ทุกท่านที่ติดตั้ง QNAP NAS กันตั้งแต่แรก ตอนที่จะสร้าง Storage pool อะ มันจะมีตัวเลือกให้เราติ๊กว่าจะ Enable Qtier หรือไม่ แล้วในวงเล็บมันเขียนว่า Auto-tiering storage บางคนก็อยากรู้ว่ามันคืออะไรยังไง แต่ขี้เกียจอ่านคำอธิบายภาษาอังกฤษยืดยาว ก็เลยลองติ๊กดูแล้วกด Next แต่ปรากฏว่าหน้าจอต่อมา ไม่มีอะไรให้เลือก ก็อาจจะงงๆ ว่า อิหยังวะ แล้วไอ้ Qtier นี่มันคืออะไรกันแน่ แล้วเราต้องใช้มันไหม? บล็อกนี้จะมีคำตอบให้อ่านกัน
Qtier คืออะไร?
เอาแบบสั้นๆ ง่ายๆ เลย มันคือฟีเจอร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของ NAS โดยใช้หลักการเก็บข้อมูลที่ถูกเรียกใช้บ่อยๆ เอาไว้ใน Storage ที่มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลที่เร็ว ส่วนข้อมูลที่ไม่ค่อยถูกเรียกใช้ ก็ให้ไปเก็บไว้ใช้ Storage ที่มีความเร็วช้ากว่า ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น
ซึ่งในที่นี้ Storage ที่ QNAP ให้ใช้ได้มันมี 3 ประเภทหลักๆ คือ ฮาร์ดดิสก์แบบ SATA (Serial ATA) ที่เราคุ้นเคยกันดี ฮาร์ดดิสก์แบบ SAS (Serial Attached SCSI) แล้วก็ SSD (Solid State Drive)
💽 ฮาร์ดดิสก์แบบ SATA ซึ่งปัจจุบันก็คือ SATAIII มันจะมีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแบบ Sequential ประมาณ 130MB/s พวกฮาร์ดดิสก์ที่ใช้บน NAS แบบพื้นๆ จะวิ่ง 5,400 rpm แต่ถ้าเป็นรุ่นไฮโซ (เช่น WD Red Pro) จะวิ่ง 7,200 rpm พวกนี้จะมีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแถวๆ 220MB/s แบนด์วิธของ SATAIII มันเต็มที่คือ 6Gbps
💽 ฮาร์ดดิสก์แบบ SAS ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบ SATA และปกติก็จะมีอายุการใช้งานที่มากกว่าด้วย มีทั้งแบบที่วิ่ง 7,200 rpm 10,000 rpm และ 15,000 rpm แบนด์วิธของ SAS ปกติคือ 6Gbps เหมือนๆ กับ SATA แต่สามารถไปเต็มที่คือ Dual port SAS 12Gbps ได้เลย
💽 SSD อยู่ที่ว่าเราเลือกแบบไหน ถ้าเป็น SSD แบบ SATAIII ก็มักจะมีความเร็ว 400-550MB/s (ใช้งานแบนด์วิธของ SATAIII ค่อนข้างเต็มที่) แต่ถ้าเป็น NVMe ก็อยู่ที่ว่ารองรับการเชื่อมต่อ PCI Express Gen ไหน และกี่เลน ถ้าเป็น Gen 3×4 ก็สามารถไปได้ถึง 3,500MB/s กันเลยทีเดียว เช่น WD Red SN700 ที่ผมเพิ่งรีวิวไป แต่ SSD แบบ NVMe นี่ ขี้หมูขี้หมาก็วิ่งแถวๆ 1,700MB/s แล้ว

หลักการทำงานของ Qtier ก็ง่ายๆ เลยครับ ซอฟต์แวร์มันจะทำการแบ่งชั้นวรรณะของ Storage ออกเป็น 3 ระดับ คือ
🔥 Hot หมายถึง ข้อมูลถูกเข้าถึงบ่อย ก็จะพิจารณาจัดให้ไปอยู่ใน Storage ที่เป็น SSD ที่มีความเร็วสูง จำพวก NVMe พวกนี้ใน Qtier จะเรียกว่า Ultra-high speed ข้อมูลพวกนี้จะมีไม่เยอะมาก ก็จะไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บเยอะ
⭐️ Warm หมายถึง ข้อมูลถูกเข้าถึงบ่อยอยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยเท่าพวก Hot อันนี้ก็จะให้ไปอยู่ใน Storage แบบ SAS หรือไม่ก็ SSD แบบ SATAIII พวกนี้ Qtier จะเรียกว่า High speed พวกนี้จะมีเยอะในระดับนึง ก็จะต้องการเนื้อที่ในการจัดเก็บประมาณนึง
❄️ Cold หมายถึง ข้อมูลที่แทบจะไม่ค่อยมีใครมาแตะ นานๆ จะเข้าถึงที ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่จะเก็บไว้ใน NAS จะเป็นพวกนี้ซะส่วนมาก จะใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บเยอะ แต่ไม่ต้องห่วง เพราะฮาร์ดดิสก์แบบ SATAIII ราคาต่อความจุมันไม่แพงมากเท่ากับพวก SAS หรือ SSD ฉะนั้น Qtier จะเรียกกลุ่มนี้ว่า Capacity

จากนั้นเวลาเราใช้งานไปเรื่อยๆ ซอฟต์แวร์มันก็จะเรียนรู้พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูล แล้วทำการจัดเรียงข้อมูล เอา Hot Warm และ Cold ไปเก็บไว้ใน Storage แต่ละแบบให้เหมาะสมตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น โดยเราจะเลือกตั้งค่าได้ว่าจะให้การจัดเรียงข้อมูลนั้นเกิดขึ้นตามเวลาที่กำหนด หรือจะให้เป็นแบบออโต้ คือ พอ NAS อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็ให้มันดำเนินการเลย
แล้วทำยังไงถึงจะได้ใช้ Qtier? แล้วจำเป็นต้องทำไหม?
ถ้าอยากจะใช้ Qtier ขั้นต่ำๆ คือเราต้องมี Storage อยู่อย่างน้อย 2 ประเภทครับ ซึ่งง่ายสุดก็คือ ฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กปกติ กับ SSD แบบ SATAIII ครับ จากนั้นแต่ละแบบเนี่ย ก็เอามาทำ RAID group ครับ ที่บอกว่า SSD แบบ SATAIII กับฮาร์ดดิสก์จานแม่เหล็กก็เพราะ QNAP NAS แทบทุกรุ่น จะรองรับฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว แบบ SATAIII ครับ ซึ่งสามารถใช้กับ Storage สองประเภทนี้ได้แน่นอน
พวกรุ่นที่รองรับฮาร์ดดิสก์แบบ SAS มีไม่ค่อยเยอะครับ เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสใช้ Qtier โดยใส่ฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้ซักเท่าไหร่ เรามักจะกระโดดข้ามไปใส่ NVMe SSD เลยมากกว่าครับ ซึ่งก็ต้องเลือก QNAP NAS รุ่นที่มีสล็อต M.2 อย่างน้อย 2 สล็อตขึ้นไปถึงจะดี (ถ้ามีสล็อตเดียว ทำ SSD cache acceleration จะดีกว่านะ)

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ผมไม่คิดว่าจำเป็นต้องทำ Qtier เลยครับ ให้พวกผู้ใช้งานระดับองค์กรที่เขามีการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากๆ และอยากได้ความคุ้มค่าในแง่ของเนื้อที่เก็บข้อมูล และมีงบประมาณมากพอเขาทำกันไปเหอะ ส่วนผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไปอะ ถ้ามีถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ว่างๆ หรือมีสล็อต M.2 ว่างๆ (บางรุ่นที่รองรับ) ก็เอา SSD (SATAIII หรือ NVMe แล้วแต่สเปกจะอำนวย) มาทำ SSD cache acceleration ก็พอครับ เหลือเฟือแล้ว