ย้อนเวลากลับไปซัก 13-14 ปีก่อน HTC ถือเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการสมาร์ทโฟนเลยนะ และสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android ที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในยุคแรกๆ เนี่ย HTC ก็เป็นหนึ่งในนั้น และแทบจะเรียกว่าเป็นคู่แข่งกับ Samsung ในยุคนั้นกันเลย สมาร์ทโฟนจากค่ายนี้มีดีทั้งเรื่องดีไซน์ นำเทรนด์ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Aluminium Unibody ทำตัวเครื่อง หรือการจับมือกับ Beats เพื่อทำลำโพงคู่หน้าสเตริโอ เป็นต้น แต่เวลาวิ่งวื้บๆ มาถึงปี 2565 อยู่ๆ ยี่ห้อนี้เลือนหายไปจากประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมเองก็ยังจำไม่ได้เลยอะ
โดยส่วนตัว ผมเคยใช้สมาร์ทโฟนของค่าย HTC หลายรุ่นมากเลยนะ ตัวแรกสุดที่ผมใช้ก็เป็น HTC Legend และผมก็ได้ใช้รุ่นอื่นๆ มาอีกหลายรุ่น จนถึงตอนนี้ ผมยังเก็บ HTC EVO 3D สมาร์ทโฟนที่มีกล้องสามมิติอยู่เลย เพราะมันถือว่าเป็น Milestone นึงของวงการสมาร์ทโฟนเลยนะ ตอนที่เขานึกกันไม่ออกแล้วว่าจะแข่งกันเรื่องอะไรดี HTC เขาก็เลยออกตัว HTC EVO 3D นี่มา มีกล้อง 3D และมีหน้าจอแสดงผลที่สามารถแสดงผลแบบสามมิติ (ไม่ใช่กราฟิก 3D นะ) ได้โดยที่ไม่ต้องไปใส่แว่นสามมิติด้วย (แม้ว่าภายหลังเทคโนโลยีนี้จะไม่ปังด้วยหลายๆ เหตุผล ทำให้ HTC ออกมาแค่ EVO 3D ส่วน LG ที่ก็พยายามลองเข็นเทคโนโลยีนี้มาเช่นกัน ก็จบลงที่สองรุ่น คือ LG Optimus 3D กับ LG Optimus 3D Max (ซึ่งผมเคยมีนะ แต่ก็ให้คนอื่นไปแล้ว)

ในประเทศไทย HTC ถือเป็นค่ายที่ลุยตลาดไทยมาได้ค่อนข้างดีในยุคแรกๆ เลย ตอนนั้นมีการทำแอปสำหรับเล่น Twitter ใช้เองด้วย (พัฒนาโดยเจ้าพ่อวงการ Twitter ไทย คุณสุกรี) มีการทำแผนการตลาดด้วยการทำ Partnership กับร้านค้าต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าของ HTC ได้รับสิทธิพิเศษ แต่ทว่ามันเหมือนกับบริษัทแม่ของ HTC เขาจะไม่เก่งเรื่องการตลาดใดๆ เลยครับ เลือกลงทุนลงเงินแบบแปลกๆ เช่น จ้าง Robert Downey Jr. มา 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำวิดีโอประชาสัมพันธ์แปลกๆ ที่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดขายสมาร์ทโฟนใดๆ เลย แถมอัดฉีดงบการตลาดตลอดแคมเปญไป 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจ้า แต่บทจะงก ก็งกสุดยิก ตัดงบการตลาดไปเพียบ พยายามคาดหวังให้อะไรๆ มัน Go viral เอง
เมื่อ HTC ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่คู่แข่งก็พยายามนำหน้า ก็บรรลัยเลยครับ ในประเทศไทย ไอ้กลยุทธ์การตลาดที่ HTC ใช้ในประเทศไทย ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน ก็โดน Samsung เอาอย่าง แถมดันทำได้ดีกว่า มาเป็น Samsung Galaxy Gift นอกจากนี้ บรรดาคู่แข่งเขาก็ลงทุนกับงบการตลาดอย่างมาก พยายามผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของตน Go viral แบบไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น Samsung เองนี่จัดงบเชิญสื่อเชิญบล็อกเกอร์ชาวไทย ไปร่วมงานเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธง ณ วันเปิดตัวเลย เช่น เปิดตัว Samsung Galaxy S III ที่อังกฤษ เปิดตัว Samsung Galaxy Note รุ่นแรกที่เยอรมนีเป็นต้น (ผมได้มีโอกาสไปทั้งสองที่เลย ตอนนั้น)

ดังนั้นแล้ว ความนิยมในผลิตภัณฑ์ของ HTC มันก็ลดลง เพราะคนมันไม่ได้ยิน ไม่ได้ตระหนักถึงว่า HTC เขาก็มีสมาร์ทโฟนเจ๋งๆ แจ่มๆ นะเว้ย ก็เลยสมชื่อแท็กไลน์ของเขาเลย ที่มีสโลแกนว่า HTC : Quietly brilliant (เอชทีซี : แจ่มแบบเงียบๆ) ซึ่งภายหลังในปี 2556 ทาง HTC เขาก็เลิกใช้แท็กไลน์นี้ แต่มันก็ดูจะสายไปแล้วละครับ เพราะในปีนั้น ผมได้มีโอกาสไปประเทศไต้หวันเพื่อไปเข้าชมงาน Computex 2013 ขนาดในประเทศบ้านเกิดของ HTC เองเลยนะ และตอนนั้นเขามีกิจกรรมประชาสัมพันธ์สมาร์ทโฟนของ HTC ด้วย ผมก็แอบยืนแวะดูแป๊บนึง สาวๆ พริตตี้ก็ออกมาเต้นๆ ผู้คนก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่าย … iPhone กับ Samsung ล้วนๆ เลยจ้า … แพ้ตั้งแต่ในบ้านเกิดแบบนี้ จะไปชนะสงครามนอกประเทศยังไงละเนี่ย
พอมาปีหลังๆ อะ มันเหมือนกับมีความพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตลง HTC ก็เหมือนจะเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการไม่ออกรุ่นสเปกไฮโซๆ จำพวกเรือธง แต่เน้นออกรุ่นราคาประหยัดกับรุ่นราคากลางๆ มากกว่า ซึ่งมันเป็นความคิดที่ผิดมากเลยอะ เพราะรุ่นเรือธง แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ทำกำไรต่อยูนิตมากเท่ากับรุ่นราคาประหยัดหรือรุ่นกลางๆ แต่มันคือตัวสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทำให้คนมองภาพลักษณ์ของแบรนด์ดี และเวลาจะเลือกซื้อรุ่นราคาประหยัดหรือรุ่นกลางๆ ก็จะมองที่แบรนด์นี้แหละ
ซึ่งพอยิ่งไม่มีเรือธงมานำเทรนด์ ก็ยิ่งทำให้แบรนด์ HTC ดูเสื่อมค่าลงหนักเข้าไปอีก กลับกัน เราจะได้เห็นแบรนด์อย่าง OPPO ที่เติบโตขึ้นมาจากการออกรุ่นราคาไม่แพง จำพวกรุ่นราคาประหยัดจนถึงรุ่นกลางๆ เริ่มออกรุ่นเรือธง สเปกเทียบเคียงได้กับเรือธงของแบรนด์เจ้าตลาดอย่าง Samsung ในยุคนั้น แต่มีราคาที่อาจจะถูกกว่าเล็กน้อย ซึ่งมาถึงตอนนี้ คงไม่ต้องให้บอกแล้วละครับว่า OPPO สามารถออกรุ่นเรือธงราคาเกิน 30,000 บาทมาขาย ก็ยังมีคนที่ชอบแบรนด์นี้แล้วก็ยังซื้ออยู่ดี
แล้วตอนนี้ HTC ยังอยู่ไหม?
ตัวบริษัทยังอยู่ครับ แม้ว่าในปี 2560 จะได้ขายไลเซ่นส์ทรัพย์สินทางปัญญาด้านสมาร์ทโฟนและพนักงานด้านออกแบบและวิจัยราวๆ ครึ่งนึงไปให้กับ Google ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ เขาก็ยังออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มาเรื่อยๆ จนถึงเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานะ แต่ปีนี้ยังไม่เห็นข่าวว่าจะมีรุ่นไหนออก
HTC Vive ที่เป็นอุปกรณ์ VR goggle ถือว่าเป็นอุปกรณ์ระดับพรีเมียม และออกมาหลายรุ่นมาก โดยส่วนตัวผมคิดว่า HTC มาเอาดีทางนี้ได้ และเขาเข้ามาก่อนชาวบ้านเยอะเลย โดยที่ PC GAMER จัดอันดับ 6 อุปกรณ์ VR ที่ดีที่สุดเนี่ย มีของ HTC ซะ 2 ตัวเลยอะ คิดดู และเมื่อปี 2562 HTC ก็เข้าสู่วงการ Blockchain และ Cryptocurrency ด้วยการเปิดตัว HTC EXODUS ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น The first cryptophone in the world เลยก็ว่าได้

ผมไม่ได้อยู่ในวงการ Cryptocurrency ผมก็เลยไม่แน่ใจว่า HTC EXODUS นี่ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน รู้แต่ว่ามันออกมา 3 รุ่น คือ EXODUS 1, EXODUS 1 x Binance และ EXODUS 1S (ที่เป็นรุ่นสเปกราคาประหยัดของ EXODUS 1 … ซึ่งเป็นแนวคิดประหลาดอีกแล้ว คือ ค่ายอื่นเขาใส่ตัว S เข้าไปคือสเปกจะดีขึ้น แต่ HTC ย้อนศรเลยจ้า สเปกด้อยลง)

ณ ตอนนี้ หุ้นของ HTC ก็อย่างที่เห็นครับ จากที่เคยพีคๆ ในช่วงปี 2554 ที่ไปถึงระดับพันกว่าดอลลาห์ไต้หวัน (ก็ราวๆ พันกว่าบาท) ต่อหุ้น ตอนนี้เหลือ 65.80 ดอลลาห์ไต้หวันเท่านั้นอะ สถานการณ์ทางบัญชีของบริษัทก็ยังไม่ได้ดีเท่าไหร่นะครับ จนถึงราวๆ ปลายปีที่แล้ว HTC ก็ยังคงขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปลายปี 2564 ยกเว้นไตรมาสแรกปี 2561 ที่การขายทรัพย์สินของบริษัทไป ช่วยทำให้มีกำไรมาหน่อย)
เห็นแบบนี้แล้วก็แอบใจหลายเหมือนกันครับ เพราะจะว่าไป ผมก้าวเข้ามาในสายบล็อกเกอร์เนี่ย ก็เพราะ HTC ประเทศไทยเลยนะ เพราะตอนนั้น พี่ณัฐ ณัฐวัชร์ วรนพกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ HTC ในยุคนั้น (ปัจจุบันพี่ณัฐเป็น รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แล้วฮะ) เป็นคนแรกเลยที่ให้ผมยืมสมาร์ทโฟน HTC มารีวิว ในฐานะบล็อกเกอร์ และรีวิวผ่านทาง Twitter กับบล็อก ซึ่งในยุคนั้นผมยังใช้ WordPress แบบฟรีอยู่เลยอะ