เขียนบล็อกเกี่ยวกับ Windows 11 มาหลายหนแล้ว ตั้งกะตอนรีวิว Windows 11 ครั้งแรกในเวอร์ชันที่หลุดออกมา จนถึงตอนใช้ Windows 11 ไปแล้ว 3 เดือนในฐานะ Insider Preview มาจนถึงหลังจากใช้ Windows 11 ไปได้ครึ่งปี และล่าสุดคือ 5 ทิปในการใช้ Windows 11 ให้ได้ประโยชน์มากขึ้น คราวนี้ก็ใช้มาเกือบๆ ปีแล้ว ได้เวลามาสรุปสิ่งที่ผมชอบและไม่ชอบใน Windows 11 กันบ้างครับ
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า สิ่งที่ผมชอบและสิ่งที่ผมไม่ชอบในตัว Windows 11 นี้ อาจจะไม่ตรงกับใจของท่านผู้อ่านก็ได้นะครับ เพราะนี่มันเป็นความชอบและไม่ชอบส่วนตัวของผมนะครับ แต่ก็อาจจะตรงใจใครบางคนก็ได้ ใครจะรู้ จริงแมะ
สิ่งที่ผมชอบ: User Interface เข้าที่เข้าทางมากขึ้น
ตอนเป็น Windows 10 ผมบ่นมากว่ามันยังทำไม่เสร็จ เพราะหลายๆ อย่างใน Settings เนี่ย มันต้องไปเปิดต่อในหน้าจอแบบ Legacy UI อะ เช่น บน Windows 10 ตอนจะไปตั้งค่าในส่วนของ Regional settings เนี่ย ถ้าเราจะไปตั้งค่าวันที่และเวลา ก็จะต้องเข้าไปที่ Additional date, time, & regional settings ซึ่งเป็น Legacy UI

แต่บน Windows 11 เนี่ย หลายๆ จุดถูกรวมเข้าไปในอยู่ใน Settings ที่เป็น User Interface แบบใหม่เรียบร้อยแล้ว ก็ดูเก็บกวาดเรียบร้อยดีมากขึ้น แต่ Windows 11 ก็ยังไม่ได้ทิ้ง Legacy UI ไปหรอกนะ ถ้าเราค้นหา Control Panel ละมันก็ยังอยู่ครบอยู่ และพวก Settings ที่ละเอียดๆ ก็ยังฝังรากลึกอยู่ในนี้ แต่ถ้าเราต้องการ Settings ในระดับแค่ผู้ใช้งานทั่วไปละก็ Settings ใหม่นี่เอาอยู่น่าจะเกือบหมดแล้วละ ในความเห็นของผม

สิ่งที่ผมชอบ: User Interface ดูมีความทันสมัยขึ้น
ดีไซน์แบบหน้าต่างโปรแกรมที่ผมคุ้นเคยที่มีมาตั้งกะสมัย Windows 3.1 มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงกลิ่นอายเดิมๆ มาตลอด มาเริ่มเปลี่ยนแปลงตอน Windows 8 และถูกทำให้สมบูรณ์ขึ้นตอน Windows 10 แต่มันก็ยังดูแบนๆ ไปหน่อย คือ ผมรู้สึกว่าบทจะ Minimalist ก็สุดโต่งไป๊ และจริงๆ มันก็คล้ายๆ กับการเอา Legacy UI มาเอาสีออก เอาเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ออก แค่นั้นเลย

พอเปลี่ยนมาเป็น Windows 11 มีการออกแบบโดยใช้ User Interface ที่คล้ายๆ กับของพวกระบบปฏิบัติการสำหรับแท็บเล็ตมากขึ้น คือ พวกหมวดหมู่ของการตั้งค่าอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนตัวเลือกและรายละเอียดการตั้งค่าจะไปอยู่ทางด้านขวา ใครที่คุ้นๆ กับพวกแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ก็จะคุ้นกับ Interface แบบนี้มากกว่า

นอกจากนี้ มันดู Minimal แต่ไม่สุดโต่งดีด้วยนะผมว่า
สิ่งที่ผมชอบ: เมนูของ File Explorer ที่กระชับขึ้น
File Explorer เนี่ย มีการปรับปรุงตอนเป็น Windows 10 เขาเอา Ribbon มาใช้แบบพวก Microsoft Office (ที่เริ่มมีตอน Office 2007) แต่มันก็แอบเทอะทะตามประสา Microsoft ที่ชอบใส่โน่นนี่นั่นมาให้เยอะแยะ แล้วมันก็ไม่ค่อยได้ใช้ไง

พอมาเป็น File Explorer ของ Windows 11 แล้ว เมนูมันกระชับขึ้น คือมีการเปลี่ยนตัวเลือกไปตามบริบท (Context) ของสิ่งที่เราเลือกอยู่มากขึ้น และดูเหมือนจะศึกษามาดีว่าเวลาที่คนเราคลิกไปที่ไฟล์หรือโฟลเดอร์แล้ว เรามักจะทำอะไรเป็นหลัก สไตล์ของมันก็เลยดู Minmal มากขึ้นด้วย

สิ่งที่ผมชอบ: Action Center ใหม่ของ Windows 11
ตอนเป็น Windows 10 ผมก็ชอบ Action Center นะ คือ มันช่วยให้เราเปิด-ปิด หรือเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ได้สะดวกขึ้นเยอะ แต่พอมาเป็น Windows 11 ผมก็ชอบมากขึ้น เพราะหลายๆ อย่างมันทำให้สะดวกขึ้น เช่น การเพิ่มตัวควบคุมการเล่นมัลติมีเดียมาให้ ถ้าเราเปิดพวกเพลงหรือวิดีโอจากเบราว์เซอร์ Microsoft Edge มันก็จะสามารถกดตรงนี้เพื่อสั่งเล่นหรือหยุด หรือเล่นเพลงถัดไปหรือเพลงก่อนหน้าได้เลย ไม่ต้องไปไล่หาว่าเราเปิดอยู่ในแท็บไหน มันดีมากสำหรับคนที่เปิดเว็บเป็นสิบๆ แท็บแบบผม (มีแรม 32GB ให้เบราว์เซอร์เขมือบเล่น จะกลัวอะไร)

นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับแต่ง Action Center ให้แสดงไอคอนเปิดปิดการใช้งานฟังก์ชันได้ตามใจ แบบเดียวกะที่เราเคยทำกันบน Quick Settings ของระบบปฏิบัติการ Android นั่นแหละ คนใช้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กแบบที่ใช้คีย์บอร์ดและเมาส์จะไม่ได้รู้สึกถึงประโยชน์ชัดเจนมากนัก แต่ถ้าใครใช้ในโหมดแท็บเล็ตหรือมีจอสัมผัส
สิ่งที่ผมชอบ: Volume Mixer ใน User Interface แบบใหม่
เวลาเราเปิดโปรแกรมหลายๆ ตัว เราจะสามารถเปิด Volume Mixer เพื่อกำหนดความดังของเสียงที่มาจากโปรแกรมแต่ละตัวได้ เพราะบางครั้งเราไม่ได้อยากปรับเสียงของลำโพงซึ่งจะกระทบกับโปรแกรมทั้งหมด แต่เราแค่อยากปรับระดับเสียงเฉพาะบางโปรแกรมเท่านั้น Volume Mixer นี่ก็จะช่วยเราได้ครับ เช่น พวกเสียงแจ้งเตือนของระบบให้เบาๆ หน่อย ก็ไปลดเสียงของ System sounds แต่เสียงของคลิป YouTube ที่เปิดผ่านเบราว์เซอร์ให้ดังเหมือนเดิม เต็ม 100% เป็นต้น แต่มันก็ปรับได้แค่เฉพาะเสียงลำโพงเท่านั้น

แต่พอมาเป็น Windows 11 แล้ว Volume Mixer ผมว่านอกจากจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น (นิดนึง ในความเห็นของผม คือ มันคลิกเพิ่มมากกว่าเดิมนิดนึง แต่มันใช้คลิกซ้ายอย่างเดียว ของ Windows 10 ต้องใช้วิธีคลิกขวาที่ไอคอนรูปลำโพง) แล้วก็สามารถปรับแต่งได้ยืดหยุ่นขึ้นด้วย คือ เราเลือก Default ได้ทั้ง Input และ Output device ในภาพรวมของระบบ และแบบรายแอปพลิเคชันเลย นอกเหนือไปจากแค่การปรับระดับความดังของเสียง คือมันดีงามมากจริงๆ

ข้อเสียก็คือ บางทีเราก็ลืมไปว่าเราปรับระดับความดังของเสียงเป็นรายแอปเอาไว้ แล้วเราก็แปลกใจว่า เอ๊ะ ทำไมเสียงมันเบา(วะ) เช่น ผมเคยปรับระดับความดังเสียงที่มาจากแอป Microsoft Edge เอาไว้เหลือ 10% แล้วหลายวันต่อมา ผมกลับมาใช้งาน ผมแปลกใจว่า เอ๊ะ ทำไมผมเปิดเพลง เปิดดู YouTube เสียงเบามาก ทั้งๆ ที่ผมใช้ลำโพง HUAWEI Sound Joy ที่เสียงดังมากเวอร์ เปิดดัง 100% ยังไม่ค่อยได้ยิน กว่าจะมาบางอ้อว่าเพราะผมปรับระดับความดังของเสียงในแอปไว้น้อยไง พอปรับกลับมาเป็น 100% นะ เหอะๆ ดังเวอร์วัง ลดความดังแทบไม่ทันจ้า (ปกติระดับความดังของระบบไว้แค่ 20% ก็ดังพอแล้ว มากกว่านี้ภรรยาบ่นได้)
สิ่งที่ผมไม่ชอบ: เสถียรภาพของระบบปฏิบัติการยังไม่ดี
ตั้งกะใช้ Windows 10 มาหลายปี ผมนี่แทบจะลืมไปเลยว่าเห็นอีจอฟ้า Blue Screen of Deadth (BSOD) ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ คือ ถ้าฮาร์ดแวร์ไม่ห่วยจริงๆ หรือ ไม่ซนเอาโปรแกรมบ้าๆ บอๆ มาลงจริงๆ คือ โอกาสเห็นจอฟ้ายากมากครับ แต่ Windows 11 นี่ ขนาดไม่ได้ใช้ Windows Insider Preview แล้ว ยังเห็นได้อยู่เป็นเนืองๆ เลย
ขนาด File Explorer เนี่ย แค่คลิกขวาแล้วเลือก Properties ของบางไฟล์ บางที มันก็แอปเด้งเลยจ้า คือ งง หลายๆ คนบอกว่าถ้าไม่รีบจริงๆ ใช้ Windows 10 ต่อไปก่อนเถอะ เสถียรภาพดีกว่าเยอะ (จริงๆ หลายคนยังอยากใช้ Windows 7 ต่อด้วยซ้ำ แต่ Windows 7 มันหมดอายุขัยไปแล้วไง)
สิ่งที่ผมไม่ชอบ: Show more options ของ File Explorer
Microsoft พยายามทำให้การคลิกขวาเพื่อเรียก Context menu ของ File Explorer มันกระชับ ดู Minimal มากขึ้น เขาก็รวบเอาคำสั่งที่ใช้กันบ่อยๆ มาแสดงไว้ แล้วถ้าเกิดอยากทำอะไรมากกว่านี้ก็คลิกที่ Show more options เอา ในภาพรวมมันก็ดูดีนะ โดยเฉพาะในกรณีที่เราต้องการให้การแสดงผลฟอนต์มันตัวใหญ่ๆ ด้วย เพราะถ้าเราแสดงตัวเลือกใน Context menu ตามเดิม ฟอนต์มันจะค่อนข้างเล็กครับ

แต่สำหรับบางคนบางครั้ง มันกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอนการคลิกขึ้นอีก 1 คลิกเลย ความเห็นส่วนตัวของผมอะ ควรทำให้ Context menu เป็นแบบเดิม แต่กำหนดความสูงของตัว Context menu เอาไว้ แล้วให้มัน Scroll ขึ้น-ลง เพื่อแสดงเมนูทั้งหมดได้ในหน้าจอเดียวมากกว่า แบบนี้ก็ยังทำให้ระบบปฏิบัติการสามารถแสดงเมนูในฟอนต์ขนาดใหญ่ได้สบายๆ อยู่นะ และการ Scroll ขึ้น-ลง ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร และก็ยังรองรับระบบจอสัมผัสได้ด้วย
สิ่งที่ผมไม่ชอบ: Windows 11 ไม่รองรับฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าที่ไม่รองรับ TPM 2.0
ผมไม่ชอบตรงที่ Windows 11 นี่ทำให้คอมพิวเตอร์เก่าๆ ของผมหลายตัวหมดสิทธิ์อัปเกรดเลย ทั้งๆ ที่ในเชิงของสเปกฮาร์ดแวร์แล้ว มันน่าจะยังพอสามารถรันได้สบายๆ อยู่ ทั้งในแง่ของ CPU หรือ RAM แต่เพราะมันไม่รองรับ TPM 2.0 อะ
แต่จริงๆ มันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้นะ เพราะระบบปฏิบัติการ Windows มันมีคนใช้เยอะมาก และก็มักจะตกเป็นเป้าถูกโจมตีโดยผู้ไม่หวังดีบ่อยๆ ซึ่งตรงนี้ Microsoft เขาก็คงเล็งเห็นแหละว่าต้องทำให้ระบบปฏิบัติการ Windows 11 มันปลอดภัยมากขึ้น และ TPM 2.0 มันก็จำเป็นเพื่อการนี้ ถึงขนาดยอมโดนบ่น โดนด่า และตัดโอกาสการอัปเกรดของลูกค้าจำนวนไม่น้อยเลย
Source: StatCounter Global Stats – Windows Version Market Share
ข้อมูลจากเว็บไซต์ StatCounter ด้านบน แสดงสัดส่วนการตลาดของระบบปฏิบัติการ Windows เวอร์ชันต่างๆ จะเห็นได้ว่า Windows 10 ก็ยังคงกินส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่อยู่ (73.12%) ในขณะที่ Windows 11 ที่แม้จะเริ่มมีคนใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปล่อยให้มีการอัปเดตตั้งพักใหญ่ๆ แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังมีสัดส่วนอยู่ไม่มาก (8.91%) ยังน้อยกว่า Windows 7 ที่หมดอายุขัยไปแล้วซะอีก (12.67%)
ถามว่าเราสามารถติดตั้ง Windows 11 บนระบบที่ไม่รองรับ TPM 2.0 ได้ไหม คำตอบคือได้ครับถ้าจะลงจริงๆ แต่ Microsoft เขาก็มีเขียนเตือนเอาไว้ว่าถ้าเกิดไปติดตั้ง Windows 11 ในระบบที่ไม่เป็นไปตาม Requirements ขั้นต่ำละก็ จะไม่ได้รับการสนับสนุน และอาจจะไม่ได้รับการอัปเดต ซึ่งความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการที่ใช้งานในระบบที่ไม่ได้ Compatible นี้ก็จะไม่ได้รับการรับประกันด้วยนะ ดังนั้นถึงจะไม่ชอบที่ Windows 11 จะไม่รองรับฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าที่ไม่รองรับ TPM 2.0 ก็ต้องทำใจ แต่ Windows 10 กว่าจะหมดระยะเวลาสนับสนุนก็นู่น ตุลาคม 2568 อีก 3 ปี ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่อัปเกรดเป็น Windows 11 ไม่ได้ ก็มักจะอายุซัก 5 ปีเป็นอย่างต่ำแล้ว (ใช้ Intel Gen 7 หรือก่อนหน้า) ผ่านไปอีก 3 ปีก็… อัปเกรดฮาร์ดแวร์เหอะครับ
สิ่งที่ผมไม่ชอบ: การตั้งรูปแบ็กกราวด์ให้แต่ละจอแสดงผล ไม่สะดวก
อันนี้เป็นความไม่ชอบส่วนตัว คนที่ไม่ได้ใช้จอหลายจอ หรือไม่ได้ตั้งค่าแบ็กกราวด์ (ที่หลายคนเรียกวอลล์เปเปอร์) ให้แต่ละจอแตกต่างกันจะไม่ทันได้รู้สึกถึงประเด็นนี้ครับ นั่นคือ เวลาเราเลือกตั้งรูปแบ็กกราวด์อะ มันจะเป็นการเซ็ตทีทุกจอเลย ถ้าเราอยากจะเซ็ตเป็นทีละจอ เราจะต้องใส่ให้ครบทุกรูปที่อยากจะตั้งค่าก่อน จากนั้น ค่อยๆ มาคลิกขวา แล้วกำหนดว่ารูปไหนจะเป็นของจอไหนทีหลัง

ปัญหาคือ มันยุ่งยากมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่อาจจะอยากเปลี่ยนบรรยากาศโดยเปลี่ยนรูปเป็นระยะๆ เพราะต้องมานั่งไล่ตั้งค่ารูปทีละจอใหม่ แม้เราอยากจะเปลี่ยนรูปแบ็กกราวด์ของแค่จอเดียว เพราะการใส่รูปเข้าไปใหม่ มันก็จะเป็นการเซ็ตรูปนั้นให้กับทุกจอพร้อมกัน นอกจากนี้ เราจะเลือกรูปสำหรับเซ็ตให้กับจอได้แค่จากตรงรูปที่แสดงใน Recent images ที่แสดงผลแค่ 5 รูปล่าสุดเท่านั้น ซึ่งสำหรับคนที่มี 6 จอก็จะมีปัญหาอะ
แต่ก็นะ ส่วนใหญ่คนเราจะมีอย่างมากก็ 3 จอแหละ และพวกที่ต้องใช้จอเยอะเวอร์วังมากๆ จริงๆ ก็ไม่น่าจะเรื่องเยอะขนาดที่จะเซ็ตแบ็กกราวด์ 6 จอ ไม่ซ้ำ (หรืออาจจะมีคนโรคจิตแบบผมอยู่จริงๆ ก็ได้)

จริงๆ ปัญหานี้มันแก้ง่ายมาก คือ การทำตัวเลือกในส่วนของ Personalization ให้เหมือนกับในการตั้งค่าการแสดงผล (System > Display) ที่แสดงจอมอนิเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่ทั้งหมดออกมา แล้วให้เราเลือกว่าเราอยากจะตั้งค่าจอไหน แล้วก็ไปเลือกแบ็กกราวด์สำหรับจอนั้นเลย ทีนี้จะมีกี่จอก็ไม่ต้องห่วงว่าจะเปลี่ยนแบ็กกราวด์ไม่ได้ และเปลี่ยนได้ทีละจอด้วย
ก็แปลกใจนะว่าทำไม UX Designer ของ Microsoft ไม่คิดถึงเรื่องนี้กัน
สิ่งที่ผมไม่ชอบ: Widgets ข่าวที่ยัดเยียดเข้ามา ส่วน Widgets ที่มีประโยชน์ยังไม่ค่อยมี
และด้วยความที่ Microsoft พยายามออกแบบ User Interface (UI) และ User Experience (UX) ให้พร้อมรองรับอุปกรณ์จำพวกแท็บเล็ต มันก็เลยมีการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Widgets เข้ามาด้วย ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่อะไรใหม่ เพราะตอน Windows 8 อะ มันก็มีความพยายามประมาณนี้มาแล้ว ในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า Tile โดยเอาไว้แสดงข้อมูลจากแอปต่างๆ ที่มีการเขียนโค้ดให้รองรับอะนะ เช่น Outlook ก็จะสามารถแสดงรายการอีเมลใหม่ที่เข้ามา หรือ ตารางนัดหมายได้ ผู้ใช้งานก็จะสามารถเรียกดูข้อมูลได้โดยที่ไม่ต้องเปิดแอป
แต่บน Windows 11 เนี่ย Widget ที่มีประโยชน์ยังไม่ค่อยมี ขนาดอิปฏิทิน Outlook ที่ใส่มาได้ มันยังเป็น Outlook.com ไม่ใช่ Outlook ที่เป็น Microsoft Office เลย ผลก็คือ ผมไม่สามารถเอาตารางนัดหมายของออฟฟิศมาแสดงได้ ส่วนแอปอื่นๆ ที่รันบน Windows ก็ดูจะยังไม่ได้ปรับตัวมาใช้ประโยชน์จากตรงนี้

ร้ายที่สุดคือ Microsoft บังคับยัดเยียดข่าวมาให้อีก แล้วเราก็ต้องไปไล่ดูว่าจะเอามันออกยังไง ซึ่งก็ไม่มีวิธีระบุไว้ชัดเจน แต่ผมเดาว่าต้องไปที่ Manage interests ซึ่งก็จะเปิดเว็บไซต์ msn.com ขึ้นมา แล้วไปไล่ลบออก(?!?) บอกตรงๆ ว่างงจริงๆ ผมว่ามันควรจะมีตัวเลือกใน Widget settings ให้ปิดการแสดงผลข่าวไปเลยจะดีกว่า
ความฮาอีกอย่างคือ บั๊กของ Widgets ครับ เช่น ผมใส่ Widget ของ Outlook.com เข้าไป แต่ดัน Unpin ออกไม่ได้ซะงั้น คือ คลิก More options เพื่อเลือก Unpin widget หรือ Hide widget ไม่ได้ (เอ๋า!!!) แล้วที่ขำคือ การเพิ่ม Widget เข้าไป เขาเรียก Pin widget แต่การจะถอด Widget ออก ต้องใช้ตัวเลือก Hide widget นะครับ เพราะถ้าแค่ Unpin มันก็จะแค่เอา Widget ไปไว้อยู่ด้านล่างแทน (เอ๋า!!!)
บอกตรงๆ Widgets เหมือนจะเป็นแนวคิดที่ดีของระบบปฏิบัติการ Windows 11 แต่สำหรับผม มันมีปัญหาเยอะกว่าประโยชน์ที่จะได้ (ถ้ามันมีสำหรับผมอะนะ) โชคดีตรงที่เราสามารถไปที่ Taskbar settings เพื่อปิดการแสดง Widget ทั้งหมดได้เลย จบเกม