มีบางครั้งที่ผู้ใช้งาน QNAP NAS ต้องเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เพราะของที่ใช้อยู่มีปัญหา (ขึ้น Warning หรือ Error) แล้วปรากฏว่าไม่สามารถ Rebuild RAID ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ทำไมผมถึงแนะนำว่า เวลาจะเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เพื่อ Rebuild RAID ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ความจุเท่ากัน หรือถ้าหาไม่ได้ ก็ให้ใช้รุ่นที่ความจุมากกว่า? บล็อกสั้นๆ วันนี้ จะมาให้คำตอบครับ
ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ที่ความจุเท่ากัน จำนวนเซ็กเตอร์ (Sector) อาจไม่เท่ากัน
ต้องบอกแบบนี้ก่อนนะครับ ขนาดที่เล็กที่สุดของฮาร์ดดิสก์ ถูกเรียกว่าเซ็กเตอร์ครับ และต่อให้เป็นฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ที่ความจุเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนเซ็กเตอร์ภายในมันอาจจะไม่เท่ากันก็เป็นไปได้ ให้ดูตัวอย่าง SSD 1TB ของ WD สองตัวเทียบกันครับ ตัวแรกเป็น WD_BLACK SN750 ที่ผมใช้เป็น Storage ในโน้ตบุ๊กของผม กับอีกตัวคือ WD My Passport SSD 1TB ครับ

สังเกตเห็นอะไรไหมครับ ตรง Total Sectors อะ ของ WD_BLACK SN750 มันมีจำนวนเท่ากัน 1,951,475,974 และมีความจุ 930.5GB ในขณะที่ WD My Passport SSD มีจำนวนเซ็กเตอร์ 1,953,455,520 มีความจุ 931.5GB แม้ว่าทั้งคู่จะถูกเรียกว่าเป็นรุ่นความจุ 1TB เท่ากัน แต่ WD My Passport SSD นี่มีความจุมากกว่า 1GB ซะงั้น

และต่อให้เป็นยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันแท้ๆ แต่ถ้าเกิดเฟิร์มแวร์คนละเวอร์ชันกัน จำนวนของ Sector และความจุ ก็อาจจะไม่เท่ากันก็ได้นะครับ อย่างกรณีที่มีคนสอบถามในฟอรั่มของเว็บ StackExchange ด้านบนนี่เป็นต้น ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่บางคนที่แจ็กพ็อตสุดๆ จริงๆ อาจจะเจอครับ และเมื่อมันไม่เท่ากัน หากฮาร์ดดิสก์ลูกที่เอามาเปลี่ยน ดันมีจำนวนเซ็กเตอร์น้อยกว่า (ทำให้ความจุจริงในทางกายภาพมันน้อยกว่า) ระบบก็จะไม่สามารถ Rebuild RAID ได้ครับ
แล้วมันจะมีวิธีไหนที่ทำให้เราสามารถเลี่ยงปัญหานี้ได้บ้าง?
มีผู้รู้แนะนำมาว่า โดยหลักการแล้ว หากเรากันเนื้อที่เอาไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช้งาน มันจะช่วยได้ครับ ถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ที่ความจุเท่ากัน แม้ว่าจำนวนเซ็กเตอร์จะไม่เท่ากันจะทำให้ความจุจริงมันแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เล็กน้อยในระดับกิกะไบต์ ดังนั้น สมมติว่าเราทำ RAID5 ด้วยฮาร์ดดิสก์ 10TB 4 ลูก จะสามารถมีความจุจริงได้ 27.26TB แต่เวลาเราสร้าง Volume ขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล เราสร้างไว้ซัก 22TB กับกันเนื้อที่ไว้ใช้ทำ Snapshot อีก 4TB มีเนื้อที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ 1.26TB แบบนี้ มันก็จะไม่ได้เนื้อที่จริงบนฮาร์ดดิสก์เต็มที่ เวลาจะ Rebuild RAID แม้ว่าฮาร์ดดิสก์ลูกถูกเอามาเปลี่ยนจะมีขนาดเล็กกว่าไปซัก 1GB เขาว่ามันก็จะไม่มีปัญหาครับ เพราะเนื้อที่ที่ถูก Allocated ไปนั้น มันไม่ได้เต็มขนาดฮาร์ดดิสก์นั่นเอง ก็ทำนองเดียวกันกับหลักการที่ว่า RAID มันจะยึดขนาดของฮาร์ดดิสก์ลูกที่เล็กที่สุดใน RAID group ซึ่งทำให้เราสามารถใช้ฮาร์ดดิสก์หลากหลายขนาดได้ใน RAID group เดียวกัน ถ้าจำเป็น
แต่ต้องจำไว้ว่า ฮาร์ดดิสก์ต่างยี่ห้อ ต่างรุ่น สเปกก็ต่างกันไปบ้าง
ข้อดีของการเลือกฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน มันก็คือความเข้ากันได้เวลาทำงาน สเปกมันจะเท่ากัน ไม่มีลูกไหนไปถ่วงลูกไหน เราจะได้ประสิทธิภาพเต็มๆ ครับ แต่ถ้าเราไปใช้ต่างยี่ห้อ ต่างรุ่น สเปกมันเกิดแตกต่างไป เช่น ปกติเราใช้รุ่นที่ความเร็วของจานฮาร์ดดิสก์คือ 5,400rpm แต่ดันมีลูกนึงไปเลือกใช้ความเร็ว 7,200rpm เราก็จะไม่ได้ประโยชน์จากความเร็ว 7,200rpm นั้นเลยนะครับ ยิ่งถ้าเกิดใช้ความจุไม่เท่ากัน ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า RAID จะนับความจุต่ำสุดเสมอ ก็จะเสียเปล่าไป แต่ในทางปฏิบัติแล้ว
หากใช้ๆ ไป 4-5 ปี การหาฮาร์ดดิสก์ลูกที่ความจุสูงกว่ามาเปลี่ยน มันอาจจะง่ายกว่าหาความจุเท่าๆ กันมาเปลี่ยนก็ได้ รุ่นที่ใช้อาจจะไม่มีขายแล้วก็ได้ และบางคนก็มองว่า การใช้คละยี่ห้อคละรุ่น จะทำให้โอกาสที่ฮาร์ดดิสก์จะเจ๊งพร้อมๆ กัน ลดน้อยลงไปด้วย อันนี้ก็แล้วแต่จะคิดนะครับ เพราะเอาจริงๆ ผมมองว่าต่อให้เป็นยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะพร้อมอกพร้อมใจเจ๊งพร้อมๆ กันละนะ
สวัสดีครับ
ระบบขึ้น Disk access History (I/O) error
แต่ไป Format ใช้กับ Window ได้
อันนี้พอมีวฺธีแก้ไข ไหมครับ เพื่อให้นำกลับมาใช้ได้ ยังไม่อยากซื้อใหม่
ขอบคุณครับ
เคสนี้เคยมีคนลองแก้ด้วยการเอา HDD ไป delete partition ทั้งหมด แล้ว format ด้วยระบบปฏิบัติการ Linux แล้วถึงเอากลับไปใช้ใน NAS อีกทีครับ ลองดูครับ