Home>>รีวิว>>Intel Gen 12 มาแล้วจ้า รีวิว ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 จอสวย ราคากำลังดี
ภาพปกบล็อกรีวิวโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402
รีวิว

Intel Gen 12 มาแล้วจ้า รีวิว ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 จอสวย ราคากำลังดี

เพิ่งเปิดตัวกันไปไม่นาน กับ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 โดยรุ่นที่มาจำหน่ายในไทยมีราคาค่าตัวที่ 35,990 บาท และเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU Intel Gen 12 ตัวแรกที่ผมได้ลองใช้ด้วย ซึ่งก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ด้วยสเปกที่ให้มาทั้งในเรื่องของหน่วยประมวลผล แรม 16GB ความจุ 512GB หน้าจอแสดงผลแบบ OLED 14 นิ้ว ความละเอียดสูง 2.8K กับน้ำหนักแค่ 1.39 กิโลกรัม ทำให้ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ตัวนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หากใครต้องการโน้ตบุ๊กสายทำงานที่มีประสิทธิภาพพอตัว ในราคาที่ไม่รุนแรงมากเกินไป

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ตัวที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง ASUS ให้ยืมมาลองตั้งกะก่อนเปิดตัวครับ เพื่อที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ได้เต็มที่ก่อนที่จะเขียนรีวิว เพื่อมาเล่าสู่กันอ่านได้ตอนหลังเปิดตัว จะได้ไม่ต้องรอนาน

พิจารณาจากเครื่องตัวอย่างที่เขาส่งมาให้รีวิว ถ้าเราแกะกล่องออกมา สิ่งที่เราน่าจะได้ก็มีตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 อะแดปเตอร์ไฟแบบ 65 วัตต์ หัวแปลง USB-A เป็นพอร์ต RJ45 สำหรับเชื่อมต่อกับระบบ LAN แบบใช้สาย แล้วก็มีสลีฟเคสมาให้อีก 1 ชิ้น สำหรับใส่เจ้าโน้ตบุ๊กนี่พกพาไปไหนมาไหน เราไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่ม

โน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ถูกพับหน้าจอปิดเก็บไว้อยู่ โน้ตบุ๊กมีสีน้ำเงินดำ มีลวดลายเส้นอยู่บนฝาโน้ตบุ๊ก มีชื่อรุ่น อะซุส เซนบุ๊ก อยู่ตรงมุมด้านล่างซ้ายมือ

ตัวเครื่องโน้ตบุ๊กนั้น ดีไซน์เป็นสีน้ำเงินออกดำๆ หน่อย เห็นเขาเรียกว่า Ponder blue ตรงด้านหลังของหน้าจอ หรือจะเรียกว่าฝาโน้ตบุ๊กดี 🤣🤣 มีการทำลวดลายที่บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะที่ชื่อว่า คินสึงิ (Kintsugi) ด้วย ซึ่งเมื่อผมพยายามค้นหาว่ามันคืออะไร (วะ) ก็พบว่า มันคือศิลปะในการซ่อมแซมพวกหม้อ ชาม ไห ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาด้วยทอง โดยจะเอาครั่งทองมาอุดเพื่อซ่อมแซมตามรอยแตกของเครื่องปั้นดินเผา มันก็จะก่อเกิดลวดลายที่เป็นธรรมชาติ ถ้าเราดูรูปด้านล่างซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของถ้วยดินเผาที่ได้รับการซ่อมแซมด้วยกรรมวิธีคินสึงินี่ แล้วดูลายเส้นของครั่งทอง เปรียบเทียบกับลายเส้นบนด้านหลังหน้าจอของโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ก็พอจะเข้าใจถึงแรงบันดาลใจได้ครับ

แต่เอาจริงๆ นะ ถ้าเกิดเขาออกแบบโน้ตบุ๊กให้มีสีน้ำตาลดิน แล้วทำลวดลายเป็นสีเหลืองทอง มันน่าจะเข้าใจถึงแรงบันดาลใจได้มากกว่านี้อะ 🤣🤣 และผมว่ามันคงจะเก๋น่าดู เพราะปกติเราจะไม่ค่อยเห็นโน้ตบุ๊กสีแปลกตาเท่าไหร่ ผมยังจำได้ว่าผมเคยมีโน้ตบุ๊กตัวนึงสีแดง คือ ขนาดมันเก่าแล้ว สเปกก็เห่ยๆ มันก็ยังมีคนอยากได้ไปใช้ เพราะมันเก๋มาก

ด้านล่างของโน้ตบุ๊กนั้น ก็จะเป็นพวกสกรีนอธิบายมาตรฐานโน่นนี่นั่น มีแผ่นยางกันลื่นติดเอาไว้เพื่อให้สามารถวางโน้ตบุ๊กนี่ไว้บนพื้นผิวต่างๆ แล้วมันจะไม่ลื่นไถลง่ายๆ มีช่องระบายอากาศ ซึ่งจะเป็นการดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาระบายความร้อนให้กับพวกหน่วยประมวลผลของตัวเครื่อง ซึ่งก็น่าจะอยู่บริเวณนั้น ฝาหลังใช้น็อตแบบพิเศษ ถ้าเราไม่ได้มีไขควงที่เฉพาะทางจริงๆ อย่าไปคิดว่าจะเปิดเอง

เราจะเห็นว่าดีไซน์ของด้านใต้ของตัวเครื่อง จะทำเป็นเหลี่ยมมุม เพื่อให้บริเวณตรงขอบของตัวเครื่องมันทแยงหลบพื้นผิว แล้ว ASUS ก็เอาลำโพงแบบสเตริโอไปติดตั้งไว้แถวๆ บริเวณด้านหน้าของตัวเครื่อง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะดีกว่าการให้ลำโพงมันยิงลงพื้นด้านล่างตรงๆ นะ นี่คาดหวังกับความดังของลำโพงประมาณนึงเลย

ด้านล่างของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 มีแผ่นยางกันลื่นติดอยู่ที่บริเวณด้านล่างส่วนท้ายของโน้ตบุ๊ก 2 จุด ซ้ายและขวา ส่วนด้านล่างส่วนหน้าของตัวโน้ตบุ๊ก จะเป็นแผ่นยางกันลื่นความยาวเต็มพื้นที่ มีช่องระบายอากาศอยู่ตรงบริเวณกึ่งกลางของด้านท้ายตัวเครื่อง

พอมาดูที่ด้านข้างของตัวเครื่อง แอบแปลกใจกับดีไซน์ เพราะเจ้านี่มาแปลก ด้านซ้ายมีพอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps และช่องระบายความร้อน เป็นเป็นจุดให้ความร้อนของตัวเครื่องออกมา ซึ่งปกติแล้ว โน้ตบุ๊กจำนวนมากที่ผมเคยเจอ เขาจะให้ด้านนี้เป็นจุดที่จะมีพวกพอร์ตอยู่เยอะๆ รวมถึงพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ให้กับโน้ตบุ๊กด้วย เดี๋ยวผมค่อยมาวิจารณ์เรื่องการดีไซน์ตำแหน่งการวางพอร์ตและช่องระบายความร้อนอีกทีตอนรีวิวการใช้งานนะครับ

ด้านซ้ายของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 มีพอร์ตยูเอสบีเอและช่องระบายความร้อนอยู่

ด้านขวา ก็จะมีพวกพอร์ตเยอะแยะ เหมือนที่ปกติโน้ตบุ๊กอื่นๆ เขาจะเอาไว้ด้านซ้ายกัน เราก็จะเห็นไฟ LED สำหรับแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ ไฟ LED บอกการทำงานของเครื่อง สล็อตใส่ MicroSD card พอร์ต Thunderbolt 4 2 ช่อง ช่องเสียบคอมโบแจ็ก 3.5 มม. และพอร์ต HDMI

ด้านขวาของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ไล่จากซ้ายไปขวาก็จะมี ไฟแอลอีดีสำหรับบอกสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ ไฟแอลอีดีบอกสถานะการทำงานของตัวเครื่อง สล็อตใส่ไมโครเอสดีการ์ด พอร์ตธันเดอร์โบลต์ 2 ช่อง ช่องเสียบคอมโบแจ็กแบบ 3.5 มิลลิเมตร และพอร์ตเอชดีเอ็มไอ

ตัวคีย์บอร์ดของ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีครับ คือ มีขนาดใหญ่ พิมพ์ได้ถนัดมือแน่นอน การจัดเรียงตำแหน่งของปุ่มต่างๆ ค่อนข้างเป็นไปตามมาตรฐานที่ใครๆ ก็คุ้นเคย อาจจะยกเว้นปุ่มเปิดเครื่อง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือด้วย มันไปอยู่ตรงกลางระหว่างปุ่ม Prt Sc (ที่เราเรียกปุ่มปริ้นต์สกรีน) และปุ่ม Delete คือปกติปุ่มเปิดเครื่องมันมักจะอยู่มุมบนขวาสุด หรือไม่ก็อยู่ตรงกึ่งกลาง ด้านบนของคีย์บอร์ดอีกที

ทัชแพดของโน้ตบุ๊กตัวนี้มีขนาดใหญ่พอสมควร และมันมีฟีเจอร์ ASUS NumberPad 2.0 ที่พอเราแตะไอคอนรูปนัมแพดที่สกรีนเอาไว้อยู่บนมุมด้านบนขวามือของทัชแพดค้างไว้แป๊บนึง ประมาณ 0.5 วินาที มันจะเปิดนัมแพดขึ้นมาเป็นเส้นไฟสีขาวๆ ครับ สามารถใช้ทัชแพดนี่เป็นนัมแพดเพื่อพิมพ์ตัวเลขได้ ในกรณีที่เราจะต้องมีการพิมพ์ตัวเลขเยอะๆ และสามารถปรับความสว่างของ ASUS NumberPad 2.0 นี้ได้ 2 ระดับ ด้วยการแตะตัวไอคอนที่สกรีนไว้ตรงมุมบนซ้ายมือของทัชแพดค้างประมาณ 0.5 วินาที

โดยรวมแล้ว ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ดีไซน์ออกมาสวย น้ำหนัก 1.39 กิโลกรัม พกพาใส่เป้สะพายไปไหนมาไหนก็ไม่น่าจะลำบากมากมาย แต่ในการใช้งานจริงจะเป็นยังไง เดี๋ยวต้องมารีวิวโดยละเอียดต่อไป

มาดูกันที่สเปกและประสิทธิภาพของ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 กันบ้าง

ตัวที่ผมได้มารีวิวนี้ ไม่ใช่รุ่นท็อปนะ บอกไว้ก่อนเลย รุ่นท็อปเขาจะเป็น Intel Gen 12 Core i7 ครับ แต่ตัวที่ผมได้มารีวิวนี้จะเป็น

🔹CPU: Intel Gen 12 Core i5-1240P 12-core (4P + 8E) 16-thread 3.3-4.4GHz
🔹GPU: Intel Iris Xe Graphics
🔹RAM: On-board LPDDR5 16GB
🔹SSD: NVMe PCIe Gen 4×4 ความจุ 512GB
🔹หน้าจอแสดงผล: OLED 14 นิ้ว สัดส่วนการแสดงผล 16:10 ความละเอียด 2,880×1,800 พิกเซล (2.8K) ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง PANTONE Validated และ VESA DisplayHDR True Black 600 สามารถปรับรีเฟรชเรตได้ระหว่าง 60Hz และ 90Hz
🔹พอร์ตการเชื่อมต่อ: Thunderbolt 4×2 (เป็น USB-C ในตัว รองรับ Power Delivery), USB-A (USB 3.2 Gen 2), HDMI 2.0b, สล็อตใส่ MicroSD card และช่องเสียบคอมโบแจ็ก 3.5 มม.
🔹การเชื่อมต่อไร้สาย: WiFi 6E (802.11ax Dual-band), Bluetooth 5.2
🔹กล้องเว็บแคม: 720p

ใครที่ติดต่อข้อมูลข่าวสาร ก็น่าจะทราบว่า CPU Intel Gen 12 เนี่ย เขามีการปรับปรุงกันใหม่ โดยมีการเพิ่มจำนวน Core ของ CPU และมีการแยกเป็น Performance core ที่เรียกว่า P-core กับ Efficiency core ที่เรียกว่า E-core ซึ่ง ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ที่ผมรีวิวนี้ เป็น Core i5-1240P เป็น CPU รหัส P ซึ่งเป็นตัวที่อยู่ตรงกลางระหว่าง CPU Intel 3 รุ่นสำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโน้ตบุ๊ก ซึ่งจะแบ่งเป็น H สำหรับโน้ตบุ๊กเน้นประสิทธิภาพ กินไฟหนักหน่วง U สำหรับโน้ตบุ๊กเน้นบางเบา กินไฟน้อย และ P สำหรับโน้ตบุ๊กที่ต้องการความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความบางเบา

ผมก็อยากรู้ว่า แล้วมันจะเจ๋งกว่ามากน้อยแค่ไหน ผมก็เอาไปทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ซะเลยครับ ได้คะแนนภาพรวมออกมาที่ 5,224 คะแนน ซึ่งผลที่ได้แอบตกใจ เพราะคะแนนสูงกว่า HUAWEI MateBook 14S ตัวที่ใช้ CPU Intel Gen 11 Core i7-11370H ที่เป็น CPU ในกลุ่มประสิทธิภาพสูงสำหรับโน้ตบุ๊กซะอีก โดยคะแนนที่โดดเด่นของ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ก็คือคะแนนในส่วนของ Essentials ที่เป็นการใช้งานทั่วไป กับ Digital Content Creation ที่เป็นการทำงานจำพวกตัดต่อวิดีโอและตกแต่งภาพ ซึ่งเอาจริงๆ ผมคิดว่าการที่ CPU Gen 12 Core i5-1240P ตัวนี้มันมีจำนวน Core เพิ่มมาเป็น 12-core และ 16-thread ก็ช่วยให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลเพิ่มมาส่วนนึง แต่สิ่งที่ทำให้คะแนนมันพุ่งขึ้นมาเยอะเนี่ย ผมว่าน่าจะมีเรื่องของการได้แรม LPDDR5 และ NVMe SSD M.2 แบบ PCIe Gen 4×4 มาช่วยด้วยครับ เพราะประสิทธิภาพมันต่างจาก LPDDR4 และ PCIe Gen 3×4 อยู่พอสมควรเลย

ภาพหน้าจอผลการทดสอบประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ทดสอบด้วยโปรแกรมพีซีมาร์ก 10

จากสมมติฐานดังกล่าว ผมก็ลองไปวัดความเร็วของ SSD ที่ให้มากับตัวโน้ตบุ๊ก ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 x64 ดูครับ ซึ่งก็ได้ผลว่าความเร็วในการอ่านแบบ Sequential นั้น สูงถึง 6,821.30MB/s และความเร็วในการเขียนแบบ Sequential นั้นก็สูงระดับ 5,025.95MB/s เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นสองเท่าของ SSD ที่แรงสุดในตัว PCIe Gen 3×4 กันเลย เลยไม่น่าแปลกใจครับที่คะแนนในส่วนของการทำงานทั่วไปและการทำงานด้านมัลติมีเดียจะสูง เพราะความเร็วในการอ่านและเขียนของ SSD มันจะส่งผลต่อการเรียกโหลดใช้โปรแกรมต่างๆ และทำงานด้านมัลติมีเดียอยู่แล้ว

ผลการทดสอบเอสเอสดีของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ด้วยโปรแกรม คริสตัลดิสก์มาร์ก เวอร์ชัน 8.0.4 x64

นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบจากตัว CPU ที่เป็น Generation ใหม่กว่าด้วย และมีจำนวน Core กับ Thread เพิ่ม ผมเลยลองดูว่ามันได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน ผมก็ลองวัดด้วยโปรแกรม Geekbench 5.4.4 ดูครับ คะแนนที่ได้ในส่วนของ Single-core คือ 1,612 คะแนน และคะแนนแบบ Multi-core คือ 8,320 คะแนน ซึ่งสูงกว่า Core i5-1135G7 พอสมควรเลยนะครับ (ผมทดสอบเทียบกับ ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ของผม ได้คะแนน Single-core 1,278 คะแนน และคะแนน Multi-core 4,873 คะแนน) เอาจริงๆ นะ คะแนน Multi-core ชนะขาดนี่เข้าใจได้เลย 4-core 8-thread มันเทียบกับ 12-core 16-thread ไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราก็จะเห็นว่า คะแนนของ Single-core ก็สูงกว่าแบบชัดเจนด้วย

ผลการทดสอบสอบโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ด้วยโปรแรกมกี๊กเบนช์เวอร์ชัน 5.4.4

อย่างไรก็ดี คะแนนในส่วนของ Compute ซึ่งเป็นคะแนนที่ได้จากการทดสอบตัว GPU Intel Iris Xe นั้น ประสิทธิภาพยังสู้กับ Intel Iris Xe บน Core i7-11370H ไม่ได้นะครับ เพราะได้แค่ 15,046 คะแนนเท่านั้น (เทียบกับที่ทดสอบกับ Core i7-11370H ได้ 19,100 คะแนน) แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าตัว Core i5-1135G7 ที่ได้ 14,254 คะแนนมานิดนึง

ผมลองทดสอบกับโปรแกรม CINEBENCH R23 เพิ่ม ได้คะแนนในส่วนของ Single-core ที่ค่อนข้างเทียบเคียงกับตัว Intel Core i7-1165G7 มาก แต่คะแนน Multi-core นี่ ชนะไปร่วม 2,000 คะแนนกว่าเลยทีเดียว ในแบบที่กินไฟ 28 วัตต์ เท่าๆ กันด้วย จะเห็นได้ว่า ประสิทธิภาพของ CPU Intel Gen 12 นี่ ดีกว่า Gen 11 แบบชัดเจนมาก เป็นผลมาจากจำนวน Core และ Thread ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

หน้าจอโปรแกรมซิเนเบนช์ อาร์ 23 ที่แสดงคะแนนการทดสอบโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ได้คะแนนในส่วนของซิงเกิลคอร์ไป 1,535 คะแนน และคะแนนมัลติคอร์ 7,019 คะแนน

และเมื่อเอามารวมกับการที่รองรับหน่วยความจำแบบ LPDDR5 และได้ SSD แบบ NVMe PCIe Gen 4×4 อีก ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่คะแนนผลการทดสอบการทำงานในลักษณะต่างๆ ด้วยโปรแกรม PCMark 10 มันเลยได้คะแนนไม่แพ้พวก Core i7 ของ Gen 11 อย่างรหัส 1165G7 เลย ให้ตายสิ … ชักเกลียด Intel ที่กั๊กมานานแล้วเพิ่งมาปล่อยแล้ว (คือ ผมมีโน้ตบุ๊กใช้ Intel Gen 11 2 เครื่อง และ Desktop อีก 1)

ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ZenBook 14 OLED UX3402

คะแนนผลการทดสอบประสิทธิภาพดีแบบนี้ ชักอยากสัมผัสประสบการณ์ในการใช้งานจริงดูบ้างว่าจะเป็นยังไง เพราะโน้ตบุ๊กที่ดี มันไม่ใช่แค่สเปกมันแรงนะ แต่ประสบการณ์ในการใช้งานโดยรวมมันต้องดีด้วยครับ ซึ่งในส่วนนี้จากที่ผมลองใช้งานมาราวๆ 1 สัปดาห์เศษๆ ก็ต้องบอกว่า ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่ ก็เรียกได้ว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ดีตัวนึงเลย

ภาพระยะใกล้ของบริเวณปุ่มเปิดเครื่อง มีปุ่มปริ้นต์สกรีนอยู่ด้านซ้าย ปุ่มดีลีตอยู่ด้านขวาของปุ่มเปิดเครื่อง ปุ่มเครื่องหมายเท่ากับและปุ่มแบ็กสเปซอยู่ด้านล่าง

โน้ตบุ๊กตัวนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home และแม้ว่ากล้องเว็บแคมจะไม่ได้มี IR sensor ทำให้ไม่รองรับ Windows Hello ในการสแกนใบหน้าเพื่อล็อกอิน แต่ปุ่มเปิดเครื่องมันเป็นตัวสแกนลายนิ้วมือในตัว รองรับ Windows Hello อำนวยความสะดวกในการล็อกอินได้

ส่วนหน้าจอแสดงผล ที่เลือกใช้อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:10 ที่ช่วยลดข้อจำกัดของการแสดงผลที่เพิ่มพื้นที่แนวตั้งมาอีกนิดนึง แถมยังให้หน้าจอความละเอียดสูงระดับ 2.8K 2,880×1,800 พิกเซล ทำให้มันเหมาะกับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บ ดูคลิปวิดีโอ ทำงานเอกสารและพวกงานตารางคำนวณ รวมถึงการตัดต่อวิดีโอและการตกแต่งภาพ เสียดายว่าผมยังไม่มีตังค์ไปซื้ออุปกรณ์อย่าง Spyder5Elite มาวัดเรื่องความแม่นยำในการแสดงผลสี แต่การที่ได้รับรองมาตรฐานอย่าง PANTONE Validated และขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 กับความที่เป็นจอแบบ OLED ก็สามารถแสดงผลสีดำได้ดำสนิท (ได้ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 600 ด้วย) และให้ความสว่างสูง 400 nits (สูงสุด 600 nits) ก็ช่วยให้มั่นใจได้แหละ ว่าการแสดงผลสีจะชัดเจนแม่นยำ เอามาใช้ทำงานวิดีโอหรือกราฟิกได้สบายใจ แม้จะเป็นมือสมัครเล่นที่ไม่ได้มีเครื่องมือในการ Calibrate สี

ภาพหน้าจอแสดงข้อมูลรายละเอียดของหน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ที่บอกว่าเป็นหน้าจอแสดงผลความละเอียด 2,880 คูณ 1,880 พิกเซล รีเฟรชเรต 60 เฮิร์ตซ ความลึกของสี 8 บิต ได้รับการรับรองมาตรฐานเวซา ดิสเพลย์เอชดีอาร์ และสามารถปรับรีเฟรชเรตได้ระหว่าง 60 และ 90 เฮิร์ตซ

และปกติแล้ว พวกโน้ตบุ๊กที่เป็นสายทำงาน เขาจะมีอัตรารีเฟรชของหน้าจอมาให้ที่ 60Hz เป็นหลัก เพราะปกติก็ไม่ต้องใช้อะไรมากกว่านี้อยู่แล้ว เนื่องจากภาพบนหน้าจอจะไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ตัวนี้ ให้หน้าจอแสดงผลมารองรับได้สูงสุด 90Hz เลย เผื่องานตัดต่อวิดีโอหรือการเล่นเกมแบบสบายๆ ที่อยากได้ความลื่นของหน้าจอ ก็เปลี่ยนมาใช้รีเฟรชเรตที่ 90Hz ได้ อาจจะไม่สูงมากเท่าพวกโน้ตบุ๊กสายเกม แต่ก็ถือว่าดีพอ เสียดายตรงที่มันไม่มี Shortcut key ให้กดสลับไปมาง่ายๆ เหมือน HUAWEI MateBook 14S ที่กด Fn + R ได้เลย

หน้าจอโปรแกรมทาสก์เมเนเจอร์ที่แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมไมโครซอฟต์เอดจ์ที่เป็นโปรแกรมเบราวเซอร์ มีการเปิดโปรเซสย่อยอยู่ 66 โปรเซส และกินหน่วยความจำไป 2,143.5 เมกะไบต์

และบอกตรงๆ ว่า หน่วยความจำ 16GB นี่เรียกว่าควรจะเป็นมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ยุคนี้ได้แล้ว ถ้าเราพิจารณาว่าเดี๋ยวนี้เราเปิดเว็บกันเยอะมาก และการเปิดเว็บแต่ละแท็บก็กินหน่วยความจำไม่น้อย ที่สำคัญคือ พฤติกรรมการใช้งานของคนเรา หลายคนก็มักจะเปิดแท็บทิ้งๆ ไว้เยอะมากครับ อย่างผมเนี่ย เวลาทำงาน บางทีเปิดทั้ง Google Chrome และ Microsoft Edge สองตัวรวมกัน เปิดทีนึงอาจรวมๆ แล้วได้เกือบ 100 แท็บ!!! (คอมพิวเตอร์หลักของผม แรม 32GB) เราซื้อคอมพิวเตอร์แรมเยอะๆ มาเพื่อให้เบราว์เซอร์เขมือบที่แท้ทรู

ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ให้แรมมา 16GB มากพอที่จะตอบสนองการใช้งานของผมได้สบายๆ อยู่ ผมทำงานโน่นนี่นั่น ไม่ได้รู้สึกถึงความหน่วงในการใช้งานใดๆ และต้องบอกว่า CPU Gen 12 ของ Intel นี่มันดีจริงๆ ครับ เอามาเรนเดอร์วิดีโอได้รวดเร็วกว่าตัว CPU Gen 11 (ที่ใช้ Intel Iris Xe Graphics เหมือนกัน) อยู่พอสมควรเลย (ผมลองด้วยโปรแกรม DaVinci Resolve 17.4) แต่ก็ยังเทียบกับคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กใดๆ ที่มีการ์ดจอแยกไม่ได้อยู่ดีนะ ฉะนั้น ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่มันเหมาะกับงานแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มืออาชีพมากนักครับ

ผมลองใช้โปรแกรม Benchmark ของเกม Final Fantasy XV ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกมาเมื่อปี 2561 ก็เรียกว่าไม่ใช่เกมที่ใหม่มาก แต่ก็เป็นเกมที่เขาแนะนำให้ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดจอแยกอย่าง NVIDIA GeForce GTX1060 หากอยากจะเล่นที่ความละเอียด 1080p ดูครับ ซึ่งก็ตามคาด คือ ผลของการทดสอบชี้ให้เห็นว่าสเปกของฮาร์ดแวร์ไม่แรงพอที่จะรันเกมได้ที่ความละเอียด 1080p จะให้พอเล่นไหว ต้องปรับความละเอียดไปที่ 720p และปิดพวกเอฟเฟ็กต์ให้หมดเลย ดังนั้น หากใครจะซื้อมาเผื่อเล่นเกมระดับ AAA เนี่ย ผมว่าข้ามไปดีกว่า ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่จะเป็นโน้ตบุ๊กที่เน้นทำงานที่พอจะสามารถเล่นเกมแบบชิลล์ๆ ได้เท่านั้น

ภาพแสดงการใช้เครื่องมือวัดระดับความดังของเสียงยี่ห้อ UNI-T วัดความดังของลำโพงโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ตัวเลขแสดงบนเครื่องวัดคือ 86.8 เดซิเบลเอ

มาดูที่ตอนดูหนังฟังเพลงบ้าง หน้าจอแสดงผลแบบ OLED ความละเอียด 2.8K คงไม่ต้องให้สาธยายว่าคุณภาพของภาพจะเป็นยังไง มันสวยสดอยู่แล้วแหละ (ผมเป็นคนชอบจอแบบ OLED อยู่แล้ว) แต่ที่น่าสนใจคือลำโพงของโน้ตบุ๊กตัวนี้ ที่เขาว่ามันมีแอมป์อัจฉริยะ ที่ช่วยเพิ่มให้เสียงดังขึ้นได้สูงสุด 350% และมีเสียงที่คมชัดไม่แตก พร้อมทั้งรองรับ Dolby Atmos Audio อีก ผมก็ลองเปิดฟังโน่นนี่นั่นดูเลยครับแล้วก็ถือโอกาสลองวัดด้วยเครื่องมือวัดระดับเสียงด้วย

ในแง่ของคุณภาพเสียง ก็ต้องบอกว่า ASUS ทำได้ตามที่โฆษณาเอาไว้ ผมเปิดลำโพงดังสุด 100% เต็ม ดูหนัง ฟังเพลง เสียงดังมากๆ ครับ แต่ไม่มีอาการเสียงแตกหรือเพี้ยนเลย และลำโพงก็ตอบสนองต่อย่านความถี่ต่ำได้ค่อนข้างดี เสียงย่านต่ำไม่หาย แค่เบสไม่ได้ตึบเท่านั้นแหละ ซึ่งเข้าใจได้ เพราะลำโพงไม่ได้ใหญ่อะไร ลองวัดความดังของเสียง ณ จุดที่หัวเราน่าจะอยู่ ตอนที่ใช้งานโน้ตบุ๊ก ได้ความดังราวๆ 86-90dBA ซึ่งถ้าเทียบแล้วก็เรียกว่าอยู่ในช่วงระดับเสียงดังมากแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ฟังได้ปลอดภัยหูอยู่ แม้จะนั่งฟังต่อเนื่อง 7-8 ชั่วโมงต่อวัน (อ่านรายละเอียดในกรอบด้านล่าง) แต่ในทางปฏิบัติ ผมว่าเปิดลำโพงดังซัก 70-80% ก็พอแล้วแหละ

dBA หรือ เดซิเบลเอ คืออะไร?

หลายคนอาจจะจำได้ว่าหน่วยในการวัดระดับความดังของเสียง (บางทีเขาเรียกว่าความเข้มของเสียง) คือ เดซิเบล หรือ dB แต่หูของคนเราไม่ได้ยินเสียงในทุกย่านความถี่ ฉะนั้นเวลาจะวัดเพื่อเช็กว่ามันดังเกินไปไหมสำหรับหูของมนุษย์เขาต้องมีการถ่วงน้ำหนักเน้นไปที่เสียงที่หูของคนเราสามารถตอบสนองได้ ก็เลยแยกเป็นหน่วยวัดที่เรียกว่าเดซิเบลเอ dBA หรือบางทีก็เขียนว่า dB(A) ขึ้นมานั่นเอง ให้เราเข้าใจว่ามันคือระดับความดังของเสียงในย่านที่หูของมนุษย์สามารถตอบสนองได้ครับ

เกณฑ์กำหนดระดับเสียงที่เป็นอันตรายของกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย คือ

🔹ระดับเสียงดังไม่เกิน 80dBA สามารถได้รับเสียงได้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
🔹ระดับเสียงดังไม่เกิน 90dBA สามารถได้รับเสียงได้ไม่เกิน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

ในมุมมองของการใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับการทำงานทั่วไป รวมถึงการใช้ทำงานด้านมัลติมีเดียบ้าง ออกตัวก่อนเลยว่าผมไม่ใช่พวกที่ตัดต่อวิดีโอ 4K กันรัวๆ ใส่เอฟเฟ็กต์มากมาย ตกแต่งหรือออกแบบกราฟิกเป็นมืออาชีพ แต่ผมในแบบง่ายๆ เช่น ตัดฟุตเทจมาเชื่อมกันเป็นวิดีโอยาวๆ ใส่ซับไตเติ้ลหรือซูเปอร์บ้าง ในแบบที่แปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตกแต่งรูปในแบบรีทัชบาง ปรับสีปรับแสง อะไรแบบนี้

การใช้งานโปรแกรม DaVinci Resolve 17.4 บนโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 โดยเปิดโปรเจ็กต์ตัวอย่างสำหรับการเรียนตัดต่อด้วยโปรแกรมนี้

ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 คือ ประสิทธิภาพดีพอที่จะตัดต่องานระดับ HD 720p ไปจนถึง Full HD 1080p ได้สบายๆ อยู่ โดยเป็นงานที่ไม่มีความซับซ้อนมาก ไม่ต้องใส่พวกเอฟเฟ็กต์เยอะ ผมลองทำงานกับไฟล์ 4K แล้ว ไม่ค่อยเวิร์กครับ 🤣🤣 ถ้าคุณจะทำงานระดับนั้น ไปหาโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหรือคอมพิวเตอร์สเปกดีๆ ไปเลยดีกว่า เช่นกัน หากเป็นการใช้โปรแกรมจำพวกออกแบบกราฟิกหรือตกแต่งภาพ ก็ทำงานไฟล์ไม่ใหญ่เวอร์ และจำนวนเลเยอร์ไม่เยอะแยะซับซ้อน ก็ทำได้อยู่

สำหรับคนเอามาใช้ทำงานทั่วไป โน้ตบุ๊กตัวนี้มี Microsoft Office Home and Student 2021 ซึ่งผมเข้าใจว่ามันควรจะเป็นแบบ Perpetual คือ ขายขาด (ไอ้ที่เขาขายกัน 2,990 บาท) ข้อมูลที่ผมได้จากทาง PR ก็บอกแบบนี้ แต่พอตอนเปิดโปรแกรมขึ้นมาจริงๆ มันดันให้ผมต้องล็อกอิน Microsoft 365 ไม่งั้นก็จะทดลองใช้งานได้ 1 เดือน ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเจ้านี่เป็นเครื่องทดสอบละมั้ง 🤨🤨

อีกเรื่องนึงที่คนซื้อโน้ตบุ๊กทำงานสมัยนี้ต้องใส่ใจก็คือ การใช้งานประชุมออนไลน์ ซึ่งตรงนี้ทาง ASUS เขาทำมาได้ดีตลอด เพราะมีการใส่ฟีเจอร์ AI noise cancellation ที่ตัดเสียงรบกวนต่างๆ ที่เรามักจะเจอกันตอนใช้งานโน้ตบุ๊กไป เช่น เสียงเด็กร้อง เสียงหมาเห่า เสียงพิมพ์ของ Mechanical keyboard หรือแม้แต่เสียงสนทนาของคนอื่นทั้งภายในออฟฟิศ หรือภายในคาเฟ่ อย่างไรก็ดี เมื่อเสียงของเราโดนฟีเจอร์นี้ตัดเสียงรบกวนแล้ว เสียงของเราก็อาจจะฟังดูหุ่นยนต์ๆ หน่อยนะครับ นอกจากนี้ก็ยังมีรองรับช่องต่อแบบคอมโบ สามารถเอาพวกหูฟังพร้อมไมโครโฟนแบบใช้สายมาเสียบได้ สำหรับใครที่ยังเน้นใช้หูฟังแบบใช้สายในการประชุมอยู่

หน้าจอโปรแกรม MyASUS ตรงหน้า Home ที่แสดงภาพรวมของตัวโน้ตบุ๊ก และตัวเลือกการปรับแต่งค่าหรือฟีเจอร์ต่างๆ

ASUS เขาจะมีจุดเด่นคือโปรแกรมชื่อ MyASUS ที่ช่วยให้เราสามารถปรับแต่งการใช้งานต่างๆ บนตัวโน้ตบุ๊กได้ เช่น

🔹ตั้งค่าการชาร์จของแบตเตอรี่ให้เหมาะกับการใช้งาน เพื่อถนอมอายุแบตเตอรี่ให้ยืนยาวขึ้น โดยจะชาร์จแบตเตอรี่ไม่เกิน 60% หรือ 80% ซึ่งจะเหมาะกับพฤติกรรมที่เสียบสายชาร์จเอาไว้ตลอด
🔹 เปิด-ปิดการใช้ AI noise cancellation ทั้งไมโครโฟนและลำโพง
🔹 เปิด-ปิดการใช้งานเอฟเฟ็กต์ของเว็บแคม ไม่ว่าจะเป็นการปรับสภาพแสง การเบลอฉากหลัง

และอื่นๆ อีกมาก แต่จากที่ผมได้ลองใช้งานแล้ว ก็ต้องบอกว่าหลายๆ ฟีเจอร์นั้น มีตัวเลือกอื่นที่อาจจะทำได้เหมือนกันอยู่แล้วหรืออาจจะทำได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น พวกเอฟเฟ็กต์ของกล้องเว็บแคมอย่างเบลอฉากหลังหรือปรับสภาพแสงเนี่ย พวกโปรแกรมประชุมออนไลน์เดี๋ยวนี้ก็สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว หรือบางคนอาจจะโปรจัด ใช้ OBS ช่วยเลยจบกว่า หรือ GlideX ที่ ASUS มีให้ใช้เพื่อเชื่อมต่อกับพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เพื่อใช้เป็นจอภายนอกแบบไร้สายได้ ก็มีโปรแกรมอย่าง Spacedesk ที่ทั้งฟรีและดีอยู่แล้ว และหากจะเชื่อมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบบไร้สาย เพื่อถ่ายโอนข้อมูล (โดยเฉพาะหากใช้ของยี่ห้อ Samsung) Microsoft เขาก็มีแอป Phone Link ให้ใช้

เท่าที่ผมลองใช้มา ที่มีประโยชน์มากที่สุด ก็น่าจะเป็นฟีเจอร์ Battery Health นี่แหละ ที่จำกัดการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อยืดอายุการใช้งานของมัน ได้ใช้บ่อยมาก และใช้มาทุกรุ่น ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหลายยี่ห้อใส่ใจเรื่องนี้มาก และผมเคยเขียนบล็อก ยืดอายุแบตเตอรี่ให้โน้ตบุ๊กของคุณ ด้วยการจำกัดการชาร์จแบตเตอรี่บนโน้ตบุ๊กยี่ห้อต่างๆ เอาไว้แล้ว

ภาพระยะใกล้ของคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 เห็นแป้น 6 แถวบนสุด คือ F4 จนถึง F10 แถวที่สองคือ ตัวเลข 5-9 แถวที่ 3 คือแป้น T Y U I และ O แถวที่ 4 คือ G H J K L แถวที่ 5 คือ N M เครื่องหมายน้อยกว่า และเครื่องหมายมากกว่า และเห็นแป้น Spacebar กับแป้น Alt

รายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ ในระหว่างการใช้งาน อื่นๆ ที่ผมเก็บมาเล่าเพิ่มได้ ก็น่าจะมีเรื่องของคีย์บอร์ด ที่ทาง ASUS เขาก็ชูจุดขายเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงประสบการณ์ในการใช้งาน เช่น ระยะห่างระหว่างปุ่ม 19.05 มม. มการออกแบบให้โค้งรับนิ้วเล็กน้อย ที่เขาเรียกว่า Dished key caps และมีความสูงของปุ่มคีย์บอร์ด 1.4 มม. ที่ทำให้ปุ่มบนคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ แต่ยังมีระยะห่างที่พิมพ์สะดวก พิมพ์ถนัด ไม่ต้องออกแรงกดมากในการพิมพ์

ซึ่งผมที่เป็นคนค่อนข้างจู้จี้กับการพิมพ์ คีย์บอร์ดมันต้องพิมพ์สะดวก ผมก็ยอมรับว่า ASUS ทำได้ดีครับ โน้ตบุ๊กของ ASUS ที่ผมใช้มาเนี่ย พิมพ์ถนัดมือดีมาก และ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 นี่ก็เช่นกัน ถือว่าสอบผ่านครับ

ทัชแพดของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 เมื่อเปิดใช้งานฟีเจอร์ อะซุส นัมเบอร์แพด 2.0 มีนิ้วชี้มือข้างขวากำลังจะกดเลข 9

ส่วนทัชแพดเนี่ย ทาง ASUS เรียกว่า ทัชแพด ASUS ErgoSense ครับ ตามข้อมูลที่ได้มาเขาบอกว่าพื้นผิวมีการเคลือบพิเศษ แรงเสียดทานต่ำ ป้องกันรอยนิ้วมือ และอย่างที่ผมได้บอกไป มันมีตัวเปิด-ปิดการใช้งานฟีเจอร์ ASUS NumberPad 2.0 ที่จะแปลงทัชแพดให้เป็นนัมแพด สำหรับคนที่จำเป็นต้องป้อนข้อมูลเยอะๆ ซึ่งปกติโน้ตบุ๊กขนาด 14 นิ้วจะไม่มีปุ่มนัมแพดให้ใช้ มันก็จะสะดวกขึ้น

และจากการใช้งาน ก็ต้องบอกว่ามันสะดวกขึ้นประมาณนึง แต่ก็ต้องมองทัชแพดไปด้วยขณะที่ป้อง และตอนที่กดปุ่มตัวเลข มันก็ไม่สะใจเท่ากับการกดแป้นคีย์บอร์ดจริงๆ ครับ หากสะดวก ผมก็ยังอยากแนะนำให้ซื้อนัมแพดแบบ USB หรือแบบไร้สายมาใช้คู่จะดีกว่าเยอะ แต่ในกรณีต้องพกให้น้อยสุด ก็ถือว่าพอแก้ขัดได้ สะดวกกว่าไม่มี

โน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 เมื่อกาง 180 องศา วางบนโต๊ะ

ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ตัวนี้ ดีไซน์ให้สามารถกางหน้าจอได้ 180 องศา ซึ่งจะตอบโจทย์การใช้งานสำหรับคนทำงานหลายๆ คน แต่มันก็แล้วแต่ว่าเราจะได้ใช้บ่อยแค่ไหนนะ ซึ่งสำหรับผมที่เคยชอบการที่กางจอได้ 180 องศานี่ ผมพบว่าหลังๆ ผมก็ไม่ได้กางจอขนาดนั้นเลยมาเป็นสิบปีแล้วมั้ง 🤣🤣 แต่การออกแบบให้จอมันกาง 180 องศาได้นี้ มันแลกมาด้วยข้อจำกัดเรื่องนึงคือ ASUS จะไม่สามารถออกแบบให้ช่องระบายความร้อนมันอยู่ตรงด้านหลังของตัวเครื่องได้

โน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ด้านซ้าย ตรงส่วนที่เป็นพอร์ตยูเอสบีเอ และช่องระบายความร้อน

ทีนี้ ASUS ก็คงมองว่า คนส่วนใหญ่ถนัดขวา และถ้าเขาจะใช้เมาส์ ก็จะใช้มือขวา ดังนั้นหากเอาช่องระบายความร้อนไปไว้ด้านขวามันก็จะเอาไอร้อนไปเป่ามือผู้ใช้งาน ทำให้รู้สึกไม่สบายมืออีก ASUS ก็เลยเอาช่องระบายความร้อนมาด้านซ้ายแทน ส่งผลให้พวกพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ มันมาอยู่ทางขวามือแทน รวมถึงพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ด้วย ทำให้คนที่คุ้นกับการเสียบสายชาร์จที่มักจะอยู่ทางด้านซ้าย แอบงงๆ หรือรู้สึกขัดๆ บ้างแหละ (ผมก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน)

ตัวแปลงยูเอสบีเอเป็นพอร์ตอาร์เจ 45 ที่เป็นพอร์ตแลน

ASUS มีการแถมตัวแปลงจาก USB-A มาเป็น RJ45 ให้ด้วย สมกับที่เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับทำงาน ที่เวลาเอาไปใช้ที่ออฟฟิศ ก็อาจจะสะดวกที่จะเชื่อมต่อผ่าน LAN ใช้สายมากกว่า หรือบางทีที่ออฟฟิศก็อาจจะไม่มี WiFi ให้เชื่อมต่อ แต่ถ้าจะต้องเชื่อมต่อระบบเครือข่าย ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ตัวนี้ รองรับได้ถึงมาตรฐาน WiFi 6E (802.11ax) ซึ่งเรียกว่าใหม่เวอร์ๆ แล้ว ณ ตอนนี้ และรองรับ Bluetooth 5.2 ด้วย ก็เรียกว่าได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานใหม่ๆ ได้เต็มเหนี่ยว ปัญหามันจะอยู่แค่ว่า มันจะมี WiFi 6 หรืออุปกรณ์ที่รองรับ Bluetooth 5.2 ให้เราใช้ด้วยหรือเปล่ามากกว่า 🤣🤣

อะแดปเตอร์ 65 วัตต์ สีดำ ของโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402

อะแดปเตอร์ของ ASUS ที่ให้มา สายยาวจริงจังครับ คือราวๆ 2 เมตร แต่ตัวปลั๊กอะแดปเตอร์เป็นแบบที่ขาปลั๊กพับเก็บไม่ได้ มันจะเกะกะนิดนึง แต่แลกมาด้วยการที่มันจะแข็งแรง ขาปลั๊กไม่แตกหักง่ายเหมือนพวกอะแดปเตอร์ที่สามารถพับขาเก็บได้ และในจุดที่ไม่มีปลั๊กไฟให้เสียบ ถ้าเรามีพาวเวอร์แบงก์ที่รองรับ Power Delivery อยู่ ก็สามารถเอามาใช้ชาร์จแบตเตอรี่โน้ตบุ๊กตัวนี้ได้นะ แค่อาจจะชาร์จได้ช้าหน่อย และต้องปิดเครื่องตอนชาร์จนะ พาวเวอร์แบงก์บางรุ่น สามารถจ่ายไฟ 45-65 วัตต์ได้ ไปใช้รุ่นพวกนั้นก็จะแหล่มมาก

ASUS ZenBook 14 OLED UX3402 ให้แบตเตอรี่มา 75Wh และเมื่อผมลองเอามาใช้งานจริง แบบ ดู YouTube ทำงานเอกสาร เขียนบล็อก ท่องเว็บ รัน Benchmark บ้างอะไรบ้าง ก็พอจะประเมินได้ว่าแบตเตอรี่น่าจะใช้ยาวๆ ได้ 5-6 ชั่วโมงครับ อันนี้ประเมินจากการใช้งานจริงๆ ไม่ใช่พิจารณาจากสเปกตามที่เขาบอกนะ

สลีฟเคสที่แถมมาให้กับโน้ตบุ๊ก อะซุส เซนบุ๊ก 14 โอแอลอีดี ยูเอ็กซ์ 3402 ใส่อยู่ไว้ในถุงพลาสติก

ชิ้นสุดท้ายที่อยากจะขอพูดถึง คือ Sleeve case สำหรับใช้กับตัวโน้ตบุ๊ก เผื่อเวลาจะพกพาไปไหน ก็จะมีเจ้านี่คอยปกป้องได้ในระดับนึง มันเป็นเคสหนังแบบบางๆ ครับ มีลวดลายคำว่า ZenBook ตัวใหญ่อยู่ด้วย สวยดี แต่ก็เป็นอะไรที่ใส่แล้ว ก็ต้องเอาไปใส่เป้อีกที ถ้าไม่อยากใช้มือถือไว้อะนะ แต่ถ้าแบบจะเดินจากจุดนึงไปอีกจุดนึง แค่ Sleeve case นี่อย่างเดียวก็น่าจะโอเค

บทสรุปการรีวิวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 OLED UX3402

ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กตัวแรกที่ใช้ CPU Intel Gen 12 ตัวแรกที่ผมลอง และประสิทธิภาพก็เรียกว่าเป็นที่น่าพอใจ และน่าอิจฉาครับ โดยเฉพาะคนที่ซื้อโน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU Intel Gen 11 ไป เพราะประสิทธิภาพของ CPU Intel Gen 12 เนี่ย มันประสิทธิภาพดีจริงๆ ครับ ประกอบกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่อัปเกรดขึ้นมาด้วย เช่น แรมก็เปลี่ยนมาเป็น LPDDR5 หรือ NVMe SSD ก็เปลี่ยนจาก PCIe Gen 3×4 มาเป็น PCIe Gen 4×4 ซึ่งความเร็วเพิ่มขึ้นเกือบจะเป็นเท่าตัว

อย่างไรก็ดี ค่าตัว 35,990 นี่ถือว่าไม่ถูกมากนะครับ แต่นั่นก็เพราะ ASUS เขาตั้งเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับทำงาน ที่ตอบสนองต่อความต้องการในการใช้งานหลากหลายตั้งแต่ใช้งานทั่วไป และเพิ่มหน้าจอแสดงผลแบบ OLED ความละเอียดสูงระดับ 2.8K ด้วย มันแพงอิตรงพวกนี้แหละครับ แต่ผมว่ามันก็เป็นอะไรที่คุ้มค่าที่จะจ่ายไปนะ ถ้าเราได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ น่ะ


แบ็กกราวด์ของภาพปกบล็อก Blank template photo created by benzoix – www.freepik.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า