ออกตัวก่อนเลยว่าผมเคยเป็นคนที่วินัยทางการเงินหละหลวมมากครับ เอาเป็นว่าตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี เรื่อยมาจนผ่านไปราวๆ 15 ปี นี่คือแทบไม่มีเงินเก็บติดตัวเลย แถมในแต่ละเดือนนี่คือใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนด้วย บางเดือนนี่คือพอจะต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิต (ซึ่งผมจ่ายเต็มจำนวนตลอด) ต้องมาวุ่นกับการคิดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย แล้วสุดท้ายก็ไปตอดเงินเก็บ (ที่มีอยู่น้อยนิด) มาใช้เรื่อยๆ จนทำให้ที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว ก็แทบจะไม่เหลือลงไปอีก ก็โชคดีครับ ได้ภรรยาที่มาช่วยสอนสั่งวิธีการสร้างวินัยทางการเงินให้ตัวเอง และก็ประยุกต์มาเป็นแนวทางการวางแผนการเงินของตัวเอง เลยขอถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันอ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง
รายได้ – เงินเก็บ = รายจ่าย … อาจใช้ไม่ได้จริงกับทุกคน
สมการในการบริหารจัดการเงินที่ผมเชื่อว่าทุกคนจะทราบดี ก็คือต้องหักเงินเก็บออกจากรายได้ก่อน ถึงจะเหลือเป็นจำนวนเงินที่เราจะเอามาใช้เป็นรายจ่ายได้ ซึ่งมันก็จริงตามนั้นครับ ถ้าคุณอยากจะเก็บเงินให้ได้ คุณต้องชิงเก็บเงินก่อนที่จะใช้จ่าย และแนวคิดนี้มันก็โอเคสำหรับการสอนสั่งเด็กๆ ที่ยังแบมือขอเงินคุณพ่อคุณแม่อยู่ แต่สำหรับคนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน (เช่นผม) แต่แรก และอาการหนักมากๆ สมการนี้จะไม่ค่อยได้ผลครับ เพราะเรามักจะเจอปัญหาว่า รายจ่ายในปัจจุบันก็เกินรายได้บ้างเป็นบางเดือนแล้ว จะทำยังไงดี?
ฉะนั้น สำหรับคนที่ขาดวินัยทางการเงินมาอย่างยาวนาน (แต่ก็ดันถูไถเอาตัวรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้) ต้องมาปฏิวัติแผนการเงินตัวเองใหม่ซะก่อนครับ ก่อนอื่นต้องรู้ตัวเองก่อนว่ารายจ่ายในปัจจุบันเรามีอะไรบ้าง ซึ่งผมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1️⃣ รายจ่ายประจำเพื่อการดำรงชีวิต อันนี้จะประกอบไปด้วย ค่ากิน ค่าเดินทาง ที่เราจ่ายทุกวัน ค่าน้ำค่าไฟ ที่เราจ่ายทุกเดือน
2️⃣ รายจ่ายประจำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตมาก เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าสมาชิกพวก Netflix และอื่นๆ
3️⃣ รายจ่ายไม่ประจำที่อาจเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ค่าหมอ ค่ายา ค่าซ่อมแซมโน่นนี่นั่น ไปเที่ยวที่ไหนมา หรือดันไปอยากได้แกดเจ็ตชิ้นนั้น ของชิ้นนี้ พวกนี้จัดอยู่ในหมวดนี้ทั้งหมด
เราก็ต้องมาทำบัญชีครับ ว่ารายจ่ายของเรามีอะไรบ้าง และอะไรอยู่ในหมวดไหน ไล่มาให้หมดครับ พวกรายจ่ายประจำเนี่ย เราก็จะไปคำนวณเอาได้ ค่ากิน ค่าเดินทาง ตกวันละเท่าไหร่ คูณ 30 ไป ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้ดูข้อมูลย้อนหลัง (ในกรุงเทพและต่างจังหวัด จะมีแอปของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดูข้อมูลย้อนหลังได้ ส่วนเรื่องค่าน้ำนี่ คนกรุงเทพดูได้จากแอปการประปานครหลวง แต่การประปาส่วนภูมิภาคนี่ผมไม่แน่ใจ) ค่าไฟ ค่าน้ำ ปกติแต่ละเดือนจะไม่เท่ากัน ให้เราคิดจากยอดสูงสุดที่เคยจ่าย แล้วปัดเศษขึ้นให้กลมๆ เป็นหลักร้อยไป เช่น 3,450 บาท ก็ปัดเป็น 3,500 ไปนะ ส่วนที่เหลือก็อาจจะดูได้จาก Statement ของบัตรเครดิตเอา ที่จะยากหน่อยคือ พวกรายจ่ายไม่ประจำครับ อันนี้ให้เรากะๆ เอาละกัน ว่าจะตกปีนึงเท่าไหร่ แล้วหาร 12 ไป เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องจ่ายแต่ละเดือนกี่ตังค์
พอได้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาแล้ว ก็ค่อยเอามาเทียบกับรายได้ครับ เน้นนับเฉพาะรายได้ที่เป็นรายได้ประจำ ได้ทุกเดือนชัวร์ๆ เป็นหลักนะครับ ใครที่ค่าคอมมิชชั่น ค่าโอที หรืองานฟรีแลนซ์ต่างๆ ที่แต่ละเดือนไม่เท่ากัน ให้คิดเฉพาะขั้นต่ำที่สุด เช่น เงินเดือน 20,000 บาท และมีรายได้เสริมแต่ละเดือนไม่เท่ากัน แต่ต่ำสุด ขี้หมูขี้หมา จะได้ประมาณ 5,000 บาท ก็เอามารวมเป็น 25,000 บาทไปครับ ทีนี้ถ้าเกิดรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ยินดีด้วย ถือว่าจบ แต่ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย นั่นแสดงว่าสุขภาพทางการเงินของคุณไม่ดีแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือ
*️⃣ เอารายจ่ายไม่ประจำมากางดูก่อน ตัดส่วนที่เป็นรายจ่ายเพื่อการสนองกิเลสออกไปก่อนเลยครับ (ค่อยๆ ตัดนะ ไม่ต้องถึงกับให้เหลือศูนย์) ดูว่าตัดออกแล้ว รายจ่ายเหลือน้อยกว่ารายได้หรือยัง
*️⃣ ถ้ารายจ่ายยังคงมากกว่ารายรับ คราวนี้ต้องมาดูรายจ่ายประจำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพบ้างแล้ว ค่าเน็ต ค่าสมาร์ทโฟน มันจำเป็นต้องใช้แพ็กเกจแพงขนาดนี้ไหม ใช้ถูกลงมาหน่อยได้ไหม ค่าสมาชิกใดๆ อย่าง Netflix, Disney+ ฯลฯ อาจจะต้องหยุดใช้ไปซักพักก่อนไหม เพราะต้องรัดเข็มขัด
ถ้าพยายามรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายแล้ว รายได้ยังต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ อาจต้องพิจารณาหารายได้เสริม หรือพยายามหางานใหม่ที่รายได้สูงขึ้น หรือจะทำให้ค่าครองชีพ (ค่ากิน ค่าเดินทาง) ลดลงนะครับ
วางงบประมาณรายจ่ายประจำเดือน มองสุขภาพการเงินในภาพกว้าง
ขั้นตอนถัดมา คือ ทำตารางวางงบประมาณรายจ่ายประจำเดือนของเราขึ้นมาครับ เพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของสุขภาพการเงินของเราครับ ถ้านึกไม่ออกว่าจะทำยังไง ดูตัวอย่างจากรูปด้านล่างได้ครับ ไม่ต้องใช้โปรแกรมอะไรเวอร์วัง แค่ Microsoft Excel หรือ Google Drive ก็เกินพอแล้ว ใส่เข้าไป รายรับทั้งหมดมีอะไรบ้าง เท่าไหร่ จะแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง เงินเก็บ รายจ่ายต่างๆ มีอะไรบ้าง แล้วสุดท้าย เราจะคงเหลือประมาณเท่าไหร่

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อเอารายรับ หักเงินเก็บ หักรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ยังเหลือเงินอยู่บ้าง เงินกองนั้นคือเงินสำหรับเพื่อตอบสนองกิเลสของเราครับ เพราะอย่าลืมว่าชีวิตเรามันไม่ได้มีแค่กินกับเดินทาง บางคนก็อยากจะซื้อการ์ตูนอ่านบ้าง ไปเที่ยวบ้าง หรือกินมื้ออร่อยๆ ตามร้านอาหาร หรือคาเฟ่เก๋ๆ บ้าง ก็ใช้เงินกองนี้แหละ
จากตรงนี้ เราจะเห็นว่า เงินที่เราสามารถใช้ในแต่ละเดือนได้นั้นมีเท่ากับ 4,500 + 3,000 + 2,630 บาท (สังเกตว่าผมปัด 2,630.42 บาทลงมาเหลือ 2,630 ถ้วนๆ นะ) หรือก็คือ 10,130 บาท จากนั้น เราก็แค่เอาเงิน 10,130 บาทนี้ แยกออกมาอยู่ในบัญชีธนาคารซักแห่ง เพื่อใช้เป็นเหมือนกระเป๋าตังค์สำหรับใช้จ่ายประจำเดือนครับ วิธีนี้จะทำให้เราสามารถควบคุมรายจ่ายตัวเองไม่ให้เกินงบได้ เพราะเราจะรู้เลยว่าใช้เกินหรือไม่ จากยอดเงินที่เหลือในธนาคาร
ถ้าเกิดใช้แล้วเหลือ คุณมีทางเลือกสองทาง คือ
1️⃣ ยกยอดไปเดือนถัดไป แสดงว่าเดือนหน้าก่อกิเลสได้เยอะหน่อย
2️⃣ ตัดยอดเงินที่เหลือออกมา โอนไปเข้าบัญชีเงินเก็บซะ เท่านี้เราก็จะมีเงินเก็บมากขึ้น
บัตรเครดิต สามารถใช้ได้ แต่ต้องมีวินัย
ยุคนี้สมัยนี้ บัตรเครดิตมีไว้ก็สะดวกดีครับ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นบัตรเครดิต มันคือการเอาเงินในอนาคตมาใช้ และหากใช้แบบไม่มีวินัย (แบบผมสมัยก่อน) สุขภาพการเงินเราก็จะบัดซบเอาง่ายๆ อะ ใครที่อยากใช้บัตรเครดิตแบบมีวินัยสุดๆ สำหรับผม ผมคิดว่าต้องแบบนี้เลยครับ
1️⃣ อย่ามีบัตรเครดิตเยอะ มีแค่ไม่เกิน 3 ใบ ก็พอแล้ว และควรใช้ซักใบใดใบนึงเป็นหลัก ไม่ต้องมีวงเงินสูงมาก เอาแค่พอใช้ มันจะช่วยลิมิตการจับจ่ายของเรา และปลอดภัยในกรณีโดนแฮกบัตรด้วยนะ
2️⃣ ผ่อน 0% ได้ไม่มีปัญหา แต่ถึงเวลาต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิต อย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ ให้จ่ายเต็มจำนวน อย่าเหลือหนี้ไว้ให้เสียดอกเบี้ย
3️⃣ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเงินในอนาคตมาใช้ แนะนำให้มีบัญชีธนาคารซักบัญชีนึง (จะดีมากถ้าเป็นธนาคารเจ้าของบัตร) ทุกครั้งที่รูดบัตรเครดิตไป ก็โอนเงินจำนวนตามที่รูด เข้าไปเก็บไว้ในบัญชีครับ เพื่อที่ว่าพอถึงเวลาที่จะต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิต ก็จะได้มีเงินพร้อมจ่ายเลย เท่านี้มันก็คล้ายๆ กับการใช้เงินปัจจุบันแทนแล้ว
การบริหารเงินตนเอง ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะนะ
ที่พูดถึงไปข้างต้น เป็นแค่เบื้องต้นนะครับ จริงๆ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ เช่น กรณีที่เราต้องการซื้อบ้านหรือซื้อรถยนต์ เราจะบริหารเรื่องการผ่อนของพวกนี้ยังไง หรือ กรณีที่เรามีหนี้บัตรเครดิตอยู่ก่อนแล้ว เราจะเคลียร์หนี้ยังไง และแน่นอน เมื่อเรามีรายได้ เราก็ต้องบริหารจัดการเรื่องภาษีด้วย โดยเฉพาะคนที่หารายได้เสริมจากช่องทางอื่น … อะไรพวกเนี้ย คือรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมครับ แต่ในเบื้องต้นอะ ถ้าเราวางแผนการเงินของตัวเองได้แล้ว อย่างอื่นมันก็จะง่ายขึ้นครับ
ภาพปกประกอบบล็อก People vector created by pch.vector – www.freepik.com