เชื่อว่ามีหลายๆ คนที่เป็นเหมือนผม คือ ถ้าจะเดินทางไปทำงานด้วยรถเมล์ก็รอรถนานจนทนไม่ไหว รถก็ติดเกินจนกะเวลาเดินทางไม่ถูก วันไหนโชคดีก็แป๊บเดียวถึง วันไหนโชคร้ายก็เป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง สุดท้ายก็ตัดสินใจจัดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ดีกว่า และแน่นอนว่าในหลายๆ กรณีก็จะต้องขับออกถนนเพื่อเดินทาง ในฐานะคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเดินทางไปทำงานมาร่วม 4 ปีแล้ว ผมมีคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยให้ดังนี้ครับ
1. สวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง สวมหน้ากาก N95 ได้ด้วยยิ่งดี
ต่อให้เราพยายามระมัดระวังขนาดไหนก็เหอะ อุบัติเหตุมันก็เกิดขึ้นได้ทุกเวลา หมวกกันน็อก ต่อให้เป็นหมวกกันน็อกสำหรับคนขี่จักรยานมันก็อาจจะช่วยชีวิตได้นะครับ ผมเองมีครั้งนึงที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากำลังจะกลับบ้าน แล้วรถยนต์ที่จอดข้างถนนบอกว่าไม่ทันคิดว่าสกู๊ตเตอร์ผมจะมาถึงได้เร็วขนาดนี้ ก็เปิดประตูมาจ๊ะเอ๋กับผมพอดี ผลคือ ล้มหัวฟาดพื้นจ้า แต่เพราะใส่หมวกกันน็อกจักรยานเอาไว้ เลยแค่บาดเจ็บเล็กน้อย แต่สมองก็ได้รับการกระทบกระเทือน วูบไปพักนึงเลยแหละ ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบล็อก ใส่หมวกกันน็อกกันเถิดพวกเรา (kafaak.blog) เมื่อสองปีก่อนครับ

และนอกจากนี้ ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบ้านเราเมืองเรามีปัญหาฝุ่น PM2.5 กันอยู่ เราก็ควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นซะด้วยครับ หน้ากากอนามัยเฉยๆ มันไม่พอหรอก เอาระดับป้องกันฝุ่น PM2.5 ไปเลยครับ เช่น พวก N95 เป็นต้น ไม่ต้องห่วงเรื่องหายใจลำบากนิ เพราะสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเราไม่ต้องออกแรงไถใดๆ และจริงๆ ต่อให้ไม่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ผมว่าก็ยังควรใส่หน้ากากจำพวก N95 อยู่ดีครับ เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่ารถเมล์ไทยเราควันดำขนาดไหน
2. สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามันล้อเล็ก ขี่แค่ 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอแล้ว ชิดริมถนนไว้เพื่อความปลอดภัย
สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ล้อมันจะไม่ได้ใหญ่มาก อาจจะ 8-10 นิ้ว เรียกว่าเล็กมากๆ นะครับ ถ้าเจอพวกหลุมหรือเนินที่มีขนาดประมาณนึง แล้วขี่มาเร็วๆ เนี่ย มีสิทธิร่วงเอาง่ายๆ และถนนกรุงเทพฯ เราก็รู้กันอยู่ว่าสภาพมันย่ำแย่ขนาดไหน ขนาดรถจักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์ยังร่วง สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ไม่เหลือหรอกครับ แต่โชคดีตรงที่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ดีๆ เลยเนี่ย มักจะถูกจำกัดความเร็วเอาไว้ที่ 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉะนั้นมันก็จะไม่เร็วเวอร์มาก เวลาสะดุดหลุมหรือเนิน ก็ยังพอจะคุมรถเอาไว้อยู่ ไม่อันตรายมากนัก

แต่ก็มีผู้นำสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจีนมาขายอีกหลายรุ่น ที่ทำความเร็วได้ค่อนข้างสูง ระดับ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปเลย หรือเร็วๆ นี้ก็คิดว่าจะมีแบรนด์ใหญ่อย่าง Segway-Ninebot รุ่น SuperScooter ในซีรีส์ GT ที่สามารถทำความเร็วได้ระดับ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลย ผมว่ามันอันตรายหากต้องมาเจอสภาพถนนแบบกรุงเทพฯ ครับ
นอกจากนี้คือ พอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเรามีความเร็วไม่มาก ก็อย่าเปรี้ยวให้มาก พยายามชิดริมถนนเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัย เพราะรถของเราช้ากว่าคนอื่นๆ ในท้องถนน และจะได้ไม่เกะกะ กีดขวางการจราจรด้วย (ย้ำว่าการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าออกถนน จริงๆ กฎหมายเขาก็ไม่อนุญาตอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ตำรวจจราจรจะหยวนๆ ให้ไป แต่ถ้าเกิดขี่แบบเสี่ยงอันตรายหรือกีดขวางการจราจร เดี๋ยวก็โดนเล่นหรอก)
3. ถึงเราจะพยายามชิดริมถนนเพื่อความปลอดภัย แต่ริมถนนก็ไม่ได้ปลอดภัยซะทีเดียว
ใช่ครับ ผมแนะนำให้ทุกคนขี่ชิดริมถนนเพื่อความปลอดภัย จะได้ไม่โดนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์คาบไปแดกซะก่อน แต่ว่า… ริมถนนมันก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าซะทีเดียวหรอกนะครับ เพราะถนนในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยที่ริมถนนจะเต็มไปด้วยฝาท่อ แล้วถ้ามันมีนะ มันจะมีเยอะชนิดที่เรียกว่าโผล่มารัวๆ เลยแหละ แล้วบางอันก็นะ สภาพก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่เลย ขี่ไม่ระวังก็ร่วงได้เลยนะ

นอกจากนี้ ถนนบางเส้น แม้มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าเลนจักรยาน ซึ่งก็ควรจะเหมาะกับการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเลย เพราะความเร็วใกล้เคียงกัน (จักรยานส่วนใหญ่ช้ากว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แต่ก็มีจักรยานอีกหลายคันที่ขี่เร็วกว่าเยอะ) แต่เลนจักรยานที่แท้ทรูบนถนนในกรุงเทพฯ เนี่ย ผมว่าไม่มีอยู่จริงอะ จะแถววงเวียนใหญ่ สาทร เราก็จะมีมอเตอร์ไซค์มาเป็นเพื่อนร่วมทางเสมอ นานๆ ทีก็มีรถยนต์แว้บเข้ามามั่ง เจอรถยนต์จอดทับเลนจักรยานก็บ่อย

นอกจากนี้ ริมถนนบางครั้งก็จะมีพวกน็อต ตะปู หรือแม้แต่หัวไขควงเลยเหอะ ตกหล่นอยู่ครับ ก็ไม่รู้ว่าหลุดมาอีท่าไหนเหมือนกัน ขี่ๆ ไป จังหวะซวยๆ ทิ่มตำยางแตกได้เลยนะครับ อันนี้กล้าพูดเพราะประสบการณ์ตรงมาแล้ว เคยเขียนเล่าเอาไว้ในบล็อก Ninebot Kickscooter MAX เขาว่ามีฟีเจอร์ป้องกันยางรั่ว มันใช้ได้จริงไหม? ผมได้ลองโดยไม่ตั้งใจแล้ว (kafaak.blog) เมื่อปีที่แล้วเอง

4. ขึ้นฟุตบาธแค่เท่าที่จำเป็น ใช้ความเร็วต่ำๆ และให้ทางคนเดินก่อน
ผมเห็นหลายๆ คนเลือกที่จะขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นฟุตบาธเพราะดูจะปลอดภัยกว่าขี่บนถนน อันนี้จริงๆ ผมไม่ค่อยแนะนำนะครับ เพราะขนาดจักรยานเองก็ไม่ค่อยได้ขี่ขึ้นฟุตบาธกัน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่อัตราเร่งดีกว่าจักรยาน การขี่ขึ้นฟุตบาธก็จะอันตรายต่อผู้ที่สัญจรบนฟุตบาธครับ ผมแนะนำให้ขึ้นเท่าที่จำเป็นพอ และดูให้ดีๆ ว่ามันโล่ง ไม่มีคนหรือคนน้อยๆ ถ้ามีคนเดินอยู่ ก็ให้ใช้ความเร็วต่ำๆ เลย และให้ทางคนเดินก่อน เพราะนี่มันที่ทางของพวกเขา

ฟุตบาธในกรุงเทพ มันมีความหลากหลายมากครับ กว้าง แคบ เรียบ ขรุขระ แล้วบางที่ก็โหดร้ายมาก แบบว่ามีขึ้นมีลงเยอะมาก หรือบางทีก็ไม่มีทางลาดให้ขี่ขึ้นหรือลงด้วยซ้ำ (อยากเจออะไรแบบนี้ ลองมาที่ถนนพระราม 2 ดูได้) จึงไม่ใช่อะไรที่เราจะสะดวกขี่ขึ้นไปตลอดเวลาอยู่แล้ว
5. แดดประเทศไทยโหดร้ายมาก ถ้าต้องขี่ตากแดดนานๆ ทาครีมหรือฉีดสเปรย์กันแดดด้วย
การขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เราจะอยู่ท่าเดิมๆ ตลอดครับ แล้วแดดมันก็แรงครับ ถ้าเจอแดดฤดูร้อน หรือแดดตอนกลางวัน แล้วขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านานๆ นี่มีผิวไหม้ได้เลยนะครับ ผมนี่โดนมาแล้ว หลายหนด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เข็ดนะ แต่ก็ลืมบ้าง หรือบางทีก็เจอสถานการณ์บังคับ เช่น ล่าสุดที่ผิวไหม้ก็คือ ดันไปขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ต่างจังหวัด แล้วหลงทางนิดหน่อย แบตเตอรี่หมด เลยกลายเป็นต้องไถๆ กลางแดดอยู่เกือบ 2 กิโลเมตร กว่าจะถึงบ้าน ผิวไหม้สิครับ ดูรูปด้านล่างได้

6. ฝนตกขี่ได้นะ ถ้าใส่เสื้อกันฝนที่เหมาะสมและฝนตกไม่หนักมาก ระวังแอ่งน้ำ ระวังถนนลื่น
ฤดูร้อนและฤดูฝนเนี่ย คือช่วงที่อาจจะต้องมีลุ้นบ้างเวลาขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาทำงานครับ เพราะบางทีมันก็ฝนตก เบาบ้าง หนักบ้าง แล้วแต่ดวง สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เนี่ย กันน้ำกันฝุ่นอยู่ประมาณนึงอยู่แล้ว และบอดี้ก็มักจะทำมาจากอลูมิเนียม ก็ไม่ค่อยเป็นสนิมแหละ เอามาขี่ตากฝนเนี่ยทำได้ ถ้าฝนตกไม่หนักมาก และเราก็ใส่เสื้อกันฝนที่เหมาะสม คือ อาจจะต้องยาวนิดนึง เพราะเวลาเรายืนขี่เนี่ย เสื้อกันฝนปกติมันจะปิดหน้าแข้งเราไม่มิด ต้องหาพวกเสื้อกันฝนที่ยาวๆ หน่อยครับ ไม่งั้น อาจจะต้องเตรียมพกกางเกงกับรองเท้าไว้เปลี่ยนด้วยแหละ (ผมจะมีเก็บไว้ที่ออฟฟิศเซ็ตนึง)

ฝนตก ถนนเปียก ต้องระวังลื่นครับ โดยเฉพาะใครที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งก็น่าจะเป็นส่วนใหญ่ในท้องตลาดซะด้วย ต้องระวังหน่อย เพราะว่าเวลาเบรกล้อมันจะปัดง่ายๆ ถนนลื่นๆ ก็จะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายด้วย นอกจากนี้ หากเจอตรงไหนมีแอ่งน้ำขังอยู่ ให้ระวังครับ เพราะเราไม่รู้ว่ามันเป็นแอ่งตื้นๆ หรือเป็นหลุมลึกๆ มันดูไม่ออก พยายามเลี่ยงการขี่ลุยลงแอ่งน้ำ ยกเว้นคุณจะชินเส้นทาง รู้ว่าตรงไหนมีหลุมหรือไม่มีหลุม ก็อาจจะพอลุยไปได้บ้าง
7. ถ้าใช้ขี่ผ่านเส้นทางเดิมๆ ให้จำลักษณะของผิวถนน และพฤติกรรมการจราจรเอาไว้ด้วย แต่ห้ามประมาท
สำหรับคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปกลับที่ทำงานแบบผม มักจะต้องใช้เส้นทางเดิมๆ เป็นประจำ ก็อยากให้จดจำลักษณะของผิวถนนและพฤติกรรมการจราจรเอาไว้ด้วยครับ มันจะมีประโยชน์ในการคิดวางแผนการขี่ จะช้าจะเร็ว จะต้องระวังตรงไหน อะไรพวกนี้ เราจะรู้ว่าตรงไหนมีหลุมมีเนินที่ต้องระวัง ตรงไหนที่มักจะมีรถจอดริมถนน หรือ เจอมอเตอร์ไซค์วิ่งย้อนศรมา ต้องระวังให้มาก อะไรพวกนี้

แต่ห้ามประมาทนะครับ เพราะจากประสบการณ์ของผม ถนนเส้นเดียวกันนี้ แค่ต่างเวลา พฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนก็เปลี่ยนไปได้เยอะครับ เช่น อาจจะมีรถจอดริมถนนมากขึ้น หรือ มอเตอร์ไซค์ย้อนศรกันมามากกว่าปกติ หรือ ดันมีรถขายของมาขายตอนค่ำๆ หรือกลางคืน เป็นต้น อันนี้ต้องอย่างประมาทครับ