Home>>รีวิว>>รีวิว Amazfit GTR 2 สมาร์ทวอทช์ตัวสวย ฟีเจอร์เพียบ ราคาไม่แพงมาก
รีวิว

รีวิว Amazfit GTR 2 สมาร์ทวอทช์ตัวสวย ฟีเจอร์เพียบ ราคาไม่แพงมาก

ได้ Amazfit GTR 2 มาลองใช้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้วครับ โดยส่วนตัวก็เคยใช้สมาร์ทวอทช์มาหลายยี่ห้อแล้ว และในหลากหลายรูปแบบด้วย แต่ Amazfit นี่ถือว่าเป็นการรีวิวครั้งแรกนะ โดยรวมก็ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีฟีเจอร์หลากหลายมาก ราคาค่าตัวก็ไม่แรง มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับคนที่มองหาสมาร์ทวอทช์มาใช้ ทั้งใช้แจ้งเตือน และใช้เป็น Activity tracker

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

Amazfit GTR 2 ที่ได้มารีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทางแบรนด์เขาส่งมาให้ลองใช้เลยครับ ก็ถือโอกาสใช้ยาวๆ ก่อน แล้วค่อยมาเขียนรีวิวให้ได้อ่านกัน เพื่อจะได้บอกเล่าเก้าสิบประสบการณ์ในการใช้งานได้อย่างเต็มที่จริงๆ ชอบไม่ชอบตรงไหน ยังไง ก็บอกกันไปตรงๆ ตามสไตล์ของผมนะ

แกะกล่องมาเนี่ย Amazfit GTR 2 ถือว่า Minimal สุดๆ ครับ แต่ก็พร้อมใช้งานเลย แกะกล่องออกมาเนี่ย มีตัวสมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2 ซึ่งของผมเป็น Sport edition ตัวเรือนก็จะเป็นสีดำ ตอบรับกับสายนาฬิกาได้ดี หน้าปัดนาฬิกาเป็นขนาด 46 มม. และใช้สายนาฬิกาเป็นซิลิโคน ถอดเปลี่ยนได้ เป็นแบบความกว้าง 22 มม.

สมาร์ทโฟน Amazfit GTR 2 ด้านหน้า

ด้านหน้าปัดนาฬิกา เป็นจอแสดงผลชนิด AMOLED ขนาด 1.39 นิ้ว ความละเอียด 454×454 พิกเซล ค่อนข้างคมชัดเลย ความหนาแน่นของพิกเซลคือ 326ppi มีปุ่มประจำตัวเครื่องสองปุ่ม ปุ่มด้านบนเอาไว้เรียกเมนูหลักของตัวเครื่อง และกลับไปยังหน้าปัดนาฬิกาแรกสุด ส่วนปุ่มด้านล่างเอาไว้สำหรับเลือกโหมดการออกกำลังกาย

สมาร์ทโฟน Amazfit GTR 2 ด้านหลัง

ด้านหลังจะเป็นเซ็นเซอร์สำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ขั้วสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ และเราจะเห็นลำโพงและไมโครโฟนของตัวสมาร์ทวอทช์ด้วย ซึ่งทำให้มันสามารถส่งเสียงเตือนได้ หรือใช้เป็นลำโพงและไมโครโฟนสำหรับการสนทนาได้

ด้านหลังของสมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2 ที่กำลัง
สม

ที่ชาร์จของ Amazfit GTR 2 เป็นแบบแปะติดกับด้านหลังของสมาร์ทวอทช์ ยึดติดด้วยแรงแม่เหล็กที่แรงดูดดีพอสมควรเลยนะ

Amazfit GTR 2 ในฐานะนาฬิกาเฉยๆ

ในฐานะนาฬิกา Amazfit GTR 2 ทำได้ยอดเยี่ยมครับ หน้าจอแสดงผลแบบ AMOLED ตั้งค่าความสว่างเป็นออโต้เอาไว้ ก็ยังเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่กลางแจ้งก็ตาม การตอบสนองต่อท่วงท่าการยกแขนขึ้นมาเพื่อดูนาฬิกาก็ถือว่ารวดเร็ว ใช้เวลาประมาณไม่ถึงวินาที หน้าจอก็ติดแล้ว

แน่นอน มีตัวเลือกหน้าปัดนาฬิกาพอสมควรครับ ทั้งแบบที่เป็นนาฬิกาเข็มและแบบที่เป็นนาฬิกาตัวเลข มีทั้งแบบเรียบง่ายยันยุ่งยาก ไม่รู้ยัดอะไรมาให้ดูเยอะแยะไปหมด อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับคู่แข่งบางรายแล้ว จำนวนหน้าปัดนาฬิกาที่มีให้เลือก มันก็ยังถือว่ายังน้อยอยู่

สมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2 หน้าปัดแบบนาฬิกาเข็ม

รุ่น Sport edition ตัวเรือนเป็นอลูมิเนียมอัลลอย น้ำหนักเบามาก แค่ 36 กรัมเท่านั้น สวมใส่แล้วไม่ได้รู้สึกหนักข้อมือใดๆ เลย (รุ่น Classic edition ตัวเรือนเป็นสแตนเลส น้ำหนัก 39 กรัม สายเป็นหนังขนาด 22 มม. เท่ากัน) กระจกบนหน้าจอเป็น 3D Gorilla Glass ถ้าใช้งานทั่วไปแบบระวังๆ ไม่เอามันไปไถไปกระแทกอะไร ก็ไม่น่าจะเป็นรอยใดๆ ได้ง่ายๆ นะ

ว่ากันว่าตัวหน้าปัดนี่มีการเคลือบสารกันรอยนิ้วมือ ซึ่งเท่าที่ผมลองใช้ ก็กันได้ประมาณนึงแหละครับ แต่ก็ยังเห็นได้ว่ามือมันๆ ของผมเนี่ย ยังเหลือรอยคราบไว้บ้าง จางๆ แต่มันไม่เห็นชัดเจนเหมือนหน้าจอสมาร์ทโฟน ที่ทำให้รู้สึกรำคาญ ต้องคอยหน้าผ้าชุบน้ำยามาเช็ดเสมอๆ

หน้าปัดที่เขาว่าเคลือบแบบ oDLC (Optical Diamond-Like Carbon) ฟังแล้วเหมือนเป็นการเคลือบเพื่อให้พื้นผิวมันป้องกันการเกิดรอย แต่จริงๆ แล้ว เท่าที่ผมหาข้อมูลมา มันคือเพื่อความลื่นในการสัมผัส ซึ่งผลพลอยได้ก็คือ เมื่อแรงเสียดทานต่ำ โอกาสเกิดรอยมันก็จะยากขึ้นไปด้วยนั่นเอง … อันนี้ไม่รู้จะทดสอบยังไง เพราะถ้าถามผม มันต้องลองใช้กันแบบยาวๆ เป็นเดือนๆ หรือเป็นปีนั่นแหละ อาจจะตั้งข้อสังเกตได้

Amazfit GTR 2 ในฐานะสมาร์ทวอทช์

พอพูดถึงฐานะสมาร์ทวอทช์ ผมนึกถึงพวกความสามารถในการอำนวยความสะดวกเมื่อใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟนนะ มันสามารถรับการแจ้งเตือนใดๆ จากตัวสมาร์ทโฟนมาแสดงที่ตัวนาฬิกาได้ และเจ้านี่ก็รองรับภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ด้วย ผมลองภาษาไทย และภาษาจีน ก็โอเคอยู่นะ

หน้าจอการแจ้งเตือนของ Amazfit GTR 2 กำลังแสดงข้อความแจ้งเตือนจากแอป LINE และบอกว่ามีการแจ้งเตือนใหม่อีก 1 การแจ้งเตือน

ถ้าเราอยากจะให้มันรับโทรศัพท์ แล้วพูดคุยผ่านตัว Amazfit GTR 2 นี้ได้ ต้องไปจับคู่บลูทูธแบบเดียวกับที่เราจับคู่กับหูฟังบลูทูธนะครับ จากนั้นถึงไปที่แอป Zepp ซึ่งเป็นแอปที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อตัวสมาร์ทวอทช์นี้กับสมาร์ทโฟน แล้วไปที่การตั้งค่าส่วนของ Phone เพื่อเปิดใช้ฟีเจอร์ Call via watch ครับ

และผมก็พบข้อจำกัดด้วยว่า แอปบางตัว มันไม่อยู่ในรายชื่อ Manage apps ที่จะให้ตัวสมาร์ทวอทช์รับการแจ้งเตือน เช่น Whoscall ที่เป็นแอปที่ผมใช้เป็น Default app สำหรับการโทรศัพท์ (และด้วยเหตุผลนี้แหละ ผมเลยต้องไปเซ็ตให้ Default เปลี่ยนกลับมาเป็น Phone เป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ผล)

สมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2 กำลังวางอยู่ข้างๆ หูฟังบลูทูธแบบ True wireless ยี่ห้อหนึ่ง

ตัวมันเอง สามารถเชื่อมต่อกับพวกหูฟังบลูทูธได้โดยตรงด้วย และตัวมันเองก็มีความจุของเนื้อที่เก็บข้อมูลประมาณ 3GB เอาไว้ใส่พวกเพลงต่างๆ มาไว้ในนี้ เพื่อเวลาจะฟังเพลง ไม่ต้องไปง้อสมาร์ทโฟน มันเหมาะสำหรับเวลาจะสวมใส่เพื่อออกกำลังกาย จะได้ไม่ต้องลำบากพกสมาร์ทโฟนติดตัวไปนั่นเอง ส่วนการโยนไฟล์เพลงไปที่สมาร์ทวอทช์นี่ ทำผ่านแอป Zepp ได้เลย แต่ผมขัดใจตรงที่ มันสามารถทำตัวเป็นรีโมทในการควบคุมการเล่นเพลงของสมาร์ทโฟนได้ แต่มันดันควบคุมระดับเสียงของสมาร์ทโฟนไม่ได้ … หวังว่าเขาจะเข้าใจ Pain point นี้ แล้วทำการอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อให้ควบคุมได้นะ

ข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดของ Amazfit GTR 2 ก็คือ ไม่มี App Store หรือก็คือ ดาวน์โหลดแอปมาเพิ่มความสามารถโน่นนี่นั่นให้ไม่ได้ ซึ่งแม้ว่าสมาร์ทวอทช์หลายๆ ยี่ห้อ ที่รองรับระบบปฏิบัติการ Android ที่ผมใช้อยู่ มันก็ไม่ได้มีแอปอะไรที่น่าสนใจนักหรอก แต่บางค่าย มันก็มีแอปที่ใช้ประโยชน์ได้อยู่บ้างนะ เช่น ค่ายนึงเนี่ยเขามีแอป Philips Hue ที่เอาไว้สั่งงานพวกหลอดไฟ IoT ได้ อะไรแบบนี้

Amazfit GTR 2 ในฐานะ Activity tracker

ตัว Amazfit มีเซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ ตามอย่างที่พวก Activity tracker พึงจะมี มันมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ใช้ Gyro sensor ในการตรวจจับอิริยาบถต่างๆ ของเรา อะไรจำพวกนี้ พวกข้อมูลอย่าง การเต้นของหัวใจ SpO2 ความเครียด การนอนหลับ รวมถึง PAI (Physical Activity Index) เจ้านี่สามารถเก็บได้หมด

หน้าจอแอป Zepp แสดงข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับจากสมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2

จากนั้นเราก็ไปดูข้อมูลบนแอป Zepp นั่นแหละครับ มันจะมี Dashboard ที่แสดงผลข้อมูลต่างๆ ให้เราเข้าถึงได้สะดวกๆ และสามารถแตะเพื่อดูรายละเอียดของข้อมูลเพิ่มเติมได้

หน้าจอแอป Zepp แสดงข้อมูลการนอนหลับของวันที่ 23 มีนาคม 2564

แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ความแม่นยำในการตรวจจับบางอย่าง เช่น การนอนหลับ ยังสู้คู่แข่งบางรายที่มีชื่อเสียงด้านนี้มานานไม่ได้ เพราะผมสังเกตว่ามันยังตรวจจับช่วง Awake ของผมได้ไม่เป๊ะ เช่น มีคืนนึงผมตื่นมาดื่มน้ำ แล้วก็ตื่นมาเข้าห้องน้ำด้วย แต่พอมาย้อนดูข้อมูล ไม่พบว่ามีข้อมูลสองช่วงนั้นถูกระบุเอาไว้ว่า Awake … แต่การตรวจจับเวลาที่เริ่มหลับและตื่นเนี่ย คิดว่าน่าจะโอเคอยู่

จริงๆ อยากลองใส่สมาร์ทวอทช์สองเรือนพร้อมกันแล้วนอนเลย แต่ก็คิดว่าคงไม่สบายตัวเท่าไหร่แหง เลยไม่ได้ทำ

สมาร์ทวอทช์ Amazfit GTR 2 หน้าจอเลือกรูปแบบการออกกำลังกาย

ตัว Amazfit GTR 2 เนี่ย สามารถเอามาใช้ตรวจจับการออกกำลังกายได้หลากหลายมาก จะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ในร่มหรือกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปีนเขา ฯลฯ รองรับหมด ตัวนาฬิกาเองก็กันน้ำลึก 5ATM เลย ฉะนั้นจะใส่ว่ายน้ำหรือดำน้ำ (ลึกไม่เกิน 5 เมตร) ก็สามารถทำได้สบายๆ แต่เขาหมายถึงน้ำสระนะครับ ไม่ใช่เอาไปดำน้ำทะเล

เจ้านี่มี GPS+GLONASS ในตัว ฉะนั้น สำหรับผู้ที่นิยมการออกกำลังกาย ต้องการเก็บสถิติระยะทาง และแผนที่ ไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟนครับ มีเจ้านี่ตัวเดียวอยู่ และอย่างที่ผมบอก มันมีเนื้อที่เก็บข้อมูล 3GB อยู่แล้วด้วย ฉะนั้นก็เอามาเก็บเพลงไว้ฟังได้เลย

ฉะนั้น ในแง่ของการทำหน้าที่เป็น Activity tracker นี่ก็ถือว่าครบเครื่อง แม้ว่าบางอย่างข้อมูลอาจจะไม่แม่น 100% นัก (เช่น เรื่องการตรวจจับการนอน อย่างที่ผมตั้งข้อสังเกต) แต่ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนจนแบบเอามาใช้อ้างอิงไม่ได้

แบตเตอรี่ของ Amazfit GTR 2

ตามสเปกเขาบอกว่า ใช้แบบทั่วๆ ไปอยู่ได้ 14 วัน ถ้าเปิดโหมดประหยัดพลังงาน อยู่ได้เป็นเดือน และหากใช้งาน GPS ต่อเนื่อง ก็จะใช้ได้ราวๆ 48 ชั่วโมง และถ้าเอามาใช้โทรศัพท์ด้วยต่อเรื่องเลย ก็คือ 10 ชั่วโมง แต่จากที่ผมได้ลองใช้งานจริงๆ ดู พบว่า ผมใช้งานไปราวๆ 7 วัน แบตเตอรี่หมดไปประมาณ 72% ครับ หรือพูดง่ายๆ คิดแบบบัญญัติไตรยางค์ก็ แบตเตอรี่ 10% น่าจะอยู่ได้ประมาณ 1 วันล่ะ งั้นแบตเตอรี่ 100% ก็น่าจะใช้งานแบบปกติได้ 10 วันครับ ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานของผมนี่ ยังถือว่าน้อยกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารของ Amazfit ที่ว่า แบตเตอรี่ 14 วันเนี่ย พิจารณาจากพฤติกรรมการใช้งานแบบนี้

• สวมใส่ตลอดทั้งวัน
• เปิดฟังก์ชัน Voice assistant
• เปิดใช้การตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจโดยอัตโนมัติเอาไว้ตลอด
• เปิดการตรวจจับการนอนหลับ
• ใช้โทรศัพท์ผ่านบลูทูธประมาณ 30 นาที ต่อสัปดาห์
• ฟังเพลงราวๆ 30 นาที ต่อสัปดาห์
• ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ โดยเปิด GPS เอาไว้
• ยกนาฬิกาขึ้นมาดูประมาณ 30 ครั้งต่อวัน
• รับข้อความแจ้งเตือนวันละ 150 ข้อความ
• วัดค่า SpO2 วันละ 2 หน

แต่พฤติกรรมการใช้งานของผมที่อยู่ได้ 10 วันเนี่ย เป็นแบบนี้ครับ
• สวมใส่เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทั้งวัน (เพราะผมเป็นพวกที่เวลาพิมพ์งานคอมฯ ผมจะไม่ค่อยชอบใส่นาฬิกา)
• เปิดใช้ฟังก์ชัน Voice assistant
• เปิดใช้การตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจโดยอัตโนมัติเอาไว้ตลอด
• เปิดการตรวจจับการนอนหลับ
• ยกนาฬิกาขึ้นมาดูประมาณ 30 ครั้งต่อวัน

แค่เนี้ยเองครับ … ฉะนั้น ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าถ้าใช้งานเต็มเหนี่ยวจริงๆ แบตเตอรี่มันจะได้ประมาณแค่ไหน แต่ผมว่ายังไงๆ ก็ยังได้ซัก 7 วันแหละ ซึ่งชาร์จแบตเตอรี่ซักสัปดาห์ละหน ผมว่ามันก็โอเคอยู่นะ

บทสรุปการรีวิว Amazfit GTR 2

สนนราคาค่าตัว Amazfit GTR 2 ตอนนี้ อยู่ที่ 5,599 บาทแล้ว ถือว่าไม่แพงเท่าไหร่เลยครับในความเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ฟีเจอร์ครบเครื่องแบบนี้ มันอาจจะมีข้อจำกัดในบางด้านอยู่บ้าง ตามที่ผมได้บอกไปด้านบน แต่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดอะไรที่ร้ายแรง และน่าจะแก้ได้ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์ด้วยฮะ

ใครสนใจจะจัด ลิงก์อยู่ด้านล่างแล้วจ้า

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า