เผอิญเหลือบไปเป็นคนรู้จักเขาพูดถึงกล้องเว็บแคมคุณภาพดีมากๆ ตัวนึง ชื่อ Lumina ซึ่งเคยเป็นโปรเจ็กต์ระดมทุนอยู่บน Indiegogo อยู่ แต่ตอนนี้เขามีวางจำหน่ายจริงแล้ว และพร้อมส่งทั่วโลก ด้วยความที่ผมก็กำลังมองๆ หาอยู่ว่า ถ้าจะต้องมีกล้องเว็บแคมใช้ซักตัว แต่จะอยู่ภายใต้สภาพแสงที่ไม่มาก มีแค่ไฟ LED สีขาวอยู่เหนือหัว และบางทีใช้งานตอนกลางวัน ก็มีแสงอาทิตย์เข้าจากด้านหลังมาอีก จะทำยังไงดี ก็เลยขอถือโอกาสยืมมาลองใช้ จะได้รู้ว่า อิกล้องเว็บแคมตัวละเกือบ 7 พันบาท (ในราคาลดพิเศษนะ ถ้าราคาเต็มน่ะ ราวๆ 8,400 บาทเลย) มันจะเวิร์กไม่เวิร์กแค่ไหนยังไง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
กล้องเว็บแคม Lumina ตัวนี้ ผมยืมคนรู้จักที่เป็นที่ปรึกษาด้าน Digital Marketing ให้กับบริษัทต่างๆ และเป็น LINE Certified Coach ด้วย เขามีงานต้องสอนคนบ่อย สอนออนไลน์ก็เยอะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะต้องหาเว็บแคมคุณภาพดีๆ มาใช้ ใช่ไหมล่ะ ด้วยความที่เผอิญไปเห็นเขาโพสต์ถึงกล้องเว็บแคม Lumina ตัวนี้บน Facebook พอดี เลยหน้าด้านขอยืมเขามาลองเลยฮะ
เพราะว่ากล้องเว็บแคม Lumina ตัวนี้ เป็นตัวที่ขอยืมเขามา ดังนั้นมันย่อมต้องถูกแกะใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เขาก็ให้ผมยืมมาแบบครบเซ็ตจริงๆ นะ เลยพอจะบอกได้ว่ามันมีอะไรอยู่ในกล่องบ้าง เท่าที่เห็นก็แน่นอนว่ามีกล้องเว็บแคม Lumina มาพร้อมกับตัวปิดเลนส์ที่ยึดกับตัวกล้องด้วยแม่เหล็ก มีฐานตั้ง (Mount) เอาไว้สำหรับวางกล้องกับพวกหน้าจอมอนิเตอร์ของโน้ตบุ๊กหรือเครื่องเดสก์ท็อป ซึ่งจะมาพร้อมกับประแจหกเหลี่ยมรูปตัวแอล เพื่อเอาไว้ใช้ขันน็อตยึดตัวกล้องกับ Mount นี่ มีสาย USB-C to USB-C มาให้เส้นนึง ยาว 80 เซ็นติเมตร และมีอีกเส้นในกล่อง แต่อันนี้ยาว 150 เซ็นติเมตร อารมณ์คือ ให้มาสองเส้น เผื่อว่าคอมพิวเตอร์อยู่ห่างจากตำแหน่งวางกล้อง ก็ยังสามารถทำได้ แล้วก็มีคู่มือการใช้งานแบบคร่าวๆ มากๆ กับการ์ดสีเอาไว้ปรับค่าสีของกล้อง และสุดท้ายคือ มีถุงผ้าสำหรับใส่ตัวเว็บแคม ในกรณีที่เราอยากพกไปใช้งานนอกสถานที่

การติดตั้งเพื่อใช้งานไม่ยาก ก็เริ่มจากเอาประแจหกเหลี่ยมรูปตัวแอลมาขันน็อต เพื่อยึดตัวกล้องเว็บแคม Lumina เข้ากับฐาน Mount ก่อน ตัวฐานเนี่ย จะให้ปรับกล้องก้มได้นิดหน่อย (แต่ไม่ค่อยเวิร์ก เพราะสาย USB-C มันจะรั้ง) แต่มันสามารถหมุนได้ 360 องศาในแกน X เลย

ด้านหน้าของกล้อง นอกจากเลนส์กล้องที่มีเซ็นเซอร์ความละเอียด 8.3 ล้านพิกเซล และเลนส์ f/2.0 แบบ 5 ชิ้นแล้ว ก็จะมีไมโครโฟนอยู่ที่ด้านซ้ายและขวา กับไฟ LED 2 ดวง อันนึงเอาไว้บอกสถานะการทำงานของกล้อง อีกอันเอาไว้บอกสถานะการทำงานของไมโครโฟน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราจะรู้ว่าทั้งกล้องและไมโครโฟน กำลังทำงานอยู่หรือไม่ แต่ถ้าเรากังวลสุดๆ เขามีแถมอุปกรณ์ปิดเลนส์กล้องมาให้แล้ว สามารถเลื่อนมาปิดได้เลยครับ

ด้านหลังของตัวกล้องเว็บแคม Lumina มีแค่พอร์ต USB-C เอาไว้เสียบเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งสายมันเป็นแบบ USB-C to USB-C นะครับ หากคอมพิวเตอร์ของใครไม่มีพอร์ต USB-C ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปหาสายหรือหัวแปลง USB-C to USB-A มาใช้นะครับ

การใช้งานก็ไม่ยากแล้ว แค่เอามันไปวางบนขอบจอด้านบนก็เท่านั้นครับ ซึ่งถ้าขอบจอไม่หนาเวอร์จนเกินไป หรือบางจนเกินเหตุ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ ผมลองเอาไปติดตั้งบนจอ HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition กับ MacBook Pro 13″ (Early 2015) ก็สามารถใช้ติดตั้งได้ไม่ยุ่งยากอะไร


ถ้าเราแค่ติดตั้งกล้องเว็บแคม Lumina เฉยๆ แล้วจะใช้งานเลย มันจะเป็นกล้องที่ชื่อว่า Lumina (RAW) ครับ หมายความว่าภาพที่เราจะได้คือภาพดิบๆ ที่ได้จากเซ็นเซอร์มาเลย ซึ่งถ้าใครจะใช้ภาพจากกล้องแบบนี้ จะซื้อกล้องเว็บแคม Lumina ทำไมให้เปลืองตังค์ 🤣🤣 ถ้าเราจะใช้ให้คุ้มค่า เราต้องไปดาวน์โหลด Lumina app ครับ ซึ่งมันรองรับ macOS ทั้งรุ่น Intel และชิป M1 กับ Windows 10 ซึ่งการจะเข้าใช้งาน โอ้ว ต้องระบุอีเมลแอดเดรสกับ Serial number ของตัวกล้อง (ดูได้จากกล่อง) แล้วเขาจะส่งอีเมล License key มาให้

ก็จะไม่ได้วุ่นวายอะไรครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของกล้อง เพราะต่อให้เราจะเอาไปติดตั้งใช้งานบนคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เราก็สามารถใส่ License key ได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่พอดีนี่ยืมเขามา เลยต้องติดต่อไปที่เจ้าของกล้อง ให้ช่วยส่ง License key มาให้หน่อย 🤣🤣 ซึ่งเมื่อเราล็อกอินเข้าแอปเรียบร้อย เราก็จะเห็นหน้าจอแบบด้านล่างครับ ซึ่งเมื่อเราเปิดใช้งานฟีเจอร์จำพวก Cameraman หรือ Blur เนี่ย จะเป็นการใช้ฟังก์ชัน AI ซึ่งนั่นจะทำให้เราใช้กล้องที่ชื่อ Lumina Camera – Plus แทน


ตัวกล้องอะ มันจะมีความสามารถในการปรับแต่งแสง (Exposure) และสี (White balance) ให้โดยอัตโนมัติได้ ผมลองแล้ว แอบไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ครับ มันยังไม่เนียน ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือตอนกลางคืนก็ตาม (ห้องทำงานของผม มีการเปิดไฟ LED อยู่ตรงเพดานด้วย ซึ่งอยู่เหนือหัวผมพอดี) สุดท้าย เนียนสุดคือต้องไปปรับค่าแบบ Manual แทนครับ

อาจจะดูน่าหงุดหงิด แต่จริงๆ แล้ว เจ้านี่มันมีฟีเจอร์เทพอันนึงครับ ชื่อ Active calibration คือ เมื่อเราเอาการ์ดสีที่ให้มาในกล่องมาถือไว้ กล้องเว็บแคม Lumina มันจะทำการสแกน QR code ที่อยู่บนการ์ด แล้วก็ทำการเปรียบเทียบสี และปรับ White balance ให้สีสันมันดูดีได้ แต่ก็น่าเสียดายว่า ณ ตอนที่ผมรีวิวนี้ ฟีเจอร์นี้ถูกปิดจ้า โดยมีข้อมูลว่าปิดชั่วคราวเพราะอัลกอริทึมดัน Sensitive เกินไป เลยต้องขอปรับแก้ก่อน แล้วเดี๋ยวอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเปิดกลับมาให้ใช้อีก … แต่นี่ก็ผ่านไป 24 วันแล้วนะ (จนถึงวันที่เขียนบล็อกนี้) แต่ไม่เป็นไร ดูวิดีโอด้านล่าง เขามีการเดโมให้ดูว่า Active calibration มันทำงานยังไง
คือ ผมเข้าใจว่า ฟีเจอร์ Active calibration น่าจะเป็นการที่ AI จะคอยปรับ Exposure และ White balance ตลอดเวลาเพื่อให้ภาพวิดีโอที่ออกมา มันมีความสว่างและสีสันที่คงที่ ซึ่งมันน่าจะดีกว่ากล้องทั่วๆ ไปที่มีฟีเจอร์จำพวก Auto exposure หรือ Auto white balance ที่อาจจะปรับได้ไม่นิ่ง เพราะไม่ได้มีตัวเปรียบเทียบให้ทำ Calibration แต่จะอาศัยการคำนวณเฉลี่ยแทน และก็เลยไม่แปลกที่ทางผู้ผลิตกล้องเว็บแคม Lumina จะต้องไปไล่ปรับอัลกอริทึมใหม่ ในกรณีที่มัน Sensitive เกินไป เพราะไม่งั้นวันๆ ซอฟต์แวร์กล้องไม่ต้องทำอะไรละ มัวแต่ปรับ Exposure กับ White balance ไปสิ
แต่แม้ว่า Active calibration จะยังไม่ทำงาน เราก็ยังไปปรับตั้งค่าได้เองครับ แต่ฟีเจอร์ของ AI มันไม่ได้จบแค่นั้นนะ มันมีอีกสองฟังก์ชันคือ การเบลอแบ็กกราวด์หรือเปลี่ยนแบ็กกราวด์ ซึ่งอาจจะไม่ได้จำเป็นซักเท่าไหร่เวลาที่เราใช้ร่วมกับโปรแกรมประชุมออนไลน์อย่าง Google Meet, Zoom หรือ Microsoft Teams ที่มีฟีเจอร์ในการเบลอแบ็กกราวด์หรือเปลี่ยนแบ็กกราวด์อยู่แล้ว แต่หากใครคิดจะทำ Live แล้วไม่อยากวุ่นวายกับการหาฉากเขียว และใช้โปรแกรมในการเปลี่ยนฉากหลังเพิ่ม ภาพวิดีโอที่ได้จากกล้องเว็บแคม Lumina ก็พร้อมเบลอฉากหลังหรือเปลี่ยนแบ็กกราวด์ได้อยู่แล้ว
อีกฟีเจอร์นึงที่น่าสนใจก็คือ Cameraman ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ใช้ AI ในการตรวจจับใบหน้าของเรา แล้วทำการซูมเข้าหรือออกด้วยเซ็นเซอร์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ Digital zoom เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเราจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม อยู่กึ่งกลางเฟรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูตัวอย่างการใช้งานด้านล่างครับ
แต่จุดสำคัญคือ การจะใช้ฟีเจอร์พวกนี้ เราจำเป็นต้องเลือกกล้องที่จะใช้กับโปรแกรมต่างๆ เป็น Lumina Camera – Plus นะครับ มันถึงจะเอาภาพที่ได้รับการประมวลผลด้วย AI มาแสดง อ้อ! ทาง Lumina แนะนำว่า แม้ตัวเซ็นเซอร์ของกล้องจะเป็น 8.3 ล้านพิกเซล และสามารถถ่ายวิดีโอได้ที่ 4K แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าเราจะทำการ Live หรือประชุมออนไลน์ โปรแกรมส่วนใหญ่จะพยายามประหยัดแบนด์วิธด้วยการบีบอัดวิดีโอให้เป็น 720p ดังนั้น หากต้องการประหยัดทรัพยากรของหน่วยประมวลผล (CPU) ก็ให้ไปตั้งค่าภาพวิดีโอของกล้องเป็น 720p ก็พอ

ตอนผมทดสอบ น่าเสียดายว่าโปรแกรม LuminaStudio มันติดตั้งบน Windows 11 Pro ได้ แต่ดันรันไม่ขึ้นซะงั้น และทาง Lumina ก็แนะนำให้ใช้กับ Windows 10 ซะด้วย ซึ่งที่บ้านผมไม่มี!!! 🤣🤣🤣 ส่งผมให้ผมต้องไปหยิบเอา MacBook Pro 13″ Early 2015 เครื่องเก่ามาใช้ (Mac mini M1 ของผม ผมเอาไปใช้ที่ออฟฟิศอะ) ซึ่งมันก็ดีนะ เพราะทำให้ผมได้ตระหนักอะไรบางอย่าง นั่นก็คือ การทำงานของ AI มันกินทรัพยากรเครื่องมากกว่าที่เราคิดครับ ถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า เพราะสังเกตได้ว่า LuminaStudio นี่กิน CPU ไปสูงถึง 80.3% เลยทีเดียว ผมมาเอะใจอีตอนที่พัดลมของเครื่อง MacBook Pro มันหมุนเร็วปรี๊ดเลยครับ เลยลองเปิด Activity Monitor ดู โอว
แต่แอบเสียดายที่ผมไม่สามารถลองกล้องเว็บแคม Lumina บน Intel Phantom Canyon ซึ่งสเปกดีกว่าเห็นๆ ได้ ไม่งั้นคงจะได้รู้ว่า เมื่อเทียบกับ CPU รุ่นใหม่ๆ แล้ว มันกินทรัพยากรไปมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ดี เซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ของกล้องเว็บแคม Lumina ก็ยังไม่สามารถสู้กับเซ็นเซอร์ของกล้องบนสมาร์ทโฟนได้ครับ ซึ่งถ้าเราไม่ได้เป็นคนที่ใช้กล้องเว็บแคมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ และเรามีสมาร์ทโฟนที่ยังพอจะสำรองใช้งานเป็นเว็บแคมได้ การแปลงสมาร์ทโฟนเป็นเว็บแคมด้วยโปรแกรมอย่าง iVCam (ใช้ได้ฟรีแบบมีโฆษณา หรือจะเสียเงินซึ่งก็ไม่ได้แพงมาก เมื่อเทียบกับการซื้อกล้องเว็บแคมคุณภาพดีๆ) มันก็ให้คุณภาพของภาพได้ค่อนข้างดีมากทีเดียวครับ การทำ Auto exposure และ Auto white balance ก็ทำได้ดีกว่ากล้องเว็บแคม Lumina และยังสามารถตั้งค่าซูมแบบดิจิทัลได้สบายๆ ด้วย ที่ยังขาดหายไป ก็อิตรงที่มันไม่มีโหมดอย่าง Cameraman นี่แหละ นี่ถ้าทำได้นะ แหล่มเลย
บทสรุปการรีวิวกล้องเว็บแคม Lumina
ค่าตัวของกล้องเว็บแคม Lumina เรียกว่าไม่ถูกนะ ราคาพอๆ กับ Logitec Brio ที่เป็นกล้องเว็บแคมแบบ 4K เหมือนกันเลยแหละ แต่ด้อยกว่าตรงที่มันไม่มีเซ็นเซอร์ IR เลยไม่สามารถเอามาใช้ร่วมกับ Windows Hello ได้ แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ มันมี AI มาช่วยในการปรับแต่งความสว่างและสีของภาพ (ซึ่งต้องรอเขาเปิดให้ใช้อีกรอบก่อนนะ ตอนนี้เขาปิดอยู่) รวมถึงฟีเจอร์ Cameraman ที่จะช่วยให้ภาพของเราอยู่ตรงกึ่งกลางเฟรมตลอดเวลา มันจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการกล้องเว็บแคมคุณภาพดี พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกด้วย มันสามารถให้ภาพที่สว่าง สีสันโอเค (หลังปรับภาพ) โดยที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการจัดแสงมาก
แต่แม้ว่าทางผู้ผลิตกล้องเว็บแคม Lumina นี่จะบอกว่ามันให้ภาพคุณภาพแบบสตูดิโอก็ตามที หากคุณต้องการภาพแจ่มแบบในสตูดิโอจริงๆ โดยที่ก็มีงบประมาณเต็มที่ละก็ ผมก็ยังแนะนำให้ใช้กล้องจำพวก Mirrorless หรือ DSLR ที่มีเลนส์ดีๆ ไปเลย และมีการจัดแสงให้ดีๆ ด้วย มันชัวร์กว่าเยอะครับ แต่ถ้าเอาแบบคุณภาพดีรับได้ งบประมาณไม่ต้องเยอะ และเซ็ตอัปแบบง่ายๆ เร็วๆ กล้องเว็บแคม Lumina ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดี หรือไม่งั้นก็เอาสมาร์ทโฟนมาแปลงเป็นเว็บแคมแหละ