รีวิวนี้ล่าช้าไปราวๆ 1 สัปดาห์ครับ เพราะร้าน MONOWHEEL เขาส่งมาให้ผมลองขี่ตั้งกะสองสัปดาห์ที่แล้ว แต่เผอิญว่าก่อนที่ผมจะแกะกล่องประกอบเพื่อเอาไปขี่รีวิว ผมดันทะลึ่งประสบอุบัติเหตุ ขี่ Ninebot Kickscooter ES4 ลื่นล้มซะก่อน เลยต้องรอให้แผลหายแล้วค่อยแกะมาประกอบรีวิว ซึ่งตอนนี้แผลก็เกือบหายสนิทแล้ว ได้เวลาเอามาขี่เล่นรีวิวให้ได้อ่านกันละครับ ในบล็อกตอนนี้ จะเป็นมินิรีวิว แล้วเล่าถึงความประทับใจแรกกันก่อน หลังจากแกะกล่องแล้วขี่ไป 3.2 กิโลเมตร ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Ninebot Kickscooter F20A คันนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากร้าน MONOWHEEL ให้ยืมมาลองใช้พักนึง เพื่อจะได้ขี่แล้วเก็บประสบการณ์มาเล่าสู่กันอ่านว่าเป็นยังไงบ้าง แน่นอนว่าในฐานะคนขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาราวๆ 4 ปี เป็นระยะทางรวมกว่า 10,000 กิโลเมตร และใช้งานแทนยานพาหนะสำหรับเดินทางในชีวิตประจำวันแบบผม ย่อมน่าจะสามารถแนะนำท่านผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย และขอสัญญาด้วยเกียรติของลูกเสือว่าจะรีวิวตามจริงทุกประการฮะ
ปกติตอนที่ได้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามารีวิว มันมักจะเป็นเดโมยูนิตที่มีการประกอบเสร็จมาเรียบร้อยแล้ว แต่งวดนี้ผมได้แบบใหม่เอี่ยมแกะกล่องเลยครับ เลยขอถือโอกาสเล่าให้อ่านด้วยเลยว่ามันเป็นยังไง (ขออภัยที่ถ่ายรูปมาไม่ครบ เนื่องจากติดขัดเรื่องพื้นที่ในการถ่ายภาพ บ้านผมมันเล็ก)
ภายในกล่อง ก็จะมีตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter F20A ที่ยังไม่ได้ประกอบส่วนคอของสกู๊ตเตอร์ มีอะแดปเตอร์แบบ 71 วัตต์ สเปกเดียวกับ Ninebot Kickscooter ES2/ES4 ใส่มาให้พร้อมกับสายปลั๊กทั้งหัวแบน (ให้มาสองอันทำไมไม่รู้) หัวกลม และหัวแบบจีน เรียกว่าให้มาแบบเกินความจำเป็นกันเลยทีเดียว และสุดท้่ายก็จะเป็นคู่มือการใช้งาน น็อตสำหรับล็อกคอสกู๊ตเตอร์ ประแจหกเหลี่ยมสำหรับขันน็อต และสายต่อสำหรับที่สูบลมยาง
อ้อ! ที่แจ่มอีกอย่างคือ มันมีแถมยางในสำรองมาให้อันนึงด้วยนะ ซึ่งรุ่น MAX ไม่มีแบบนี้ (เพราะมันไม่มียางใน) แต่เข้าใจว่าอันนี้มีไว้เพื่อกรณีที่ยางแตก แล้วต้องซ่อมเปลี่ยนยางใน ก็เอาอะไหล่นี้ไปให้ศูนย์ดำเนินการได้

การประกอบทำได้ไม่ยากครับ ก็แค่เชื่อมต่อสายสัญญาณที่อยู่ด้านในของคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก่อน (ดูให้ขั้วมันตรงกันนะ มันจะเสียบได้แค่แบบเดียว เพราะจะมีแง่งพลาสติกเป็นสลักล็อกอยู่) จากนั้นก็เอาคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าประกอบเข้าไป แล้วเอาน็อตที่เขาให้มา มาขันใส่ เขามีการใส่น้ำยากันน็อตคลายตัวมาให้เรียบร้อยแล้ว และให้น็อตมา 5 ตัว แต่จำเป็นต้องใช้จริงๆ แค่ 4 ตัว อีกตัวนึงเอาไว้เป็นสำรองนะครับ
แค่นี้ก็พร้อมใช้แล้วฮะ ที่เหลือก็แค่ดาวน์โหลดแอป Segway-Ninebot (Android/iOS) มาติดตั้งในสมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่อแล้วก็ Activate ตัวสกู๊ตเตอร์ครับ ซึ่งก่อนจะขี่ต้องดูวิดีโอเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ก่อนนะ ไม่ดูไม่ได้เพราะมันจะล็อกความเร็วของสกู๊ตเตอร์ครับ ถ้าอยากขี่แบบได้ประสบการณ์เต็ม ต้องดูวิดีโอให้จบ ไม่ยาวหรอก

ประกอบเสร็จแล้ว สกู๊ตเตอร์ก็จะรูปร่างหน้าตาแบบด้านบนนี่เลยครับ ดีไซน์จะคล้ายๆ กับ Ninebot Kickscooter MAX พอสมควร แต่จะมีขนาดเล็กกว่า มีน้ำหนักน้อยกว่าด้วย (F20A หนัก 14.5 กิโลกรัม MAX หนัก 18.7 กิโลกรัม) ในขณะที่พื้นที่วางเท้ายังค่อนข้างกว้าง วางเท้าได้สะดวกอยู่
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ แบตเตอรี่แบบลิเธียมของ F20A จะมีความจุน้อยกว่าของ MAX (เพราะสเปกเรื่องระยะทางสูงสุดที่วิ่งได้สั้นกว่ามาก) แต่ก็ส่งผลให้ความหนาของฐานที่ยืนมันบางลงด้วย ท้องสกู๊ตเตอร์มันเลยอยู่เหนือกว่าพื้นถนนอยู่พอสมควรด้วยนะเออ เจอพวกเนินอะไรพวกเนี้ย ก็จะปวดใจน้อยกว่าเวลาที่รู้สึกว่าท้องสกู๊ตเตอร์มันครูดไปกับผิวถนน แม้จะทำใจได้แล้วว่าลูกผู้ชายต้องมีบาดแผลก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้ชัดบน Ninebot Kickscooter F20A คือ มันกลับมาขับเคลื่อนล้อหน้าอีกแล้ว (รุ่น MAX มอเตอร์จะอยู่ล้อหลัง) ข้อดีของการย้ายมอเตอร์มาขับเคลื่อนล้อหน้าก็คือ เวลาพับแล้วหิ้วมันไปไหนมาไหน จุดถ่วงน้ำหนักมันจะอยู่ใกล้ๆ กับที่เราถือ ก็จะทำให้ไม่รู้สึกว่าหนักมากเท่ากับตอนที่จุดถ่วงอยู่ที่ล้อหลัง และเวลาที่ขี่ๆ อยู่แล้วจะต้องยกสกู๊ตเตอร์ขึ้นฟุตบาธ ก็จะยกขึ้นได้สะดวกกว่าครับ
ว่ากันว่า ที่ล้อหน้านี่จะมีเบรกแบบดรัมเบรก (เหมือนกับล้อหน้าของ Ninebot Kickscooter MAX) อยู่ด้วย แต่เข้าใจว่าเรามองไม่เห็น เพราะโดนฝาปิดล้อปิดอยู่มิดชิด

ล้อหลังของ Ninebot Kickscooter ก็มีดีไซน์ที่ดูดีขึ้น สังเกตว่าตัวไฟสะท้อนแสงนี่เป็นพลาสติกแล้ว (ของ MAX จะเป็นแค่สติกเกอร์) ส่วนระบบเบรกเป็นดิสก์เบรกครับ การผสมผสานระหว่างดรัมเบรกล้อหน้า กับดิสก์เบรกล้อหลัง จะทำให้เราเบรกได้อย่างมั่นใจมากกว่าระบบเบรกไฟฟ้าอย่างเดียวแบบ Ninebot Kickscooter ES2/ES4 นอกจากนี้ มันยังมีก้านสำหรับยันบังโคลนท้ายไม่ให้กระทบกับล้อหลังเวลาที่เกิดการกระแทกแรงๆ ช่วยเซฟไม่ให้บังโคลนหลังหักได้ง่ายๆ ด้วย
ข้อสังเกตคือ เขาไม่มีระบบเบรกด้วยการให้เหยียบบังโคลนหลังแล้วนะครับ อย่าไปเคยตัวแล้วเหยียบเข้าให้ล่ะ เดี๋ยวบังโคลนจะหักเอา

ตรงบังโคลนล้อหลัง มีไฟ LED ติดอยู่ สามารถสั่งให้เปิดไว้ตลอดเวลาได้ (ผมแนะนำให้เปิดไว้) และเราสามารถตั้งค่าเลือกได้ว่าจะให้มันกระพริบเวลาเบรก หรือ ให้ไฟสว่างขึ้นเวลาเบรก (แบบเดียวกับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์) ซึ่งผมว่ามันดีมาก

ยางของ Ninebot Kickscooter F20A เป็นยางลมครับ แต่มีดีไซน์ที่มีการเสริมโพลิเมอร์ด้านใน ช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดีขึ้น ตามสเปกเขาบอกว่ามีการทดสอบคุณภาพของยางถึง 10,000 กิโลเมตรมาแล้ว ซึ่งอันนี้ผมเชื่อ ในฐานะคนที่ขี่ Ninebot Kickscooter MAX มาแล้ว 6,666.7 กิโลเมตรวันนี้ (22 มิ.ย. 2564) สดๆ ร้อนๆ ดอกยางยังดูดีอยู่เลย และดอกยางแบบนี้รีดน้ำดีมาก แม้ฝนจะตก พื้นจะเปียก ก็ยังลุยได้สบายๆ (อ้างอิงประสบการณ์ตอนขี่ Ninebot Kickscooter MAX ที่ใช้ยางคล้ายๆ กัน) ตามสเปก แรงดันลมยางที่เหมาะสมคือ 45-51psi ครับ นี่ผมเติมไป 46psi ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง (หยิบมาจากกล่อง มีลมเติมไว้ราวๆ 36psi)
ยางลมอันนี้ ไม่มีระบบ Self-healing นะครับ ไม่ได้มีการใส่ Sealant มาให้ ฉะนั้น ขี่ต้องระวัง อย่าให้อะไรมาตำเข้าให้ล่ะ มันไม่เหมือนรุ่น MAX นะ ที่ผมขี่ไปโดนหัวไขควงตำ แค่ดึงออกก็ขี่ต่อได้อะ

สำหรับการพับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเก็บ สลักยึดคอมีดีไซน์ใหม่ ให้มาอยู่ด้านในแทน (ของ MAX จะหันออกไปด้านนอก) และมีการออกแบบสลักซะใหม่ด้วย

ตรงแฮนด์ของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าด้านซ้าย จะมีเบรกอยู่ บีบทีเดียว ดรัมเบรกล้อหน้าและดิสก์เบรกล้อหลังจะทำงานพร้อมๆ กัน กระดิ่งสำหรับใช้ดีดเตือนคนเดินเท้ามีการปรับใหม่เป็นแบบกระดิ่งจักรยาน ซึ่งผมชอบดีไซน์นี้มากกว่าสมัยเป็น Ninebot Kickscooter MAX ครับ การออกแบบดีมาก คือ ให้ตัวดีดนี่ทำหน้าที่เป็นตัวล็อกเวลาพับสกู๊ตเตอร์เก็บด้วยเลย

พับสกู๊ตเตอร์เก็บแล้ว ก็จะเป็นทรงสามเหลี่ยมแบบนี้ครับ ข้อสังเกตคือ แฮนด์มันจะเกาะกับล้อหลัง ในลักษณะที่คนละข้างกับ Ninebot Kickscooter MAX คนที่ถือรุ่น MAX จนชินอาจจะงงๆ ในตอนแรกๆ แบบผม ข้อดีของดีไซน์พับแบบสามเหลี่ยมนี่คือ พับแล้วถือง่ายมาก ยิ่งน้ำหนักลงมาเหลือ 14.5 กิโลกรัมแบบนี้ แม้ว่าอาจจะเรียกว่าหนักประมาณนึง แต่ถ้าเทียบกับ MAX แล้ว เบาลงไปเยอะครับ และหยิบถือได้ง่ายกว่า Ninebot Kickscooter ES2/ES4 และ E25 มากทีเดียว และท้องสกู๊ตเตอร์ก็ไม่ติดกับพื้นด้วย แต่ข้อจำกัดคือ มันใช้เนื้อที่ในการเก็บเยอะกว่า เพราะสกู๊ตเตอร์จะยังทรงสูงอยู่

แฮนด์มีเนื้อที่พอสมควรในการติดอุปกรณ์เสริม ไม่ว่าจะเป็นที่จับสมาร์ทโฟน กล้อง Action camera ไฟเลี้ยว ฯลฯ ถ้าคิดว่าไม่พอ ก็ติดบาร์ขยายแฮนด์เพิ่มได้ครับ ติดแล้วมีพื้นที่ให้ใช้อีกเยอะอะ (ไปซื้อพวกที่ความยาว 30 เซ็นติเมตรมาติด) หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ LED ค่อนข้างสว่างทีเดียว สู้แดดได้ดีมาก

ในมินิรีวิวนี้ ผมเพิ่งประกอบตอนเย็น แล้วก็เอาไปขี่แบบเล่นๆ แถวบ้าน ไม่ได้ไปไหนไกลครับ ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร พบว่า แบตเตอรี่ที่ได้มาตอนแกะกล่องคือ 75% พอขี่เสร็จ ด้วยโหมด S หรือความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่เหลือ 59% ก็เท่ากับหายไปราวๆ 16% ในระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์แบบเร็วๆ ก็ได้ตัวเลขออกมาว่า ถ้าเอาแบตเตอรี่ 100% ไปวิ่งจนแบตหมด ระยะทางที่จะวิ่งได้คือ 20 กิโลเมตรครับ
แต่จากประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจริง พอแบตเตอรี่เหลือซัก 10% มอเตอร์ก็จะเริ่มไม่ค่อยวิ่งเท่าไหร่แล้ว และหากมีการขี่และเบรกบ่อยๆ ระยะทางที่ได้ก็จะต่ำกว่าตอนแบตเตอรี่เต็มๆ เยอะมาก ฉะนั้น ผมประเมินคร่าวๆ ว่า เซฟๆ สุดคือให้แบตเตอรี่เหลือซัก 15% ซึ่งเท่ากับว่าระยะทางสูงสุดที่น่าจะทำได้แบบเซฟๆ เลยคือ 17 กิโลเมตร ครับ แต่จะบวกลบแค่ไหนอยู่ที่พฤติกรรมการขี่ด้วยนะ
ประสบการณ์ในการขี่ Ninebot Kickscooter F20A ครั้งแรก ผมสรุปได้ดังนี้
• ในแง่ของความเร็วและแรงบิดคือ ไม่เร็วมาก (โหมด D 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โหมด S 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อัตราเร่งธรรมดาๆ ต้องใช้ระยะทางและระยะเวลาพอสมควรถึงจะวิ่งได้ความเร็วสูงสุด การขึ้นเนินทำได้ไม่ดีเท่ากับ Ninebot Kickscooter ES2 ผมลองขี่ขึ้นสะพานชันๆ แถวบ้าน บอกได้เลยว่าหากไม่ทำความเร็วมาแต่ไกล มีสิทธิต้องลงจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แล้วเข็นต่อ
• ในแง่ของความสบายใจในการขับขี่ พื้นที่วางเท้าสบายมาก ความมั่นคงถือว่าโอเคเลย แต่ด้วยความที่น้ำหนักรถเบากว่ารุ่น MAX มันเลยไม่รู้สึกหนักแน่นเท่า แต่จากประสบการณ์คนเพิ่งขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าลื่นล้มไปหมาดๆ บอกเลย ขี่ F20A แล้ว รู้สึกได้ว่า ถ้าวันนั้นเอาคันนี้มาขี่ จะไม่ลื่นล้ม
• ยางลมขี่แล้วซอฟต์ไหม ก็โอเคนะ ดีกว่ายางตันแน่นอน แต่ผมว่ายังซอฟต์สู้ Ninebot Kickscooter MAX ไม่ได้ และเวลาขี่ต้องสังเกตสภาพถนนด้วย เพราะถ้าโดนอะไรตำยางแตกมานี่เซ็งเลยนะ
• ระยะทางขี่ได้ราวๆ 17 กิโลเมตร ถือว่าเยอะอยู่นะ พกติดรถยนต์เอาไว้ใช้ขี่ไปมาระหว่างออฟฟิศกับที่จอดรถ หรือเอาไปขี่ตอนเที่ยว ก็โอเคอยู่ ไม่ได้แย่ แบตเตอรี่ก็ใช้เวลาชาร์จประมาณนึง (ยังไม่ได้ลองขี่แบตเหลือน้อยๆ เลยยังตอบไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาจริงๆ เท่าไหร่ ไว้จะมาอัปเดตให้ในบล็อกรีวิวตอนหลังนะ) แต่ตามสเปกเขาบอกว่าใช้เวลาชาร์จ 3.5 ชั่วโมง
• ไม่คิดว่าจะเหมาะสำหรับการขี่ซ้อนสองนะครับ แต่ถามว่าทำได้ไหม ก็น่าจะทำได้ ถ้าเบียดๆ กันหน่อย และเลี่ยงการขึ้นเนินครับ ขี่ทางตรงก็โอเคได้อยู่
อ่านแล้วสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรืออยากซื้อ คลิกปุ่มด้านล่างได้