Home>>รีวิว>>รีวิว QNAP TS-473A NAS 4-bay ตระกูล AMD ฟีเจอร์ครบ มี Dual-OS และพร้อมอัปเกรดในอนาคตอีกตะหาก
QNAP TS-473A
รีวิว

รีวิว QNAP TS-473A NAS 4-bay ตระกูล AMD ฟีเจอร์ครบ มี Dual-OS และพร้อมอัปเกรดในอนาคตอีกตะหาก

ก่อนหน้านี้ผมได้รีวิว QNAP TS-673A ล่าสุด QNAP Thailand ก็เอา TS-473A ที่เป็นรุ่น 4-bay ในซีรี่ส์เดียวกันมาให้ลองด้วย บอกตรงๆ เล่นเอาลังเลเลยครับ เพราะความแตกต่างหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องขนาด น้ำหนัก กำลังไฟฟ้าที่ใช้ แล้วก็จำนวน Bay ของฮาร์ดดิสก์เท่านั้น ที่เหลือนี่คือ เหมือนกันหมดเลย ฉะนั้น หากไม่ต้องการใส่ฮาร์ดดิสก์เยอะ TS-473A นี่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้นะ ไม่เลวๆ เดี๋ยวมาดูกันว่ามันทำอะไรได้บ้าง

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้ว QNAP TS-473A นี่ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก QNAP Thailand ให้ยืมมาลองใช้ดูครับ เป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวจะมาเล่าสู่กันอ่านใน ณ บัดนาว

แพ็กเกจของ QNAP TS-473A นั้นจะประกอบไปด้วยตัว QNAP NAS ที่มีขนาดใหญ่กว่ารุ่น 4-bay ที่เคยออกมาก่อนหน้า (เช่นตัว TS-453D ที่ผมรีวิวไปเมื่อปีก่อน) ตัวนี้มีขนาด 188.2×199.3×280.8 มม. น้ำหนักยังไม่รวมฮาร์ดดิสก์ก็ 5.03 กิโลกรัมแล้ว หาทางวางไว้ดีๆ หน่อยแล้วกันนะครับ นอกจากนี้ภายในกล่องก็จะมีสายไฟ สาย LAN แบบ RJ45 CAT5e ซึ่งรองรับได้ถึง 2.5GbE อยู่แล้ว มีน็อตสำหรับใช้ยึดตัวฮาร์ดดิสก์ (กรณีจำเป็นต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว) ฮีตซิงก์สำหรับใช้ติด SSD M.2 และกุญแจสำหรับไขล็อกถาดใส่ฮาร์ดดิสก์

QNAP TS-473A ด้านหน้า

ด้านหน้าของ QNAP TS-473A ก็จะเป็นตามสไตล์ QNAP ฮะ เขาจะมีดีไซน์คล้ายๆ กันเป็นซีรี่ส์ๆ ไป เจ้านี่ก็จะหน้าตาละม้ายคล้ายกับ TS-673A แค่มีถาดฮาร์ดดิสก์ 4 ถาด ไอ้ตรงพื้นที่ดำๆ โล่งๆ ด้านบน ที่ผมนึกในใจว่าน่าจะเอาจอ LCD มาใส่ เพื่อบอกสถานะของตัวเครื่องซักหน่อยก็จะดี ก็ยังคงเป็นพื้นที่โล่งๆ ไปงั้นอยู่ จะมีก็แค่ไฟ LED บอกสถานะของเครื่อง เน็ตเวิร์ก และพอร์ต USB

นอกเหนือจากถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ ที่มีรูกุญแจสำหรับล็อกแล้ว ก็มีปุ่ม Power และปุ่ม Quick copy พร้อมพอร์ต USB-A เป็น USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) เอาไว้สำหรับก๊อปปี้ข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์เข้าสู่ QNAP NAS อย่างรวดเร็วด้วยการกดปุ่มเดียว

QNAP TS-473A ด้านหลัง

ด้านหลัง เราจะเห็นพัดลมเพียบเลยครับ มีสามตัว เล็ก กลางและใหญ่ ตัวเล็กสุดนั่นเอาไว้สำหรับระบายความร้อนให้กับตัว Power supply ที่งวดนี้ Built-in เข้ามาในตัว QNAP NAS เลย ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดี เพราะการมีอะแดปเตอร์มันทำให้เกะกะในการวาง และดูไม่สวยงามเท่าไหร่ พัดลมตัวกลาง เอาไว้ระบายความร้อนที่เกิดจากตัว CPU และ SSD M.2 (ถ้าใส่เข้าไป) และพัดลมขนาดใหญ่ก็เอาไว้ระบายความร้อนจากฮาร์ดดิสก์

พอร์ต LAN และ USB ของ QNAP TS-473A

พอร์ต LAN ที่ให้มาสองพอร์ต เป็นแบบรองรับมาตรฐาน 2.5GbE ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับสาย LAN แบบ CAT5e หรือ CAT6 ซึ่งน่าจะเป็นสายมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปตามบ้านและออฟฟิศอยู่แล้ว (หากคนวางระบบใส่ใจซักหน่อย เพราะบ้านผมก็ใช้สาย CAT6 นะ) ก็สามารถอัปเกรดมาเป็น 2.5GbE ได้เลย โดยแค่เปลี่ยนตัวสวิตช์หรือ Router ที่ใช้อยู่

นอกจากนี้ก็ยังมีพอร์ต USB-A แบบ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) มาให้สองพอร์ต เอาไว้เผื่อจะต่อพวก Expansion unit หรืออุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น USB WiFi dongle หรือ USB to 5GbE หรือ External HDD/Flash drive อะไรพวกนี้ และยังมีพอร์ต USB-C มาให้อีกพอร์ตนึง เรียกว่า มี Interface ครบเครื่องเลยครับ แต่แอบงงว่า ทำไมเขาให้พอร์ต USB-C มาเป็น USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) เฉยเลย ทั้งๆ ที่ถ้าเกิดให้มาเป็น USB 3.2 Gen 2 นี่จะดีงามมาก โดยเฉพาะเวลาจะเอาไปต่อกับพวก SSD แบบความเร็วสูงๆ ระดับ 1GB/s อะไรแบบนี้

สล็อตใส่การ์ด PCIe ของ QNAP TS-473A

ถ้าคิดว่าที่ให้มายังไม่พอ ไปนึกต่อแล้วกันว่าอยากได้อะไร เพราะมันมีพอร์ต PCIe Gen 3×4 มาให้อีกสองพอร์ต เอาไว้เสียบเพิ่มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ SSD M.2 เพิ่ม เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กแบบ 10GbE ใช้งาน Thunderbolt 3 เชื่อมต่อ WiFi รวมถึงการติดตั้งการ์ดจอภายนอก (รองรับพวกการ์ดจอ nVidia ระดับ Entry-level) เพื่อทำ GPU-passthrough ให้กับพวก Virtual machine ที่เราจะใช้

หน้าจอเริ่มติดตั้งของ QNAP TS-473A แสดงตัวเลือกระหว่าง Start Smart Installation หรือ QuTS hero

จุดเด่นอีกเรื่องของ QNAP TS-473A ก็คือ ซีรี่ส์นี้ จะเป็น Dual-OS ครับ เวลาติดตั้ง เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานระบบปฏิบัติการ QTS แบบเดิม ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป หรือออฟฟิศขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ใช้ไฟล์ระบบ EXT4 เหมือนเดิม หรือจะเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ QuTS hero ที่เปลี่ยนไปใช้ไฟล์ระบบ ZFS ซึ่งเป็นไฟล์ระบบแบบ 128-bit ก็ได้

ประโยชน์ของไฟล์ระบบแบบ ZFS เนี่ย คร่าวๆ เลย ก็คือ

• มีเทคโนโลยีลดการซ้ำซ้อนของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการ Deduplication, Compression หรือ Compaction
• ไฟล์ระบบแบบ ZFS นี่ขยายความจุได้ถึงระดับเพตะไบต์ ถ้าคุณคิดว่าแค่ระดับเทระไบต์ไม่พอกิน
• ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง SnapSync ซึ่งเป็นฟีเจอร์ด้าน Disaster recovery ของ QNAP ที่จะทำการสำรองข้อมูลของทั้ง NAS จากเครื่องนึงไปอีกเครื่องนึง (From local NAS to remote NAS) ในระดับ Block-level replication แบบ Real-time
• อัลกอริธึมในการบีบอัดข้อมูลเร็วกว่า
• ตัวไฟล์ระบบมีความสามารถในการป้องกันข้อมูลจากความเสียหายได้ดีกว่า

แต่ผมก็ยังยืนยันว่า สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป ใช้ระบบปฏิบัติการ QTS เหมือนเดิมไปแหละดีแล้ว เพราะ QuTS hero มีข้อจำกัดสำคัญอยู่เรื่องนึงคือ มันอัปเกรดความจุเพิ่มด้วยการเพิ่มฮาร์ดดิสก์เข้าไปใน RAID group ไม่ได้แล้ว มันต้องเพิ่ม RAID group เข้าไปใน Storage pool เลย ซึ่งการทำอะไรแบบนี้ มันเหมาะกับกรณีที่เรามี Bay เยอะๆ (ไม่ว่าจะมาจากตัว NAS เราเอง หรือมาจาก Expansion unit) และหากเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ ที่มากับไฟล์ระบบ ZFS แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบปฏิบัติการ QuTS hero นะ

ในการรีวิวใช้งานของผมก็เลยยังคงเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ QTS เช่นเคยครับ

การที่ QNAP TS-473A มาเลือกใช้หน่วยประมวลผลเป็น AMD Ryzen™ Embedded V1500B quad-core 2.2 GHz processor เทียบกับซีรี่ส์ที่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น Intel® Celeron® J4125 quad-core 2.0 GHz processor แล้ว มันก็มีข้อได้เปรียบ และข้อจำกัดบางอย่างครับ นั่นคือ

• ประสิทธิภาพในการประมวลผลของ CPU ดีกว่าพอสมควรในแง่ของการที่ทำ Hyperthreading ได้ ดังนั้นถึงแม้จะมี 4-core เท่ากัน แต่ AMD Ryzen V1500B นี่จะเหมือนมี 8-core1 และโดยปกติแล้ว ความเร็วของ CPU ก็จะเร็วกว่านิดหน่อย (2.2GHz vs 2.0GHz) แต่เรื่องความเร็วสัญญาณนาฬิกาชนะกันไม่ขาด เพราะ Intel Celeron J4125 มันบูสต์ตัวเองเป็น 2.7GHz ได้
• AMD Ryzen V1500B มี L2 cache 2MB แต่ว่ามี L3 cache อีก 4MB รวมแล้วเลยมีแคชอยู่ 6MB ในขณะที่ Intel Celeron J4125 มีแค่ L2 cache 4MB แต่ต้องไม่ลืมว่า L3 cache จะช้ากว่า L2 cache นะ

ข้อจำกัดที่การใช้ AMD Ryzen V1500B นำมาสู่ตัว TS-473A ก็คือ

• การสิ้นเปลืองพลังงานที่มากขึ้นอีกนิดหน่อย คือ TS-473A ใน HDD sleep mode จะกินไฟ 19.576 วัตต์ ส่วนโหมดปกติจะกินไฟ 29.792 วัตต์ ในขณะที่ TS-453D ใน HDD sleep more กินไฟแค่ 11.3 วัตต์ และโหมดปกติกินไฟ 25.98 วัตต์
• AMD Ryzen V1500B ไม่มี GPU มาให้ครับ ในขณะที่ Intel Celeron J4125 จะมี Intel HD Graphics 600 มาให้ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า TS-473A ไม่มีพอร์ต HDMI ให้ใช้ต่อออกจอแสดงผลภายนอก แต่เท่าที่เช็กกับเว็บไซต์ของ QNAP แล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ กับการทำ Multimedia server ด้วย Plex Media Server นะ เพราะการทำ Hardware transcoding ด้วย Plex จะต้องใช้การ์ดจอของ nVidia ซึ่งการเลือกใช้ TS-473A จะเป็นผลดีซะอีก เพราะมีสล็อต PCIe ให้เสียบการ์ดจอเสริมได้

ด้านในของ QNAP TS-473A เป็นเมนบอร์ด เห็น CPU และสล็อตใส่หน่วยความจำ กับ SSD M.2

ในภาพรวมแล้ว QNAP TS-473A เป็น NAS ที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน และผู้ใช้งานระดับองค์กร ที่วางแผนจะมีการอัปเกรดอะไรหลายๆ อย่าง เพราะเจ้าตัวนี้มีมาให้ครบเครื่องเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น

• การพร้อมรองรับ 2.5GbE มาในตัว และสามารถอัปเกรดไปรองรับ 5GbE และ 10GbE ได้ผ่านการใช้ USB dongle หรือใส่การ์ด PCIe เพิ่ม
• การต่ออุปกรณ์เสริม สามารถทำได้ผ่านทั้ง USB-A และ USB-C เรียกว่ามีอินเทอร์เฟซสำหรับพอร์ต USB ครบเครื่องอยู่
• รองรับ SSD M.2 มาเรียบร้อยในตัว สามารถเอาไปใช้ทำ Qtier หรือ SSD cache acceleration ก็ได้ และตัวนี้ไม่ได้เป็นแค่ M.2 แบบ SATA ด้วย แต่เป็น M.2 แบบ NVMe จึงได้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า (ต้องเช็ก Compatibility ให้ดีก่อนซื้อมาใช้นะครับ)
• การมีสล็อต PCIe ให้มาสองช่อง ทำให้ใส่การ์ดจอของ nVidia เพิ่มได้ มีประโยชน์ในแง่ของการทำ Virtual machine ด้วย เพราะว่าสามารถใช้ GPU-passthrough เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประมวลผลกราฟิกให้กับ Virtual machine ก็จะให้ประสบการณ์ VM ที่ดีขึ้น และยังเอาไปใช้ทำ Hardware transcoding กับ Plex Media Server ได้อีก
• แรมก็ใส่ได้สูงสุด 32GB และตัว NAS เอง ให้มา 8GB แล้ว แต่ใส่มาช่องเดียว เราสามารถใส่เพิ่มอีก 8GB กลายเป็น 16GB ได้เลย ไม่ต้องทิ้งแรมตัวเก่า (แต่ถ้าเกิดจะอัปเดตไปเป็น 32GB ก็ทำใจนะ หาที่ขายแรมมือสองรอได้เลย

ภาพระยะใกล้ของด้านในของ QNAP TS-473A เป็นเมนบอร์ด เห็น CPU และสล็อตใส่หน่วยความจำ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากดูข้อดี จะเห็นว่ามาจากการที่พร้อมอัปเกรด ซึ่งการอัปเกรดก็เท่ากับเราต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์เสริมมาเพิ่มนะครับ ดังนั้น TS-473A ยังไม่ถือว่า “เจ็บแต่จบ” เท่าไหร่ แต่การอัปเกรดถือว่าทำได้ไม่ยาก แกะเปิดฝามาง่ายๆ เลย จะอัปเกรดแรม ใส่ SSD M.2 เพิ่ม หรือใส่การ์ด PCIe ก็สะดวกสบายครับ

การที่ CPU ก็ทำ Hyperthreading ได้ ใส่แรมได้ตั้ง 32GB และสามารถเสริมการ์ดจอทำ GPU-passthrough ได้ นี่คือ ถ้าเราอัปเกรดไปเต็มเหนี่ยวแล้ว เอา QNAP TS-473A มาทำ Virtual machine รัน Windows ได้สบายๆ อยู่นะผมว่า แหม เสียดาย อุปกรณ์ไม่ครบ ไม่งั้นคงได้ลองทำ … เอาไว้ปีหน้าซื้อมาเล่นเองดีกว่า

บทสรุปการรีวิว QNAP TS-473A

เอาจริงๆ ทำให้ลังเลเลยนะ เพราะ TS-473A ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานของผม แต่ TS-673A ก็จะทำให้เผื่ออยากจะใส่ฮาร์ดดิสก์เพิ่ม ก็จะอัดเข้าไปได้อีก 2-bay ในราคาที่ต่างกันราวๆ 5 พันบาท (ผมเช็กราคามา TS-473A-8G ราคากลางอยู่ที่ 31,630 บาท ส่วน TS-673A-8G อยู่ที่ 36,510 บาท)

ตัวนี้อย่างที่บอก “เจ็บแต่ไม่จบ” แต่มันเหมาะมากสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านระดับ Power user ที่อยากได้ QNAP NAS ไปทำอะไรหลายๆ อย่างซึ่งดูจากความสามารถในการอัปเกรดด้านฮาร์ดแวร์แล้ว ขนาดเอามาทำ Virtual machine ก็น่าจะสบายๆ เลยแหละ (แต่ต้องใส่แรมและการ์ดจอเสริมไปให้) ผู้ใช้งานเชิงธุรกิจ ก็สามารถได้ประโยชน์จากทั้งการอัปเกรดไป 10GbE ในอนาคตถ้าต้องการ และการใส่ M.2 แบบ NVMe ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ Qtier และ SSD acceleration ได้อีก ถ้าคิดว่า 4-bay ก็เพียงพอแล้ว ค่าตัวสามหมื่นต้นผมว่าก็เพียงพอสำหรับใช้ไปยาวๆ นะครับ อย่าลืมว่า NAS ไม่ได้เปลี่ยนกันทุกปี TS-453A ของผมนี่ตั้งกะปี 2559 มานี่ก็ 5 ปีแล้ว ก็ยังใช้ได้ดีงามอยู่ (แต่ปีหน้าว่าจะอัปเกรดแล้ว เดี๋ยวตามเทคโนโลยีไม่ทัน)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า