เห็นโฆษณาทาง Facebook บ่อยครั้งมาก และเพื่อนๆ บล็อกเกอร์ของผมนี่ก็ซื้อไปใช้กันเยอะ กับโต๊ะไฟฟ้าปรับระดับได้ของ Tam Design ก็เลยถือโอกาสในวาระจัดโต๊ะคอมฯ สั่งมาเป็นของขวัญวันเกิดภรรยา 1 ตัว และไปๆ มาๆ ก็ดันอิจฉาที่ภรรยาจะได้โต๊ะใหม่ เลยสั่งเพิ่มไปอีกตัว มาดูกันว่ามันเป็นยังไงบ้าง ซึ่งผมขอเล่าประสบการณ์ตั้งกะตอนสั่งซื้อ ยันมาติดตั้งเลยนะครับ และพูดถึงประสบการณ์แรกสัมผัสโต๊ะปรับระดับไฟฟ้าของ Tam ด้วย
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
โต๊ะ Tam Design ที่ผมซื้อมาสองตัว เป็นโต๊ะที่ซื้อมาเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ นะครับ เพียงแต่ผมก็รู้จักกับทางผู้จัดการทั่วไปของ Tam Design ก็จะสามารถพูดคุยหรือคอมเมนต์ใดๆ ได้ค่อนข้างโดยตรงก็เท่านั้นเอง แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ รีวิวกันไปแบบตรงๆ เพราะผมเชื่อในการ “ติเพื่อก่อ” เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ซื้อและผู้ขาย
การสั่งซื้อโต๊ะ Tam Design
ขอเล่าตั้งกะเริ่มเลย เรื่องการสั่งซื้อโต๊ะ Tam ก่อนเลย เนื่องจากเคยได้ยินกิตติศัพท์ของแบรนด์นี้อยู่แล้ว ก็ไม่ได้ต้องคิดเยอะ ด้วยความที่เพื่อนๆ บล็อกเกอร์ของผมเขาซื้อมาใช้กันหลายคน ก็ค่อนข้างมั่นใจในคุณภาพของสินค้าได้ และด้วยความที่ทั้งโต๊ะของผมและของภรรยา มันเป็นไซส์ 120×60 เซ็นติเมตร เรียกว่าไม่เล็ก แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก และเป็นขนาดท็อปมาตรฐาน ก็ทักแชททาง Facebook ไปเลยครับ
โปรโมชันของ Tam Design เขาก็จะมีคล้ายๆ กันมาเรื่อยๆ ราคาไม่หนีกันมาก (แต่ ณ ตอนที่ผมเขียนรีวิวนี่ น่าจะปรับราคาแล้ว) ของแถมก็จะแตกต่างกันไปตามช่วง ตอนที่ผมทัก เขาแถม Monitor arm หรือ ขาจับหน้าจอแสดงผล กับ CPU holder ซึ่งผมขอสลับจาก Monitor arm เป็นแท่นวางหน้าจอแทน เพราะโต๊ะตัวแรกที่ผมจะซื้อให้ภรรยาอะ เขาเอาไว้ใช้กับโน้ตบุ๊ก Monitor arm ได้มาคือเสียของ แต่ CPU holder นี่ยังเอาอยู่ เพราะกะว่าน่าจะเอามาวางพริ้นเตอร์หรือของอื่นๆ ได้ (ถ้ามันไม่พอวางพริ้นเตอร์) ก็เป็น CPU holder

ผมเลือกท็อปไม้โอ๊คประสาน เพราะมันจะเป็นไม้สีออกเหลือง ถ้าท็อปเป็นวอลนัท มันจะออกน้ำตาลแดง ไม่ค่อยชอบสีนี้ แต่ผมมีปรับนิดหน่อยคือ CPU holder ที่เขาแถมมันเป็นไซส์ L แต่ผมว่ามันแอบใหญ่ไปหน่อย ก็เลยไปขอเปลี่ยนเป็นไซส์ S แทน และซื้อ Cable tray มาเพิ่ม
สรุป: โต๊ะตัวแรกของภรรยา 120×60 เซ็นติเมตร ท็อปไม้โอ๊คประสาน แถมแท่นวางจอ กับ CPU holder ไซส์ S ขาสีดำ
ด้วยความที่อยากจะใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน ก็สั่งมันตั้งกะต้นปีเลยครับ แต่จะให้เป็นของขวัญวันเกิดภรรยา ก็ให้เขามาส่งวันที่ 4 เมษายน 2565 แทน ระหว่างนั้น เวลาผ่านไป อยู่ๆ ก็เกิดอยากได้โต๊ะใหม่มั่ง เพราะอิจฉาภรรยา ก็เลยไปสั่งเพิ่มอีกตัวแบบวู่วามมาก 🤣🤣 แต่ตอนแรกอะ อยากได้แบบที่มีลิ้นชัก เพราะโต๊ะเก่าผมอะ มันมีลิ้นชักอยู่ แต่มันก็แอบมีปัญหาจุกจิกเรื่องการออกแบบ เพราะผมก็อยากได้อิแบบที่มันสามารถเอา Monitor arm หรือพวก Clamp มันจับขอบโต๊ะได้ ซึ่งมันทำอะไรแบบนี้ยากอะครับ (และการมีไม้บนล่างแบบนี้ แอบแพงแน่นวล) สรุปเลยกลายเป็น 120×60 เซ็นติเมตร แบบธรรมดาๆ ดีกว่า

แต่ด้วยความที่โต๊ะผมอะ มันมี UPS และ Subwoofer ของลำโพง Creative Pebble Plus ด้วย ผมก็เลยต้องขอ CPU holder ไซส์ที่พิเศษๆ หน่อย จะได้พอใส่ของได้ ก็อธิบายขนาดของทั้ง UPS และ Subwoofer ให้ไป ก็ได้ดีไซน์ของ CPU holder มาแบบนี้ครับ ลักษณะคล้ายๆ ทรงลูกบาศก์เลย คือ 45×45×45 เซ็นติเมตร แบบในรูปด้านล่าง นี่คือเขาสเก็ตช์ให้ผมแบบนี้เลยนะ

รอบสองไม่ได้ซื้อตอนมีโปร เพราะวู่วาม 🤣🤣 ก็ได้ของแถมมาเป็นแค่ Cable tray เฉยๆ ครับ แต่ไม่ได้มี Monitor arm หรือแท่นวางหน้าจอ ซึ่งผมก็ไม่ซีเรียสอะไรนะ เพราะเอามาก็ไม่ได้ใช้ซักอย่างครับ ผมมีแท่นวางหน้าจอเป็นไม้ไผ่อยู่แล้ว ซื้อมาไม่กี่ร้อยเอง และผมก็ไม่ได้กะใช้ Monitor arm ครับ เพราะจอหลักของผม HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition ผมยังใช้ลำโพงของมันอยู่ มันเอาไว้ฟังประชุมออนไลน์ได้ดี และถ้าจะติดกับ Monitor arm ผมก็ต้องหาที่เก็บขามันอีก 😓😓 ส่วนอีกจอ แนวตั้ง ผมก็อุตส่าห์เลือกซื้อจอ Dell P2217H 22″ แบบที่หมุนตั้งเองได้อยู่แล้ว (ซื้อมามือสองนะ) ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้ Monitor arm เท่าไหร่ อันนี้เช็กแล้ว ก็สามารถจัดส่งวันที่ 4 เมษายน 2565 พร้อมกับโต๊ะของภรรยาผมได้เลย มารอบเดียวจบ
สรุป: โต๊ะตัวที่ 2 ของผมเอง 120×60 เซ็นติเมตร ท็อปไม้โอ๊คประสาน แถม Cable tray ซื้อเพิ่ม CPU holder ไซส์พิเศษ ขาสีขาว
ตอนผมสั่งซื้อโต๊ะของภรรยา ผมก็มีการแจ้งพิกัด Google Maps ของหมู่บ้านผมไปให้เรียบร้อย เพราะผมมีประสบการณ์ว่าหากเอาชื่อหมู่บ้านไปหาเองบน Google Maps มันก็จะพาไปอีกที่ ที่อยู่ห่างไปราวๆ 7-10 กิโลเมตร (ขึ้นอยู่กับไปเส้นทางไหน) เพื่อให้แน่ใจว่าทีมส่งจะไม่ไปผิดที่ให้เสียเวลา ส่งพิกัดให้เองคือดีสุด แต่พอตอนที่ผมสั่งซื้อโต๊ะของผม เนื่องจากส่งพร้อมกัน ผมก็ไม่ได้ย้ำเรื่องพิกัดที่อยู่บ้านผมอีก เพราะเคยแจ้งไปแล้ว … แต่นั่นผมประมาทไปจริงๆ
ก่อนจะถึงวันส่ง … และเมื่อถึงวันส่งจริง
ตอนที่ผมสั่งซื้อโต๊ะของภรรยาผมและของผม ผมมีการสอบถามเรื่องการขอความช่วยเหลือในการขนย้ายโต๊ะตัวเก่าของภรรยาผม ซึ่งมันเป็นโต๊ะแบบมีเหล่าเต๊งไว้วางของ ยี่ห้อเฟอร์ราเดค ซึ่งจริงๆ โต๊ะตัวนี้ดีนะ โดยเฉพาะคนที่ใช้แค่โน้ตบุ๊กหรือว่าใช้จอคอมพิวเตอร์ขนาดไม่ใหญ่มาก ซัก 27 นิ้ว อะไรแบบนี้ แต่อิเหล่าเต๊งนี่มันก็เป็นข้อจำกัด และด้วยความที่อยากจะได้โต๊ะปรับระดับไฟฟ้า จะได้เหมาะกับการนั่งที่แท้ทรู เราก็ต้องย้ายโต๊ะตัวนี้ลงไปชั้นล่างก่อน

ซึ่งตอนแรกผมประเมินว่า อาจจะต้องแยกชิ้นส่วนก่อน จะได้เอาลงได้สะดวกๆ จึงเป็นที่มาของการขอความช่วยเหลือในการขนย้ายครับ ซึ่งผมยินดีที่จะชำระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งทางแอดมินก็ตอบมาว่า “ได้ค่ะคุณลูกค้า” และตอนผมซื้อโต๊ะของผม ผมก็ย้ำอีกที (กลัวเขาลืม) ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ตอบ “ได้ค่ะคุณลูกค้า” เช่นเคย อ่ะ เริ่มวางใจ


กำหนดส่งของวันที่ 4 เมษายน ผมก็ส่งข้อความอินบ็อกซ์ไปสอบถามวันที่ 31 มีนาคม เพื่อยืนยันเวลาส่งหน่อย เพราะผมจะได้รู้ว่าผมควรจะอยู่บ้านตอนไหน คือ ผมลางานยาว 2-17 เมษายน และผมก็รู้ว่าจะมีของส่งวันที่ 4 เมษายน ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องอยู่บ้านตลอดเวลา คือ ถ้ารู้ว่าจะมาประมาณกี่โมง ก็จะได้รู้ว่าจะวางแผนทำธุระต่างๆ อย่างไรละนะ ประเด็นมันมาเกิดตอนที่ทีมส่งของเขาโทรมาคอนเฟิร์มเรื่องเวลากับผม ซึ่งผมถามย้ำเรื่องการรื้อโต๊ะเก่าให้ผม (จริงๆ ผมมีโต๊ะสองตัว อีกตัวมันรื้อไม่ได้แล้ว มันเก่ามาก แต่แม้ว่ามันจะหนักหน่อย แต่ก็พอจะหาคนมาช่วยแบกลงได้ ก็วางแผนจะแบกลงเองในวันเสาร์ที่ 2 เมษายน) ปรากฏว่า ทีมขนส่งดูเหมือนจะไม่ทราบว่าได้มีการตกลงเรื่องการรื้อโต๊ะซะงั้นครับ ซึ่งตรงนี้เป็นการประสานงานที่บกพร่อง ต้องปรับปรุงแก้ไขครับ เพราะผมได้มีการสอบถามย้ำไป 2 รอบแล้ว และได้คำตอบว่า “ได้ค่ะคุณลูกค้า” ทั้งสองครั้งจนผมวางใจ แต่มารู้ตอนหลังว่าอาจจะทำให้ไม่ได้ ซึ่งทำให้ทางทีม Tam Design ต้องไปปรึกษากับทีมช่างอีกครั้ง

คือจริงๆ ก็ต้องบอกว่า ผมเข้าใจนะว่าทีม Tam Design อาจจะไม่สามารถที่จะให้บริการช่วยเหลือส่วนนี้ได้ หรืออาจจะไม่สะดวกที่จะให้บริการในส่วนนี้ เพราะนี่มันคือ “การขอความช่วยเหลือ” ที่อยู่นอกเหนือจากบริการปกติของทางแบรนด์ ดังนั้น หากไม่สามารถทำได้ ก็แค่ตอบมาตรงๆ เลยฮะ ผมจะได้ไปหาทางอื่นต่อ (เช่น อาจจะให้ช่างของหมู่บ้านมาช่วย) คือ จริงๆ มันถอดไม่ยากหรอก แต่ผมไม่มีพวกไขควงไฟฟ้ากำลังสูงที่จะมาช่วยถอดน็อตอะ
แต่สรุปคือ ทีม Tam Design ก็หารือกัน และสรุปว่า สามารถมาช่วยขนย้ายได้ครับ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม … ขอบคุณครับ
เมื่อมาถึงวันส่งจริง ก็นัดกันว่าจะมาถึงก่อนเที่ยง ทีมส่งของคือตรงเวลาดีครับ ไม่เกินเที่ยงก็ติดต่อมาเลย แต่ว่า… เขาไปผิดที่ 😓😓 คือ เหมือนว่าแอดมินไม่ได้ส่งพิกัดบ้านผมให้ทีมส่งของทราบ และเขาใช้วิธีหาพิกัดโดยการพิมพ์ชื่อหมู่บ้านของผม ซึ่งมันจะไปซ้ำกับอีกที่ ที่อยู่ห่างออกไป 7-10 กิโลเมตรนั่นแหละ เลยทำให้เสียเวลารอไปอีกพักนึง อันนี้เป็นเครื่องตอกย้ำอีกครั้งว่าต้องปรับปรุงเรื่องการประสานงานของทีมหลังบ้านจริงๆ ครับ
ส่วนเรื่องการย้ายโต๊ะ ปรากฏว่าง่ายกว่าที่คิด เพราะทีมช่างมาดูที่หน้างานแล้ว ประเมินว่าไม่ต้องรื้อโต๊ะหรอก ก็ช่วยกันขนแบบระวังๆ ก็สามารถขนจากห้องนอนผมที่ชั้น 3 ลงชั้น 1 ได้ และช่างทั้งสองคนก็ช่วยกันครับ แป๊บเดียว ของก็ลงไปอยู่ด้านล่างแล้ว (โชคดีตรงที่โต๊ะเป็นไม้อัด และเหล็กกลวง น้ำหนักแอบเบา เลยขนได้ไม่ยาก ง่ายกว่าอีตัวแรกที่ผมขนลงอีก)
แต่นึกว่าเรื่องจะจบ … ไม่จบครับ 🤣🤣 เพราะผมมาพบภายหลังว่า โต๊ะของผมที่ขาสีขาว CPU holder ที่ทำมาให้ดันเป็นสีดำซะงั้น 😓😓 และเขาไม่ได้เอา CPU holder ของโต๊ะภรรยาของผมมาด้วย นอกจากนี้ Cable tray ที่แถมมา และผมซื้อมาเพิ่มให้ภรรยา ก็ดันใหญ่มาก (คือ ตอนที่เห็นในรูปไม่คิดว่ามันจะใหญ่ขนาดนี้) ใหญ่ชนิดที่ว่า ถ้าเกิดมีการติดตั้ง CPU holder สำหรับโต๊ะไซส์ 120×60 เซ็นติเมตรแล้ว จะติดตั้ง Cable tray ไม่ได้จ้า … แหง่ว


เราก็ต้องเริ่มแก้ปัญหาหน้างานกันละครับ เริ่มจากเรื่องสีของขาโต๊ะและ CPU holder ที่ไม่เหมือนกัน ผมก็จบลงด้วยการที่ผมสลับเอาขาสีดำมาใช้เอง มันก็จะเข้ากับ CPU holder เลย ส่วนภรรยาผมก็ใช้ขาสีขาวไป ซึ่งตรงนี้มันโชคดีเพราะว่าโต๊ะของผมและของภรรยามันไซส์เดียวกัน และ CPU holder ของภรรยาผมเขาลืมเอามา ผมก็เลยแจ้งทีมของ Tam ว่า ให้ทำสีของ CPU holder ของภรรยาผมเป็นสีขาวแทนไปเลย ความโชคดีของผมอีกอย่างก็คือ สีขาวมันก็เข้ากับมุมโต๊ะทำงานของภรรยาผมพอดีอะนะ

ผมมาสังเกตอีกอย่างว่า CPU holder ของผม มันไม่ใช่ไซส์ (W)45×(D)45×(H)45 เซ็นติเมตร แต่กลับเป็นไซส์ (W)35×(D)48×(H)46 เซ็นติเมตร แทนซะงั้น ก็เรียกว่าฐานเล็กกว่าที่กำหนดไว้ครับ (ไซส์ที่ออกแบบตอนแรก พื้นที่วางคือ 2,025 ตารางเซ็นติเมตร แต่ไซส์ที่ได้จริง 1,680 ตารางเซ็นติเมตร) แต่ก็แอบโชคดีอีกว่าพอเอามาวางจริง ผมวาง UPS และ Subwoofer ได้พอดีหวุดหวิด (จริงๆ ที่ดีไซน์กว้าง 45 เซ็นติเมตร ก็คือเผื่อไว้มีช่องว่างหน่อย) ก็ถือว่าเลยตามเลยได้แหละ เพราะมันก็ตอบโจทย์การใช้งาน และจริงๆ ผมกลับต้องขอบคุณที่เขาไปปรับสเปกเหลือกว้าง 35 เซ็นติเมตรครับ เพราะอะไรนั้น อ่านบล็อกต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ส่วน Cable tray ที่ใหญ่เกิน (จริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เขาแถมของใหญ่นะ) พอมาดูดีๆ แล้วก็พบว่า ถ้าตัดออกซักส่วนนึง มันก็สามารถติดตั้งที่โต๊ะได้พร้อมๆ กับ CPU holder แล้ว เผอิญโชคดีว่าข้างบ้านเขามีช่างมาทำท่อประปาพอดี และผมก็รู้จักช่างด้วย เพราะคือทีมที่มารีโนเวทระเบียงบ้านผมให้เป็นห้องทำงาน ผมก็เลยไปขอให้เขาช่วยเจียรตัดให้หน่อย เป็นอันจบ ติดตั้งได้เรียบร้อยจ้า
Tam Design 1st time กับความประทับใจแรก
การติดตั้งใช้เวลาไม่นานแหละ ที่นานน่ะ การแก้ปัญหา 🤣🤣 แต่ด้วยความที่เราก็เคยทำงานกับช่างมาบ้าง ก็พอจะช่วยแก้ปัญหาหน้างานได้บ้าง และคอมเมนต์ใดๆ ถึงทีม Tam Design ก็เป็นการติเพื่อก่อนะครับ ทีมช่างที่มาติดตั้ง สุภาพเวอร์วังมาก นิสัยดีมาก ให้ความช่วยเหลือดีมาก อันนี้ประทับใจสุดๆ

โต๊ะพร้อมแล้ว ผมก็เอาโน่นนี่นั่นมาวางบนโต๊ะตามที่เคยออกแบบไว้เลย ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน ซึ่งจริงๆ มันก็คืออยู่ที่เดิมนั่นแหละ เพราะโต๊ะตัวเก่ามันก็ไซส์นี้ 🤣🤣 ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วจะเปลี่ยนมาเป็นโต๊ะ Tam Design ทำไม(วะ) คำตอบของผมก็คือ…
🔎 เอาเรื่องของท็อปโต๊ะก่อน โต๊ะตัวเก่าของผมและภรรยาอะ มันไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ร่วมกับอุปกรณ์จำพวก Monitor arm หรืออุปกรณ์ที่สามารถยึดจับกับโต๊ะด้วย Clamp ได้ (เช่น พวกโคมไฟ หรือ ขากล้องเว็บแคม) การเปลี่ยนมาเป็นโต๊ะดีไซน์แบบนี้ ก็จะทำให้ผมและภรรยาติดตั้งอุปกรณ์โน่นนี่นั่นเพิ่มในอนาคตได้ เช่น ตอนนี้ผมติดที่วางแก้วเพิ่มมา 🤣🤣 ซื้อมาจาก IKEA เมื่อวันก่อน

🔎 ถัดมาคือเรื่องของวัสดุที่เอามาทำท็อปของโต๊ะ ซึ่งผมเลือกเป็นไม้โอ๊คประสาน มันเป็นไม้แท้ มันก็มีความทนทานกว่าไม้อัดครับ แต่ความที่เป็นไม้ประสาน ก็ต้องเข้าใจนิดนึงว่ามันคือการนำไม้แผ่นเล็กๆ มาต่อกันนะครับ โดยทาง Tam Design เขาเก็บงานได้เนี๊ยบดีมาก เอาเล็บไปพยายามสะกิดตรงรอยต่อของไม้ คือ เนียนสนิท และเราสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะเอาขอบมนแค่ไหน ตรงมุมจะเอา R ซักเท่าไหร่ (ถ้า R เยอะ มุมก็จะมีลักษณะเป็นโค้งวงกลมเลย) แต่ความที่เป็นไม้ประสาน เราก็จะเห็นลายไม้ที่ปะติดปะต่อกัน และเราจะเห็นรอยครูดบนผิวไม้ ซึ่งเกิดขึ้นกับไม้ตอนที่เป็นเศษไม้อยู่อะ แต่เมื่อโดนเก็บงานแล้ว มันก็เรียบร้อยดีนะ สัมผัสแล้วเนียน แต่มันจะแค่ดูเป็นรอยๆ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบ ถ้าใครไม่ชอบอะไรแบบนี้ อาจต้องเลือกเป็นไม้แผ่นใหญ่ ที่ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกนะครับ



🔎 จุดถัดมาคือ การปรับระดับ ซึ่งสเปกของรุ่นที่ผมซื้อ มันเป็นแบบมอเตอร์ 2 ตัว มันก็จะดันโต๊ะขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ รุ่นที่ผมซื้อมานี่ ตัวสวิตช์สำหรับปรับระดับสวยทีเดียว แต่ช่างแนะนำว่าให้ติดเอาไว้ใต้ท็อปไม้ดีกว่าที่จะให้ยื่นออกมา เพราะตัวสวิตช์มันเป็นแบบเน้นสวยมาก มันเลยเป็นแผ่นพลาสติกใส ความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น หากเผลอลุกแล้วไปเกี่ยวเข้าแรงๆ สวิตช์อาจแตกหักเสียหายได้ เอาหลบไว้แบบนี้ โอกาสจะเสียหายก็น้อยลง หน้าจอแสดงผลก็จะเป็น OLED ขาว-ดำ เวลากดสวิตช์ ก็จะมีไฟสีฟ้าครับ สวยดี เราสามารถตั้งค่าให้จำระดับความสูงที่ตั้งไว้ได้ 2 ระดับ คือ ปรับไปถึงความสูงที่โอเคแล้ว ก็กดปุ่ม M ทีนึง รอให้หน้าจอเป็นรูปหัวใจ ก็กดตัวเลข 1 หรือ 2 เพื่อจำค่า อย่างกรณีผมเนี่ย ก็ตั้งเลข 1 เป็นระดับความสูงตอนผมนั่งทำงาน ส่วนเลข 2 ก็ตั้งเป็นระดับความสูงตอนจะยืนทำงาน


ผมชอบระบบการปรับระดับความสูงของโต๊ะ Tam Design ตรงที่เวลากดตั้งความสูงจากที่จำค่าเอาไว้ เมื่อความสูงใกล้จะถึงระดับที่ต้องการแล้ว มอเตอร์จะค่อยๆ ทำงานให้ช้าลง แล้วค่อยๆ หยุดตรงตำแหน่งที่ตั้งไว้
🔎 การปรับระดับความสูงของโต๊ะ สามารถปรับได้ตั้งแต่ 62.3 เซ็นติเมตร ไปจนถึง 127 เซ็นติเมตร สำหรับหลายๆ คนก็คือ เอามาใช้สลับนั่งทำงานและยืนทำงาน เพราะบางคนนั่งทำงานนานๆ ก็อยากจะสลับมายืนทำงาน เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่สำหรับผมเนี่ย ประโยชน์ของโต๊ะไฟฟ้าปรับระดับได้จริงๆ คือ การปรับให้ความสูงของโต๊ะมันเหมาะสมกับผู้นั่งจริงๆ เพราะหลายครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าเราเหมาะกับโต๊ะความสูงเท่าไหร่ และโต๊ะสำเร็จรูปที่มีขาย มันก็มีความสูงตายตัว ที่อาจจะไม่เหมาะสมกับตัวของเรา การเปลี่ยนเก้าอี้นั่ง หรือวิธีนั่งทำงาน ก็อาจจะทำให้ระดับความสูงของโต๊ะที่เหมาะสมเปลี่ยนไป ถ้ามีโต๊ะไฟฟ้าปรับระดับได้ ตัวเดียวก็เอาอยู่ไง

🔎 ดีไซน์แบบมี CPU holder และ Cable tray ช่วยให้พื้นห้องไม่รกไปด้วยสายไฟ แล้วก็ไม่ต้องกังวลมากเรื่องการเผื่อความยาวสายไฟจากพวกรางไฟ หรือ UPS หรือเคสคอมพิวเตอร์ (สำหรับกรณีของคนที่วางเคสคอมพิวเตอร์ไว้ข้างล่าง) เพราะมันจะขึ้นและลงไปตามโต๊ะด้วยเลย พวกสายไฟ รางไฟ ก็ปล่อยให้มันไปรกตรง Cable tray นั่นแหละ


อย่างไรก็ดี การมีโต๊ะ Tam Design หรือโต๊ะยี่ห้อไหนๆ ก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าจะช่วยสายไม่รกนะครับ มันอยู่ที่ว่าคุณมีอุปกรณ์ต่อพวกกี่มากน้อย และอุปกรณ์พวกนี้ มันต้องเชื่อมต่อแบบมีสายหรือไร้สาย ลองคิดง่ายๆ ถ้าเกิดเราสามารถเชื่อมต่อคีย์บอร์ด เมาส์ และลำโพง แบบไร้สายได้ มันก็ประหยัดสายไปได้มากโขอยู่ แต่เผอิญ โต๊ะผมมีทั้งลำโพงมีสาย จอ 3 จอ ต่อกับ UPS อีก มีเว็บแคม มี Lightbar ของ Xiaomi มีไมโครโฟน Condenser ของ Maono และสายชาร์จโน่นนี่นั่น ก็อดไม่ได้หรอกครับ ที่จะต้องมีสายไฟรกรุงรังประมาณนึง ผมเลือกที่จะไม่เก็บมาก เพราะถ้าเก็บดีเกินไป ตอนจะต้องปรับนี่วุ่นตายชัก

ไม่ต้องอะไรมาก ตอนแรกอะผมก็วาง Settings ของโต๊ะไว้แบบเดียวกับตอนที่ผมใช้กับโต๊ะตัวเก่า คือ จอ Dell P2217H อยู่ด้านซ้าย เป็นแนวตั้ง และจอ Portable monitor เป็นแนวนอน อยู่ด้านขวา แต่ปรากฏว่า ผมดันลืมนึกถึง Leg space หรือ พื้นที่วางขาไปซะสนิท (เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก) เพราะผมมี CPU holder ค่อนข้างใหญ่ ถ้าผมนั่งแบบกลางโต๊ะ ผลคือ เก้าอี้ติดกับ CPU holder เลยจ้า นั่งไม่สะดวก สุดท้าย ต้องปรับใหม่ เอาจอ Dell P2217H ไปวางด้านขวาเป็นแนวตั้งเหมือนเดิม เลื่อนจอหลัก HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition ไปทางซ้าย และวาง Portable monitor ซ้อนเหลื่อมกับจอหลักทางซ้ายมือหน่อย ถึงจะสามารถนั่งได้สะดวก อันนี้ อยากฝากไว้ว่า ใครจะซื้อโต๊ะที่ขนาดซัก 120×60 เซ็นติเมตร แบบผม ต้องระวังเรื่องการติดตั้ง CPU holder ครับ ถ้าเป็นคนที่ชอบนั่งชิดติดโต๊ะมาก ให้เช็กสเปกของ CPU holder ขนาดที่เลือกให้ดีๆ … ภาพด้านล่างนี่คือ Settings บนโต๊ะของผม ภาพซ้ายคือแบบเดิม ส่วนภาพขวาของการปรับใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่วางขา


ส่วนเรื่องของความทนทานใดๆ นั้น ต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ Tam Design เขามีการรับประกันท็อปไม้ 1 ปี และมอเตอร์ 5 ปี ยกเว้นกรณีความเสียหายจากกรณีอุบัติเหตุและจากการใช้งานที่ผิด อันนี้เดี๋ยวผ่านไปซักปี ถ้าไม่ลืม จะกลับมารีวิวให้อ่านอีกที ว่าผมชอบไม่ชอบอย่างไร หลังจากใช้งานไปนานๆ ครับ
🔎 เรื่องสุดท้าย สำหรับคนใช้ท็อปไม้แท้ แต่ให้เป็นแบบไม้ประสานก็เหอะ ถ้าลองดมใกล้ๆ ท็อปโต๊ะดู จะได้กลิ่นหอมของไม้ครับ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันเป็นเรื่องดีต่อใจของใครหลายๆ คน
บทสรุปการรีวิวโต๊ะ Tam Design
จะซื้อโต๊ะ Tam Design ถ้าไม่รีบ แนะนำให้รอจังหวะโปรโมชันดีๆ ครับ จะเห็นความแตกต่างระหว่างตอนผมซื้อโต๊ะของภรรยา ที่เขามีแถม Monitor arm กับ CPU holder (ซึ่งผมขอเปลี่ยนจาก Monitor arm เป็นแท่นวางจอแทน) ผมต้องซื้อ Cable tray เพิ่ม แต่โต๊ะของผม ที่ไม่ได้แถมอะไรเลย นอกจาก Cable tray และต้องซื้อ CPU holder เพิ่ม ซึ่งขอบอกเลยว่าคิดผิดมาก 🤣🤣 ถ้าเกิดผมซื้อพร้อมกับภรรยา ผมจะเสียค่า Cable tray 2 อัน แค่ราวๆ 2 พันบาท แถมผมยังได้แท่นวางจอไม้แท้ประสานเพิ่มอีกอัน เผื่อเอามาขายก็ได้หลายตังค์ แต่นี่ผมต้องโดนค่า CPU holder ไปหลายพันเลยครับ 😭😭 ฉะนั้นจำไว้ จับจังหวะซื้อให้ดี
ระบบหลังบ้านของทาง Tam Design ต้องปรับปรุง เพราะมีการประสานงานและส่งต่อข้อมูลผิดพลาดง่ายๆ ค่อนข้างบ่อย ซึ่งแน่นอนว่าทาง Tam Design ก็แก้ปัญหาได้โอเคครับ แต่มันก็เสียเวลาทั้งสองฝ่าย และสำหรับลูกค้าบางคน ผมว่าเวลาของเขาก็อาจจะสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้ ผมโชคดีที่รู้จักกับทางผู้จัดการทั่วไปของ Tam Design ก็เลยได้คอมเมนต์ไปโดยตรงแล้ว แต่สำหรับลูกค้าทั่วไป หากมีปัญหา แนะนำให้อินบ็อกซ์ไปคอมเมนต์กันได้ครับ ติเพื่อก่อ
ด้านคุณภาพโต๊ะ ประสบการณ์แรกสัมผัส เทียบกับโต๊ะปรับระดับไฟฟ้าที่ผมเคยใช้ที่ออฟฟิศ ก็ต้องบอกว่าความรู้สึกของการได้ใช้ท็อปไม้แท้ (แม้จะเป็นแบบประสาน) มันก็ดีกว่าพวกไม้อัดแล้วลามิเนตเอา ส่วนเรื่องความสวยและความเข้ากันได้กับธีมการจัดห้องมันก็อีกเรื่อง บางคนก็อาจจะเลือกใช้ไม้ลามิเนตดีกว่า เพราะเลือกสีได้ ซึ่งตรงนี้ Tam Design เขาก็มีให้บริการนะ ลองไปเลือกดูครับ คุณภาพในระยะยาว เดี๋ยวเก็บมาเล่าให้อ่านกันอีกที ขอใช้ไปยาวๆ ก่อน แต่เบื้องต้นก็ต้องเชื่อว่า ที่เพื่อนๆ บล็อกเกอร์ของผมเลือกใช้ Tam Design กันเยอะ มันก็ต้องดีสิ จริงแมะ