Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>3 เดือน กับ Windows 11 Insider Preview (Dev Channel) เป็นยังไงบ้าง?
แบ็กกราวด์ใน Dark mode ของ Windows 11
บ่นเรื่อยเปื่อย

3 เดือน กับ Windows 11 Insider Preview (Dev Channel) เป็นยังไงบ้าง?

ตอนผมลองเล่น Windows 11 เป็นครั้งแรก ผมเล่นกับเวอร์ชันที่หลุดมาของจีนครับ แต่หลังจากนั้นไม่นาน Microsoft ก็เปิดตัว Windows 11 แล้วให้คนไปสมัครเข้า Windows Insider Program เพื่อดาวน์โหลด Windows 11 ไปลองได้ก่อนเลย โดยมีให้เลือกคือ Dev Channel, Beta Channel และ Release Preview Channel ผมก็ห้าวเป้ง จัดเวอร์ชันสำหรับ Dev Channel มาลองเลยครับ จะได้สัมผัสว่าประสบการณ์ในการใช้งาน Windows 11 เป็นยังไงบ้าง และนี่คือประสบการณ์จากการใช้งานมาได้ 3 เดือนครับ

Dev Channel ไม่ได้บั๊กเยอะอย่างที่คิด สำหรับคนทั่วไป

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า แต่ละ Channel ที่ Microsoft ให้เลือก เราจะได้ Windows 11 อัปเดตไม่พร้อมกันครับ

Dev Channel จะได้อัปเดตบ่อยมาก เรียกว่าสัปดาห์ละหน มักจะมาวันศุกร์ อันนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการติดตามพัฒนาการของ Windows 11 อย่างใกล้ชิด ฟีเจอร์บางอย่าง UI บางอย่าง ก็อาจจะโผล่มาลองสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าก็อาจจะหายไป หากรู้สึกว่ามันไม่เวิร์ก ปกติแล้ว เวอร์ชันนี้ความเสถียรจะต่ำ ปัญหาอาจจะเกิดเยอะมาก ไม่แนะนำให้ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานเป็นประจำ

Beta Channel เป็นเวอร์ชันที่ Microsoft แนะนำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เลือก เพราะจะได้รับการอัปเดตที่ได้รับการรับรองจาก Microsoft แล้ว ผู้ใช้งานจะได้ทดลองใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ที่ Microsoft กะจะให้มีจริงๆ แล้วให้ฟีดแบ็กกลับไป เพื่อปรับปรุง

Release Channel เป็นเวอร์ชันที่ Microsoft แนะนำสำหรับคนที่จะใช้ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานประจำ เพราะเวอร์ชันนี้จะได้ดูพวกฟีเจอร์ต่างๆ ที่จะมีบน Windows 11 ซึ่งผ่านการรับรองและฟีดแบ็กจากผู้ใช้งานจำนวนมากแล้ว

หน้าจอ Windows Update ในส่วนของ Windows Insider Program ที่มีตัวเลือกว่าอยากจะอัปเดตผ่าน Channel ไหน

แต่ด้วยความห้าวเป้ง อยากลองแบบเต็มเหนี่ยว ผมเลือกเป็น Dev Channel อย่างที่บอก ทั้งๆ ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผมติดตั้งอะ ก็เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้งานในชีวิตประจำวันปกติ จะทำงานราษฎรณ์ งานหลวง ก็ใช้เจ้าเครื่องนี้แหละ ท่องเว็บ ดู YouTube เล่นโซเชียลมีเดีย ตอบอีเมล ทำงานเอกสาร ทำไฟล์ PowerPoint ตกแต่งภาพด้วย Affinity Photo ยันไปถึงตัดต่อวิดีโอด้วย DaVinci Resolve ซึ่งแม้จะมีปัญหานิดๆ หน่อยบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวมเลย เรียกว่าแม้จะเป็น Dev Channel แต่ก็เรียกว่าบั๊กน้อยกว่าที่คิดมาก เช่น ตอนแรกผมมีปัญหากับโปรแกรม Affinity Photo ที่ทำให้โหลดไฟล์รูปขึ้นมาแล้วค้างตลอด จนใช้โปรแกรมนี้ไม่ได้เลย และทำให้เวลาผมจะตกแต่งภาพ ผมก็ต้องสลับไปใช้ Mac mini Apple M1 ของผมแทน แต่พออัปเดตหลายๆ อันต่อมา ไม่ทันได้สังเกตว่าตอนไหน แต่อยู่ๆ ปัญหากับ Affinity Photo ก็ไม่มีแล้วครับ (ซะงั้น)

หน้าจอ Context menu เวลาที่คลิกขวาตรงไฟล์ที่เป็นรูปภาพ มีแสดงคำสั่งที่สามารถเลือกได้

ตอนนี้ บั๊กกวนใจที่ผมเจอ และน่ารำคาญที่สุดก็คือ ตอนคลิกขวาเพื่อเรียก Context menu ขึ้นมา มันจะเด้งหายไปเสมอ หากผมพยายามจะเลื่อนเคอร์เซอร์เพื่อไปเลือก Sub-menu (ไอ้ที่มีเครื่องหมาย >) ขึ้นมา ทำให้ผมต้องไปคลิกเลือก Show more options ที่ด้านล่างสุด เพื่อเปิด Context menu แบบเดิมขึ้นมาแทน เสียเวลาสุดๆ แต่ที่เหลือ ก็ไม่ได้เจอปัญหาอะไรอีกนะ

User Interface ที่เปลี่ยนไปเยอะ กับ Windows 11

ครั้งนี้ Microsoft ได้ทำการเปลี่ยน User Interface แบบจริงจังซะที จากที่แต่เดิม Windows 10 เหมือนจะพยายามเปลี่ยน UI แล้ว แต่หลายๆ อย่างก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ของ Windows 8 หรือเผลอๆ ย้อนไปสมัย Windows 7 ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนไปยันปุ่ม Start เลยครับ มันเอาพวกไอคอนต่างๆ บน Taskbar มาไว้ตรงกลาง เหมือนพวก macOS แล้ว และ Start menu ก็จะมีรูปแบบคล้ายๆ กับ UI ของพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต คือ ให้เราทำการปักหมุน (Pinned) พวกแอปที่เราใช้บ่อยๆ ไว้ตรงนี้แทน ซึ่งผมมองว่าเป็นการออกแบบที่โอเคเลย เพราะคนส่วนใหญ่แม้จะมีโปรแกรมลงในเครื่องเยอะมาก แต่ไอ้ที่ใช้ประจำจริงๆ มีไม่เยอะหรอก

เอาจริงๆ หลังๆ ผมก็ไม่ได้มาไล่หาโปรแกรมที่อยากเปิดหรอกครับ ผมเลือกที่จะพิมพ์ Search เอาแล้ว ปุ่ม Start นี่แทบไม่ค่อยได้คลิก จะคลิกก็อีตอนอยากเข้า Settings มากกว่า

หน้าจอ Start ของ Windows 11 ที่อยู่ตรงกลาง แสดงรายชื่อแอปต่างๆ ที่ถูกปักหมุดเอาไว้

ถ้าไปที่ Settings แล้ว จะเห็นว่าเปลี่ยนไปจากตอน Windows 10 โดยสิ้นเชิง และการรองรับ Dark mode ก็ทำได้ดีขึ้นมากด้วย ก็ต้องยอมรับว่า ดูสวยขึ้นกว่าตอนที่พยายามเป็น Minimal จนเกินเหตุมาก อันนี้คือ Minimal แต่ไม่ถึงกับไปจนสุดขั้ว มันยังมีไอคอนสวยๆ ให้เห็นอยู่ และมีดีไซน์ที่ดูจะเหมาะกับทั้งการใช้เมาส์และการใช้หน้าจอสัมผัสอย่างมาก

หน้าจอ Settings ในส่วนของ System ที่เอาไว้ปรับแต่งพวก Display, Sound, Notifications และอื่นๆ

Context menu ที่ออกแบบมาใหม่ ที่มีการเพิ่มไอคอนทางลัดสำหรับคำสั่งบางอย่าง เช่น Cut, Copy, Rename, Share และ Delete นี่ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดี แต่ความน่ารำคาญมันยังอยู่ตรงที่การต้องกด Show more options ในกรณีที่สิ่งที่เราต้องการจะทำ มันไม่อยู่ในคลิกแรกนี้ เช่น จะใช้ Context menu ของโปรแกรมที่เราติดตั้งไป แต่มันยังไม่ได้ออกแบบมารองรับ Windows 11 ผลก็เลยทำให้ คำสั่งพวกนั้นมันไปอยู่ใน Context menu แบบเดิม ที่อยู่ภายใต้ Show more options ซึ่งไม่สะดวกอย่างยิ่ง แต่อนาคตความไม่สะดวกนี้น่าจะหายไป เมื่อโปรแกรมมันรองรับ Windows 11

Microsoft Teams จะถูกผสมผสานมาอยู่ในตัวระบบปฏิบัติกันมากขึ้น มีโปรแกรมชื่อ Chat โผล่ขึ้นมา ซึ่งเจ้านี่มันลิงก์กับโปรแกรม Microsoft Teams ครับ แต่จะเป็นเหมือนเวอร์ชันเบาๆ ที่เน้นไปที่การแชทเป็นหลัก สามารถพิมพ์แชทได้ หรือจะทำวิดีโอคอลล์ก็ได้เลย แต่เอาจริงๆ มันก็คือ Microsoft Teams อะ ผมก็งงว่ามันจะแยกออกมาอีกแอปทำไม จะว่า UI มันเรียบง่ายกว่า เพราะมันโฟกัสไปที่แชทอย่างเดียวเหรอ? แต่คือ พวกเพื่อนๆ ที่อยู่ในรายชื่ออะ มันก็มาจาก Microsoft Teams หมด จะเพิ่มเองในแอปนี้ก็ไม่ได้ มันก็เลยดูแหม่งๆ ชอบกลสำหรับผม

หน้าจอโปรแกรม Chat ของ Windows 11

ฟีเจอร์ Snap ผมเชื่อเลยว่าจะถูกใจคนที่ชอบเปิดโปรแกรมหลายๆ โปรแกรมพร้อมๆ กันมาก แค่เอาเคอร์เซอร์เลื่อนไปลอยอยู่เหนือไอคอนขยายหน้าจอ มันจะเด้งขึ้นมาว่าอยากให้เราปรับหน้าต่างโปรแกรมเป็นไซส์แค่ไหน และอยู่ส่วนไหนของหน้าจอ ซึ่งรองรับทั้งหน้าจอแสดงผลแนวนอน และแนวตั้งเลย ถือว่าตอบโจทย์ แน่นอนว่าการลากไปวาง หรือใช้ Shortcut key ก็ยังทำได้อยู่เช่นกัน แต่การเลือก Snap แบบใหม่ได้ มันเพิ่มตัวเลือกการปรับขนาดหน้าต่างโปรแกรมแบบไซส์อื่นๆ เช่น 1:1, 2:1, 1:1:1, 1:2:1 อะไรแบบนี้ได้ด้วย

ตัว Windows Explorer ก็มีการเปลี่ยนแปลในส่วนของ User Interface เช่นกัน ดีไซน์ Ribbon แบบเดิมมันหายไปแล้ว ถูกแทนที่ด้วยความเป็น Minimal แทน ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็ชอบนะ มันกินเนื้อที่น้อยกว่า Ribbon เยอะ แ

หน้าจอ Windows Explorer ใน Dark mode ของ Windows 11

แต่ User Interface เก่า ก็ยังคงอยู่ ในฐานะ Pro mode

แม้เราจะเห็นว่าตั้งแต่ Windows 8 เป็นต้นมา Microsoft พยายามนำเสนอ User Interface แบบใหม่ให้ผู้ใช้งาน แต่เราก็สังเกตได้เช่นกันว่า สุดท้ายแล้ว Microsoft ก็ยังทิ้งรากฐานเดิมไม่ได้ พวก Control Panel และโปรแกรมยูทิลิตี้ต่างๆ มันก็ยังอยู่ในนั้น ซึ่งทำให้มันเหมือนเป็นแบบ Easy/Pro mode ในการใช้งานเลย เช่น หากต้องการบริหารจัดการสื่อบันทึกข้อมูล (Storage) แบบทั่วไป ใช้งาน User Interface แบบใหม่มันก็พอได้แล้วนะ จะปรับขนาดของ Volume จะฟอร์แมต External HDD หรือแม้แต่ Delete volume ไปเลย นี่คือสามารถทำได้จากตรงนี้แล้ว

หน้าจอ Disk Management ที่เป็น User Interface แบบเก่าของ Windows กับหน้าจอ System Storage ของ Windows 11

แต่ถ้าอยากจะทำอะไรมากกว่านั้น ก็ยังคงต้องไปที่ Disk Management อยู่ดีครับ ซึ่งเป็น User Interface แบบเดิม และการแสดงผลข้อมูลบางอย่าง เช่น ส่วนที่ที่ Microsoft เขาเรียกว่า Advanced Disk Properties นี่ ก็ยังต้องไปเป็น User Interface แบบเดิมๆ เลยทำให้ผมรู้สึกว่าตัว User Interface มันยังไม่มีความสามัคคีกันซักเท่าไหร่

หน้าจอ Disk & volumes ของ Windows 11 แสดงข้อมูล Advanced Disk Properties ของ WD My Passport SSD อยู่

ในส่วนของ Device manager ก็เช่นกัน Microsoft เขามีหัวข้อ Bluetooth &devices ไว้ให้ใช้กับพวกอุปกรณ์ทั่วๆ ไป อยู่ มันรองรับทั้งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่านบลูทูธ พวกพริ้นเตอร์ สแกนเนอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด จอแสดงผล สไตลัส ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ที่ผู้ใช้งานทั่วๆ ไปเขาอยากจะบริหารจัดการกัน

แต่เอาเข้าจริงๆ ตัวฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรามันก็มีมากกว่านั้น และเราจะเข้าไปดูได้ ก็ต้องผ่าน Device Manager ที่เป็น User Interface แบบเดิมๆ อีกเช่นเคย ซึ่งไอ้พวกเนี้ย มันก็ไม่รองรับการแสดงผลแบบ Dark mode ด้วยนะ สื่อให้เห็นว่า มันอยู่แยกคนละส่วนกับ User Interface ใหม่ของระบบปฏิบัติการเลย

หน้าจอ Device Manager ที่เป็น User Interface แบบเก่า กับหน้าจอ Bluetooth & devices ของ Settings ที่เป็น User Interface แบบใหม่บน Windows 11

ข่าวดีก็คือ ในยุคที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ซื้อคอมประกอบแล้ว ผมเองก็เลิกประกอบคอมใช้เองไปน่าจะเกือบ 20 ปีแล้ว ระบบปฏิบัติการ Windows มีความสามารถในการบริหารจัดการไดรเวอร์ได้ดีกว่าเดิมมาก และไอ้อุปกรณ์ใดๆ ที่จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์เพิ่ม ก็สามารถทำได้ไม่ยากแล้ว และหลายๆ อย่างเป็น Plug & Play ที่แท้ทรูมากขึ้น (ใครเกิดทัน อยากให้นึกถึงตอนสมัยแนวคิด Plug & Play ออกมาใหม่ๆ ยุคนั้นเราเรียกว่า Plug & Pray ครับ คือเสียบแล้วต้องภาวนาว่ามันจะใช้ได้ ไม่ใช่เสียบแล้วพร้อมเล่น) ส่งผลให้เราไม่ต้องไปเข้า Pro mode มากเท่าไหร่แล้ว ผมนี่ไม่ค่อยได้แตะเข้าหน้าจอ Disk management หรือ Device manager เท่าไหร่แล้วนะ

ในระยะยาว ผมว่าเราจะได้เห็นระบบปฏิบัติการ Windows ที่เป็น User Interface ใหม่ยกเซ็ต แล้วจะมีไอ้พวกฝั่งที่ Pro user หรือ Hardcore user เขาจะเข้าไปใช้เพื่อบริหารจัดการตามใจ ที่จะยังคงเป็น User Interface เป็นแบบเก่า เพราะ Microsoft อาจจะขี้เกียจไปปรับแต่งในส่วนนั้นอะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า