Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 โน้ตบุ๊กจอครึ่ง สำหรับคนทำงาน
โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED เพิ่งเปิดใช้งาน ล็อกอินเข้ามาใน Windows 11
รีวิว

รีวิว ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 โน้ตบุ๊กจอครึ่ง สำหรับคนทำงาน

รีวิวนี้ขอเกริ่นด้วยการแอบงอน ASUS ครับ ไม่ใช่ว่าเขาส่งมาให้รีวิวช้านะ แต่เพราะเขาออก ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 ออกมาหลังจาก ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ที่ผมซื้อเมื่อราวๆ ครึ่งปีก่อนอะ ซึ่งถ้าเทียบรุ่น Core i7 ของปีที่แล้วที่เป็น CPU Intel Gen 11 กับรุ่นล่าสุด ที่ใช้ CPU Intel Gen 12 แล้ว ราคาต่างกันหมื่นเดียว แต่ได้จอหลักเป็น OLED สวยงามกว่ากันเยอะมาก ดีนะที่ผมเลือกประหยัดเงินด้วยการซื้อรุ่น CPU Core i5 เลยไม่เจ็บจี๊ดมากเท่าไหร่ 🤣🤣 แต่เรามาดูกันดีกว่าว่าเจ้านี่มีดียังไง กับค่าตัว 59,990 บาทครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 ตัวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS ส่งมาให้รีวิวเพื่อเล่าประสบการณ์ให้ได้อ่านกันครับ ผมออกตัวก่อนเลยว่าอาจจะมีความลำเอียงในการรีวิวบ้าง เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนใช้โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo อยู่แล้ว แต่มองโลกในแง่ดีก็คือ ผมก็จะสามารถเล่าประสบการณ์ในการใช้งานโน้ตบุ๊กสไตล์นี้ได้เต็มที่อยู่นะ

เมื่อซื้อโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 อุปกรณ์มาตรฐานที่คุณจะได้ก็คือ ตัวโน้ตบุ๊ก อะแดปเตอร์แบบ 180 วัตต์ ปากกาสไตลัส ASUS Pen 2.0 และซองใส่โน้ตบุ๊กแบบซอฟต์เคสมาให้

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED เพิ่งเปิดใช้งาน ล็อกอินเข้ามาใน Windows 11

ตัวโน้ตบุ๊กเป็นแบบจอแสดงผลหลักอัตราส่วนการแสดงผล 16:10 ขนาด 14.5 นิ้ว ความละเอียดการแสดงผลระดับ 2.8K ที่ 2,880×1,440 พิกเซล มีกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p และ IR camera สำหรับรองรับการล็อกอินและยืนยันตัวตนด้วย Windows Hello มีขอบจอค่อนข้างบางเอามากๆ

ส่วนคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED ที่ครึ่งด้านบนเป็นจอ ScreenPad Plus ส่วนครึ่งล่างเป็นคีย์บอร์ดและ TouchPad

ส่วนที่เป็นคีย์บอร์ด ในรุ่น ZenBook Duo เนี่ย มันก็จะมีจอแสดงผลที่เรียกว่า ScreenPad+ มาให้อีกจอนึง โดยจะมีความละเอียดราวๆ ครึ่งนึงเศษๆ ของจอแสดงผลหลัก ซึ่งตัวนี้ก็คือจอขนาด 12.7 นิ้วอัตราส่วนการแสดงผล 32:10 ความละเอียด 2,880×864 พิกเซล แต่จะเป็นจอแสดงผลแบบ IPS LCD แทน

ส่วนคีย์บอร์ด ก็จะกินพื้นที่ส่วนล่างของตัวเครื่องไป และทำให้ TouchPad ต้องถูกปรับขนาดให้เล็กลง และถูกระเห็จไปอยู่ทางด้านขวามือแทน ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากตัว ZenBook 14 Duo UX482 ที่ออกมาก่อนหน้าครับ เหนือ TouchPad จะเป็นปุ่มสลับหน้าต่างโปรแกรมระหว่างจอหลักและ ScreenPad+ ปุ่มเปิดปิดการทำงานของจอ ScreenPad+ และปุ่ม Power ของเครื่อง

ด้านข้างของตัวเครื่อง ซ้ายมือจะมีแค่ช่องระบายความร้อนและช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ครับ พวกพอร์ตต่างๆ มันจะโดนเอามารวมอยู่ทางขวามือแทน ซึ่งจะมีไฟ LED แสดงสถานะการทำงานของการชาร์จแบตเตอรี่ การทำงานของตัวเครื่อง พอร์ต Thunderbolt 4 ที่เป็น USB-C ไปด้วยในตัว กับพอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) มาให้ ซึ่งทำให้ดูพอร์ตมันจำกัดจำเขี่ยชอบกลครับ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เพราะเขามีการออกแบบให้พอร์ตบางส่วนมันไปอยู่ด้านหลังครับ

ด้านหลังของ ASUS ZenBook 14 Duo OLED จากซ้ายไปขวาในรูป ช่องระบายความร้อน พอร์ต HDMI สล็อต MicroSD card และช่องเสียบอะแดปเตอร์

ด้านหลังเนี่ยคือจะมีช่องระบายความร้อนอีกช่องนึง และมีพอร์ต HDMI อยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ก็มีสล็อตใส่ MicroSD card และช่องเสียบ DC in สำหรับชาร์จแบตเตอรี่

จุดสังเกตของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED รอบนี้คือการออกแบบของเขาครับ คือ ในรุ่น ZenBook 14 Duo รุ่นก่อนหน้า เขาออกแบบให้มันมีพัดลมดูดอากาศเข้าอยู่ใต้จอ ScreenPad+ ที่เมื่อเปิดฝาจอขึ้นมาแล้ว ตัว ScreenPad+ มันจะยกตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะทำให้เห็นหน้าจอแสดงผลนี้ได้ง่ายขึ้น มันก็จะช่วยเปิดช่องให้อากาศภายนอกถูกดูดเข้าไปได้สะดวกด้วย แล้วลมร้อนก็จะถูกระบายออกทางด้านหลัง แต่สำหรับรุ่น ZenBook 14 Duo OLED นี่ ลมร้อนมันจะออก 2 ทาง คือ ด้านซ้ายและด้านหลังแทน

ภาพกราฟิกอธิบายการไหลของอากาศ

โดยรวมแล้ว ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 ตัวนี้ มีขนาดใหญ่กว่า ZenBook 14 Duo UX482 รุ่นก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ชนิดที่เรียกว่าแทบไม่เห็นถึงความแตกต่างมากนัก แต่น้ำหนักมันเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.70 – 1.75 กิโลกรัม (จากเดิม 1.57 กิโลกรัม) ซึ่งถือว่าแอบหนักพอสมควร เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 14 นิ้วรุ่นอื่นๆ ครับ ใครไม่ชอบโน้ตบุ๊กหนักๆ นี่ อาจจะไม่ปลื้มกับรุ่นนี้ แต่สำหรับผมที่ชินกับ ZenBook 14 Duo UX482 แล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก

ถ้าพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพของ ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402

มีคนบอกว่า ASUS ZenBook 14 DUO OLED UX8402 นี่มันออกมาเป็นสไตล์ทำงานก็ได้ เล่นเกมก็ดี เพราะรุ่นท็อปสุดที่ขายในประเทศไทย เป็นตัว Core i7-12700H และมีตัวเลือกระหว่างชิปกราฟิก Intel Iris Xe หรือ NVIDIA GeForce RTX3050Ti GDDR6 4GB มาให้ ซึ่งถ้าใครอยากได้โน้ตบุ๊กที่ทำงานก็สะดวก เล่นเกมก็ทำได้ดีในระดับนึง อาจจะสนใจ ก็น่าลองวัดประสิทธิภาพดูครับ

เอาสเปกแบบคร่าวๆ ก่อนว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้ให้อะไรกับเราบ้าง ก็ตามนี้ครับ

ฮาร์ดแวร์สเปก
CPUIntel® Core™ i7-12700H Processor 2.3 GHz (24M Cache, up to 4.7 GHz, 6P+8E cores)
GPUIntel® Iris Xe Graphics หรือ NVIDIA® GeForce® RTX™ 3050Ti Laptop GPU, 4GB GDDR6
RAMLPDDR5 16GB แบบ On-board
StorageSSD NVMe M.2 PCIe 4.0 512GB (สำหรับรุ่นที่ GPU เป็น Intel Iris Xe) หรือ 1TB (สำหรับรุ่นที่ GPU เป็น GeForce RTX3050Ti)
DisplayMain: OLED 14.5″ 2,880×1,440 พิกเซล
ScreenPad+: IPS LCD 12.7″ 2,880×864 พิกเซล
CameraWebcam 720p
IR camera สำหรับ Windows Hello
Ports1 × USB-A (USB 3.2 Gen 2)
2 × Thunderbolt 4/USB-C (USB 3.2 Gen 2)
1 × HDMI 2.1
1 × 3.5mm Combo jack
1 × DC in
1 × MicroSD express 7.1 card reader
ConnectivityWiFi 6 802.11ax (Dual-band)
Bluetooth 5.2
Battery76Wh

เท่าที่ผมลองเช็กสเปกทางเลือกในต่างประเทศ จะเห็นว่ามันมีตัวเลือก CPU ตั้งแต่ Core i5/i7/i9 แรมก็ตั้งแต่ 8GB ไปจนถึง 32GB และ Storage ตั้งแต่ 512GB และ 1TB แบบ SSD PCIe 4.0 แบบธรรมดา ไปจนถึง 512GB – 2TB แบบ SSD PCIe 4.0 แบบ Performance ประเทศไทยเราน่าสงสารครับ ตัวเลือกมันเหลือน้อยมากๆ ความเห็นส่วนตัวของผม ผมอยากได้แบบ Core i5 แรม 32GB SSD 1TB มากกว่าครับ แต่ตัวเลือกสเปกที่ทาง ASUS เลือกมาขาย ก็ไม่ได้แย่นะ อย่างน้อยก็ Core i7 แรม 16GB อะ แต่ผมละอยากให้มีตัวเลือก 32GB จริงๆ เพราะแรมมันเป็น On-board อะ มันอัปเกรดไม่ได้

ตัวที่ผมได้มารีวิวคือตัวที่เป็นชิปกราฟิก Intel Iris Xe ครับ ผมก็ขอเอามาทดสอบประสิทธิภาพด้วย PCMark 10, Cinebench, CrystalDiskMark 8.0.4 และใช้ Final Fantasy XV Benchmark ดูครับ ซึ่งก็ได้ผลประมาณนี้

หน้าจอโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 แสดงผลการทดสอบของ SSD ในโน้ตบุ๊ก

อย่างที่ผมได้บอกไปใน 2 ย่อหน้าที่แล้วว่า Storage เขามีให้เลือกทั้งแบบ PCIe 4.0 แบบธรรมดา กับแบบ Performance แต่ผลทดสอบของ CrystalDiskMark 8.0.4 ที่ได้มา ความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ราวๆ 3,141.06MB/s และความเร็วในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 4,914.69MB/s เนี่ย ก็น่าจะตอบได้ว่า มันเป็นรุ่นที่ได้ SSD แบบธรรมดามาใช้ครับ คือ ความเร็วไปไม่สุดแบบรุ่นที่ใช้ SSD แบบ Performance (ที่ผมเห็นคนอื่นรีวิวได้ความเร็วระดับ 7,000MB/s กันเลยทีเดียว) แต่ก็เรียกว่าไม่ได้ช้านะครับ เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ ที่ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยแบนด์วิธของ PCIe 3.0 Gen 4×4

ผลการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ได้คะแนน Essentials 10,682 คะแนน คะแนน Productivity 6,900 คะแนน และ Digital Content Creation 6,718 คะแนน

ผมลองเทียบคะแนนของ PCMark 10 ที่ได้จาก ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 ตัวนี้ กับ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ที่ผมเคยรีวิวไปก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัว Core i5-1240P ก็จะเห็นว่าคะแนนสูงกว่ากันขึ้นมานิดหน่อยในทุกๆ เรื่อง ซึ่งผมคาดหวังว่าคะแนนจะแตกต่างเห็นชัดกว่านี้อีกนิด เพราะนี่มัน Core i7-12700H ที่เป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงเลยนะ 14-core 20-thread อ้ะ ผมว่าส่วนนึงที่ทำให้ความแตกต่างมันเห็นกันไม่ชัดก็คือ ความเร็วของ SSD ครับ เพราะ ZenBook 14 OLED UX3402 อะ มันมาพร้อมกับ SSD แบบ Performance

ทีนี้ลองทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ด้วยโปรแกรม Cinebench R23 ดูบ้าง จะเห็นว่าหากวัดประสิทธิภาพกันแบบ Single-core แล้ว คะแนนที่ได้ก็จะเหนือกว่า Intel Core i7-1165G7 อยู่เล็กน้อย คือได้ 1,625 คะแนน (เทียบกับ 1,532 คะแนน) แต่พอทดสอบการทำงานแบบ Multi-core ละก็ คราวนี้แหละ 14-core 20-thread นี่จะได้แสดงประสิทธิภาพเต็มที่จริงๆ ครับ คือ คะแนนออกมาดีกว่ากันถึง 176% กันเลยทีเดียว คือได้ 13,539 คะแนน (เทียบกับ 4,904 คะแนน) และคะแนนใกล้ๆ กับ AMD Ryzen Threadripper 1950X 16-core 32-thread ด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า หากเราต้องเอาไปใช้งานที่ต้องการประสิทธิภาพของ CPU สูง Intel Gen 12 นี่ได้เปรียบอย่างมาก

ผลการทดสอบของโปรแกรม Benchmark โปรแกรม Final Fantasy XV

สำหรับการเล่นเกม ลองใช้ Benchmark ของ Final Fantasy XV ก็แล้วกัน โดยผมลองตั้งค่าความละเอียดเป็น Standard quality แบบ Full HD ดู คะแนนที่ได้ก็อยู่ในระดับ Low ต้องลดความละเอียดของการแสดงผลลงเหลือ HD 720p นั่นแหละ ถึงจะได้คะแนนออกมาในระดับ Standard แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เน้นความละเอียดของการแสดงผลให้สูง โน้ตบุ๊กตัวนี้ก็น่าจะสามารถเล่นเกมได้อยู่นะ

ข้อสังเกตนึงคือ พัดลมหมุนแรงเอาเรื่องอยู่ เมื่อเทียบกับตอนที่เป็น ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ที่เป็น Core i5 ครับ และถ้าอยากได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องไปปรับให้พัดลมมันวิ่งแบบเต็มที่นะครับ ซึ่งเสียงพัดลมจะดังระดับ 70dB กันเลยทีเดียว แต่รอบหมุนของพัดลมมันจะวิ่งจาก 4,000 – 5,000rpm (CPU fan) และ (CPU fan) ในโหมด Standard ไปเป็น 7,000rpm (CPU fan) และ 10,000rpm (GPU fan) ตามลำดับเลย แต่ประสิทธิภาพที่ได้เพิ่มมานี่ก็เห็นชัดเจนด้วยเช่นกัน

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402 เป็นยังไงบ้าง

อันดับแรกเลย ในแง่ของการพกพา ต้องบอกว่าตัวเครื่องไม่ใหญ่มาก แต่น้ำหนักก็ 1.70 – 1.75 กิโลกรัม นี่สำหรับบางคนก็อาจจะเรียกได้ว่าแอบหนัก จะให้แบกขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า หลายคนอาจบ่นปวดไหล่ ปวดหลัง กันได้ แต่ถ้าใครเป็นแบบขับรถไปทำงาน แบกในระยะสั้นๆ หรือเคยแบกโน้ตบุ๊กที่หนักกว่านี้มาก่อน ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่สำหรับผม ที่ก่อนหน้าจะใช้ ASUS ZenBook 14 Duo UX482 ผมใช้ ASUS ZenBook S UX391UA ที่หนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม หรือ ภรรยาผมที่ปัจจุบันใช้ Fujitsu UH-X หนักไม่ถึง 800 กรัม เจ้านี่คือ หนักโฮก 🤣🤣

การใช้งานคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED และ ScreenPad+ เป็น TouchPad

ดีไซน์การออกแบบคีย์บอร์ดของ ASUS ทำไว้ได้ดีเช่นเคยครับสำหรับรุ่นนี้ ตัวคีย์บอร์ดมีปุ่มขนาดใหญ่พอสมควร ทำให้พิมพ์ค่อนข้างสะดวก และ TouchPad ที่ถูกย้ายไปด้านขวามือเนี่ย มันใช้สะดวกและคล่องกว่าเอาวางไว้ด้านล่างอีก โดยเฉพาะกับคนที่ถนัดใช้เมาส์อยู่แล้ว ที่อาจจะขัดๆ หน่อยก็คือ ขนาดของ TouchPad มันต้องเล็กลงตามพื้นที่ที่จำกัดครับ แต่ถ้าใครอยากจะได้พื้นที่เยอะจริง ก็สามารถใช้ ScreenPad+ เป็น TouchPad ได้ด้วย โดยการแตะที่ ScreenPad+ ด้วย 3 นิ้ว ทีนี้ล่ะ TouchPad ขนาดใหญ่เบิ้มเลยครับ

การออกแบบให้ทั้ง TouchPad อยู่ทางด้านขวา และช่องระบายอากาศก็ไปอยู่ด้านหลังของตัวเครื่องและด้านซ้ายของตัวเครื่อง สำหรับคนถนัดขวานี่จะไม่มีปัญหาอะไรครับ แต่กับคนถนัดซ้ายเนี่ย จะมีข้อจำกัดเลย เพราะเท่ากับว่าพวกเขาต้องพยายามใช้ TouchPad ด้วยมือขวาสถานเดียว ซึ่งอาจจะไม่ถนัด เมื่อก่อนอยู่ตรงกลางมันจะสบายกว่านี้ และพอช่องระบายอากาศมันอยู่ทางซ้าย จะใช้เมาส์ ลมร้อนมันก็จะเป่ามาที่มือแทน ยิ่งถ้าเปิดโหมดพัดลมวิ่งเต็มเหนี่ยว ลมแรงมากครับ ระดับ 3.1 เมตร/วินาที คล้ายๆ พวกพัดลมพกพากันเลยทีเดียว เพียงแต่เจ้านี่จะเป่าลมร้อนอะ คนถนัดซ้ายอาจจะไม่ปลื้มกับรุ่นนี้เท่าไหร่ ยกเว้น จะเอาไปต่อจอแสดงผลภายนอก แล้วมีคีย์บอร์ดกับเมาส์แยกต่างหากออกมาอยู่ไกลๆ ตัวเครื่อง แต่ถ้าแบบนั้น ซื้อรุ่นอื่นที่ราคาถูกกว่านี้ เพราะไม่ต้องใช้ ScreenPad+ ดีกว่าไหม

ภาพการใช้เครื่องวัดความเร็วลมของ UNI-T เพื่อวัดความเร็วลมของช่องระบายความร้อนของโน้ตบุ๊ก

ด้านพอร์ตการเชื่อมต่อ โดยส่วนตัวของผมไม่ติดขัดอะไรนะ คือ เขาก็ไม่ได้ให้อะไรมาเหลือเฟือ แต่ USB-A แบบ USB 3.2 Gen 2 HDMI 2.1 และ Thunderbolt 4/USB-C อีก 2 พอร์ต ผมว่ามันก็เหลือเฟือแล้วสำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ในฐานะโน้ตบุ๊กพกพานะครับ ใครต้องการต่อจอแสดงผลเพิ่ม ตัว Thunderbolt 4 นี่เป็น USB-C ที่รองรับ Display Port ได้ และหากมี USB-C Hub หรือ Docking ที่แปลงเป็น HDMI หรือ Display Port หรือ VGA (D-Sub) ก็สามารถต่อจอแสดงผลเสริมได้อยู่แล้วด้วย อันนี้เผื่อใครต้องการใช้งานในรูปแบบ Hybrid คือ เอาวางไว้บนโต๊ะทำงาน สลับกับการพกพาไปนอกสถานที่ละนะ แต่ข้อควรระวังคือ ใครที่ชินกับการเอาโน้ตบุ๊กต่อจอภายนอกทำงาน แล้วชอบพับจอโน้ตบุ๊กลง มันไม่ใช่รูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับรุ่นนี้นะครับ เพราะอย่างที่บอก ดีไซน์ของระบบระบายความร้อนของรุ่นนี้ เขาดูดลมเข้าผ่านด้านใต้ของจอ ScreenPad+ ที่จะต้องกางหน้าจอของโน้ตบุ๊กขึ้นมาตามปกติก่อน

ตัวอย่างการใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED โดยเปิดทำ PowerPoint ที่หน้าจอหลัก และบน ScreenPad+ เปิดเว็บไซต์ ASUS เพื่ออ่านข้อมูล และเปิด YouTube เพื่อดูคลิปไปพร้อมๆ กัน

ในฐานะคนที่เคยใช้งาน ASUS ZenBook 14 Duo มาก่อน ก็ต้องขอบอกว่าหน้าจอ ScreenPad+ เนี่ย มันสามารถนำมาใช้งานได้ในชีวิตจริงครับ คือแม้ว่ามันจะมีขนาดแค่ราวๆ ครึ่งนึงของหน้าจอแสดงผล ในแบบที่เป็นครึ่งนึงตามแนวยาวก็ตาม แต่ถ้าเราจะใช้ในแบบ เปิดหน้าจอเพื่ออ่านข้อมูลจากเอกสาร หรือดู YouTube หรือฟังเพลงจาก YouTube Music ไป ทำงานไป โดยที่เรายังสามารถได้เห็นตัววิดีโอ หรือสามารถควบคุมการใช้งานได้อยู่ มันโอเคนะ

ตัว ScreenPad+ สามารถเอาไว้ใช้งานได้หลากหลาย ตามความสะดวกของแต่ละคน อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่าสามารถใช้เป็น TouchPad ได้ หากคุณรู้สึกว่า TouchPad บนตัวเครื่องมันเล็กไป หรือคนถนัดซ้ายรู้สึกว่ามันไม่ถนัด หรือบางคนที่ต้องพิมพ์ตัวเลขเยอะๆ ก็ใช้งานมันเป็น NumPad ด้วยก็ได้

โปรแกรมอย่าง DaVinci Resolve ที่ใช้ตัดต่อวิดีโอ รองรับการทำงาน 2 จอ ก็จะสามารถเอาพื้นที่ทำงานส่วนหนึ่งไปแสดงผลบน ScreenPad+ ได้

นอกจากนี้ โปรแกรมหลายๆ ตัวที่เป็นโปรแกรมด้านตกแต่งกราฟิกและตัดต่อวิดีโอ ก็จะรองรับการทำงานแบบหลายหน้าจอ เช่น DaVinci Resolve นี่ ถ้าเปิดการทำงานแบบ Dual monitor ของ Workspace ก็จะสามารถย้ายพื้นที่การทำงานส่วนหนึ่งมาแสดงบน ScreenPad+ ได้ และนั่นจะทำให้เราได้เนื้อที่ในการทำงานบนจอหลักเต็มๆ มากขึ้นด้วย หรือโปรแกรมตระกูล Affinity ที่หลายคนอาจจะเลือกใช้แทนโปรแกรมจากค่าย Adobe ก็มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Separated mode ที่แยกเอาพวกเครื่องมือต่างๆ ไปวางไว้บนหน้าจออื่นๆ ได้ (โปรแกรมที่คล้ายๆ กัน ก็เช่น Gimp)

โปรแกรม ProArt Creator Hub ในส่วนของ Control Settings ที่ให้ปรับ Control Panel ของโปรแกรมต่างๆ ที่จะแสดงบน ScreenPad Plus

และทาง ASUS เองก็มีการทำงานร่วมกับ Adobe อย่างใกล้ชิดมาก ใครใช้โปรแกรมในตระกูล Adobe Creative Cloud ก็จะมีตัวเลือกในการปรับแต่งในส่วนของ Control Panel ผ่านโปรแกรม ProArt Creator Hub ที่จะแสดงพวกตัว Virtual jog dial และ Control ต่างๆ บนจอ ScreenPad+ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำงานด้วย และความสวยงามกับความเนียน มันดีกว่าโปรแกรมอื่นๆ ที่ออกแบบมาให้ทำงานบนหลายหน้าจอแบบกลางๆ อันนี้สายกราฟิกและตัดต่อวิดีโอที่ใช้โปรแกรมค่าย Adobe น่าจะชอบมากๆ

หน้าจอแสดงผลขนาด 14.5 นิ้ว ความละเอียด 2.8K ให้พื้นที่ในการทำงานค่อนข้างกว้างขวางดี จอแสดงผลแบบ OLED ก็ให้สีสันที่สมจริง สดใส สว่างมาก ใช้งานกลางแจ้งมันเห็นชัดแจ๋วกว่าพวกจอ IPS LCD อีก และบอกเลยว่า ASUS ตัดสินใจได้ดี ที่งวดนี้ให้จอ ScreenPad+ เป็นแบบจอ IPS LCD ครับ เพราะมันคือจอที่ไม่ได้ต้องเน้นเรื่องความสว่างและสีสันมากเท่าจอแสดงผลหลัก การเปลี่ยนมาใช้จอ IPS LED ก็ช่วยลดต้นทุนและทำให้ราคาของ ZenBook 14 Duo OLED ลดลงมาได้อีกประมาณนึง

ลองเล่นเกม Final Fantasy VII Remake Intergrade

ผมลองเล่นเกม Final Fantasy VII Remake Integrade ดู ปรับคุณภาพของ Texture และ Shadow เป็น Low และปรับความละเอียดของกราฟิกให้เป็น 1366×768 พิกเซล คุมเฟรมเรตที่ 30fps คือ เล่นได้ลื่นดีมากครับ แต่เหมือนตัวเกมมันจะมีบั๊กเวลาเล่นกับชิปกราฟิก Intel Iris Xe มั้ง พอเล่นไปพักใหญ่ๆ แล้วมันก็จะมีปัญหากับไดรเวอร์ แล้วก็เด้งออกมาครับ ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะพอเล่นไปนานๆ แล้วชิปกราฟิกมันขับต่อไปไม่ไหว หรือเพราะมันมีปัญหากับไดรเวอร์ของชิปกราฟิกก็ไม่รู้สิครับ แต่คือ มันเล่นได้พักใหญ่ๆ เลยนะ กว่าจะเด้ง

แต่โดยส่วนตัว หากอยากจะเล่นเกมจริงจังกว่านี้ โดยใช้รุ่นนี้ อาจจะต้องยอมควักกระเป๋าจ่าย 74,990 บาท เพื่อซื้อรุ่นที่มีการ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce RTX3050Ti ที่แม้ว่าจะไม่ใช่การ์ดจอรุ่นที่สุดยอดมาก แถมให้ VRAM มาแค่ 4GB เท่านั้น (จริงๆ 6GB ยังแทบไม่พอเลย ถ้าจะเล่นเกมใหม่ๆ กราฟิกโหดๆ) แต่คิดว่าปัญหาเล่นๆ แล้วเด้งของ Final Fantasy VII Remake Integrade เนี่ย คงจะหมดไป ผมนี่อยากจะลองรุ่นท็อป (ในประเทศไทย) มาก ว่าระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Plus กับ AAS Ultra ที่เขาว่าจะช่วยระบายความร้อนได้ดี และรีดประสิทธิภาพการทำงานได้สูงขึ้นเนี่ย มันจะรับความร้อน TDP สูงสุด 85 วัตต์ของรุ่นท็อปไหวไหม

แต่ที่แน่ๆ คือ มันเล่นเกมที่กราฟิกโหดๆ ได้ไหวอยู่ และในระดับที่ลื่นพอสมควรด้วย หน้าจอแสดงผลแบบ 16:10 ก็ใกล้เคียงกับ 16:9 มากๆ เล่นเกมบางเกมที่มันมีการล็อกอัตราส่วนการแสดงผล มันก็จะมีแถบดำบนล่างแค่นิดเดียว แต่ก็ยังได้ภาพเต็มๆ ตาดีอยู่ จอ OLED ให้สีสันสวยโหดมาก ระดับ 1.07 พันล้านสี ครอบคลุมสีระดับ DCI-P3 และอัตราการรีเฟรชภาพ 120Hz ดีงาม

ใช้เครื่องวัดความดังของเสียงยี่ห้อ UNI-T วัดความดังของเสียงลำโพงจากโน้ตบุ๊ก

ลำโพงของโน้ตบุ๊กตัวนี้ เป็น harman/kardon รองรับ Dolby ATMOS และมีฟีเจอร์ชื่อ Smart amp ที่ให้เสียงดังเพิ่มได้อีกระดับ 3.5 เท่า แบบ Zero distortion (ความเพี้ยนของเสียงเป็นศูนย์) เพราะมีชิป DSP มาช่วยปรับ ซึ่งน่าจะจริงครับ เพราะมันดังเวอร์วัง จะดังไปไหน จนผมแอบกังวลว่าไดอะเฟรมของลำโพงจะอายุสั้นไหม ถ้าเกิดเปิดดังสุดๆ ไว้บ่อยๆ

ผมลองวัดความดังของเสียง ลำโพงของ ASUS ZenBook 14 Duo OLED ตัวนี้ดังระดับ 80-95dB ได้สบายๆ เลยครับ ถ้าเปิดเต็มๆ 100% (ขึ้นอยู่กับว่าไฟล์ที่เปิดนี่เขาอัดมาดังแค่ไหนด้วยนะ) แต่ผมมองว่าเปิดดังแค่ระดับ 50%-80% ก็เพียงพอแล้วสำหรับโน้ตบุ๊กตัวนี้ นอกจากนี้ การรองรับย่านความถี่ ก็ถือว่าทำได้ดี เสียงเบสก็ยังสามารถนำเสนอได้ แม้จะออกมาในรูปแบบเสียงย่านกลางซะมากกว่า ด้วยข้อจำกัดของลำโพง

หน้าจอโปรแกรม MyASUS ในการปรับแต่งค่าต่างๆ

จุดเด่นอีกอย่างของโน้ตบุ๊ก ASUS ก็จะเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้กับฮาร์ดแวร์ด้วย ซึ่งถ้าจะให้ลองไล่ให้อ่านก็จะมี

💻 ตั้งค่าการชาร์จแบตเตอรี่ให้จำกัดไว้ที่ 80% เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่
💻 ตั้งค่าความเร็วการทำงานของพัดลมตัวเครื่อง
💻 เปิด-ปิดการใช้งาน AI Noise-cancelling ของทั้งไมโครโฟนและลำโพง
💻 ตั้งค่าการแสดงผลของหน้าจอแสดงผล ตลอดไปจนถึงอัตราการรีเฟรชของภาพ
💻 ใส่เอฟเฟกต์ให้กล้องเว็บแคม เช่น เบลอฉากหลัง อะไรพวกนี้

ไมโครโฟนของโน้ตบุ๊กตัวนี้ มีมาให้ 4 ตัว เพื่อให้สามารถรับเสียงได้รอบทิศทาง เหมาะสำหรับการประชุมออนไลน์เป็นหมู่คณะ เช่น ทีมของเราจะต้องประชุมร่วมกับอีกทีมที่อยู่คนละสถานที่ อะไรแบบนี้ และ AI Noise-cancelling มันก็มีฟีเจอร์แบบที่ช่วยปรับคุณภาพของเสียงพูดให้เหมาะสมกับกรณีที่มีผู้ร่วมประชุมหลายคนด้วย แต่จากประสบการณ์ในการใช้งาน ต้องทำใจนิดนึงว่า AI Noise-cancelling มันจะทำให้เสียงพูดของเราชัดขึ้นก็จริง แต่ฟังแล้วจะเป็นหุ่นยนต์มากขึ้นด้วย เพราะคลื่นเสียงบางส่วนของเราที่เราพูด มันก็จะถูก Cancel ไป เพราะมันไปใกล้เคียงกับคลื่นเสียงของพวก Noise ครับ

เว็บแคมที่ให้มา สำหรับผม ผมว่าแอบกั๊กสเปกไปนิดนึง จริงๆ ยุคนี้สมัยนี้ เว็บแคมระดับ 1080p 30fps ควรจะเป็นมาตรฐานของโน้ตบุ๊กราคาเกิน 40,000 บาทแล้ว ในความเห็นของผมนะ คือ ต่อให้ภาพมันจะถูกส่งไปด้วยความละเอียดแค่ 720p ก็ตาม แต่เซ็นเซอร์กล้องต้นทางมันก็ควรจะดีหน่อย เพื่อให้คุณภาพของภาพมันดีด้วย และความละเอียดของภาพที่สูงมันก็จะช่วยให้พวกซอฟต์แวร์ที่ใส่เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ให้เรา (เช่น การเบลอฉากหลัง) มันทำได้ง่ายขึ้น เนียนขึ้นด้วยเช่นกัน กล้องอินฟราเรดที่ให้มาเพื่อใช้ร่วมกับ Windows Hello ผมว่าดีครับ คือบอกตรงๆ ว่าเดี๋ยวนี้เคยตัวกับการล็อกอินเข้า Windows ผ่าน Windows Hello แล้ว แต่ผมอยากให้ ASUS พิจารณาเพิ่มเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเข้ามาด้วยเพื่อเป็นทางเลือก เพราะกล้อง IR นี่ไม่ได้เวิร์กในทุกสถานการณ์ครับ แม้ว่ามันจะสะดวกกว่าการสแกนลายนิ้วมือ เพราะพอกดเปิดเครื่อง กล้องก็ทำงานได้เลย แต่เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมันก็ใช้ได้ในหลากสถานการณ์มากกว่า

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 Duo OLED กำลังพับจอเก็บอยู่ และมี ASUS Pen 2.0 วางอยู่ด้านบน

ผมชอบ ASUS อย่างนึงตรงความใจดีครับ คือ ZenBook 14 Duo เนี่ย เขามี ASUS Pen มาให้ด้วย ซึ่งรุ่น UX482 นี่เป็น ASUS Pen 1.0 และพอมาถึงตอนนี้ก็ได้ ASUS Pen 2.0 แล้ว ที่เพิ่มเข้ามาคือนอกจากปุ่ม 2 ปุ่มที่อยู่ตรงตัวปากกาสไตลัสแล้ว ตรงก้นปากกามันก็มีปุ่มเพิ่มมาอีกปุ่มด้วย อย่างไรก็ดี มันมีข้อจำกัดของการใช้ ASUS Pen 2.0 คือตัวโน้ตบุ๊กมันกางหน้าจอไม่ได้ 180 องศาครับ ดังนั้นการที่จะขีดเขียนโน่นนี่นั่น มันทำได้จำกัด เพราะไม่ถนัดมือ จะเขียนบน ScreenPad+ ก็แอบเล็กไปอีกนั่นแหละ คือเขียนได้นะ แต่พื้นที่จำกัด ดังนั้นแม้ว่าปากกาสไตลัสจะดีแค่ไหน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าจะแค่ขีดๆ วงๆ โน้ตแบบไวๆ หรือจะกดปุ่มที่ก้นปากกาแล้วลากเส้นเพื่อจับภาพหน้าจอเฉพาะส่วนที่ต้องการ หรือจะเอามาช่วยตอนกำลังตกแต่งภาพ มันก็ยังพอไหวอยู่

แบตเตอรี่ 76Wh พร้อมสติกเกอร์ Intel evo ที่บอกว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 9.5 ชั่วโมง แต่มันเป็นการทดสอบจากรุ่น Core i5-12500H ซึ่งก็ไม่ใช่รุ่นที่รีวิว โดยใช้โปรแกรม MobileMark 2018 เปิดใช้งาน WiFi ตั้งค่าความสว่างหน้าจอไว้ที่ 200 nits อัตรารีเฟรชภาพ 60Hz และปิด ScreenPad+ ซึ่งก็จะไม่ใช่การใช้งานจริงของเรา คือ ถ้าซื้อโน้ตบุ๊กราคา 59,990 บาท แบบมี ScreenPad+ อัตรารีเฟรชหน้าจอ 120Hz มา จอสว่างเวอร์วัง แต่ดันใช้แบบเขียมๆ แบบการทดสอบนี่ มันคือไม่เวิร์กไง เอาตรงๆ นะ ผมแค่เปิดเครื่องเอาไว้ แล้วตั้งดาวน์โหลดเกม Final Fantasy VII Remake Intergrade ผ่าน Steam มาเนี่ย แบตเตอรี่ลดจาก 100% ลงเหลือ 14% ใน 2 ชั่วโมงครับ ต้องมาเสียบปลั๊กชาร์จแล้ว ฉะนั้น เวลาเอาไปใช้งานจริง ทำใจได้เลยครับ ถ้าเปิดใช้งานเต็มเหนี่ยว ไม่น่ารอด 2-3 ชั่วโมงแน่นอน เพราะผมลองเอามาเปิดดู YouTube คลิปภาพจากสถานีอวกาศนานาชาติไปเรื่อยๆ เนี่ย แบตเตอรี่หมดใน 4 ชั่วโมงจ้า

อ้อ! ถ้าใครใช้รุ่นที่การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX3050Ti มันจะไม่ใช่ Intel evo นะครับ

ใช้อุปกรณ์วัด

เวลาชาร์จแบตเตอรี่ เจ้านี่ชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ระดับ 180 วัตต์!!! แม้อะแดปเตอร์จะไม่ใหญ่มาก แต่บอกเลยว่า ถ้าใครคุ้นชินกับพวกอะแดปเตอร์ 65-100 วัตต์ แบบ GaN แล้วละก็ เจ้านี่โคตรหนัก!!! มันคงไม่ใช่อะแดปเตอร์ที่เราจะพกพาไปไหนมาไหนด้วยแน่ๆ ถ้าต้องเดินทางไปๆ มาๆ เพราะโน้ตบุ๊กก็ 1.70-1.75 กิโลกรัมเข้าไปแล้วจ้า ข่าวดีก็คือ พอร์ต Thunderbolt 4/USB-C ของเจ้านี่ รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ได้ผ่าน Power Delivery ครับ โดยถ้าคุณสามารถหาอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟผ่าน USB-C แบบ 100 วัตต์ได้ ก็เอามาชาร์จเจ้านี่ได้สบายๆ อยู่ครับ และหากต้องชาร์จไปทำงานไป โดยทำงานแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้ใช้งานโหดร้าย อะแดปเตอร์แบบ USB-C 100 วัตต์ ก็น่าจะเอาอยู่ แต่ถ้าจะเล่นเกมละก็ ไม่น่ารอดครับ คงต้องทำใจแบกอะแดปเตอร์ 180 วัตต์ของมันออกมา

บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook 14 Duo OLED UX8402

เป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ Intel Gen 12 รหัส H ที่ราคาแรงเอาเรื่องครับ 59,990 บาท เพราะราคานี้ ซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กได้การ์ดจอแยกอย่าง GeForce RTX3050Ti หรือ RTX3060 ได้เลย แถมมีทอนด้วย หากไม่ได้มองว่าจอแสดงผลต้อง OLED ความละเอียด 2.8K และมีจอ ScreenPad+ นะ แต่ผมก็เชื่อนะว่ามีคนที่พร้อมจะจ่ายแพงซื้อรุ่นนี้ เพราะการ์ดจอแยกอาจจะไม่ได้จำเป็นสำหรับพวกเขา แต่การได้จอสวยๆ อย่าง OLED และมี ScreenPad+ มาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานนอกสถานที่ จะได้ไม่ต้องพกจอแยกไปเพิ่มอีกตัว มีครึ่งจอเพิ่มมาให้ก็พอถูไถแล้ว อะไรแบบนี้

การที่ ASUS ZenBook 14 Duo มันออกมาถึงตัวนี้เป็น Generation ที่ 3 ได้ มันก็น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่ามีคนที่มีความต้องการอะไรแบบนี้อยู่ ผมก็คนนึงละ ที่อยากได้มาตั้งกะ ASUS ZenBook 14 Duo Gen แรก (UX481) แต่ตอนนั้นไม่เอาเพราะความผิดพลาดในการออกบบปุ่ม Shift ข้างขวาของ ASUS ที่ทำให้คนที่ถนัดกดปุ่ม Shift ขวาด้วยนิ้วก้อยข้างซ้ายกดผิดกดถูกตลอด ซึ่งได้รับการแก้ไขในรุ่นหลังๆ มาจนถึงปัจจุบัน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า