Home>>รีวิว>>รีวิว Huawei Band 6 สมาร์ทแบนด์ตัวล่า ฟีเจอร์มาเพียบ ในราคาไม่ถึงสองพัน
Huawei Band 6 จำนวน 5 เรือน มีสีชมพู สีดำ สีชมพู สีส้ม และสีเขียว
รีวิว

รีวิว Huawei Band 6 สมาร์ทแบนด์ตัวล่า ฟีเจอร์มาเพียบ ในราคาไม่ถึงสองพัน

วันนี้ Huawei เขาเปิดตัวสมาร์ทแบนด์ตัวใหม่ Huawei Band 6 โดยงวดนี้มีทั้งการอัปเกรดในแง่ของฮาร์ดแวร์และฟีเจอร์ต่างๆ ไปพอสมควรเลย ผมก็เลยขอถือโอกาสเขียนบล็อกเล่าสู่กันอ่าน ในฐานะที่มีโอกาสได้เอามาลองใช้ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ จนถึง ณ บัดนาว ว่าเจ้านี่มีอะไรน่าสนใจบ้าง ใช้แล้วเวิร์กไม่เวิร์กยังไง

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

Huawei Band 6 ที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง Huawei Thailand ส่งมาให้ใช้งานจริง และเล่าประสบการณ์ในการใช้งานให้ผู้อ่านได้อ่านกัน โดยเนื้อหาที่ปรากฏในบล็อกตอนนี้ เป็นความเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว ชอบอะไรตรงไหน อยากให้มีการปรับปรุงอะไรตรงไหน ก็จะเขียนกันไปตรงๆ ครับ

แกะกล่อง Huawei Band 6 ออกมา ภายในประกอบไปด้วยตัวสมาร์ทแบนด์ สายชาร์จแบบที่เป็นแม่เหล็กพร้อมขั้วชาร์จแปะ ซึ่งแปะได้แม่น พร้อมชาร์จได้เลย แล้วก็มีคู่มือการใช้งาน ข้อมูลความปลอดภัย และใบรับประกันสินค้า … ก็แค่นี้แหละครับ ตัวเลือกในเรื่องของสี เต็มๆ เลย คือมี 5 สี แต่ในประเทศไทยเขานำเข้ามาขาย 3 สี คือ ดำ Graphite black, เขียว Forest green และ Sakura pink โดยตัวที่ผมได้มารีวิวเป็นสีเขียวครับ

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 ด้านหน้า วางอยู่บนพื้นลายไม้

Huawei Band 6 มีหน้าจอแสดงผลขนาด 1.47 นิ้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัย Huawei Band 4 Pro เขาว่ามีขนาดใหญ่ขึ้น 148% และมีอัตราส่วนพื้นที่การแสดงผลของหน้าจอต่อตัวเครื่องสูงขึ้น 64% เพราะมีขนาดหน้าจอที่ค่อนข้างบางมาก หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ AMOLED มีความละเอียด 194×368 พิกเซล ความหนาแน่นของพิกเซลอยู่ที่ 282PPI

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 ด้าน แสดงให้เห็นถึงเซ็นเซอร์วัดอัตราการต้นของหัวใจ และขั้วสำหรับชาร์จแบตเตอรี่

ด้านหลังของตัวสมาร์ทแบนด์ก็จะเป็นเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และขั้วชาร์จแบตเตอรี่ วัสดุทำตัวเรือนพยายามนึกอยู่ว่ามันเป็นโลหะไหม แต่เขาเขียนว่าเป็นโพลิเมอร์อย่างดีครับ มีปุ่มบนตัวเรือนแค่ปุ่มเดียว เอาไว้เปิดและกดเข้าเมนูของตัวสมาร์ทแบนด์

สายของสมาร์ทแบนด์เป็นซิลิโคน ที่เขาบอกว่าเป็นมิตรต่อทุกสภาพผิว และมีการเคลือบ UV ป้องกันสิ่งสกปรกได้ดี ตัวสายมีความกว้าง 16 มิลลิเมตร ความยาวสายด้านยาวคือ 124 มิลลิเมตร ด้านสั้นคือ 82 มิลลิเมตร ในแง่ของน้ำหนักนั้น เฉพาะตัวเรือนของสมาร์ทแบนด์อยู่ที่ 18 กรัม แต่เมื่อรวมสายที่แถมมาให้แล้ว ก็จะเป็น 30 กรัมครับ ยังถือว่าค่อนข้างเบามากทีเดียว

ประสบการณ์ในการใช้งาน Huawei Band 6

ความแตกต่างของสมาร์ทแบนด์ กับ สมาร์ทวอทช์ ก็คือเรื่องของขนาดหน้าจอ ซึ่งสมาร์ทแบนด์เนี่ย หน้าจอจะออกแนวยาวๆ และมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการแสดงผลข้อมูล และขนาดของพวกตัวอักษรและข้อความต่างๆ แต่สำหรับ Huawei Band 6 นั้น เขามีการขยายในเรื่องของความกว้างของหน้าจอเพิ่ม ก็เลยทำให้การแสดงข้อมูลต่างๆ บนหน้าจอของ Huawei Band 6 ค่อนข้างมีได้เยอะกว่า

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 วางอยู่กับตลับหูฟัง Huawei FreeBud 3i และแท็บเล็ต Huawei

ความชอบส่วนตัวของผม ผมชอบหน้าจอแสดงผลแบบ AMOLED เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะจอภาพมันจะสว่าง สีสด และเวลาต้องแสดงผลสีดำ มันดำได้สนิทดีมาก ซึ่งพอประกอบกับขอบหน้าจอที่ค่อนข้างบางมาก และเป็นสีดำ มันก็เลยให้ความรู้สึกว่า หน้าจอแสดงผลนี่เต็มๆ ตัวเครื่องมาก เข้าธีม FullView ของ Huawei เลย

ภาพระยะใกล้ของหน้าจอแสดงผลของ Huawei Band 6 แสดงให้เห็นถึงขอบหน้าจอสีดำ

น้ำหนักของสมาร์ทแบนด์รวมสายแล้ว อยู่ที่ 30 กรัม ถือว่าค่อนข้างเบาทีเดียว และสายซิลิโคนที่เคลือบ UV ก็ดูจะช่วยป้องกันเรื่องคราบสกปรกได้ดีทีเดียว เพราะจากที่ใช้ไปราวๆ 2 สัปดาห์ โดยใส่เกือบทุกวัน และมีการออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วๆ เป็นระยะๆ ก็สังเกตได้ว่าไม่มีพวกคราบสกปรกใดๆ มาเกาะ

ภาพของสมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 แสดงให้เห็นถึงสายซิลิโคนด้านยาว

ในฐานะสมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 ก็ทำอะไรต่อมิอะไรได้น้องๆ สมาร์ทวอทช์เลยนะครับ นั่นก็คือ การแสดงข้อความแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟน ซึ่งเราก็เลือกได้ว่าอยากให้แสดงการแจ้งเตือนจากแอปอะไรบ้าง เราก็เลือกแค่เฉพาะแอปที่เราสนใจก็พอ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่โดนกวนใจมากจนเกินเหตุ และก็ยังสามารถใช้แจ้งเตือนเวลามีคนเข้ามาได้ด้วย เพียงแต่ด้วยความที่ไม่ได้มีไมโครโฟนและลำโพงในตัว มันก็เลยทำได้แค่กดวางโทรศัพท์ หรือ ส่งข้อความกลับ

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 หน้ากำลังแสดงข้อมูลว่ามีคนโทรเข้ามา

ด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Accelerometer, Gyroscope และ Heart rate sensor ตัว Huawei Band 6 เลยสามารถตรวจจับกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลายเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือในร่ม ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก ฯลฯ และไม่ต้องห่วงนะครับ เจ้านี่กันน้ำได้ระดับ 5ATM ฉะนั้นการนำไปว่ายน้ำจึงไม่ต้องห่วง

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 หน้าจอกำลังแสดงตัวเลือกเมนูสำหรับออกกำลังกาย

การใช้งาน Huawei Band 6 สามารถใช้ได้กับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS (เวอร์ชัน 9.0 หรือใหม่กว่า) และ Android (เวอร์ชัน 6.0 หรือใหม่กว่า) โดยเชื่อมต่อผ่านบลูทูธซึ่งรองรับ Bluetooth 5.0 BLE กับแอป Huawei Health ครับ ซึ่งแอปนี้ก็จะทำหน้าที่ทั้งเชื่อมต่อกับตัวสมาร์ทแบนด์ เพื่อตั้งค่าต่าง ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดและเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกา อัปเดตเฟิร์มแวร์ การตั้งค่าการแจ้งเตือน ฯลฯ และมันก็ยังทำหน้าที่แสดงผลการตรวจติดตามกิจกรรมต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการนับจำนวนก้าวที่เดิน การออกกำลังกาย การนอน อัตราการเต้นของหัวใจ ความเครียด รวมถึงความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดของเราได้ด้วย

การเชื่อมต่อตัว Huawei Band 6 กับสมาร์ทโฟน ทำได้แบบบอกเลยว่า โค-ตะ-ระ ง่ายมาก ตัวแอปจะสแกนหาสมาร์ทแบนด์เจอแล้วก็พร้อมเชื่อมต่อได้เลย การสลับไปมาระหว่างสมาร์ทโฟนก็ง่าย ผมลองสลับระหว่าง Samsung Galaxy Z Fold 2 และ Huawei P40 Pro ดูแล้ว

หน้าจอแอป Huawei Health แสดงข้อมูลในภาพรวมบน Dashboard

ในส่วนของการออกกำลังกาย ด้วยความที่ผมไม่ใช่สายออกกำลังกาย ผมเลยไม่ได้ทดสอบอะไรเยอะมากในเรื่องนี้ เลยเน้นไปที่การเดินออกกำลังกายกลางแจ้งแทนนะครับ ตัว Huawei Band 6 นี่ยังแอบน่าเสียดายตรงด้วยข้อจำกัดในเรื่องของขนาด (เพราะมันเป็นแค่แบนด์) มันก็เลยไม่มี GPS ในตัว ไม่ได้มีเนื้อที่สำหรับการเก็บข้อมูลสำหรับเก็บเพลงเอาไว้ และไม่มีการเชื่อมต่อบลูทูธไปยังหูฟังไร้สายได้โดยตรง การออกกำลังกาย ถ้าใครอยากจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน อยากฟังเพลงในระหว่างการออกกำลังกาย ก็ยังจำเป็นต้องพกสมาร์ทโฟนติดตัวออกไปด้วยนะครับ

หน้าจอแอป Huawei Health ขณะกำลังแสดงข้อมูลรายละเอียดการออกกำลังกาย

แต่ในด้านความแม่นยำ ผมได้ลองทำกิจกรรมออกกำลังกายด้วยการเดินกลางแจ้ง บนเส้นทางเดิมๆ โดยเทียบกับข้อมูลที่ผมได้ตอนที่ทำแบบเดียวกันนี้ ด้วยสมาร์ทวอทช์ยี่ห้ออื่นๆ (รวมถึงของ Huawei เองด้วย) ซึ่งมี GPS อยู่ด้วย ก็พบว่า ข้อมูลที่ได้ทั้งในด้านความเร็ว ระยะทาง อะไรพวกเนี้ย ใกล้เคียงกัน ก็ต้องถือว่าความแม่นยำนี่มีพอตัว แม้จะไม่มี GPS ที่เพิ่มเติมมา ที่คู่แข่งบางค่ายเขาไม่มี ก็น่าจะเป็นเรื่องของการประเมินค่า VO2 MAX หรือ ค่าการใช้ออกซิเจนของร่างกาย เมื่อออกกำลังอย่างเต็มกำลังถึงที่สุด (แอบนอยด์กับข้อมูลของตัวเอง ที่ Huawei Health app ประเมินว่าผมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ชายในวัยเดียวกัน … แง๊ว)

หน้าจอแอป Huawei Health ขณะกำลังแสดงข้อมูลการนอนหลับ

ในส่วนของการติดตามการนอนหลับ เท่าที่ลองประเมินดูจากข้อมูลที่เขาเก็บมาได้ กับความรู้สึกที่ตัวผมเองได้รู้สึกตอนตื่นนอนมา ผมก็มองว่าข้อมูลที่แจ้งมาน่าจะตรง (แต่จริงๆ จะประเมินได้ว่าแม่นแค่ไหน อาจต้องทำ Sleep test เทียบด้วย จะดีที่สุด) อย่างน้อยๆ ก็ตอนที่เริ่มหลับ ตอนที่ตื่นจริง หรือ ตอนที่ตื่นมากลางดึก ข้อมูลมันก็ดูครบถ้วนอยู่ครับ และความรู้สึกของผมตอนที่ตื่นมาตอนเช้า ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับคะแนนการนอนหลับที่เขาให้ อย่างไรก็ดี หากคะแนนการนอนหลับไม่ดี แล้วคุณลองปรับพฤติกรรมการนอนบ้างแล้ว แบบนอนเยอะมากแล้ว มันก็ยังออกมาไม่ดี ผมแนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีกว่านะครับ คะแนนที่ได้จากพวกสมาร์ทวอทช์หรือสมาร์ทแบนด์แบบนี้ มีไว้เป็น “สัญญาณเตือน” ความผิดปกติก็พอ แต่ต้องตระหนักไว้เสมอว่านี่ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 หน้าจอกำลังแสดงข้อมูลการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือ SpO2

ฟีเจอร์การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือ SpO2 กลายเป็นฟีเจอร์ที่ยอดฮิตของยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้ว เพราะมันช่วยเตือนความผิดปกติที่เกิดกับปอดของเราได้ ซึ่งปกติควรจะอยู่ที่ 98%-99% หรือบางคนนี่อาจได้ 100% เลยด้วย หากต่ำกว่านี้ ก็อาจจะต้องเฝ้าติดตามดูว่าเป็นแบบนี้ตลอดไหม หากใช่ อาจต้องพบแพทย์ ก็เป็นอะไรที่ Huawei Band 6 สามารถวัดได้ครับ

ด้วยความที่ Huawei เป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลก และมีความพยายามสูงในการทำ Localize ประกอบกับขนาดของหน้าจอ Huawei Band 6 ก็มีขนาดใหญ่เบิ้มอยู่เมื่อเทียบกับพวกสมาร์ทแบนด์ทั่วๆ ไป หน้าปัดนาฬิกาสำหรับ Huawei Band 6 ก็เลยมีให้เลือกค่อนข้างเยอะทีเดียว หลายๆ อันก็สวยๆ ด้วย กิ๊บเก๋มาก และมีหน้าปัดนาฬิกาสไตล์ไทยให้เลือกดาวน์โหลดด้วย

ทว่า มันก็มีข้อจำกัดนิดนึงตรงที่พวกหน้าปัดนาฬิกาที่ต้องซื้อ มันแสดงผลและซื้อได้เฉพาะแค่คนที่ใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei เท่านั้นครับ ทั้งนี้เพราะประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าที่ Huawei โดนอยู่ ส่งผลให้เขาไม่สามารถไปใช้สโตร์ของ Apple และ Google ได้ (คิดว่างั้นนะ) ฉะนั้น หน้าปัดนาฬิกาที่ออกแบบโดยนักออกแบบคนไทยอีกหลายอันที่สวยๆ เลยซื้อไม่ได้ฮะ ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนของ Huawei

สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 หน้าจอกำลัง หน้าปัดนาฬิกาเป็นลายวัดและยักษ์ ของไทย

แต่ผมก็พบว่ามันก็พอมีทางออกนะ คือ ถ้าเรามีเพื่อนที่ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของ Huawei อยู่ ก็ไปล็อกอิน Huawei ID ที่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเขา แล้วเอา Huawei Band 6 ของเราไปจับคู่กับ Huawei Health app ของเพื่อนก่อน แล้วซื้อให้เรียบร้อย (ซึ่งสามารถจ่ายได้ทั้งผ่านบัตรเครดิต หรือ True Money Wallet ซึ่งผมเลือกแบบหลังเพราะสะดวก แค่ต้องใส่เบอร์โทร กับกรอก OTP) แล้วค่อยกลับมาจับคู่กับสมาร์ทโฟนของเราเหมือนเดิม เราก็จะได้หน้าปัดนาฬิกานั้นมาด้วย เพราะมันผูกกับ Huawei ID ครับ และจากการทดสอบนี้ ก็ทำให้ผมรู้สึกว่า การจับคู่อุปกรณ์ของ Huawei Band 6 นี่ รวดเร็วมาก ขั้นตอนไม่เยิ่นเย้อเหมือนของค่ายอื่นเลย

แบตเตอรี่ ความจุ 180mAh แต่อึดเอาเรื่อง เขาโฆษณาว่าอยู่ได้ 14 วัน เท่าที่ผมลองใช้ มันก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น ในกรณีการใช้งานแบบทั่วๆ ไป ที่มีการแจ้งเตือนเด้งๆ ตลอดเวลา และมีการออกกำลังกายสัปดาห์นึงหลายๆ หน หนละ 1 ชั่วโมงอะไรแบบนี้ แบตเตอรี่อยู่ในระหว่าง 7-10 วันครับ แล้วแต่พฤติกรรมการใช้งาน แต่ผมก็มองว่ามันอยู่ได้อึดถึกพอแล้ว เพราะต่อให้เราออกไปเที่ยวไหนหลายๆ วัน (แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เราก็ไม่ต้องวุ่นวายกับการพกสายชาร์จไปด้วยเลย แต่ถึงจะมีความจำเป็นต้องรีบๆ ชาร์จ รีบๆ ใช้ เจ้านี่ก็รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว ชาร์จแบตเตอรี่แค่ 5 นาที ก็ได้แบตเตอรี่มากพอใช้ราวๆ 2 วัน และสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มภายใน 65 นาทีด้วย

บทสรุปการรีวิว Huawei Band 6

ผมว่ามันเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับคนที่อยากได้ Activity tracker และอะไรที่เกือบๆ จะเป็นสมาร์ทวอทช์ เพราะหน้าจอ 1.47 นิ้ว ก็ไม่เรียกว่าเล็กแล้ว และฟีเจอร์ในการตรวจจับกิจกรรมต่างๆ ของ Huawei Band 6 ก็เรียกว่าครบเครื่อง รวมถึงสามารถเป็นเครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้อีก ซึ่งเป็นประโยชน์แน่นอน ในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดเยอะมากในตอนนี้ เท่าที่ลองใช้ดู แม้เราจะไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei ก็ยังสามารถใช้งานได้เต็มที่เกือบ 100% จะขาดไปก็แค่ความสามารถในการซื้อหน้าปัดนาฬิกาใหม่เท่านั้นแหละ แต่ของฟรีที่มีให้ดาวน์โหลดก็มีเยอะอยู่ และหลายๆ ตัวก็สวยพอตัวอยู่นะ

ราคาเต็มเห็นเขาบอกว่า 1,899 บาท แต่ตอนเปิดตัวนี่ราคาพิเศษ 1,499 บาทเท่านั้น ซื้อได้จากลิงก์ด้านล่างเลยฮะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า