โรคโควิด-19 นี่ว่ากันว่าพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 แต่ว่ามาพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 และองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 จนถึงวันนี้ เวลาก็ผ่านไป 1 ปีครึ่งนิดๆ แล้ว ผมก็คิดว่า อยากจะขอเขียนบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทั่วโลก เท่าที่ผมเข้าใจเอาไว้ในบล็อก คิดซะว่าเป็นไดอารี่ที่จะเอาไว้อ่านย้อนหลัง ถึงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกก็แล้วกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ที่เขียนขึ้นจากมุมมองส่วนตัว โดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์ตรง (เจอกับตัวเอง) ประสบการณ์ทางอ้อม (เพื่อนสนิท มิตรสหาย ญาติ ฯลฯ เจอมา) และจากข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ ผมพยายามที่จะคัดกรองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นข้อเท็จจริงมากที่สุดแล้ว แต่หากมีอะไรผิดพลาดไป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และขอแจ้งให้ทราบก่อนเลยว่า อันนี้เป็นมุมมองความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุด หรือสิ่งที่ถูกใจที่สุดของใครต่อใครนะครับ โดยผมจะพยายามเล่าจากมุมมองบุคคลที่สามนะครับ
เนื่องจากเรื่องราวมันเกิดขึ้นเยอะมาก
ช่วงแรกๆ โลกยังไม่จริงจังในการยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากนัก
ตอนที่โรคโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ทั่วโลกยังไม่ได้มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงระดับเป็นร้อยล้านคนแบบในทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังมีอะไรต่อมิอะไรที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับมันมาก และด้วยความที่เชื้อไวรัสโคโรนา มันคือเชื้อโรคปอดอักเสบ มีอาการคล้ายๆ หวัด การแพร่กระจายของเชื้อ เป็นแบบผ่านสารคัดหลั่งและละอองฝอย (Droplet) จากผู้ติดเชื้อ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกัน ก็จะออกแนวป้องกันตัวจากโรคหวัดนี่แหละ ในช่วงแรกๆ นั้น การสวมหน้ากากก็เป็นเรื่องของผู้ป่วย คนธรรมดาก็ใช้ชีวิตตามปกติกันไป ผู้บริหารประเทศระดับประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนนั้น รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าโรคโควิด-19 ก็แค่โรคหวัดโรคหนึ่ง มั่นใจว่าคุมอยู่
อย่างไรก็ดี ก็เพราะว่ามันเป็นโรคใหม่ พอเริ่มสังเกตได้ว่ามันแพร่ระบาดได้ค่อนข้างเร็ว และผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ คนไทยเราก็เริ่มหันมาสวมหน้ากากกันมากขึ้น คนธรรมดาก็สวมหน้ากากเพื่อป้องกัน ประกอบกับการระบาดในหลายๆ ประเทศยังไม่รุนแรง ก็เลยยังไม่พบเคสในประเทศไทยมากนัก
ณ วันที่ล็อกดาวน์ครั้งแรก 3 เมษายน 2563
แต่ด้วยความที่การแพร่ระบาดยังไม่มาก และผู้บริหารประเทศต่างก็มองโรคโควิด-19 เป็นแค่โรคหวัด โรคปอดอักเสบธรรมดาๆ โดยลืมนึกถึงไปว่า ต้นทางของโรคมาจากประเทศจีน และผู้คนจากประเทศจีนก็เดินทางไปต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่า หากมาตรการในการคัดกรองผู้ป่วยทำได้ไม่ดี ก็จะมีโอกาสที่โรคโควิด-19 จะมาระบาดในประเทศตนได้ ก็เลยส่งผลให้การแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น พอมาถึงปลายเดือนมีนาคม 2563 ประเทศในซีกโลกตะวันตกต่างก็มียอดผู้ติดเชื้อไล่ตามประเทศจีนมาติดๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว (ไม่ถึง 30 วัน) ด้วยซ้ำ
สำหรับประเทศไทยถ้าย้อนกลับไปดูสถิติจะพบว่า เมื่อถึงราวๆ เกือบๆ กลางเดือนมีนาคม 2563 มีการพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ขึ้นเป็นหลับสิบรายต่อวันต่อเนื่องยาว จนทำให้รัฐบาลมีการออกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพื่อสกัดกั้นการระบาด โดยมองว่าช่วงสงกรานต์ที่ผู้คนจะแยกย้ายกับกลับภูมิลำเนา จะทำให้การป้องกันโรคทำได้ยากขึ้น นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมเลย ที่ประเทศไทยไม่มีงานสงกรานต์

ซึ่งผลของมาตรการก็ค่อนข้างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากแนวโน้มการลดลงของผู้ติดเชื้อ ซึ่งพอถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ก็มีการพบผู้ติดเชื้อต่อวันในหลักหน่วยเท่านั้น แม้ว่าภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้ที่มาจากต่างประเทศ และภายหลังทุกประเทศก็มีมาตรการกักตัวผู้ที่เข้าประเทศ 14 วัน แต่ ณ ตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาคส่วนอื่นๆ ก็ยังพอจะขับเคลื่อนไปได้ ผู้คนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็หันมาเที่ยวในประเทศไทย ยังออกไปห้าง ทานข้าว ช้อปปิ้งกันได้ โดยรักษามาตรการ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ กันค่อนข้างดี

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม – ปลายเดือนเมษายน 2563 หลายๆ คนเริ่มมีประสบการณ์ในการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) กัน เป็นผลจากการขอความร่วมมือจากภาครัฐ ในการลดการเดินทางและการพบปะกัน ซึ่งบอกตรงๆ ว่าค่อนข้างฉุกละหุก เพราะแม้ว่างานหลายๆ อย่างจะสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ และประเทศไทยก็มีโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของอินเทอร์เน็ตค่อนข้างดี แต่โครงสร้างขององค์กรไม่ได้เอื้อขนาดนั้น และเจ้าหน้าที่ของหลายๆ องค์กร ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานจากที่บ้านแบบ ทั้งวัน ทุกวัน ขนาดนี้

ในขณะที่วิกฤตโควิด-19 สร้างความฉิบหายให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบิน ธุรกิจอีกหลายประเภทกลับมาบูมแทน ไม่ว่าจะเป็นช้อปปิ้งออนไลน์ ส่งอาหาร และผู้ให้บริการประชุมออนไลน์ และเราก็ได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจต่างๆ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะโรคระบาดนี้

จบการล็อกดาวน์ หลายๆ ธุรกิจก็เร่งฟื้นสภาพคล่องกันใหญ่ครับ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 ยอดชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศอยู่ที่ 3,739,408 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 27,391,050 คน หรือเรียกว่าลดลงไป 86.35% เลยทีเดียว โรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวก็ออกโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้คนไทยอยากมาเที่ยวแทน ที่พักคืนละเป็นแสนที่ปกติก็คงจะมีแต่ชาวต่างชาติที่จะจ่ายไหว ก็ลดราคามาเหลือหลักหมื่น ช่วงนี้โอกาสเที่ยวหรูเป็นของคนไทย แถมนักท่องเที่ยวน้อย ถ่ายรูปทีนี่แทบจะเป็นเจ้าของสถานที่เลยทีเดียว แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะปรับตัวได้ง่ายๆ พวกที่เน้นลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวมากๆ นี่แทบจะร้างไปเลยครับ ตอนผมไปเที่ยวอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมานี่ก็เห็นชัดเจนมาก

แต่ถ้ามองจากมุมมองในเวลาปัจจุบันนี้ (21 สิงหาคม 2564) การล็อกดาวน์เดือนเมษายน 2563 จะเรียกว่าเป็นการซ้อมใหญ่ก็ได้ครับ แต่ในตอนนั้น ยังอาจจะไม่มีใครคาดคิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ระบาดระลอกสอง จากการลักลอบเข้าประเทศ
ปลายเดือนธันวาคม 2563 เกิดการระบาดระลอกใหม่ ขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร หลายคนเรียกการระบาดครั้งนี้ว่าการระบาดระลอก 2 แต่มีคำอธิบายว่าการระบาดครั้งนี้ ไม่ได้เป็นผลพวงจากการระบาดในระลอกแรก จึงไม่ควรเรียกว่าเป็นระลอก 2 ให้เรียกว่าระลอกใหม่ดีกว่า จะได้เข้าใจได้ชัดเจนว่ามันเกิดจากคนละสาเหตุกับคราวก่อน … อะ ว่าไงก็ว่ากัน แต่เอาเป็นว่างวดนี้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งหนักมาก เพราะมันไปเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ยอดผู้ติดเชื้อรายวันโตเป็นหลักหลายร้อยไปจนถึงหลักพันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ภาครัฐใช้มาตรการเข้มข้นในการทำ Bubble & seal ล็อกดาวน์เฉพาะจุด และตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ทั้งในจังหวัดสมุทรสาครและตามพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นแหล่งชุมชนของผู้ใช้แรงงานต่างด้าว พอถึงเดือนมีนาคม 2564 สถานการณ์ก็เหมือนจะเริ่มดีขึ้น เพราะยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับหลักสิบต่อวัน
ทว่า การทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นหลักหน่วยนี่จะเริ่มยากแล้ว ด้วยความเป็นอยู่ในชุมชนแรงงานต่างด้าว ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะค่อนข้างสูงมาก ในหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน เช่น ที่ประเทศสิงคโปร์ และแทบทุกประเทศ จะเน้นให้ความสำคัญกับประชากรของประเทศตนเองก่อน โดยอาจจะลืมไปกว่าในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ จะไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนยังไม่ปลอดภัย
แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อคิดว่าระลอกใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปลายเดือนมีนาคม 2564 กลับเจอคลัสเตอร์ใหม่ คลัสเตอร์ทองหล่อ จากผู้ไปเที่ยวร้านคริสตัล คลับ และร้านเอเมอร์รัลด์ โดยว่ากันว่าต้นทางมาจากสาวนั่งดริงก์ในร้าน และในครั้งนี้ มีข่าวเรื่องรัฐมนตรีไปเที่ยวผับจนติดโรคโควิด-19 ด้วย ซึ่งภายหลังได้มีการชี้แจงว่ารัฐมนตรีติดโรคโควิด-19 จริง แต่เป็นการติดจากหน้าห้องที่ไปเที่ยวมา

นอกจากนี้ยังมีเคสสาวเอ็นเตอร์เทน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สาวเอ็น ที่ไปรับงานในสถานบันเทิงและบ่อนการพนันประเทศเพื่อนบ้าน ติดโรคโควิด-19 แล้วหลบหนีกลับเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติอีก
เกิดประเด็นให้ภาครัฐต้องคิดหนัก เพราะสงกรานต์ก็ใกล้มาอีกแล้ว หลังจากที่ปี 2563 ไม่มีสงกรานต์ไปทีนึงแล้ว ภาคเอกชนเริ่มเป็นห่วงเศรษฐกิจของประเทศ โดยหอการค้าไทยมองว่า หากมีการล็อกดาวน์ประเทศแบบปี 2563 จะกระทบกับเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 5 พันล้านบาทเลยทีเดียว สุดท้ายก็เลยไม่มีการล็อกดาวน์ แต่มีการขอให้ลดการเดินทาง และตั้งการ์ดให้สูงเข้าไว้

มองโลกในแง่บวก ความวิตกที่ว่าหลังสงกรานต์แล้วจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งนั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่กังวล ถึงแม้เลขจะไม่ได้ลดลง แต่ก็ไม่ได้พุ่งสูงขึ้น ถ้ามีมาตรการที่ดีก็น่าจะเอาอยู่แต่อาจจะใช้เวลาหน่อย เพราะตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันคือ 2-4 พันรายแล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า เชื้อที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ น่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (พบครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ) ซึ่งมีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว ถึงได้ทำให้ยอดพุ่งจากหลักร้อยเป็นหลักหลายพันนั่นเอง

ในช่วงเวลาสงกรานต์นี้เอง ที่ประเทศอินเดียมีการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหญ่ ยอดพุ่งเป็นหลักแสนจนถึงเกือบครึ่งล้านต่อวันเลยทีเดียว ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจกับสายพันธุ์เดลต้า (พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย) กันมากขึ้น และตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการให้เข้มข้น เพื่อไม่ให้สายพันธุ์นี้เข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ความพยายามดูจะไม่เป็นผล เพราะพอถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 สิ่งที่คุณหมอทั้งหลายวิตกก็เกิดขึ้น เมื่อมีการพบเคสของสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 7 วันที่ 4,078 คน/วัน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นค่าเฉลี่ย 7 วันที่ 20,932 คน/วัน ในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 หรือเพิ่มมาราวๆ 513.3%
มหากาพย์แผนวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย
เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ มนุษยชาติก็ไม่ยอมแพ้ครับ มีการเร่งคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 หลายยี่ห้อมาก และแน่นอนว่าการแย่งชิงก็รุนแรงเช่นกัน ประเทศร่ำรวยต่างก็กักตุนวัควีนเอาไว้เยอะมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป ประเทศอังกฤษ ฯลฯ แต่ปัญหาหนึ่งที่พวกเขาต่างเจอกันก็คือ ประชาชนไม่ค่อยอยากฉีดวัคซีนกันเท่าไหร่ ยิ่งในสหรัฐนี่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ถึงกับประกาศแจกเงิน $100 ให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนเลย

ประเทศไทยเองก็มีการเตรียมพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนเช่นกัน แต่เรียกว่าเป็นมหากาพย์ก็ว่าได้ คือ ตอนปลายปี 2563 นั้น มีการวางแผนว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 50% ให้ได้ โดยแบ่งเป็น 20% หรือ 26 ล้านโดสจากแอสตราเซเนกา (Astrazeneca) ที่ได้มีการลงนามสั่งซื้อไป และมีการเจรจาให้บริษัทแอสตราเซเนกาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้บริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ เพื่อที่จะสามารถผลิตได้ภายในประเทศ อีก 20% คาดว่าจะได้จากการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX Facility) และอีก 10% จะมาจากผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น และตอนปลายปี มีข่าวเพิ่มอีกว่ามีการขอซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 26 ล้านโดส รวมเป็น 52 ล้านโดส
ต้นปี 2564 ดูเหมือนจะมีข่าวดี เมื่อมีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขวางแผนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2564 โดยลงทะเบียนผ่านแอปหมอพร้อม ตั้งใจว่าจะฉีดให้กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขและกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคก่อน เพราะตอนนั้นมีข่าวว่าแอสตราเซเนกาจะส่งมอบวัคซีนได้เร็วกว่ากำหนด เลยจะส่งมาให้ก่อน 50,000 โดส

แต่ยังไม่ทันไรเลย ก็มีปัญหาเรื่องการส่งออกวัคซีน เพราะแอสตราเซเนกาส่งมอบวัคซีนล่าช้า และมีปัญหาเรื่องการส่งออกวัคซีนจากยุโรป นายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เลยออกมาชี้แจงว่าไม่เคยพูดว่าจะได้ฉีดวัคซีนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 และแผนเดิมของประเทศไทยคือ จะเริ่มเดือนมิถุนายน โดยวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะได้จากการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ จะเป็นไปตามกำหนดการ สถานการณ์การส่งมอบวัคซีนของแอสตราเซเนกาเริ่มไม่ดี เพราะอียูสั่งให้ระงับการส่งออกวัคซีนไปประเทศภูมิภาค หลังยุโรปประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก
นอกจากนี้ ประเทศไทยก็เปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงไม่ได้รับสิทธิวัคซีนฟรีจากโครงการโคแวกซ์ และถ้าเข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อวัคซีน นอกจากจะเลือกวัคซีนไม่ได้แล้วค่าวัคซีนก็จะแพงกว่าด้วย เพราะต้องจ่ายเผื่อสำหรับการให้โครงการโคแวกซ์จัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายอนุทิน โพสต์บน Facebook ส่วนตัว แง้มๆ ว่า วัคซีนล็อตแรกที่จะมาถึงประเทศไทย เป็นซิโนแวค (Sinovac) ของประเทศจีน จำนวน 200,000 โดย โดยจะมาถึงวันที่ 24 กุมพาพันธ์ 2564 และจะทยอยมาเพิ่มในเดือนมีนาคม 800,000 โดส และเมษายน 1 ล้านโดส

การระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้แรงกดดันเรื่องการจัดหาวัคซีนมีมากขึ้น รัฐบาลถูกประชาชนบางส่วนวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน และการแทงม้าตัวเดียวไปที่แอสตราเซเนกา วันที่ 14 เมษายน นายอนุทินให้เหตุผลของการไม่สั่งซื้อวัคซีนมาสำรองว่า เพราะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน หากไม่ใช้ในเวลาที่กำหนดก็ต้องทิ้ง เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และหากไวรัสมีการกลายพันธุ์ ก็อาจต้องใช้วัคซีนตัวใหม่ด้วย วาทะ “ให้กราบได้ก็จะทำ” เกิดขึ้นตอนที่นายอนุทินให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง MCOT HD เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 (ดูนาทีที่ 52:00 ของคลิปด้านล่าง)
ปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกราชกิจจานุเบกษาให้อำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศก็ได้ และติดต่อเพื่อนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จากประเทศจีน เข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือกอีกชนิดหนึ่งสำหรับใช้งานในประเทศไทย โดยวัคซีนซิโนฟาร์มนี้จะไม่ได้ฉีดให้ฟรี แต่จะมีการเปิดขายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงาน และประชาชนจองเพื่อวัคซีนทางเลือก
ช่วงนี้เริ่มมีประเด็นประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนซิโนแวค มีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี การดำเนินการฉีดวัคซีนซิโนแวคก็ยังคงดำเนินต่อไป และรัฐบาลก็ยังคงสั่งวัคซีนซิโนแวคมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนไม่เชื่อมั่นใจซิโนแวคคือ องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรองวัคซีนซิโนแวคในการใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUL หรือ Emergency Use Listing) ซึ่งภายหลัง องค์การอนามัยโลกได้รับรองให้ซิโนแวคใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564
ความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาสร้างแรงกดดันไปที่บริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ ทำให้มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ออกมาชี้แจงว่า สัญญาระบุว่าภายในเดือนมิถุนายน ไม่ได้กำหนดวัน และบริษัททำหน้าที่เป็นเหมือนผู้รับจ้างผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้บริษัทแอสตราเซเนกาเท่านั้น ไม่สามารถการันตีแทนคนไทยได้ แต่สามารถการันตีกับแอสตราเซเนกาได้ว่าจะส่งมอบได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ตามสัญญา ส่วนสัญญาของแอสตราเซเนกากับรัฐบาลไทยเป็นอีกสัญญาหนึ่ง ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะฉะนั้นตอบแทนคนไทยไม่ได้ว่าจะได้ฉีดกี่โดส วันไหน อย่างไร
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยเริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปทั่วประเทศตามกำหนดการ โดยมีวัคซีนสองชนิด คือ แอสตราเซเนกา และซิโนแวค ทว่าด้วยปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีนของแอสตราเซเนกา ส่งผลให้หลายคนถูกเลื่อนนัดการฉีดวัคซีน เพราะไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาให้ตามแผน ตรงนี้ภาครัฐเหมือนจะแก้ปัญหาด้วยการสั่งวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่ม เพราะมีข่าวเรื่องการนำเข้าวัคซีนตอนต้นเดือนมิถุนายน 1 ล้านโดส และปลายเดือนอีก 2 ล้านโดส
ย่างเข้าเดือนกรกฎาคม 2564 สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มเลวร้ายขึ้น ในประเทศไทย สายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากขึ้น สถานการณ์วัคซีนทั่วโลกก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ณ ตอนนี้ นายอนุทินเผยว่าการที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าโครงการโคแวกซ์ในปี 2564 นั้นไม่ใช่การผิดแผนแต่อย่างใด ซึ่งในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง โคแวกซ์จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น บริหารจัดการง่ายขึ้น ไทยก็จะเข้าร่วมในปี 2565 … ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ข้อมูลชี้ว่าคนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 16.72% ของประชากร และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสคิดเป็น 5.62% ของประชากร
สำหรับคนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก ผลการความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีนทำให้โดนลากยาวระยะเวลาการฉีดเข็มสองออกไปสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่ว่าวัคซีนแอสตราเซเนกานั้น หากเว้นระยะระหว่างเข็มแรกและเข็มสองยิ่งนานยิ่งกระตุ้นภูมิได้ดี โดยมีคำแนะนำว่าสามารถเว้นช่วงได้นานถึง 12 สัปดาห์ และเอกสารหลุดที่เกี่ยวกับแผนการสั่งวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ชี้ว่าแอสตราเซเนกาเสนอที่จะส่งมอบวัคซีนให้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน จากที่รัฐบาลประมาณการว่าต้องการใช้เดือนละ 3 ล้านโดส ก็ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย แคลงใจเรื่องประสิทธิภาพในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล … อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์การส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ก็พบว่ามีการเลื่อนนัดฉีดเข็มสองให้กลับมาเร็วขึ้นเป็นภายใน 8-12 สัปดาห์ และผู้ที่ถูกเลื่อนนัดฉีดเข็มแรกก็ได้รับนัดหมายใหม่
ในช่วงเวลานี้ เริ่มมีผู้คนแซวการจัดการวัคซีนในประเทศไทยแล้วว่า วัคซีนน้อย ร้อยแอป เพราะในขณะที่คนไทยอยากฉีดวัคซีนกันมาก แต่กลับมีวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และในการลงทะเบียนเพื่อจองฉีดวัคซีนนั้นก็สับสนวุ่นวายมาก หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องในการจัดการฉีดวัคซีน ก็จะออกระบบจองของตนเองมา ทั้งผ่านเว็บ ทั้งรูปแบบแอป ไม่นับเรื่องที่รัฐบาลเองก็พัฒนาแอปต่างๆ มามากมาย ทั้ง ไทยชนะ หมอพร้อม และ หมอชนะ (ซึ่งอันนี้ไปรับช่วงต่อจากทีมผู้พัฒนาเดิม) แต่ก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่เนืองๆ
ในขณะเดียวกัน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 องค์การเภสัชกรรมก็รับเป็นตัวกลาง จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือกแบบที่เสียเงินจองฉีดกัน ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 แต่ก็ไม่วายมีดราม่าเรื่องการตัดโควต้าโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ลูกค้าหลายรายโดนเท หลายโรงพยาบาลออกมาโพสต์ชี้แจงว่าลูกค้าจะยังคงได้รับวัคซีนที่จองเอาไว้ แต่ก็มีการดักคอว่า “หวังว่าจะไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่มาทำให้มีการเปลี่ยนแปลง”
ในจังหวะนี้ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตกเป็นข่าวหลายครั้ง เพราะออกมาพูดถึงเรื่องดีลวัคซีนที่จะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ (Pfzier) 20 ล้านโดส แต่พอถึงกำหนดที่จะลงนามเซ็นสัญญานำเข้า ซึ่งบอกว่าจะมีหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าร่วมลงนามด้วยก็ไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งนายแพทย์บุญออกมาให้สัมภาษณ์แบบถอดใจว่า วัคซีนมี แต่หาหน่วยงานนำเข้าไม่ได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายแพทย์บุญออกมาเป็นข่าวเรื่องการนำเข้าวัคซีนแบบนี้ เพราะต้องการปั่นหุ้นหรือเปล่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพท์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงต้องแจ้งให้บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายแพทย์บุญ มาชี้แจ้งข้อมูล

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย หลายๆ ประเทศก็ส่งมอบความช่วยเหลือทั้งเวชภัณฑ์และวัคซีนมาให้ประเทศไทยรวมๆ แล้วก็หลายล้านโดสอยู่ แต่ก็เกิดประเด็นดราม่าอีกหลายแขนง เช่น เกณฑ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า ซึ่งภายหลังต้องมีการเปลี่ยน กรณีของนายทหารที่ได้ฉีดไฟเซอร์แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ยอดวัคซีนไฟเซอร์ที่ตัวเลขตอนแถลงข่าวการจัดสรรวัคซีนบริจาคไม่ตรงกับยอดที่ได้รับบริจาคจริง เป็นต้น
ณ เดือนสิงหาคม ประเทศไทยแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้าของวัคซีน ด้วยการนำการฉีดไขว้ ซิโนแวคเข็มแรก แอสตราเซเนกาเข็มสอง มาใช้ โดยมีการเผยผลการศึกษา พบว่ากระตุ้นภูมิได้ดี นอกจากนี้ ประเทศไทยก็เริ่มทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิให้แก่บุคลากรด่านหน้าแล้ว โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว
การล่มสลายของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
ปี 2563 ภาครัฐยังมีความภาคภูมิใจกับการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 6 ของโลก จาก 195 ประเทศ ใน 2019 Global Health Security Index พร้อมคำชมเชยจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งๆ ที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน (ณ เวลานั้น)
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ (อสม.) คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในเรื่องนี้ ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลกทำคลิปเพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้เลยทีเดียว
แต่พอมาถึงการแพร่ระบาดในระลอกเดือนเมษายน 2564 หลังพบคลัสเตอร์ทองหล่อ เค้าลางของการล่มสลายของระบบสาธารณสุขเริ่มแสดงให้เห็น ผู้ที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก เริ่มติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามได้ยากขึ้น และสถานการณ์ก็แย่ลงเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ความพยายามในการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนามและเตียง ไล่ตามความต้องการเตียงของผู้ป่วยไม่ทัน
เมื่อผู้ป่วยมากขึ้น ผู้ป่วยอาการหนักก็มากขึ้น ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ปี 2563 ทั้งปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รวม 63 ราย จนถึง 31 มีนาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 94 ราย แต่ใช้เวลาเพียง 24 วันเท่านั้น (1-24 เมษายน 2564) ยอดผู้เสียชีวิตรวมเพิ่มเป็น 188 ราย หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว และจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 8,826 ราย

ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ข่าวประชาชนผู้เดือนร้อน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ จำนวนมากต้องเสียชีวิตที่บ้านระหว่างรอการรักษา หรือเสียชีวิตหลังจากได้รับการรักษาไม่นาน เพราะอาการหนัก มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สร้างความหดหู่ให้แก่ผู้คนมาก ถึงขนาดที่คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 นั่งร้องไห้หลังอ่านข่าว
เด็กคือผู้ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การระบาดระลอกนี้ เด็กเป็นผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชนเผยว่ามีเด็กติดโควิด-19 สะสมทั่วประเทศ 65,086 คน และยังมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทางอ้อมอีก เช่น พ่อแม่ติดโควิด-19 หรือ พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และนักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีเด็กราวๆ 1.5 ล้านคนที่ต้องกำพร้าเพราะโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ผ่านไปแล้วเกือบ 2 ปี กับชีวิตวิถีใหม่สลับกับการล็อกดาวน์ เท่ากับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ต้องสูญเสียเวลาในชีวิตวัยเด็กที่มีค่าของพวกเขาไป โรงเรียนต้องปิด และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามชดเชยด้วยการเรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการเรียนที่โรงเรียนได้ 100% และก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้โดยไร้ปัญหาใดๆ บ้างครัวเรือนมีลูกสองคน (หรือมากกว่า) แต่มีอุปกรณ์ให้เด็กเข้าเรียนออนไลน์ได้เพียงชิ้นเดียว ส่งผลให้ต้องมีเด็กที่ขาดเรียน
ล็อกดาวน์รอบสอง และยังล็อกอยู่
12 กรกฎาคม 2564 มีการประกาศใช้มาตรการที่สื่อเรียกว่า ล็อกดาวน์ คือ มีมาตรการควบคุมการเปิดให้บริการของสถานบริการต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ ตลาด ร้านสะดวกซื้อ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานประกอบการนวดแผนไทย ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ฯลฯ เพื่อลดการพบปะของผู้คนจำนวนมาก และลดการสัมผัสของผู้คนลงให้มากที่สุด

เราจึงได้เห็นภาพของห้างร้างๆ ในแบบที่ตอนล็อกดาวน์เดือนเมษายน 2563 เทียบไม่ได้เลยทีเดียว ณ ตอนนี้ ก็ตอบยากว่าการซ้อมใหญ่จากล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้ว ช่วยอะไรในการล็อกดาวน์ครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะธุรกิจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะธุรกิจขายอาหารในห้าง อยู่ได้ด้วยการที่มีลูกค้ามาเดินห้าง และมาทานอาหารในร้านจริงๆ หากเปลี่ยนเป็นการสั่งเดลิเวอรี่ เคยได้ไปสอบถามตามร้านต่างๆ พบว่า ยอดขายจะหายไปราวๆ 75%-80% หรืออาจจะมากกว่านั้น

ร้านขายของทั่วไป ต้องปรับกลยุทธ์ไปขายออนไลน์แทน ร้านสินค้าไอทีก็เปลี่ยนกลยุทธ์ไปเปิด Pop-up store/booth แทน ส่วนร้านอาหารภายในห้างนั้น จะสังเกตว่ามีสองแบบ คือ หากพิจารณาแล้วยังพอไหวอยู่ ก็จะเลือกที่จะลุยต่อภายใต้ข้อจำกัดที่มีและขอให้สถานการณ์มันไม่ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ กับอีกแบบคือเลือกที่จะหยุดกิจการไปชั่วคราว และอาจเลวร้ายสุดคือต้อง Cut loss คือ หยุดกิจการถาวรไปเลย

สถานการณ์ที่ยืดเยื้อมากขึ้นผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายที่ขยับตัวได้ง่ายและไว ก็เริ่มแตกไลน์ออกไปทำอย่างอื่นกัน เช่นร้าน Penguin Eat Shabu ที่ปรับแบรนด์ตัวเองเป็น Penguin Fruit Market นอกจากขายเซ็ตชาบูแล้ว ก็ยังขายชุดไหว้สารทจีน ขายผลไม้ อีกด้วย

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนคือต้องลดการแพร่ระบาดของโรค และผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงให้ได้ ไม่ต้องถึงกับกลับไปเป็นชีวิตเดิมสมัยปี 2562 ก็ได้ ขอแค่เป็นชีวิตวิถีใหม่ช่วงกลางปี 2563 หลายๆ ธุรกิจก็น่าจะพอหายใจหายคอได้คล่องตัวมากขึ้นกว่านี้แล้ว