สำหรับคนทำงานภาคธุรกิจ โน้ตบุ๊กที่เขาอยากได้มักจะเป็นแบบที่ ไม่หนามาก ไม่หนักมาก แต่ยังมีหน้าจอที่ขนาดใหญ่พอสมควร และต้องมีพอร์ตการเชื่อมต่อและฟีเจอร์ครบครันด้วย โน้ตบุ๊กประเภทเนี้ย มันหาไม่ได้ง่ายๆ เท่าไหร่ แต่ ASUS ก็เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อตอน Q4 ปี 2564 ที่ผ่านมา และกำลังวางจำหน่ายในประเทศไทยด้วย นั่นคือ ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) ที่ผมกำลังจะรีวิวให้ได้อ่านนี่เอง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
โน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) ที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาได้ราวๆ เกือบสองสัปดาห์แล้ว และได้ลองใช้ทำโน่นทำนี่ ได้ลองใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ไป เพื่อจะได้เอามาเล่าสู่กันอ่านให้ฟังกันครับ
แกะกล่องโน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) ออกมาเนี่ย สิ่งที่มีอยู่ในนั้นก็จะประกอบไปด้วยตัวโน้ตบุ๊กเอง อะแดปเตอร์ 65 วัตต์ (5V3A, 9V3A, 15V3A และ 20V3.25A) แบบ USB-C ตัว USB dongle แปลงหัว Micro HDMI เป็น Gigabit LAN แล้วก็มีเมาส์ไร้สายแบบ Optical กับสไตลัสมาให้ด้วย

ตัวโน้ตบุ๊ก ใช้วัสดุเป็นโลหะอัลลอยครับ (บางส่วนเป็นแมกนีเซียม-อลูมิเนียมอัลลอย บางส่วนเป็นอลูมิเนียมอัลลอย) ให้ความเรียบหรู ผิวตัวเครื่องเป็นแบบดำด้าน แต่ไม่สากมือ ผมชอบผิววัสดุแบบนี้เพราะว่าจับแล้วไม่ค่อยมีรอยนิ้วมือ มีการทดสอบผ่านมาตรฐาน MIL-STD-810H (ดูตารางด้านล่าง เรื่องมาตรฐาน MIL-STD-810H แบบคร่าวๆ)

มาตรฐาน MIL-STD-810H
เป็นมาตรฐานของการทดสอบขีดจำกัดด้านความทนทานของอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานนี้จะ
*️⃣ ทำงานได้ภายในอุณหภูมิ -32 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และที่ 65 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 4 ชั่วโมง
*️⃣ ทดสอบการทำงานภายใต้ความชื้นสัมพัทธ์ 58%-88% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
*️⃣ ทดสอบการทนต่อการสัมผัสกับฝน โดยถูกฉีดละอองน้ำจากความสูงที่กำหนดไว้ และตรวจสอบหาความเสียหาย
*️⃣ ทดสอบการทนต่อการสั่นสะเทือน โดยจำลองการขับรถยนต์ระยะ 1,000 ไมล์ ที่ตัวอุปกรณ์ต้องทั้งกระเด้งกระดอน เสมือนหนึ่งอยู่บนรถ
*️⃣ ทดสอบการตกหล่น เพื่อจำลองสถานการณ์ที่อุปกรณ์เกิดอุบัติเหตุตกหล่น ในระยะความสูงที่กำหนด
*️⃣ ทดสอบความทนทานต่อพวกฝุ่นละอองและทราย ในกรณีที่ทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น
*️⃣ ทดสอบการทำงานภายใต้สภาวะที่มีความกดอากาศต่ำ เพื่อจำลองการใช้งานบนเครื่องบิน
*️⃣ ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคลือบป้องกันอุปกรณ์ เพื่อป้องกันคราบเกลือที่จะเข้าไปเกาะในชิ้นส่วนไฟฟ้าด้านใน ในกรณีที่ทำงานอยู่ใกล้กับทะเล
*️⃣ ทดสอบความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหันระหว่าง -21 ถึง 60 องศาเซลเซียส
ดีไซน์ตัวเครื่องที่ผมได้รีวิวนั้น หน้าจอเป็นแบบ 14 นิ้ว แต่จะเป็นอัตราส่วน 16:10 (ประมาณ 4:3 กว่าๆ คล้ายๆ กับพวกจอแสดงผลหรือจอโน้ตบุ๊กสมัยก่อน) ความละเอียด 2,560×1600 พิกเซล (มันมีรุ่นที่หน้าจอแสดงผลเป็น 1,920×1,200 พิกเซลด้วย) เป็นจอแบบทัชสกรีน มีกล้องเว็บแคมแบบ 720HD พร้อมเซ็นเซอร์ IR เพื่อรองรับ Windows Hello ด้วย
Tent mode Kiosk mode Tablet mode Laptop mode
ตัวเครื่องสามารถพับได้ 360 องศา เพื่อใช้งานโน้ตบุ๊กในรูปแบบต่างๆ ได้ทั้งแบบโน้ตบุ๊กทั่วไป, Kiosk mode, Tent mode รวมถึงเป็น Tablet mode ด้วย แต่เท่าที่ผมลองดูวิธีการใช้งาน จะแอบหวั่นๆ นิดนึงเวลาใช้งานในแบบ Tent mode และ Kiosk mode เพราะตอนเป็น Tent mode เนี่ย เราจะต้องเอาขอบของตัวเครื่องสัมผัสกับพื้นผิว (เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้) ถ้าเกิดพื้นผิวมันไม่เรียบพอ ก็อาจจะทำให้ขอบตัวเครื่องเสียหายได้ ต้องดูให้ดีๆ ครับ (หลายยี่ห้อ หลายรุ่น เวลาดีไซน์กะให้ใช้แบบ Tent mode จะมีการติดขอบยากไว้ตรงขอบ เพื่อป้องกันความเสียหายกับบอดี้ของเครื่องแหละ) ส่วนตอนเป็น Kiosk mode เนี่ย คีย์บอร์ดมันจะแตะกับพื้นผิวเลยครับ อาจทำให้คีย์บอร์ดเสียหายได้ ถ้าเกิดพื้นผิวไม่เรียบพอ มันจะดีกว่านี้ หาก ASUS ออกแบบมาให้แบบว่า เวลาพับเป็น Tablet mode แล้ว ปุ่มคีย์บอร์ดจะยุบตัวลงไปแอบในตัวเครื่องนะ
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือพอร์ตการเชื่อมต่อ ที่มีให้มาครบเครื่องมากๆ เลยครับ ตั้งแต่
*️⃣ ด้านซ้ายก็จะมี Thunderbolt 4 ให้มา 2 พอร์ต รองรับ Power Delivery และเป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) ด้วยในตัว พอร์ต HDMI 2.0b พอร์ต USB-A รองรับ USB 3.2 Gen 2 เช่นกัน พอร์ต Micro HDMI ที่เอาไว้เสียบกับ Gigabit LAN USB dongle ที่แถมมา (ในสเปกเขาระบุเลยว่า เอาไว้ใช้กับเจ้านี่เท่านั้นด้วย) ช่องเสียบหูฟังพร้อมไมค์ 3.5 มม. และไฟ LED 3 ดวง แสดงสถานะการทำงานของ Storage, การชาร์จแบตเตอรี่ และการทำงานของตัวเครื่อง
*️⃣ด้านขวามีพอร์ต USB-A แบบ USB 3.2 Gen 2 ปุ่มปรับระดับเสียบ ปุ่ม Power ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือ รองรับ Windows Hello ถาดใส่ซิมการ์ดแบบนาโนซิม (ถ้าไม่ได้สั่งให้เพิ่มฟีเจอร์รองรับ 5G ในระดับองค์กร ถาดนี้ก็เป็นแค่ถาดดัมมี่นะ) พอร์ต Mini Display ตัวล็อก Kensington และ Smartcard reader ด้วย
ด้านซ้ายของโน้ตบุ๊ก ด้านขวาของโน้ตบุ๊ก
มันคือโน้ตบุ๊กที่ผมว่ามีพอร์ตการเชื่อมต่อครบเครื่องสุดๆ จริงๆ ครับ นี่ถ้าเกิดพอร์ต Gigabit LAN เป็นแบบ Built-in แล้วมีพอร์ต RS-232 มาให้ด้วยนี่จะแบบว่า เหมาะสำหรับเอาไปใช้งานภาคธุรกิจทุกรูปแบบที่แท้ทรูจริงๆ แต่ถึงจะขาดสองอันนี้ไป ก็ต้องเรียกว่า ผมยังนึกไม่ออกว่าจะมีโน้ตบุ๊กอะไรที่ยัดพอร์ตเชื่อมต่อมาให้เยอะขนาดนี้อีก
ตัวเลือกสเปกของ ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F)
เท่าที่ดูมันมีหลายสเปกมากๆ แต่ในประเทศไทย ดูเหมือนว่าเขาจะเลือกมาให้ประมาณ 2 สเปกหลักๆ คือ รุ่นที่เป็น Intel® Core™ i7-1195G7 กับ Intel® Core™ i5-1155G7 และมีหน้าจอให้เลือกสองสเปก คือแบบ 2,560×1,600 พิกเซล กับ 1,920×1,200 พิกเซล แต่ในส่วนของหน่วยความจำและขนาดของ Storage นี่ ผมยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีอะไรให้เลือกบ้าง จากข้อมูลที่ ASUS ให้ผมมาบอกแค่ว่า จะใส่หน่วยความจำแบบ SO-DIMM DDR4 ได้สูงสุด 64GB (มี 2 สล็อต) ส่วน Storage นี่รองรับ PCIe 3.0×4 เป็น SSD NVMe M.2 มีสล็อตเดียว ใส่ได้สูงสุด 2TB
ส่วนตัวที่เขาส่งมาให้ผมรีวิวนั้น เป็นรุ่น CoreTM i5 ให้หน่วยความจำมา 16GB และ Storage 512GB (หรือ 475GiB) โดยตัว Storage นี่ ใส่สเปกมาแบบจัดเต็มครับ ความเร็วในการเขียนและอ่านแบบ Sequential ทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.4 x64 นี่ได้ระดับ 3,400+MB/s สำหรับการอ่าน และ 3,300+MB/s สำหรับการเขียนข้อมูล เรียกว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบครับ และความเร็วระดับนี้ ก็ช่วยให้เราสามารถบูตเครื่องและเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆ ได้เร็วเวอร์

สำหรับคนที่เลือกซื้อรุ่น CoreTM i7 จะได้ฟีเจอร์เพิ่มมาอีกอย่าง คือ การแสดงผลในโหมด ASUS PrivateView ครับ ซึ่งสามารถเลือกเปิดปิดได้ด้วยการกดปุ่ม Fn + 2 เมื่อเปิดแล้ว หน้าจอแสดงผลจากเดิมที่สามารถดูได้มุมกว้างมาก ก็จะแคบลงมาเหลือแค่ 45 องศาเท่านั้น คนรอบข้างไม่มีโอกาสได้แอบมองเลยว่าเราทำอะไรอยู่ (ยกเว้นจะแอบมาดูจากทางด้านหลัง) เป็นฟีเจอร์ที่เหมาะกับผู้ใช้งานภาคธุรกิจมากๆ ครับ

แต่เสียดายว่ารุ่นที่ผมได้รีวิวเป็น CoreTM i5 ไม่มีฟีเจอร์นี้ เลยไม่ได้ลองดูครับว่ามันแจ่มแค่ไหนนะ
ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) ล่ะ?
ในแง่ของฮาร์ดแวร์ในส่วนของการประมวลผล ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้วละครับ สำหรับการใช้งาน เพราะโดยส่วนตัว ผมก็ใช้ ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ที่สเปกเบากว่ารุ่นนี้อีก และผมก็สามารถเอามันมาใช้งานทั้งรีทัชภาพด้วยโปรแกรม Affinity Photo หรือตัดต่อวิดีโอความละเอียด Full HD แบบง่ายๆ ด้วย DaVinci Resolve (เวอร์ชันฟรี) ได้สบายๆ อยู่ ถ้าใครจะใช้แค่เอามาท่องเว็บ เช็กอีเมล ทำงานเอกสาร นี่ยิ่งเหลือเฟือเหอะ หน่วยประมวลผลกราฟิก Intel Iris Xe สามารถเอามาใช้เล่นเกมได้ประมาณนึงด้วยนะเออ
จุดสำคัญน่าจะเป็นเรื่องการใช้งาน ที่รุ่นนี้ดีไซน์เป็นแบบ Flip สามารถกางหน้าจอได้แบบ 360 องศา ใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กก็ได้ หรือถ้าเกิดต้องประชุมงาน นำเสนองานด้วยตัวโน้ตบุ๊กนี้เลย ก็ใช้ Tent mode ไป แต่ถ้าอยากจะจดโน้ต สเก็ตช์แบบ ก็มี Tablet mode ให้ใช้ และด้วยความที่หน้าจอเป็นแบบสัมผัส

หน้าจอแสดงผล อัตราส่วน 16:10 เนี่ย จะทั้งกว้างและสูงอีกนิด เมื่อเทียบกับอัตราส่วนแบบ 16:9 ฉะนั้น จะเอามาใช้ทำงานจำพวก Microsoft Excel หรือดูภาพยนตร์ ดูคลิปวิดีโอที่ต้องการหน้าจอกว้างๆ หรือจะเอามาทำงานท่องเว็บ ดูเอกสาร ที่ก็ต้องการหน้าจอแสดงผลที่ออกแนวสูงหน่อย มันก็จะทำได้ทั้งสองแบบครับ

และ ASUS ก็ให้ลำโพงตัวเครื่องที่จูนโดย harman/kardon มาด้วย เวลาที่เราจะดูพวกวิดีโอ ดูภาพยนตร์ ใช้งานใน Kiosk mode ก็สะดวกดีครับ คุณภาพของลำโพงถือว่าเสียงดัง ฟังชัดดีมาก เน้นเรื่องเสียงสูงและเสียงกลางชัดเจน เสียงคนร้อง เสียงคนพูดงี้ ใสกิ๊ง ฟังชัด แต่ถ้าใครคาดหวังเรื่องการแสดงเสียงย่านต่ำ ต้องแยกออกมาว่า มันสามารถแสดงเสียงย่านต่ำได้ แต่มันจะไม่ได้ตึบ ทุ้มต่ำอะ
ตัว ASUS นี่เซ็นเซอร์อินฟราเรดและเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาให้ รองรับ Windows Hello ก็จะช่วยให้เราสามารถล็อกอินเข้าระบบปฏิบัติการ Windows ได้อย่างรวดเร็ว และใครที่ใช้ฟีเจอร์นี้มาก่อนก็จะรู้ว่า Windows Hello สามารถนำไปใช้ยืนยันตัวตนในอีกหลายๆ ฟีเจอร์ของแอปต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น การยืนยันตัวตนเพื่อซื้อแอปบน Microsoft Store เป็นต้น

โดยส่วนตัว ผมชอบเลย์เอาต์คีย์บอร์ดของ ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402) ตัวนี้ครับ คือ นอกจากปุ่มตัวอักษรต่างๆ จะอยู่ในที่ที่มันควรอยู่ ใหญ่โตเพียงพอสำหรับการพิมพ์ใช้งานแล้ว ไอ้ปุ่มที่จำเป็นๆ ใช้บ่อยๆ มันมีอยู่ครบ และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้แล้วไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ ตั้งแต่ปุ่ม Shift ปุ่มลูกศรต่างๆ แถมมีปุ่มที่พิเศษเพิ่มเข้ามา เช่น ปุ่มเปิด-ปิดกล้องเว็บแคม (จะได้ไม่ต้องไปใช้ตัวเลื่อนเพื่อปิดกล้อง หรือที่เรียกว่า Webcam shield ก็ได้ … แต่เขาก็มี Webcam shield นี่มาให้นะ) ปุ่มเปิด-ปิดไมค์ ที่อำนวจความสะดวกตอนอยากจะ Mute ไมค์เวลาเรียนหรือประชุมออนไลน์มาก มีปุ่มทางลัดสำหรับการจับภาพหน้าจอเพิ่มมาให้อีก นอกจากที่จะมีปุ่ม Print screen อยู่แล้ว และยังมีปุ่มเปิด-ปิดฟีเจอร์ AI Noise cancelation สำหรับลำโพงอีก คีย์บอร์ดก็พิมพ์มันมือดีมาก

ผมสังเกตเห็นว่า ปุ่มเลข 1-4 อะ มันจะมีดีไซน์แปลกกว่าชาวบ้าน เพราะมันเป็นฟีเจอร์ที่เรียกว่า ASUS ExpertWidget เพื่อให้เราใช้ตั้งค่าเป็นปุ่มทางลัด เมื่อกดปุ่ม Fn + เลข 1-4 นี่ เราจะสามารถเปิดปิดฟังก์ชันบางอย่าง (เช่น Bluetooth) หรือเปิดโฟลเดอร์ที่เรามักจะใช้บ่อยๆ ได้ด้วย
TouchPad มีขนาดใหญ่แบบแปลกดีครับ คือปกติเราจะเห็นขนาดใหญ่แบบอ้วนป้อม แต่ของ ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) นี่จะใหญ่แบบแนว Widescreen ครับ คือ กว้าง แต่ไม่สูงมาก แต่ก็ยังถือว่าใหญ่อยู่นะ ข้อดีของการออกแบบ TouchPad แบบนี้ก็คือ มันทำให้เราลากนิ้วไปในแนวกว้างได้แบบเดียวกับสัดส่วนของหน้าจอนั่นเองแหละ และเมื่อแตะปุ่มแบบสัมผัสตรงมุมของ TouchPad แล้ว มันก็จะทำหน้าที่เป็น NumberPad 2.0 ได้ในตัวด้วย ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เห็นจะมีแค่ ASUS นี่แหละที่มีฟีเจอร์นี้ให้ใช้

อินพุตของ ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) นอกจากจะมีคีย์บอร์ด TouchPad และเมาส์แบบไร้สายที่เขาแถมมาให้แล้ว ก็มีนี่อีกครับสไตลัส ที่รองรับแรงกดได้ถึง 4,096 ระดับ ซึ่งเราเอาไว้สำหรับขีดๆ เขียนๆ จดโน้ต เอามาร่างแบบ ขีดเส้นใต้เวลารีวิวเอกสาร Microsoft Office ได้ด้วย อันนี้แถมมาให้ในกล่องแล้ว เหมาะกับตอนใช้ใน Tablet mode อย่างยิ่ง และสไตลัสนี้ เป็นตัวเดียวกับที่ใช้กับ ASUS ZenBook Duo 14 UX482 ได้ด้วย และผมเข้าใจว่ารุ่นหลังๆ ของ ASUS ที่รองรับสไตลัสนี่ก็น่าจะใช้ข้ามรุ่นกันได้แบบนี้แหละ

ในเรื่องของการเชื่อมต่อ ก็อย่างที่ได้บอกไปในตอนแรก เจ้านี่มีพอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ผมเรียกว่า ครบเครื่องที่สุดเท่าที่จะนึกออกครับ Thunderbolt 4 ก็รองรับ เสียบเป็น USB-C ก็ได้ USB-A ก็ให้มาสองพอร์ต และถ้าจะใช้เป็น USB-C หรือ USB-A ก็จะเป็น USB 3.2 Gen 2 ที่เรียกว่าแบนด์วิธก็ไม่ได้แย่อะไร (จะดีกว่า ถ้าเป็น USB 3.2 Gen 2×2 แบนด์วิธ 20Gbps แต่ว่าผมไม่ค่อยเห็นใครให้พอร์ตนี้มาอ่ะ) ต่อจอแสดงผลภายนอกก็มี HDMI 2.0b มาให้แล้ว ถ้าจะต่อด้วย Display port ก็มี Mini Display Port มาให้อีก
สำหรับคนใช้งานเชิงธุรกิจ พกโน้ตบุ๊กไปนอกสถานที่ แต่อยากจะเซฟแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟน ถ้ามี WiFi ให้ใช้ เจ้านี่รองรับ 802.11ax หรือ WiFi 6 เลย แต่ถ้าเกิดไม่มี WiFi ให้ใช้ เจ้านี่ก็รองรับ 5G แล้ว เสียบซิมเอาสิครับ (แต่ต้องสั่งในระดับองค์กรให้เขาเพิ่มฟีเจอร์นี้มานะ ถาดใส่ซิมที่มีมาให้เห็น ยังไม่สามารถใช้ได้จริงนะครับ) แถมเขายังรองรับ NFC และมี Smart Card Reader มาให้อีก ซึ่งผมเองก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเอาไว้ใช้ทำอะไรดี (แต่ภาคธุรกิจบางสาขาคงจะนึกภาพออกแหละเนอะ)
ASUS ไม่ได้เน้นแค่เรื่องของฮาร์ดแวร์นะ แต่เขาเน้นเรื่องซอฟต์แวร์ด้วย คือ ฟีเจอร์หลายๆ อย่าง มันสามารถตั้งค่าได้จากตัวซอฟต์แวร์ ที่เขามีแอปชื่อ MyASUS มาไว้ให้ใช้ มันสามารถ…
*️⃣ กำหนดการชาร์จแบตเตอรี่ได้ว่า จะชาร์จไม่เกิน 60% 80% หรือจัดเต็ม 100% ซึ่งจะช่วยเรื่องการยืดอายุแบตเตอรี่ โดยเฉพาะคนที่ชอบเสียบปลั๊กชาร์จตลอดเวลาใช้งาน การเซ็ตแบบ 60% จะช่วยประหยัดแบตเตอรี่ให้มากขึ้น แต่ถ้าใครอยากจะยืดอายุแบตเตอรี่ แต่ก็อยากจะมีแบตเตอรี่มากพอที่จะใช้งานเผื่อต้องปุบปับไป ถอดปลั๊กใช้งาน ก็เซ็ตไว้ที่ 80% แทน
*️⃣ ตั้งความเร็วของพัดลมตามการใช้งาน สามารถเปิดแบบ Whisper mode เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงพัดลมจะไม่ดังรบกวนใคร
*️⃣ เปิดปิดฟีเจอร์ AI Noise Cancelation ทั้งไมโครโฟนและลำโพง และสำหรับไมโครโฟน เลือกได้เป็นโหมดการพูดคนเดียว หรือมีคนพูดหลายคนด้วย
*️⃣ เปิดปิดฟังก์ชันเรื่องการแสดงผลของหน้าจอ ทั้ง Splendid (เลือกการแสดงผลสีแบบปกติ สีสดๆ ปรับแต่งเอง หรือถนอมสายตา) และเปิดปิดฟีเจอร์ True2Life เวลาเราต้องการเพิ่มความคมชัดของภาพเวลาดูวิดีโอ
ฟีเจอร์ True2Life คืออะไร
ASUS Tru2Life Video เป็นเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพวิดีโอแบบเดียวกับที่พบในทีวีระดับไฮเอนด์ ใช้อัลกอริธึมซอฟต์แวร์อัจฉริยะเพื่อปรับความคมชัดและความเปรียบเทียบทุกเฟรมวิดีโอเพื่อให้วิดีโอดูคมชัดมีรายละเอียดและสมจริงยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่คอมพิวเตอร์ของคุณส่งเฟรมวิดีโอไปที่หน้าจอ ASUS Tru2Life Video จะวิเคราะห์ทุกพิกเซลในเฟรมและปรับความสว่างและความคมชัดให้มากขึ้น
Tru2Life เป็นแนวคิดที่ใช้แต่ละพิกเซลจากรอบ ๆ ข้างเพื่อทำการปรับเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพโดยรวม แน่นอนว่าเนื่องจากต้องคำนวณและปรับแต่ละพิกเซลจะสัมพันธ์กับคุณภาพของภาพ สมมติว่าภาพถ่ายมีความละเอียด 1,920 * 1,080 และ Tru2Life นั้นสามารถนับได้ถึง 1,920 × 1,080 = 2,073,600 ครั้ง
*️⃣ กำหนดความสำคัญของการใช้งาน ว่าจะใช้งานเน้นเรื่องอะไร แล้วให้ระบบเน็ตเวิร์กของโน้ตบุ๊กให้ความสำคัญเรื่องนั้นก่อน เช่น เน้นทำงานด้าน Productivity (เช็กอีเมล ท่องเว็บ) เน้นการทำงานด้านมัลติมีเดีย (สตรีมวิดีโอ ฟังเพลง) เน้นเล่นเกม เน้นเชื่อมต่อหน้าจอแสดงผลภายนอกแบบไร้สาย
*️⃣ เปิดปิดฟีเจอร์ WiFi SmartConnect เพื่อเลือกต่อกับ Wireless AP หรือ Wireless Router ที่สัญญาณแรงที่สุดโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้แอป MyASUS มันก็มีฟีเจอร์ในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อจะได้ถ่ายโอนไฟล์แบบไร้สายระหว่างกันได้สะดวกๆ ตลอดไปจนถึงการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นหน้าจอแสดงผลภายนอกแบบไร้สาย (Wireless screen extension) ซึ่งเมื่อก่อนเขาใช้แอปชื่อ Link to MyASUS ในการทำ Screen extension แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปใช้ GlideX แล้ว ซึ่งผมว่าแย่กว่าเดิม คือ มันให้ใช้งานแค่ความละเอียดระดับ HD และมีโฆษณาแทรกด้วย ถ้าอยากกำจัดโฆษณา ต้องเสียเงินอะ จริงๆ ผมมองว่า ASUS ควรจะให้ลูกค้าของ ASUS ใช้ฟรีมากกว่า
ฟีเจอร์เล็กๆ อีกสองอัน ที่ผู้ใช้งานบางคนอาจได้ประโยชน์ ก็คือ
*️⃣ Webcam shield เอาไว้เลื่อนเพื่อปิดกล้องในระดับกายภาพ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีใครแอบแฮกเพื่อใช้กล้องเว็บแคมของเรามาแอบสอดส่องเราได้

*️⃣ Status light สามารถตั้งเปิด ปิด หรือ ให้เปิด-ปิด แอบอัตโนมัติ เพื่อแสดงสถานะว่าเรากำลังประชุมหรือเรียนออนไลน์อยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าเราเปิดแบบอัตโนมัติ เมื่อเราประชุมออนไลน์ด้วย Microsoft Teams หรือ Zoom หรือโปรแกรมประชุมออนไลน์ใดๆ ไฟ LED สีแดงตรงโลโก้รุ่น ExpertBook มันก็จะติดขึ้น

น้ำหนักของตัวเครื่อง 1.43 กิโลกรัม ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป ก็เรียกว่าไม่ได้หนักเวอร์ และไม่ได้เบามาก อยู่ในระดับที่ถือไปใช้งานสะดวก และต่อให้ต้องสะพายกระเป๋าข้างหรือสะพายเป้ตลอดวัน ก็ยังพอรับได้ ในส่วนของแบตเตอรี่ เป็นแบบ 3-cell 63WHr ก็เรียกว่าให้มาพอสมควร เท่าที่ผมลองใช้งาน ก็ 4-5 ชั่วโมง แบบทั่วๆ ไป พอไหวครับ จะแบตเตอรี่หมดเร็วหรือช้ากว่านี้ ก็อยู่ที่ว่าพฤติกรรมการใช้งานของเรามันเป็นยังไงละนะ
ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) มาพร้อม Windows 11 Home หรือ Windows 11 Pro เลยครับ (ตัวที่ผมรีวิวเป็น Windows 11 Pro) เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กตัวแรกที่ผมเห็น แล้วมันมาพร้อมกับ Windows 11 เลย และผมคิดว่าในปีนี้ โน้ตบุ๊กที่ขายก็จะเป็น Windows 11 Pre-installed แล้ว สำหรับภาคธุรกิจ อาจจะแอบสะดุดนิดๆ โดยเฉพาะบริษัทใด องค์กรใด ที่ยังคงใช้ Windows 10 (หรือเผลอๆ เก่ากว่า) อยู่ ถ้าจะซื้อไปใช้ อาจต้องคุยกับ ASUS เพื่อขอดาวน์เกรดก่อน
ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F) ตัวนี้มาพร้อมกับการรับประกันแบบ On-site ภายในประเทศ 3 ปี และมีการรับประกับแบบ Global warrantee อีก 3 ปี (ครอบคลุม 57 ประเทศ) กับประกันอุบัติเหตุอีก 1 ปีด้วย
บทสรุปการรีวิว ASUS ExpertBook B7 Flip (B7402F)
เป็นโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพกลางๆ ที่ผมจะขอเรียกว่าเป็นพวก Jack of all trades คือ พร้อมเอาไปใช้งานในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความบันเทิง เพื่อทำงานด้านมัลติมีเดียในระดับพื้นฐาน หรือในระดับธุรกิจ ที่ต้องการโน้ตบุ๊กแบบที่ตัวเดียวจบ มีทุกอย่างแบบไม่ต้องไปมองหาอะไรอีก เพราะเจ้านี่มีฟีเจอร์ครบเครื่อง มีพอร์ตเชื่อมต่อรองรับแทบจะทุกแบบเท่าที่จะนึกออกแล้วว่าอยากได้ (มันจะมีโน้ตบุ๊กตัวไหนอีก ที่ให้ Smart Card Reader มาด้วย) สามารถใช้งานได้ทั้งแบบเป็นโน้ตบุ๊กยันแท็บเล็ต (ที่หนัก) เลย
ณ ตอนที่รีวิวนี้ ผมยังไม่เห็นราคาของตัวโน้ตบุ๊กตัวนี้นะครับ แต่ถ้างบประมาณสู้ไหว ผมว่าเป็นตัวเลือกที่ดีตัวนึงเลย