Home>>รีวิว>>รีวิว QNAP TS-233 NAS สำหรับทำ Personal cloud และ Home media center พร้อม NPU ช่วยประมวลผลเรื่อง AI
QNAP TS-233 วางอยู่บนโต๊ะไม้สีไม้อ่อน มีลิ้นชักสีขาว มีนาฬิกาเข็มแบบตั้งโต๊ะ และเก้าอี้วางอยู่ข้างๆ
รีวิว

รีวิว QNAP TS-233 NAS สำหรับทำ Personal cloud และ Home media center พร้อม NPU ช่วยประมวลผลเรื่อง AI

ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของปี 2565 ของ QNAP ตัวแรกของปีนี้ที่ผมได้มารีวิวเลยก็คือ QNAP TS-233 ที่เป็น NAS ในกลุ่มผู้ใช้งานตามบ้าน เป็นแบบที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็นสถาปัตยกรรม ARM แบบ 2-bay ไม่ต้องใช้พัดลมสำหรับระบายความร้อนให้ CPU (แต่ยังมีพัดลมสำหรับระบายความร้อนของระบบโดยรวมอยู่นะ เพราะฮาร์ดดิสก์มันร้อน) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการ NAS เอามาใช้ทำ Personal cloud ในราคาประมาณ 7 พันกว่าบาท ถือเป็นราคาที่ไม่เกินเอื้อมมาก (แต่ราคานี้ยังไม่รวมฮาร์ดดิสก์นะครับ!!) ผมได้ยืมมาลองใช้ แล้วก็เลยจะขอถือโอกาสรีวิวให้ได้อ่านกัน

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

QNAP TS-233 ที่ได้มารีวิวในครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก QNAP Thailand ให้ยืมมาลองใช้ เพื่อจะได้เก็บเอามาเล่าให้อ่านเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อหามาใช้งานกันครับ

แกะกล่อง QNAP TS-233 ออกมา นอกจากตัว NAS แล้ว ภายในกล่องก็จะมีตัวอะแดปเตอร์ 65 วัตต์ (12V 5.417A) พร้อมสายไฟ กับสาย 1GbE LAN มาให้อีกเส้นนึง แล้วก็ชุดน็อตสำหรับยึดฮาร์ดดิสก์ ในกรณีที่จะใช้งานฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ขนาด 2.5 นิ้ว

ดีไซน์ของตัว NAS เป็นแบบเรียบ แต่ดูดี ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน การออกแบบของตัวเครื่องจึงไม่ใช่ทรงเทอะทะ ดูเชยๆ ครับ ตัวเครื่องขาว มีแถบสีดำเอาไว้แสดงผลไฟ LED ต่าง ๆ และมีปุ่ม Power สำหรับเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่ม Copy พร้อมพอร์ต USB-A แบบ USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) ความที่เป็น NAS แบบ 2-bay แล้วดีไซน์แบบ Minimalist ที่มีขนาดกะทัดรัด เลยไม่ได้ออกแบบมาให้สามารถถอดฮาร์ดดิสก์ออกทางด้านหน้าได้เหมือนรุ่นสำหรับองค์กร

QNAP TS-233 ด้านหน้า

ส่วนด้านหลังของตัว QNAP TS-233 นั้น จะเป็นพัดลมขนาด 3 นิ้วเอาไว้ระบายความร้อน มีปุ่มเอาไว้รีเซ็ตเครื่อง ช่องเสียบอะแดปเตอร์ AC และมาพร้อมกับพอร์ต 1GbE ให้พอร์ตนึง กับพอร์ต USB-A แบบ USB 2.0 มาให้อีกสองพอร์ต

QNAP TS-233 ด้านหลัง

ด้านใต้ของ QNAP TS-233 ก็จะเป็นช่องระบายอากาศ ที่ทำหน้าที่ดูดอากาศเย็นเข้าไปในตัวเครื่อง และระบายความร้อนออกจากตัวเครื่องด้วยพัดลมที่ด้านหลัง ก็ตามหลักแหละครับ คือ อากาศเย็นมันจะอยู่ด้านล่าง และอากาศร้อนมันอยู่ด้านบนนั่นเอง นอกจากนี้ เราก็จะเห็นน็อต 1 ตัว ที่สามารถขันออกได้ง่ายๆ ด้วยเหรียญบาท พอขันน็อตออกมา ก็จะสามารถถอดฝาเครื่องออกได้ และเห็นฮาร์ดดิสก์อยู่ในนั้น ซึ่งทาง QNAP ใส่ Seagate IronWolf Pro 6TB มาให้สองลูกเลย

แน่นอนว่า ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ตอนนี้ ถูกดีไซน์ให้เป็นแบบ Tooless แล้ว คือ มีสลักยึดฮาร์ดดิสก์ ไม่ต้องใช้น็อตเลย หากเราติดตั้งฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว แต่ถ้าเกิดเราอยากติดตั้งฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ขนาด 2.5 นิ้ว ก็จะต้องใช้ชุดน็อตที่แถมมาในกล่องนั่นแหละ ขันยึดนะครับ

ฮาร์ดดิสก์ Seagate IronWolf Pro 6TB ในถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ของ QNAP TS-233

ทีนี้มาดูที่สเปกของ QNAP TS-233 กันบ้าง ว่าเขาให้อะไรมาบ้างครับ เริ่มต้นที่หน่วยประมวลผลเป็น ARM 4-core Cortex-A55 2.0GHz เป็น CPU แบบ 64-bit ซึ่ง QNAP ไม่บอกว่าเป็นของค่ายไหน พร้อมหน่วยความจำ 2GB ที่มาพร้อมกับเมนบอร์ดเลย และไม่สามารถอัปเกรดเพิ่มเติมใดๆ ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของ NAS ที่ใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ของ QNAP นะ (จริงๆ มันก็เหมือนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต มันก็อัปเกรดหน่วยความจำไม่ได้เช่นกัน) มี Flash memory เอาไว้ใส่พวกระบบปฏิบัติการมาให้แล้ว ความจุ 4GB ซึ่งเราไปยุ่มย่ามอะไรกับมันไม่ได้

สำหรับพอร์ตการเชื่อมต่อ ก็มีพอร์ต USB-A มาให้ 3 พอร์ต ด้านหน้าพอร์ตนึงเป็น USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) ส่วนด้านหลังเป็น USB 2 (แบนด์วิธ 480Mbps) ซึ่งตรงนี้แอบเสียดายและแปลกใจมาก ที่ QNAP ยังให้ USB 2.0 มา แถมให้มาตั้ง 2 พอร์ต คือ ถ้าเกิด QNAP TS-233 มันมีพอร์ต HDMI เพื่อต่อจอแสดงผลภายนอก ก็พอจะเข้าใจได้ว่าให้มาเผื่อใช้ต่อคีย์บอร์ดกับเมาส์ เพื่อใช้งานร่วมกับ Hybrid Desk Station คือ สามารถใช้งาน QNAP NAS ได้โดยตรง ไม่ต้องล็อกอินผ่านเบราว์เซอร์เลย แต่นี่มันก็ต่อกับจอแสดงผลภายนอกไม่ได้ และปัจจุบัน ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยก็หันมาใช้ External HDD หรือ External SSD กันแล้ว ซึ่งจะได้ใช้ประโยชน์จากแบนด์วิธของ USB 3.2 Gen 1 มากกว่า ส่วน USB 2.0 ก็จะเรียกว่าช้าเกินไปอะ (ต่อให้เอาไปใช้กับ External HDD ก็จะได้ความเร็วแค่ประมาณ 50% ของปกติเท่านั้น) น่าจะให้ทุกพอร์ต USB เป็น USB 3.2 Gen 1 เลยดีกว่า แต่เหมือนกับว่ามันเป็นข้อจำกัดของ NAS ที่ใช้หน่วยประมวลผล ARM มั้ง เพราะรุ่นอื่นๆ ก็จะมี USB 3.2 Gen 1 แค่พอร์ตด้านหน้าเครื่องครับ

แต่มี USB 3.2 Gen 1 มาให้พอร์ตนึง ถ้าเกิดต้องถ่ายโอนข้อมูลก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรอกนะ ก็เสียบพอร์ตด้านหน้านี่แหละ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร และคนทั่วก็น่าจะใช้เสียบทีละ 1 อุปกรณ์อยู่แล้วละนะ

หน้าจอโปรแกรม AppCenter บน QNAP TS-233

ด้วยความที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็นแบบสถาปัตยกรรม ARM และมีหน่วยความจำไม่มาก (แถมอัปเกรดก็ไม่ได้) ก็จะทำให้ QNAP TS-233 นี่อาจจะใช้แอปบางอย่างไม่ได้ ซึ่งจะเป็นพวกที่ต้องการ NAS ประสิทธิภาพสูงๆ เช่น Virtual Station แต่พวกแอปพื้นฐานที่จำเป็นของ QNAP NAS เช่น HBS3 ที่เอาไว้สำหรับสำรองข้อมูล Qsync ที่เอาไว้สำหรับสร้าง Personal cloud แบบพวก OneDrive หรือ Google Drive เนี่ย สามารถติดตั้งใช้งานได้ รวมถึง Plex Media Server นี่ก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาเช่นกัน เพราะปัจจุบัน หน่วยประมวลผลของ ARM นี่ สามารถเล่นไฟล์มัลติมีเดียระดับ Full HD ได้สบายๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่สูง เราก็จะไม่สามารถใช้ฟีเจอร์จำพวก On-the-fly transcoding ที่ทำการเข้าถอดรหัสไฟล์วิดีโอ และแปลงรหัสไฟล์วิดีโอ ณ ขณะที่เล่น เพื่อให้สามารถเล่นไฟล์ประเภทใดๆ บนอุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวก อาจจะต้องไปตั้งค่าเพื่อให้ตัว Plex Media Server ทำการแปลงไฟล์เอาไว้รอก่อน แต่ด้วยความที่ NAS มันก็คืออุปกรณ์ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงได้อยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากไปกว่าการต้องรอนั่นแหละนะ

หน้าจอ AppCenter ตอนคลิกดูรายละเอียดของแอป Plex Media Server

สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป แอปต่างๆ และฟีเจอร์ต่างๆ ที่ QNAP TS-233 ให้ได้นั้น ผมว่าเพียงพอสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น

🟦 การใช้เป็นไฟล์เซิร์ฟเวอร์เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ โดยรองรับทั้งอุปกรณ์ที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows, macOS และ Linux เชื่อมต่อผ่านโปรโตคอลต่างๆ ที่แต่ละระบบปฏิบัติการรองรับ (ง่ายสุดสำหรับผู้ใช้ตามบ้านก็คือ SMB แหละนะ) และอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ก็สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแอป Qfile

🟦 การสร้าง Personal cloud เอาไว้เก็บข้อมูลเหมือนพวก OneDrive หรือ Google Drive ด้วย Qsync อย่างที่ผมได้พูดถึงไปในตอนต้น หรือใช้งานแอป QuMagie เพื่อใช้บริหารจัดการรูปภาพต่างๆ โดยทำงานร่วมกับแอป QuMagie บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ที่ช่วยให้เราตั้งค่าเพื่ออัปโหลดรูปจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาเก็บบน QNAP TS-233 โดยอัตโนมัติ ซึ่ง TS-233 ตัวนี้ มี NPU หรือ Neural Processing Unit ที่ทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยทำให้การจดจำใบหน้าเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

🟦 การเป็น Home media server (เช่น ด้วยโปรแกรม Plex Media Server) เอาไว้เก็บพวกไฟล์หนังหรือซีรีส์ แล้วสตรีมไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน ทำระบบ VDO on-demand ซึ่งสเปกของ QNAP TS-233 นี่ แรงพอจะสามารถสตรีมไฟล์วิดีโอความละเอียด Full HD 1080p ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ 4-5 อุปกรณ์พร้อมๆ กันเลย (ไฟล์ MP4 เข้ารหัส H.264)

ภาพส่วนหนึ่งของหน้าจอคลังภาพยนตร์ของ Plex Media Server แสดงรายชื่อภาพยนตร์ที่อยู่ในเครื่อง QNAP NAS บางส่วน

ในแง่ของการอัปเกรด QNAP TS-233 สามารถรองรับฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่สุดได้ที่ 18TB ดังนั้นหากเอามาทำ RAID0 (ซึ่งผมไม่แนะนำ เว้นซะแต่ว่าคุณจะมีการวางแผนสำรองข้อมูลแบบอื่นเอาไว้ หรือข้อมูลที่คุณจะเก็บในนี้ไม่สำคัญ จะหายก็ช่าง) ก็จะสามารถได้ความจุสูงสุดถึง 36TB เลยทีเดียว แต่ถ้าจะทำ RAID1 ก็ได้ความจุสูงสุด 18TB แล้ว ซึ่งก็เรียกว่ามากพอสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปไปยาวนานเลยนะ (ผมใช้ QNAP NAS มาหลายปี เพิ่งใช้เนื้อที่ไปราวๆ 13TB เอง)

หน้าจอแอป Ovibo แสดงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของ QNAP TS-233 อยู่ที่ 6.8 วัตต์

QNAP TS-233 ไม่ได้เหมาะเอาไว้ใช้ทำงานอะไรจริงจังหรือซับซ้อน ขอแบบง่ายๆ เอามาไว้เก็บไฟล์ เก็บรูปภาพ เก็บวิดีโอ อะไรพวกนี้มากกว่า และจำนวนผู้ใช้ไม่เยอะ แบบครอบครัวขนาดซัก 4-5 คน ที่อาจจะไม่ได้ใช้งานพร้อมๆ กันตลอดเวลา อะไรพวกนี้ เหมาะมาก เพราะตัวมันเองใช้หน่วยประมวลผล ARM ที่อาจจะไม่แรง แต่มันก็กินไฟต่ำด้วยเช่นกัน ว่ากันตามสเปกแล้ว ขณะทำงานทั่วไป เจ้านี่จะกินไฟแค่ราวๆ 10.81 วัตต์เท่านั้นเอง ซึ่งผมลองใช้งานจริงดู โดยลองถ่ายโอนข้อมูลข้อมูลขนาด 10GB แล้วดูอัตราการใช้ไฟ ก็อยู่ที่ 6.8 วัตต์โดยประมาณเท่านั้น แต่ถ้าเกิดลองให้มันประมวลผลหนักขึ้นมาหน่อย ลองเปิด Plex Media Server แล้วเล่นไฟล์วิดีโอดูบ้าง เอาแบบไม่โหดร้าย Full HD 1080p พอ มันก็ยังกินไฟแถวๆ 6.8-7.0 วัตต์เองครับ ซึ่งถ้าคำนวณเป็นค่าไฟแล้ว วันนึงยังใช้ไฟไม่ถึง 0.2 หน่วยเลยครับ กินไฟต่ำมากๆ จริงๆ

อย่างไรก็ดี สังเกตได้เลยว่า หากต้องเอา QNAP TS-233 มาทำการถอดรหัสและเข้ารหัสวิดีโอโหดๆ นี่ Plex Media Server อาจค้างได้เลยครับ ใครที่กะว่าจะเอา QNAP TS-233 มาใช้เป็น Media server ผมอยากแนะนำให้เก็บไฟล์วิดีโอเป็นรูปแบบที่เข้ารหัส H.264 ดีที่สุดครับ

บทสรุปการรีวิว QNAP TS-233

QNAP TS-233 เป็น NAS ที่เหมาะสำหรับมือใหม่หัดใช้มากๆ ที่ไม่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผลสูง ตั้งใจจะเอามาใช้ที่บ้านเอาไว้เก็บไฟล์ไว้ที่ศูนย์กลาง เอาไว้ทำ Personal cloud หรือ Home media server อันนี้เหมาะ ค่าตัวก็เรียกว่าไม่แรงมาก รวมฮาร์ดดิสก์ 4TB ซัก 2 ลูก ก็ราวๆ 7 พันบาท (บวกลบนิดหน่อย แล้วแต่ว่าไปซื้อตอนไหน และที่ไหน) รวมๆ แล้วก็หมื่นกลางๆ เป็นราคาที่เอื้อมถึง

แต่ QNAP TS-233 ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ มันขาดความสามารถในการอัปเกรด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลที่ไม่ได้สูงมาก หากภายหลังอยากจะทำโน่นนี่เพิ่ม ก็จะติดขัด หน่วยความจำก็อัปเกรดไม่ได้ด้วย และความที่เป็น NAS แบบ 2-bay ก็จะอัปเกรดความจุเพิ่มได้ไม่มาก (แต่จริงๆ สำหรับคนทั่วไป ผมว่าสูงสุด 18TB ก็ถือว่าเวอร์วังแล้วนะ ทั้งในแง่ของความจุและราคาฮาร์ดดิสก์ที่ต้องจ่ายอะ)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า