Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>Web 3.0 – เมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้นิยามของ Web 3.0 เปลี่ยนไป
Web 3.0
บ่นเรื่อยเปื่อย

Web 3.0 – เมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้นิยามของ Web 3.0 เปลี่ยนไป

ย้อนกลับไปซักเกือบสิบปีก่อน ผมจำได้ว่าเคยไปบรรยายเรื่องเทคโนโลยีเว็บ และมีการพูดถึง Web 1.0 ว่าเป็นยุคที่ผู้ใช้งานเสพคอนเทนต์ ส่วน Web 2.0 จะเป็นผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ (หรือที่เรียกว่ายุคของ User-generated content) ในตอนนั้น Web 3.0 ถูกคาดการณ์กันว่าจะเป็นยุคที่เรียกว่า Semantic web หรือ เว็บเชิงความหมาย หมายความว่า มันจะมีเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงคอนเทนต์ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน โดยคอนเทนต์มันจะถูกมองเป็น Big data และใช้ AI และ Machine learning ในการเชื่องโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ผ่านความหมายที่ถูกนิยามเอาไว้ แล้วจากนั้น Web 3.0 ก็เงียบหายไปซะนานเลยครับ และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้คนเริ่มกลับมาฮือฮากับ Web 3.0 แต่ในความหมายอื่น เพราะการมาของเทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain)

Web 1.0 – ผู้ใช้งานคือผู้เสพคอนเทนต์ (1989-2005)

นับตั้งแต่ยุคที่นักวิจัยเขาเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเข้าหากัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล มาจนถึงยุคแรกเริ่มที่อินเทอร์เน็ตและเว็บเข้าถึงผู้คนทั่วไป ผู้คนท่องเว็บเพื่อเสพเนื้อหา ที่มีผู้ผลิตจัดทำขึ้นมา ในยุคนี้ เว็บไม่ได้ทำกันง่ายๆ ทั้งเรื่องการสร้างเว็บไซต์ การโฮสต์เว็บไซต์ ตลอดไปจนถึงการผลิตเนื้อหาเอง เครื่องมือมันยังน้อยมาก ไม่ได้มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาให้ถ่ายรูปได้ง่ายๆ โปรแกรมตกแต่งภาพหรือตัดต่อวิดีโอ เป็นของพวกมืออาชีพกันซะมากกว่า

แต่ในช่วงนั้น ก็มีคนพยายามที่จะสร้างรายได้จากการเปิดโฮสติ้งฟรีสำหรับผู้คนทั่วไปที่อยากจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ใครที่ทันยุคนั้น น่าจะจำได้กับเว็บไซต์ของ geocities.com ครับ ภายหลัง Yahoo! ซื้อบริการนี้ไป และในปี 2009 ก็ยุติการให้บริการไปในที่สุด (แต่โดเมน geocities.com ยังเป็นของ Yahoo! อยู่ และหากพิมพ์เข้าเว็บไซต์นี้ ก็จะถูก Redirect ไปที่เว็บ Yahoo! ครับ)

เว็บไซต์เกี่ยวกับสุนัข ที่โฮสต์อยู่บน geocities.com
ภาพประกอบจากบทความ How to Make a Fly 90’s Website: A GeoCities Tribute – Business 2 Community

จริงๆ แล้ว ในยุคนี้ คนทั่วไปก็มีการผลิตเนื้อหาเองแล้ว (เช่น พวกที่ทำเว็บไซต์บน geocities) โดยเฉพาะในช่วงปลายๆ ยุค ที่เริ่มมีคนพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Content Management System (CMS) ขึ้นมา เพื่อให้คนดาวน์โหลดไปใช้งาน สามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ง่ายๆ ผมเองก็ใช้แพลตฟอร์มชื่อ Greymatter ในการทำเว็บไซต์ในช่วงแรกๆ เหมือนกัน แต่ยุคนั้นยังโหดครับ ต้องมีพื้นฐาน HTML เยอะเอาเรื่องอยู่ กว่าจะได้เว็บไซต์เป็นของตัวเอง

หน้าจอตั้งค่า Template ในส่วนของการทำ Link ไปยังบทความก่อนหน้าหรือถัดไปของ Greymatter จะเห็นว่ามันเป็น HTML กันเลยทีเดียว

Web 2.0 – ใครๆ ก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ ยุคแห่ง User-generated contents (2005 – ปัจจุบัน)

พอเทคโนโลยีเว็บพัฒนาไปเรื่อยๆ การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองมันง่ายขึ้นมาก แพลตฟอร์ม CMS อย่าง WordPress ทำให้ไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้าน HTML มากก็พอจะสร้างเว็บไซต์ง่ายๆ ได้แล้ว และค่าใช้จ่ายในการโฮสต์เว็บไซต์ของตัวเองไม่ได้สูงเท่าไหร่แล้ว และสิ่งที่เพิ่มมาในยุคนี้คือ โซเชียลมีเดีย และเครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และซอฟต์แวร์ต่างๆ

หน้าโปรไฟล์ของ Twitter ในช่วงปี 2006-2007
ภาพประกอบจากบทความ The History of Twitter in Profile Pages: 2006 to 2015 | Twirpz (wordpress.com)

ในยุคนี้ผู้ใช้งานสามารถสร้างคอนเทนต์และนำเสนอได้ง่ายๆ เครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์พร้อม แพลตฟอร์มสำหรับนำเสนอคอนเทนต์ก็พร้อม และผู้ใช้งานก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อีก เว็บเติบโตอย่างมากในยุคนี้

ยุคนี้เป็นยุคที่คำเรียกขานอย่าง ผู้สื่อข่าวพลเมือง และอาชีพอย่าง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เฟื่องฟูสุดๆ มันเป็นการเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กได้เติบโต ผมเองก็เคยเป็นบล็อกเกอร์ที่แบรนด์ไอทีหลายๆ แบรนด์รู้จัก และเชิญไปร่วมงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศบ่อยครั้ง เราเองก็น่าจะได้เห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์บางคนในปัจจุบันที่มีรายได้สูงๆ ระดับ 7 หลักต่อเดือนกัน

นิยามของ Web 3.0 ในช่วงแรก

Tim Berners-Lee ผู้ให้กำเนิดเว็บ มีมุมมองว่า Web 3.0 คือ Semantic Web หรือ เว็บเชิงนิยาม เพราะเนื้อหาที่ผู้คนผลิตออกมา มีจำนวนมาก จนเรียกว่าเป็น Big data ของเว็บก็ว่าได้ แล้ว Machine learning จะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลต่างๆ โดยเชื่อมโยงจากแนวคิด (Concept) และบริบท (Context) อัลกอริธึมจะถูกออกแบบมาให้ AI ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยพิจารณาจากปฏิสัมพันธ์ใดๆ ที่ผู้ใช้งานมี แล้วทำการแนะนำเนื้อหาต่างๆ หรือสินค้าต่างๆ ที่พวกเขาน่าจะชอบ

หน้าเว็บไซต์ YouTube ที่มีนำเสนอคลิปวิดีโอที่เราน่าจะสนใจ

เราได้เห็นอะไรพวกนี้จากแพลตฟอร์มเช่น Facebook ที่นำเสนอโพสต์ต่างๆ โฆษณาสินค้าต่างๆ ที่คิดว่าเราน่าจะสนใจ แพลตฟอร์มขายของออนไลน์อย่าง Amazon, Aliexpress, Lazada และ Shopee ที่นำเสนอสินค้าในหมวดหมู่ที่เราสนใจ และเวลาเราไถๆ รายการสินค้าเพื่อเลือกดูไปเรื่อยๆ มันก็จะพยายามนำเสนอสินค้าที่คล้ายๆ กับที่เราน่าจะสนใจ (โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการท่องรายการสินค้าของเรา) หรือแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงอย่าง YouTube, Netflix, Apple Music ฯลฯ ที่วิเคราะห์แนวของเพลงหรือภาพยนตร์ที่เราดู แล้วเอามานำเสนอเพลงหรือภาพยนตร์อื่นๆ ที่เราอาจจะสนใจ เป็นต้น

ทว่า Web 3.0 ตามวิสัยทัศน์ของ Tim Berners-Lee กลับยังไม่บรรลุดี ทั้งนี้เพราะว่าเทคโนโลยี AI และ Machine learning ที่แม้จะพัฒนาไปไกลมากแล้ว ยังไปไม่สุดนั่นเอง นอกจากนี้การมาและความนิยมของเทคโนโลยีบล็อกเชน มันทำให้ทิศทางของ Web 3.0 เปลี่ยนไปครับ

Web 3.0 – Less trust, more truth

การมาของเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้มองมุมที่ผู้คนมีต่อ Web 3.0 เปลี่ยนไป บทความ Believe Web 3.0 is the Next Internet Revolution? Watch These 3 Stocks ของ Yahoo! Finance บอกว่า Web 3.0 กำลังถูกสร้างอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถ้าเราค้นๆ ดู จะเห็นว่าตอนนี้มันถูกเรียกว่า Web3 ซึ่งถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย Dr. Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และเมื่อ Wired ถามเขาว่าจะให้นิยาม Web3 ว่ายังไง เขาตอบมาสั้นๆ ว่า ไว้ใจให้น้อยลง เชื่อในความจริงให้มากขึ้น (Less trust, more truth) ซึ่ง Dr. Gavin ได้อธิบายเพิ่มว่า “ตัวผมมองความหมายของคำว่า เชื่อใจ (Trust) ว่าคือ ศรัทธา (Faith) เราดีๆ นั่นเอง มันคือความเชื่อว่าอะไรบางอย่างจะเกิดขึ้น และโลกจะดำเนินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลใดๆ ว่าทำไมมันจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงอยากให้เป็นเช่นนี้น้อยลง และต้องการความจริงให้มากขึ้น หรือก็คือให้มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าสิ่งที่เราคาดหวังเอาไว้จะเป็นไปตามนั้น”

(ซ้าย) Dr. Gavin Wood และ (ขวา) Jutta Steiner ผู้ร่วมก่อตั้ง Parity Technologies บริษัทด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน
เครดิตภาพ: Noam Galai/Getty Images for TechCrunch

Dr. Gavin ได้อธิบายวิสัยทัศน์ของเขา เกี่ยวกับ Web3 หรือ Web 3.0 เอาไว้ว่า

Web 3.0 เป็นชุดของโปรโตคอลที่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน สิ่งเหล่านี้จะมาแทนที่เทคโนโลยีเว็บแบบเดิมๆ อย่าง HTTP, AJAX และ MySQL แต่นำเสนอทิศทางใหม่ในการสร้างแอปพลิเคชัน เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยการันตีให้กับผู้ใช้งานเกี่ยวกับข้อมูลที่พวกเขาจะได้รับ ข้อมูลอะไรบ้างที่พวกเขาจะส่งออกไป อะไรที่พวกเขาจะต้องจ่ายและอะไรที่พวกเขาจะได้กลับคืนมา ในระดับที่มั่นใจได้เต็มที่และสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ เมื่อให้อำนวจแก่ผู้ใช้งานในการลงมือทำเพื่อตนเองในตลาดที่มีอุปสรรคต่ำแล้ว การปิดกั้นเนื้อหา (Censorship) และการผูกขาด (Monopolization) ก็จะมีที่ให้แอบแฝงน้อยลง ให้มองว่า Web 3.0 เป็นเหมือนมหากฏบัตร (Magna Carta) ที่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นพื้นฐานของอิสรภาพสำหรับผู้คนในการต่อสู้กับเผด็จการ

Dr. Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ehtereum จากบทความ One Article to Understand The Past, Present, and Future of Web 3.0 | by Polkadot.ERI | Polkadot Network | Dec, 2021 | Medium

การพัฒนา Web 3.0 โฟกัสไปที่การกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (Decentralization) ความเชื่อใจ (Trustworthiness) และการป้องกันการแอบเข้ามาแก้ไข (Tamper-proofing) จึงไม่แปลกที่จะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยเป้าหมายของ Web 3.0 จะเป็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่ทุกคนจะเป็นผู้ที่ควบคุมข้อมูล ตัวตน และชะตากรรมของตนเองได้

แต่องค์ประกอบของ Web 3.0 ก็ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีบล็อกเชนนะ ดูจากรูปด้านบน จะเห็นว่ามันยังมีเรื่องของ Decentralized Storage, Decentralized transmission and computing และการเข้ารหัสแบบ Cryptography ที่มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Web 3.0 อยู่หลายอัน และพบว่ามีหลายที่ (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน หรือซื้อขายเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) ชอบพูดถึงว่าพื้นฐานของ Web 3.0 คือเหรียญคริปโต แถมมีการยกตัวอย่างเช่น Bitcoin, Ethereum อะไรพวกนี้ด้วย แต่จริงๆ แล้ว เขาพูดถึง เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Cryptocurrency หรือก็คือ บล็อกเชน ต่างหากนะครับ ซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็น Zero/Low trust Interaction Protocol

สำหรับผมแล้ว ทิศทางของ Web 3.0 นี่จะแบบ Geek นิดนึงครับ คือ ผู้ใช้งานอย่างเราๆ ท่านๆ อาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านการใช้งานเทคโนโลยีเว็บมากซักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่กระบวนการมันจะมีเปลี่ยนแปลงไป เช่น

*️⃣ เกมออนไลน์ ที่แต่เดิมก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ (เช่น การนำไอเท็มในเกมมาขายเป็นเงินจริงๆ) ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็น GameFi แทน ขายกันในรูปแบบของ NFT อะไรแบบนี้
*️⃣ การยืนยันตัวตนเพื่อการใช้งาน จากเดิมที่เป็น Centralized กับผู้บริการ ก็จะเปลี่ยนมาเป็น Decentralized
*️⃣ พวกคอนเทนต์แนว Exclusive หรือการให้ค่าทิปเป็นค่ากาแฟแก่ผู้สร้างคอนเทนต์ ก็จะมาในรูปแบบของโทเคน (Token) ซึ่งอยู่บนเทคโนโลยีของบล็อกเชน

อะไรทำนองนี้แหละครับ … เหรียญคริปโตจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในฐานะพื้นฐานของโครงสร้าง Web 3.0 นะ อันนั้นมันหน้าที่ของบล็อกเชน เหรียญคริปโตน่าจะมีบทบาทในฐานะของสกุลเงินหลักสำหรับจับจ่ายใช้สอยบน Web 3.0 มากกว่า

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า