จริงๆ ควรจะคิดได้ตั้งกะปี 2563 แล้วเหอะ ไม่งั้นป่านนี้คงคุ้มไปเยอะ 🤣🤣 เพราะ Work from Home มารัวๆ มาก แต่จะมาคิดติดตั้งตอนนี้ก็อาจจะไม่ช้าจนเกินไปนะ เพราะเห็นข่าวแว้บๆ ว่าค่าไฟเตรียมขึ้นแล้วปีหน้า อย่างไรก็ดี ผมต้องออกตัวก่อนว่า การตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะลดค่าไฟหรืออะไรยังไงนะ หลักๆ คือ เห็นโฆษณากันเยอะขึ้น แล้วก็เกิดความสงสัยใคร่รู้เป็นการส่วนตัวว่า มันได้ตามที่เขาโม้จริงๆ รึเปล่า แต่การจะออกมาพูดได้ มันต้องมีประสบการณ์ตรงอะ ก็เลยขอจัดเบาๆ 1.5KW ใช้ที่บ้านครับ และในบล็อกตอนนี้ ผมก็จะเขียนเกริ่นนำก่อนว่าเรื่องราวมันเป็นมายังไง
ก่อนอื่น อยากแนะนำให้หาหนังซื้อ โซลาร์เซลล์ 101 ของสำนักพิมพ์ Provision มาอ้างอิง
หนังสือ โซลาร์เซลล์ 101 ของสำนักพิมพ์ Provision มีข้อมูลเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ค่อนข้างครบเครื่องมาก เพราะเขียนมาในแบบที่กะว่าคนอ่านสามารถไปเลือกสเปกสำหรับโซลาร์เซลล์มาติดตั้งได้เองเลย (แต่ต้องไปหาผู้รับเหมามาช่วยติดตั้งนะ ทำเองคงไม่ไหวหรอก) ในบล็อกของผมตอนนี้ จะไม่ได้ลงรายละเอียดในหลายๆ อย่าง เช่น แผงโซลาร์เซลล์แบบ Tier 1 คืออะไร ชนิดของแผงโซลาร์เซลล์แบบต่างๆ มีอะไรบ้าง และแต่ละแบบดีหรือด้อยกว่ากันอย่างไร อะไรพวกนี้ ไปหาอ่านเอาจากในหนังสือนะครับ
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเข้าใจแหละ ถึงการทำงานของโซลาร์เซลล์ในระดับพื้นฐาน ว่ามันใช้การเปลี่ยนแปลงพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ที่หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบ คือพวกปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า และบ่อยครั้ง พวกเซลส์ขายโซลาร์เซลล์ก็ไม่ค่อยได้อธิบายให้เราฟัง ซึ่งเท่าที่ผมศึกษาข้อมูลมา มันก็จะมีประมาณนี้
• แผงโซลาร์เซลล์ มีหลายชนิด หลักๆ ก็จะมี โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline) โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline) และแบบฟิล์มบาง (Thin film) ซึ่งแต่ละชนิดก็มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและค่าความสูญเสียต่อความร้อนที่แตกต่างกัน และยังไม่นับเรื่องชนิดของแผง และ Tier ของแผงอีก ซึ่งจากที่ผมเห็นเนี่ย ก็จะมีแต่รายใหญ่ๆ อย่าง SCG ที่มีอธิบายสเปกของแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ (เป็นโมโนคริสตัลไลน์ และ แผงแบบ Tier 1) แต่อะไรพวกเนี้ย เป็นสิ่งที่เราสามารถขอจากบริษัทผู้รับเหมาได้ จากนั้นเราก็สามารถเอาข้อมูลไปค้นบน Google เพื่อยืนยันได้อีกที

• โซลาร์เซลล์ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพตลอดช่วงเวลากลางวัน เพราะจริงอยู่ที่ว่าเมื่อมีแสงอาทิตย์สาดส่องมา กระบวนการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าก็จะเริ่มขึ้น แต่มันจะผลิตได้มากหรือน้อย ก็อยู่ที่ความแรงของแสงอาทิตย์ด้วยนะ ดังนั้น ตลอดเวลาเช้ายันเย็นที่มีแสงอาทิตย์อยู่ โซลาร์เซลล์มันก็ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เท่ากันครับ
• ทิศทางของบ้าน และพื้นที่ในการติดตั้งก็มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับประเทศไทย คุณไปถามบริษัทที่ขายโซลูชันโซลาร์เซลล์ก็จะได้คำตอบเดียวกันว่า ดีสุดคือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้หันไปทางทิศใต้ และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มันก็กินเนื้อที่ประมาณนึง ดังนั้น ต้องให้แน่ใจก่อนนะว่าคุณมีพื้นที่กว้างพอจะติดตั้งและพื้นที่นั้นมันหันไปทางทิศใต้ อย่างบ้านผมเนี่ย หน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือ เวลาจะติดตั้ง ก็ต้องไปติดตั้งหลังบ้าน เป็นต้น
• ระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งกันโครมๆ เนี่ย เป็นแบบออนกริด (On-grid) นะครับ ความหมายคือ มันผลิตไฟฟ้าขนานไปกับการไฟฟ้า มันจะช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับเราแค่เฉพาะตอนกลางวันที่มันผลิตไฟฟ้าได้เท่านั้น และก็ไม่ได้ผลิตได้นิ่งๆ ตลอดทั้งวันนะ มันจะประหยัดให้เราได้มากหรือน้อย ก็อยู่ที่ว่าเราใช้ไฟเกินไปกว่าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้กี่มากน้อยต่างหาก หากใครกะว่าจะผลิตเยอะๆ เอามาใช้ตอนกลางคืนด้วย ต้องมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่ม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก ไม่คุ้ม ไม่ค่อยมีใครทำ
• ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง แผงโซลาร์เซลล์ก็ยัง เสื่อมได้ และนั่นทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์มันลดลงไปเรื่อยๆ ทุกปี และอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์คือราวๆ 25 ปีครับ นั่นหมายความว่าเตรียมใจไว้เลยว่าทุกๆ 20-25 ปี เนี่ย ก็คงจะต้องเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ทีนึง แล้วกว่าจะถึงตอนนั้นอะ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแค่แผงหรอก เพราะเทคโนโลยีมันคงไปไหนต่อไหนกันแล้ว
• ระยะเวลาการคืนทุนที่เขาว่า 5-10 ปี มันแล้วแต่คนจริงๆ คือ มันก็มีคนที่สามารถคืนทุนได้ใน 5-10 ปีจริงๆ ครับ เพราะพฤติกรรมการใช้งานของเขามันเหมาะสมมากๆ กับการมาใช้โซลาร์เซลล์ เช่น มีการใช้ไฟฟ้าเยอะมาก และการใช้ไฟฟ้าหลักๆ คือเป็นช่วงกลางวัน เป็นต้น แต่สำหรับบ้านที่ไม่ค่อยมีใครอยู่ หรืออาจจะมี Work from Home บ้างเป็นบางวัน กว่ามันจะช่วยประหยัดค่าไฟจนคืนทุนได้นี่อาจจะเกิน 10 ปีครับ เผลอๆ กลายเป็นเหมือนกับการจ่ายค่าไฟล่วงหน้ามากกว่าด้วยซ้ำ
คนทั่วไป ใช้บริการโซลูชันโซลาร์เซลล์ของบริษัทผู้รับเหมาเถอะ แต่อย่าด่วนตัดสินใจ
มีหลายคนแนะนำผมว่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มันไม่ยาก และถ้าเลือกสเปกของเอง หาผู้รับเหมาเอง อาจจะประหยัดกว่าไปซื้อโซลูชันของบริษัทต่างๆ เยอะ แต่สำหรับผม ผมอยากแนะนำว่าผู้ใช้งานทั่วไปอะ ไปเลือกซื้อโซลูชันจากบริษัทผู้รับเหมาเลยดีกว่าครับ เดี๋ยวนี้มีให้เลือกหลายบริษัท ทั้งเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ ก็เลือกกันไปได้ พวกนี้เขาให้บริการครบวงจรตั้งแต่สำรวจหน้างาน ออกแบบ ขออนุญาตกับภาครัฐ และติดตั้งเลย และพวกนี้เขาก็จะมีประกันมาให้ และแม้จะหลังหมดระยะเวลาประกัน เวลามีปัญหา เราก็ยังติดต่อเขาเข้ามาให้บริการได้
แต่จากประสบการณ์ในการดีลกับบริษัทที่ให้บริการโซลูชันโซลาร์เซลล์แห่งหนึ่ง มีเรื่องที่คุณๆ ควรพิจารณา อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจดังนี้ครับ
• สำรวจหน้างานฟรี เป็นอะไรที่ทำให้เราตัดสินใจเริ่มพิจารณาโซลาร์เซลล์ได้ง่าย แต่ในความเป็นจริง เขาสำรวจละเอียดแค่ไหนล่ะ? ผมนี่คาดหวังว่าเขาจะมาแบบ สำรวจหลังคาบ้านว่าเป็นยังไง มีโดรนบินดู เพื่อถ่ายภาพหลังคาเอาไปประเมินพื้นที่ติดตั้ง แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีเซลล์มาที่บ้าน ขอรูปหลังคาบ้านเราไป และเขาบอกว่าเขาจะคำนวณพื้นที่คร่าวๆ ได้จากพวก Google Maps มาอธิบายเรื่องการเจาะติดตั้ง Inverter แค่นี้เลย แป๊บเดียวจบ ผมก็ไม่รู้ว่า ถ้าเลือกใช้บริการของรายใหญ่ๆ จาก SCG จะเป็นแบบนี้เหมือนกันไหมนะ
• ราคาเริ่มต้น เดี๋ยวนี้ไม่แพงแล้วครับ ไม่ถึงแสนอะ สำหรับ 1.5KW ซึ่งเป็นขนาดเริ่มต้นเลยแหละ ของผมนี่ก็ 89,000 บาท ครับ เป็นราคาที่เขาบอกว่า “หลังจากหักส่วนลด 10,000 บาท เพราะลงทะเบียนกับกลุ่มจัดโต๊ะคอม” แต่พอตกลงกันเสร็จเรียบร้อย จ่ายมัดจำเสร็จ กลับไปดูที่เว็บไซต์อีกที อ้าว! ราคาเริ่มต้น 89,000 บาท แถมได้ 0% 10 เดือนอีก และเหมือนจะเป็นราคานี้มาตั้งกะต้นปีแล้ว (ของผมไม่มี 0% 10 เดือน) ฮ่วย! สรุปจริงๆ คือ ไม่รู้สึกว่าได้ส่วนลดๆ ใดๆ นะครับ
• ใครที่หวังว่าจะขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้า ให้คิดซะว่ามันเป็นโบนัสก็แล้วกัน แต่ในทางปฏิบัติจริง ทางบริษัทแจ้งกับผมว่ากว่าจะทำเรื่องขอเสร็จ นู่น นานพอดู แถมเดี๋ยวนี้ขายได้แค่หน่วยละ 2.2 บาทเองมั้ง (ราคาประมาณ 50% ของค่าไฟเฉลี่ยต่อหน่วย) ถ้าคิดว่าจะคืนทุนเพราะเรื่องนี้ อย่าเลย
แล้วแบบนี้ จริงๆ แล้วใครกันแน่ที่เหมาะกับการใช้โซลาร์เซลล์?
บ้านที่เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์คือ เป็นบ้านที่มีการใช้งานไฟฟ้าตอนกลางวันเยอะๆ แบบมีคนอยู่ทั้งวัน เปิดแอร์ตลอดกลางวัน หรือทำเหมืองขุดเหรียญคริปโต อะไรแบบนี้ จะคุ้มมาก แต่ถ้าจะให้คุ้มสุด ก็ควรจะมีการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานไฟฟ้าในบ้านโดยละเอียดครับ ขั้นต่ำก็คือ การจดเลขมิเตอร์ทุกๆ ชั่วโมง บันทึกเอาไว้ซัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อประเมินว่าในแต่ละชั่วโมงตอนกลางวัน ใช้ไฟไปกี่หน่วย ยังไงบ้าง เพื่อเอามาประเมินว่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ที่มักจะผลิตได้เยอะสุดแถวๆ 10:00 – 15:00 เนี่ย มันจะสามารถไปช่วยประหยัดค่าไฟได้มากน้อยแค่ไหน หากว่าการใช้งานไฟฟ้าของเรา มันดันไม่ตรงกับช่วงเวลาที่โซลาร์เซลล์จะผลิตกระแสไฟได้ดีที่สุดละก็ กว่าจะคุ้มก็อีกนานกว่าที่เขาโฆษณาไว้เยอะครับ