QNAP TS-673A-8G อันนี้ออกตัวก่อนเลยว่า ไม่ใช่อะไรสำหรับคนทั่วไปแน่นอน แต่สำหรับพวก Power user หรือ คนทำงานด้านวิดีโอ และภาคธุรกิจที่ต้องการใช้งานจำพวก Virtual machine หนักๆ หรืออยากทำ SAN (Storage Area Network) ในราคาไม่แพงมาก น่าจะเป็นคำตอบเลยแหละ ในบล็อกตอนนี้ก็จะขอมาพูดถึงให้ได้อ่านกันหน่อยนะฮะ ว่าเจ้านี่เป็นยังไง มีดียังไงบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QNAP TS-673A-8G ตัวที่รีวิวนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก QNAP Thailand เช่นเคย ครับ เพื่อใช้ในการรีวิว แต่อาจจะรีวิวได้ไม่ครบทุกฟีเจอร์ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์เสริมสำหรับฟีเจอร์บางอย่าง เช่น 10GbE หรือ การ์ดจอเสริม อะไรแบบนี้เป็นต้น
แพ็กเกจของ QNAP TS-673A-8G ประกอบไปด้วยตัว NAS ที่เป็นแบบ 6-bay ตัวถาดฮาร์ดดิสก์สามารถล็อกได้ด้วยกุญแจเฉพาะของ QNAP ครับ แน่นอน มีกุญแจแถมมาให้สองอัน และเช่นเคย ด้านหน้ามีพอร์ต USB-A แบบ 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) แรงพอสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลจาก SSD แบบ NVMe (ความเร็วในการถ่ายข้อมูลสูงสุดระดับ 1,250MB/s) เลยด้วยซ้ำ พร้อมปุ่ม Quick copy ตามมาตรฐาน
ข้อสังเกตคือ มีพื้นที่โล่งๆ สีดำอยู่ตรงด้านบนของด้านหน้าตัวเครื่อง ตอนแรกนึกว่าจะมีพวกจอ LED เอาไว้สำหรับแสดงข้อความสถานะของเครื่อง เหมือนพวก NAS รุ่นเก่าๆ แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีอะไรเลยฮะ เป็นแค่พื้นที่โล่งๆ จริงๆ

ด้านหลังของ QNAP TS-673A คือเพียงเลยครับ โดยเฉพาะพัดลม เราจะเห็นว่ามีพัดลมมากถึง 4 ตัวเลยทีเดียว โดยสองตัว (FAN1 กับ FAN2 ในรูป) เอาไว้ระบายความร้อนที่เกิดจากฮาร์ดดิสก์ทั้ง 6 ลูก ส่วนอีกตัวนึง (FAN3) นี่เอาไว้ระบายความร้อนในส่วนของบอร์ด ที่มันจะมีทั้ง CPU และ SSD M.2 ด้วย (ถ้าใส่นะ) และพัดลมตัวสุดท้ายคือ พัดลมสำหรับชุด Power supply ที่เป็นแบบ Built-in มันคือข้อดีของพวกรุ่น 6-bay แบบนี้ ที่มีพื้นที่เหลือ ใส่ Power supply ได้เลย
สุดท้าย ก็จะมีสล็อต PCIe แบบ Gen 3×4 (แบนด์วิธสูงสุด 4GB/s) มาให้อีกสองสล็อต ซึ่งสามารถเอาไปขยายขีดความสามารถต่างๆ ได้มากมาย เช่น WiFi, 10GbE, SSD NVMe ฯลฯ

ในส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อนั้น มีพอร์ต LAN 2.5GbE ให้ 2 พอร์ต ซึ่งรวมๆ แล้วก็ได้แบนด์วิธมากกว่าสมัยที่เป็น 1GbE 4 พอร์ตอีก และมีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) มาให้สองพอร์ต และ USB-C 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) มาให้อีกพอร์ตนึง แอบสงสัยจริงๆ ว่า ทำไม QNAP เขาไม่ให้ USB-C เป็น 3.2 Gen 2 ไปด้วยก็ไม่รู้

เท่าที่ลองเช็กดู พอร์ต USB-C นี่ เขาน่าจะเน้นเอาไว้สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Expansion enclusure ของ QNAP ครับ โดยเป็นรุ่น TR-004 (แบบ Tower) หรือ TR-004U (แบบ Rackmount) นะ

ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ของ QNAP TS-673A-8G นี่เป็นแบบ Tooless คือ ไม่ต้องใช้น็อตขันใดๆ เพื่อยึดฮาร์ดดิสก์เอาไว้เลย แต่หากจะปรับมาใส่ฮาร์ดดิสก์แบบ 2.5 นิ้ว ก็ต้องเอาน็อตที่แถมมาในกล่องมาใช้ขันนะครับ บอกไว้ก่อน

การอัปเกรด ทำได้ไม่ยาก แค่ขันน็อตสามตัวด้านหลัง เปิดฝาครอบออกมา เราจะเห็นเมนบอร์ดของตัวเครื่องเลย มีสล็อตใส่แรมสองอัน เป็นแบบ SO-DIMM DDR4 อยู่ตรงบริเวณด้านหน้าของตัวเครื่อง ข้างๆ กับ CPU และด้านบนกับด้านล่างของบอร์ด เป็นสล็อตสำหรับใส่ SSD แบบ NVMe M.2 2280 รวมแล้วใส่ได้สองอัน
ตัวเลือก 2 ระบบปฏิบัติการ QTS และ QuTS Hero
จุดขายสำคัญของ QNAP TS-673A-8G ตัวนี้ คือการที่มันมาพร้อมสองระบบปฏิบัติการ คือ QTS ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่ผู้ใช้ QNAP NAS ทั่วไปน่าจะคุ้นเคยกันดี กับ QuTS Hero ที่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับภาคธุรกิจซะมากกว่า เนื่องจากมันจะใช้ไฟล์ระบบเป็น ZFS แทนที่จะเป็น EXT4 เหมือนเคย โดยตอนเริ่มติดตั้ง เราจะเลือกได้ว่าจะเริ่ม Smart Installation (เป็น QTS ตามปกติ) หรือจะเปลี่ยนไปใช้ QuTS Hero

ประโยชน์ของไฟล์ระบบแบบ ZFS เนี่ย คร่าวๆ เลย ก็คือ
• มีเทคโนโลยีลดการซ้ำซ้อนของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการ Deduplication, Compression หรือ Compaction
• ไฟล์ระบบแบบ ZFS นี่ขยายความจุได้ถึงระดับเพตะไบต์ ถ้าคุณคิดว่าแค่ระดับเทระไบต์ไม่พอกิน
• ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง SnapSync ซึ่งเป็นฟีเจอร์ด้าน Disaster recovery ของ QNAP ที่จะทำการสำรองข้อมูลของทั้ง NAS จากเครื่องนึงไปอีกเครื่องนึง (From local NAS to remote NAS) ในระดับ Block-level replication แบบ Real-time
• อัลกอริธึมในการบีบอัดข้อมูลเร็วกว่า
• ตัวไฟล์ระบบมีความสามารถในการป้องกันข้อมูลจากความเสียหายได้ดีกว่า
ปกติ QNAP NAS ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ QuTS Hero นี่จะราคาหลักแสน เช่นพวก TS-h686, TS-h886, TVS-h1288x, TVS-h1688X อะไรพวกนี้ แต่ตอนนี้ เรามีทางเลือกกับ TS-673A แล้ว
ประสิทธิภาพของ QNAP TS-673A
สำหรับคนไม่คุ้นเคยกับ CPU ตระกูล AMD ตัว AMD Ryzen™ Embedded V1500B quad-core 2.2 GHz processor ที่ใช้ใน TS-673A นี่ เป็น CPU จำพวก SoC (System on a Chip) ถ้างงๆ ว่าเป็นยังไง ให้นึกถึงพวกสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ ชิป Apple Silicon M1 ก็ได้ครับ เป็นตระกูลเดียวกัน คือ มีทุกอย่างอยู่บนชิปนี้เรียบร้อย ทั้ง CPU และ GPU อะไรพวกนี้ เป็นระดับเดียวกันกับ Intel® Celeron® J4125 ที่ใช้บน QNAP NAS ตัวล่าสุดอย่าง TS-653D แต่รองรับมาตรฐานใหม่ๆ มากกว่า เช่น PCIe ก็เป็น Gen 3×4 (ส่วน Intel® Celeron® J4125 รองรับแค่ PCIe เวอร์ชัน 2.0)
การรองรับหน่วยความจำสูงสุดของรุ่นนี้ก็ไปได้ไกลกว่าเยอะครับ คือ ใส่ได้สูงสุด 32GB × 2 เลย เป็น 64GB และยังสามารถติดตั้งการ์ดจอแสดงผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ (ดูรายชื่อ ยี่ห้อและรุ่น ของ GPU card ที่ใช้งานร่วมกับ QNAP NAS ได้ที่เว็บไซต์ของ QNAP) เผื่อจำเป็นต้องใช้งานแอปพลิเคชันจำที่เน้นเรื่อง Video editing, 4K UHD transcoding หรือ Image processing และเพิ่มประสิทธิภาพของ Virtual machine ได้ผ่าน GPU passthrough (หมายถึง การตั้งค่าเพื่อให้ Virtual machine มาดึงประสิทธิภาพของ GPU ไปใช้งานได้ ซึ่งจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะ Virtual machine ที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows และต้องใช้กับ QNAP NAS และ GPU card ที่รองรับฟีเจอร์นี้เท่านั้น)

แน่นอนว่า บอกไว้ก่อนเลยนะครับ ด้วยประสิทธิภาพของ CPU มันยังไม่ได้เหลือเฟือพอที่จะให้มาทำ Virtual machine รัวๆ ได้นะ แต่ว่าถ้าจะรัน Virtual machine แค่เครื่องเดียว แล้วใช้ GPU passthrough กับใส่แรมมาช่วยเพิ่มด้วย การใช้งาน Virtual machine ก็จะลื่นไหลดี และเราก็จะสามารถเค้นประสิทธิภาพของ QNAP TS-673A มาได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
และด้วยความที่มันสามารถเพิ่มพวก Expansion card ได้ผ่านทางสล็อต PCIe ที่มีให้สองสล็อต เราก็จะสามารถติดพวก 10GbE เพิ่มแบนด์วิธในการรับส่งข้อมูลได้ หรือจะติด Wireless adapater เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ QNAP NAS นี้แบบไร้สายได้ หรือจะทำตัวเป็น Wireless AP ได้
การที่รองรับ SSD แบบ NVMe M.2 เนี่ย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องกันถาดใส่ฮาร์ดดิสก์มาใส่ SSD เลยนะ แถม SSD แบบ SATAIII มันไม่แรงเท่า NVMe หรอก หรือถ้าไม่พอจริงๆ Expansion card ก็สามารถรองรับ SSD เพิ่มได้เช่นกัน พอมีทั้งฮาร์ดดิสก์ และ SSD แล้ว ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากทั้ง SSD cache acceleration และ Qtier ในการเพิ่มประสิทธิภาพในฐานไฟล์เซิร์ฟเวอร์ได้อีก

ถ้าติดตั้งการ์ด QXP-16G2FC 16Gb ที่เป็น Fibre channel expansion card สำหรับ PCIe ของ QNAP เข้าไป เราก็จะสามารถใช้งาน TS-673A เป็นอุปกรณ์สำหรับ SAN (Storage Area Network) ได้ด้วย โดยใช้แอป iSCSI & Fibre Channel (ไม่ต้องไปหาใน App Center นะครับ อันนี้เป็นแอปสำหรับ QNAP NAS ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ QuTS Hero) ซึ่งทาง QNAP เขาก็บอกว่าค่าใช้จ่ายมันก็จะถูกกว่าการซื้อเซิร์ฟเวอร์ที่เป็น SAN โดยเฉพาะเลย
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-673A-8G
แอบไปคุ้ยราคามาให้แล้ว เจ้านี่สนนราคาค่าตัว (ราคาจาก QNAP Thailand) คือ 35,500 บาท รับประกัน 3 ปี ถือว่าไม่แพงเลยสำหรับ NAS สำหรับภาคธุรกิจ ที่มีฟีเจอร์ครบเครื่อง และพร้อมอัปเกรดรองรับการขยับขยายไม่ว่าจะทั้งแบนด์วิธ (รองรับ 2.5GbE เป็น Default และเพิ่ม 5GbE หรือ 10GbE ได้จาก Expansion card) จะใส่ SSD เพิ่มก็ได้ จะเพิ่ม GPU card ก็ทำได้เช่นกัน และถ้าอยู่มาวันนึง จะต้องไปใช้ไฟล์ระบบ ZFS ขึ้นมา นี่ก็รองรับด้วย ผ่านระบบปฏิบัติการ QuTS Hero ครบเครื่องสุดๆ แล้ว
ภาพพื้นหลังสำหรับประกอบปกบล็อกโดย Background photo created by benzoix – www.freepik.com