ก่อนหน้านี้ผมรีวิว Amazfit GTR 2 ไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ เลยฮะ กว่าจะมารีวิว Amazfit GTS 2 ที่เป็นเหมือนคู่หูของรุ่น GTR 2 ได้ แม้ว่าฟีเจอร์มันจะคล้ายๆ กัน และเห็นคนอื่นที่เขารีวิว ก็รีวิวแบบครบสองรุ่นพร้อมกันไปเลย เพราะสำหรับผมแล้ว มันต้องลองซัก 1 สัปดาห์แบบเต็มๆ แบบเดี่ยวๆ ฮะ ถึงจะมั่นใจเอามารีวิวเล่าประสบการณ์ในการใช้งานได้เต็มๆ เนื่องจากบล็อกผมมันเขียนคนเดียว ไม่ได้มีทีมงานใดๆ (นอกจากเมีย) และผมก็ไม่อยากใส่สมาร์ทวอทช์พร้อมกันสองเรือนเหมือนคนบ้า เพื่อรีวิวด้วแหละ 555
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Amazfit GTS 2 เรือนนี้ ผมก็ได้มาจากทางแบรนด์ให้มาลองใช้ พร้อมๆ กับตัว Amazfit GTR 2 และแน่นอน ผมก็ใช้เวลากับมันค่อนข้างเต็มที่เช่นเคย เพื่อจะได้มาบอกเล่าประสบการณ์ในการใช้ได้อย่างตรงไปตรงมาสไตล์ผมฮะ เผื่อใครสนใจจะซื้อ จะได้รู้เลยว่ามันเป็นยังไงบ้าง
คล้ายๆ กับตัว Amazfit GTR 2 เลยครับ สมแล้วที่เป็นรุ่นคู่แฝดคลอดตามกันมา คือ Minimal สุดๆ พร้อมใช้งาน มีตัวสมาร์ทวอทช์ ซึ่งมีสามสีให้เลือก ได้แก่ สีทอง Desert Gole, สีเทา Urban Grey และ สีดำ Midnight Black ซึ่งตัวที่ผมได้มารีวิวเนี่ย เป็นสีเทา Urban Grey ครับ รุ่นนี้จะต่างจาก GTR 2 ตรงที่มันไม่แยกเป็น Classic กับ Sport edition แต่จะมีรุ่นเดียวเลย คือที่เป็นสายซิลิโคน ซึ่งเทียบเท่ากับรุ่น Sport edition ครับ

ตัวเรือนเป็นอลูมิเนียมอัลลอย มีขนาดหน้าจอ 1.65 มม. แบบ AMOLED ก็เทียบๆ กับนาฬิกาไซส์ 42 มม. พอจะได้อยู่ น้ำหนักแบบรวมสายอยู่ที่ 39 กรัมครับ ค่อนข้างเบาทีเดียว ตัวสายเนี่ยเป็นขนาด 20 มม. ครับ เป็นแบบ Classic pin buckle เหมือนกับ GTR 2 ฉะนั้น หากเริ่มเบื่อๆ สายแบบนี้ ก็แค่หาสายเปลี่ยนครับ แต่มีมาให้สายเดียวเลย เจาะรูไว้เยอะ เผื่อสำหรับทุกขนาดข้อมือของคนเรา ใครที่ข้อมือเล็กๆ อาจจะรู้สึกว่าสายมันยาวๆ ไปหน่อย
ด้านหลังของตัวเรือน เป็นเซ็นเซอร์สำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แล้วก็ขั้วสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นขั้วแบบแม่เหล็กที่ทำให้ตัวที่ชาร์จยึดติดกับตัวเรือนได้สนิทดี และชาร์จสะดวกมาก โดยเฉพาะหากใครมี Amazfit GTR 2 อยู่แล้ว (เช่น ซื้อใช้เอง แล้วซื้อ GTS 2 ให้แฟนใช้) ก็จะสามารถใช้ที่ชาร์จอันเดียวกันได้เลย เพราะสองรุ่นนี้ ใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันเป๊ะ
และแน่นอน ตัวเรือนมีไมโครโฟนและลำโพงในตัว ออกแบบมาอยู่ตรงด้านซ้าย และซ่อนไว้ตรงแถวๆ ซอกสายนาฬิกา เนียนดี เพื่อสามารถใช้งานเป็น Hand-free ได้ ซึ่งจากที่เคยลองใช้ Amazfit GTR 2 มาก่อนหน้านี้ ประโยชน์ของมัน หลักๆ จะอยู่ที่ตอนขับรถซะมากกว่าครับ และการจะใช้งานได้นั้น ต้องทำการจับคู่บลูทูธซะก่อน ไม่ใช่แค่เชื่อมต่อกับแอปเท่านั้น
Amazfit GTS 2 ในฐานะนาฬิกาเฉยๆ
เช่นเดียวกับคู่แฝด Amazfit GTS 2 ก็ดูดีมาก ในฐานะนาฬิกา หน้าจอแสดงผลแบบ AMOLED ให้ความสว่างระดับ 450 NIT เอามาใช้งานกลางแจ้ง แดดแรงๆ นี่ยังเห็นได้ชัดเจนเลยครับ ผมลองดูตอนขี่สกู๊ตเตอร์ช่วงบ่ายๆ หน้าร้อนของประเทศไทย หรือตอนเดินไปหาข้าวกลางวันกิน แดดเปรี้ยงๆ ไม่มีปัญหาใดๆ การตอบสนองต่อการยกแขนขึ้นมาดูเพื่อให้หน้าจอติด ก็รวดเร็วดี ไม่ถึงวินาทีคือได้ดูนาฬิกา แต่ถ้าจะให้ดี ปรับในแอปด้วยว่าให้หน้าจอติดค้างไว้ซัก 30 วินาที จะดีงาม

หน้าปัดมีให้เลือกน่าจะซัก 40-50 แบบ ผมไม่ได้นับแบบละเอียด มีทั้งแบบนาฬิกาเข็มและนาฬิกาตัวเลข มีทั้งแบบ Minimal ไปจนถึงข้อมูลเพียบเต็มหน้าจอ แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน ซึ่งเอาตรงๆ มันก็ตอบยากจริงๆ ว่า แบบหน้าปัดที่มีให้เลือก 40-50 แบบเนี่ย มันเยอะหรือน้อย อย่างผมที่เป็นพวกชอบหน้าปัดแบบไหนก็จะใช้แบบนั้นยาวไปเนี่ย ผมว่าเยอะนะ แต่สำหรับบางคนที่ชอบเปลี่ยนลวดลายบนหน้าปัดไปเรื่อยๆ อาจจะรู้สึกว่าน้อย ก็เป็นได้

การแสดงผลบนตัวสมาร์ทวอทช์ สามารถหมุนได้ 180 องศา เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานทั้งผู้ที่ถนัดซ้ายหรือถนัดขวาด้วย และแม้ว่าผมจะไม่มีข้อมูลในส่วนของสเปกของตัว Amazfit GTS 2 นี่ แต่ผมเข้าใจว่าเรื่องการเคลือบสารต่างๆ บนตัวหน้าปัด ทั้งเพื่อป้องกันรอยนิ้วมือ หรือเพื่อป้องกันรอยขีดข่วนเนี่ย น่าจะเป็นแบบเดียวกันกับคู่แฝด GTR 2 ครับ ซึ่งผมคาดหวังกับเรื่องนี้พอสมควร เพราะดูจากดีไซน์ของตัวเรือน ที่กระจกมันเป็นโค้งแล้ว ไม่น่าจะหาฟิล์มกันรอยทั้งแบบ TPU หรือแบบกระจกมาติดแบบเต็มจอได้ง่ายๆ อะ ติดแล้วอาจจะดูไม่สวย คงต้องใช้แบบเปลือยๆ แบบนี้ มันก็สมควรจะห่วงเรื่องนี้แหละ
Amazfit GTS 2 ในฐานะสมาร์ทวอทช์
เฉกเช่นเดียวกับคู่แฝด Amazfit GTS 2 นี่รองรับหลากหลายภาษามาก การใช้งานแสดงผลภาษาไทยทำได้สบายๆ ก็แหงล่ะ มันมีเมนูภาษาไทยด้วยนี่นา ดังนั้น ถ้าใครมองเรื่องการใช้สมาร์ทวอทช์ในฐานะตัวแสดงข้อมูลการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟน Amazfit GTS 2 นี่ตอบโจทย์อยู่ เพราะแสดงผลได้สบายๆ และที่ผมชอบคือ เราสามารถตั้งค่าในแอปได้ด้วย ว่าอยากให้การสั่นเพื่อแจ้งเตือนแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 7 ประเภท ได้แก่ สายเรียกเข้า ตารางนัดหมาย นาฬิกาปลุก การแจ้งเตือนจากแอป การเตือนให้ลุกขึ้นยืน มีข้อความเข้ามา และ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ มันสั่นแบบไหน อย่างไร เราจะได้แยกแยะได้ว่านี่กำลังแจ้งเตือนอะไรอยู่

ทุกอย่างให้ไปเชื่อมต่อผ่านแอปชื่อ Zepp ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ฉะนั้น จะค่ายไหนก็ใช้ได้ครับ อย่างไรก็ดี มันก็มีข้อจำกัดเรื่องการรองรับการส่งต่อการแจ้งเตือนจากแอปต่างๆ ไปที่ตัวสมาร์ทวอทช์นี่แหละ เพราะแอป Zepp มันมองไม่เห็นแอป Whoscall อะ (แต่ถ้าคุณไม่ได้ใช้แอปนี้ในการเช็กเบอร์ที่โทรเข้ามา)
ความครบเครื่องอีกเรื่องคือ ตัว Amazfit GTS 2 มีเนื้อที่เก็บข้อมูล 3GB มาให้ (เหลือใช้จริง 2.72GB) เอาไว้เก็บไฟล์เพลงเพื่อที่เชื่อมต่อกับหูฟังไร้สาย แล้วเล่นเพลงได้เลย โดยไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟน ซึ่งเหมาะทั้งสำหรับใช้งานแบบไลฟ์สไตล์หรือตอนออกกำลังกาย คือ เปิดเพลงฟังเลย ไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟนเลยฮะ อัปโหลดเพลงผ่านแอป Zepp นี่แหละ ขอให้เรามีไฟล์เพลง MP3 ก็พอ แต่ก็เช่นเคย คือ ข้อจำกัดในเรื่องของการติดตั้งแอปมาเพิ่มความสามารถ ซึ่งไม่มีในส่วนนี้เลยครับ ก็แอบเสียดาย
Amazfit GTS 2 ในฐานะ Activity tracker
ในฐานะของ Activity tracker เนี่ย ตัว Amazfit GTS 2 ก็มีเซ็นเซอร์ช่วยติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ครบเครื่องนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนับก้าวเดินในแต่ละวัน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ความเครียด หรือการนอนหลับ และสามารถให้คะแนนคุณภาพของการทำกิจกรรม (PAI – Physical Activity Index) ได้ด้วย
แต่ก็เช่นเคย ผมตั้งข้อสังเกตเรื่องความแม่นยำของการตรวจจับเรื่องการนอนหลับ คือ มันตรวจจับเรื่องเวลาเข้านอนและเวลาตื่นค่อนข้างดีอยู่ แต่ในเรื่องของการหลับลึก หลับตื้นอะไรพวกเนี้ย ผมยังรู้สึกว่ามันยังไม่แม่นนัก และช่วงเวลาที่ผมตื่นระหว่างที่นอนหลับเนี่ย ก็ยังไม่แม่นเท่าไหร่ แต่ในประเด็นเรื่องการตรวจจับการนอนหลับเนี่ยเป็นอะไรที่ถกเถียงกันอยู่แล้ว ว่าเราควรจะเชื่อข้อมูลจากสมาร์ทวอทช์ไหม ซึ่งผมเคยเขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว
แต่ด้วยเซ็นเซอร์ที่มีมาให้เยอะแยะนี่แหละ แล้วก็มี GPS ให้ในตัว พร้อมกันน้ำได้ระดับลึกถึง 5ATM มันก็เลยรองรับการตรวจจับการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งเดิน วิ่ง กลางแจ้ง ในร่ม ได้หมด จะว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ปีนเขา ก็รองรับดีงามอยู่ และอย่างที่บอก มันมีเนื้อที่เอาไว้เก็บเพลงในตัว เชื่อมต่อกับบลูทูธได้อีก ฉะนั้น ติด Amazfit GTS 2 ไปตัวเดียว ก็ออกกำลังกายไปฟังเพลงไปได้ ไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟน
แบตเตอรี่ของ Amazfit GTS 2
สเปกของ Amazfit GTS 2 บอกว่า แบตเตอรี่ความจุ 246mAh ที่ให้มา สามารถอยู่ได้สูงสุด 3-20 วัน อยู่ที่ว่าจะใช้งานหนักหน่วงแค่ไหน แต่ทาง Amazfit ก็บอกว่าโดยเฉลี่ย คนใช้งานทั่วไปจะแบตเตอรี่จะอยู่ได้ราวๆ 7 วันครับ

ซึ่งจากการใช้งานจริงๆ ของผม ซึ่งไม่ได้สวมใส่ตัว Amazfit GTS 2 ตลอดทั้งวัน และบางคืนก็ไม่ได้สวมใส่เพื่อตรวจจับการนอนหลับหรอก (คือ ลืมใส่) ก็พบว่า แบตเตอรี่ก็อยู่ได้ราวๆ 8 วันครับ ก็เรียกว่าตามสเปกประมาณนึง นี่คือ ผมใช้งานแบบว่า
• สวมใส่ประมาณวันละ 6 ชั่วโมง บางวันก็อาจจะเอามาใส่ตอนนอนเพื่อใช้คุณสมบัติ Sleep tracker ด้วย
• เปิดใช้ฟังก์ชัน Voice assistant (แต่ไม่เคยเรียกใช้มันหรอกนะ)
• ตรวจจับการเต้นของหัวใจตลอดเวลาที่สวมใส่
• ยกนาฬิกาขึ้นมาดูราวๆ 30 ครั้งต่อวัน
• เปิด GPS ออกกำลังกายด้วยการเดินกลางแจ้งไปสองหน หนละ 60 นาที
• ให้ส่งการแจ้งเตือนจำพวก อีเมล และ LINE มาบนสมาร์ทวอทช์ ไอ้สองตัวนี้เด้งทั้งวันที่สุดแล้ว วันนึงเด้งเป็นร้อยรอบ
• ทุกครั้งที่ตัวหน้าจอสมาร์ทวอทช์ติดขึ้นมา จะเปิดค้างไว้ 30 วินาทีก่อนจะดับ
บทสรุปการรีวิว Amazfit GTS 2
ราคาค่าตัว Amazfit GTS 2 ก็ประมาณ 5,599 บาท เท่าๆ กับ Amazfit GTR 2 สมแล้วที่เป็นคู่แฝดจริงๆ ในเรื่องของฟีเจอร์ ถือว่ามีครบเครื่องตามสไตล์ของสมาร์ทวอทช์ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกอีกตัว ถ้าอยากได้ Amazfit แล้วไม่อยากได้หน้าปัดนาฬิกาแบบกลมฮะ ลิงก์ซื้ออยู่ด้านล่างตามระเบียบ