Home>>บทความ How-to>>3 รูปแบบการใช้ WD Red SSD กับ QNAP NAS ให้เป็นประโยชน์
กล่อง WD Red SSD SA500 สองกล่อง และ WD Red SSD SN700 อีกหนึ่งกล่อง
บทความ How-toQNAP User Guide

3 รูปแบบการใช้ WD Red SSD กับ QNAP NAS ให้เป็นประโยชน์

เดี๋ยวนี้ผมสังเกตว่า QNAP NAS รุ่นใหม่ๆ เริ่มมีการรองรับ SSD มากขึ้นนะ คือ ปกติถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ 3.5 นิ้วมันก็สามารถใส่ SSD แบบ SATAIII ที่มีขนาดเท่าๆ กับฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้ว อยู่แล้ว แต่รุ่นใหม่ๆ มันเพิ่มสล็อตสำหรับใส่ SSD แบบ M.2 2280 มาให้อีก (บางรุ่นรองรับ M.2 แบบ SATAIII บางรุ่นรองรับ M.2 แบบ NVMe ต้องดูให้ดีๆ ก่อนนะ) ในบล็อกตอนนี้ ผมก็เลยจะมาขอแนะนำ 3 รูปแบบการใช้งาน SSD กับ QNAP NAS เพื่อใช้ประโยชน์จากความเร็วในการอ่านและเขียนของมันครับ

จำเป็นไหม ต้องใช้ SSD สำหรับ QNAP NAS อย่าง WD Red?

ในขณะที่ผู้ใช้งาน QNAP NAS จะคุ้นกับฮาร์ดดิสก์ที่เป็น WD Red แต่อาจจะไม่ค่อยได้เห็น WD Red ที่เป็น SSD เท่าไหร่ แต่เขามีให้ใช้อยู่นะครับ ทั้งแบบที่เป็น SATAIII 2.5 นิ้ว WD Red SA500 (ความเร็วในการอ่านสูงสุด 560MB/s ความเร็วในการเขียนสูงสุด 530MB/s) และแบบ NVMe M.2 2280 WD Red SN700 (ความเร็วในการอ่านสูงสุด 3,100-3,430MB/s ความเร็วในการเขียนสูงสุด 1,600-3,100MB/s ขึ้นอยู่กับความจุ) เลยครับ

กล่อง WD Red SSD SA500 สองกล่อง และ WD Red SSD SN700 อีกหนึ่งกล่อง

ถามว่า แล้วเราจำเป็นไหมที่จะต้องใช้ SSD สำหรับ NAS อย่าง WD Red? คำตอบของผมก็คือ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานครับ คือ ถ้าคุณใช้ QNAP NAS เหมือนๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป คือ เปิดใช้ตอนกลางวัน และตอนกลางคืนที่ไม่ได้ใช้ก็ปิด การใช้งานก็เป็นแบบส่วนตัว ไม่ได้เข้าไปอ่านและเขียนข้อมูลต่อเนื่องยาวๆ ตำแหน่งวาง QNAP NAS ก็มีการระบายอากาศที่ดี แบบนี้ถ้าอยากจะใช้ WD Blue SSD ซึ่งราคาถูกกว่าพอสมควร เมื่อเทียบความจุเท่ากัน ก็พอจะโอเคแหละ

แต่คนใช้ QNAP NAS ส่วนใหญ่ มันไม่ใช่แบบนั้นไง สภาพแวดล้อมการทำงานของ QNAP NAS มักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เปิดใช้งานแบบ 24/7 มีการเข้าถึงข้อมูลทั้งอ่านและเขียนเยอะมากๆ เรียกว่ารุมใช้งานเหอะ แบบเนี้ย ผมก็อยากแนะนำให้เลือกใช้ SSD ที่ออกแบบมาสำหรับ NAS โดยเฉพาะอย่าง WD Red ดีกว่าครับ

SSD cache acceleration เหมาะสำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน

WD SSD NVMe SN700 ใส่ใน QNAP NAS

รูปแบบการใช้งาน SSD บน QNAP NAS อย่างแรก คือการใช้ทำเป็น SSD cache acceleration ครับ เป็นอะไรที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน ลงทุนไม่ต้องเยอะ เพราะเราแค่ใส่ SSD ความจุซัก 512GB – 1TB ก็อาจจะเรียกว่าเหลือแหล่แล้ว การพิจารณาว่าจะใส่แค่ไหนดี ให้ดูที่สองเรื่อง คือ

1️⃣ QNAP NAS ที่คุณใช้ มีหน่วยความจำแค่ไหน เพราะขนาดของหน่วยความจำ มันจะเป็นตัวกำหนดความจุสูงสุดของ SSD cache ที่รับได้ครับ ซึ่งผู้ใช้งานตามบ้าน มักจะใช้ QNAP NAS ที่มีหน่วยความจำซัก 4-8GB อย่างมาก (ดูว่าจะใส่ SSD cache ได้เท่าไหร่ ดูที่เว็บไซต์ของ QNAP)

2️⃣ ข้อมูลที่เราจะเข้าถึงบ่อยๆ มันมีขนาดใหญ่แค่ไหน เช่น ไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ โดยคำว่า “ขนาดใหญ่แค่ไหน” ผมไม่ได้หมายถึง ขนาดของแต่ละไฟล์นะ แต่หมายถึง ทุกไฟล์รวมๆ กันอะ ว่าเรามีการไปเปิดไฟล์นั่นนี่ วิดีโอนั่นนี่ เยอะแค่ไหน แล้วรวมๆ กันแล้ว ความจุน่าจะซักเท่าไหร่ เพราะถ้าเปิดบ่อยๆ แล้วไฟล์พวกนั้นไปเก็บไว้ในแคช มันจะทำให้เราเข้าถึงไฟล์นั้นได้เร็วขึ้นจริงๆ

ถ้าใครใช้ QNAP NAS รุ่นที่รองรับ SSD แบบ M.2 ผมก็อยากให้เอาสล็อตนี้แหละ มาใช้ทำ Cache นะ เพราะจะได้ประหยัดถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ปกติอะ แถม ถ้ามันรองรับ NVMe เราก็จะได้ความเร็วของแคชที่สูงกว่ามากๆ ด้วยแหละ แต่มันก็จะมี QNAP NAS บางรุ่นที่เขามีถาดขนาด 2.5 นิ้วมาให้โดยเฉพาะ ถ้าเป็นกรณีนั้น ก็เอา SSD แบบ SATAIII มาใส่ก็ได้ เพียงแต่ความเร็วของแคชมันจะสู้ NVMe ไม่ได้

อย่างที่บอก SSD cache acceleration เหมาะกับการใช้งานตามบ้าน มันช่วยให้เปิดไฟล์ต่างๆ รวดเร็วขึ้น และใครทำพวก Video editing หรือ Virtualization ก็ใช้ SSD cache acceleration ได้ (ไม่ต้องถึงขนาดไปทำ Data volume ด้วย SSD)

ทำ Data volume ด้วย SSD มันซะเลย

ถ้ารวยนัก จะใส่ฮาร์ดดิสก์ทุกลูกเป็น SSD ก็ได้ครับ WD Red SA500 ตอนนี้ ความจุสูงสุดก็ 4TB แล้ว ถ้าใส่ใน QNAP NAS แบบ 4-bay เราจะได้ความจุเบิ้มๆ 12TB สบายๆ ถ้าทำแบบนี้ แทบจะไม่ต้องทำ SSD cache acceleration เลย แต่คนจะทำแบบนี้ได้ มักจะเป็นภาคธุรกิจมากกว่า ที่ต้องการความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลมหาศาลตลอดเวลา (เช่น พวกฐานข้อมูลที่ต้องรองรับ Transaction มากๆ)

หน้าจอ Storage Pool Wizard ของ QNAP NAS กำลังจะสร้าง RAID1 ด้วย SSD 1TB จำนวน 2 ลูก

สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป ถ้าเกิดเราสามารถจัดไหว ผมก็อยากแนะนำให้จัด WD Red SSD SA500 มาทำ RAID1 ซัก 2 ลูกครับ ไม่ต้องเอาความจุ 1TB แบบผมก็ได้ เอาซัก 250GB หรือ 512GB ก็พอ ถามว่าเอามาทำไม ก็เอามาทำเป็น Data volume ที่เอาไว้ติดตั้งแอปเป็น Default ครับ มันจะทำให้เราได้ประโยชน์ในการเรียกใช้พวก Service ต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น อันเป็นผลจากความเร็วในการอ่านและเขียนของ SSD นั่นแหละ

หน้าจอ System Shutdown กำลังปิดเครื่อง QNAP NAS

เท่าที่ผมลองใช้งานดู พบว่าบูตเครื่อง หรือปิดเครื่อง รวดเร็วขึ้น คงเพราะมันเรียกใช้โปรแกรมต่างๆ ได้ไวขึ้น เนื่องจากติดตั้งโปรแกรมไว้บน SSD นี่นะ ซึ่งก็ไม่ได้เร็วเหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่รัน Windows หรือ macOS ที่ใช้ SSD นะ แต่ถ้าเทียบกับ QNAP NAS ที่ติดตั้งโปรแกรมไว้บนฮาร์ดดิสก์แบบเดิมๆ นี่ เร็วกว่าอยู่

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ติดตั้งโปรแกรม HBS 3 เพื่อทำการแบ็กอัปข้อมูลไปไว้ที่อื่น โดยทำ QuDedup เพื่อช่วยประหยัดเนื้อที่ในการเก็บสำรองข้อมูลด้วยแล้ว ควรจะลง HBS 3 นี่ไว้บน Volume ที่เป็น SSD ครับ จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ไม่งั้น หากสำรองข้อมูลปริมาณมากๆ ทุกวัน มันใช้เวลานานมาก นานขนาดที่ Notification Center มันจะแนะนำให้ย้าย HBS 3 ไปบน SSD เหอะ

รูปแบบการใช้งานที่เหมาะจะทำ SSD volume คือ กรณีที่แอปต้องการ Random read/write access สูงๆ เพื่อเรียกดูข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ใน Volume เช่น พวกงานด้าน Database เป็นต้น

Qtier คือขั้นสุด ผสมผสาน SSD กับฮาร์ดดิสก์ เพื่อประสิทธิภาพที่ลงตัว

ขั้นสุดของการใช้งาน SSD บน QNAP NAS ต้องนี่เลยครับ Qtier ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กรครับ มันคือการผสมผสาน RAID group ที่เป็น SSD, SAS และฮาร์ดดิสก์ เข้าด้วยกันรวมเป็น Storage pool เดียว ซึ่งจะให้ซอฟต์แวร์ช่วยพิจารณาเคลื่อนย้ายข้อมูลไปเก็บไว้ใน RAID group ที่เป็น SSD, SAS หรือฮาร์ดดิสก์ ตามแต่ว่าข้อมูลนั้นๆ ถูกเข้าถึงบ่อยแค่ไหน คือ อันไหนถูกเข้าถึงบ่อยๆ ก็จะไปเก็บไว้บน SSD หรือ SAS ส่วนอันไหนเข้าถึงไม่บ่อย ก็ไปเก็บบนฮาร์ดดิสก์

ภาพเคลื่อนไหวอธิบายการทำงานของ Qtier

ในกรณีที่เรามีถาดใส่ฮาร์ดดิสก์เยอะหน่อย และ QNAP NAS ก็รองรับ SSD M.2 NVMe ด้วย ก็แทนที่ SAS ด้วย SSD SATAIII ได้ครับ อย่างกรณีนี้ ถ้าผมมี QNAP TS-673A ผมอยากใช้ Qtier ผมก็อาจจะเซ็ตแบบนี้

*️⃣ ใส่ SSD NVMe 2 ตัว ทำ RAID1 อันนี้จะเป็น Ultra high speed group
*️⃣ ใส่ SSD SATAIII 2 ตัว ทำ RAID1 เหมือนกัน อันนี้ก็จะเป็น High speed group
*️⃣ ใส่ฮาร์ดดิสก์ 4 ลูก ทำ RAID5 ไปเลย เป็น Capacity group

และใน QTS เวอร์ชัน 4.3.0 เป็นต้นมา เราสามารถตั้งค่าให้ซอฟต์แวร์มันทำการย้ายข้อมูลไปมาระหว่าง SSD, SAS และฮาร์ดดิสก์ได้ เมื่อ NAS อยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำงาน ซึ่งฟีเจอร์นี้จะทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บเอาในสื่อบันทึกข้อมูลที่เหมาะสมกับความถี่ห่างในการเข้าถึงข้อมูลที่สุด แต่ถ้าจะไปให้สุด และมีถาดใส่ฮาร์ดดิสก์มากพอ เราจะทำ SSD cache acceleration เพิ่มไปด้วยก็ได้นะครับ

รูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมกับ Qtier คือพวก File server, Web serve, Email server ที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า I/O มีมากน้อยแค่ไหน (เพื่อจัดเตรียม SSD, SAS และฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดเหมาะสม)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า