ผมไม่ใช่สายครีเอเตอร์ แต่ผมก็ชอบวาดรูปบ้างเป็นครั้งคราว ผมถึงได้ใช้ Samsung Galaxy Note มาถึง 5 รุ่น และก็เคยซื้อ iPad Pro 10.5″ มาใช้ด้วย แต่บนคอมพิวเตอร์เนี่ย ผมก็อยากลองใช้เมาส์ปากกามาหลายหนแล้ว แต่มันก็มีแบบแพงเวอร์วังมากๆ จนผมซื้อมาก็ไม่คุ้ม ก็เลยไปลองจัด เมาส์ปากกา VINSA VIN1060 Plus มาลองใช้ซักหน่อยว่าจะเป็นยังไงบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
เมาส์ปากกา VINSA VIN1060 Plus ตัวนี้ ซื้อมาลองเอง ใช้เองครับ แต่ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่สายนักวาด ก็อาจจะมีปัญหาในความละเอียดการรีวิวสินค้าตัวนี้ในฐานะคนวาดรูป แต่ผมว่าผมก็พอจะอธิบายข้อดี ข้อจำกัด ของเจ้าเมาส์ปากกา VINSA VIN1060 Plus ตัวนี้ได้แหละ
ร้านที่ผมซื้อบน Lazada เขามีให้เลือกสองแพ็กเกจ คือ แบบที่มีหัว Stylus สำรองไว้เปลี่ยนให้ 8 ชิ้น พร้อมอุปกรณ์สำหรับถอดหัว Stylus ราคาประมาณ 700 บาท (ไม่รวมค่าส่ง) กับแบบที่มีหัว Stylus สำรองให้ 30 ชิ้น พร้อมซองใส่ Stylus และแท่นวาง Stylus ด้วย ราคาประมาณ 750 บาท (ไม่รวมค่าส่ง) ด้วยความอยากรู้อยากเห็นขั้นสุด ผมเลยเลือกแบบเต็มเหนี่ยวที่สุดมาครับ
แกะกล่อง VINSA VIN1060 Plus ออกมา ก็ได้อุปกรณ์ครบตามที่ร้านเขาโฆษณาไว้ครับ แต่ไอ้ตัวแผ่นรองเขียนเนี่ยมีขนาดใหญ่เวอร์วังมาก วัดตามเส้นทแยงมุมแล้ว ได้ 17 นิ้วเลยครับ ใหญ่กว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนึงไปนิดนึงเลยแหละ แล้วก็มี Stylus มาให้ด้วย ในแพ็กเกจจัดเต็มนี่ เขาก็มีอุปกรณ์ถอดหัว Stylus พร้อมกับหัวสำรองมาให้ 30 อัน แท่นวาง Stylus และ สาย OTG แบบ Micro USB เปลี่ยนเป็นช่องเสียบ USB-A และ USB-C เปลี่ยนเป็นช่องเสียบ USB-A สำหรับเอาไว้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน

ตัวแผ่นรองเขียนของเมาส์ปากกา ด้านซ้ายจะเป็นปุ่มทางลัด ซึ่งออกแบบมาสำหรับใช้อำนวยความสะดวกเวลาวาดรูป เช่น มีปุ่มกดสำหรับเรียกใช้ยางลบ เรียกใช้แปรงวาดรูป หรือทำการกดปุ่ม Ctrl – หรือ Ctrl + สำหรับซูมเข้าซูมออกภาพ หรือแทนการเลื่อน Wheel ของเมาส์ขึ้นลง เป็นต้น ส่วนบริเวณที่เราจะใช้วาดรูปนั้น จะมีปุ่มลัดสำหรับใช้งานด้านมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น การเล่นหรือหยุดเพลง หรือการเรียกใช้โปรแกรมอย่างพวกเครื่องคิดเลข ขึ้นมา เป็นต้น

บนแผ่นรองวาด เราจะเห็นสัญลักษณ์รูปมุม ที่เอาไว้แสดงพื้นที่สำหรับใช้งานกับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนครับ อันนี้สำคัญ เพราะหลักการทำงานของเมาส์ปากการุ่นนี้ เป็นแบบ Screen mapping คือ พื้นที่บนตัวแผ่นรองเขียนแทนพื้นที่บนหน้าจอแสดงผลของคอมพิวเตอร์ เช่น ถ้าเราเอา Stylus ไปแตะตรงมุมบนด้านซ้ายของแผ่นของเขียน ตัวเคอร์เซอร์ของเมาส์ก็จะไปอยู่ตรงมุมบนด้านซ้ายของหน้าจอด้วยเช่นกัน

แม้ว่าตัวเมาส์ปากกานี่จะพร้อมใช้งานโดยไม่ต้องติดตั้งไดรเวอร์ใดๆ แต่ก่อนใช้งาน แนะนำว่าให้ติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับตั้งค่าเมาส์ปากกาก่อนครับ ไม่ต้องไปหาดาวน์โหลดที่ไหนด้วย แค่เสียบตัวเมาส์ปากกาเข้าเครื่อง มันก็จะมองเห็น CD-ROM ขึ้นมา ในนั้นมันจะมีไฟล์ชื่อ Tablet_SetupV4.exe อยู่ รันไฟล์นี้เพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์ครับ
ซอฟต์แวร์ตัวนี้ ใช้ทดสอบตัวเมาส์ปากกาได้ด้วย ด้วยการเขียนลงไปตรงพื้นที่ขวาๆ ด้านล่างขวา แล้วกราฟด้วยซ้ายมือมันก็จะแสดงค่าการตรวจจับแรงกดมาให้ด้วย เราสามารถจูนค่าการรับแรงกดของ Stylus ได้ตรง Pressure fine tune ตั้งค่าปุ่มลัดของปุ่มบน Stylus ได้อีก

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ซอฟต์แวร์ในการตั้งค่า Screen mapping ได้ด้วย โดยเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะใช้พื้นที่บนแผ่นรองเขียนแค่ไหน แล้วให้มันเทียบเท่ากับพื้นที่เท่าไหร่บนหน้าจอ ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเกิดเรามีหน้าจอเดียว และเป็นแบบ 16:9 ก็ไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรหรอกครับ แต่ถ้าเกิดเรามีหลายหน้าจอ หรือ หน้าจอแสดงผลเป็นอัตราส่วนอื่น เช่น 3:2 หรือ 21:9 หรืออื่นๆ เราก็ควรจะปรับแต่งให้เรียบร้อย เพราะไม่งั้น เวลาใช้งานจริง สเกลมันจะแปลกๆ แล้วจะทำให้ยุ่งยากเวลาเขียนหรือวาด
ผมลองเอามาใช้งานทั้งบนโน้ตบุ๊กที่ต่อจอ 21:9 และกับโน้ตบุ๊กที่เป็นจอ 16:9 แล้ว รวมถึงต่อกับสมาร์ทโฟนที่เป็นอัตราส่วนการแสดงผล 19.5:9 ดู ผมได้ข้อสรุปสำหรับผมเองแบบนี้ครับ
👍🏼 การใช้งานไม่ยุ่งยาก เสียบสาย USB ปุ๊บ ก็พร้อมใช้งานเลย ตัว Stylus สามารถทำงานแทนเมาส์ปกติได้ด้วย
👍🏼 ตัว Stylus ไม่ต้องใส่ถ่านหรือชาร์จแบตเตอรี่ และมีปุ่มทางลัดสำหรับใช้คำสั่งง่ายๆ จำพวก Ctrl Alt Shit บวกกับปุ่มใดปุ่มนึง
👍🏼 ปุ่มทางลัดบนตัวแผ่นรองเขียน ช่วยอำนวยความสะดวกตอนทำงานขีดๆ เขียนๆ ได้ดี
👍🏼 รองรับการใช้งานทั้งบนคอมพิวเตอร์ (Windows และ macOS) กับสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และรองรับ USB OTG (Micro USB หรือ USB-C)
👉🏼 Stylus รองรับแรงกดหลายระดับ ตามสเปกเขาบอกว่าได้ถึง 8,192 ระดับ ตัวซอฟต์แวร์มันก็โชว์แบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว ตอนใช้งาน ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้แยกแยะได้ละเอียดขนาดนั้น
👉🏼 หลักการทำงานของเมาส์ปากกาตัวนี้เป็นแบบ Screen mapping ต้องทำความคุ้นเคยในการใช้งานอยู่ประมาณนึง เพราะต้องมองจอไปร่วมกับตำแหน่งของ Stylus บนแผ่นรองเขียน
👉🏼 ถ้าเกิดเอาไปใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มีหลายหน้าจอ หรือ มีอัตราส่วนการแสดงผลของหน้าจอไม่ใช่ 16:9 จะต้องทำ Screen mapping ก่อน ถึงจะใช้ได้เวิร์กๆ นะ
เท่าที่ลองใช้ดู เมาส์ปากกา VINSA VIN1060 Plus ตัวนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้งานจำพวก ขีดๆ เขียนๆ จดๆ เล็กๆ น้อยๆ เอามาใช้อำนวยความสะดวกในตอนนำเสนอด้วย PowerPoint ที่มี Windows Ink หรือเอาไว้สำหรับหัดวาดรูป ด้วยการลอกแบบ คือ เอาภาพที่ต้องการวาดมาวางบนแผ่นรองเขียน แล้วค่อยๆ ใช้ Stylus ลอกแบบไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็โอเคอยู่ แต่ถ้าเกิดอยากจะวาดรูปจริงจังมากๆ ผมว่าไปหาเมาส์ปากกาที่ไฮโซกว่านี้น่าจะดีกว่าครับ
บทสรุปการรีวิวเมาส์ปากกา VINSA VIN1060 Plus
ก็นับว่าเป็นเมาส์ปากการาคาไม่แพงมาก ซื้อมาลองใช้ หัดวาดรูป หรือ เขียนโน่นนี่ได้ ในกรณีที่เราไม่ได้ใช้งานหนักหน่วง หรือต้องการความแม่นยำสุดๆ แต่หากเราใช้จนชิน เราก็จะสังเกตว่าเราจะสามารถขีดๆ เขียนๆ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นด้วยนะ แต่ถ้าต้องการใช้งานแบบจริงจัง ผมว่าหาแบบไฮโซๆ หน่อยมาก็จะดีกว่าครับ