Home>>รีวิว>>ไฟแขวนจอ (Light bar) จำเป็นไหม?
ส่วนหนึ่งของโต๊ะทำงาน มีจอคอมพิวเตอร์วางอยู่ 2 ตัว เป็นจอแบบ Ultrawide 1 ตัว และจอแบบปกติวางแบบแนวตั้งอีก 1 ตัว ทั้งสองจอ แสดงภาพของแมวเป็นวอลล์เปเปอร์ และมีไฟแขวนจอติดตั้งอยู่ด้านบน จอ Ultrawide มีกล้องเว็บแคมวางอยู่ด้วย
รีวิว

ไฟแขวนจอ (Light bar) จำเป็นไหม?

ไฟแขวนจอเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับชาวจัดโต๊ะคอมครับ แต่ตัวนึงก็ไม่ใช่ถูกๆ นะ ราคาเริ่มต้นก็พันกว่าบาท รุ่นพรีเมียมๆ หน่อยก็หลายพันเลยทีเดียว คำถามจึงมีอยู่ว่า จริงๆ แล้ว ไฟแขวนจอ หรือที่เรียกกันว่า Light bar หรือ Screen bar มันจำเป็นหรือไม่ ในบล็อกตอนนี้จะเอามาเล่าให้อ่านกันครับ

ความเข้มของความสว่าง ณ พื้นที่ทำงานนั้นสำคัญ

ก่อนอื่นผมอยากให้ไปอ่านบล็อก จัดโต๊ะคอมทั้งที อย่าลืมใส่ใจเรื่องแสงสว่างที่เหมาะสมด้วย (kafaak.blog) ก่อนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหน่วยวัดความสว่างของแสง โดยเฉพาะ Lux ที่เป็นหน่วยวัดความเข้มของแสงสว่าง เพราะมันสำคัญมากครับ การที่เราจะต้องใช้สายตาจ้องมองอะไรก็ตามในที่ที่มันสว่างน้อยเกินไป หรือสว่างมากเกินไป จะส่งผลให้สายตาของเราเกิดอาการตาล้า และตามมาด้วยอาการปวดกระบอกตา สายตาสั้นเทียม และโรคทางสายตาอื่นๆ ได้

โดยเฉพาะกรณีที่เราทำงานคอมพิวเตอร์ เพราะหลักการของหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ยุคเก่าอย่าง CRT หรือจอยุคใหม่ๆ อย่าง LCD หรือ OLED ก็ตาม มันแสดงภาพให้เราเห็นได้ด้วยการยิงแสงออกมาจากหน้าจอเข้ามาที่ดวงตาของเรา พูดง่ายๆ มันก็คล้ายๆ กับการที่เราจ้องมองหลอดไฟนั่นแหละ เพียงแต่แสงไฟจากจอคอมพิวเตอร์มันไม่ได้สว่างเวอร์วังแบบพวกหลอดไฟ

เขาว่ากันว่ากล้องถ่ายรูปอะ มันก็ทำงานคล้ายๆ ดวงตาของคน เลนส์กล้องมันมีรูรับแสง ถ้าแสงน้อย ก็เปิดรูรับแสงให้กว้างๆ จะได้รับแสงได้มากขึ้น ภาพจะได้ไม่มืดเกินไป แต่ถ้าแสงจ้ามากๆ เราก็ปิดรูรับแสงให้แคบลง ภาพจะได้ไม่ออกมาสว่างเวอร์ ดวงตาของเราก็เหมือนกันครับ ถ้าแสงมันสว่างน้อยรูม่านตาเราก็จะขยายออก เพื่อจะได้รับแสงได้มากขึ้น แต่ถ้าแสงสว่างมากไป รูม่านตาเราก็จะหดเล็กลง เผลอๆ ต้องหรี่ตาลงด้วยซ้ำ

ถ้าพื้นที่ทำงานของเรามันแสงสว่างไม่พอ สายตาเราก็จะทำงานหนัก เพราะต้องพยายามเพ่งจ้องเพื่อให้มองเห็น แต่ในขณะเดียวกัน หากสว่างเกินไป หรือเราจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สว่างๆ ในขณะที่บริเวณรอบๆ แสงสว่างไม่พอ เป็นเวลานานๆ สายตาเราก็จะทำงานหนักเช่นกัน

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าแสงสว่างไม่พอ? ถ้าเรามีเครื่องมือวัดมันก็ง่าย เราก็แค่ไปเทียบกับมาตรฐานความเข้มของแสงสว่างของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตามลักษณะงานที่เราทำได้แหละ แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือวัดล่ะ? เราก็พิจารณาจากความรู้สึกเบื้องต้นได้แหละครับ ถ้าเรารู้สึกว่าต้องเพ่งหนักมากเวลาเรามองเอกสาร อ่านตัวหนังสือบนกระดาษ นั่นก็อาจจะหมายความว่าความสว่างอาจจะน้อยไป แต่หากเรารู้สึกแสบตา ต้องหรี่ตามองหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่นก็แสดงว่าสว่างมากเกินไป ความรู้สึกจะคล้ายๆ กับตอนเปิดทีวีดูตอนกลางคืน ในห้องนอนที่ปิดไฟมืดนั่นแหละครับ

แล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง?

อันนี้ผมจะขอโฟกัสไปที่ประเด็นหน้าจอคอมพิวเตอร์สว่างเกินไปนะครับ ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินง่ายๆ เลยก็คือ เพิ่มความสว่างของบริเวณรอบๆ พื้นที่ทำงานให้สว่างขึ้น (คล้ายๆ กับเวลาเราดูทีวีตอนกลางคืน ถ้าเราเปิดไฟดู เราก็จะไม่แสบตามาก) มันก็ช่วยลดปัญหาลงได้เยอะแล้ว วิธีง่ายที่สุดก็คือ เพิ่มแหล่งกำเนิดแสงภายในห้องครับ เช่น ติดไฟเพดานเพิ่มให้ตรงจุดที่เราทำงาน หรือ หาโคมไฟมาติดตั้ง ทำให้พื้นที่ตรงนั้นมันสว่างขึ้น

โน้ตบุ๊กสีดำวางอยู่บนโต๊ะ ในห้องที่ปิดไฟ มีโคมไฟส่องสว่างให้แสงสว่างบนโต๊ะทำงาน

แต่ปัญหามันก็ยังมีครับ การเพิ่มแหล่งกำเนิดแสงสว่างด้วยการเพิ่มหลอดไฟ หรือใช้โคมไฟโดยทั่วไป มันจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก 3 ประเด็น คือ

1️⃣ ในกรณีที่เราใช้งานจอคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก ที่หน้าจอไม่ได้มีคุณสมบัติลดแสงสะท้อน หรือ Anti-glare หน้าจอมันก็อาจจะสะท้อนแสงบางส่วนที่มาจากหลอดไฟบนเพดานหรือโคมไฟมาที่ดวงตาของเรา เพราะไฟจากหลอดไฟบนเพดานหรือโคมไฟ มันจะเป็นแบบ Symmetric หรือก็คือ แสงจะกระจายไปทุกๆ ทิศ เท่าๆ กัน อิแสงไฟที่สะท้อนเข้าตาเรา ก็กลายเป็นทำให้สายตาของเราอาจจะล้าได้อีกนั่นเอง

ภาพอธิบายสถานการณ์ที่แสงไฟจากหลอดไฟเหนือหัวสะท้อนจอคอมพิวเตอร์เข้าสายตาของเรา
ภาพ: BenQ

2️⃣ หลอดไฟจำพวก LED ที่ใช้ไฟกระแสสลับ (AC) จำนวนไม่น้อย จะมีปัญหา ไฟกะพริบ ครับ ซึ่งมันเกิดจากการที่หลอดไฟ LED มันถูกออกแบบมาให้สว่างทันทีที่ได้รับกระแสไฟ และดับทันทีที่ไม่มีการจ่ายกระแสไฟให้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าพวกไฟ LED เนี่ย พอเรากดสวิตช์เปิดปุ๊บมันก็ติดปั๊บ และหากเราปิดสวิตช์ปุ๊บ มันก็มืดแทบจะในทันทีเลย ทีนี้พอเจอไฟกระแสสลับ ที่มันจะมีวงรอบในการที่แรงดันไฟมันกลายเป็นศูนย์อยู่ตามช่วงเวลา (อยู่ที่ว่ากระแสไฟสลับกี่เฮิร์ตซ 50HZ หรือ 60Hz) ไฟ LED มันก็จะติดและดับด้วยความเร็วสูงอยู่ครับ กลายเป็นอาการกะพริบที่เร็วมากจนสายตาเราไม่ทันได้รู้สึก สำหรับประเทศไทยที่เป็นไฟกระแสสลับ 50Hz ก็จะกระพริบ 50 ครั้งต่อวินาที ซึ่งหากเราเอาสมาร์ทโฟนที่ปิดฟีเจอร์ลดการกะพริบของหลอดไฟไปลองส่องดู เราจะเห็นเลยครับว่าหลอดไฟกะพริบรัวมากๆ การกะพริบรัวๆ แบบเนี้ยไม่ดีต่อสุขภาพสายตาของเราครับ แถมเราไม่ทันได้รู้สึกตัวอีกตะหาก

ซึ่งทางแก้ก็มีนะ คือ ไปหาซื้อหลอดไฟ LED ที่เป็น Flicker-free ครับ ลองไปหาดูว่ามียี่ห้อไหน รุ่นไหน เขียนสเปกเอาไว้ว่า “ไม่กะพริบ” หรือ “Flicker free” แล้วก็ลองเอากล้องสมาร์ทโฟนมาส่องดูก่อนนะครับ เช็กให้ดีด้วยว่าปิดฟีเจอร์ป้องกันการกะพริบ (Anti flicker) หรือยัง แต่สมาร์ทโฟนเรือธงส่วนใหญ่อาจจะมีฟีเจอร์นี้ในตัวแถมปิดไม่ได้ด้วย ถ้าอยากให้ชัวร์ ให้เข้าโหมดถ่ายวิดีโอแบบสโลวโมชันครับ มันจะดูได้เลยว่าไฟกะพริบหรือไม่ ถ้ากะพริบจะเห็นชัดๆ เลยในโหมดนี้

3️⃣ การติดตั้งหลอดไฟบนเพดานไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ และไม่ได้ปรับเปลี่ยนได้สะดวก ส่วนพวกโคมไฟต่างๆ เนี่ย มันก็ต้องดูว่ามีพื้นที่ในการติดตั้งหรือไม่ โคมไฟแบบตั้งโต๊ะก็จะกินพื้นที่บนโต๊ะไปส่วนนึง โคมไฟแบบหนีบโต๊ะ ก็ต้องดูว่าโต๊ะเราสามารถหนีบได้ไหม (โต๊ะรุ่นใหม่ๆ จะทำได้นะ เดี๋ยวนี้ชาวจัดโต๊ะคอมก็เน้นใช้โต๊ะปรับระดับไฟฟ้ากันมากขึ้น ก็จะใช้โคมไฟแบบหนีบโต๊ะได้)

ไฟแขวนจอ มาแก้ปัญหา 3 ประเด็นที่ว่านั่นแหละ

และอิไฟแขวนจอ หรือ Light bar มันก็ชูจุดขายตรงที่มาแก้ปัญหา 3 ประเด็นที่ผมพูดถึงไปข้างต้นนั่นแหละครับ คือ ไฟแขวนจอมันเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างแบบ Asymmetric lighting คือ แสงสว่างมันจะวิ่งไปในทิศทางใดทางหนึ่งมากกว่าอีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งสำหรับกรณีนี้ก็คือ มันจะวิ่งพุ่งมาตกบริเวณตรงด้านหน้าของผู้ใช้งานและจอคอมพิวเตอร์ แต่จะไม่มีแสงที่จะวิ่งไปตกกระทบบนจอคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นปัญหาแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ก็จะไม่มี (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

ภาพกราฟิกแสดงเส้นทางเดินของแสงที่มาจากไฟแขวนจอ มีข้อความเขียนว่า e-Reading computer screenbar plus
ภาพ: BenQ

และไฟแขวนจอพวกนี้ แทบจะร้อยทั้งรอย ใช้ไฟกระแสตรง (DC) ครับ กินไฟประมาณ 5V 1A จากพอร์ต USB เป็นหลัก หลอดไฟที่ใช้ไฟกระแสตรงเนี่ย จะไม่มีอาการกะพริบครับ และไฟแขวนจอ ชื่อก็บอกแล้วว่าแขวนจอ มันก็จะไม่ต้องไปหาพื้นที่ใดๆ มาติดตั้งเพิ่ม เพราะเราจะสามารถวางไว้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แหละ ซึ่งก็แทบจะรองรับจอคอมพิวเตอร์เกือบทุกรุ่น ส่วนใหญ่สเปกคือ ขอให้จอหนา 1-3 เซ็นติเมตร เพียงแต่ไฟแขวนจอบางยี่ห้อ บางรุ่น มันอาจจะใช้กับจอเกมมิ่งแบบที่หลังนูนๆ ไม่ได้ (แต่ก็มีบางยี่ห้อบางรุ่นใช้ได้นะ)

จอคอมพิวเตอร์ 2 จอ จอนึงเป็น Ultrawide อีกจอเป็นจอคอมพิวเตอร์ปกติ แต่จัดวางในแนวตั้ง ทั้งคู่มีไฟแขวนจอติดตั้งอยู่

ไฟแขวนจอไม่ใช่แค่ทำเพื่อมาช่วยตัดแสงที่พุ่งจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เข้าด้วยตาเราเท่านั้นนะครับ แต่ว่ายังช่วยเพิ่มความสว่างให้กับพื้นที่บนโต๊ะทำงานด้วย ทำให้เราสามารถอ่านและเขียนเอกสาร หรือทำโน่นทำนี่บนโต๊ะได้ด้วย และไฟแขวนจอส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมกับฟีเจอร์ในการปรับระดับความสว่างและอุณหภูมิสีของหลอดไฟได้ด้วย ก็จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับทั้งความสว่างและสีของไฟได้เหมาะสมกับสายตาของตนเอง ซึ่งไฟแขวนจอพวกนี้มักจะให้ความเข้มของแสงสว่างได้สูงสุดระดับ 500-1,000 lux เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผมไม่แนะนำให้ปิดไฟห้องแล้วใช้แต่ไฟแสงสว่างจากไฟแขวนจอเพียงอย่างเดียวนะครับ ไฟแขวนจอควรจะเป็นตัวเสริมเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ทำงานในห้อง มีความสว่างเพียงพอครับ ยกเว้นในกรณีที่คุณอาจจะมีมุมทำงานในห้องนอน แล้วเวลาต้องทำงานตอนกลางคืนก็ไม่อยากเปิดไฟให้ไปแยงตาแฟนของคุณอะไรแบบนี้ครับ

Bias lighting อีกทางในการแก้ปัญหา เหมาะสำหรับคนดูทีวี หรือเล่นเกม

สำหรับผู้ใช้งานที่เน้นแค่ดูทีวีหรือเล่นเกม มันมีอีกเทคนิคนึงที่เขาใช้กันเพื่อเพิ่ม Contrast ให้กับพื้นที่รอบๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือทีวี เพื่อให้สายตาไม่ต้องปรับมาก โดยการเพิ่มแหล่งกำเนิดแสงสว่าง (พูดง่ายๆ ก็หลอดไฟนี่แหละ) ไปวางด้านหลังของจอคอมพิวเตอร์หรือทีวี ที่มักจะวางติดกับผนังหรือกำแพง แล้วให้แสงมันสะท้อนกับกำแพง สร้างพื้นที่ที่สว่างขึ้นมา

วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่เน้นดูทีวีหรือเล่นเกม ที่เน้นการจ้องมองจอเป็นหลัก แต่ก็อยากได้บรรยากาศรอบๆ ตัวที่แสงสลัวๆ ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับการรับชมภาพยนตร์หรือเล่นเกม นอกจากนี้ พวกไฟส่องสว่างที่ด้านหลัง ก็อาจจะใช้ไฟ RGB หรือไฟ LED แบบที่ปรับสีได้ ปรับให้มีความเหมาะสมกับบรรยากาศของการรับชมภาพยนตร์หรือเล่นเกมด้วย บางคนก็อาจจะจัดเป็นธีมสี เป็นต้น

แต่ก็ต้องจำไว้ว่า เทคนิคนี้ไม่ได้เพิ่มความสว่างใดๆ ให้กับพื้นที่การทำงานของเรานะครับ มันออกแบบมาเพื่อลดอาการสายตาล้าเมื่อเราต้องจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ มากกว่า หากเราคิดว่าพื้นที่ทำงานของเรายังสว่างไม่พอ เราต้องเพ่งตาเพื่อมอง การทำ Bias lighting ไม่ช่วยใดๆ นะครับ

สรุปแล้ว ไฟแขวนจอจำเป็นไหม?

ถ้าห้องของคุณ พื้นที่ทำงานของคุณ สว่างเพียงพอ แถมไม่ได้คิดจะปิดไฟทำงานตอนมืด ไฟแขวนจอมันก็มีเอาไว้ทำเท่ เผลอๆ จะไม่ได้เปิดใช้ นอกเสียจากอยากจะปิดไฟ เปิดไฟแขวนจอเพื่อถ่ายรูป มันทำให้ภาพโต๊ะออกมาดูสวย (เชื่อผม ผมลองแล้ว) หรือสำหรับคนที่อยากปิดไฟหรือเปิดไฟสลัวๆ เพื่อเล่นเกมหรือดูทีวี ดูหนัง เทคนิค Bias lighting เนี่ย ผมว่าเหมาะกว่าเยอะ

แต่ถ้าคุณคิดว่าไฟในห้องมันสว่างไม่พอ อยากเพิ่มความสว่างให้บริเวณพื้นที่บนโต๊ะคอม หรืออาจจะต้องการปิดไฟทำงานเพราะโต๊ะทำงานอยู่ในห้องนอน และไม่อยากให้แสงไฟไปแยงตาแฟนที่นอนห้องเดียวกับคุณ ไฟแขวนจอมันจะช่วยคุณได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า