Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS ExpertBook B1 B1400 โน้ตบุ๊กสำหรับนักธุรกิจหรือนักศึกษา ที่ตอบโจทย์การทำงานที่แท้ทรู
โน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400
รีวิว

รีวิว ASUS ExpertBook B1 B1400 โน้ตบุ๊กสำหรับนักธุรกิจหรือนักศึกษา ที่ตอบโจทย์การทำงานที่แท้ทรู

ในขณะที่โน้ตบุ๊กในปัจจุบัน พยายามจะทำให้บางมากๆ เบามาๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยพอร์ตการเชื่อมต่อที่ขาดหายไป และความยุ่งยากที่ต้องมาใช้อุปกรณ์เสริมพวก USB Hub อะไรพวกนี้แทน ASUS ExpertBook B1 B1400 เป็นโน้ตบุ๊กที่พยายามตอบโจทย์การใช้งานในครบเครื่องภายในตัวเดียว ไม่ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาต่อพ่วงให้ยุ่งยาก หากไม่จำเป็นจริงๆ โดยพยายามทำให้น้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 ตัวที่รีวิวครั้งนี้ ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง ASUS Thailand ให้ยืมมาลองอีกเช่นเคยครับ เพื่อจะได้เอามาลองใช้งาน และเขียนเล่าถึงประสบการณ์ว่าใช้แล้วเป็นยังไงบ้างให้ทุกคนได้อ่านกัน

แกะกล่อง ASUS ExpertBook B1 B1400 ได้อะไรมาบ้าง?

แกะกล่องออกมา ตัวเดโมยูนิตที่ผมได้มารีวิว ประกอบไปด้วยตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 อะแดปเตอร์แบบ 90 วัตต์ที่เป็นหัวจ่ายไฟ DC แบบกลม สายมีความยาวรวมๆ ประมาณเกือบๆ 2 เมตรครึ่งครับ เรียกว่าค่อนข้างยาวพอที่จะไปเสียบปลั๊กที่อยู่ไกลๆ ใช้งานได้สบายๆ และมีเมาส์แบบไร้สายให้มาด้วยอีกตัวนึง

ตัวโน้ตบุ๊กเป็นขนาดหน้าจอ 14 นิ้ว แต่ตัวเครื่องเลยค่อนข้างหนา (เกือบ 2 เซ็นติเมตร) และหนัก (ราวๆ 1.45 กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กตระกูลธุรกิจที่เน้นความคล่องตัวในการพกพา ที่น้ำหนักเหลือไม่ถึง 1 กิโลกรัม หรือ 1.1 กิโลกรัม อะไรพวกนี้ ด้วยความที่ออกแบบมาให้มีพอร์ตการเชื่อมต่อค่อนข้างครบเครื่องครับ มันเลยมีทั้ง

• พอร์ต USB-C 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) ที่รองรับการเชื่อมต่อจอแสดงผล และรองรับการชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ต USB-C นี้ด้วย พอร์ต D-Sub (ที่สมัยก่อนเรียกพอร์ต VGA นั่นแหละ สมัยนี้ไม่ได้เห็นพอร์ตนี้กันบนโน้ตบุ๊กเท่าไหร่แล้ว) เผื่อใครจะต้องต่อโปรเจ็กเตอร์ที่ยังคงใช้พอร์ตการเชื่อมต่อแบบเก่าอยู่ แต่ก็มีพอร์ต HDMI ให้ และมีพอร์ต USB 3.2 Gen 2 แบบ USB-A ให้อีกสองพอร์ต อยู่ทางด้านซ้ายมือของตัวเครื่อง

• ด้านขวามือจะมีไฟ LED แสดงสถานะของการเปิดเครื่อง แบตเตอรี่ และการทำงานของสื่อบันทึกข้อมูล มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. พอร์ต USB 2.0 ที่เป็น USB-A อันนี้เขากะให้เอาไว้เสียบพวก USB dongle สำหรับเมาส์ไร้สายนะครับ แล้วก็มีพอร์ต RJ45 หรือชาวบ้านเรียกพอร์ต LAN กับสล็อต Kensington เอาไว้ใส่ตัวล็อก

ด้านใต้ของตัวเครื่อง มีช่องตะแกรงสำหรับดูดอากาศมาระบายความร้อนภายในตัวเครื่อง โดยลมร้อนจะออกมาทางด้านท้ายของตัวเครื่อง มีการทำลวดลายข้อความ ExpertBook เอาไว้ด้วย เก๋ๆ ส่วนตัวคีย์บอร์ดที่มีการออกแบบแป้นพิมพ์มาค่อนข้างดี เท่าที่ผมสังเกตคือ ปุ่มที่ใช้ประจำๆ ก็ครบเครื่อง และมีขนาดที่เหมาะแก่การพิมพ์ มีทัชแพดที่ขนาดไม่ใหญ่โตมาก แต่ก็ไม่ได้เล็กจนใช้งานยาก

การออกแบบตัวเครื่อง ทาง ASUS เขาเรียกว่าเป็นแบบ Military-grade เลย คือ ตัวฝาปิดเป็นอลูมิเนียมอัลลอย และภายในตัวเครื่อง มีแผ่นโลหะคอยรองรับส่วนที่เป็นคีย์บอร์ดแบบเต็มพื้นที่ 100% โดยรวมแล้ว เรียกว่าดีไซน์ออกมาดูดีครับ แต่ก็อย่างที่บอก เสียดายแค่หนาและหนักไปหน่อย แต่ทำอะไรกับมันไม่ได้ เพราะด้วยพอร์ตต่างๆ ที่ใส่เข้ามาให้ครบๆ นั่นแหละครับ

สเปกเครื่องและประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ExpertBook B1 B1400

โดยส่วนตัว ผมชอบดีไซน์ ErgoLift ของ ASUS ครับ ซึ่งโน้ตบุ๊กรุ่นหลังๆ ของเขาจะเป็นสไตล์นี้กันซะมาก เวลาที่กางหน้าจอออกมา มันจะช่วยยกตัวเครื่องขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้วางมือพิมพ์ได้อย่างถูกหลักการยศาสตร์มากขึ้นแล้ว มันยังช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างด้านล่างของตัวเครื่องกับพื้นผิวที่วางตัวเครื่อง ให้การระบายอากาศมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

โน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 สีเทาดำ ด้านข้าง ขณะที่กำลังกางหน้าจอใช้งานอยู่

แต่ในฐานะที่ผมมี ASUS ZenBook S UX391UA ซึ่งก็ใช้ดีไซน์ ErgoLift เช่นกัน ผมพบว่าดีไซน์แบบนี้ แต่ก่อนมันมีข้อจำกัดเรื่องการกางหน้าจอ มันจะกางไม่ได้ 180 องศาครับ แล้วพวกโน้ตบุ๊กสำหรับทำงานเนี่ย พอมันกางไม่ได้ 180 องศา มันจะยากเวลาที่จะสุมหัวคุยกันกับเพื่อนร่วมงานอะ ซึ่งปัญหานี้ไม่เกิดกับ ASUS ExpertBook B1 B1400 ตัวนี้เลยครับ

โน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 ที่กางหน้าจอ 180 องศา

แต่ก็แอบเสียดายที่หน้าจอแสดงผลไม่รองรับการสัมผัสครับ แหม่ ถ้ารองรับนะ เวลากาง 180 องศา มันก็จะใช้งานสะดวกขึ้นอีกพอสมควรเลย อ้อ! จอแสดงผลนี่เป็นแบบ 14 นิ้ว LED-backlit IPS แบบ Anti-glare ความละเอียด Full HD 1920×1080 พิกเซล ให้ความสว่าง 250 nits

ดูที่สเปกอื่นบ้างครับ ตัวที่ผมได้มารีวิวนั้นเป็นสเปก Intel® Core™ i7-1165G7 Processor 2.8 GHz (12M Cache, up to 4.7 GHz, 4 cores) แต่ให้กราฟิกเป็น Intel® Iris Xe Graphics, NVIDIA® GeForce® MX330 พร้อมหน่วยความจำ 16GB และเนื้อที่เก็บข้อมูลเป็น SSD 512GB M.2 NVMe™ PCIe® 3.0 มีความเร็วในการอ่านและเขียนที่ผมลองวัดด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.1 แล้ว ได้ที่สูงสุด 2,477.04MB/s และ 1,837.95MB/s ตามลำดับ

ผลการวัดความเร็ว SSD ของ ASUS ExpertBook B1400 ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.1

แต่หน่วยความจำนี่ มีข้อสังเกตนิดนึงว่าเขามีมาให้ 8GB แบบ On-board นะครับ เลยเข้าใจว่าเขาใส่มาให้อีกตัวนึง 8GB เป็นแบบ DDR4 ทั้งคู่ ซึ่งสามารถอัปเกรดเพิ่มได้ด้วยนะ โดยใส่ไปเต็มเหนี่ยวได้สูงสุด 40GB (8GB on-board และใส่เพิ่มอีก 32GB)

สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย รองรับ WiFi 6 (802.11ax) และ Bluetooth 5.2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดแล้ว พร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์รุ่นล่าสุดเต็มที่ครับ และยังมีฟีเจอร์ WiFi SmartConnect ที่จะช่วยเชื่อมต่อกับตัว Wireless access point ที่สัญญาณดีที่สุดให้โดยอัตโนมัติ กับฟีเจอร์ TaskFirst ในการให้ซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการแบนด์วิธ โดยมองไปที่ลักษณะการใช้งาน ว่าเราจะเน้นบริการใดให้ได้แบนด์วิธเยอะสุดไว้ก่อน เช่น Productivity and communication ก็จะเน้นไปที่พวกเว็บไซต์ บริการ Cloud storage และแอปแชท แอปประชุมออนไลน์ทั้งหลาย, Multimedia streaming ก็เน้นไปที่บริการเพลงและวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง ส่วน Games ก็เน้นเรื่องเล่นเกม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้เป็น Core i7-1165G7 พร้อมการ์ดจอ Intel Iris Xe นะครับ เล่นเกมได้ประมาณนึง แต่ไม่ใช่สุดๆ แต่ด้วยสเปกระดับนี้ ก็ทำให้มันตอบสนองทุกการใช้งานได้แหละ

นอกจากนี้ สำหรับสายประชุมออนไลน์ แต่ก็กังวลว่าจะลืมปิดหน้ากล้อง หรือกังวลว่าจะโดนแฮกเอากล้องเว็บแคมมาแอบดู กล้องเว็บแคม 720p ของตัวโน้ตบุ๊ก ก็มีสวิตช์ Webcam shield ให้เราปิดเลนส์กล้องได้ในระดับกายภาพเลย หมดห่วงครับ

กล้องเว็บแคม 720p ของโน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 มี Webcam shield ปิดกล้องได้ในระดับกายภาพ

และแน่นอนว่า ASUS ExpertBook B1 B1400 ตัวนี้ ก็มาพร้อมกับไมโครโฟนที่มีระบบ AI Noise-cancelling audio ด้วยครับ มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า ASUS ClearVoice Mic ที่ช่วยปรับไมโครโฟนให้รองรับการใช้งานสองแบบหลักๆ คือ

• Single Presenter mode ใช้ตอนที่เราประชุมออนไลน์คนเดียว มันจะกรองเอาพวก Background noise ออกไป ทำให้เสียงของคนที่อยู่ด้านหน้าของตัวโน้ตบุ๊กชัดเจนที่สุด
• Multi-Presenter mode เป็นแบบที่ระบบ AI จะทำการปรับเสียงเพื่อให้แน่ใจว่าคู่สนทนาของเรา จะได้ยินเสียงของผู้พูดแต่ละคนที่พูดกันอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง ในระดับความดังที่เท่าๆ กัน ไม่ใช่คนนั่งใกล้ๆ ดังมาก คนนั่งไกลๆ เบาเกิน อะไรแบบนี้

เสียดายว่าตอนรีวิว นั่งอยู่คนเดียว เลยไม่ได้ทดสอบโหมด Multi-Presenter ครับ อ้อ! แล้วมันก็มีฟีเจอร์ ClearVoice Speaker ด้วย คือ จะใช้ AI ช่วยเรื่องการทำ Noise cancellation เพื่อทำให้เสียงพูดของคนชัดเจนขึ้น สมกับเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับคนทำงานแหละ

ด้านบนซ้ายของแป้นพิมพ์ ปุ่ม Power ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้วย

เมื่อเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กร มันก็ต้องรองรับ Windows Hello ด้วยสิ ใช่ครับ ปุ่ม Power ของโน้ตบุ๊ก ASUS ExpertBook B1 B1400 ตัวนี้ มันทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้วยในตัว รองรับ Windows Hello สามารถล็อกอินเข้า Windows ได้เลย แค่สแกนลายนิ้วมือ สะดวกมาก

ASUS NumberPad 2.0 แปลงทัชแพดให้เป็นแป้นสำหรับพิมพ์ตัวเลขได้

ความไม่สะดวกนึงของคนใช้โน้ตบุ๊กขนาดเล็กกว่า 15.6 นิ้ว ที่ต้องทำงานกับตัวเลขเยอะๆ ต้องพิมพ์ตัวเลขรัวๆ คือ มันไม่มีแป้นฝั่ง Numpad ครับ แต่ ASUS เขาก็เตรียม Numberpad 2.0 มาให้ แค่แตะไอคอนรูปคล้ายๆ เครื่องคิดเลขตรงมุมบนความมือของทัชแพด มันจะแสดงตารางตัวเลขคล้ายๆ Numpad ขึ้นมา ให้เราพิมพ์ตัวเลขได้สะดวกขึ้น … มันไม่สะดวกเท่า Numpad จริงๆ นะ แต่มันก็สะดวกขึ้นจริงๆ นั่นแหละ และในระหว่างเปิดใช้โหมดนี้อยู่ ทัชแพดก็ยังทำงานได้นะครับ แค่เวลาจะคลิก เราต้องกดคลิกจริงๆ ไม่ใช่แตะ ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะนึกว่าเราอยากพิมพ์ตัวเลข

นอกจากนี้ ตัวทัชแพดก็รองรับ Gestures ต่างๆ ของระบบปฏิบัติการ Windows ครบแหละ ไม่ว่าจะเป็นการแตะเพื่อคลิก การลาก การซูม การเลื่อนหน้าจอเว็บด้วยสองนิ้ว การสลับเดสก์ท็อปด้วยสามนิ้ว ฯลฯ ไม่มีอุปสรรคในการใช้งานใดๆ

หน้าจอ Dashboard ของโปรแกรม MyASUS บน ASUS ExpertBook B1 B1400

สำหรับผู้ใช้งานโน้ตบุ๊ก ASUS จะสังเกตว่าเขาจะมีซอฟต์แวร์ชื่อ MyASUS ติดตั้งมาให้ บอกเลยว่ามันคือที่สุดของโน้ตบุ๊กยี่ห้อนี้แล้ว การปรับตั้งค่าฟีเจอร์ต่างๆ ทั้ง AI Noice-canceling Microphone, ClearVoice Speaker อะไรพวกเนี้ย จะบริหารจัดการกันตรงนี้ได้เลย ฟีเจอร์ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ด้วยการควบคุมปริมาณการชาร์จแบตเตอรี่ให้อยู่ที่ 60% หรือ 80% ตลอดเวลา ก็ดีงามมากสำหรับคนที่เน้นการใช้งานแบบเสียบสายชาร์จเอาไว้ตลอดเวลา

และยังสามารถใช้ฟีเจอร์ Link to MyASUS เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ติดตั้งแอป Link to MyASUS แล้ว ถ่ายโอนไฟล์ก็ได้ ทำ Screen mirroring หรือ Extended desktop จากตัวโน้ตบุ๊กไปที่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็ได้ โดยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็ไม่ต้องยี่ห้อ ASUS ด้วยนะ ใช้กล้องสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาเป็นเว็บแคมก็ได้ด้วย และยังสามารถทำ Remote desktop จากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไปที่โน้ตบุ๊กก็ได้ แต่ฟีเจอร์ Remote desktop นี่ต้องเปิดใช้งานก่อนในโปรแกรม MyASUS และต้องมี ASUS ID และทำการ Activate การใช้งานด้วย และจะใช้ได้กับโน้ตบุ๊กที่มีการสร้าง Username และ Password แล้วเท่านั้นด้วย เพื่อความปลอดภัย

ในเรื่องแบตเตอรี่นั้น ผมลองใช้งานแบบทั่วๆ ไปแล้ว คิดว่าอยู่ได้ราวๆ 4 ชั่วโมงครับ ถ้าเปิดไว้ที่ Performance mode แต่จะอยู่ได้นานหรือน้อยกว่านั้น ก็อยู่ที่ว่าพฤติกรรมการใช้งานเป็นยังไงล่ะ ส่วนเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ไม่ต้องห่วง อะแดปเตอร์ที่ให้มาเป็นแบบ 90 วัตต์เลย และถ้าขี้เกียจพกอะแดปเตอร์แยกต่างหากไป ก็หาแบบ GaN 65 วัตต์ หรือ 100 วัตต์ ไปก็ได้ เพราะพอร์ต Thunderbolt 4 ที่ให้มาด้วย มันก็เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ได้ครับ เหมาะสำหรับคนที่อยากจะพกอะแดปเตอร์แบบ GaN ไปชาร์จพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอยู่แล้วมากๆ

บทสรุปการรีวิว ASUS ExpertBook B1 B1400

เป็นโน้ตบุ๊กที่เหมาะกับการเอาไว้ใช้ทำงาน มีความสะดวกในการพกพาได้ประมาณนึง ใครชอบแบบซื้อใช้แล้วจบในตัวเดียว ไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์เสริมมาต่อเพิ่ม (เช่นพวก USB Hub) และอยากได้พอร์ตการเชื่อมต่อครับ ตัวนี้คือคำตอบ แต่แลกมาด้วยน้ำหนักตัวที่แอบหนักหน่อย คือ 1.45 กิโลกรัม นะครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า