Home>>รีวิว>>5 เดือนผ่านไป กับ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS กลับมาเล่าความรู้สึกหลังใช้มายาวๆ ให้อ่าน
รีวิว

5 เดือนผ่านไป กับ ASUS ZenBook Duo 14 UX482EA-HY001TS กลับมาเล่าความรู้สึกหลังใช้มายาวๆ ให้อ่าน

ASUS ZenBook DUO 14 UX482EA-HY001TS หรือขอเรียกสั้นๆ รวมๆ ว่าเป็น ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ก็แล้วกัน เป็นโน้ตบุ๊กที่ผมซื้อมาทดแทน ASUS ZenBook S UX391UA ครับ มันเป็นโน้ตบุ๊กที่มีจอพิเศษ ขนาดประมาณเกือบๆ ครึ่งนึงของหน้าจอปกติ เอาไว้แสดงผลเป็นจอเสริมในตัว เรียกว่าใครถนัดกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ 2 จอ พกตัวนี้ไปตัวเดียว ก็อาจจะเอาอยู่ได้ประมาณนึง ซึ่งหลังจากที่ผมได้มารีวิวไปสัปดาห์เศษๆ ผมก็วู่วามไปซื้อมาใช้เองเลยครับ และผมได้ใช้งานเจ้านี่มาประมาณ 5 เดือนแล้ว ก็ขอกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าเป็นยังไง ประสบการณ์ในการใช้งานน่าประทับใจไหม มันตอบโจทย์ตามที่คาดหวัง ที่ได้ซื้อมาในตอนแรกไหมให้ได้อ่านกัน

ถ้าต้องพกพาจริงๆ เอาจริงๆ 1.57 กิโลกรัม ก็ไม่ได้แย่นะ

คือต้องออกตัวก่อนว่า ในฐานะที่ใช้ ASUS ZenBook S ที่เป็นโน้ตบุ๊กจอ 13 นิ้ว แต่มีน้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัมมาจนเคยตัว และภรรยาผมก็ใช้ ASUS ZenBook 13 UX331UAL ซึ่งก็หนักแค่ 900 กว่ากรัม และเปลี่ยนมาเป็น Fujitsu UH-X ที่หนักแค่ 7 ขีดครึ่ง บอกตรงๆ ว่า โน้ตบุ๊กใดๆ ที่หนักเกิน 1 กิโลกรัม สำหรับพวกผมมันหนักอะ 🤣🤣

แต่เมื่อได้ลองใช้ ASUS Zenbook Duo 14 UX482 ที่หนัก 1.57 กิโลกรัม ก็ใช่แหละ มันหนักกว่าแบบรู้สึกได้ชัดเจน แต่ถ้าต้องพกพาไปใช้งานจริงๆ สำหรับผม มันก็ไม่ได้แย่มาก เพราะมันแลกมาด้วยความสะดวกสบายที่เพิ่มมา เช่น หน้าจอเป็นทัชสกรีน (ตอนใช้ ASUS ZenBook S มันไม่มีทัชสกรีนให้) มีพอร์ตเชื่อมต่อให้พร้อมเพรียงกว่า คือ มี USB-A กับ HDMI ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว มีหน้าจอ ScreenPad+ เพิ่มพื้นที่การทำงานให้อีกเกือบ 50% ด้วย และระบบระบายความร้อนก็ดีกว่า

หน้าจอ ScreenPad+ ใช้ประโยชน์ได้จริงจังแค่ไหน

ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ คือ ฟีเจอร์บางอย่างมันทำมาดู ว้าว! แต่เวลาไปใช้จริง กลับไม่ค่อยได้ใช้งาน เหมือนซื้อมาเก้อ แล้วไอ้ ASUS ZenBook Duo 14 UX482 เนี่ย ตอนผมซื้อมาที่ราคา 40,990 บาท ถ้าเลือกเป็นรุ่นอื่นที่สเปกพอๆ กัน แต่มีจอเดียว ราคามันจะประหยัดลงไปหลายพันเลยทีเดียว ฉะนั้นคำถามก็คือ ซื้อมาแล้วได้ใช้ไหม ไอ้ ScreenPad+ เนี่ย และมันใช้งานได้จริงจังไหม

หน้าจอการตั้งค่า Scale & layout ของ Windows 11 สำหรับหน้าจอ ScreenPad+

สำหรับผม คำตอบก็คือ ได้ใช้งานในระดับนึง เรียกว่าถ้าพกโน้ตบุ๊กไปได้แค่เครื่องเดียว การมี ScreenPad+ ก็อำนวยความสะดวกในการทำงานของผมได้พอสมควร เพราะจอ ScreenPad+ ก็ยังเอาไว้ใช้แสดงผลข้อมูล เช่น เปิดข้อมูลจากเว็บไซต์ จากตาราง Spreadsheet หรือเอกสาร Microsoft Word ไว้อ่าน แล้วเอาข้อมูลมาใช้ตอบอีเมลหรือทำ PowerPoint ในหน้าจอหลักได้อยู่ เพียงแต่มันมีข้อจำกัดตรงที่ ความละเอียดของหน้าจอ 1,920×515 พิกเซล ที่มันไม่ยอมให้เราทำการสเกลภาพหน้าจอได้โดย Default และแม้ว่าจะสามารถไปตั้งค่าได้เองอยู่ดี (Custom Scale) แต่ว่าไม่สะดวกเท่า Default scale ที่เขามีให้ เพราะทุกครั้งที่ตั้งค่าต้อง Sign out ก่อนถึงจะแสดงผลในสเกลใหม่ได้ และโปรแกรมจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้องในความละเอียด 1,920×515 พิกเซล แล้วสเกล 125% ทำให้พวกตัวอักษรและกราฟิกต่างๆ บนจอ ScreenPad+ มันจะเล็กๆ หน่อย ใครที่ไม่สะดวกใช้ตัวอักษรตัวเล็กๆ ไอคอนอันเล็กๆ จะรู้สึกไม่ค่อยถนัดกับ ScreenPad+ นี่

การแสดงผลของโปรแกรม DaVinci Resolve ที่ใช้งานจอ ScreenPad+ ในการแสดงผลเพิ่ม

นอกจากนี้ ในบางโปรแกรมที่มันรองรับการทำงานแบบหลายหน้าจอ (เช่น พวกโปรแกรมตัดต่อวิดีโอย่าง Adobe Premier หรือ Davinci Resolve) จะมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การแสดงผลที่เพิ่มมาของ ScreenPad+ ในการแสดงผลเครื่องมือของโปรแกรมไว้ในหน้าจอเสริมนี้ ซึ่งทำให้พื้นที่ในการทำงานบนหน้าจอหลักเพิ่มขึ้น

สไตลัส … ดีนะที่แถมมาให้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ใช้

อุปกรณ์เสริมตัวนึงที่ผมลืมไปเลยว่ามันมี คือ สไตลัส ครับ จริงๆ มันเป็น สไตลัส ที่โอเคทีเดียวนะ จับแรงกดได้ 4,096 ระดับ เอามาใช้จดโน่นจดนี่ก็ได้ หากใครถนัดใช้ Microsoft OneNote หรือโปรแกรมจดโน้ตด้วยลายมืออื่นๆ หรือใครชอบวาดรูป ก็ใช้สไตลัสนี่วาดรูปได้เช่นกัน แต่มันก็มีปัญหาสองประเด็นหลักๆ ครับ คือ

⛔️ สำหรับคนที่ไม่ได้ถนัดการจดโน้ตด้วยลายมือ หรือไม่ได้ชอบขีดๆ เขียนๆ แบบผม สไตลัส ก็เหมือนส่วนเกินครับ 🤣🤣
⛔️ ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo 14 UX482 นี่ก็ไม่รองรับการกางหน้าจอ 180 องศา ทำให้การวาดรูปบนหน้าจอ แม้จะทำได้ทั้งกับบนจอหลัก มันก็ทำได้ไม่สะดวกเท่าไหร่ เพราะผมว่ามันกางได้องศาไม่ค่อยเหมาะสม วาดรูปนานๆ มีเมื่อยแขนอะ ส่วนจอ ScreenPad+ นี่มุมโอเค แต่ขนาดจอมันเล็ก คือ มันกว้าง แต่มันไม่สูง พื้นที่ในการวาดมีจำกัด เอาไว้วาดแบบเร็วๆ หรือแก้ขัดช่วงฉุกเฉินนี่คงพอได้ แต่ถ้าจะให้ใช้เป็นตัวหลัก ไม่น่ารอด

ใช้สไตลัสเขียนคำว่า ASUS ZenBook บนแอป Paint ของ Windows 11 ผ่านหน้าจอ ScreenPad+

ตัวสไตลัสใช้แบตเตอรี่ขนาด AAAA ที่เมื่อก่อนแอบหายากมาก แต่เดี๋ยวนี้สามารถซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าแถวบ้านแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย

ซอฟต์แวร์ MyASUS มีดีอยู่หลายเรื่อง แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

จุดที่ผมชอบเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กของ ASUS ก็คือซอฟต์แวร์ MyASUS นี่แหละ ผมชอบตรงที่มันมีการตั้งค่าให้การชาร์จแบตเตอรี่สามารถลิมิตไว้ที่ 60% 80% หรือ 100% ได้ และมีระบบ AI noise cancellation ที่ช่วยตัดเสียงรบกวนในระหว่างการประชุมหรือเรียนออนไลน์ ทั้งเสียงที่มาจากฝั่งเราไปหาเขา และจากฝั่งเขามาหาเรา ซึ่ง AI ของ ASUS ทำงานตัดเสียงได้ค่อนข้างดีเลยแหละ แต่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า เสียงที่ได้อาจจะดูแปลกๆ ไปจากเสียงปกติของเรานะ แต่เสียงที่ไม่ใช่เสียงมนุษย์นี่เรียกว่าแทบจะถูกตัดจนเหี้ยนเลย

นอกจากนี้มันก็มีการตั้งค่าอื่นๆ อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าการแสดงผลบนหน้าจอ การตั้งค่าการค้นหาเครือข่ายไร้สาย รวมถึงฟีเจอร์ GlideX ที่ให้เราเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อใช้งานเป็นจอแสดงผลภายนอกแบบไร้สายได้ แต่ว่ามันก็มีข้อจำกัดตรงที่มันเป็นบริการที่ต้องเสียเงินอะ ถ้าอยากได้การแสดงผลที่ความละเอียดสูง ซึ่งแย่กว่าสมัยที่ยังเป็น Link to MyASUS ในสมัยก่อน

ทางเลือกอื่นในการใช้งานโน้ตบุ๊กหลายหน้าจอ

มันมีคนออกไอเดียในการทำหน้าจอแสดงผลแบบพกพาเพื่อใช้กับโน้ตบุ๊ก ทำเป็นรูปแบบตัวยึดติดกับหน้าจอของโน้ตบุ๊ก และสามารถเลื่อนหน้าจอออกมาใช้งานได้ มีทั้งแบบเพิ่มมาจอเดียว หรือเพิ่มมาสองจอเลย เห็นมีขายบน Lazada ด้วย แต่ผมไม่รู้หรอกนะว่าร้านค้าน่าเชื่อถือไหม ใครไปลองตำมาแล้วช่วยรายงานผมด้วย เพราะของไม่ใช่ราคาถูกๆ ไม่กล้าลองเอง 🤣🤣

แม้ว่าขนาดของหน้าจอเสริมที่มีให้ มันจะขนาดแค่ราวๆ 11.6 นิ้ว แต่สเปกมันก็บอกว่าเป็นความละเอียด Full HD อยู่นะ แต่หากไม่อยากจะเสี่ยงกับอะไรแบบนี้ ตอนนี้เขาก็มีพก Portable monitor ขายหลายยี่ห้อ ทั้ง Lenovo, MSI, ASUS รวมถึงแบรนด์จีนตั้งเยอะแยะ มีทั้งขนาด 13 นิ้วยัน 17.3 นิ้ว และความละเอียด Full HD ไปจนถึง 4K ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีโน้ตบุ๊กอยู่ก่อนแล้ว และอยากได้หน้าจอเพิ่ม

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า