ในยุคที่พ่อแม่ต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์มาไว้ให้ลูกๆ ได้ใช้เรียนกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปุบปับอาจจะต้องกลับมาอยู่ในโหมดเรียนออนไลน์เมื่อไหร่ก็ได้ เราก็อยากได้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพดีพอสมควร มีอะไรต่อมิอะไรครบเครื่องพร้อมใช้งานแบบไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติม หลายคนก็คงจะมองคอมพิวเตอร์แบบ All-in-One หรือ AiO ไว้ ซึ่ง ASUS เพิ่งส่งตัว ASUS AiO M3200 มาให้ผมลองใช้งานดูครับ และนี่คือมุมมองของผมต่อเจ้านี่ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ASUS AiO M3200 (M3200WUAK-BA012TS) ที่ผมได้มารีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก ASUS Thailand ให้ยืมมาใช้พักใหญ่ๆ ครับ ก็ได้ลองใช้ทำโน่นนี่นั่น เพื่อจะได้หยิบประสบการณ์ในการใช้งานมาเล่าสู่กันอ่านครับ
แกะกล่องออกมา สิ่งที่อยู่ในกล่องของ ASUS AiO M3200 นี่ก็จะเป็นตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแบบ All-in-One PC คือ มีตัวเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ภายในจอเลย เป็นดีไซน์แบบประหยัดพื้นที่ มาพร้อมอะแดปเตอร์ไฟ 90 วัตต์ ที่มีความยาวสายไฟสองช่วง คือ 150 เซ็นติเมตร + 90 เซ็นติเมตร รวมราวๆ 2.4 เมตร ถือว่ายาวพอสำหรับการนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ และมีคีย์บอร์ดกับเมาส์ไร้สายแบบ 2.4GHz แบบที่เชื่อมต่อกันด้วย USB dongle ตัวเดียวมาให้เรียบร้อย
ASUS AiO M3200 คีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สาย อะแดปเตอร์ไฟ 90 วัตต์
ดีไซน์ด้านหน้า เป็นจอแสดงผลขนาด 21.5 นิ้ว อัตราส่วนการแสดงผล 16:9 ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล เป็นจอ IPS LED backlit ให้ความสว่างสูงสุด 250 nits จอแบบ Anti-glare ลดแสงสะท้อน และมีจอภาพแบบ NanoEdge ขอบจอบางแค่ 2 มิลลิเมตร มีกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p ติดตั้งอยู่ตรงกึ่งกลาง ด้านล่างของหน้าจอ และมีไมโครโฟนอยู่ข้างๆ เลนส์เว็บแคม

ส่วนด้านหลังของตัวเครื่อง ก็จะมีพวกพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ อยู่ครับ ประกอบไปด้วย พอร์ต USB-A 3.2 Gen 1 จำนวน 4 พอร์ต ซึ่งมากเหลือเฟือสำหรับต่ออุปกรณ์ต่อพวกต่างๆ มีพอร์ต HDMI 1.4 out สำหรับต่อจอแสดงผลภายนอก พอร์ต RJ-45 เผื่อใครอยากจะเสียบสาย Gigabit LAN และมีช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC ส่วนปุ่มเปิดเครื่องจออยู่ตรงด้านล่างของตัวจอฝั่งขวามือ
ใต้จอด้านซ้าย ใต้จอด้านขวา
ใต้จอด้านซ้ายก็จะมีช่องสำหรับใส่ตัวล็อกแบบ Kensington เผื่อใครต้องการล็อกเครื่องกันไม่ให้ถูกใครขโมย และด้านใต้จอด้านขวา มีพอร์ต USB-A 2.0 เอาไว้สำหรับเสียบ USB dongle ของคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สาย กับช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ที่เป็นคอมโบแจ็ก หูฟังและไมโครโฟนในช่องเดียว
ตัวฐานจออะ มันปรับระดับสูงต่ำไม่ได้ ถ้าใครอยากจะให้หน้าจอมันพอดีกับระดับสายตา ก็อาจจะต้องหาพวกที่วางจอมารองนะครับ แต่ตัวฐานจอมันจะปรับก้มเงยได้ระดับนึง ซึ่งการปรับก้มนี่ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์อะไรกับผู้ใช้งาน แต่มันจำเป็นเวลาที่จะต้องเก็บตัวเครื่องลงกล่องครับ ส่วนการปรับเงย จะปรับได้ราวๆ 20 องศา ซึ่งอาจสำหรับผมที่ส่วนสูง 176 เซ็นติเมตร และนั่งใช้งานกับโต๊ะความสูง 76 เซ็นติเมตร ผมต้องก้มมามองจอเล็กน้อย
ประสิทธิภาพและประสบการณ์ในการใช้งานของ ASUS AiO M3200
สำหรับรุ่นนี้ ASUS เลือกใช้หน่วยประมวลผลเป็น AMD Ryzen™ 3 5300U Mobile Processor (4-core/8-thread, 6MB cache, up to 3.8 GHz max boost) ที่มาพร้อมกับชิปกราฟิก AMD Radeon โค้ดเนม Luciene (Zen 2) ก็จะเทียบๆ กับ Intel Core i5-1135G7 ครับ แต่จะเป็นหน่วยประมวลผลที่ใหม่กว่าเล็กน้อย แต่ให้หน่วยความจำ DDR4 มาแค่ 8GB และอัปเกรดไม่ได้แอบเสียดายตรงนี้ เพราะในมุมมองของผม หากมีหน่วยความจำซัก 16GB จะช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการใช้งานขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานด้านกราฟิก ตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ โดยใช้โปรแกรมที่โปรขึ้นมาหน่อย เช่น DaVinci Resolve หรือแม้แต่งานทั่วๆ ไปอย่างการท่องเว็บ ที่นับวัน เบราว์เซอร์ก็ต้องการหน่วยความจำมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อประสบการณ์ในการท่องเว็บที่ไม่สะดุด

อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ ASUS AiO M3200 ตัวนี้ก็คือการเปลี่ยนมาใช้สื่อเก็บข้อมูลแบบ SSD NVMe แทน โดยเลือกใช้ตัวที่ความเร็วสูงประมาณนึงด้วย พิจารณาจากผลการทดสอบตามรูปด้านบน ผมเดาว่าสเปกของมันน่าจะเป็นอ่านได้ความเร็วสูงสุด 2.5GB/s และเขียนที่ความเร็วสูงสุด 2GB/s เลยทีเดียว ดังนั้น การเรียกใช้งานพวกโปรแกรม การบูตเครื่อง หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะได้ประโยชน์จากสื่อบันทึกข้อมูลความเร็วสูง ก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ค่อนข้างมาก

ในแง่ของการใช้งานทั่วไป สเปกที่ ASUS AiO M3200 ให้มา เรียกว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะทำงานเอกสาร ทำไฟล์นำเสนองาน ด้วยโปรแกรม Microsoft Office หรือแม้แต่ท่องเว็บไซต์ ผมลองเปิดด้วยโปรแกรม Microsoft Edge ลองเปิดเว็บไซต์ราวๆ 7-8 แท็บพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะบล็อกผมเอง เว็บข่าว เว็บช้อปออนไลน์ ยูทูป มันก็ซัดแรมรวมกับพวกโปรแกรมอื่นๆ แล้ว 55% เรียกว่า ก็ยังเหลือพอใช้อยู่

แม้แต่ตัดต่อวิดีโอ ผมลองติดตั้งโปรแกรม DaVinci Resolve ดู พอโปรแกรมตรวจสอบฮาร์ดแวร์ดูแล้ว ก็จบว่าพอใช้งานได้นะ แต่อาจจะทำได้แค่ตัดต่อวิดีโอความละเอียด Full HD และทำเกรดสีได้แค่ในระดับพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งเอาจริงๆ ถ้ามองตาม Position ของ ASUS AiO M3200 ตัวนี้ ก็ต้องบอกว่ามันก็เหมาะกับค่าตัวดีอยู่
คีย์บอร์ดและเมาส์ที่แถมมาให้ ก็ไม่ได้ถือว่าดีเลิศมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ และก็ครบเครื่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสกรีนแป้นไทยมาให้ มีปุ่ม Numpad มาให้ เมาส์ขนาดกะทัดรัดอยู่ แต่ DPI ดูจะค่อนข้างสูงแฮะ ถ้าใช้ค่า Default จะเห็นเลยว่าขยับนิดเดียวเมาส์เขยิบไปไกลเลย แต่ก็ไม่ต้องห่วง ไปที่ Mouse settings เพื่อปรับความเร็วของเคอร์เซอร์เมาส์ได้ครับ

ลำโพงที่ให้มากับตัวเครื่อง ตอนแรกไม่คิดอะไรมาก แต่พอได้ลองเปิดคลิปโน่นนี่นั่นฟังดู ก็ต้องบอกว่าสำหรับคนทั่วไปแล้ว แทบจะไม่ต้องไปหาลำโพงอื่นมาติดตั้งเพิ่มเลยครับ คุณภาพเสียงถือว่าดีเลยทีเดียว ด้วยเทคโนโลยี SonicMaster ของ ASUS และมีแอป DTS Audio Processing ที่ให้เราปรับเสียงให้เหมาะกับการฟังของเรา ไม่ว่าจะเป็น เพลง, หนัง หรือเกม และยังสามารถปรับแต่งได้เองอีก เรียกว่า นอกจากจะเอามาทำงานแล้วก็ยังใช้งานเพื่อความบันเทิงได้ด้วย

ลองเอามาทดสอบด้วยตัว Benchmark ของ Final Fantasy XV ดู พบว่าพอจะลื่นที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็ต้องจัดเป็น Lite Quality ที่ความละเอียด 720p ก็ยังพอได้ประสิทธิภาพระดับ ต่ำ (Low) ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย! มันแย่มาก แต่ตอนที่ดูตัวเกมมันกำลังเล่นอยู่ ก็ดูลื่นไหลดีนะ จริงๆ โดยประสิทธิภาพของชิปกราฟิก Radeon ก็ถือว่าไม่แย่นะครับ แค่อาจจะไม่สามารถเล่นเกมที่กราฟิกคุณภาพสูงได้แหละ
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในคอมพิวเตอร์ของค่าย ASUS คือโปรแกรม MyASUS ครับซึ่งคอมพิวเตอร์รุ่นหลังๆ ของค่ายนี้ มีฟีเจอร์เพียบเลยครับ (แต่เท่าที่ดู ต้องเป็นคอมพิวเตอร์ที่ออกมาในปี 2564 นี้นะ เพราะโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S ที่ผมซื้อมาสามปีก่อน ไม่ได้มีฟีเจอร์เด็ดขนาดนี้อะ) ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งระบบเสียงและไมโครโฟนด้วย AI (AI Noise Canceling) และการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตด้วยโปรแกรม Link to MyASUS ที่ถ่ายโอนไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ง่ายๆ รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นจอเสริมแบบไร้สายได้ด้วย

อย่างที่บอกว่า ASUS AiO M3200 นี่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานแบบเครื่องเดียวจบครับ นอกจากจะมีลำโพงคุณภาพเสียงดีและไมโครโฟน ที่ต่างก็มีฟีเจอร์ AI Noise Canceling ช่วยตัดเสียงรบกวนทั้งจากไมโครโฟนของเรา ที่ทำให้เสียงสนทนาจากเราชัดเจนขึ้น และสามารถปรับได้ทั้งแบบที่เหมาะกับประชุมคนเดียว หรือ มีหลายคนนั่งประชุมร่วมกับเรา
แต่ข้อจำกัดนิดนึงก็คือคุณภาพของกล้องเว็บแคมที่มีมาให้ มันยังเป็นแค่ระดับ 720p เท่านั้นครับ ก็พอเหมาะสำหรับการใช้งานประชุมออนไลน์อยู่ แต่ก็ไม่ได้คมชัดอะไรมากมายนะครับ ดูจากรูปด้านบนเพื่อพิจารณาคุณภาพของกล้องได้

การลงทะเบียบผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบการรับประกันก็ทำได้ง่าย และ ASUS ให้ Perfect Warranty มาด้วย ซึ่งมันคือการประกันที่ครอบคลุมเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหกใส่ ไฟฟ้าลัดวงจร หรือแม้แต่เกิดโดนแมวกระแทก เครื่องตกลงมา เป็นต้น

ตัว ASUS AiO M3200 นี่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 นะ เพราะ Windows 11 แม้จะเปิดตัวแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีค่ายไหนที่ Pre-install มาให้เลยนะ แต่ไม่ต้องห่วง เผื่อใครต้องการจะอัปเดตเป็น Windows 11 เจ้านี่พร้อมอัปเกรดครับ มันมี Secured boot TPM2.0 ฮาร์ดแวร์ก็รองรับ Windows 11 แล้ว ซื้อมาแล้วอยากใช้ Windows 11 ก็อัปเดตได้เลยครับ
บทสรุปการรีวิว ASUS AiO M3200
ค่าตัวของ ASUS AiO M3200 อยู่ที่ 21,990 บาท ก็เรียกว่าราคาไม่ได้สูงเกินเอื้อมมาก และนี่คือมีทุกอย่างครบ จบในการซื้อครั้งเดียวแล้ว ก็เรียกว่าน่าจะตอบโจทย์คนต้องการความง่ายในการติดตั้งใช้งาน และมันก็พร้อมรองรับการใช้งานในทุกๆ รูปแบบที่คนทั่วไปจะใช้งาน รวมถึงเด็กๆ ที่จะใช้เรียน
ข้อจำกัดที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนคือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กะว่าอัปเกรดได้เลยนะครับ ซึ่งในกรณีที่ต้องการอัปเกรดได้ในภายหลัง อาจจะต้องพิจารณาไปมองพวกคอมพิวเตอร์ประกอบ ซึ่งด้วยงบประมาณพอๆ กันนี้ ก็จะได้สเปกใกล้ๆ กันหรือดีกว่าหน่อย แต่ก็อาจแลกมาด้วยความเทอะทะขององค์ประกอบต่างๆ ของฮาร์ดแวร์ด้วยเช่นกัน