ขอบันทึกเอาไว้ตอนอายุย่างเข้า 42 ปีโดยสมบูรณ์ในเร็ววันนี้ ในฐานะคนที่อยู่ใช้ชีวิตในวัยเด็กจนจบ ม.6 โดยไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จะสอนให้รู้จักบริหารเงิน รู้จักอดออม เอาไปลงทุน ซึ่งบอกเลยว่า รู้อะไรไม่สู้ รู้งี้ จริงๆ เพราะในยุคของผมเนี่ย เป็นช่วงจังหวะที่ดีมากที่หากบริหารการเงินตัวเองได้ดี รู้จักลงทุน ป่านนี้คือรวยฮะ แต่อยู่มาถึงตอนนี้แล้ว ณ ตอนนี้ก็ถือว่าชีวิตดำเนินไปได้ดีประมาณนึงล่ะ เลยอยากบันทึกเอาไว้เผื่ออนาคตได้กลับมาอ่าน หรือใครที่กำลังมองหาคนพูดถึงแนวทางในการบริหารจัดการเงินแบบเชิงปฏิบัติ ได้เก็บเอาไว้ศึกษาเผื่อจะเป็นแนวทางได้
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะอะไรยังไงดี แบบกำลังจะเรียนจบไปทำงาน หรือ กำลังเริ่มทำงานใหม่ๆ หรือ ทำงานมาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่รู้สึกว่าชีวิตไม่มีเงินเก็บเลย ทำไมคนอื่นเขามีเงินเก็บกันโครมๆ วินัยการเงินแย่จัง … ใครที่มีวินัยทางการเงินดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมาอ่านบล็อกของผมหรอก เสียเวลาเปล่าๆ ฮะ
เอาจริงๆ นะ ตั้งกะเริ่มทำงานก็เตรียมวางแผนเกษียณได้เลยเหอะ
ตั้งแต่ผมเรียนจบ จนถึงป่านนี้ อายุเกษียณก็ยังเหมือนเดิมครับคือ 60 ปี ตอนผมเรียนจบมาใหม่ๆ นี่นึกไม่ออกหรอกครับ อายุ 60 แล้วตัวผมจะเป็นยังไง โหย มันอีกตั้งเกือบ 40 ปี ไม่ต้องรีบคิดก็ได้ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตอย่างที่อยากดีกว่า แบบว่าโดนกดดันมาตั้งกะสมัยเรียนประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ยันมหาวิทยาลัยปริญญาตรี ตอนนี้ชั้นจะมีชีวิตที่อิสระบ้างล่ะ
ณ ตอนที่เรายังอายุน้อยๆ เราอาจจะยังนึกไม่ถึงว่าเราจะแต่งงานไหม แต่งงานแล้วเราจะมีลูกไหม อะไรแบบนี้ คือ ถ้าเราแต่งงานมีลูก แล้วเราเลี้ยงดูลูกมาดี เราแก่ตัวไป ลูกเรามีหน้าที่การงานที่ดี เลี้ยงดูเรา มันก็โอเคไง เกษียณแบบชิลล์ๆ แต่ 18 ปีถัดมา ผมก็ต้องมาเผชิญกับความเป็นจริงว่า ผมแต่งงาน แต่ไม่ได้วางแผนว่าจะมีลูก ซึ่งหลายๆ คนที่ผมรู้จักก็มาสไตล์นี้กันครับ ไม่ใช่เพราะไม่พร้อมหรืออะไรนะ แต่ก็คือ ไม่ได้คิดว่าจะมีกัน
บรรลัยแล้วสิ ไม่มีลูกเลี้ยง แล้วพอเกษียณแล้ว ไม่มีรายได้ จะเอาเงินจากไหนประทังชีวิต? คำตอบก็คือ เงินเก็บไงล่ะ แล้วต้องเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ? ก็คำนวณไม่ยากนะ อยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ล่ะ แล้วคิดว่าเราจะอยู่ดูโลกไปได้ถึงอายุซักกี่ปี ก็คูณไปสิ ถ้าเอาเซฟๆ ก็คิดซะว่าอายุ 99 ค่อยตายแล้วกัน
แก่แล้ว ไม่ได้เที่ยว ไม่ได้ใช้อะไรฟุ่มเฟือย มีใช้เดือนละซัก 30,000 บาทก็หรูแล้วล่ะ อ่ะ คูณไป 12 เดือน 39 ปี ก็เป็นเงินทั้งสิ้น 14,040,000 บาท … เดี๋ยวนะ!!! 14 ล้านบาท!!!!!!! กลับมามองเงินเก็บในธนาคารดูก่อนซิ ตอนนี้มีเงินเก็บอยู่เท่าไหร่? แล้วจากอายุในปัจจุบันนี้ ถ้าจะต้องเก็บเงินไปให้ถึง 14 ล้านบาท ต้องเก็บเดือนละเท่าไหร่ จะไหวไหม?
• ถ้าเรามาคิดได้ตอนอายุ 40 ปี เริ่มเก็บตอนอายุ 41 จะต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 58,333.33 บาท
• ถ้าเรามาคิดได้ตอนอายุ 30 ปี เริ่มเก็บตอนอายุ 31 จะต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 38,888.89 บาท
• ถ้าเรามาคิดได้ตอนอายุ 20 ปี เริ่มเก็บตอนอายุ 21 จะต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 29,166.67 บาท
เห็นแมะ ถ้าเราเริ่มเก็บก่อน ก็จะเก็บเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า เพราะตัวหารมันเยอะกว่าตั้ง 10-20 ปียังไงล่ะ ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ณ ตอนนี้ รีบนึกถึงแผนเกษียณของคุณได้แล้ว ยิ่งถ้าเป็นเด็กจบใหม่ ยิ่งวางไว้แต่เนิ่นๆ ยิ่งดี บางคนนี่ถึงกับวางแผนเกษียณก่อนอายุ 60 ด้วยซ้ำ แต่อันนั้นถือเป็นขั้นเทพแล้ว ผมขอไม่พูดถึง เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น … อยากวางแผนได้ขนาดนั้น คงต้องไปหาคำแนะนำจากกูรูนะครับ
แต่เดี๋ยวสิ เพิ่งจบใหม่ ทำงานแบบไร้ประสบการณ์ แล้วจะเก็บเงินได้ยังไงเฉลี่ยเดือนละ 29,166.67 บาท
เนี่ย มันเป็นปัญหาคาใจอะ คือ เวลาคำนวณตามทฤษฎีแล้ว พอมาพิจารณาในเชิงปฏิบัติ มันก็แบบ ทำไม่ได้อะ จะทำได้ยังไง จบมาใหม่ เงินเดือนเผลอๆ 15,000 บาทเอง แล้วจะเก็บเงินได้ยังไง เดือนละเกือบสามหมื่นบาท บ้า!!!
ก็อยากให้อ่านให้ดีๆ ว่ามันเขียนว่า “เก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 29,166.67 บาท” หมายความว่า ในระยะเวลา 40 ปี นับตั้งแต่อายุ 20 จนถึงเกษียณตอนอายุ 60 เนี่ย คุณจะต้องเก็บเงินให้ได้เป็นจำนวนเท่ากับเฉลี่ยแล้ว เหมือนเก็บมาเดือนละ 29,166.67 บาทตะหาก นั่นหมายความว่า ถ้าอายุ 21-30 ปี คุณเก็บเงินเดือนละ 3,000 บาท (เพราะมีปัญญาแค่นี้) ช่วงอายุ 31-60 ปี คุณก็ต้องเก็บเฉลี่ยให้ได้เป็นเดือนละ 37,888.89 บาท ไง คุณต้องไม่ลืมว่าทำงานแล้ว มันก็จะมีเงินเดือนขึ้น มันก็จะมีการเปลี่ยนงาน อัพตำแหน่ง เรียกเงินเดือนสูงขึ้น หรือไม่ก็ เราเก่ง สามารถหารายได้ได้จากหลายทาง หรือ เราอาจจะออกมาเป็นเจ้าของกิจการเองก็ได้ ใครจะรู้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเริ่มบริหารเงินของเรา และออมเงิน มีการลงทุนบ้าง แต่เนิ่นๆ
แต่เราลืมเรื่องเงินเฟ้อไปหรือเปล่า?
เออ นั่นสิ เรามีสิ่งที่เรียกว่าเงินเฟ้ออยู่ หรือก็คือ เงินมันเริ่มเสื่อมค่าลงทีละนิดๆ ครับ ความหมายของเงินเฟ้อก็คือ สมมติว่าเงินเฟ้อมันอยู่ที่ 1% หมายความว่า ของที่เงิน 100 บาทซื้อได้ในตอนนี้ อีก 1 ปีข้างหน้า ต้องใช้เงิน 101 บาทในการซื้อครับ ถ้าคิดแบบนี้แล้ว สมมติตอนนี้คุณอายุ 20 ปี อีก 40 ปีข้างหน้า เงิน 30,000 บาท ถ้าเกิดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2% (ณ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายให้เงินเฟ้ออยู่ระหว่าง 1%-3% ผมเลยขอเลือกแบบกลางๆ) ก็เท่ากับว่าเราต้องใช้เงิน 66,241.19 บาทแทนครับ เวรแล้ว เพิ่มมา 36,421.19 บาทเฉย … นี่แหละ พลังของเงินเฟ้อทบต้นทบดอกอะครับ
ตอนแรกนึกว่าต้องเก็บเงิน 14,004,000 บาท ใช่มะ แต่ถ้าการอยากใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ตอนนี้ จะเท่ากับการใช้เงินเดือนละ 66,241.19 บาทในอีก 40 ปีข้างหน้า ละก็ มันก็จะกลายเป็นว่าคุณต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 31,000,876.92 บาท หรือปัดกลมๆ ก็ 31 ล้านบาท … เชร็ดเข้!!! ขออภัยที่หยาบคาย แต่มันเพิ่มมา 17 ล้านบาทเลยครับพี่น้อง ลำพังแค่ 14 ล้านบาทแรกก็ไม่รู้จะเก็บยังไงแล้ว นี่ 31 ล้านบาท!!!!!!!!
ข่าวดีคือ ชีวิตจริงมันโหดร้าย แต่มันก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น
แต่ทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงไปข้างต้น มันก็อยู่บนพื้นฐานของการประเมินแบบกันเหนียว มองโลกในแง่ร้ายเอาไว้ก่อนนะครับ ในชีวิตจริงมันโหดร้าย แต่มันก็ไม่ได้โหดเลือดสาดขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันก็ไม่ได้โหดขนาด 2% อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2564 จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อถ้าพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (ซึ่งจะมีการเอาสินค้ากลุ่มอาหารสด และ กลุ่มพลังงาน มาร่วมคำนวณ) จะอยู่ที่ 0.7% ในปี 2562 และ -0.85% ในปี 2563 [อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน จากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์]

ถ้าเราคิดว่า เงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ต่อปีแทน (เพราะเห็นมีบวกมีลบด้วย แถมส่วนใหญ่ก็ต่ำกว่า 1% อีก) เงิน 66,241.19 มันก็จะกลายเป็น 44,665.91 แทน หรือก็คือ จากที่คิดว่าต้องเก็บ 31 ล้าน ก็จะกลายเป็น 20.9 ล้านบาทแทน ดูเบาลง แต่ก็ยังโหดอยู่ใช่แมะ
อีกเรื่องนึงก็คือ คุณจะไม่ได้มีเงินเดือน 15,000 บาท ตั้งแต่เริ่มทำงานไปยันเกษียณหรอกครับ ยกเว้นคุณจะไม่คิดจะพัฒนาตนใดๆ ทั้งสิ้น และนายจ้างคุณก็โคตรโหด ไม่เคยคิดจะขึ้นเงินเดือนให้ และค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ขึ้นซักที อะไรแบบนี้ ในชีวิตจริง เงินเดือนคุณจะขึ้นครับ มันจะอัพหนีเงินเฟ้อไปได้นิดๆ หน่อยๆ ส่วนใหญ่เงินเดือนก็ขึ้นกัน 3%-10% แล้วแต่ความใจดีของนายจ้าง และหากคุณมีการเปลี่ยนงาน มีการอัพสกิลด้วย การที่จะได้อัพเงินเดือนแบบกระโดดที 25%-50% หรือมากกว่า มันก็มีความเป็นไปได้ครับ นี่ยังไม่นับว่าคุณยังมีโอกาสหารายได้เสริมจากช่องทางอื่นๆ อีกนะ
แต่แค่เก็บออม รับรองไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่นอน… บอกเลย
สมัยก่อนอะ เก็บออมไว้ใช้ยามแก่มันเป็นไปได้ ดอกเบี้ยเงินฝากสมัยผมยังเด็กๆ นี่คือ 10% นะครับพี่น้อง แต่สมัยนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนี่ไม่ติดลบแบบบางประเทศก็บุญแล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป 0.25% ต่อปี ส่วนเงินฝากประจำ 24 เดือน อยู่ระหว่าง 0.5% – 1.3% ต่อปี แล้วแต่ธนาคาร (ไปดูอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ล่าสุดที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย)
ต่อให้เก็บออมเก่งแค่ไหน ก็ไม่น่ารอดครับ ยกเว้นจะเก็บได้เฉลี่ยเดือนละหลายหมื่นบาทแบบที่คำนวณไว้ตอนแรกฮะ ถ้าแบบนั้นคือ คุณต้องได้งานรายได้ดีมากๆ หรือไม่ก็มีรายได้จากช่องทางอื่นๆ มาเสริมเยอะมากอะ แต่คนเรามันไม่ได้ทำได้แบบนี้กันทุกคนอะครับ
ฉะนั้น การลงทุนบ้างอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เงินเรางอกเงยไปได้เร็วกว่าการฝากธนาคารเฉยๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ต้องพึงระลึกเอาไว้เสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนยิ่งสูง ความเสี่ยงยิ่งมาก ไม่มีอะไรที่จะไม่มีความเสี่ยงครับ ฝากเงินไว้เฉยๆ ยังเสี่ยงเลย เพราะเงินอาจเสื่อมค่าจากเงินเฟ้อได้ เป็นต้น การลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ยันเหรียญคริปโต DeFi หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็มีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันทั้งนั้นฮะ สิ่งที่เราต้องทำคือ ศึกษาให้ถ้วนถี่ ประเมินให้ดีว่าลงทุนแบบนี้มันเหมาะกับจริตของเราใช่ไหม ทั้งในแง่ของการยอมรับความเสี่ยง และพฤติกรรมของเราด้วย เช่น ถ้าริจะลงทุนเทรดเหรียญคริปโต คุณต้องศึกษาให้ดี ตามข่าวตลอด ตัดสินใจรวดเร็วด้วย เพราะตลาดนี้มันเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และมีความเสี่ยงสูงสุดๆ เลย เป็นต้น
ภาพประกอบบล็อก: Business photo created by pch.vector – www.freepik.com