Home>>รีวิว>>รีวิว ASUS BR1100FK โน้ตบุ๊กจอสัมผัส พับเป็นแท็บเล็ตได้ สำหรับนักเรียน
ASUS BR1100 Built for education. Learning without limits.
รีวิว

รีวิว ASUS BR1100FK โน้ตบุ๊กจอสัมผัส พับเป็นแท็บเล็ตได้ สำหรับนักเรียน

ในยุคที่ต้องเรียนออนไลน์กันเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ คนก็เริ่มมองหาโน้ตบุ๊กสำหรับบุตรหลานไว้ใช้เรียนกัน ASUS ก็คงเห็นโอกาสในเรื่องนี้ ก็เลยออก ASUS BR1100FK โดยวางตำแหน่งให้เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ โดยนอกจากจะมีฟีเจอร์ครบ ไม่ว่าจะเป็นจอสัมผัส รองรับสไตลัส สามารถพับหน้าจอให้กลายเป็นแท็บเล็ตได้แล้ว ก็ยังออกแบบให้มีความอึดถึก เผื่อเด็กเล็กๆ เอาไปใช้แล้วมือซนจะพังเอาง่ายๆ ไปซะงั้น ทาง ASUS Thailand เขาส่งมาให้ผมลองใช้ดู และนี่คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเจ้าตัวนี้ครับ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK ตัวนี้ ผมได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากทาง ASUS Thailand ให้มายืมลองใช้ราวๆ สองสัปดาห์ เพื่อที่จะได้เล่าประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้อ่านกันอย่างเต็มที่ อะไรที่มันเจ๋งก็จะชมกันไปตรงๆ อะไรที่รู้สึกว่า อิหยังหว่า ก็จะว่ากันไปตรงๆ เช่นกันนะครับ ผู้ที่จะซื้อ จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจครับ

ของที่มาในแพ็กเกจของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK

ASUS BR1100FK นี่ก็สมกับที่วางตำแหน่งมาเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับให้เด็กๆ ได้ใช้งาน แล้วก็พ่อแม่ซื้อมาแล้ว ก็ไม่ต้องคิดเยอะเรื่องหาซื้ออุปกรณ์เสริม เพราะมันมาพร้อมกับตัวโน้ตบุ๊ก และเมาส์แบบไร้สายให้ตั้งแต่แรกแล้วครับ อะแดปเตอร์ที่มาด้วยเป็นแบบ 45 วัตต์ แต่เป็นแบบ DC adapter ขั้วเสียบเป็นแบบหัวกลม ความยาวของสายไฟ รวมอะแดปเตอร์แล้ว คือราวๆ 2.15 เมตร ก็ถือว่าน่าจะยาวพอสำหรับการใช้งานล่ะ

หน้าจอของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK

ตัวโน้ตบุ๊กเป็นแบบหน้าจอ 11.6 นิ้ว แต่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนา และหนัก ถ้าเทียบกับพวกโน้ตบุ๊กขนาดเดียวกันในปัจจุบัน คือ หนัก 1.4 กิโลกรัม เราจะเห็นว่าขอบของหน้าจอก็ค่อนข้างหนาทีเดียว ในยุคที่โน้ตบุ๊กเขาพยายามแข่งขอบจอบางๆ กัน แต่ผมว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาออกแบบให้สมบุกสมบันนั่นแหละ เลยต้องออกแบบให้หน้าจอมันมีพื้นที่ “เผื่อ” ตกหล่นอะไรบ้าง

ภาพเคลื่อนไหวแสดงให้ดูว่าสามารถเลื่อนปิดกล้องเว็บแคมได้ยังไง

จุดที่น่าสนใจของหน้าจอแสดงผลของโน้ตบุ๊กตัวนี้ก็คือ มันมีกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p มาให้ใช้ เผื่อจะทำพวกวิดีโอคอล ประชุมออนไลน์ หรือ เรียนออนไลน์ แต่เราสามารถเลื่อนสวิตช์เพื่อปิดกล้องได้ หากเราไม่ใช้ ซึ่งไม่ใช่เลื่อนอะไรมาปิดเฉยๆ นะ แต่มันคือการเลื่อนกล้องออกไปเลย ผมว่าเป็นการออกแบบที่ดีทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้เราจะได้เห็นคนเอาสติกเกอร์มาปิดกล้องเว็บแคม เพราะกลัวว่าเผื่อโดนแฮก แล้วคนแอบดูเราผ่านกล้องไม่รู้ตัว อันนี้ดี ไม่ต้องหาสติกเกอร์แปะ เราเลื่อนปิดหน้ากล้องได้เองเลย

คีย์บอร์ดและทัชแพดของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK มองจากด้านบน

คีย์บอร์ดของ ASUS BR1100FK เป็นแบบ 6 แถว มีปุ่มครบถ้วน แป้นพิมพ์แต่ละแป้นมีขนาดใหญ่ ดูแล้วน่าจะใช้งานได้สะดวก แต่จุดขายของมันอ่ะ คือ Gap-free keyboard ที่แทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างแป้นพิมพ์กับตัวเครื่อง ซึ่งปกติแล้ว ไอ้ร่องเล็กๆ เนี่ยอาจโดนเด็กมือบอนไปแกะๆ แงะๆ หลุดออกมาได้ และการที่แทบจะไม่มีช่องว่างนี้ ก็ทำให้มันกันน้ำหกใส่ได้ด้วย โดยทาง ASUS เคลมว่าน้ำซัก 330 มิลลิลิตรหกใส่ ก็ไม่ใช่ปัญหา … แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาโน้ตบุ๊กตัวนี้ไปจุ่มน้ำได้นะครับ

ภาพระยะใกล้ของบริเวณแป้นพิมพ์ของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK

TrackPad ของ ASUS BR1100FK ก็มีความใหญ่พอสมควร แถมตรงใกล้ๆ กับฐานหน้าจอแสดงผล ก็มีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลอีกหนึ่งตัว เอาไว้สำหรับใช้งานในกรณีที่คุณครูเขาให้การบ้านที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โน้ตบุ๊กตัวนี้ก็จะได้ตอบโจทย์ได้เลย

ภาพระยะใกล้ให้เห็นผิวของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK พร้อมโลโก้ ASUS

รอบๆ ตัวเครื่อง มีดีไซน์ที่พร้อมใช้งานแบบลุยๆ ได้ ตั้งแต่ผิวของตัวเครื่องที่มีดีไซน์เป็นรอยตาข่ายขนาดเล็กๆ ทั่วทั้งตัวเครื่อง ซึ่งทำให้ไม่ติดเป็นรอบนิ้วมือ และทนทานต่อพวกรอยขีดข่วนมากขึ้น ซึ่งผมเองชอบดีไซน์แบบนี้มากกว่าทำให้ตัวเครื่องเงาๆ วาวๆ แต่ใช้ทีไรมีแต่รอยนิ้วมือมากๆ

นอกจากนี้ รอบๆ ขอบตัวเครื่องก็มียางติดไว้ตรงขอบทั้งหมด เพื่อช่วยซับแรงกระแทกเผื่อทำตก ซึ่งทาง ASUS เคลมว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้เป็น Military grade ตามมาตรฐาน MIL-STD-810H ผ่านการทดสอบตกในตำแหน่งต่างๆ ที่ความสูง 120 เซ็นติเมตร ขณะที่ยังเปิดเครื่องอยู่ ซึ่งเป็นความสูงที่สูงกว่าโต๊ะปกติอีก

ปกติแล้วโต๊ะสูงประมาณเท่าไหร่?

ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่ามีใครเขากำหนดมาตรฐานความสูงของโต๊ะเอาไว้ด้วยเหรอ แต่ผมขอเอาตัวเองเป็นตัววัดก็แล้วกัน คือ โต๊ะจะมีความสูงเพียงพอสำหรับการนั่งทำงานแล้วแขนจะวางได้พอดีกับโต๊ะ ผมมีส่วนสูง 176 เซ็นติเมตร โต๊ะที่ผมนั่งทำงานอยู่ตอนนี้ สูงราวๆ 76 เซ็นติเมตร โต๊ะที่ออฟฟิศผมเป็นแบบปรับความสูงได้ ผมลองปรับตามการใช้งานของผม ก็อยู่ที่ราวๆ 76 เซ็นติเมตรเช่นกัน ฉะนั้น โต๊ะที่พวกเด็กๆ นั่ง ก็น่าจะเตี้ยกว่านี้กันอีก

ตัวฝาจอของตัวเครื่อง นอกจากจะมีโลโก้ ASUS แล้ว ตรงขอบด้านซ้ายมือ (ถ้าเรามองเข้าไปที่โลโก้ ASUS) ก็มีแถบไฟ LED แสดงสถานะของการทำงานของโน้ตบุ๊กด้วย

ด้านล่างของตัวโน้ตบุ๊ก เราจะเห็นลำโพงของตัวเครื่องอยู่เยื้องมาทางด้านหน้าของโน้ตบุ๊ก ตรงนี้จะมีน็อตขันปิดฝาเครื่องไว้ ซึ่งเป็นแบบสี่แฉกธรรมดา แต่ต้องใช้ไขควงเล็กหน่อยเพื่อขันออก เปิดฝามาแล้วก็จะสามารถอัปเกรดใส่ SSD M.2 NVMe ได้ (ใช้แบบ M.2 2280 PCIe 3.0×4) โดยน็อตแต่ละตัวที่ใช้ เป็นแบบ Anti-falling ครับ คือ ไขแล้วไม่หลุดออกมาจากตัวเครื่อง ฉะนั้นอย่าตกใจหากไขเท่าไหร่มันก็ไม่ยอมหลุดออกมานะ

พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ทางด้านซ้ายของโน้ตบุ๊ก

พอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ที่มีมาให้ในโน้ตบุ๊กตัวนี้ ถือว่าครบเครื่อง ด้านซ้ายเป็นช่องสำหรับล็อกกุญแจ Kensington มีช่องเสียบอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ พอร์ต USB-C ที่เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) พอร์ต HDMI 1.4 และช่องสำหรับเสียบปากกาสไตลัส

พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ทางด้านขวาของโน้ตบุ๊ก

ส่วนด้านขวาก็มีปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่ม Power ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. แบบ Combo audio jack (หมายถึง หูฟังและไมค์ในช่องเดียวกัน) พอร์ต USB-A ที่เป็น USB 2.0 (แบนด์วิธ 480Mbps) และพอร์ต RJ45 สำหรับเสียบสายแลน รองรับ 1GbE

ประสบการณ์ใช้งานเป็นยังไงบ้าง?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ASUS เขาออกแบบให้ BR1100FK ตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งน่าจะอยู่วัยประถมปลายจนถึงเริ่มเข้ามัธยมต้น (อายุ 9-12 ปี) ครับ ดูจากวิดีโอด้านล่างได้

ฉะนั้น อย่าเพิ่งไปคาดหวังกับเรื่องสเปกของฮาร์ดแวร์ให้มากครับ ASUS BR1100FK ตัวนี้ เน้นความครบเครื่อง ฟีเจอร์สารพัด แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสเปกให้เลือกหลากหลายมาก ในต่างประเทศเรามีตัวเลือกให้เลือกตั้งแต่ CPU ที่เป็น Intel Celeron N4500, N5100 ไปจนถึง Pentium Silver N6000 ซึ่งแม้จะไม่แรง แต่ก็เหลือเฟือสำหรับให้เด็กๆ ได้ใช้แล้ว

จุดสำคัญคือ พวกหน่วยความจำ (RAM) กับเนื้อที่เก็บข้อมูล (Storage) ตะหาก ซึ่งหากพิจารณาแบบเต็มสูบแล้ว เราเลือกได้ตั้งแต่แรม 4GB 8GB 16GB เลย ส่วนเรื่อง Storage นั้น ASUS ให้มาเป็น 64GB และ 128GB แบบ eMMC แต่ว่ามีทางเลือกให้อัปเกรด โดยใส่ SSD แบบ NVMe ไปได้ ตั้งแต่ 128GB ไปจนถึง 1TB เลย และจากที่ผมทดสอบความเร็วของ Storage แบบ eMMC ก็ถือว่าไม่ได้แย่นะครับ ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ราวๆ 300MB/s ส่วนความเร็วในการเขียนอยู่ที่ 222MB/s อาจจะช้ากว่า SSD แบบ SATAIII นิดหน่อย แต่เร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กเกือบเท่าตัวอยู่

ผลการทดสอบความเร็วของสื่อบันทึกข้อมูลบนโน้ตบุ๊กด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8.0.1

ตัวที่ผมได้มาลองเป็นรุ่น Intel Pentium Silver N6000 แต่มาพร้อมกับแรม 4GB และความจุ 128GB เท่านั้น แอบรู้สึกเสียดายที่ในประเทศไทย เขาไม่มีตัวเลือกให้เยอะนัก และจริงๆ แล้ว ประสบการณ์ในการใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 10 ให้ดีนั้น ควรจะให้แรมมาอย่างน้อยๆ ซัก 8GB ครับ เพราะลองเปิด ASUS BR1100FK มานี่ แรมก็โดนซัดไป 2.2GB แล้ว นี่ขนาดยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ และพวกเว็บเบราว์เซอร์ต่างๆ เนี่ย ตัวกินแรมชั้นดีครับ เปิดหลายๆ แท็บมีสิทธิโดนกินไป 2GB สบายๆ ถ้ามีซัก 8GB จะได้หายใจหายคอได้มากอีกหน่อย

แต่ถ้าไม่ได้เอามาเปิดเว็บรัวๆ หลายๆ แท็บมาก ก็เรียกว่า พอไหวอยู่ครับ ไม่ได้อืดอาดยืดยาดอะไร และสำหรับการใช้งานหลักๆ เช่น รับส่งอีเมล ทำงานเอกสาร Microsoft Office ท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง นี่คือทำได้ครบอยู่แล้ว

พอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ไม่ได้มีเยอะเวอร์วัง แต่ก็ไม่ได้อัตคัดขัดสนจนหาที่เสียบไม่ได้ และก็มีพร้อมกับมาตรฐาน USB เวอร์ชันต่างๆ จริงๆ เช่น พอร์ต USB 2.0 ที่เอาไว้เสียบพวกคีย์บอร์ดหรือเมาส์ เพราะไม่ต้องการแบนด์วิธสูง ส่วนใครจะต่อพวก External HDD ก็ไปเสียบ USB-A ที่แบนด์วิธ 5Gbps ได้ เพียงพอต่อการใช้งาน หรือถ้ามี External SSD แบบ NVMe มาใช้ ก็มีพอร์ต USB-C ที่แบนด์วิธ 10Gbps ให้ใช้ และถ้าพอร์ตไม่พอ ก็หา USB Hub มาเสียบได้ การต่อออกจอแสดงผลภายนอก ก็มี HDMI 1.4 มาให้แล้ว

หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส รองรับ Multi-touch 10 จุด พร้อมสำหรับการใช้งานเป็นแท็บเล็ต แต่ในแง่ของความละเอียด ทาง ASUS เลือกที่จะใช้หน้าจอแสดงผลความละเอียด 1,366×768 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 16:9 แทนที่จะเป็น Full HD ซึ่งแทบจะเป็นสเปกขั้นต่ำของโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปในปัจจุบัน คงเพราะต้องการให้พวกขนาดไอคอน ตัวอักษรต่างๆ มีขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องไปขยายเอาด้วย Display settings

ภาพแสดงการดึงปากกาสไตลัสออกจากตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก

สไตลัสที่ให้มาพร้อมกับตัวเครื่อง เป็นแบบที่ต้องชาร์จแบตเตอรี่นะครับ แต่ว่าที่ชาร์จก็จะอยู่ในตัวที่เสียบสไตลัสของตัวเครื่องนั่นแหละ พูดง่ายๆ เสียบปุ๊บก็ชาร์จปั๊บ ฉะนั้นไม่น่าห่วงเรื่องแบตเตอรี่หมด และ ASUS ก็เคลมว่าชาร์จแบตเตอรี่แค่ 15 วินาที ก็ใช่งานต่อเนื่องได้ยาว 45 นาทีแล้ว ตัวสไตลัสนี่ตรวจจับแรงกดได้ 4,096 ระดับ แต่จะได้ใช้อะไรขนาดนั้นไหม ก็อยู่ที่ตัวโปรแกรมที่เราใช้ด้วยละนะครับ และผมคิดว่าสเปกระดับนี่ก็แอบเวอร์วังไปหน่อยสำหรับอะไรที่ให้เด็กใช้ เพราะเด็กเล็กไม่น่าจะแยกแยะแรงกดได้ขนาดนั้นอะ แต่มันก็ดีพอสำหรับเอามาใช้จดโน้ต และวาดรูปเล่นด้วยโปรแกรมโน่นนี่นั่นได้ครับ

ภาพตัวอย่างการใช้ปากกาสไตลัสของโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK ในการวาดรูปแมว

การเชื่อมต่อแบบไร้สาย รองรับมาตรฐาน WiFi 6 (802.11ax) เรียบร้อย และมี Bluetooth 5.0 ด้วย ฉะนั้นก็หมดห่วงเรื่องการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายไร้สาย และพร้อมสำหรับมาตรฐานล่าสุดแล้ว แต่รุ่นที่ผมรีวิวนั้นไม่มี 4G LTE นะครับ ซึ่งจริงๆ ถ้ามันเป็นรุ่นที่รองรับ 4G LTE มันก็จะมีถาดใส่ซิมอยู่ตรงด้านขวาด้วย

แบตเตอรี่ ความจุอยู่ที่ 42WHr เป็นแบบ 3-cell ลิเธียมไอออน เขาว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 10 ชั่วโมง แต่อันนี้ผมว่าอยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานต่างๆ เลยตอบยากฮะ ว่ายังไง

การออกแบบมาเพื่อใช้งานเรียนออนไลน์โดยเฉพาะด้วย

ASUS ชูจุดขายที่ระบบตัดเสียงรบกวนแบบที่ใช้ AI มาช่วย (AI Noise-canceling technology) ซึ่งผมยอมรับเลยว่ามันทำได้ดีจริงๆ ครับ คือ มันเน้นเสียงของคนพูดให้ได้ยินชัดมากขึ้นมาก และตัดเสียงรบกวนทั่วไปออก (พวกเสียงหึ่งๆ อะไรแบบนี้) แต่มันก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ ถ้าเป็นเสียงคนที่ค่อนข้างดัง เช่น ในกรณีทดสอบของผม เสียงจาก YouTube เป็นเสียงคนคุยกัน มันก็จะยังคงได้ยินเข้าไมค์อยู่ และถูกพยายามทำให้ชัดขึ้นด้วย แต่เสียงจะฟังดูแปลกๆ ไป เพราะเสียงแบ็กกราวด์บางส่วนจาก YouTube ถูกมองว่าเป็น Noise และถูกลดทอนออกไป

ประโยชน์จาก AI Noise-canceling technology น่าจะเป็นเรื่องของการตัดเสียงรบกวนจำพวก หัวเราะคิกคัก เสียงหมาเห่า เสียงรถยนต์วิ่ง เสียงขุดเจาะจากการก่อสร้าง อะไรพวกนี้ ที่อาจเกิดได้รอบตัวเรา ซึ่งไม่ใช่เสียงสนทนาของมนุษย์ มันก็จะถูกตัดออกได้ครับ แต่หากเสียงรบกวนที่อยู่รอบตัวเรามันเป็นเสียงพูดคุยกันเสียงดัง หรือเสียงจากทีวี อันนี้ยากเลย เท่าที่ลองดูแล้ว มันยังแยกได้ไม่ออกซะทีเดียว

ส่วนเรื่องกล้องเว็บแคมนั้น ตามสเปกเขาว่ากล้องเว็บแคม 720p ของ ASUS BR1100FK นี่มาพร้อมเทคโนโลยี 3D Noise-Reduction (3DNR) ช่วยให้ภาพออกมาคมชัด ถ้าต้องเรียนออนไลน์แล้วให้คุณครูเห็นหน้าด้วย แต่ในการใช้งานจริง ผมว่าด้วยความที่ความละเอียดมันแค่ระดับ 720p อะครับ ภาพมันก็ไม่ได้คมชัดอะไรเวอร์วังมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเกิดขยายภาพวิดีโอให้เต็มหน้าจอแสดงผล ซึ่งมีความละเอียดสูงกว่า 720p

ภาพของต้นกระบองเพชรแบบต่างๆ

กล้องด้านหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล นั้นถ่ายรูปออกมาที่ความละเอียดสูงสุด 8-13 ล้านพิกเซลอยู่ที่ว่าเลือกอัตราส่วนในการแสดงผลยังไง อย่างรูปด้านบน ก็เป็นความละเอียด 8 ล้านพิกเซลครับ เพราะเลือกถ่ายแบบ 16:9 คุณภาพของภาพที่ได้ ถือว่าไม่ได้แย่อะไร แต่ก็ไม่ได้ดีงามในระดับเทียบกับพวกสมาร์ทโฟนได้นะครับ แต่มันก็เพียงพอสำหรับเด็กๆ นำไปใช้งานแหละ ขนาดของภาพก็ใหญ่ดี มีความละเอียดสูงอยู่ ผมไม่มีโอกากแบกไปถ่ายรูปที่ไหนไกล ช่วงโควิด-19 แบบนี้ เอากระถางต้นกระบอกเพชรในบ้านไปแล้วกัน

คิดว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือโรงเรียน เป้าหมายรองคือพ่อแม่ของเด็กเล็ก

จุดขายอีกอย่างที่ ASUS ชู ก็คือความง่ายในซ่อมบำรุง (Maintenance) เพราะดีไซน์เป็นแบบ Modular คือ องค์ประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นจอแสดงผล คีย์บอร์ด พอร์ตเชื่อมต่อ ชุดระบายความร้อน แบตเตอรี่ มันแยกเป็นโมดูลต่างๆ ชัดเจน เวลามีปัญหาก็ถอดเปลี่ยนเป็นโมดูลไปได้ เสียดายว่าตัวโน้ตบุ๊กที่ผมได้มารีวิว มันมีสองจุดที่ถูกเปลี่ยนจากน็อตมาเป็นหมุดยึดแบบตายตัว ผมเลยไม่สามารถแกะฝาหลังออกมาดูได้ครับ

แต่ถึงจะเรียกว่าเป็นการออกแบบให้ซ่อมบำรุงได้ง่าย มันก็ไม่ใช่อะไรที่คนทั่วไปจะทำกันได้ง่ายๆ นะครับ ประกอบกับการที่มันมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro ซึ่งเหมาะกับการใช้ในองค์กร หรือภายในโรงเรียน ที่อาจจะมีการใช้ Domain controller และ Active Directory เพื่อบริหารจัดการบัญชีผู้ใช้งาน (ตัว Windows 10 Pro จะสามารถล็อกอินเข้า Domain ได้) ผมจึงมองว่ากลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของ ASUS สำหรับโน้ตบุ๊ก BR1100FK ตัวนี้ น่าจะเป็นสถาบันการศึกษาในชั้นเด็กเล็ก มากกว่าที่จะเป็นพ่อแม่ของเด็กเล็กเอง คือ ตัวโน้ตบุ๊กก็สามารถเชื่อมต่อกับทรัพยากรต่างๆ ของโรงเรียนได้ บริหารจัดการพวกสิทธิการเข้าถึงได้ และทีมไอทีก็สามารถซ่อมบำรุงได้ไม่ยาก อะไรแบบนี้ (สังเกตจากวิดีโอของ ASUS เด็กนักเรียนทุกคนก็ใช้รุ่นนี้กัน คุณครูก็ซ่อมบำรุงได้เองเลย แบบนี้มันคือสไตล์ของอุปกรณ์ที่โรงเรียนเป็นคนแจกจ่าย มากกว่าที่พ่อแม่เด็กจะพร้อมใจกันซื้อไปใช้ในโรงเรียนในแบบ Bring Your Own Device – BYOD)

ไฟ LED ตรงขอบของตัวเครื่องโน้ตบุ๊ก ASUS BR1100FK

ไฟ LED ตรงฝาเครื่องที่เอาไว้บอกสถานะ เขาก็ไม่ได้เอาไว้ให้ผู้ใช้งานดู แต่เขาเอาไว้ให้คุณครูได้สังเกต ซึ่งมันจะบอกสถานะได้ว่าเด็กกำลังมีัปัญหาในการใช้งานไหม เช่น ไฟกระพริบช้าๆ หมายถึง แบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊กเหลือต่ำกว่า 20% ต้องเอาไปชาร์จ หรือ กระพริบเร็วๆ หมายถึง ไม่มีการเชื่อมต่อ WiFi เป็นต้น

แต่ถามว่า หากพ่อแม่เด็กเล็กจะซื้อไปให้ลูกใช้ล่ะจะเวิร์กไหม? ในแง่ของความถึกทน สำหรับเด็กใช้งาน ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรครับ ตัวเครื่อง 1.4 กิโลกรัม จริงๆ จะว่าหนักก็หนัก เมื่อพิจารณาทางเลือกของโน้ตบุ๊กตระกูล Ultrabook สมัยนี้ที่บางรุ่นบางยี่ห้อ (รวมถึงของ ASUS เอง) ที่หนักไม่ถึง 1 กิโลกรัมแล้ว ก็ต่างกันเยอะ ในแง่ของสเปก บอกเลยว่ามันไม่แรงสำหรับผู้ใหญ่ทำงานแน่นอน แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว ผมก็ว่าสเปกมันก็พอใช้อยู่ (แต่แอบน้อยใจว่าแรม 4G มันน้อยไปหน่อย)

บทสรุปการรีวิว ASUS BR1100FK

จุดยืนของโน้ตบุ๊กตัวนี้ค่อนข้างชัดเจนมาก คือ สำหรับเด็กเล็กครับ ราวๆ ประถมปลาย (ป.5-ป.6) หรืออาจจ มัธยมต้นแบบ ม.1-ม.2 อะไรแบบนี้ ที่ต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่รองรับทั้งเรียนออนไลน์แบบเข้าประชุมออนไลน์ หรือจดโน่น วาดรูปนี่นั่น ด้วยสไตลัส ASUS BR1100FK คือมีครบ และทำได้ดี ในขณะที่หมดห่วงเรื่องการใช้งานของเด็กๆ ที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังข้าวของเท่าไหร่ฮะ

ผมยังมองว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ควรตั้งเป้าหมายไปที่การไปเสนอขายให้โรงเรียนใช้งานมากกว่า ถึงจะได้ประโยชน์จากฟีเจอร์ต่างๆ ของ ASUS BR1100FK ได้สูงสุด แต่ถ้าถามว่าพ่อแม่ก็อยากซื้อหามาใช้ เพราะอยากได้ความอึดถึกของตัวโน้ตบุ๊ก ก็เอามาพิจารณาได้ครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า