Home>>รีวิว>>รีวิวจักรยานไฟฟ้า Deco Z1 ราคา 19,900 บาท
จักรยานไฟฟ้า Deco Z1
รีวิว

รีวิวจักรยานไฟฟ้า Deco Z1 ราคา 19,900 บาท

จักรยานไฟฟ้า Deco Z1 เนี่ย ซื้อเพราะว่าตัวแทนจำหน่ายอยู่แถวบ้าน และตอบโจทย์การใช้งานคือ ไม่แพงไป ค่าตัว 19,900 บาท มอเตอร์มีความแรงพอสมควร สามารถซ้อนผู้ใหญ่ (ภรรยาผมเอง) นั่งอีกคนได้สบายๆ และผมก็ใช้เจ้านี่มาราวๆ เกือบ 3 เดือนแล้ว ก็ได้เวลารีวิวให้ได้อ่านกันซะที ว่าเป็นยังไงกันบ้างครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

จักรยานไฟฟ้า Deco Z1 ที่รีวิวงวดนี้ ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อใดๆ จากใครทั้งสิ้น ซื้อเองใช้เอง แล้วก็รู้สึกว่า เออ ไหนๆ ช่วงนี้ก็รีวิวจักรยานไฟฟ้าทั้ง Segway-Ninebot eMOPED A35 และ eMOPED B65 ไปแล้วด้วย แถมยังมีรีวิวเปรียบเทียบกับเจ้า Deco Z1 นี่อีก แล้วทำไมยังไม่รีวิวตัวจักรยานจริงๆ จังๆ ซะทีฟะ เลยจัดซะเลย

Deco Z1 มันเป็นจักรยานที่มีรูปร่างแบบจักรยานจริงๆ ครับ ผิดกับพวกจักรยานไฟฟ้าจีนราคาต่ำกว่าหมื่น และ Segway-Ninebot eMOPED โดยจะมีสีให้เลือกเป็น ฟ้า เขียว ส้ม และแดง สลับกับสีขาว ผมอยากได้สีแดง แต่ของมันไม่มี แต่ด้วยความวู่วามอยากได้มาก ก็เลยตัด(สิน)ใจ ซื้อคันที่เป็นตัวโชว์มาซะเลย มันถูกใช้ไปแล้ว 92 กิโลเมตร ร้านก็เลยลดราคาให้ 900 บาท ครับ ตัวจักยานมีความยาวราวๆ 1.6 เมตร และความสูงราวๆ เกือบๆ 1 เมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง) น้ำหนักรถ 41.59 กิโลกรัม หนักกว่าจักรยานทั่วไปพอสมควร เพราะมีทั้งแบตเตอรี่และมอเตอร์ครับ

จักรยานไฟฟ้า Deco Z1 ภาพจากด้านซ้าย

ด้วยความที่มันเป็นจักรยานที่ดีไซน์เป็นจักรยานจริงๆ อะ ล้อมันก็เป็นล้อยางลมขนาดค่อนข้างใหญ่ครับ คือ 18 นิ้ว มีมอเตอร์กำลัง 350 วัตต์อยู่ที่ล้อหลัง ระบบเบรกทั้งล้อหน้าและหลังเป็นแบบดรัมเบรก มีขาตั้งจักรยานสองแบบในคันเดียวเลย คือ แบบ Kickstand และแบบขาตั้งคู่ เหมือนพวกจักรยานแม่บ้านครับ

ดีไซน์แบบจักรยาน หมายความว่ามันมีอุปกรณ์เสริมที่ผู้ใช้งานจักรยานมักจะใช้บ่อยๆ ครบครับ ตั้งแต่ด้านหน้ามีตะกร้าสำหรับใส่ของ ซึ่งมีฝาปิดซะด้วย ด้านหลังก็มีเบาะนั่งสำหรับให้คนซ้อน หรือจะวางของก็ตามแต่ และมีที่วางเท้าสำหรับคนนั่งซ้อนเอาไว้ค่อนข้างดี อยู่ตรงล้อหลัง นั่งแล้วค่อนข้างโอเคกว่าพวกจักรยานไฟฟ้าจีนราคาต่ำกว่าหมื่นเยอะ (อันนี้ภรรยาผมเปรียบเทียบประสบการณ์การนั่งซ้อนให้ฟังเลย)

แบตเตอรี่ของจักรยานไฟฟ้า Deco Z1

แบตเตอรี่ของจักรยานไฟฟ้า Deco Z1 เป็นขนาด 48V 12Ah เป็นชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4) ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่เราจะพบได้บ่อยในพวกยานยนต์ไฟฟ้า มีข้อดีคือเก็บประจุได้เยอะ จ่ายกระแสไฟได้แรง อายุการใช้งานยาวนาว และมีความปลอดภัยสูง ทนต่ออุณหภูมิสูงๆ ด้วย ซึ่งจะผิดกับพวกจักรยานไฟฟ้าจีนราคาถูก ที่อาจจะใช้แบตเตอรี่จำพวกตะกั่วกรด ที่อายุการใช้งานไม่นาน (อายุ 1-2 ปี แบตเตอรี่ก็จะเสื่อม) และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ (ชื่อก็บอกแล้ว ตะกั่วกรด)

แฮนด์ข้างซ้ายของจักรย่นไฟฟ้า Deco Z1 มีสวิตช์สำหรับแตรไฟฟ้า (ปุ่มสีเขียว) และสวิตช์สำหรับเปิด-ปิดไฟเลี้ยว (สวิตช์สีส้ม) ส่วนแฮนด์ด้านขวาเป็นตัวคันเร่งแบบบิดเหมือนมอเตอร์ไซค์ โดยแฮนด์ทั้งสองข้างมีเบรกทั้งคู่ และมีการติดตั้งกระจกมองข้างไว้ให้แล้ว แต่ผมพบว่าไร้ประโยชน์มากๆ เพราะตัวกระจกมันหลวมๆ อะ รถสะเทือนๆ หน่อย กระจกที่ปรับไว้ดีๆ เปลี่ยนตำแหน่งหมด ใช้งานจริงไม่ได้ พื้นที่บนแฮนด์ยังพอมีให้เอาตัวจับสมาร์ทโฟนหรือกล้อง Action camera มาติดตั้งได้ทั้งแฮนด์ซ้ายและแฮนด์ขวาครับ

ตัวแดชบอร์ด เป็นแบบ LCD ธรรมดา ซึ่งสู้แดดได้ดีมาก และมีแบ็กไลต์ด้วย เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ตอนกลางคืน (ให้นึกถึงเทคโนโลยี e-Ink ที่เห็นชัดกลางแดด แต่พอกลางคืนจะมองไม่เห็น) แต่ปัญหาของการออกแบบคือ ถ้าเราปรับตำแหน่งของแดชบอร์ดให้พร้อมสำหรับใช้ไฟหน้าส่องพื้นถนน เวลากลางวันเราก็จะมองแดชบอร์ดไม่ค่อยจะเห็น เพราะมุมมองของจอ LCD แบบนี้มันแคบมาก เราต้องปรับตำแหน่งให้มันหงายขึ้นหน่อยถึงจะเห็น แต่พอตอนกลางคืนถ้าเราจะเปิดไฟหน้า ต้องกดแดชบอร์ดลง ไม่งั้นไฟหน้าไปส่องตาชาวบ้านเขาหมด

ตัวแดชบอร์ดจะบอกความเร็วในการขี่ ระยะทางที่ขี่ไป (เวลาสตาร์ทรถ จะบอกระยะทางรวมที่เคยขี่ไป แต่เวลาที่ขี่อยู่ จะบอกระยะทางที่ขี่อยู่ในขณะนี้) ระดับแบตเตอรี่ กับแรงดันไฟที่แบตเตอรี่จ่ายมา

ไฟหน้าจักยานไฟ้า Deco Z1

ไฟหน้าของจักรยานไฟฟ้า Deco Z1 นั้น จะมีสองส่วน ส่วนที่เป็นวงรอบนอกคือ Daylight ซึ่งเท่าที่ผมลองใช้ดู ไม่สว่างเท่าไหร่เมื่อเทียบกับแดดบ้านเรา แต่มันจะโอเคเวลาช่วงเช้าๆ ที่แดดยังไม่แพง และตอนเย็นๆ เริ่มต่ำ ที่แดดอ่อนลงมาเยอะแล้ว ต่อให้เราไม่เปิดไฟหน้า รถที่วิ่งสวนมาก็น่าจะยังเห็นไฟหน้าอยู่ประมาณนึง ไฟหน้าอีกส่วนนึงคือไฟ LED อันใหญ่ ที่มีเลนส์นูนขยายอีกที สว่างมาก อันนี้ขี่กลางคืนสบายเลย ขอบอก

ไฟเลี้ยวด้านท้ายจักรยาน

ด้านท้ายของจักรยานไฟฟ้า Deco Z1 ตรงบริเวณใต้เบาะนั่งซ้อนท้ายจะมีไฟเลี้ยวและไฟเบรกอยู่ แต่ความสว่างต่ำมากครับ ถ้าเป็นตอนกลางวันนี่คือไม่เห็นชัวร์ๆ ตอนกลางคืนยังพอไหวอยู่บ้าง มันแอบเสียดายตรงที่ไม่มีพื้นที่ให้ติดไฟเลี้ยวเพิ่ม หากเราต้องการจะติดอะไรเพิ่มเองซะด้วยสิ และไฟเลี้ยวก็ไม่มีอยู่ตรงด้านหน้าด้วย ฉะนั้น การจะส่งสัญญาณบอกรถคันอื่นๆ ในเส้นทางให้รู้ว่าเราจะเลี้ยว สัญญาณมือน่าจะดีสุดครับ

บิดกุญแจเพื่อสตาร์ตจักรยานไฟฟ้า Deco Z1

การสตาร์ทรถใช้งาน จะใช้กุญแจครับ ซึ่ง Deco Z1 นี่ ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรเยอะครับ ผิดกับจักรยานไฟฟ้าจีนราคาประหยัด ที่มันจะมีรีโมตด้วย แบบสตาร์ทรถด้วยรีโมตก็ได้ แถมมีระบบสัญญาณกันขโมยอีก แต่เจ้านี่ไม่มีครับ กุญแจก็เป็นกุญแจแบบธรรมดาๆ ครับ เสียบแล้วบิด แกร๊กแรกเป็นการสตาร์ทรถแบบปกติ แกร๊กที่สองเป็นการเปิดไฟหน้าด้วย ก็ตรงไปตรงมาดี

ประสบการณ์ในการขี่จักรยานไฟฟ้า Deco Z1

อย่างที่บอกครับ ผมขี่มาแล้วราวๆ เกือบ 3 เดือน ทั้งแบบขี่คนเดียว และแบบที่ขี่ซ้อนให้ภรรยานั่งด้วย ขี่ไปจอดที่ Community mall แถวบ้าน แต่มักจะเป็นระยะทางไม่ไกลมากครับ ซัก 1-12 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งในระยะทางสั้นๆ เนี่ย ก็ต้องบอกว่าโอเคแหละ เหมือนขี่จักรยานเลย เราเลือกโหมดการขี่ได้สองแบบ คือ ถ้าเราปั่นเอา มันจะเปิดระบบ Pedal assit ให้ครับ เราจะปั่นแบบสบายๆ ไม่ต้องออกแรงเลย แต่ความเร็วสูงสุดที่โชว์ที่บนแดชบอร์ดคือ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่ข้อดีคือเราไม่ต้องบิดคันเร่งเลย มันเหมาะกับตอนที่เราจะต้องให้สัญญาณมือเพื่อจะเลี้ยวครับ และสำหรับบางคนที่ไม่อยากขี่เร็วมาก และรู้สึกว่าการได้ปั่นเนี่ย มันทำให้ทรงตัวง่ายกว่า ก็จะชอบแบบนี้

อีกแบบก็คือการบิดคันเร่งเลย มันจะได้ความเร็วสูงสุดที่แสดงบนแดชบอร์ดที่ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เราก็สามารถปรับความเร็วได้ตามใจด้วยการบิดครับ ซึ่งก็ค่อนข้างโอเค เวลาขี่อยู่จะวางเท้าไว้บนคันถีบก็ได้ หรือจะวางเท้าไว้บนที่วางเท้า ซึ่งเป็นอะไรที่จักรยานทั่วไปไม่มีก็ได้เช่นกัน แต่สำหรับบางคน (เช่นแม่ของผม) เขาจะไม่ชอบวางเท้าไว้บนที่วางเท้าไง เขาบอกมันทำให้ทรงตัวไม่ถูก

แต่ถ้าขี่ระยะทางไกลๆ เนี่ย ต้องบอกเลยว่า ถ้าเทียบกับ Segway-Ninebot eMOPED B65 แล้วละก็ B65 ขี่นิ่ม นิ่ง และชิลล์กว่าเยอะมากครับ ยิ่งถ้าได้ลองขี่มือเดียว บนถนนขรุขระด้วยแล้ว รู้สึกได้เลย คือ แฮนด์มันนิ่งกว่าจริงๆ แถม B65 มันก็มีโช้กหลังให้ด้วยอะ

ลองประเมินความเร็วเทียบกัน ระหว่างตัวเลขที่บอกบนแดชบอร์ด กับ ตัวเลขที่บอกบนสมาร์ทโฟนผ่านแอป GPS Speedometer

ถัดมา ผมอยากรู้ว่าความเร็วในการขี่ มันได้ตามสเปกที่เขาบอกว่า 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจริงเหรอ? ผมก็เอาสมาร์ทโฟนมาวางเทียบเลยครับ เปิดแอป GPS Speedometer ดูว่าเป็นยังไง ก็พบว่า ความเร็วสูงสุดของรถ อยู่ที่ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ เมื่อแดชบอร์ดแสดงตัวเลข 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากแบตเตอรี่เริ่มลดลงเหลือซัก 80% ความเร็วสูงสุดก็จะตกมาเหลือ 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่า 50% ความเร็วสูงสุดจะตกมาเหลือ 31 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ นอกจากความเร็วสูงสุดจะตกแล้ว อัตราเร่งก็จะตกลงอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัดด้วย เมื่อแบตเตอรี่มันลงมาต่ำกว่า 60%

จักรยานไฟฟ้าแบบนี้ มันมีข้อจำกัดในเรื่องความแม่นยำในการแสดงข้อมูลจริงๆ ครับ คือ ผมจะสังเกตว่ากว่าแบตเตอรี่จะหมด 20% แรกเนี่ย ขี่ไปได้ไกลสิบกว่ากิโลเมตรเลย และเมื่อแบตเตอรี่หายไปราวๆ 50% เนี่ย ผมก็ขี่ไปแล้วราวๆ 26 กิโลเมตร ทำให้ผมแอบคิดว่า เฮ้ย หรือมันจะวิ่งได้ไกลกว่าสเปกที่บอกว่าไกลสุดที่วิ่งได้คือ 40 กิโลเมตร แต่พอมาถึงจุดนี้แล้ว แบตเตอรี่ลดเร็วมากครับ พอตอนจบที่ผมลองขี่ระยะไกลดู พบว่าแบตเตอรี่เหลือราวๆ 20% เนี่ย คือวิ่งไปได้ 35 กิโลเมตรครับ แต่ผมก็ตอบยากว่าพอวิ่งไปแล้ว 35 กิโลเมตร เหลือแบตเตอรี่จริงๆ เท่าไหร่ เพราะแดชบอร์ดมันบอกระดับแบตเตอรี่ได้แค่แบบหยาบๆ เท่านั้น (ขีดนึงเท่ากับ 0-20% โดยประมาณ เหลืออยู่เท่าไหร่จริงๆ ตอบไม่ได้) แถมถ้าเกิดผมดับเครื่อง แล้วพักรถแป๊บนึง พอสตาร์ทใหม่ แบตเตอรี่จะเหมือนกลับคืนมาเยอะเลย ทั้งนี้เป็นเพราะแรงดันไฟมันกลับมาสูงอีกครั้ง แต่จริงๆ อะ ระดับแบตเตอรี่มันก็เท่าเดิมแหละ กว่าจะรู้ว่าแบตเตอรี่เหลือจริงๆ เท่าไหร่ ต้องวิ่งไปแล้วพักนึง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เรากะไม่ถูกว่ารถจักรยานยังพอวิ่งได้อีกกี่กิโลเมตร หากเราไม่ได้ขี่ยิงยาว

นอกจากนี้ ระยะทางที่วิ่งไปแล้วที่แสดงบนแดชบอร์ดก็ดูคลาดเคลื่อนครับ คือ ช่วงแรกๆ มันเหมือนจะแตกต่างจากตัวเลขที่วัดได้จาก GPS Speedometer ไปราวๆ 1 กิโลเมตร แต่พอวิ่งต่อเนื่องไปเกิน 30 กิโลเมตรแล้ว ระยะทางมันคลาดเคลื่อนไปราวๆ 2 กิโลเมตรเลยทีเดียว

แบตเตอรี่ ถ้าเริ่มจาก 0% แล้วชาร์จให้เต็ม ก็ใช้เวลาราวๆ 4 ชั่วโมงครับ แต่ข้อจำกัดมันคือ ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่มาชาร์จในบ้านได้นะ ต้องเสียบปลั๊กชาร์จกับตัวรถเลย ดังนั้นหากใครจะซื้อ ขอให้แน่ใจว่ามีรูปลั๊กไฟอยู่ใกล้ๆ ที่จอด หรือสามารถหารางไฟมาต่อพ่วงเพื่อให้เสียบชาร์จที่ตัวรถได้นะครับ

บทสรุปการรีวิวจักรยานไฟฟ้า Deco Z1

ก็เป็นจักรยานไฟฟ้าที่เรียกว่าพอใช้ได้ คือ ราคามันไม่ได้แรงเวอร์ (ถูกกว่าพวกสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงเยอะ) และเหมาะสำหรับเอามาใช้ขี่ใช้งาน ไปหาข้าวกิน ซื้อของที่ตลาดของ 7-Eleven อะไรพวกนี้ ระยะทางไม่ไกลมาก ขี่ซัก 3-4 วัน ก็ชาร์จแบตเตอรีทีนึง ก็โอเคเลยแหละ หรือใครจะขี่ยาวๆ ใน 1 วันก็ได้นะครับ แต่ต้องจำไว้ว่าระยะทางไกลสุดที่พอจะวิ่งได้น่าจะอยู่ที่ 35-40 กิโลเมตร ตามสเปกเขานี่แหละ (ขี่ที่ความเร็วเฉลี่ย 25-26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และน้ำหนักตัวราวๆ 80 กิโลกรัม) ถ้าขี่แบบนี้ก็วันนึงชาร์จทีนึง

แต่จักรยานมีความหนักค่อนข้างมาก ใครที่มีความจำเป็นต้องแบกขึ้นสะพานลอยเพื่อข้ามถนนไปขี่อีกฝั่ง ผมไม่แนะนำให้ซื้อ Deco Z1 มาใช้แน่นอน เพราะถ้ามันทำได้ ผมคงขี่เจ้านี่ไปทำงานแล้วแหละ เก๋ๆ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า