เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อ่านข่าวเรื่องการโฆษณาสินค้าประเภทสายซิลิโคนที่ผสมแร่นั่นนี่ ใช้ Black technology และให้พลังงานบลาบลาบลา ซึ่งเมื่อเอาไปพันกับท่อส่งน้ำมันแล้ว จะช่วยให้ประหยัดน้ำมันเพราะมันจะทำให้อนุภาคของน้ำมันเล็กลง และช่วยลดควันดำด้วย คนดังหลายคนก็ไปซื้อมาใช้กัน ช่วยโฆษณาต่อ … ถามจริง ปี 2022 แล้ว ยังเชื่อเรื่องแบบนี้โดยไม่เช็กข้อมูลกันอีกเหรอ? ไหนๆ มาจับโป๊ะกันหน่อยดีกว่าครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกนี้ไม่ขอลงรูปละกันนะ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ขี้เกียจไปมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกับเขา เอาเป็นว่า จะสอนวิธีจับโป๊ะโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องสเปกต่างๆ ที่สายจำพวกนี้มาอวดอ้างสรรพคุณก็แล้วกัน
ทำให้โมเลกุลของน้ำมันเล็กลงแล้วจะประหยัดน้ำมัน?
คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจของผมคือ มันทำให้โมเลกุลของน้ำมันมีขนาดเล็กลงได้ด้วยเหรอ? แล้วถ้าทำได้ แล้วน้ำมันมีโมเลกุลขนาดเล็กลง มันจะทำให้เผาไหม้ดีขึ้น และประหยัดน้ำมันเหรอ? แล้วถ้าทำได้จริง ปกติแล้วในโลกนี้เขาใช้วิธีไหน?
ผมก็ไปลองคุ้ยๆ บน Google ดูครับว่า เขาจะทำให้โมเลกุลของน้ำมันแตกตัวเล็กลงไปทำไม คำตอบที่ได้อันแรกก็คือ มันมีกระบวนการที่จะทำให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied petroleum gas หรือที่เรารู้จักกันในนามก๊าซ LPG หรือ ก๊าซหุงต้ม) หรือ ก๊าซออยล์ (Oil gas) แตกตัว มีโมเลกุลที่เล็กลง แล้วเราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าเอทิลีน (Ethylene) ที่เอาไว้ไปผลิตโพลีเอทิลีน (Polyethylene) หรือพลาสติก PE นั่นเอง ซึ่งการจะทำให้พันธะไฮโดรคาร์บอนแตกตัว จะอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า Steam thermal cracking ครับ ส่วนคำตอบที่สองที่หาเจอ คือ ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วบนผิวน้ำ เขาจะมีการใช้สารเคมีลดแรงตึงผิว (Surfactant) และสารกระจาย (Dispersant) เพื่อเร่งให้น้ำมันกระจายตัว มีอนุภาคขนาดเล็ก และทำให้ย่อยสลายได้โดยง่าย ซึ่งวิธีการนี้เป็นกระบวนการทางเคมี ที่อาจจะใช้สารเคมี เอนไซม์ หรือจุลินทรีย์
ซึ่งกระบวนการพวกนี้ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ นะครับ ชนิดที่เรียกว่า สายซิลิโคนเส้นเดียว เอาไปพันรอบสายท่อน้ำมัน มันไม่น่าจะช่วยอะไรได้เลย
แต่ถ้าถามว่า น้ำมันมีขนาดเล็กลงแล้ว จะช่วยให้ประหยัดน้ำมันไหม? คำตอบคือ มันต้องมีสององค์ประกอบครับที่จะทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากขึ้น คือ ขนาดของละอองน้ำมัน กับ ปริมาณของก๊าซออกซิเจนที่ถูกดูดเข้ามาในกระบอกสูบ ซึ่งรถยนต์ทุกชนิดในโลกนี้ มันจะมีหัวฉีดน้ำมันกับระบบต่างๆ ในการช่วยควบคุมปริมาณการจ่ายน้ำมันและขนาดของละอองน้ำมันที่จะฉีดเข้ากระบอกสูบอยู่แล้ว (ไม่ได้เกี่ยวกับขนาดโมเลกุลหรืออนุภาคของน้ำมันนะครับ) พอควบคุมปริมาณและขนาดของละอองน้ำมันให้เหมาะสมกับปริมาณอากาศที่เข้ามาในกระบอกสูบ มันก็จะทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ขึ้น
ฉะนั้นจะเห็นว่า มันเอาข้อเท็จจริงมาปะปนกับข้อมูลมั่วๆ ก็เลยดูน่าเชื่อถือขึ้นนั่นเอง
แร่แกรฟีนและหินลาวา ทำให้เกิดพลังงานควอนตัมและรังสีแกมมา แล้วก็ Black technology
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมไม่แน่ใจว่าแร่แกรฟีนที่เขาพูดถึง มันหมายถึงอะไร แต่แกรฟีนเดียวที่ผมรู้จัก คือ Graphene ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของผลึกคาร์บอนครับ ด้วยคุณสมบัติที่นำไฟฟ้าได้ดี เขาเลยมองกันว่ามันอาจจะเป็นอนาคตของแบตเตอรี่ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพลังงานควอนตัม ส่วนหินลาวานั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยมีการพิสูจน์เรื่องเหรียญควอนตัมที่ทำจากหินลาวาไปแล้ว และมีการเตือนเรื่องสารกัมมันตรังสีเอาไว้ ผมตั้งข้อสังเกตว่า ไอ้พลังงานรังสีที่เกิดขึ้นอะ มันมาจากหินลาวานี่แหละ เพราะจากการทดสอบของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนี่ย เขาพบว่ามันมีธาตุทอเรียม แอคติเนียม และ แทลเลียม ที่เป็นธาตุกัมมันตรังสีอยู่ ซึ่งแม้จะน้อย แต่ว่าหากอยู่ติดตัวคนตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้เกิดการสะสมของกัมมันตรังสีในร่างกายได้ ก็สอดคล้องกับที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เขาเตือนว่าอย่าอยู่ใกล้สายพลังงานประหยัดน้ำมันนี่เกิน 20 นาทีต่อวัน เพราะพบว่าสายนี่มีการปล่อยรังสีเบต้าและแกมมามากกว่า 20 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง
ส่วนอิเรื่อง Black technology นี่บอกตรงๆ หาข้อมูลไม่เจอเลยครับ แต่ถ้าพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับกลศาสตร์ควอนตัม ก็จะเจออีกคีย์เวิร์ดนึงคือ วัตถุดำ (Black body) ที่เขาว่าเป็นวัตถุอุดมคติ สามารถดูดกลืนและแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ทุกความยาวคลื่น
แต่เอาจริงๆ นะ มันเหมือนกับการพยายามจับศัพท์ตัวนั้น มาผสมกับชื่อเรียกตัวนี้ เพื่อให้ดูว่ามีหลักการทางวิชาการมายืนยันอะ แต่ถ้าเอาคนที่เป็นนักวิชาการมาจับโป๊ะ มันคือมั่วมากๆ
การวิจัยกับทางญี่ปุ่น เทคโนโลยีซูเปอร์พายทู
อันนี้จับโป๊ะไม่ยาก อันดับแรก อิเทคโนโลยีซูเปอร์พายทูคืออะไร? ซูเปอร์พายเดียวที่ผมคุ้ยหาข้อมูลได้คือ ซอฟต์แวร์สำหรับการคำนวณหาค่าพาย (Pi) ครับ และถ้ามันมีการวิจัยจริงๆ เอาลิงก์มาให้ดูเลยครับ วิจัยอะไร วิจัยยังไง มันต้องมีเปเปอร์มาคุยกันเว้ย ถ้าจะแค่บอกว่ามีการวิจัยอะ ใครๆ ก็บอกได้ว่าทำมาครับ
วัดค่าพลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 10,000Hz … เดี๋ยวๆ คุณวัดพลังงานหรือวัดความถี่วะครับ?
แค่หน่วยวัดก็มั่วแล้วครับ หน่วยของพลังงานที่เรารู้จักกันก็จะมี จูล นี่พี่แกเรียกเป็น Hz (เฮิร์ตซ) เฉยเลย นั่นมันเอาไว้วัดความถี่ไหม ขอขำแรงมากหน่อย 🤣🤣

นอกจากนี้ เขายังมีการเอาเครื่องวัด ION TESTER มาใช้วัดอะไรบางอย่างจากสายนี่ แล้วได้ค่าเป็นหมื่นเลยครับ แล้วก็บอกว่า เนี่ย คือค่าพลังงานแผ่รังสีที่เรียกว่าแกมมาเรย์ เอิ่ม เดี๋ยวนะครับ ION TESTER คือ เครื่องวัดการปล่อยค่าไอออนนะครับ แล้วสเปกที่ทางเพจที่ขายสายพลังงานประหยัดน้ำมันเขาเอามาโพสต์ให้ดู ก็บอกเลยว่าเป็น Negative ion tester หรือเครื่องวัดไอออนลบครับ

ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ผมลองไปค้นหาเจ้าเครื่องนี้จากเลขรุ่น ผมก็สังเกตว่ามันมีขายเกลื่อน Alibaba กับ Aliexpress และ Ebay เลย ไม่ค่อยมีเว็บไหนขายรุ่นนี้อย่างเป็นทางการเลย ทั้งๆ ที่บอกว่าเป็นนำเข้าจากญี่ปุ่น ผมก็สังเกตว่าชื่อบริษัทคือ COM SYSTEM, INC. ก็เลยไปค้นดู อ้าวมันมีบริษัทนี้อยู่จริงบนเว็บ … แต่ … ชื่อรุ่นมันคือ COM-3010PROX อะครับ แล้วพอดูที่หน้าเว็บของผลิตภัณฑ์ มันมีการแจ้งเตือนของเลียนแบบเอาไว้ด้วย โดยบอกว่ามันจะชื่อรุ่น COM-3010PRO ดูแล้ว หน้าคุ้นๆ ไหมครับ?

น่าเชื่อถือไหมล่ะคุณ 🤣🤣
โป๊ะขนาดนี้แล้ว ยังคิดว่ามันของจริง ใช้ได้จริงอยู่อีกเหรอครับ?