เมื่อปี 2563 ที่ Nissan เปิดตัว Nissan Kicks ที่เป็นรถยนต์ในตระกูลไฮบริด แต่แหวกแนวตรงที่ว่าใช้แนวคิด e-POWER คือ ใช้เครื่องยนต์รถในการปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่ แล้วจึงจ่ายไฟผ่านอินเวอร์เตอร์ให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ หรือก็คือ เราจะได้รถยนต์ที่ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV – Electic vehicle) แต่ไม่ต้องเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ เติมน้ำมันแล้วก็วิ่งได้เลย และจริงๆ ผมก็อยากขอยืม Nissan Thailand มาทดลองขับตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วแหละ แต่มันก็ติดโน่นติดนี่ เลยไม่ได้ลองซักที จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้แหละ เลยได้ยืมมาลอง 3 วัน 2 คืน ไปใช้งานจริง แล้วเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Nissan Kicks ที่รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Nissan Thailand ให้ยืมมาลองขับ 3 วัน 2 คืน ครับ ซึ่งโดยส่วนตัว เนื่องจากผมก็กำลังมีแผนจะเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่เร็วๆ นี้ (ปัจจุบันขับ Nissan Sylphy) และ Kicks เองก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของผม และผมก็ได้ไปลอง Test drive ระยะสั้นๆ ประมาณ 2-3 กิโลเมตรมา แต่มันก็ยังไม่ได้สัมผัสประสบการณ์เต็มที่ไง ก็เลยถือโอกาส ติดต่อไปเพื่อขอยืมมาลองขับแบบจริงจังเลยดีกว่า และก็เป็นที่มาของการรีวิวในครั้งนี้ครับ โดยตัวที่ผมได้ยืมมาเป็น Nissan Kicks e-POWER VL ที่เป็นรุ่นท็อปครับ
อย่างไรก็ดี ผมต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่กูรูด้านรถยนต์ ฉะนั้นการรีวิวของผม จะไม่ได้เจาะลึกแบบกูรูท่านอื่นๆ เขา แต่จะออกแนวของคนที่กำลังหารถยนต์คันใหม่ และสนใจในเทคโนโลยี e-POWER เลยอยากรู้ว่ามันจะให้ประสบการณ์ในการขับขี่เป็นอย่างไรกันบ้างนะครับ ผมขอเล่าประสบการณ์แบบความรู้สึกว่า ถ้าผมซื้อมันมาขับขี่จริงๆ มันให้ความรู้สึกยังไง ผมอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปมาทุกซอกทุกมุมมากนัก แต่ผมจะพยายามเล่าให้ครบถ้วนครับ รูปส่วนไหนที่ขาด ลองไปหาดูได้จากเว็บไซต์ของ Nissan เอง หรือรีวิวอื่นๆ ประกอบเพิ่มได้
Nissan Kicks ใหญ่พอสมควร แต่พื้นที่โดยสารภายในก็ยังรู้สึกว่าเล็กกว่า Nissan Sylphy
คือตอนแรกอะ ผมงงกับข้อมูลของเว็บต่างๆ ที่พูดถึง Nissan Kicks มาก เพราะบางที่บอกว่าเป็น B-SUV บางที่บอกว่าเป็น Crossover บางที่ยิ่งทำผมงงไปอีก เรียกมันว่าเป็น B-SUV Crossover ผมเลยอยากรู้ว่า มันคืออะไรกันแน่ ไอ้ศัพท์แสงของวงการรถยนต์พวกนี้ เลยไปลองค้นๆ จากหลายๆ เว็บดู ก็พอจะได้ความเข้าใจว่า
• B-SUV เนี่ย หมายถึง รถยนต์ SUV (Sport Utility Vehicle) หรือ รถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง ที่อยู่ในกลุ่ม B-segment ซึ่งก็จะเป็นรถยนต์ที่เน้นเรื่องราคาเข้าถึงง่าย โดยมีขนาดพอประมาณ สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ (แต่ในตลาด B-segment นี้ เขาว่าในอนาคต อาจโดนกลืนรวมไปกับกลุ่ม Eco car ไป) ถ้าเป็นรถเก๋งค่าย Nissan ก็น่าจะหมายถึง Almera ครับ เขาก็เลยมองว่า Nissan Kicks ที่สไตล์เป็น SUV ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้
• Crossover ย่อมาจาก Crossover Utility Vehicle รถในตระกูลนี้เขาว่าใช้โครงสร้างตัวถังแบบ Unibody หรือ แชสซีกับตัวถังเป็นชิ้นเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ คือ เอารถเก๋งมาเป็นพื้นฐาน แล้วขยายร่าง ยกสูง มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ารถเก๋งอีกนิด

อ่านนิยามแล้วงงครับ เอาเป็นว่าพอดูของจริงแล้ว ก็ต้องบอกว่าภายในดูโอ่โถงประมาณนึง หากไปเทียบกับรถยนต์ Eco car (แหงดิ) ที่นั่งด้านหน้า ทั้งฝั่งคนขับและที่นั่งข้างคนขับ มีพื้นที่เยอะพอสมควร นั่งได้ค่อนข้างสบาย แต่เพราะมิติด้านความยาวของตัวรถ ที่สั้นกว่า Nissan Sylphy อยู่ 400 มิลลิเมตร ก็เลยส่งผลให้รู้สึกได้เลยว่าที่นั่งด้านหลังเนี่ย ดูแคบลงกว่า Sylphy ไปนิดนึง และแม้ว่าจะดูเหมือนจะนั่งได้ 5 คน แต่ผมบอกได้เลยว่า เหมาะที่สุดคือนั่งแค่ 4 คนพอครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ผมแปลกใจนะ บอกตรงๆ เพราะมิติด้านความกว้างของ Nissan Kicks กับ Nissan Sylphy เนี่ย ต่างก็อยู่ที่ 1,760 มิลลิเมตรทั้งคู่ แต่ความรู้สึกที่ผมได้คือ ทำไมมันดูแคบกว่าก็ไม่รู้
ด้านหลังของ Nissan Kicks เป็นแบบ Hatchback เปิดด้วยการกดปุ่มคล้ายๆ กับกระโปรงท้ายของรถยนต์ Nissan Sylphy เลย แต่ที่แตกต่างกัน มันมีความ “หนัก” ประมาณนึง คือ ต้องใช้แรงประมาณนึงเพื่อยกประตูหลังนี่ขึ้นครับ แต่ไม่ต้องออกแรงยกไปจนสุดทางนะ มันจะมีระบบไฮโดรลิกช่วยดันประตูให้เปิดขึ้นครับ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามันต้องอาศัย “ความพยายาม” นิดนึงในการยกประตูขึ้น ซึ่งตรงนี้ สาวๆ บางท่านอาจจะไม่ชอบเท่าไหร่
ด้านในถือว่าโอ่โถง ถ้าให้ผมเทียบ ถือว่ามีพื้นที่ในการใส่สัมภาระได้เยอะกว่า Sylphy อีก และหากของที่ใส่มันสูง ก็แค่เอาแผงบังสัมภาระด้านท้ายออกครับ ซึ่งผมเช็กข้อมูลแล้วพบว่า เจ้าแผงบังสัมภาระด้านท้ายนี่เป็นอุปกรณ์ภายในมาตรฐานของรุ่น e-POWER VL เท่านั้น รุ่นอื่นไม่มีให้ … โห ผมว่าควรจะมีให้ทุกรุ่นนะครับ สำหรับอันนี้

ถ้าพื้นที่เก็บแค่นี้ยังไม่พอ ก็พับเบาะหลังได้ครับ มันแบ่งพับได้แบบ 60:40 คือ พับเบาะหลังแค่ข้างเดียวก็ได้ หรือสองข้างเลยก็ได้ ถ้าจำเป็น มันจะช่วยให้เราสามารถเก็บของได้ชิ้นใหญ่ขึ้น โดยแลกกับการที่จำนวนคนนั่งลดน้อยลง แต่มันก็โอเคนะ และจริงๆ แล้ว สำหรับการใช้งานทั่วไป ผมว่าที่เก็บของที่มีอยู่นี่ก็เหลือๆ แล้ว ถ้าผมไปเที่ยวกับภรรยา มันมีที่เหลือพอที่จะใส่กระเป๋าเดินทางสองใบ และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหนึ่งคัน สบายๆ เลยแหละ เท่าที่สังเกต
ดีไซน์ภายใน ก็โอเคนะ แต่ไม่ได้เร้าใจมาก
ในภาพรวม ผมเห็นหลายๆ คนบ่นเรื่องดีไซน์ภายในของ Nissan Kicks ว่าจืดๆ ไป คือ ภายในเป็นสีเดียวล้วนๆ มีการดีไซน์บางส่วนให้เป็นหนังบ้าง แต่ก็ดำล้วนอะ ยกเว้นจะซื้อรุ่นที่ดีไซน์ด้านในเป็นทูโทนก็จะดูสวยขึ้นมาอีกหน่อย และผมก็เห็นด้วยตามนั้น คือ ดีไซน์ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นให้พูดชมนัก แต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดที่ผมจะต้องตินะ
ตรงคอนโซลมีช่องสำหรับเก็บของ ที่ผมว่าเอาไว้วางสมาร์ทโฟน เพราะเจ้านี่รองรับ Apple CarPlay ฉะนั้นเราจะสามารถเอา iPhone มาเสียบกับพอร์ต USB ที่อยู่ที่ด้านหน้า แล้วเชื่อมต่อกับจอแสดงผลขนาด 8 นิ้ว (เฉพาะรุ่น e-POWER VL นะ ถ้ารุ่นอื่นๆ จะขนาด 7 นิ้ว) เพื่อใช้งานแอปที่รองรับ Apple CarPlay ได้เลย … เดี๋ยวฟีเจอร์พวกนี้ ไว้คุยกันอีกที ตอนนี้ขอเน้นไปที่ดีไซน์ภายในก่อน

ที่เก็บของข้างประตู มีช่องให้เสียบโน่นนี่นั่นนิดหน่อย มีช่องให้วางแก้วด้วย ทั้งฝั่งที่นั่งคนขับและที่นั่งข้างคนขับ ส่วนตรงตรงเนี่ย ที่เท้าแขนก็เปิดไว้เก็บของได้ มีที่วางแก้วให้อีกสองช่อง โดยสามารถถอดตัวแบ่งตรงกลาง เพื่อขยายช่องให้ใหญ่ขึ้น จะได้เอาไว้เก็บของชิ้นใหญ่ๆ ได้ถ้าจำเป็น ก็ถือว่า มีที่วางของพอสมควร สำหรับคนชอบเก็บของจุกจิก
แต่ถึงแม้ว่าภายในจะดูจืดๆ นะ แต่พอเป็นตอนกลางคืนแล้วเราจอดรถอยู่ พอเปิดประตูรถปุ๊บ ไฟในรถจะติดใช่มะ แล้วมันจะมี Ambient light ติดด้วยครับ เป็นสีสวยเลย ทั้งตรงประตู ตรงใต้คอนโซล เลือกสีได้ด้วย (ผมชอบสีฟ้า) เสียดาย ลืมถ่ายรูปมาให้ดู ถ่ายมาให้ดูแค่ความกิ๊บเก๋ของมัน ที่มีการฉายไฟคำว่า KICKS ลงพื้นด้วย เวลาเปิดประตูออกมา … ฟีเจอร์นี้ กินไม่ได้ แต่เท่ เฉยๆ

ด้านหลังของที่เท้าแขนนี่ มีพอร์ต USB-A อีกสองพอร์ต สำหรับคนที่อยู่ด้านหลังอยากจะชาร์จแบตเตอรี่ ก็เสียบเอาตรงนี้แหละ คนที่นั่งข้างคนขับ อยากชาร์จแบตเตอรี่ ก็ต้องมาเสียบที่นี่เช่นกัน คือ แอบงงว่าทำไมไม่ทำพอร์ต USB-A สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ไว้ที่ด้านหน้าอีกซักอัน สำหรับคนนั่งข้างคนขับด้วยง่ะ … แต่สำหรับกรณีที่นั่งกันแค่สองคน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอกนะ ถ้ามีสายชาร์จยาวซัก 1.6 เมตร ก็อ้อมมาเสียบด้านหลัง แล้วเอาสมาร์ทโฟนไปวางไว้ในช่องเก็บของด้านหน้าได้แหละ

มีพอร์ต USB-A ให้มาสามพอร์ต จ่ายไฟได้ยังไงบ้าง? เท่าที่ดู มันสามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 5V 2A ครับ แต่ว่าเอาจริงๆ จะได้ไฟแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของสาย USB ที่คุณใช้ และตัวสมาร์ทโฟนที่คุณนำมาเสียบชาร์จด้วย ว่ารองรับการชาร์จที่ยังไงบ้าง แต่บอกได้เลยว่าจ่ายไฟแรงดี และจ่ายไฟนิ่งดีมากครับ ไม่ต้องกลัวว่าเอาสมาร์ทโฟนมาชาร์จกับพอร์ตชาร์จบนรถแบบนี้แล้ว แบตเตอรี่จะเสื่อมไว
แต่ปัญหาที่ผมเจอ ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้ตัว คือ การไหลเวียนของแอร์มันมาไม่ถึงเบาะหลังซักเท่าไหร่ ตอนแรกผมไม่ทันสังเกต เพราะที่ผมทดลองขับอะ มันมีแค่ผมกับภรรยาไง แต่พอจอดตากแดดไว้ซักพักนึง แล้วติดเครื่อง เพื่อจะถ่ายรูป ตอนอยู่ด้านหน้าอะ มันก็ร้อนนะ แต่ไม่โหดร้ายมาก เพราะว่าลมแอร์เย็นๆ และแรงมาก (เพราะเปิดแอร์เป็นออโต้ มันเลยอัดแรงลมมาซะแรงสุด) แต่พอไปนั่งเบาะหลังเพื่อถ่ายรูปเท่านั้นแหละครับ อาการออกเลย คือ รู้สึกได้เลยว่าด้านหลังร้อนมาก และแอร์มาไม่ถึงด้านหลังครับ ผมเลยรู้สึกว่า นี่ถ้าขับตากแดดนานๆ อากาศภายนอกร้อนมากๆ คนข้างหลังจะรู้สึกยังไง อันนี้ไม่มีโอกาสได้ลองจริงๆ เพราะกว่าจะรู้ตัวก็ไม่เหลือเวลาลองแล้ว แต่ผมบอกได้เลยว่า การมีช่องแอร์สำหรับที่นั่งด้านหลังจะดีกว่า
Apple CarPlay และการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ กับระบบเสียง
ใครใช้ iPhone จะได้ประโยชน์สุด เพราะ Nissan Kicks รองรับ CarPlay แต่ต้องซื้อรุ่น e-POWER V หรือ e-POWER VL นะ รุ่น e-POWER S กับ e-POWER E ไม่รองรับ Apple CarPlay นะครับ แต่ทุกรุ่นจะรองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนแบบไร้สายผ่านบลูทูธ เพื่อจะได้สามารถเล่นเพลงจากสมาร์ทโฟนออกระบบเครื่องเสียงรถยนต์ได้ หรือจะรับสาย หรือโทรออก โดยใช้ระบบไมโครโฟนและลำโพงภายในตัวรถยนต์ได้ เพียงแต่รุ่น e-POWER S กับ e-POWER E จะมีลำโพงภายใน 4 ตัว ส่วน e-POWER V และ e-POWER VL จะมีลำโพงภายใน 6 ตัวครับ
การใช้ Apple CarPlay คือดีสุด เพราะทำให้เราไม่ต้องมาติดที่จับสมาร์ทโฟนเพิ่ม เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากแอปต่างๆ บนตัว iPhone ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ การอ่านข้อความที่ส่งมา (Siri สามารถอ่านภาษาไทยให้เราได้สบายๆ) ตารางนัดหมาย แอปนำทางอย่าง Google Maps, Apple Maps มาหมด เล่นเพลงผ่าน Apple Music หรือ YouTube Music ก็ได้ เรียกว่าประสบการณ์ใช้งานดีกว่าการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธเฉยๆ แน่นอน
แต่ถึงแม้จะเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับระบบเครื่องเสียงผ่านบลูทูธเฉยๆ ก็ยังสามารถใช้งานพวก Voice assistant ได้จากปุ่มที่อยู่บนพวงมาลัยนะ ใครที่คุยเคยกับการสั่งงานด้วยเสียง ก็จะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์ครับ ใครที่ไม่คุ้นเคย อาจจะต้องลองเริ่มหัดใช้ได้แล้วละผมว่า มันก็สะดวกดีนะ ถ้าสามารถสั่งเปิดการนำทางด้วยเสียง สั่งเล่นเพลง หยุดเพลงได้ หรือสั่งโทรหาใครได้ อะไรแบบนี้
ประสบการณ์ขับขี่ด้วย e-POWER ภายในเมืองจะประหยัด ออกนอกเมืองก็สิ้นเปลืองเหมือนรถยนต์น้ำมันทั่วไป
การสตาร์ทและดับเครื่องรถยนต์เป็นแบบ Keyless ใช้กดปุ่มเอา แค่มี Intelligent key เอาไว้ติดตัวก็พอ แค่กุญแจอยู่ในระยะ 80 เซ็นติเมตรจากตัวรถ ก็สามารถปลดล็อกรถได้แล้ว พอกุญแจอยู่ในตัวรถ ก็สตาร์ทรถได้ และหากกุญแจยังอยู่ในรถ ก็จะล็อกรถไม่ได้ อันนี้เป็นมาตรฐานรถยนต์สมัยใหม่ส่วนใหญ่กันแล้ว
Nissan Kicks มีโหมดการขับขี่ให้เลือก 3 แบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกพฤติกรรมการขับขี่ คือ
• โหมดปกติ สำหรับคนที่คุ้นชินกับการขับขี่รถยนต์แบบเดิม คือ ใช้คันเร่งเพื่อเร่งเครื่อง แตะเบรกเพื่อหยุดรถ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชิ้นกับวิธีการขับขี่แบบรถยนต์ EV ที่ใช้คันเร่งอย่างเดียวก็ได้ ก็ใช้โหมดนี้ไปก่อน ถ้าผมซื้อมาขับ แล้วผมจะให้แม่ขับด้วย ก็แค่ให้แม่ขับโหมดนี้ไป ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ แต่จะเป็นโหมดที่จะไม่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี e-POWER เต็มที่
• โหมด Smart ที่จะให้ประสบการณ์ในการขับขี่ได้เต็มที่ที่สุด แรงบิดที่สูงของมอเตอร์ไฟฟ้า ให้อัตราเร่งระดับ 0-100 กิโลเมตรในเวลาไม่ถึง 9.5 วินาที ออกตัวไวมาก เหยียบคือพุ่ง สามารถแซงได้รวดเร็ว ไม่ต้องเหยียบคันเร่งจนมิดพื้นเพื่อเร่งเครื่อง และด้วยการขับขี่แบบ One Pedal คุณแทบจะไม่จำเป็นต้องแตะเบรกเลย เพราะแค่ผ่อนคันเร่ง ความเร็วมันก็จะลดลงให้เอง และเบรกในที่สุด ตอนรถหยุดนิ่งแล้ว เราก็ไม่ต้องเหยียบเบรกด้วย ขับขี่ในเมือง หรือแม้แต่ขับขี่ออกต่างจังหวัด คือ สบายมาก เท่าที่ผมลองคือ เหยียบเพลินๆ เผลอวิ่งไป 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสบายๆ แต่ผมเป็นคนที่เน้นขับรถไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกเว้นตอนจำเป็นต้องแซง ฉะนั้น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เหยียบเต็มที่แล้ว Nissan Kicks จะไปได้เร็วสุดเท่าไหร่
• โหมด Eco ที่ให้ประสบการณ์ในการขับขี่ด้วย One Pedal เช่นกัน แต่ว่าแรงบิดของมอเตอร์จะน้อยกว่า ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากการขับขี่รถยนต์น้ำมันมากนัก แต่มันจะเน้นประหยัดน้ำมัน เหมาะสำหรับกรณีที่ไม่กะจะแซงใครเขา และขับขี่ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เอาจริงๆ เลยคือ ถ้าขับขี่ในเมือง ผมว่าใช้โหมด Eco คือน่าจะดีสุดครับ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเร่งแซงใครมากอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ช่วงเวลารถติด ก็วิ่งเร็วมากๆ ไม่ได้อยู่แล้ว ประโยชน์ที่เราจะได้จริงๆ คือ One Pedal ที่ทำให้เราไม่ต้องมาสลับเหยียบคันเร่งกับเบรกไปๆ มาๆ มันคือดีมาก
แต่ถ้าเกิดต้องการให้รถยนต์มันวิ่งได้ดั่งใจ จะวิ่งโหมด Smart ไปตลอดก็ได้ คุณจะได้ประสิทธิภาพของการขับขี่รถยนต์ EV เต็มที่เลย เพราะ e-POWER แม้จะเติมน้ำมัน แต่ระบบขับเคลื่อนนี่เป็นไฟฟ้าจริงๆ จังๆ และมันจะแสดงศักยภาพได้ดีมากตอนที่ออกต่างจังหวัด ถ้าต้องเร่งแซง หรือ ติดไฟแดงเป็นคันแรก นี่บอกเลยว่าออกตัวแบบทิ้งคันหลังไปไกล เส้นทางที่ผมใช้ทดสอบ ก็คือ กรุงเทพ-กาญจนบุรี โดยขับไปถึงโน่นเลยฮะ ช่องเขาขาด และ น้ำตกเอราวัณ ระหว่างทางก็มีต้องเร่งต้องแซงอะไรบ้าง ก็บอกได้เลยว่า Nissan Kicks นั้นเร่งแซงได้ดีมาก อัตราเร่งมันคือข้อดีอย่างมากของระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้า
พวกรถยนต์ EV ปัจจุบัน วิ่งได้ไม่ไกลมาก พวกที่ราคาเอื้อมถึงนี่จะวิ่งได้ไกลราวๆ 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง มันเลยไม่ค่อยตอบโจทย์ขับไปต่างจังหวัดไกลๆ หลายๆ คนพอพูดถึงระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้า เลยมองไปที่ความประหยัดในการใช้ภายในเมืองที่รถติดเยอะๆ แต่จริงๆ แล้วข้อได้เปรียบอีกจุดนึงของระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้าก็คือ อัตราเร่งที่สูง ทำให้ตัวรถ Nissan Kicks มันตอบสนองต่อการขับขี่เราได้ดีกว่าครับ อยากชะลอก็ได้ อยากเร่งแซงปุบปับก็ย่อมได้เช่นกัน ซึ่งรถยนต์น้ำมันแบบเดิมๆ ที่ใช้เครื่องยนต์มันทำไม่ได้
แต่ที่ต้องท่องจำไว้คือ การเบรกแบบ One Pedal นั้น มอเตอร์จะทำการหน่วงตัวมันเอง อารมณ์คล้ายๆ กับเบรกไฟฟ้าของพวกสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันจะมีระยะในการเบรกของมันอยู่ ยิ่งวิ่งมาเร็ว ระยะเบรกยิ่งยาว ถ้าเกิดต้องเบรกกะทันหัน หรือ ระยะเบรกมันไม่พอ ก็ยังต้องเหยียบเบรกตามปกติอยู่นะครับ จะมาคิดว่า One Pedal ไม่ต้องเหยียบเบรกเลยไม่ได้นะ

แต่บอกก่อนเลยว่า แม้ขับในเมืองที่รถติดเยอะๆ จะแสดงศักยภาพให้เห็นเลยว่าประหยัดน้ำมันได้ดีประมาณนึง แต่ถ้าขับขี่ออกนอกเมือง ออกต่างจังหวัด รถโล่งๆ ก็จะสิ้นเปลืองน้ำมันพอๆ กับการขับขี่รถยนต์ปกตินี่แหละครับ น้ำมันเต็มถังหนึ่งถังเนี่ย ถ้าวิ่งโหมด Smart เห็นระบบคำนวณว่าน่าจะวิ่งได้ราวๆ 620 กิโลเมตร แต่ถ้าวิ่งแบบ Eco จะวิ่งได้ถึง 800 กิโลเมตรเลย เวอร์วัง โดยในทางปฏิบัติ ผมขับอยู่ 3 วัน 2 คืน ระยะทาง 500 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไป 31 ลิตร ตกอยู่ที่ 16.12 กิโลเมตร/ลิตร ครับ
จุดที่ผมชอบก็คือ ผมไม่ต้องใส่ใจว่าจะเติมน้ำมันค่ายไหนมาก เติมแก๊สโซฮอลล์ E20 ก็โอเคแล้ว เพราะน้ำมันมันเอาไว้แค่ใช้กับเครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟฟ้าไว้ใช้ การขับเคลื่อนจะมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมัน จะรู้สึกได้ชัดเจนว่า ชนิดของน้ำมัน หรือแม้แต่น้ำมันของต่างค่าย (ปตท., เชลล์, เอสโซ่, บางจาก ฯลฯ) มันจะให้ความรู้สึกแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของอัตราเร่ง (ถ้าอยากรู้สึกถึงความแตกต่างสุดๆ ลองเติม เชลล์ แก๊สโซฮอลล์ 91 เทียบกับ V-Power ได้)
และถ้าอยากจะลองวิ่งแบบ EV 100% ละก็ ก็สามารถทำได้นะครับ แต่ว่าแบตเตอรี่ของ Nissan Kicks มันเล็กมากนะ แบตเตอรี่มันมีไฟมากพอที่จะวิ่งได้แค่ราวๆ 2.5 กิโลเมตรเท่านั้น ก่อนที่ระบบจะปิดโหมด EV แล้วกลับไปใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟคืนกลับมาที่แบตเตอรี่

สิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยกับการขับขี่ นอกจาก One Pedal แล้ว ก็มีเรื่องระบบเกียร์ เพราะพอเป็นระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้าแล้ว มันไม่ต้องมีเกียร์เยอะครับ แค่ D เดินหน้า, R ถอยหลัง, N เกียร์ว่าง และ P จอดรถ แค่นั้นพอ วิธีการเปลี่ยนเกียร์ แต่จากที่ผมลองขับขี่ ผมใช้เวลาไม่ถึง 15 นาทีครับ ในการทำความคุ้นเคยกับ One Pedal และเมื่อคุ้นแล้ว ต่อให้ชับเร็วระดับ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ยังสบาย
รุ่น e-POWER VL ที่ผมได้มารีวิวเนี่ย มีระบบความปลอดภัยใส่มาให้จัดเต็มที่สุดแล้ว ทั้ง Intelligent Cruise Control ควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ ที่ผมไม่ได้จงใจรีวิว เพราะกลัวพลาดขึ้นมาแล้วจะไปสอยท้ายรถคันอื่น เดี๋ยวจะวุ่น (ฮา) เทคโนโลยีตรวจจับวัตถุด้านหลังรถขณะถอย (Rear Cross Traffic Alert – RCTA) ที่ช่วยเตือนเวลาเราถอยหลังแล้วมีรถยนต์วิ่งมา มันก็จะเตือนเรา อันนี้ดี

ด้านหน้าและด้านหลัง มีเซ็นเซอร์ที่คอยช่วยเตือนเวลามีรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาใกล้ ตรงบริเวณที่อาจจะเป็นจุดบอดหรือจุดอับสายตา หรือบางทีเราไม่ทันมอง แล้วมันก็จะเตือนเป็นไฟ LED สีส้มติดตรงด้านซ้ายหรือด้านขวา ใกล้ๆ กระจกมองข้าง (จะทำงานเมื่อรถยนต์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วระดับหนึ่ง) และหากเราเปิดไฟเลี้ยว แล้วมีรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์อยู่ใกล้ๆ มันจะมีเสียงเตือนด้วย ช่วยได้เยอะเลย
กระจกหลังของ Nissan Kicks e-POWER VL นี่เป็น Intelligent Rear View Mirror (IRVM) คือ ดูเผินๆ ก็เหมือนกระจกหลังตามปกติ แต่ถ้าเราดันกระจกด้วยตัวผลักด้านล่าง ที่ปกติเอาไว้สำหรับดันหลบแสงไฟหน้ารถคันหลังไม่ให้สะท้อนเข้าตาเวลากลางคืน มันก็จะปรับเปลี่ยนไปเป็นการใช้ภาพจากกล้องด้านหลังรถทันที

ซึ่งการใช้ภาพจากกล้องมองด้านหลัง แทนที่จะมาจากกระจก มันจะทำให้ภาพดูหลอกตาไปนิดๆ เพราะภาพจากกล้องมันคมชัดสู้ภาพจากกระจกจริงๆ ไม่ได้ แต่มันก็มีข้อดีอยู่สองเรื่องหลักๆ เลย คือ ถ้าเราขนของเต็มหลังรถ จนกระจกมองหลังมันมองไม่เห็นด้านหลัง การเปลี่ยนไปใช้ภาพจากกล้อง ก็จะทำให้เรามองเห็นด้านหลังได้สบายๆ โดยไม่มีอะไรมาบดบัง และตอนกลางคืน แสงไฟจากหน้ารถคันอื่นก็จะไม่สะท้อนมาให้เราแสบตา แถมภาพจากกล้องด้านหลังเนี่ย ก็ถ่ายภาพตอนกลางคืนมาได้สว่างดีประมาณนึงเลยนะ
นอกจากนี้ ระบบกล้องรอบคันรถ ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการจอดรถได้ดีมากนะครับ บางคนอาจจะพึ่งพาการมองภาพจากกล้องในการถอยรถ จอดรถเลย แต่สำหรับผม ก็ยังคงใช้กระจกในการมองเป็นหลัก แต่ใช้ข้อมูลที่ได้จากกล้องรอบคันมาช่วยประกอบในการจอดเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าซองตรงดีแล้ว ระยะห่างจากตัวรถกับรถยนต์คันอื่นดีพอแล้ว คือ มันดีมากเลยนะครับ ยิ่งถ้าเกิดจอดเข้าซองแบบทแยง ที่ปกติจะจอดให้ตรงยากมาก เราได้ภาพจากกล้องรอบคันเข้ามา เราเหมือนเห็นรถยนต์ของเราจาก Bird-eye view เลย ทำให้จอดเป๊ะมากๆ
ถ้าต้องจอดชิดฟุตบาธ สามารถกดปุ่ม Camera ตรงหน้าจอคอนโซล เพื่อเปิดดูภาพจากกล้องรอบคันได้ กดอีกทีมันจะแสดงภาพเฉพาะจากกล้องหน้าและกล้องด้านซ้าย เพื่อเช็กว่าเราจอดเว้นระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า และฟุตบาธดีพอหรือยังได้ด้วย สะดวกสุดๆ
ไฟหน้ารถของ Nissan Kicks เป็นแบบ LED ครับ เปิดแบบที่พอติดเครื่องปุ๊บ ไฟหน้าก็ติดเลยนะ ดูจะเป็นมาตรฐานเดียวกับพวกรถยุโรปอะ คือ ต่อให้เป็นกลางวัน ก็ต้องเปิดไฟหน้าไว้ พอตกเย็นหรือตกดึก เราก็เปิดเป็นไฟหรี่กับไฟหน้าปกติเอาครับ หรือจะเลือกเปิดเป็นออโต้ ให้มันเปิดไฟตามสภาพความสว่างของภายนอกรถเอาก็ได้เช่นกัน

การซ่อมบำรุงของรถยนต์ตระกูล e-POWER
เรื่องนึงที่เราต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม หากคิดจะซื้อ Nissan Kicks ก็คือ เรื่องการซ่อมบำรุง เพราะรถยนต์เทคโนโลยี e-POWER มีความแตกต่างจากรถยนต์น้ำมันแบบเดิม และรถยนต์ EV อยู่ครับ อันดับแรก เราจะเห็นว่าพอเปิดกระโปรงหน้ารถยนต์ขึ้นมา เราจะเห็นเครื่องยนต์แบบเดิมๆ กับชุดเครื่องยนต์ e-POWER ที่เป็น Invertor เอาไว้แปลงไฟมาใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า มันยังต้องมีหม้อน้ำอยู่ และยังต้องมีน้ำมันเครื่อง เพราะยังมีเครื่องยนต์แบบดั้งเดิมอยู่ สิ่งที่ไม่มีก็คือสายพานแบบเดิมๆ ครับ ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ต้องมีระบบ Coolant สำหรับหล่อเย็นพวกระบบไฟฟ้า
ส่วนด้านท้ายรถ ปกติพอเปิดส่วน Hatchback ขึ้นมาแล้ว เราจะเห็นยางอะไหล่ครับ แต่นี่ก็ถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่รถยนต์ (ที่หายไปจากด้านหน้าของรถ) และมีชุดปะยางฉุกเฉิน ประกอบด้วยแม่แรง (แต่ในรถที่ผมรีวิวมันไม่มีแม่แรงมาให้) ประแจ ปั๊มลมไฟฟ้า และน้ำยา Sealant ที่เอาไว้ปะยางฉุกเฉิน) ซึ่งหากเกิดเหตุยางแตกขึ้นมา และไม่ร้ายแรง ก็สามารถใช้ชุดปะยางฉุกเฉินนี่ปะยางก่อน เพื่อให้รถยนต์กลับมาวิ่งได้ โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วไปร้านปะยางที่ใกล้ที่สุดแทน
ด้วยความที่อะไรหลายๆ อย่างถูกแทนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (เช่น พวกสายพานเครื่องยนต์ หรือ ชุดเกียร์) ค่าซ่อมบำรุงมันเลยน้อยกว่าพวกรถยนต์น้ำมันแบบเดิมๆ แต่ก็ยังถือว่าแพงกว่ารถยนต์ EV 100% ครับ บางอย่างพอใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้า อายุการใช้งานก็ยาวขึ้น เช่น ผ้าเบรก ที่หากเราใช้ One Pedal เป็นหลัก การสึกหรอของผ้าเบรกจะน้อยมาก เพราะเราจะไม่ค่อยได้แตะเบรกครับ
สิ่งที่ผมชอบของ Nissan Kicks และสิ่งที่ผมว่า Nissan ควรปรับปรุงสำหรับ e-POWER รุ่นถัดไป
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ผมก็ได้สัมผัสประสบการณ์ในการขับขี่ค่อนข้างเต็มที่ เพราะขับมันทุกวัน เฉลี่ยวันละเกือบ 160 กิโลเมตร ผมเลยค่อนข้างสามารถสรุปสิ่งที่ผมชอบ และสิ่งที่ผมว่า Nissan ควรปรับปรุงได้ดังนี้ครับ
สิ่งที่ผมชอบในตัว Nissan Kicks
• ประสบการณ์ขับขี่ด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางวิ่งและการชาร์จแบตเตอรี่ เพราะยังคงใช้น้ำมันแบบเดิม
• รุ่นท็อปมีฟีเจอร์เรื่องความปลอดภัยค่อนข้างดี ระบบกล้องรอบคันดีงามมาก ทั้งในแง่ของการช่วยระวังจุดอับ และการตรวจดูว่าเราจอดได้เรียบร้อยดีไหม
• การซ่อมบำรุงน้อยกว่ารถยนต์แบบใช้น้ำมันแบบเดิม เพราะอะไหล่หลายๆ ชิ้นถูกลดทอนออกไป เพราะถูกแทนที่ด้วยระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้า ทาง Nissan บอกว่า เฉลี่ย 5 ปีแรก ค่าซ่อมบำรุงจะอยู่ที่ราวๆ ปีละ 5,000 บาท
• ถ้าขับขี่ในเมืองบ่อย จะค่อนข้างประหยัดน้ำมัน
สิ่งที่ผมว่า Nissan ควรปรับปรุง
• ราคาแอบแรงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ราคานี้บวกอีกนิด ได้รถแนวไฮบริดที่ใหญ่กว่า ฟีเจอร์ครบเครื่องไม่แพ้กัน (เผลอๆ ดีกว่าหน่อยด้วย) ถ้าไม่ลดราคาลงอีกหน่อย ก็ควรเพิ่มขนาดตัวรถให้ใหญ่ขึ้น หรือใส่ฟีเจอร์ให้มากขึ้น เช่น เบาะไฟฟ้า
• ช่องแอร์สำหรับคนนั่งด้านหลังควรมีอย่างยิ่ง
• ดีไซน์ให้มีที่เก็บแบตเตอรี่เป็นที่เป็นทางดีๆ เถิด อย่าไปแย่งที่ของยางอะไหล่เลย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกใจใช้ชุดปะยางฉุกเฉิน บางคนเขาก็อยากเก็บยางอะไหล่ไว้ใช้
• ผมเข้าใจเรื่องแนวคิด “ขับสนุก” ของ Nissan นะ และผมก็มองว่ามันขับสนุกจริงๆ แต่ดีไซน์ภายในรถ น่าจะทำให้โฉบเฉี่ยว สอดคล้องกับแนวคิดมากกว่านี้ก็จะดี
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว Nissan Kicks นี่เหมาะกับใคร?
คนที่น่าจะถูกใจ Nissan Kicks แน่ๆ เลย คือคนที่อยากได้รถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนเป็นไฟฟ้า 100% แต่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางวิ่งและระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ คือ อยากวิ่งได้แบบ 600 กิโลเมตรสบายๆ แล้วเติมน้ำมันแป๊บๆ ก็วิ่งต่อได้ยาวๆ เลย อะไรแบบนี้ มันตอบโจทย์คนที่ขับรถออกต่างจังหวัดไกลๆ ชอบขับรถเที่ยวมากๆ และไปกันแบบ 2-3 คนเป็นหลัก (โดยเฉพาะ ไปกันแค่ 2 คน) เพราะแม้ดีไซน์จะเป็นแบบ 4 ที่นั่ง แต่ถ้าจะนั่งแบบสบายๆ นั่งสนุก คือ มีกัน 2-3 คนครับ ถ้าจำนวนคนเยอะกว่านี้ ผมว่าขนาดรถจะดูเล็กไป คนนั่งข้างหลังจะเริ่มรู้สึกอึดอัด
คู่แข่งที่สำคัญของ Nissan Kicks คือ รถยนต์ประเภท PHEV ครับ เพราะมันก็สามารถใช้ได้ทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำมัน แต่แบตเตอรี่จะใหญ่กว่า และสามารถเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ได้ เพื่อเตรียมไว้ก่อน ทำให้เวลาวิ่งในเมือง ที่ไม่เน้นระยะทางมาก (แบบวันละ 30-40 กิโลเมตร อะไรแบบนี้) มันได้การวิ่งแบบ EV 100% เลย ในขณะที่ e-POWER ยังต้องใช้น้ำมัน ซึ่งแม้จะได้ประสบการณ์ในการขับขี่เป็น EV เหมือนกัน แต่ PHEV จะประหยัดกว่า (เพราะไม่ได้ใช้น้ำมัน)
อยากรู้ว่าใช้งานแล้ว 3 เดือนเป็นยังไง ไปอ่าน Episode 2 ได้เลยครับ