อง คือ

*️⃣ ตัวเครื่องทำเป็นทูโทน สองสี คือ ตัวเครื่องส่วนใหญ่มีสีขาว แต่จะมีคาดสีเทาดำมานิดๆ ตรงด้านซ้ายมือของตัวเครื่อง ซึ่งจะมีพวกไฟ LED บอกสถานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของตัวเครื่อง เน็ตเวิร์ก การก๊อปปี้ข้อมูล และการทำงานของฮาร์ดดิสก์แต่ละลูก มีปุ่ม Power และ Quick copy กับพอร์ต USB-A มาให้สำหรับเสียบพวกฮาร์ดดิสก์หรือแฟลชไดร์ฟเพื่อให้ฟีเจอร์ Quick copy นั่นแหละ

*️⃣ มีตัวล็อกกุญแจมาให้ ซึ่งปกติรุ่นจำพวกใช้ตามบ้านหรือ SOHO จะไม่ค่อยมีฟีเจอร์นี้ ดูท่าทาง QNAP จะให้ตัวล็อกกุญแจถาดใส่ฮาร์ดดิสก์มันเป็นมาตรฐานละมั้ง 🤔 แต่ผมก็สังเกตว่า อิรูกุญแจเนี่ย มันเป็นรูปตัว Q ซะทุกรุ่น แล้วพอดีผมก็เพิ่งอัปเกรด NAS ที่บ้านเป็น TS-673A ซึ่งก็มีรูกุญแจแบบนี้พอดี ก็เลยลองเอากุญแจของรุ่น TS-673A มาลองไขดู ก็พบว่าใช้ได้เหมือนกันเลยเว้ยเฮ้ย ฉะนั้นก็ต้องบอกว่าสำหรับใครที่จะเอาไปใช้ในออฟฟิศ แล้วอยากได้การรักษาความปลอดภัยแบบไม่ให้ใครแอบขโมยถอดฮาร์ดดิสก์ไปได้ หรือเผลอถอดฮาร์ดดิสก์ออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจจะได้ความปลอดภัยไม่เต็ม 100% นะ เพราะใครที่ซื้อ QNAP NAS รุ่นที่มีล็อกกุญแจแบบนี้ กุญแจมันใช้ด้วยกันได้ทั้งหมดเลย … แต่ข่าวดีคือ ใครเผลอทำกุญแจหาย ก็จะหายืมคนอื่นมาไขได้ง่ายกว่าเดิม

QNAP TS-433 ด้านหน้า เป็น NAS แบบ 4-bay ตัวเครื่องสีขาว และมีแถบสีเทาดำ

ด้านหลังของ QNAP TS-433 ก็จะเป็นพัดลมขนาดใหญ่สำหรับระบายความร้อนที่เกิดจากตัวระบบและฮาร์ดดิสก์ มีพอร์ต RJ-45 ให้สองพอร์ต โดยพอร์ตนึงเป็น 2.5GbE ส่วนอีกพอร์ตเป็น 1GbE ครับ และมีพอร์ต USB-A มาให้อีก 2 พอร์ต อย่างไรก็ดี ผมหาข้อมูลไม่เจอนะ (เว็บไซต์ QNAP ไม่ได้ให้ข้อมูลมา) ว่าพอร์ต USB-A ทั้ง 3 พอร์ตที่ให้มานี้ เป็นเวอร์ชันไหนบ้าง แต่ถ้าให้ผมเดา (ย้ำว่าเดา) พอร์ตข้างหน้าน่าจะเป็น USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) ส่วนอีก 2 พอร์ตด้านหลัง เป็น USB 2.0 ซึ่งผมก็แปลกใจว่าเอาไว้ทำอะไร

นอกจากพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ แล้ว ก็มีช่องสำหรับใส่ตัวล็อก Kensington เผื่อต้องการล็อกให้ NAS มันอยู่กับที่ไม่โดนใครอุ้มไปซะก่อน กับช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟ DC ซึ่งอะแดปเตอร์ที่ให้มาเป็นแบบ 90 วัตต์ ครับ และเป็นปกติของ NAS ที่ใช้หน่วยประมวลผลในสถาปัตยกรรม ARM ก็คือ มันอัปเกรดใดๆ ไม่ได้ครับ ฉะนั้นสังเกตดีๆ จะเห็นว่าแม้เราจะสามารถไขน็อต 4 ตัวเพื่อถอดฝาออกมาได้ แต่มันจะมีสติกเกอร์รับประกันติดเอาไว้ตรงบริเวณรอยแยกของฝาเครื่อง หากเราพยายามจะแกะฝาออก ก็จะทำให้สติกเกอร์ขาด และประกันก็จะหมดลงในทันที ฉะนั้น ผมก็จะไม่ขอแกะเครื่องดูเหมือนรุ่นอื่นๆ ที่ผมรีวิวนะครับ เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ในการรีวิว เนื่องจากฮาร์ดแวร์มันก็อัปเกรดไม่ได้อะ

ด้านหลังของ QNAP TS-433

แน่นอน QNAP NAS ทุกรุ่นตอนนี้ เป็นแบบ Tooless แล้วครับ ถ้าเราใส่ฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้ว มันก็จะมีตัวล็อกพลาสติกมาให้ใช้ล็อกฮาร์ดดิสก์เลย ไม่ต้องพึ่งพาน็อต แต่ในกล่องเขาก็ยังมีน็อตมาให้ใช้ เผื่อใครยังอยากใช้น็อตยึดอยู่ รวมถึงในกรณีที่จะใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ 2.5 นิ้ว (ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์สำหรับโน้ตบุ๊ก หรือจะเป็น SSD แบบ SATAIII ก็ตาม)

ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ของ QNAP TS-433 เป็นถาดเปล่าๆ 1 อัน และถาดที่มีการใส่ฮาร์ดดิสก์ WD Red 2TB 1 อัน

เวลาที่จะซื้อ QNAP NAS ไว้ใช้งาน หากต้องการจะ “เผื่อ” สำหรับอนาคต ผมก็อยากจะให้ใช้รุ่น 4-bay ขึ้นไปเป็นอย่างน้อยครับ เพราะมันจะช่วยให้เรามีตัวเลือกสำหรับ RAID configuration ที่ยืดหยุ่นกว่า คือ เราจะเลือกทำ RAID10 ก็ได้ RAID5 หรือ RAID6 ก็ได้ หรือหากใครอยากจะใช้ SSD cache acceleration ก็เอา SSD แบบ SATAIII มาใส่ซักลูกนึง (แต่เพราะมีลูกเดียว เลยเหมาะจะทำเป็น Read-only cache มากกว่านะ) แล้วอีก 3 ถาดที่เหลือ ก็เอามาใช้ทำ RAID5 ก็จะได้ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ และประสิทธิภาพก็สูงพอสมควรด้วยนะ

หน้าจอ Storage & Snapshots ของระบบปฏิบัติการ QTS ในส่วนการแสดงข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ต่างๆ ที่อยู่ในเครื่อง

ข้อสังเกตนิดนึงคือ QNAP TS-433 นี่ ไม่มีเผื่อรองรับพวก SSD แบบ M.2 นะครับ แต่ก็อย่างที่ผมบอก คือ ถ้าเกิดอยากจะทำ SSD cache acceleration ก็ยังสามารถทำได้ โดยสละ 1 ถาดไปใส่ SSD แบบ SATAIII นั่นเอง แต่ในเรื่องฟีเจอร์อื่นๆ เช่น การทำ Snapshot เนี่ย สามารถทำได้สบายๆ ครับ เพราะตอนนี้ฟีเจอร์นี้ CPU แบบ ARM ใช้งานได้แล้ว ขอแค่มีแรมมากพอ ซึ่งรุ่นนี้เรียกว่าเหลือเฟือ

หน้าจอแอป AppCenter ของ QNAP NAS แสดงรายชื่อแอปต่างๆ ที่เป็น QTS Essentials

QNAP TS-433 เนี่ย ราคาค่าตัวอยู่ที่ 15,400 บาท ได้ CPU เป็น ARM 64-bit Cortex-A55 2.0GHz 4-core รองรับการประมวลผลด้วย NPU ด้วย กับหน่วยความจำ 4GB ถือว่าเป็น NAS แบบ 4-bay ที่ประสิทธิภาพพอสมควร และสเปกแรงพอสำหรับทำอะไรต่อมิอะไรได้เยอะอยู่ มีเผื่อในส่วนของเน็ตเวิร์กทั้ง 1GbE และ 2.5GbE มาให้อย่างละ 1 พอร์ตด้วย รวมแล้วได้แบนด์วิธสูงสุด 3.5GbE เมื่อใช้กับ Switch ที่รองรับการทำ Port trunking เรียกว่ามีอะไรต่อมิอะไรมาให้ในระดับเพียงพอสำหรับพื้นฐาน แค่ไม่เปิดโอกาสให้อัปเกรดใดๆ เท่านั้นแหละ ผมถึงบอกว่ามันจะเหมาะสำหรับการใช้งานส่วนตัว และพวก SOHO (Small Office Home Office) ที่ต้องการฟีเจอร์พื้นฐานของ NAS สำหรับเก็บข้อมูลซะมากกว่า

ในมุมมองส่วนตัวของผมนั้น QNAP TS-433 นี้เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานประมาณนี้ครับ

👉 ผู้ใช้งานตามบ้าน เอาไว้ใช้เก็บพวกไฟล์รูปภาพและวิดีโอจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแบบง่ายๆ ผ่านแอป QuMagie (ทั้งบน Android และ iOS) ซึ่งจะช่วยอัปโหลดพวกไฟล์วิดีโอและภาพถ่ายไปเก็บลง QNAP TS-433 ให้ และสามารถเรียกดูไฟล์รูปภาพพวกนี้ได้ คล้ายๆ กับการใช้งาน Google Photos เลย นอกจากนี้ ด้วยความที่ CPU ของ QNAP TS-433 นี้รองรับ NPU และการประมวลผล AI Core ด้วย มันก็จะมีฟีเจอร์จำพวกการจดจำใบหน้า สามารถแท็กรูปด้วยใบหน้าของคนได้ สะดวกเวลาจะค้นหารูปอีก

👉 ผู้ใช้งานตามบ้าน อยากทำ Personal cloud ใช้เอง คล้ายๆ กับพวก Google Drive หรือ OneDrive นั่นแหละ สามารถทำได้ด้วยโปรแกรมชื่อ Qsync ครับ ลง Client ไว้ได้ทั้งบน Windows, macOS และ Ubuntu Linux

หน้าจอโปรแกรม Plex Media Server แสดงรายชื่อของหนังต่างๆ ใน Library

👉 ผู้ใช้งานตามบ้าน อยากได้ระบบ Multimedia server ใช้แบบส่วนตัว เก็บพวกไฟล์ภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ เอาไว้ทำระบบ VDO on demand ของตัวเอง ผ่านโปรแกรมอย่าง Plex Media Server สามารถดูแบบสตรีมมิ่งได้ทั้งบนสมาร์ททีวี สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์

👉 ใครใช้พวกเครื่อง Mac ของ Apple แล้วอยากได้สื่อบันทึกข้อมูลเอาไว้ทำเป็น Time machine ที่มีความจุเยอะๆ และใช้งานผ่านระบบเครือข่ายได้ง่ายๆ QNAP TS-433 ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะรองรับถึง 4-bay สามารถใส่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มความจุได้เพียบแล้ว มันก็ยังมีฟีเจอร์การสำรองข้อมูลต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าแบ็กอัปของเรามันจะไม่สูญหายด้วย

👉 พวก SOHO เอาไว้ทำ File server เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานทุกคนรวม ทำเป็น Network shared folder สำหรับทีม หรือจะใช้ Qsync ช่วยสร้าง Cloud drive ให้กับผู้ใช้งานแต่ละคนเอาไว้เก็บข้อมูลแบบของใครของมันด้วยก็ได้

👉 ตากล้องและคนทำงานสาย Production ที่ต้องการสื่อบันทึกข้อมูลที่นอกจากจะมีฟีเจอร์ช่วยเรื่องการสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย (ทั้งการทำ RAID configuration เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายจากฮาร์ดแวร์เสีย, การทำ Snapshot และแบ็กอัปต่างๆ เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายจากการพลั้งเผลอลบข้อมูลหรือโดน Ransomware เล่นงาน ฯลฯ) และยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยบริหารจัดการภาพถ่ายต่างๆ ได้ง่าย เช่น Photo Station, QuMagie และสามารถแชร์พวกภาพถ่ายและวิดีโอให้ลูกค้าดูได้ง่ายๆ ผ่านฟีเจอร์อย่าง Photo Station, Video Station นี่ก็เหมาะ

บทสรุปการรีวิว QNAP TS-433

เป็น QNAP NAS แบบ 4-bay ที่ประสิทธิภาพดี ฟีเจอร์ขั้นต่ำสำหรับการใช้งานที่หลากหลายครบเครื่อง สำหรับคนที่งบไม่เยอะ ค่าตัว 15,400 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาเริ่มต้นที่ไม่แรงมาก สำหรับการหา NAS แบบ 4-bay มาใช้ (ราคายังไม่รวมฮาร์ดดิสก์นะ อย่าลืม) อยากจะอัปเกรดไปทำ SSD cache acceleration ก็ยังยืดหยุ่นให้ใส่ SSD SATAIII เหมาะกับการทำ Read-only cache ได้ โดยที่ก็ยังสามารถทำ RAID5 ได้กับฮาร์ดดิสก์อีก 3 ถาดที่เหลือ ด้านแบนด์วิธก็เตรียมพร้อมรองรับ 2.5GbE ในตัว และหากจำเป็น ก็ขยับขยายเป็น 3.5GbE ได้ (ต้องใช้ Switch ที่รองรับด้วย)

รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านที่เว็บไซต์ของ QNAP ได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า