ในขณะที่ HBS3 เป็นโซลูชันแบบ One-stop service ด้านการสำรองข้อมูลสำหรับ QNAP NAS ซึ่งอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานได้มาก แต่สำหรับมือใหม่ก็จะเกิดความสับสนระหว่างคำว่า แบ็กอัพ (Backup) และ ซิงก์ (Sync) ว่ามันแตกต่างกันยังไง และตอนไหนถึงควรทำแบ็กอัพ แล้วตอนไหนถึงควรจะใช้ซิงก์ ในบล็อกตอนนี้ จะมีคำตอบมาให้อ่านกันครับ
ทำความรู้จัก HBS3 กันอีกรอบ
HBS ชื่อเต็มๆ คือ Hybrid Backup Sync ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะว่ามันใช้ได้ทั้งสำหรับการแบ็กอัพ (Backup) และการซิงก์ (Sync) ข้อมูล และทำได้ทั้งกับ QNAP NAS เอง และบริการ Cloud storage ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่าง Dropbox, Box, Google Drive, OneDrive ฯลฯ ไปยัน Cloud Storage ระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Digital Ocean, Google Cloud Storage, Azure Storage, Amazon S3 ฯลฯ

ทีนี้คำถามก็มีอยู่ว่า ที่ผมบอกว่า HBS3 อะ มันทำได้ทั้งแบ็กอัพและซิงก์ข้อมูล แล้วทั้งสองอย่างนี้มันแตกต่างกันยังไงล่ะ? แล้วเราจะพิจารณาใช้อันไหน ตอนไหน มาดูรายละเอียดกันครับ
การใช้ HBS3 แบ็กอัพคือ…
การแบ็กอัพคือการทำสำเนาของข้อมูลขึ้นมาอีกชุด แล้วนำไปเก็บไว้ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งพื้นที่อื่นใน QNAP NAS ตัวเดิม (หรือก็คือ Local NAS) QNAP NAS ตัวอื่นที่อาจจะอยู่ในวง LAN เดียวกัน หรือต่างวง LAN ก็ได้ (หรือที่เรียกว่า Remote NAS) หรือจะเป็น Cloud storage ต่างๆ ก็ได้เช่นกัน

การทำแบ็กอัพคือการสำรองข้อมูลจริงๆ เพราะแม้ว่าข้อมูลต้นทางจะถูกแก้ไข หรือถูกลบออกไป เราก็สามารถกู้ข้อมูล (Restore) คืนกลับมาได้ เพียงแต่ว่าข้อมูลที่ถูกแบ็กอัพไปแล้ว กับข้อมูลที่อยู่บน NAS อาจจะ (และมักจะ) ไม่ใช่ข้อมูลตัวล่าสุดเสมอไป เพราะการแบ็กอัพจะถูกทำตามรอบของเวลาที่เรากำหนดไว้ (Schedule) หรือ เมื่อเราสั่งให้ทำการแบ็กอัพ (Manual) ฉะนั้นข้อมูลที่ถูกกู้กลับคืนมา อาจจะไม่ใช่ข้อมูลชุดล่าสุดนะครับ
แต่การทำแบ็กอัพมันมีข้อดีอยู่สองเรื่อง คือ
• สามารถทำ Versioning ได้ คือ สามารถทำสำเนาของข้อมูลเก็บไว้หลายชุด โดยแต่ละชุดก็จะเก่าใหม่ไม่เท่ากัน เพื่อที่เวลาจะเลือกกู้ข้อมูลกลับ เราจะสามารถเลือกได้ว่าอยากกู้ข้อมูลคืนจากช่วงเวลาไหน ยกตัวอย่างเช่น เราทำการแบ็กอัพไฟล์เอกสารชิ้นนึงไว้ 5 เวอร์ชัน โดยแบ็กอัพทุกๆ ชั่วโมง เวลาเราจะกู้ข้อมูลมา เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะกู้ไฟล์เอกสารเวอร์ชันที่เราแบ็กอัพไว้ตอนชั่วโมงไหน มันจะมีประโยชน์เพราะบ่อยครั้ง ข้อมูลที่เราอยากกู้กลับคืนมา มันก็ไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุดเสมอไป แต่เราต้องการเวอร์ชันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นต่างหาก ซึ่งใน HBS3 เนี่ย เราสามารถกำหนดได้ว่าเราอยากจะทำกี่เวอร์ชัน หรือ ใช้ฟีเจอร์ Smart versioning ให้ซอฟต์แวร์ตัดสินใจเรื่องเวอร์ชันให้เราเองก็ได้ เราแค่กำหนดว่าอยากเก็บข้อมูลไว้นานแค่ไหน (สามารถกำหนดได้เป็นจำนวนชั่วโมง วัน สัปดาห์ หรือ ปี โดยกำหนดได้นานสุด 10 ปี)

• สามารถทำการ Dedup ข้อมูล เพื่อประหยัดเนื้อที่สำรองข้อมูลได้ โดยระบบจะใช้เนื้อที่เต็มในการเก็บข้อมูลชุดแรก และหลังจากนั้น เวลาที่จะเก็บเวอร์ชันถัดๆ ไป มันก็จะทำการ Dedup ข้อมูล เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการจัดกับสำเนาข้อมูล และในกรณีที่สำรองข้อมูลไปยัง Remote NAS หรือ Cloud storage มันก็จะช่วยเรื่องความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลด้วย (เพราะข้อมูลที่ต้องแบ็กอัพในเวอร์ชันหลังๆ มีขนาดเล็กลง)
เราจะทำการแบ็กอัพ ก็เพื่อทำการสำรองข้อมูลตามชื่อของมันนี่แหละครับ สำรองข้อมูลไปเก็บไว้ เกิดข้อมูลสูญหาย หรือ มีปัญหาขึ้นมา เราก็จะสามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้จากชุดสำเนาที่เราทำเก็บเอาไว้
ส่วนการใช้ HBS3 ทำการซิงก์ คือ…
การซิงก์ (Sync) ย่อมาจากคำว่า Synchronization หมายถึง การทำให้อะไรที่เกิดขึ้น ณ จุดนึง มันไปเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เหมือนๆ กัน ณ จุดอื่นที่กำหนดด้วย เมื่อเราทำให้ข้อมูลใน QNAP NAS มันไปซิงก์กับข้อมูลที่ NAS ตัวอื่น หรือ Cloud storage มันก็จะหมายความว่าเป็นการทำให้ข้อมูลที่อยู่บน QNAP NAS และที่อยู่บน NAS ตัวอื่น หรือบน Cloud นั้น เหมือนกันเป๊ะๆ ถ้าเกิดอันไหนโดนแก้ อีกอันก็จะโดนแก้ตามไปด้วย อันไหนโดนลบ อีกอันก็โดนลบตามไปด้วย

การตั้งค่าซิงก์ข้อมูลใน HBS3 มันมีสามแบบครับ คือ
• Two-way Sync Job คือ ทำให้ข้อมูลทั้งฝั่งต้นทาง (Source) ที่เป็น QNAP NAS และปลายทาง (Destination) ที่เป็น Local NAS, Remote NAS หรือ Cloud storage ถูกอัปเดตให้เหมือนกัน โดยไม่ว่าฝั่งไหนจะมีการอัปเดตยังไง อีกฝั่งก็จะถูกอัปเดตไปเหมือนกัน การทำ Two-way sync นี่จะไม่เรียกว่าเป็นการแบ็กอัพ เพราะว่าหากเผลอลบข้อมูลไป หรือมีการแก้ไขใดๆ เกิดขึ้น ข้อมูลอีกชุดมันก็จะโดนกระทำไปเหมือนๆ กัน แต่ถามว่าทำไมเราถึงทำ Two-way sync? ก็เพราะบางทีเราอยากให้ข้อมูลมันมีอยู่เหมือนๆ กันทั้งสองที่ และจะมีการเรียกใช้และแก้ไขได้จากทั้งสองที่ (แต่ไม่พร้อมกัน) นั่นเอง
• One-way Sync Job คือ การอัปเดตข้อมูลปลายทางที่เป็น Local NAS, Remote NAS หรือ Cloud storage) เหมือนกับข้อมูลบน QNAP NAS ฝั่งเดียว การอัปเดตใดๆ ที่เกิดขึ้นที่ต้นทางจะไปเกิดที่ฝั่งปลายทางด้วย แต่การอัปเดตใดๆ ที่เกิดขึ้นที่ฝั่งปลายทาง จะไม่ถูกซิงก์กลับมาที่ฝั่งต้นทาง การซิงก์แบบนี้ มักจะถูกใช้ตอนทำ Long-term migration คือ จะมีการย้ายระบบเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถทำจบได้ในเวลาสั้นๆ และงานก็ยังต้องเดินอยู่อะไรแบบนี้ แล้วเราก็กลัวว่า ถ้าเผลอไปทำอะไรพลาดที่ฝั่งปลายทางแล้ว เดี๋ยวข้อมูลที่ฝั่งต้นทางที่ซิงก์อยู่จะหายไปด้วย ก็มาใช้ One-way sync แบบนี้แทน
• Active Sync Job จริงๆ ก็คือ One-way Sync Job นั่นแหละ เพียงแต่ทิศทางการซิงก์มันย้อนกลับ คือ ข้อมูลต้นทางจะเป็น Local NAS, Remote NAS หรือ Cloud storage แทน ส่วนฝั่งปลายทางก็คือ QNAP NAS ของเราครับ การตั้งชื่อเป็น Active sync นี่ทำให้คนสับสนจริงๆ ฮะ
สรุปนะ การทำซิงก์จะใช้ตอนที่เราอยากให้ข้อมูลทั้งต้นทางและปลายทางเหมือนกัน ซึ่งอาจจะใช้เมื่อเรามีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกัน จากต้นทาง หรือจากปลายทาง ฝั่งไหนก็ได้เลย (ใช้ Two-way sync) หรือ ใช้เพื่อทำการ Migrate ข้อมูลในแผนระยะยาว อันนี้ก็เลือกใช้ One-way sync หรือ Active sync ตามความเหมาะสม