หนึ่งในแกดเจ็ตสำหรับชาวจัดโต๊ะคอมที่หลายๆ คนเขามีกันก็คือ ไฟแขวนจอ หรือบางคนเรียก Light bar ครับ และหนึ่งในรุ่นที่มีราคาระดับไฮเอนด์ก็คือนี่เลย BenQ ScreenBarⓇ Plus ที่ผมได้รับความเอื้อเฟื้อให้มาใช้งานและรีวิวเล่าประสบการณ์ในอ่านนี่ ในบล็อกนี้ ผมก็เลยจะขอพูดถึงในสองประเด็นหลักๆ ครับ คือ ทำไมเราถึงควรจะใช้ Light bar กัน และ BenQ ScreenBarⓇ Plus เนี่ย มันเจ๋งตรงไหน ยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง BenQ ให้ BenQ ScreenBarⓇ Plus มาใช้งานเพื่อเอาประสบการณ์มาเขียนเล่าสู่กันอ่านให้ฟังว่าเป็นยังไงบ้าง
ว่าแต่ทำไมเราต้องใช้ไฟแขวนจอหรือ Light bar ละเนี่ย?
เป็นคำถามที่หลายคนที่ไม่เคยใช้ไฟแขวนจอมาก่อน แล้วเห็นคนอื่นๆ เขาใช้กันอยากจะรู้ เพราะไฟแขวนจอมันก็ไม่ได้ราคาถูกๆ นะครับ เริ่มต้นหน่อยก็พันกว่าบาท ถ้าพรีเมียมหน่อยก็หลายพัน จะซื้อทั้งทีเราก็ต้องอยากรู้สิว่าจะซื้อมาทำไม จริงไหมล่ะ อยากจะรู้คำตอบ เราต้องเข้าใจก่อนว่า หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ โทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นแบบเก่า (CRT) หรือแบบใหม่ (LCD, OLED) เนี่ย มันเป็นแบบที่ปล่อยแสงให้ออกมาจากหน้าจอ วิ่งเข้าสายตาของเรา ฉะนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราจ้องมองหลอดไฟนานๆ ครับ พอจ้องนานๆ อะ เราก็จะเกิดอาการสายตาล้าขึ้นมาได้ ลองดูได้ครับ เปิดจอคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ แล้วปิดไฟห้องให้มืดๆ แล้วจ้องดู จะรู้เลยว่าถ้าจอสว่างมากๆ เราจะปวดตา (มากน้อย เร็วช้า อยู่ที่แต่ละคนด้วย) ซึ่งปล่อยไว้นานๆ มันจะไม่ดีต่อสุขภาพของตา
ทางแก้เบื้องต้นก็คือ ถ้าเราไม่ลดความสว่างของจอลง (ซึ่งก็มักจะทำให้การแสดงผลสีสันต่างๆ แย่ลงด้วย หลายคนก็จะไม่ชอบ) ก็ควรจะเปิดไฟในห้องให้สว่างขึ้น เพื่อลดปริมาณความสว่างของแสงที่วิ่งจากหน้าจอสู่ดวงตาเราโดยตรง

แต่ทีนี้สำหรับคอมพิวเตอร์เนี่ย จอคอมพิวเตอร์ของหลายๆ คน อาจจะไม่ใช่แบบ Anti-glare หรือจอที่ลดแสงสะท้อน เวลาเปิดไฟห้องให้สว่าง อิไฟห้องพวกนี้ มันจะมีทิศทางของแสงแบบที่เรียกว่า Symmetric หรือก็คือ แสงกระจายไปในทุกทิศทางเท่าๆ กัน มันก็จะมีแสงส่วนนึงไปสะท้อนหน้าจอคอมพิวเตอร์เด้งเข้าสายตาเราอยู่ดี (ดูภาพด้านบนทางซ้าย) พวกไฟแขวนจออะ มันจะถูกออกแบบมาให้ทิศทางของแสงเป็นแบบ Asymmetric หรือก็คือวิ่งไปด้านนึงเป็นหลัก มันก็จะวิ่งมาส่องสว่างบริเวณด้านหน้าขอเรา ไม่เข้าสายตาเรา และไม่วิ่งไปสะท้อนที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วย (ดูภาพด้านบนทางขวา)
แสงสว่างจากไฟแขวนจอ มันจะช่วยเพิ่มความสว่างของพื้นที่แวดล้อมให้มากขึ้น ลดอาการจ้าของแสงที่มาจากหน้าจอลง ทำให้สายตาของเราไม่ต้องทำงานหนัก และในขณะเดียวกันมันก็ช่วยเพิ่มความสว่างบริเวณพื้นที่ทำงานของเราบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เราสามารถอ่านเอกสาร หรือทำอะไรต่อมิอะไรได้ โดยไม่ต้องเพ่งสายตาด้วย (ตามมาตรฐานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ความสว่างของพื้นที่ที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ควรจะอยู่ที่ราวๆ 400-500 lux)
ได้เวลารีวิว BenQ ScreenBarⓇ Plus
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า BenQ ScreenBarⓇ Plus เนี่ย ราคาเป็นแบบพรีเมียมมากๆ คือ 5,990 บาท กล่องก็เลยออกมาดูหรูหรา ราคาดีแบบที่เห็น แกะกล่องออกมา สิ่งที่เราจะได้ก็จะมีคู่มือการใช้งาน (Quick Start Guide) ซึ่งภาษาที่เราๆ ท่านๆ น่าจะอ่านได้คือ ภาษาอังกฤษครับ มันจะบอกวิธีการใช้งานเบื้องต้น แล้วก็จะมีเซ็ตของชุด BenQ ScreenBarⓇ Plus มาให้ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแท่งไฟแขวนจอที่มีความยาวประมาณ 45 เซ็นติเมตร ตัวฐานสำหรับยึดไฟแขวนจอกับจอคอมพิวเตอร์ และตัวปุ่มควบคุมไฟแขวนจอ (Desktop Dial)




ด้วยขนาดของตัว BenQ ScreenBarⓇ Plus ทำให้มันเหมาะสำหรับการนำไปใช้ติดตั้งกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาด 24″ – 34″ ครับ และสามารถใช้งานได้ทั้งกับหน้าจอแบนแบบปกติหรือแม้แต่หน้าจอโค้ง 1500R ที่มีความหนาของหน้าจอตั้งแต่ 1-3 เซ็นติเมตรได้สบายๆ ที่เราต้องทำคือ ประกอบร่างตัวไฟแขวนหน้าจอเข้ากับฐานยึดหน้าจอ ซึ่งตัวฐานยึดหน้าจอเนี่ย จะมีตัวจับเป็นพลาสติก ที่โค้งรับกับไฟแขวนหน้าจอพอดี ตัวพอร์ต USB-C ที่อยู่ตรงด้านหลังซึ่งเอาไว้สำหรับเสียบจ่ายไฟจะมีการออกแบบมาเพื่อใช้เป็นตัวล็อกสำหรับการปรับมุมองศาของไฟแขวนหน้าจอด้วย


ตัวควบคุม BenQ ScreenBarⓇ Plus หรือที่เขาเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Desktop Dial นั้นจะเป็นแบบมีสายครับ ซึ่งความยาวสายโดยรวมคือประมาณ 130 เซ็นติเมตร แต่ว่ามันจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่มาจากตัวควบคุมไปจนถึงจุดที่สายมันจะแยกออกไปเป็นสองหัว หัวนึงจะเป็น USB-A เอาไว้ไปเสียบกับพอร์ต USB บนคอมพิวเตอร์หรืออะแดปเตอร์ก็ตามแต่ เพื่อจ่ายไฟให้กับตัว BenQ ScreenBarⓇ Plus และอีกหัวจะเป็น USB-C ที่เอาไว้เสียบกับตัวไฟแขวนจอเพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าและส่งสัญญาณควบคุมจากตัวควบคุมไป สองเส้นเนี้ย จะมีความยาวราวๆ 70 เซ็นติเมตร บวกลบนิดหน่อย ซึ่งก็ถือว่ายาวเพียงพอสำหรับการลากสายไปใช้งานแหละ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความยาวนี้เวลาจะคำนวณว่าจะเอาไปเสียบกับพอร์ต USB-A ตรงไหน จะวางตัวควบคุม BenQ ScreenBarⓇ Plus ตรงไหนด้วย

ของผมเป็นการติดตั้งกับจอคอมพิวเตอร์แบบจอโค้งอย่าง HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition ครับ จะเห็นว่ามันสามารถยึดกับจอด้านหลังที่โค้งได้อย่างง่ายดาย อันนี้ส่วนนึงมาจากความที่ตัวฐานยึดจอเนี่ยมันแอบหนักเอาเรื่อง น้ำหนักของตัว BenQ ScreenBarⓇ Plus เนี่ยคือ 680 กรัม หนักใช่ย่อยเลยนะ ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่ามันจะได้อยู่บนหน้าจอได้อย่างมั่นคงนั่นเอง ผมลองเอามือไปกดๆ ตรงตัวไฟแขวนจอ บอกเลยว่ามั่นคงจริงจัง ในขณะที่ผมลองกดไฟแขวนจอ Xiaomi Lightbar ที่หลายๆ คนนิยมซื้อกัน อันนั้นแค่ออกแรงเบาๆ ตัวฐานยึดก็โยกโน้มลงมาแล้ว


ตัวควบคุมของ BenQ ScreenBarⓇ Plus หรือ Desktop Dial ก็จะเอาไว้สั่งงานทุกอย่างครับ บอดี้ทำจากอลูมิเนียมและพลาสติก มีน้ำหนักพอประมาณและด้านล่างมีการติดแผ่นยางกันลื่นไว้ เพื่อไม่ให้มันเคลื่อนตัวได้ง่ายเกินไป บนตัวควบคุมนี้ก็จะมี
*️⃣ เซ็นเซอร์วัดแสงเพื่อใช้ตอนเปิดโหมดปรับระดับความสว่างอัตโนมัติ
*️⃣ ปุ่มตรงกลางเอาไว้กดเพื่อเปิด-ปิดไฟแขวนจอ และบิดหมุนเพื่อปรับระดับเพิ่มขึ้นหรือลดลง
*️⃣ ปุ่มเปิดโหมดปรับความสว่างอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ไฟแขวนหน้าจอนี้ปรับความสว่างให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ โดยพิจารณาจากระดับความสว่างที่ตัวเซ็นเซอร์วัดแสงวัดได้
*️⃣ ปุ่มเปลี่ยนโหมดการปรับ สลับไปมาระหว่างการปรับความสว่างและปรับอุณหภูมิสี โดยบิดหมุนปุ่มตรงกลางเพื่อเพิ่มหรือลดความสว่าง/อุณหภูมิสี
*️⃣ มีไฟ LED เอาไว้บอกว่า ณ ตอนนี้หากเราบิดปุ่มตรงกลางมันจะปรับความสว่างหรืออุณหภูมิสี ถ้าไฟติดตรงรูปดวงอาทิตย์ก็คือความสว่าง ถ้าไฟติดตรงรูปปรอทก็คืออุณหภูมิสี

การปรับอุณหภูมิสี ตามสเปกก็จะปรับได้ที่โทนอุ่นสุด (Warm white) 2,700K ซึ่งจะให้ความสว่างสูงสุด 300 ลูเมน และโทนเย็นสุด (Cool white) 6,500K ซึ่งจะให้ความสว่างสูงสุด 320 ลูเมน ซึ่งตามสเปกแล้ว เขาบอกว่าสามารถให้ความเข้มของแสงสว่างได้สูงสุดที่เฉลี่ย 900 lux ที่ระยะ 45 เซ็นติเมตรเลย


เผอิญว่าผมก็มีอุปกรณ์วัดค่าความเข้มของแสงสว่างของ UNI-T อยู่กับตัวด้วย (ซื้อมาเพื่อเขียนบทความ จัดโต๊ะคอมทั้งที อย่าลืมใส่ใจเรื่องแสงสว่างที่เหมาะสมด้วย (kafaak.blog) คราวก่อน) ก็เลยถือโอกาสลองวัดจริงๆ ดูครับ ซึ่งก็บอกตรงๆ ว่า ลองเปิดไฟให้เป็น 6700K และปรับระดับความสว่างให้สูงที่สุด โดยปิดไฟทั้งหมดในห้องแล้วค่อยวัดดูที่ระยะประมาณ 45 เซ็นติเมตรจากบริเวณกึ่งกลางของไฟแขวนจอ ก็จะได้ค่าที่อยู่ระหว่าง 900-1,000 lux ครับ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าปกติการวัดค่า lux เนี่ย มันจะสวิงสุดๆ ครับ เพราะอยู่ที่ว่าเราวัดมุมไหน และระยะห่างเท่าไหร่ การวัดแบบง่ายๆ แบบผมนี่ ส่วนใหญ่เขาก็จะกำหนดจุดวัดไว้หลายๆ จุด แล้วเอามาหารค่าเฉลี่ยครับ ซึ่งในกรณีของผมเนี่ย พยายามวัดตามสเปก ซึ่งเขาบอกว่าที่ระยะ 45 เซ็นติเมตรบริเวณกึ่งกลางของไฟแขวนจอ ซึ่งก็จะได้ค่าประมาณ 900-1,000 lux อย่างที่ผมบอกไป
ฉะนั้น ดูจากตัวเลขนี้ ก็เรียกได้ว่า ไฟแขวนจอ BenQ ScreenBarⓇ Plus ตัวนี้ทำได้ตามสเปกที่ระบุไว้บนเว็บไซต์แหละครับ
อีกฟีเจอร์นึงที่ทำให้ BenQ ScreenBarⓇ Plus แตกต่างจากไฟแขวนหน้าจออื่นๆ ก็คือ Auto dimming หรือ การปรับระดับความสว่างโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานโหมดนี้แล้ว เมื่อความสว่างมีน้อยกว่า 50 lux มันก็จะทำการเร่งระดับความสว่างของไฟแขวนจอให้ไปอยู่ที่ 500 lux โดยประมาณ เพื่อให้ได้ระดับความสว่างที่เหมาะสมสำหรับการทำงานกับคอมพิวเตอร์นั่นเอง และหากความสว่างมีมากกว่า 50 lux แล้ว มันก็จะค่อยๆ ลดความสว่างลงให้เหลือประมาณ 300 lux โดยอัตโนมัติ
ฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ที่ดีมาก มันเหมาะกับคนที่ทำงานในห้องที่มีแสงสว่างจากภายนอกเข้ามาได้ครับ คือ ตอนกลางวันมันจะสว่างๆ จนแทบไม่ต้องเปิดไฟใดๆ (รวมถึงไฟแขวนจอเลย) แต่พอตอนเย็นๆ เราอาจจะต้องเปิดไฟห้องบวกกับไฟแขวนจอร่วมกับความสว่างจากแสงอาทิตย์ยามเย็นช่วย เพื่อให้ได้ความสว่างที่เหมาะสมกับการทำงาน แต่แสงอาทิตย์มันก็จะลับขอบฟ้าไปเรื่อยๆ ความสว่างมันก็จะลดลง การเปิดโหมด Auto dimming นี่ จะช่วยให้เรา Set if and forget it หรือตั้งค่าทีเดียวแล้วไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันอีก เพราะไฟแขวนจอ BenQ ScreenBarⓇ Plus จะช่วยปรับที่เหลือให้เองครับ เราๆ ท่านๆ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์วัดความเข้มของแสงสว่างแบบผม ก็สามารถมั่นใจได้เปลาะนึงว่า ความสว่างจะเหมาะสมโดยอัตโนมัติ

แต่ก็อีกนั่นแหละ สายตาของคนเรามันไม่เท่ากันครับ ความรู้สึกของการมองแล้วสบายตาของคนแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการที่ BenQ ScreenBarⓇ Plus ปรับอุณหภูมิของสีได้ตั้งแต่ 2,700K – 6,500K โดยปรับได้ 8 ระดับ และปรับความสว่างของไฟได้ 11 ระดับ ก็ทำให้เราสามารถเลือกได้ทั้งสีของไฟและระดับความสว่างที่เหมาะสม ที่สบายตาของแต่ละคนได้นั่นเอง
พอมี BenQ ScreenBarⓇ Plus แล้ว เกิดวันไหนอารมณ์สุนทรีย์ อยากปิดไฟในห้องให้มืด หรือต้องปิดไฟเพราะไม่อยากไปรบกวนคนอื่นที่อยู่ในห้องด้วย ก็ยังคงสามารถมีพื้นที่ทำงานที่มีความสว่างเพียงพอได้สบายๆ ครับ ชิลล์มากๆ
บทสรุปการรีวิวไฟแขวนจอ BenQ ScreenBarⓇ Plus
เท่าที่ผมได้ลองใช้ดู BenQ ScreenBarⓇ Plus เป็นไฟแขวนจอที่สมราคาของมันจริงๆ ครับ ทั้งในแง่ของการออกแบบ วัสดุที่ใช้ทำตัวไฟ รวมถึงสเปกและฟีเจอร์ต่างๆ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า BenQ ScreenBarⓇ Plus ค่าตัวแอบแพงไปหน่อย แต่มันแลกมาด้วยสเปกและฟีเจอร์ที่ดีกว่าครับ เช่น ฟีเจอร์ Auto dimming นี่ผมว่าดีมากสำหรับผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีเครื่องมือวัดความสว่าง เพื่อปรับความสว่างบริเวณพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม มันคือ Set it and forget it จริงๆ และความสว่างที่สามารถทำได้สูงสุดคือ 900 lux ที่ระยะ 45 เซ็นติเมตร ซึ่งพวกไฟแขวนจอราคาพันกว่าบาทเนี่ย มักจะทำได้สูงสุดแค่ราวๆ 500 lux เท่านั้นเอง
BenQ ScreenBarⓇ Plus ค่าตัวอยู่ที่ 5,990 บาท ใครสนใจอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ BenQ ครับ แต่หากใครตัดสินใจได้แล้ว ก็สามารถไปตำได้ตามลิงก์ด้านล่างครับ