แม้ว่าสงครามการค้าจะส่งผลให้ Huawei ถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการหลายๆ อย่างที่เป็นของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึง Google Mobile Services ซึ่งเป็นบริการสำคัญมากๆ สำหรับผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศจีน แต่ Huawei ก็ยังไม่เคยคิดจะถอดใจ และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เลย และบอกตรงๆ แอบเสียดายมาก เพราะผลิตภัณฑ์ของ Huawei นั้น สเปกเรียกว่าดีทีเดียว ในราคาที่แบบว่าไม่แพงเลยอะ และล่าสุดนี่ผมก็มีโอกาสได้เอา Huawei MatePad 10.4″ รุ่นปี 2021 มารีวิวพร้อม Smart Keyboard ฮะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Huawei MatePad 10.4″ (2021) ที่ใช้รีวิวในบล็อกตอนนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง Huawei Thailand ให้ยืมมาใช้ประมาณ 3 สัปดาห์ได้ (จริงๆ เขาให้ยืมแค่สอง แต่นี่ขอเพิ่มอีกหนึ่ง เพราะติดสงกรานต์) ซึ่งก็ได้ลองพกพาไปใช้งานแบบจริงๆ และเก็บประสบการณ์มาเล่าสู่กันอ่านตามที่ผมรู้สึกเลยนะครับ … ย้ำว่านี่เป็นความเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะเหมือน หรือไม่เหมือนกับคนอื่นได้
อาจจะเพราะด้วยความที่มีข้อจำกัดมากกว่าคู่แข่งตรงที่ไม่มี Google Mobile Services ก็เลยส่งผลให้ Huawei ค่อนข้างทำราคาไว้ดึงดูดใจมากกว่าคู่แข่ง คือ 9,990 บาท และมีการแจกของโน่นนี่พอสมควรเลย ตัว Huawei MatePad 10.4″ (2021) นี้มีให้เลือกสีเดียว คือ สีเทาดำ Midnight Grey ครับ และมีสเปกเป็น Kirin 820 กับ GPU เป็น Mali-G57 ให้แรมมา 4GB กับความจุ 128GB ไม่มีสเปกอื่นใดให้เลือกแล้ว และแถมตัว Huawei Smart Keyboard (ปกติ 1,990 บาท) มาให้ด้วย นอกจากนี้ก็มีแถมลำโพงบลูทูธกับชุด City Travel Gift มาให้อีกอย่างละหนึ่ง ซึ่งผมจะไม่ขอพูดถึงนะครับ
ตัวแพ็กเกจของ Huawei MatePad 10.4″ (2021) ประกอบไปด้วยตัวเครื่อง Huawei MatePad 10.4″ ตัวปลั๊กชาร์จ SuperCharge แบบ Max 22.5 วัตต์ ตัวจิ้มถาดใส่ซิม และสาย USB-A to USB-C ความยาว 1 เมตร ซึ่งผมไม่ชอบสไตล์ของปลั๊ก SuperCharge เท่าไหร่ เพราะเป็นหัวแบบ Type G ที่เห็นใช้กันในอังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งไม่ใช่แบบที่ใช้ได้กับบ้านเราเลย แล้วพวกปลั๊กแบบ Universal เนี่ย ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เขากำหนดไว้ว่า ห้ามใช้เต้ารับแบบ Universal กับรางปลั๊กไฟ-ปลั๊กพ่วง แบบ มอก. 2432-2555 แล้ว ซึ่งผลก็คือทำให้เราเห็นว่าปลั๊กไฟ และรางไฟที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องได้รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อความปลอดภัย จึงไม่มียี่ห้อไหน รุ่นใด ใช้หัวปลั๊กแบบ Universal อีก ส่งผลให้ ถ้าเราจะเอาหัวปลั๊กของ Huawei ที่แถมมาให้มาใช้ เราก็ต้องไปหา Travel adapter มาต่อเพิ่มอีก วุ่นวาย
เหตุผลที่ สมอ. ไม่ให้ใช้หัวปลั๊กแบบ Universal
มีคนสอบถามไปทาง สมอ. ว่าทำไมถึงไม่อนุญาตให้ใช้หัวปลั๊กแบบ Universal ก็ได้คำตอบมาว่า หัวปลั๊กพวกนี้ มักจะเสียบกับปลั๊กของเราได้ไม่แน่น ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะถ้าใช้ไปนานๆ และยังสามารถเสียบผิดเสียบถูก เช่น สลับกราวด์เข้ากับขั้ว L หรือ N จนเกิดอันตรายได้ เขาว่าซั่น
Huawei MatePad 10.4″ (2021)
สำหรับตัว Huawei MatePad 10.4″ (2021) นั้น ขนาดค่อนข้างกะทัดรัดดี แม้จะมีขนาดหน้าจอ 10.4 นิ้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะขอบหน้าจอค่อนข้างบางทีเดียวครับ ตามสมัยนิยม เดี๋ยวนี้ใครเขาใช้มือถือหรือแท็บเล็ตขอบจอหนาๆ กันบ้างล่ะ มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 460 กรัม เรียกว่าเบาเอาเรื่อง หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ IPS LCD ความละเอียด 2,000×1,200 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผลแบบ 16:9.6
รอบๆ ตัวเครื่องก็ไม่มีอะไรมาก ก็ตามนี้เลยครับ
• ด้านบนเป็นปุ่ม Power และลำโพงสเตริโอ 2 ตัว
• ด้านขวาเป็นปุ่ม Volume และไมโครโฟน 4 ตัว
• ด้านซ้ายเป็นถาดใส่ MicroSD card เอาไว้เพิ่มความจุให้ตัวเครื่อง ใส่ได้สูงสุด 512GB
• ด้านล่างเป็นพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ และลำโพงสเตริโอ 2 ตัว
ด้านหน้าของตัวเครื่อง เป็นกล้องดิจิทัลความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เลนส์ Ultrawide ส่วนด้านหลังเนี่ย เป็นกล้องดิจิทัลความละเอียด 8 ล้านพิกเซลเท่ากัน แต่เป็นเลนส์ธรรมดา ออโต้โฟกัส ดูจากสเปกกล้องแล้ว น่าจะเอาไว้เน้นทำงานมากกว่าจะเอาไว้ถ่ายรูปนะ
Huawei Smart Keyboard

มาดูที่ตัว Smart Keyboard ที่แถมมาบ้าง เจ้านี่ถูกออกแบบมาให้เป็นเคสใส่ Huawei MatePad 10.4″ ไปด้วยเลยครับ พอพับเก็บก็จะมีคีย์บอร์ดปิดหน้า มีฝาปิดหลังเรียบร้อย และเพราะไม่มี NumPad, TouchPad กับพวก Function key เหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป ก็เลยมีพื้นที่ให้ใส่แป้นพิมพ์มีขนาดใหญ่พอๆ กับพวกคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กได้สบายๆ มีสกรีนสองภาษา ไทย-อังกฤษ เรียบร้อย
การเชื่อมต่อทำได้ไม่ยุ่งยากมาก หลักๆ ก็แค่เปิดบลูทูธเอาไว้ เปิดสวิตช์ของคีย์บอร์ด แล้วก็จับแท็บเล็ตมาแปะกับคีย์บอร์ดในสภาพพร้อมใช้งาน เดี๋ยวหน้าจอมันก็จะแสดงวิธีการติดตั้งต่อเอง

การชาร์จแบตเตอรี่ของ Smart Keyboard ก็ทำได้ผ่านพอร์ต USB-C ครับ ใช้ที่ชาร์จเดียวกับของตัว Huawei MatePad 10.4″ (2021) ได้อยู่ อย่างไรก็ดี ตามสเปกไม่มีบอกไว้ว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ยาวนานแค่ไหน และเท่าที่ผมลองใช้มา แบตเตอรี่ก็ยังอยู่ดี ไม่หมดนะ ข้อติคือ คุณพี่ไม่บอกปริมาณแบตเตอรี่ของคีย์บอร์ดให้รู้เลยว่ามีเหลือเท่าไหร่นี่สิ
ประสบการณ์ในการใช้งาน Huawei MatePad 10.4″ (2021) พร้อม Smart Keyboard
ผมจะไม่ขอบ่นซ้ำๆ แล้วกันว่าการไม่มี Google Mobile Services มันเป็นยังไง ไปหาอ่านในบล็อกที่ผมเคยเขียนเอาไว้ได้ แต่ที่ผมพยายามทดลองใช้ก็คือ ผมใช้บริการของ APKPure ซึ่งแอบรำคาญโฆษณาที่มีเด้งขึ้นมาบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็เข้าใจได้ว่าเขาก็ต้องมีรายได้จากตรงนี้บ้าง และบริการเขาก็ไว้ใจได้ดีอยู่ ซึ่ง APKPure ก็ช่วยให้ผมสามารถดาวน์โหลดแอปโน่นนี่นั่น มาได้ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ว่า APKPure จะไม่มีแอปที่เป็นของไทย แต่เมื่อใช้ประกอบกับ Huawei AppGallery แล้ว ก็เรียกว่ามีแอปใช้ค่อนข้างครบอยู่นะ นี่เห็นมีกระทั่ง เป๋าตังค์ ถุงเงิน เลยทีเดียว
เอาเป็นว่าการจับคู่ของ APKPure กับ AppGallery ทำให้ราวๆ 90% ของแอปที่เราๆ ท่านๆ ใช้กัน สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งบน Huawei MatePad 10.4″ ได้แล้ว ที่ยังขาดอยู่ ก็จะเป็นพวก
• แอปที่จำเป็นต้องใช้ Google Mobile Services เป็นหลักเลย เช่น บรรดาแอปของ Google ทั้งหลาย
• แอปของไทย ที่ Huawei ยังไม่ได้ไปดีลให้พอร์ตมาลง AppGallery ซึ่งเท่าที่ผมสังเกต ก็มีพวกแอปเกี่ยวกับการลงทุน เช่น Jitta, Odini, FINOMENA อะไรพวกนี้ (แต่ Streaming for Android ของ Settrade นี่มีนะ ใครที่เล่นหุ้นผ่านแอปนี้ หมดห่วง)

ถ้าเราดาวน์โหลด Google Chrome มาจาก APKPure แล้ว เราก็จะสามารถเข้าใช้งาน Gmail หรือ YouTube ได้แบบเต็มรูปแบบ เพราะเราจะสามารถล็อกอินด้วย Google Account ได้ แต่ถ้าเราใช้ Huawei Browser เราจะล็อกอินไม่ได้ เพราะ Google จะมองว่าเบราว์เซอร์ไม่ปลอดภัย ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรนะครับ มันก็มาจากการที่ Huawei โดนสหรัฐอเมริกาแบนนั่นแหละ
ส่วนใครอยากจะใช้ Gmail หรือ YouTube ผ่านแอป ก็น่าเสียดายที่แอปที่ดาวน์โหลดจาก APKPure ไม่สามารถล็อกอินเข้า Google Account ได้ ถ้าเราอยากจะใช้บริการพวกนี้ผ่านแอป เราต้องดาวน์โหลดแอปอื่นมา เช่น Sparks ที่เป็น 3rd party email client (แต่ต้องใช้ทริกนิดหน่อยตอนล็อกอิน) หรือ YouTube Vanced สำหรับ อะไรพวกนี้

แต่สำหรับการใช้บริการของ Microsoft ผมไม่พบปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้ Microsoft Office หรือ Microsoft Outlook ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้ทริกใดๆ เพิ่ม นอกจากไปดาวน์โหลดแอปมาจาก APKPure ก็เท่านั้น ใครที่คิดว่าจะหาแท็บเล็ตมาทำงานออฟฟิศแบบง่ายๆ Huawei MatePad 10.4″ อาจจะเป็นคำตอบก็ได้ น้ำหนัก 460 กรัม ราคา 9,990 บาท พกไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช็กอีเมลได้ด้วย แบตเตอรี่ก็อึดกว่า สะดวกกว่าแบกโน้ตบุ๊กไปทั้งเครื่อง
สรุปก็คือ Huawei MatePad 10.4″ นี่ สามารถใช้งานในฐานะ Android tablet ได้ดีไม่แพ้พวก Android tablet ที่มี Google Mobile Services เลยแหละ ส่วนการนำทางด้วย Google Maps นั้น ตัวแท็บเล็ตที่เป็น WiFi-only อย่าง Huawei MatePad 10.4″ นี่ก็ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกในการเอามาใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องการใช้แอปจำพวกนำทางจริงๆ ตอนนี้ Huawei มี Petal Maps แล้วครับ เท่าที่ลองใช้ดู ก็เรียกว่าโอเคอยู่เลยแหละ เพียงแต่ที่ผมสังเกต ชื่อของสถานที่มันยังอาจจะมีสะกดผิดอยู่บ้าง เช่น อิงภูผา รีสอร์ท จ.กาญจนบุรี ไปสะกดเป็น อิงภูภา และถ้าเราพิมพ์ชื่อแบบเว้นวรรคผิด มันก็จะหาไม่เจอ (อันนี้ยังเป็นความไม่ฉลาดของระบบ Search ของแผนที่)
ลำโพงของตัวเครื่อง แบบสเตริโอ 4 ลำโพง ให้คุณภาพเสียงที่ดี สมแล้วที่จูนมาโดย harman/kardon ครับ เอามาใช้ฟังเพลง ดูหนัง หรือแม้แต่เล่นเกม ก็คือดีงามมาก แต่เสียดายตรงเรื่องเล่นเกมนี่แหละ ที่มันอาจจะได้ไม่เต็มที่นัก เพราะเกมบางเกมที่มีการทำ Localized ก็จะต้องไปลุ้นว่ามันมีให้เล่นบน AppGallery ไหม แต่พวก PUBG หรือ Free Fire นี่เห็นมีให้ดาวน์โหลดอยู่นะ
ตัว Storage ที่ Huawei เลือกใช้ มีความเร็วในการอ่านระดับ 700+MB/s และความเร็วในการเขียนข้อมูลที่ระดับ 360+MB/s ถือว่าไม่ได้เร็วเวอร์วัง แต่ก็เร็วระดับ SSD ขั้นพื้นฐาน ฉะนั้นในแง่ของความรวดเร็วในการเรียกแอปขึ้นมาใช้งาน การบูตเครื่อง การติดตั้งแอปต่างๆ ก็ทำงานได้รวดเร็วดี

หน้าจอแสดงผลของ Huawei MatePad 10.4″ ถือว่าดูดีในระดับ IPS LCD มีโหมดการทำงานอย่าง Eye comfort ที่ตัดแสงสีฟ้าไป ช่วยลดอาการล้าของสายตาได้ มี e-Book mode ที่ทำให้ภาพออกสีเป็น Greyscale เหมาะสำหรับการอ่านตัวหนังสืออย่างเดียว หรือ Dark mode ที่นิยมใช้กัน (ที่สลับเอาสีขาวเป็นสีโทนมืดแทน) ฟีเจอร์พวกนี้บางตัว สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตคู่แข่งยังไม่มีให้ใช้กัน
อย่างที่ผมบอกในตอนแรก กล้องดิจิทัลด้านหน้าและด้านหลัง ความละเอียดแค่ 8 ล้านพิกเซล ถ้าเทียบกับพวกสมาร์ทโฟน ก็ถือว่าคุณภาพไม่ได้ดีเลิศอะไรมาก เขาไม่ได้เอามาไว้ถ่ายรูปครับ ผมมองว่าเขาเอาไว้ใช้ทำงานมากกว่า กล้องด้านหลัง 8 ล้านพิกเซล ถือว่ามีความละเอียดดีมากพอสำหรับการนำมาใช้สแกนเอกสารเก็บเป็นภาพถ่ายหรือเป็น PDF
ส่วนกล้องด้านหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เป็นเลนส์ Ultrawide คือดีงามมากเวลาเอามาใช้ประชุมออนไลน์หรือทำวิดีโอคอลล์ เพราะว่าหน้าของเราจะได้ไม่ใหญ่เต็มจอครับ ดูดีเลยแหละ แต่แลกมาด้วยการที่เห็นแบ็กกราวด์เยอะขึ้นมาก ฉะนั้น จะเปิดหน้ากล้อง ต้องดูดีๆ ก่อนนะ ว่าแบ็กกราวด์เป็นยังไง แต่ถ้าประชุมออนไลน์คนเดียวในห้อง ไม่ต้องใช้พวกไมโครโฟนหรือหูฟังเสริมเลย ไมโครโฟนที่มีมาให้ในตัวเครื่องและลำโพง ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีมากอยู่แล้ว มีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนด้วย
แต่จริงๆ ตัวกล้องมันมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ Follow Cam ที่ให้กล้องสามารถแพน หรือ ซูม ไปที่ตัวบุคคลได้โดยอาศัยการสั่งงานผ่าน Gesture แต่ว่าน่าเสียดายที่ไม่ได้ลองใช้จริงจัง เพราะ Huawei ไม่ได้มีการสอนวิธีใช้งานไว้โดยละเอียดว่าแอปอะไรบ้างที่รองรับฟีเจอร์นี้ (มีแต่บอกไว้เฉยๆ ว่า บางแอปไม่รองรับ ซึ่งผมลองกับโหมดกล้องของ Huawei เอง ก็ไม่ได้วุ้ย)

การใช้งานร่วมกับ Smart Keyboard ก็ทำให้ Huawei MatePad 10.4″ เป็นเน็ตบุ๊กขนาดย่อมๆ ได้ พกพาสะดวก บาง เบา ใส่คีย์บอร์ดแล้วจะแอบหนากับหนักขึ้นอีกหน่อย เป็น 767 กรัมแทน (หนักขึ้น 307 กรัม) แต่ก็ยังถือว่าเบากว่าพวกโน้ตบุ๊กในตระกูลอัลตร้าบุ๊กมาก ตัวคีย์บอร์ดเองก็อย่างที่ผมได้บอกไป มันมีแป้นพิมพ์ที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ พิมพ์ได้ถนัดมืออยู่

แต่ไม่ใช่จะไม่มีเรื่องให้ตินะครับ ตัว Smart Keyboard มันก็มีข้อจำกัดในเรื่องของตำแหน่งการวาง คือ มันทำมุมเอียงได้แค่ในระดับนึงเท่านั้น และเอียงได้องศาเดียว จึงเหมาะเอามาวางบนโต๊ะที่มีความสูงพอเหมาะแล้วพิมพ์มากกว่า ไม่ได้เหมาะกับการใช้ในทุกสถานการณ์ แต่ดูท่าทางเขาออกแบบมาให้วางบนตักพิมพ์สะดวกอยู่ ซึ่งถือว่ายังดีอยู่
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไป ซึ่งก็ต้องทำใจจริงๆ เพราะพื้นที่ในการออกแบบมันจำกัด นั่นก็คือ TouchPad ครับ ซึ่งทำให้เราต้องไปพึ่งพาการสัมผัสหน้าจออยู่บ่อยครั้งเวลาจะคลิกโน่นนี่นั่น แต่เราก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการใช้ Bluetooth mouse นะครับ ถ้าใครอยากใช้คีย์บอร์ดร่วมกับเมาส์ (โดยส่วนตัวผม ผมมี CheerPod ที่เป็นเมาส์ไร้สาย พกพาสะดวก เอาไปใช้คู่กันได้ดิบดีมาก)
ที่ไม่ได้ลองงวดนี้คือ การใช้ร่วมกับปากกาสไตลัสของ Huawei เพราะเขาไม่ได้ส่งมาให้ด้วย คงเพราะมันไม่ได้อยู่ในแพ็กเกจที่เอาไว้ขายงวดนี้ละมั้ง แต่โดยรวมจากที่เคยลองใช้ในรุ่นอื่นของ Huawei ก็คิดว่าน่าจะใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่อันนี้ไม่ขอฟันธงเพราะไม่ได้ลอง
และปิดท้ายด้วยเรื่องของแบตเตอรี่ ถือว่าอึดพอสมควร นั่นก็เพราะว่ามันเป็นรุ่น WiFi-only อะนะ ถ้าไม่ได้เชื่อมต่อ WiFi มันก็ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ก็จะไม่ค่อยได้อัปเดตข้อมูลใดๆ จากอินเทอร์เน็ตมาเป็นระยะๆ เหมือนกับพวกสมาร์ทโฟน ประกอบกับมีแบตเตอรี่มาให้ถึง 7,250mAh ด้วยเลยยิ่งทำให้แบตเตอรี่อึดเข้าไปอีก
บทสรุปการรีวิว Huawei MatePad 10.4″ (2021) พร้อม Smart Keyboard
ในแง่ของสเปกและประสิทธิภาพ Huawei MatePad 10.4″ (2021) ถือว่าคุ้มค่าตัวมาก กับ 9,990 บาท ได้ทั้งตัวแท็บเล็ต และ Smart Keyboard มา เป็น Android tablet ที่พร้อมเอาไว้พกติดตัวเวลาไปทำงานนอกสถานที่ แล้วมีความจำเป็นต้องทำงานเอกสารเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช็กอีเมลได้สะดวกๆ แบบ พร้อมเปิดใช้ แบตเตอรี่อึด ไม่ต้องวุ่นวายหาปลั๊กมาชาร์จแบตเตอรี่ ประชุมออนไลน์ก็ทำได้ดี เพราะกล้องหน้า Ultrawide 8 ล้านพิกเซล ถือว่าเกินพอสำหรับการใช้งาน
แต่สิ่งที่แลกมาด้วยความคุ้มค่าในเรื่องราคาคือ การปรับตัว (ขนานเล็กหรือใหญ่ แล้วแต่บุคคล) คือ ต้องเรียนรู้ที่จะหาช่องทางอื่นในการติดตั้งแอปเพิ่ม หรือ สำหรับบางบริการของ Google ก็ต้องรู้ทริกในการที่จะใช้แอปอื่นเพื่อเข้าถึงบริการเหล่านั้น และถ้าเลือกได้ เปลี่ยนไปใช้บริการของ Microsoft แทน (รวมถึงใช้ OneDrive แทน Google Drive) ก็เรียกได้ว่า พอเอาตัวรอดได้แล้ว