เรื่องของเรื่องคือ ทีวี 32 นิ้วตัวเก่าที่ใช้มาเป็นสิบปีมันไม่รอดแล้ว จอภาพพังมาก ประกอบกับตอนนี้ยังอยู่ในห้วงของการ “ช้อปดีมีคืน” ก็เลยตัดสินใจง่ายมากว่าจะหาซื้อทีวีใหม่ครับ โดยที่ไม่อยากจ่ายแพงมาก แต่ก็อยากได้สเปกที่ดีประมาณนึง และหน้าจอวัก 40-43 นิ้ว ก็พอ เลยไปจ๊ะเอ๋กับ TCL รุ่น 43P615 นี่เข้าให้ เลยซื้อกลับมา แล้วก็ถือโอกาสรีวิวให้อ่านกันครับ
ออกตัวล้อฟรี
ทีวี TCL รุ่น BeyondTV 43P615 ตัวที่รีวิวงวดนี้ ซื้อมาใช้เองครับ ตอนแรกกะว่าจะซื้อไปเปลี่ยนกับ 32 นิ้วที่พังแล้วที่อยู่อีกบ้าน แต่พอได้ลองเล่นแล้วก็รู้สึกว่า ทำไมไม่เอาทีวี 40 นิ้วธรรมดาๆ ที่ใช้อยู่ไปเปลี่ยนแทนฟะ เพราะก็ไม่ค่อยได้ไปใช้งานบ่อยๆ แล้วเอาตัวใหม่มาไว้ในห้องแทน เพราะได้ใช้งานบ่อยกว่า
ทีวี TCL รุ่น BeyondTV 43P615 ตัวนี้ ถือเป็นทีวียี่ห้อ TCL รุ่นแรกที่ผมได้รีวิวเลย แล้วก็เป็นตัวที่ผมก็กะว่าจะใช้จริงด้วยเลยฮะ แกะกล่องออกมาในกล่องก็จะมีตัวทีวี TCL BeyondTV 43P615 ขาตั้งทีวีพร้อมน็อตยึด 4 ตัว สายแปลงหัว RCA เป็น 3.5 มม. รีโมตคอนโทรล และคู่มือการติดตั้งใช้งานกับใบรับประกันสินค้า
จริงๆ TCL ซีรีส์ P615 เนี่ย เขามีให้เลือก 4 ขนาด คือ 43 | 50 | 55 | 65 นิ้ว ตัว 43 นิ้วที่ผมเลือกเนี่ย ก็เลยเป็นรุ่นที่เล็กสุดครับ เป็นซีรีส์ที่เป็น 4K UHD TV AI-IN | Android TV ครับ ความหมายก็คือ เป็นทีวีขนาดหน้าจอ 4K ที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และมี Voice assistant ด้วย เอาไว้สั่งการโน่นนี่นั่นได้

จุดนึงที่ผมสังเกตคือ ในใบรับประกันมันจะเขียนว่าสินค้ามีการรับประกัน 1 ปี และเมื่อไปลงทะเบียนประกันแบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ TCL (คือเราไม่จำเป็นต้องส่งใบรับประกันไปทางไปรษณีย์แล้ว) ก็เห็นว่าเงื่อนไขและระยะเวลาการรับประกัน มันระบุไว้ว่า “สินค้า ทีซีแอล รับประกันคุณภาพเป็นเวลา 1 ปีหรือตามโปรโมชั่นของทางบริษัทเท่านั้นนับจากวันที่ซื้อ” ก็เลยเดี๋ยวต้องรอดูอีกทีว่ามันจะรับประกันเป็นเท่าไหร่กันแน่ แต่ตอนที่ผมซื้ออะ มันประชาสัมพันธ์ว่ารับประกัน 3 ปีแบบ on-site ครับ (โดยศูนย์เขาจะทำการติดต่อร้านซ่อมในเครือข่ายที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดให้เข้ามาดูให้) อันนี้เดี๋ยวจะกลับมาอัปเดตให้ในบล็อกนะ



การประกอบเรียกว่าไม่ยาก เพราะที่ต้องทำก็คือ ติดตั้งขาทีวีด้วยน็อตยึดข้างละ 2 ตัว ก็เท่านั้นแหละ ขาทีวีแต่ละข้างก็จะมีการติดแผ่นการลื่นเอาไว้ เพื่อให้มันวางอยู่บนพื้นผิวได้แน่นหนาดี ซึ่งก็ช่วยได้ประมาณนึง แต่เพราะตัวทีวีมันมีน้ำหนักค่อนข้างเบา คือ 6.75 กิโลกรัม เมื่อรวมกับขาตั้งทีวีแล้ว ก็เลยทำให้หากเราออกแรงขยับหน่อยมันก็เคลื่อนที่แล้วนะ ใครที่คิดจะเอาไปวางในที่ที่ลมแรงๆ หน่อย (คือ สำหรับธุรกิจห้างร้าน บางทีก็เลือกซื้อทีวีจอใหญ่ๆ ไปใช้นอกสถานที่ แล้ววางใช้งาน เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย) ต้องระวังลมมันพัดทีวีล้มนะ ผมเคยเห็นกับตามาแล้วกับทีวีจอ 65 นิ้ว
สองข้างของด้านใต้ของหน้าจอ เป็นลำโพงกำลังขับข้างละ 9.5 วัตต์ เห็นว่าเป็นระบบเสียงแบบ Dolby Audio เลยทีเดียว และตรงกลางก็เป็นปุ่ม Power และแผ่นพลาสติกขุ่นที่เอาไว้สำหรับกระจายแสงไฟ LED เพื่อบอกสถานะของการทำงานของทีวีครับ เป็นดีไซน์ที่ผมมองว่าโอเคดี คือ ไม่เอาไฟ LED มายิงแยงตาโดยตรง แต่ทำให้พลาสติกมันสว่างขึ้น ไม่แสบตา แม้จะเป็นตอนกลางคืนที่ปิดไฟห้องแล้ว

ด้านหลังของทีวี รองรับการยึดติดกับผนังแบบ VESA แบบ WMB234 มีรูปแบบของรูน็อตเป็น 200×200 ใช้น็อตแบบ M6×12 จำนวน 4 ตัวในการยึด สายไฟเป็นแบบที่ติดมากับตัวทีวีเลย ไม่สามารถถอดออกได้ หัวปลั๊กเป็นแบบ Type C ใช้กับเต้าเสียบใดๆ ที่รองรับมาตรฐาน มอก. 166-2549

ในแง่ของการเชื่อมต่อ เรียกว่าไม่แย่ครับ มีพอร์ต HDMI มาให้ 3 พอร์ต รองรับ HDMI1.4, HDMI2.0, HDCP1.4, HDCP2.2 โดยพอร์ต HDMI พอร์ตแรก เป็นแบบ HDMI ARC (Audio Return Channel) อันนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่เรามีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เราต่อเครื่องเล่น Blu-ray กับทีวี แล้วมีชุดเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์ด้วย แทนที่เราจะต้องต่อสายจากเครื่องเล่นมาที่ทีวี แล้วต้องต่อสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นไปที่ลำโพงด้วย เราก็สามารถใช้สาย HDMI มาต่อเข้ากับพอร์ตนี้ แล้วเอาไปเสียบกับเครื่องเสียง ทีนี้อินพุตจากอุปกรณ์ใดๆ ที่ต่อกับทีวีเราอยู่ ก็จะสามารถส่งต่อไปที่ซาวด์บาร์ได้ เป็นต้น (รายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของ HDMI ARC ให้อ่านจาก การเชื่อมต่อ HDMI กับทีวี แตกต่างจาก HDMI (ARC) ยังไง (mercular.com) ได้) ส่วนพอร์ต HDMI ช่องที่ 2 เป็นพอร์ตเอาไว้ทำเรื่อง Service ด้วยในตัว
นอกจากนี้ก็มี พอร์ต Coaxial สำหรับต่อกับเสาอากาศ ช่องเสียบ AV-in 3.5 มม. สำหรับเสียบสายแปลง 3.5 มม. เป็น RCA แล้วก็มีช่องเสียบ Audio 3.5 มม. กับ Digital audio แล้วก็พอร์ต USB 2.0 จ่ายไฟ 5V 0.5A ให้ 1 พอร์ต เอาไว้อ่านพวก USB flash drive หรือเชื่อมต่อกับ USB receiver dongle เพื่อต่อกับ Wireless keyboard ก็ได้ มีพอร์ต RJ45 ต่อ LAN 10/100 ได้ด้วย
สเปกอื่นๆ ที่น่าสนใจสำหรับทีวีตัวนี้ก็คือ
📺 รองรับระบบ TV เป็น [แอนะล็อก: PAL/NTSC/SECAM-DK/BG/I/M D] [ดิจิทัล: DVB-T/T2]
📺 ช่อง AV รองรับระบบ PAL และ NTSC
📺 รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย Wireless LAN 802.11b/g/n (2.4GHz) และ Bluetooth 5.0
📺 หน้าจอมีความสว่าง 260 cd/m2 และมี Contrast ratio 5000:1 แสดงผลสีได้ 1.07 พันล้านสี มุมมองกว้าง 178 องศา (ทั้งแนวตั้งและแนวนอน) อัตรารีเฟรช 60Hz Response time 9.5ms
📺 รองรับการถอดรหัส HDR10 มี TOT IPTV และ Netflix built-in แบบเรียกใช้ผ่านรีโมตคอนโทรลได้เลย
📺 รองรับ Android TV เป็น Android 9.0 มี Chromecast built-in สามารถ Cast ภาพจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก ที่รองรับการ Cast ผ่าน Chromecast ขึ้นจอทีวีได้ มี Google Assistant มาให้ในตัว
📺 หน่วยประมวลผล 64-bit A55 Quad-core 900MHz – 1.1GHz GPU Mali-470 แรม 2GB ความจุ 16GB (เหลือใช้จริงๆ ราวๆ 10GB)
โดยรวม ถ้าพิจารณาจากสเปก มันก็คือสมาร์ททีวีแบบง่ายๆ ที่มีสเปกครบเครื่องสมความเป็นสมาร์ททีวีอยู่ รองรับการเชื่อมต่อทั้งแอนะล็อกทีวี (ถ้ายังจะใช้อยู่นะ) ไปจนถึงดิจิทัลทีวีในประเทศไทย หรือถ้าใครจะดูทีวีผ่านพวก Set top box ก็ทำได้อยู่แล้วผ่านพอร์ต HDMI หรือจะติดตั้งแอปที่ใช้อยู่ก็ได้ครับ ขอให้มันรองรับ Android TV ก็พอ แต่สำหรับคนที่กะว่าจะซื้อมาเล่นเกม (เพราะ Android TV ลงเกม แล้วเชื่อมต่อกับจอยเกมไร้สายได้) ผมไม่แนะนำนะ เพราะรุ่นนี้ให้แรมมาน้อย แถมความจุ (Internal storage หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ROM ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่) ก็น้อย แค่ 16GB เหลือใช้จริงไม่ถึง 10GB ด้วย เก็บไว้ลงแอปอื่นๆ เหอะ) หน่วยประมวลผลก็ไม่ได้แรงเริ่ดใดๆ
ประสบการณ์ในการใช้งาน TCL BeyondTV 43P615 เป็นยังไงบ้าง?
ทีวีราคาไม่ถึงหมื่น แต่จอ 43 นิ้วและมีลูกเล่นพอสมควร มันก็แลกมาด้วยข้อจำกัดหลายๆ เรื่องเพื่อลดต้นทุนละนะ เริ่มจากวัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องที่ก็ดูเป็นพลาสติกธรรมดาๆ เลย ไม่ได้มี Finishing touch ที่ทำให้ดูพรีเมียมหรูหราอะไรเพิ่ม สายไฟที่เป็นแบบติดมากับตัวเครื่อง ถอดออกไม่ได้ ก็จะต้องพิจารณาเรื่องตำแหน่งติดตั้งหน่อย อย่าให้มันไกลปลั๊กมากนัก เดี๋ยวสายยาวไม่ถึง (ซึ่งถ้าเกิดมันเป็นแบบที่ถอดแยกได้ เราก็อาจจะหาซื้อสายที่ยาวๆ มาใช้ได้)

ตัวทีวีมีน้ำหนักเบามาก ฐานวางทีวีก็มีน้ำหนักเบา มองในแง่การขนย้ายคือสะดวกมาก เบาโหวง แบกขึ้นลงชั้น 1-3 ยังสบายๆ เหอะ แต่เวลาเอาไปวางแล้ว ก็แอบรู้สึกถึงความไม่มั่นคง เพราะแค่เอามาจับแล้วออกแรงนิดหน่อย ทีวีก็เคลื่อนแล้ว ต้องพิจารณาตำแหน่งในการวางด้วยว่าจะไม่ไปโดนแมวมาเดินเบียดแรงๆ หรือเอาหัวมาไซร้หนักๆ หรือมีเด็กซนๆ เดินหรือวิ่งมากระแทกร่วงจากโต๊ะวางทีวี


รีโมตคอนโทรล น้ำหนักเบาดี ขนาดไม่เทอะทะด้วย แคบๆ ยาวๆ ปุ่มกดก็เข้าใจได้ไม่ยาก สำหรับคนใช้งานสมาร์ททีวี มีปุ่ม Netflix และ TOT IPTV แบบ Built-in มาให้เลย ถ้าใครใช้บริการ TOT IPTV อยู่แล้ว ก็จะสะดวกในการใช้งานเพื่อดูทีวีครับ และใครที่ซื้อทีวี TCL มา ก็จะได้รับสิทธิ์ดูแพ็กเกจ CHOICE Plus อะไรเนี่ย ฟรี 3 เดือน


แต่ TOT IPTV ก็ไม่ได้ฟรีตลอดไปนะครับ และต่อให้เรากะจะดูแค่ช่องดิจิทัลฟรีทีวี เราก็ต้องสมัครแพ็กเกจเพื่อใช้บริการ (ประมาณ 150 บาท/เดือน) แต่ถ้าใครไม่อยากเสียเงิน ก็ไปดาวน์โหลดแอป TrueID TV มาได้ครับ มันมีแพ็กเกจ เบสิค HD ที่ใช้งานได้ฟรี ดูได้ประมาณ 60 ช่อง (แต่ต้องทำใจกับโฆษณาของทรูนะ) ซึ่งอาจจะไม่สะดวกหน่อย เพราะว่าตัวปุ่มบนรีโมตคอนโทรลมันไม่ได้มีการรองรับการเรียกแอป TrueID TV ขึ้นมาโดยตรง (คนที่เก่งๆ หน่อย อาจจะหาวิธีแมปปุ่ม TOT IPTV ให้ไปเปิดแอป TrueID TV แทนได้แหละ เพราะมีคนทำแบบเดียวกันนี้กับปุ่ม Netflix มาแล้ว)

หน้าตาของ User Interface ของ Android TV ก็จะเป็นแบบนี้ครับ ด้านซ้ายก็จะเป็นเหมือน Shortcut สำหรับเข้าถึงฟังก์ชันบางอย่าง ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย App Tray (ให้นึกถึงไอ้ปุ่มจุด 9 จุด ที่แตะปุ๊บ มันจะแสดงรายชื่อแอปที่มีอยู่ทั้งหมดขึ้นมา) และพวกแอปต่างๆ ที่เรากำหนด (สามารถไปตั้งค่าได้ ตัว User Interface จะเรียกอะไรพวกนี้ว่า “ช่อง”) ส่วนด้านขวาก็จะเป็นเหมือน Recommendation ของ “ช่อง” ต่างๆ ครับ เช่น ถ้าเป็น “แอป” มันก็จะแสดงแอปที่เราตั้งเป็น Favourite หรือถ้าเป็น “TrueID TV” มันก็จะแสดงช่องต่างๆ ที่เขาแนะนำ เป็นต้น


โดย User Interface พวกนี้ เราสามารถเปลี่ยนลำดับการแสดงผลของมันได้นะครับ ตัว “ช่อง” เนี่ย เราแค่เลื่อนไปที่ “ช่อง” นั้นๆ แล้วกดปุ่มลูกศรซ้ายบนรีโมตคอนโทรล มันจะเปิดตัวเลือกการเลื่อนเปลี่ยนลำดับการแสดงผลได้ ส่วน “Recommendation” นี่ เราสามารถไปที่ “Recommendation” นั้นๆ แล้วกดปุ่ม OK บนรีโมตคอนโทรลค้างไว้ แล้วเลือก “ย้าย” จากนั้นก็เลื่อนลำดับได้ตามใจ
มันเป็น Android TV แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะมีแอปโน่นนี่นั่นให้เลือกเล่นเหมือนๆ กับบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนะครับ เพราะ Google มองว่า Interface และ Input ของทีวี กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต มันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นแอปใดๆ ที่ไม่ได้ถูก Optimized มาสำหรับทีวี ก็จะมีปัญหาในการแสดงผล ฉะนั้นแอปพวกนั้นก็จะไม่ได้มีให้ดาวน์โหลดบน Google Play Store ครับ เอาง่ายๆ ขนาดเบราว์เซอร์อย่าง Google Chrome หรือ Microsoft Edge ก็ไม่มีให้ใช้ครับ แต่ไม่ต้องห่วงนะ มันมีแอปชื่อ Open Browser ที่เป็นเบราว์เซอร์สำหรับ Android TV ให้ใช้ และเท่าที่ผมลองดู มันก็สามารถเปิดเว็บไซต์ต่างๆ ได้แบบไม่มีปัญหา แม้กระทั่งพวกเว็บสตรีมซีรีส์ก็ตาม
และใครที่ชอบดู WeTV, Netflix, Apple TV สบายใจได้ เพราะเจ้านี่รองรับหมดเลยครับ จะว่าไปมันก็เป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าไปซื้อกล่อง Apple TV ด้วยสินะ ถ้าเราไม่ได้เป็นคนใช้ iPhone หรือ iPad ที่อาจจะได้ประโยชน์จากฟังก์ชันอื่นๆ ที่ Apple TV ให้ได้ สำหรับผู้ใช้งานในระบบนิเวศของ Apple
สำหรับการพิมพ์ จะภาษาอังกฤษหรือไทย ไม่มีปัญหาเลย ด้วย On-screen keyboard แต่ถ้าใครคิดว่าการนั่งกดปุ่มลูกศรบนรีโมตคอนโทรลรัวๆ เพื่อเลือกตัวอักษรแต่ละตัวมันไม่เวิร์ก ก็สามารถหาคีย์บอร์ดมาเสียบได้ ซึ่งผมขอแนะนำให้ใช้คีย์บอร์ดไร้สายแบบที่มีคีย์บอร์ดและเมาส์ในตัวนะครับ เพราะมันมี USB อยู่พอร์ตเดียว สำหรับผม ผมใช้ Microsoft Wireless Keyboard All-in-One Media ครับ 1,490 บาท

การมี Chromecast ในตัว ทำให้เราสามารถทำการสั่ง Cast วิดีโอจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไปที่ TCL BeyondTV 43P615 ได้ง่ายๆ เลย แต่ก็ยังพบว่าช่วงแรกๆ ที่มันจะต้อง Buffer ข้อมูลวิดีโอ มันก็จะทำให้วิดีโอกระตุกๆ อยู่ช่วงนึง ส่วนการ Cast ภาพหน้าจอ (สำหรับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) นั้น จะ Cast ได้ทั้งภาพและเสียง แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะ Cast ขึ้นไปเล่นเกมนะ แบนด์วิธไม่ได้มากขนาดที่จะเล่นได้ลื่นไหลขนาดนั้น แต่ถ้าจะเอาไว้ใช้เพื่อทำ Demo ภาพจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เวลาทำพวก Workshop หรือ Training มันโอเคอยู่

หน้าจอแสดงผล 43 นิ้ว ความละเอียด UHD 3,840×2,160 พิกเซล เอามาใช้ต่อเป็นจอแสดงผลภายนอกของคอมพิวเตอร์ก็โอเคอยู่นะ เอามาเปิดเว็บแบบเต็มๆ โดยไม่ใช้เวอร์ชัน Mobile ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็โอเคทีเดียว Interface ที่คุ้นเคย และใช้งานง่ายกว่าด้วยคีย์บอร์ดและเมาส์จริงๆ
ลำโพง 9.5 วัตต์ แบบสเตริโอของ TCL BeyondTV 43P615 ก็ถือว่าดีในระดับนึง แต่ก็อย่างที่น่าจะเข้าใจกันได้ว่าถ้าอยากได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่านี้ ก็จงหาลำโพงภายนอกมาต่อเพิ่มครับ จะเป็นซาวด์บาร์ก็ได้ ส่วนของผม ผมใช้ harman/kardon Nova ครับ มันต่อผ่านบลูทูธได้ด้วย สบายเลย
เมื่อเป็นสมาร์ททีวี และเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แน่นอน มันมาพร้อมกับ Google Assistant ที่มีปุ่มเรียกใช้งานอยู่บนรีโมตคอนโทรล สามารถสั่งงานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเมื่อเชื่อมต่อกับระบบในบ้านแล้ว เราสามารถสั่งงานเปิด-เปิด โน่นนี่นั่นในบ้านเราได้ หากระบบ IoT ของเรารองรับ Google Home และได้มีการตั้งค่าเอาไว้แล้ว และแน่นอน ถ้าเรามี Google Home อยู่ที่บ้าน เราก็สามารถที่จะสั่งงานเปิด-ปิดทีวีผ่าน Google Assistant ได้เช่นกัน

ผมตั้งข้อสังเกตอีกอย่างเกี่ยวกับตัวทีวี TCL BeyondTV 43P615 ก็คือ เรื่องของเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพราะในเว็บไซต์ของ TCL มันเขียนว่าเป็น Latest Android OS แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ณ ตอนนี้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันล่าสุดคือ Android 12 และในประเทศไทย เวอร์ชันใหม่สุดน่าจะเป็น Android 11 ครับ คือ TCL 43P725 ครับ

ฉะนั้นก็เลยไม่แปลกใจอะไรที่พอผมพยายามจะอัปเดตระบบของ TCL 43P615 แล้ว มันก็บอกว่าเป็นเวอร์ชันล่าสุด ทั้งๆ ที่ Security patch มันเป็นของเดือนมกราคม 2021 (ปีที่แล้ว) ครับ ก็หวังแค่ว่ามันจะไม่ได้มีช่องโหว่อะไรร้ายแรงให้มีใครก็ตามมาแฮกทีวีผมได้นะ
บทสรุปการรีวิว TCL BeyondTV 43P615
ณ ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นทีวีที่ฟีเจอร์ครบแหละ แต่มันไม่ได้เป็น Latest Android ตามที่เขาโฆษณาไปบนเว็บนะ เพราะรุ่นใหม่กว่าที่ออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว (43P725) ต่างหาก ถึงจะเป็นเวอร์ชันใหม่เกือบสุด คือ Android 11 แต่ก็คาดหวังไม่ได้ว่าทาง TCL จะหมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการให้สม่ำเสมอแฮะ ซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่แอบเซ็ง (แต่ยี่ห้ออื่นๆ น่าจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน) ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของสมาร์ททีวีก็ตกไวซะเหลือเกินจริงๆ ซึ่งแม้ว่าสมาร์ททีวีสมัยนี้จะราคาไม่แพง (เรียกว่าเผลอๆ ถูกกว่าสมาร์ทโฟนที่เราใช้ซะอีก) แต่ทีวีคืออะไรที่อยู่กับเรานาน (ตัวเก่าในห้องนอนผมก็เกิน 6 ปี) กว่าจะเปลี่ยนอะ
ใครจะซื้อรุ่นนี้ ผมแนะนำให้ไปดูที่ Home Pro นะครับ เราขายอยู่ 9,990 บาท ถ้าซื้อออนไลน์เลย ลดเพิ่มอีก 1,500 บาท ครับ ถ้าไปดูที่ PowerBuy แบบผม (และซื้อมาซะด้วยนะ) จะมาช้ำใจทีหลัง เพราะมันขายอยู่ที่ 11,990 บาท แม้จะลดให้แล้ว 1,000 บาท ก็ยังแพงกว่าซื้อที่ Home Pro 1,000-2,500 บาทอยู่ดีอะ แงๆ