สำหรับคนทั่วไปเวลาซื้อ QNAP NAS มา ถ้าซื้อรุ่น 3-bay ขึ้นไป ผมจะพยายามแนะนำให้ทำ RAID 5 ครับ เพราะนอกจากจะได้เรื่องการป้องกันข้อมูลสูญหายในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์เสียหายไป 1 ลูกแล้ว ก็ยังได้เรื่องความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปในการซื้อฮาร์ดดิสก์ด้วย เพราะความจุที่ได้ จะเท่ากับความจุของฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดหักออกไป 1 ลูก หรือก็คือ ความจุ × (n-1) เมื่อ n คือ จำนวนของฮาร์ดดิสก์ แต่พอขึ้นไปถึงรุ่น 2-bay แล้ว ก็จะเริ่มได้ยินคำถามว่า มันมีตัวเลือกให้ทำ RAID 6 ได้ด้วย ถ้าเทียบกับ RAID 5 และ RAID 6 แล้ว จะทำแบบไหนดี ในตรงนี้ผมมีความเห็นดังนี้ครับ
RAID 5 ทำงานยังไง?
การทำงานของ RAID 5 เป็นแบบ Disk striping with parity ครับ หมายถึง เวลาที่เขียนข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์ จะเป็นการกระจายเขียนลงไปในฮาร์ดดิสก์แต่ละลูก โดยมีการทำ Parity bit ขึ้นมา เพื่อใช้ในการกู้ข้อมูลในกรณีที่มีฮาร์ดดิสก์ลูกใดลูกหนึ่งเสีย ข้อดีของการเขียนข้อมูลแบบกระจายแบบนี้อย่างนึงก็คือ ความเร็วในการอ่านข้อมูลก็จะสูงขึ้นด้วย

อย่างที่บอกไปในตอนต้นครับ ด้วยความที่ RAID 5 มันกระจายเขียนข้อมูลไปตามฮาร์ดดิสก์แต่ละลูกแล้วมี Parity bit เพื่อใช้ในการกู้ข้อมูลภายหลังด้วย ดังนั้น หากฮาร์ดดิสก์ลูกใดลูกหนึ่งเสียไป ก็จะสามารถถอดลูกนั้นออก เสียบของใหม่ไปแทน แล้วกระบวนการ Rebuild RAID 5 ก็จะไปอ่านข้อมูลจาก Parity bit ในฮาร์ดดิสก์ที่เหลือ เพื่อเอามากู้ข้อมูลมาใส่ฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ได้ แต่ Parity bit มันมีพอแค่ใช้กู้ข้อมูลในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์หายไปลูกเดียวเท่านั้นนะครับ ดังนั้นหากฮาร์ดดิสก์เสียพร้อมกันสองลูก ก็บอกลาข้อมูลได้เลย และการเขียน Parity bit ทำให้ความเร็วในการเขียนข้อมูลลดลงด้วย
แล้ว RAID 6 ล่ะ ทำงานยังไง?
คล้ายๆ กับ RAID 5 ครับ ตัว RAID 6 ก็จะเป็นการเขียนข้อมูลแบบ Disk striping with parity เช่นกัน แต่จะมีการเพิ่มจำนวน Parity bit เข้าไปอีกชุด ส่งผลให้สามารถทนต่อความเสียหายของฮาร์ดดิสก์พร้อมๆ กันสองลูกได้ครับ และเช่นกัน เวลาอ่านข้อมูลมันก็จะสามารถทำได้รวดเร็วเพราะเขียนข้อมูลแบบกระจายไปตามฮาร์ดดิสก์ทุกลูกเหมือน RAID 5

แต่ข้อจำกัดของ RAID 6 มันก็มีครับ อย่างแรกคือประสิทธิภาพในการเขียนข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์ตกลงกว่า RAID 5 เพราะเสียเวลาในการเขียน Parity bit เพิ่มอีกชุดนั่นแหละ และเวลาที่จะ Rebuild RAID ก็จะเสียเวลานานกว่าด้วยเช่นกันครับ
แล้วอีกแบบนี้ จะเลือกใช้ RAID 5 หรือ RAID 6 ดีกันแน่?
ผมก็ยังยืนยันครับว่าคนทั่วไปใช้แค่ RAID 5 ก็น่าจะเหลือพอแล้ว ด้วยเหตุผลดังนี้
• จะใช้อย่างมากก็รุ่น 4-bay และบางทีซื้อแค่รุ่น 3-bay (ซึ่งค่าตัว NAS ก็จะถูกกว่ารุ่น 4-bay) ก็พอแล้วสำหรับการทำ RAID 5
• การที่ทนต่อความเสียหายของฮาร์ดดิสก์ได้ 1 ลูก มันก็เพียงพอสำหรับการใช้งานของคนทั่วไปอยู่แล้วครับ โอกาสที่ฮาร์ดดิสก์จะพังหรือใกล้พังพร้อมๆ กันมากกว่า 1 ลูกสำหรับคนทั่วไปเนี่ย ค่อนข้างต่ำครับ
ส่วนผู้ใช้งานระดับองค์กรนั้น ผมมองว่าต้องพิจารณาแบบนี้ครับ
• ถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อย คงไม่ต้องคิดอะไรแล้วละครับ ต้องจำใจเลือกทำ RAID 5 ไปดีกว่า ประหยัดงบทั้งค่า NAS ที่อาจจะซื้อรุ่นที่ประหยัดลงได้ และก็ได้เนื้อที่ความจุข้อมูลที่คุ้มค่าขึ้น แต่แลกมาด้วยการที่คุณอาจจะต้องวางแผนสำรองข้อมูลให้ดี
• ถ้าคุณเอามาทำแค่ File server หรือพวก Email server และ Web server อะไรพวกนี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการการสำรองข้อมูลแบบ Real-time มากนัก หรือยอมให้ระบบล่มใช้งานไม่ได้บ้าง (เช่น ฮาร์ดดิสก์เสียเกิน 1 ลูก แล้วต้องตั้งระบบกันใหม่ แล้วกู้ข้อมูลจากข้อมูลที่ทำสำรองเอาไว้ที่อื่น) ทำแค่ RAID 5 ก็เกินพอครับ
• แต่ถ้าคุณจะสร้างระบบที่ต้องมี High availability หรือ ต้องเปิดพร้อมใช้งานตลอดเวลา ล่มแทบไม่ได้เลย เช่น ระบบบริการสนับสนุนลูกค้า ฯลฯ อะไรพวกนี้ กัดฟัน จัดงบ ทำ RAID 6 เถิด
• พวกระบบสำรองข้อมูล หรือ Archive ใดๆ ขององค์กร ที่เอาไว้เก็บข้อมูลสำคัญๆ เอาไว้ เผื่อใช้กู้ข้อมูลกลับให้กับระบบอื่น แนะนำให้ใช้เป็น RAID 6 ครับ เพราะนี่มันคือปราการด่านสุดท้ายในการปกป้องข้อมูลของคุณแล้ว