สำหรับคนที่บางครั้งต้องการจอแสดงผลภายนอกเพิ่มเป็นครั้งคราว การจะไปหาซื้อจอแสดงผลมาใช้ก็อาจจะเกินงบ ถ้าเกิดมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอยู่แล้ว และขนาดของหน้าจอพอทำใจให้ใช้งานได้บ้าง (เช่น ตระกูล Galaxy Z Fold ที่กางจอออกได้ หรือแท็บเล็ต 10 นิ้วขึ้นไป) เอามันมาทำเป็นจอแสดงผลเสริมแบบเชื่อมต่อไร้สาย (หรือใช้สาย) กันไหมล่ะ บล็อกนี้ของผมจะมาสอนวิธีทำครับ เราสามารถใช้ได้กับทั้ง iOS หรือ Android เลย แต่ต้องต่อกับคอมพิวเตอร์ที่เป็น Windows เท่านั้นนะ
จริงๆ เรื่องของเรื่อง ผมอยากจะเขียนถึงโปรแกรม Link to ASUS ที่เป็นโปรแกรมสำหรับสตรีมภาพหน้าจอไปยังอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เพื่อใช้มันเป็นจอแสดงผลเสริม แต่ปรากฏว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ASUS มันออกแอปตัวใหม่ชื่อ GlideX มาแทน แล้วเลิกใช้ Link to ASUS แล้วไอ้ GlideX เนี่ย มันให้ใช้งานฟรีแค่ถึงความละเอียดระดับ HD 720p เท่านั้น แถมมีโฆษณาน่ารำคาญอีก ถ้าไม่อยากเห็นโฆษณา แล้วได้ความละเอียดเต็มที่ ต้องเสียเงินเป็น Subscription (แถมไม่มีให้สับในประเทศไทยอีก) โคตรเซ็งมากครับ (คือ ให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ของ ASUS ใช้บริการพรีเมียมได้ฟรียังพอทำเนา แต่นี่แบบ ให้เสียตังค์หมด เท่าเทียมกันมาก 🤣🤣
และนั่นทำให้ผมพยายามหาโซลูชันใหม่ ที่แม้จะไม่ฟรี แต่ต้องดีกว่า คือ อย่างน้อยมันต้องไม่ใช่แบบ Subscription อะ ผมว่ามันบ้าเลือดเกินไป โปรแกรมประเภทนี้ มันไม่ได้ไปใช้ทรัพยากรใดๆ ของ ASUS เลยแท้ๆ มันจะมาเก็บเงินแบบ Subscription นี่ยอมไม่ได้ครับ สุดท้ายผมก็ได้พบกับ spacedesk ที่ทั้งดี และฟรีซะด้วย
การใช้งานโปรแกรม Spacedesk
ใช้งานไม่ยากครับ ก่อนอื่นก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรม Spacedesk มาก่อน มันรองรับ Windows 8/10/11 เลยครับ แต่ต้องระวังสองเรื่อง คือ ถ้าใครใช้การ์ดจอ NVIDIA แบบผม ต้องอัปเดตไดรเวอร์เป็นเวอร์ชัน 461.09 หรือใหม่กว่า ก่อนที่จะใช้โปรแกรมนี้ ไม่งั้น Windows 10 จะเจอจอฟ้ามรณะ (BSOD: Blue Screen of Death) ได้นะครับ และถ้าใครใช้โปรแกรมแนวๆ นี้ ชื่อ Splashtop Wired XDisplay อยู่ ต้อง Uninstall virtual display driver ของมันออกก่อน
วิธีการติดตั้ง สามารถดูได้จากเว็บไซต์ User manual (spacedesk.net) ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย โปรแกรมมันจะแสดง spacedesk Driver Console ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องไปตั้งค่าอะไรเลยครับ ใช้ค่า Default ได้เลย
โปรแกรม spacedesk บนคอมพิวเตอร์เนี่ย จะเรียกว่าเป็นเครื่อง Primary PC (หรือ Server)

จากนั้นก็ดาวน์โหลดแอป spacedesk มาจาก Apple App Store หรือ Google Play Store ก็ได้ครับ ติดตั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเรา จากนั้นเปิดแอปขึ้นมา ก็จะเห็นหน้าจอประมาณนี้ครับ (ตอนนี้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเราจะเรียกว่า Secondary machine (หรือ Client)
ถ้าจะเชื่อมต่อแบบใช้สาย จะต้องเปิดใช้ USB Tethering ซึ่งจะมีให้ใช้เฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นที่ใส่ซิมได้ ซึ่งมีฟีเจอร์นี้ครับ แท็บเล็ตที่เป็นรุ่น WiFi-only จะไม่มีฟีเจอร์นี้ ก็จะอดครับ เมื่อเปิดใช้แล้ว พอเสียบสาย USB กับคอมพิวเตอร์แล้วมันก็จะ Detect เจอเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลย
ไม่ว่าจะใช้ WiFi หรือ USB Tethering หรือ LAN มันก็จะเจอคอมพิวเตอร์และแสดงผลแบบเดียวกันกับรูปด้านล่างครับ ถ้าจะเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งาน ก็แค่แตะลิงก์ที่เขียนว่า Connection: [IP address ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา] ซึ่งอยู่ใต้ชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราต้องการจะเชื่อมต่อ (มันอาจจะมีแสดงหลายชื่อ ในกรณีที่มีคอมพิวเตอร์ในวง LAN เดียวกัน ที่ติดตั้ง spacedesk นี่อยู่ … อันนี้คือการเชื่อมต่อผ่าน WiFi ครับ

การเชื่อมต่อผ่าน WiFi ผมลองแล้ว จะใช้แบนด์วิธราวๆ 15-30Mbps แล้วแต่ว่ามันสตรีมข้อมูลดุเดือดแค่ไหน ส่วนการเชื่อมต่อผ่าน USB Tethering นี่ ไม่แน่ใจว่ามันกินแบนด์วิธแค่ไหน แต่การใช้งาน ลื่นกว่ากันเยอะครับ
ในกรณีที่เชื่อมต่อผ่าน WiFi ไม่ต้องคิดอะไรมาก เริ่มใช้งานได้เลยครับ แต่ถ้าเกิดเป็น WiFi 6 แล้วคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เราใช้ หรือใช้ USB Tethering ผมแนะนำให้ไปที่ Settings > Quality/Performance ก่อนครับ ปรับให้สุดๆ ไปเลยครับ แบนด์วิธเยอะอยู่แล้ว เราจะได้เห็นภาพแจ่มๆ การใช้งานลื่นแบบสุดๆ

ผมลองแบบโหดๆ เลยครับ ผมมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่เครื่องนึง เป็น ASUS ROG Strix G G731GU-EV231T ต่อจอเสริม 2 ตัว คือ HUAWEI MateView GT 34″ Sound Edition กับจอ No name อีกตัว แล้วก็เลยเอา iPhone 7 Plus, Samsung Galaxy Z Fold 2 กับ HUAWEI MatePad Pro 10.8-inch มาทำเป็นจอเสริม โดยต่อแบบไร้สายอีก 3 ตัวรวดเลยครับ
ข้อดีคือ ผมสามารถปรับความละเอียดหน้าจอเป็น Native resolution ของสมาร์ทโฟนแต่ละตัวได้เลย แต่ด้วยความที่หน้าจอแต่ละอันมันขนาดเล็ก แต่ความละเอียดในการแสดงผลสูง เราจะต้องใช้ฟีเจอร์การขยายภาพหน้าจอของ Windows เพื่อขยาย 150-200% เลยนะครับ (อยู่ที่ว่าใช้จอขนาดแค่ไหน ถ้าจอยิ่งเล็ก และความละเอียดสูงมากๆ ก็ยิ่งต้องขยายเยอะๆ)

แล้วผมก็ลองมาไล่ดูว่า มันกินแบนด์วิธยังไงบ้าง ถ้าเกิดเปิด YouTube แล้วลากหน้าต่างเบราว์เซอร์ไปบนสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องพร้อมๆ กัน 3 ตัวเลย พบว่า มันก็กินทรัพยากรของการ์ดจอไปประมาณนึง เพียงแต่ผมโชคดีที่ใช้เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ก็เลยมีทรัพยากรเหลือเฟืออยู่ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ส่วนแบนด์วิธ มันก็วิ่งๆ แถว 15-30Mbps ครับ แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเปิด YouTube แต่หน้าต่างเดียว แล้วโยกไปดูบนจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเนี่ย ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่พอเปิด 2-3 อัน เห็นได้ชัดเลยว่าแม้เสียงจะไม่ดีเลย์ แต่ภาพนี่กระตุกไปเลยจ้า
การใช้งาน WiFi การใช้งานการ์ดจอ NVIDIA
ผมก็เลยได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะใช้งาน ก็แนะนำให้ใช้เพิ่มแค่ 1 จอพอ กำลังดี ถ้าจะต่อผ่าน WiFi แต่ถ้าจะต่อผ่าน USB Tethering นี่ ก็จะต่อได้อีกจอนึงละนะ รวมเป็น 2 จอพอดี อย่าบ้าเลือดต่อหลายจอแบบผม แต่ถ้าเกิดว่าแค่กะจะเอามาใช้แสดงผลภาพนิ่งๆ ก็พอ (เช่น เปิดเอกสารค้างไว้อ่าน) แบบนี้ก็ต่อหลายๆ จอแบบบ้าเลือดได้ (แต่ถ้าจะอ่าน จะเปิดทำไมหลายๆ จอฟะ?)

เมื่อเราเอาภาพมาแสดงผลที่จอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต มันก็จะทำหน้าที่เป็นจอสัมผัสได้ (สามารถไปตั้งปิดการใช้งานได้) รองรับ Multi-touch gesture จำพวก Pinch to zoom ได้ รองรับการใช้งาน Stylus ด้วย
เรียกว่า ถ้าพกโน้ตบุ๊กไปนอกสถานที่ แล้วเกิดต้องทำงาน ที่จำเป็นต้องมีจอเสริม แต่ไม่ต้องการจอขนาดใหญ่มากมายอะไร สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และโปรแกรม spacedesk นี่ สามารถใช้แก้ขัดได้ประมาณนึงเลยนะเออ