Home>>บทความ How-to>>QNAP NAS 101 EP34: ใช้ HBS3 เพื่อซิงก์ข้อมูลกับบริการ Cloud storage เพื่อใช้งาน (Two-way Sync Job)
บทความ How-toQNAP User Guide

QNAP NAS 101 EP34: ใช้ HBS3 เพื่อซิงก์ข้อมูลกับบริการ Cloud storage เพื่อใช้งาน (Two-way Sync Job)

ใน QNAP NAS 101 ตอนที่ 13 และตอนที่ 14 ผมมีเขียนแนะนำ HBS3 ซึ่งเป็นโซลูชันสำหรับการสำรองข้อมูลของ QNAP NAS ไปแล้ว แต่จริงๆ แล้ว HBS3 ไม่ได้มีแค่เอาไว้สำรองข้อมูลจาก NAS ไปที่สื่อบันทึกข้อมูลอื่น หรือ Cloud เท่านั้นนะ แต่ในทางกลับกัน เราสามารถใช้ HBS3 ในการซิงก์ข้อมูลจากบริการ Cloud storage ก็ได้ด้วยเช่นกัน และในบล็อกตอนนี้ ผมจะมาเล่าสู่กันอ่านว่าทำยังไงครับ

หากคุณตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยากซิงก์ข้อมูลระหว่าง QNAP NAS กับบริการ Cloud storage ไปทำไม ก่อนอื่น ผมอยากให้กลับไปอ่าน QNAP NAS 101 ตอนที่ 33 เพื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการสำรองข้อมูล (Backup) กับการซิงก์ข้อมูล (Sync) ก่อนว่ามันแตกต่างกันยังไงนะครับ

ขั้นตอนการตั้งค่าซิงก์ข้อมูลระหว่าง QNAP NAS กับ Cloud storage แบบ Two-way Sync Job

ก่อนอื่นก็ไปเปิดแอป HBS 3 ขึ้นมาก่อนครับ จากนั้นก็ไปที่ไอคอนของการทำ Synchroinization (ไอคอนทางซ้ายมือ อันที่สามจากด้านบน) มันก็จะมี Drop-down menu ให้เลือกเป็น Two-way Sync Job ครับ

หน้าจอแอป HBS3 ในการตั้งค่า Synchronization

เราทำ Two-way Sync Job เพราะ เราต้องการให้ข้อมูลบน QNAP NAS และบน Cloud storage มันเหมือนๆ กัน (เราเลือกได้ว่าจะซิงก์อะไรบ้าง และไอ้ข้อมูลที่เราเลือกไว้ก็จะเหมือนกันทั้งสองแหล่ง) ตัวอย่างของการนำ Two-way sync ไปใช้ก็เช่น

• เราอาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปอยู่ที่บ้าน แล้วเราอยากจะเข้าถึงไฟล์บน Cloud storage ได้ไวๆ หน่อย เราก็ตั้งค่าซิงก์เพื่อดูดข้อมูลมาเก็บไว้บน QNAP NAS ให้เรียบร้อยก่อนเลย แล้วเข้าถึงไฟล์พวกนี้ผ่าน Local network ก็มักจะเร็วกว่า (ยกเว้น เน็ตที่คุณใช้วิ่งได้ระดับกิกะบิต)
• เพื่อความปลอดภัย ไม่อยากให้บุคคลภายนอกเข้าถึง QNAP NAS ได้โดยตรง หรือบางที เป็นผู้ใช้งานตามบ้าน ทาง ISP ไม่ได้ให้ไอพีจริงมา เลยทำ Dynamic DNS ไม่ได้ เลยเข้าถึง QNAP NAS ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ได้ แต่ก็อยากจะใช้งานไฟล์จาก QNAP NAS ก็ใช้วิธีซิงก์ขึ้น Cloud storage เป็นตัวกลางแทน
• ใช้ Ubuntu Linux อยากใช้ Google Drive, OneDrive แต่มันไม่มี Official client ให้ใช้ ก็ทำการซิงก์ข้อมูลมาลง QNAP NAS แทน แล้วซิงก์ข้อมูลจาก QNAP NAS เข้า Ubuntu Linux ผ่าน Qsync

อะไรทำนองนี้ครับ … ถัดมาเราก็เลือกปลายทางเป็นผู้ให้บริการ Cloud storage ที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็น Dropbox, Google Drive, OneDrive ก็ได้หมด (นี่เฉพาะที่คนนิยมใช้กัน) แต่ขออภัยด้วย iCloud ของ Apple เขาไม่เปิดให้ใช้ผ่าน 3rd party จ้า

หน้าจอ Create a Sync Job เลือกปลายทางที่จะเก็บข้อมูลเป็น Cloud storage มีให้เลือกหลายยี่ห้อ

เลือกเสร็จแล้ว มันก็จะเด้งหน้าจอล็อกอินเข้าบริการ Cloud storage นั้นๆ ให้ครับ ในตัวอย่างของผมเป็น Google Drive ถ้าเราล็อกอินอยู่แล้ว และมีหลายบัญชีที่ล็อกอินค้างอยู่ มันก็จะให้เราเลือกว่าตกลงเราจะล็อกอินอันไหนกันแน่

หน้าจอลงชื่อเข้าใช้ Google account

เลือกเสร็จมันก็จะเด้งเตือนมา (อันนี้อยู่ที่ว่าเราใช้บริการ Cloud storage ของใครนะ แต่ปกติข้อความจะคล้ายๆ กัน) อารมณ์ประมาณว่า แอปนี้อยากจะเข้าถึงข้อมูลบนบัญชีของคุณ ต่อไปนี้คือสิ่งที่แอป Hybrid Backup Sync จะทำได้ ก็จะมี แก้ไข สร้าง และลบไฟล์ทั้งหมดบน Cloud storage ของคุณ อย่าตกใจ มันเป็นเรื่องปกติ กด Allow ไปครับ

หน้าจอแจ้งเตือนการเข้าถึงข้อมูลในบัญชี Google account ของ Hybrid Backup Sync

เรียบร้อยแล้ว มันก็จะขึ้นมาเป็น Create a Storage Space นั่นหมายความว่า คุณได้สร้างเนื้อที่เก็บข้อมูลสำหรับ HBS 3 แล้ว โดยเป็นเนื้อที่บน Cloud storage ที่คุณตั้งค่าไว้ ตั้งชื่อตามใจชอบ เอาแบบที่คุณดูแล้วคุณก็รู้ว่าเป็นอะไร กรณีตัวอย่างของผม ผมมักง่าย ผมก็ให้มันเป็น Google Drive 1 เฉยๆ แต่ถ้าเกิดคุณสมัคร Google Drive ฟรีไว้ซัก 10 อัน ได้อันละ 15GB คุณก็จะมีเนื้อที่เก็บ 150GB ไว้แยกๆ กัน คุณก็ต้องตั้งชื่อเจาะจงไว้หน่อย จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

เสร็จเรียบร้อย คลิก Create ซะ คุณก็จะเห็นว่าคราวนี้ ถ้าเกิดเลือก Google Drive มันจะมีการล็อกอินทิ้งรอไว้ให้แล้ว คราวหน้า ถ้าเราสร้าง Job เพิ่ม แล้วเลือก Google Drive มันก็จะมีอันนี้ไว้ให้เลือกเลยครับ ไม่ต้องทำซ้ำอีก สะดวกดี แต่ ณ ตอนนี้ เพราะเราอยากซิงก์ไปที่อันนี้เราก็คลิกเลือกมันซะ แล้วคลิกปุ่ม Select

หน้าจอ Create a Sync Job ที่เลือก Google Drive ไว้

จากนั้นก็จะเป็นหน้าสำหรับสร้าง Sync Job แล้ว เริ่มต้นจากเลือกว่าอยากจะซิงก์โฟลเดอร์ไหนบ้างก็เลือกเอา เลือกได้หลายๆ โฟลเดอร์ หรือถ้าเกิดจะซิงก์ทั้งหมดบน QNAP NAS หรือ Cloud storage เลย ก็ไปเลือกที่ Folder ต้นทางที่สุดครับ

หน้าจอ Create a Sync Job เลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการซิงก์

จากนั้นก็มาตั้งค่าการซิงก์ จะมีให้เลือก 4 แบบ คือ

• Real-time synchronization คือ เปิดใช้งานซิงก์ตลอดเวลาเลย มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับข้อมูลในโฟลเดอร์ที่เลือกเอาไว้ ก็จะถูกซิงก์ในบัดดล
• Scheduler คือ กำหนดเฉพาะเวลาที่จะทำการซิงก์ จะซิงก์เป็นรอบๆ ตามเวลาที่กำหนด สามารถสร้างได้ 30 รอบ โดยเลือกได้ว่าจะซิงก์แบบรอบเดียวจบ, ทำทุกๆ กี่นาทีกี่วินาที เริ่มจากเมื่อไหร่ และจบเมื่อไหร่, ทำเป็นประจำทุกวัน สัปดาห์ หรือ เดือน
• Run after job คือ รัน Sync Job อันนี้ หลังจาก Job อื่นที่กำหนด
• No schedule ก็คือ สร้าง Job ไว้เฉยๆ แต่ไม่ซิงก์ ณ ตอนนี้ จะมากดรันเอาเองทีหลัง

เมื่อเลือกเสร็จแล้ว ถ้าต้องการให้รัน Job นี้ทันทีหลังสร้างเสร็จ ก็ติ๊กตรง Sync now ด้วยนะครับ

หน้าจอ Create a Sync Job ตั้งค่ากำหนดการในการซิงก์

แอบมาดูในกรณีที่เลือกเป็น Scheduler ก่อนนะครับ ถ้าเลือกอันนี้ มันจะมีหน้าจอตั้งค่าเพิ่มมาอีกครับ อันดับแรกคือ ถ้าเราติ๊ก Inactive hours จะเป็นการเลือกช่วงเวลาที่ Job นี้จะไม่ทำงาน อันนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งอะไรหรอกนะ ที่เราต้องทำคือ ติ๊กเครื่องหมาย + ครับ เพื่อสร้างกำหนดการซิงก์ขึ้นมา

หน้าจอการตั้งค่าเมื่อเลือกกำหนดการซิงก์เป็น Scheduler

มันจะมีให้เลือก 4 ตัวเลือกในการตั้งเวลา คือ

One-time กำหนด วันเดือนปี และเวลาที่เราต้องการรัน Job นี้ รันทีเดียวจบ
Periodic กำหนดเป็นช่วงเวลาที่จะทำ โดยกำหนด Start time หรือ เวลาที่จะเริ่ม Job นี้ แล้วกำหนด Wait interval คือ ให้รอเป็นเวลากี่ชั่วโมงกี่นาที ก่อนที่จะรัน Job นี้อีกครั้ง และสามารถ Set end date หรือ กำหนดวันเดือนปี และเวลาที่จะหยุดทำ Job นี้ได้ด้วย
Daily กำหนดเลยว่าให้รัน Job นี้ทุกวัน ณ เวลาที่กำหนด โดยกำหนด Set end date หรือ วันเดือนปีและเวลาที่จะหยุดทำ Job นี้ได้ด้วย
• Weekly กำหนดเลยว่าจะทำทุกๆ วันไหนของสัปดาห์ (จันทร์-อาทิตย์) แล้วจะเริ่มตอนกี่โมงกี่นาทีของวันนั้น และสามารถกำหนด Set end date ได้เช่นกัน
• Monthly กำหนดได้เลยว่าจะทำทุกๆ วันที่เท่าไหร่ของเดือน เริ่มตอนกี่โมงกี่นาที และสามารถกำหนด Set end date ได้เช่นกัน

หน้าจอการตั้งค่า Scheduler โดยกำหนดว่าจะให้เป็นช่วงเวลาประมาณไหน ระหว่าง One-time, Periodic, Daily, Weekly และ Monthly

ข้อควรระวังคือ หากเรามีการกำหนดไว้ว่าจะให้ Sync job มันจะเมื่อไหร่ มันก็จะยุติการซิงก์ตามเวลานั้นเลยนะ แม้ว่าการซิงก์จะยังไม่เสร็จสิ้น การซิงก์ก็อาจจะไม่สมบูรณ์ แล้วหากมีการตั้งเวลาเหลื่อมกันไว้ มันจะรอให้ Job ก่อนหน้าเสร็จก่อน ถึงจะเริ่ม Job อื่นได้นะครับ

หน้าจอ Create a Sync Job ในส่วนของการกำหนด Rules ต่างๆ

ถัดมาคือการกำหนดกติกาของการรัน Sync job ครับ ซึ่งก็จะมีการตั้งค่าสามหมวด คือ

Methods เอาไว้กำหนดวิธีการซิงก์ข้อมูล คือ

• Enable filters เอาไว้กรองข้อมูลที่เราจะซิงก์หรือไม่ซิงก์ เช่น Exclude symbolic links ก็คือ ไม่ต้องทำการซิงก์พวกไฟล์ที่เป็น Shortcut ที่ถูกสร้างขึ้นไว้, Exclude hidden files and folders ไม่ต้องซิงก์พวกไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ถูกตั้งค่าให้ซ่อนเอาไว้ และหากเลือกไปที่ Advanced Filters ก็จะเลือกได้ว่าจะไม่ซิงก์ไฟล์ที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าที่กำหนด, ไม่ซิงก์ไฟล์ที่ถูกแก้ไขก่อนหรือหลังวันที่กำหนด, ไม่ซิงก์ไฟล์ที่ถูกแก้ไขเมื่อกี่วันก่อนหน้า, ซิงก์หรือไม่ซิงก์เฉพาะไฟล์ประเภทไหน อะไรแบบนี้
• Use data compression ก็จะช่วยลดขนาดของไฟล์ที่ถูกซิงก์ได้ ก็จะช่วยให้ประหยัดเนื้อที่และแบนด์วิธที่ใช้ในการซิงก์ แต่ก็จะใช้ทรัพยากร CPU เพิ่มขึ้นในระหว่างกระบวนการซิงก์

Policies เอาไว้กำหนดเงื่อนไขบางอย่างในการซิงก์ ได้แก่

• Use client-side encryption คือ การให้ฝั่งต้นทางการซิงก์ข้อมูลเป็นคนเข้ารหัสข้อมูลก่อนทำการซิงก์ ซึ่งในตัวอย่างนี้ก็คือ QNAP NAS นั่นเอง (เพราะปลายทางคือ Cloud storage) เราจะต้องคลิกปุ่ม Settings เพื่อกำหนดรหัสผ่านสำหรับถอดรหัสไว้ด้วย แต่ต้องห้ามลืมนะครับ ไม่งั้นชิบหายเลย ถ้าลืม ไม่ต้องมาถามผมนะว่าจะแก้ปัญหายังไง ตัวใครตัวมัน
• Use rate limits เอาไว้กำหนดแบนด์วิธที่จะใช้ในการรับส่งข้อมูล โดยแยกกำหนดได้ทั้งขาอัปโหลดและดาวน์โหลด กำหนดได้ว่าจะไม่จำกัด (Unlimited) หรือ ให้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ และสามารถกำหนดได้ด้วยว่า จะให้ส่งข้อมูลได้ตอนไหนบ้าง
• Use TCP BBR congestion control ฟีเจอร์นี้ใช้ได้เฉพาะตอนทำ RTRR, Rsync, FTP หรือปลายทางเป็น Cloud storage ฮะ ค่า Default คือเปิดไว้อยู่แล้ว มันจะช่วยเรื่องการ Optimize ความเร็วในการรับส่งข้อมูล ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน
• Integrate with QuWAN คือ ให้แอป QuWAN เป็นตัวบริหารจัดการทราฟฟิกของเน็ตเวิร์ก จะเปิดใช้แค่เฉพาะตอนที่เรามีใช้ QuWAN ครับ ผู้ใช้งานตามบ้านปกติก็จะไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้อยู่แล้ว ค่า Default ก็เลยไม่ได้เปิดไว้

Options จะเป็นการตั้งค่าพวก Log และการรับมือกับความผิดพลาดครับ จะกำหนดขนาดไฟล์ใหญ่สุดของ Log ได้ (หน่วยเป็น MB) จะให้เก็บ Log อะไรบ้าง และหากเกิดความผิดพลาด จะรับมือยังไง เช่น Connection timeout จะให้เกิดขึ้นในกี่วินาที, จะให้ Skippped file limit เป็นกี่ครั้ง หมายถึง ถ้าเกิดมีไฟล์ที่ไม่ถูกซิงก์ครบตามจำนวนแล้ว ก็ให้แสดงเป็นคำเตือน และยุติการซิงก์ข้อมูลไป (จะได้ไม่เข้าใจผิดคิดว่าซิงก์ครบถ้วน), จำนวนไฟล์ที่จะถูก Process ได้พร้อมกันสูงสุดกี่ไฟล์, และหากเกิดการทำงานผิดพลาดแล้ว HBS 3 ยุติการทำงานลง ให้รีสตาร์ทใหม่แล้วลองรัน Job ใหม่ไหม

หน้าจอ Create a Sync Job ในส่วนของการสรุปการตั้งค่าของ Sync job

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย คลิก Next มันก็จะมาที่หน้า Summary สรุปว่าเราได้ตั้งค่าอะไรไว้ยังไงบ้าง ถ้าโอเคแล้ว ก็คลิก Create ครับ ที่เหลือก็แค่รอให้ Job มันรันตามที่เรากำหนดไว้ เป็นอันเรียบร้อย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า