Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>Intel NUC vs Apple Mac mini ชิป M1 ในมุมมองคนที่มีและใช้ทั้งสองตัวอย่างผม
กราฟิกประกอบบล็อก เป็นภาพของตัวเครื่อง Intel NUC และ Apple Mac mini M1 อยู่บนแบ็กกราวด์สีน้ำเงินเข้มและสีเขียว ที่แบ่งครึ่งซ้ายและขวา แสดงให้เห็นถึงการประชันหน้ากันของคอมพิวเตอร์สองค่าย
บ่นเรื่อยเปื่อย

Intel NUC vs Apple Mac mini ชิป M1 ในมุมมองคนที่มีและใช้ทั้งสองตัวอย่างผม

ประมาณปีกว่าๆ แล้ว ที่ผมซื้อ Intel NUC สเปก Core i5-8259U แรม 16GB ใส่ SSD ไป 512GB ความเร็วระดับ มาใช้เป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะประจำออฟฟิศ ด้วยความที่ต้องการสเปกที่ดีประมาณนึง แต่ประหยัดเนื้อที่ในการวางพอสมควร เพราะมันสะดวกกว่าการเอาโน้ตบุ๊กมาต่อกับ Docking มันค่อนข้างกินเนื้อที่ เนื่องจากโต๊ะผมค่อนข้างรก แถมยังมีจอ Ultrawide 29″ อีกตะหาก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็เปลี่ยนมาใช้ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 แทน (แรม 8GB SSD 256GB) ก็เลยคิดว่า ในฐานะของคนที่ใช้มาทั้งสองแบบแล้ว ผมน่าจะเอามาเล่าซักหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง อันไหนดีกว่าอันไหน ตรงไหน อย่างไร เผื่อใครที่ไม่ติดปัญหาเรื่องระบบปฏิบัติการจะได้เก็บไปพิจารณา

Intel NUC ครบเครื่อง อเนกประสงค์ จบในตัวเดียวประมาณนึง

สำหรับคนมองหาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ขนาดเล็กๆ ที่บางคนเรียกว่าเป็น Mini PC ผมว่า Intel NUC นี่ถือว่าครบเครื่องอยู่ มีสเปกให้เลือกหลากหลายดี ตั้งแต่ Intel Core-i3 ยัน Core-i7 และตอนนี้ออกมาถึงรุ่นที่หน่วยประมวลผลรุ่นที่ 11 แล้วด้วย (ตัวที่ผมใช้เป็นรุ่นที่ 8 แต่ผมซื้อตอนที่เขามีรุ่นที่ 10 ออกมาแล้ว เพราะราคารุ่นที่ 8 จะได้ลงมาพอสมควร)

ด้านหน้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ Intel NUC เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก

ในแง่ของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ Intel NUC ถือว่ามีมาให้แบบใจกว้างพอสมควร มีพอร์ต USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps) และ Thunderbolt 3 และ Thunderbolt 4 (แบนด์วิธ 40Gbps) มาให้ใช้ โดยมีพอร์ต USB 5-6 พอร์ต (สองพอร์ตด้านหน้า สามหรือสี่พอร์ตด้านหลัง) และ Thunderbolt 3 1-2 พอร์ต อยู่ที่ด้านหลัง อยู่ที่ว่าซื้อรุ่นไหนมา ฉะนั้นในแง่ของการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมนี่ถือว่าเหลือเฟือมาก นี่ยังไม่นับสล็อต MicroSD card ที่เอาไว้อ่านการ์ดได้อีกนะ การเชื่อมต่อกับจอคอมพิวเตอร์ สามารถเลือกได้ระหว่าง HDMI, Thunderbolt และ USB-C เลย

ถ้าไม่ถูกใจสเปกของชุด Intel NUC ที่เขามีให้ ก็ไปซื้อชุด Kit มาก็ได้ อยากใส่แรมเท่าไหร่ SSD เท่าไหร่ แรงแค่ไหน ก็เลือกเอาตามสะดวกเลย หรือใครซื้อชุดสำเร็จรูปมา แล้วภายหลังอยากอัปเกรด ก็ยังสามารถทำได้อยู่ ยกเว้น อัปเกรดหน่วยประมวลผลไม่ได้นะครับ เพราะมันเป็นแบบบัดกรีติดกับบอร์ดไปเลยฮะ

ในแง่ของการติดตั้ง สามารถวางไว้บนโต๊ะได้สบายๆ ขนาดมันเล็ก กะทัดรัด ไม่ต้องห่วงเรื่องกินพื้นที่มาก แต่ถ้าไม่อยากวางไว้บนโต๊ะ ก็สามารถติดไว้ด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ได้ หากจอคอมพิวเตอร์รองรับ VESA mount แต่มันก็จะทำให้การเสียบพอร์ตต่างๆ ยุ่งยากอยู่

ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ไม่ได้เลิศสุด แต่เป็นที่ใช้กันแพร่หลายสุด

ในขณะที่ผมต้องขอชม Microsoft ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows 10 มาได้ดีขึ้นมากๆ หลายๆ ฟีเจอร์นี่ก็เอาอย่าง Linux หรือ macOS มาได้โอเค (เช่น Multi-desktop หรือ Gesture control) เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการที่ต้องทำเผื่อรองรับฮาร์ดแวร์ที่โคตรจะหลากหลายก็คือ มันดึงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ออกมาได้ไม่สุด แถมเราได้เห็นความแตกต่างในแง่ประสบการณ์ในการใช้งานหลากหลาย อยู่ที่ว่าเราไปใช้งานคอมพิวเตอร์สเปกแบบไหน แต่โชคดีที่ถ้าเราเลือกสเปกระดับ Core i5 กับแรม 16GB และ SSD แบบ NVMe ความเร็วซัก 1.5GB/s ผมว่าประสบการณ์ในการใช้งานก็ไม่ได้แย่อะไร ตอนซื้อมาก็ราวๆ 17,xxx บาท (ราคาของร้าน SPEED COMPUTER ในตอนที่ผมซื้อ)

แต่เพราะระบบปฏิบัติการมันเค้นประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลออกมาได้ไม่เต็มที่นี่แหละ มันก็เลยยังใช้งานพวกโปรแกรมจำพวกตกแต่งกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอได้ไม่ดีเท่ารุ่นที่มีการ์ดจอแยกต่างหาก แต่จริงๆ ชิปประมวลผลกราฟิกของตัวหน่วยประมวลผลของ Intel ก็ทำออกมาได้ดีระดับนึงแล้วนะ โดยเฉพาะ Intel Iris Xe Graphics อะนะ ถ้าจำเป็นต้องเอามาเล่นเกมบ้าง ก็พอถูไถได้ประมาณนึง หากคุณไม่ใช่เกมเมอร์จริงจัง เพราะจากวิดีโอที่เห็น มันก็พอเล่นเกมใหม่ๆ อย่าง Resident Evil 3 Remake ได้อยู่

แต่สำหรับผม การเลือก Intel NUC + Windows 10 เนี่ย เป็นเพราะเราต้องการชัวร์เรื่องจำนวนโปรแกรมที่มีให้เลือกหลากหลายมาก ความคุ้นเคยที่เราอาจจะเคยมีมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ (ในยุคผมนะ เพราะยุคผมนี่ Mac มันแพงมาก จนมิอาจเอื้อม แต่เด็กยุคนี้บางคนอาจจะชินกับ macOS มากกว่าก็เป็นได้) การใช้งานร่วมกับคนอื่นนี่ สมบูรณ์แบบ 100% โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้ Microsoft Office เพราะต่อให้มันแทบจะเข้ากันได้เกือบ 100% แล้วก็ตาม แต่มันก็ยังมีผิดเพี้ยนบ้าง มีบางฟีเจอร์ที่ใช้งานร่วมกันไม่ได้บ้าง เช่นที่เห็นชัดๆ เลยก็ Microsoft Outlook เนี่ย บน Windows 10 เราสามารถทำการ Copy & paste ตารางนัดหมายของเราได้ แต่บน macOS นี่ทำไม่ได้อะ คือ ไอ้เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำไม่ได้เนี่ย มันน่าหงุดหงิดมาก

อ้อ! การอัปเดตตัวระบบปฏิบัติการ ไม่ค่อยทำให้โปรแกรมพังเท่าไหร่ คงเพราะ Microsoft คำนึงถึงเรื่อง Compatibility อยู่มาก คือ กลัวว่าถ้าอัปเดตทีไรต้องมีโปรแกรมบางตัวพังทุกที แบบนี้คนจะไม่ใช้กัน

ราคาแรกเข้าของ Intel NUC มันไม่แพง แต่ก็อาจไม่ได้แรงอย่างที่คิด

เอาจริงๆ ถ้าไม่ได้ตั้งใจใช้อะไรเยอะแยะมากมาย Intel NUC มันมีตัวเลือกที่ประหยัดอยู่ ราคาถูกกว่าซื้อ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 มากอะ ราคาอาจจะแบบ หมื่นต้นๆ หรือพูดง่ายๆ ประหยัดกว่าซื้อ Mac mini ชิป Apple M1 เป็นหมื่นครับ แต่แน่นอนว่าความแรงและประสบการณ์ในการใช้งานนี่ก็จะเทียบไม่ได้ แต่สำหรับบางคน แค่นี้ก็อาจจะพอ

Mac mini คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะราคาพรีเมี่ยมเอาเรื่อง

ตัว Mac mini ผมรีวิวไปแล้ว อยากรู้ว่าประสบการณ์ในการใช้งานเป็นยังไงโดยละเอียด ไปอ่านเอาเนอะ แต่ชื่อมันมินิ แต่ขนาดมันไม่มินิซักเท่าไหร่นะ ถ้าเทียบกับ Intel NUC อะ บอกเลย แถมมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการเอาไปติดหลังจอแบบ VESA ด้วย ฉะนั้น จะซื้อมาใช้ คิดถึงพื้นที่ในการวางซักนิดก็ดี

ภาพด้านบนของเครื่อง Mac mini รุ่นใช้ชิป Apple M1 ตัวเครื่องเป้นสีเงิน มีโลโก้ Apple สีดำ เป็นมันวาว อยู่ตรงกลาง

Apple ขึ้นชื่อเรื่องความอินดี้ในการให้พอร์ตเชื่อมต่อ แต่ด้วยความที่ Mac mini มันมีขนาดที่ใหญ่อยู่ ไม่ต้องห่วงเรื่องความบางเบาอีกตะหาก เขาก็เลยให้พอร์ตมาค่อนข้างโอเค มีทั้งพอร์ต USB-A และ Thunderbolt/USB 4 มาให้ เรื่องจำนวนพอร์ต ผมว่ายังสู้ Intel NUC ไม่ได้ ใครมีอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB-A เยอะๆ อาจต้องเสียตังค์ซื้อพวก USB Hub มาใช้ และอาจจะต้องยอมจ่ายแพงหน่อย (หลักเกือบๆ พัน หรือพันนิดๆ) เพื่อมาเสียบกับพอร์ต Thunderbolt/USB 4 นี่ ซึ่งรองรับ USB 3.2 Gen 2 (แบนด์วิธ 10Gbps)

ด้านหลังของ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 เป็นแถบพลาสติกสีดำ ที่มีพวกพอร์ตต่างๆ อยู่

แต่ด้วยความที่ปัจจุบันพวกคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ macOS มันค่อนข้างแพร่หลายมาก ฉะนั้นฮาร์ดแวร์สำหรับสำนักงานก็มักจะรองรับ macOS ด้วยเช่นกัน เลยไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเรื่องการเชื่อมต่อใช้งาน แต่ฮาร์ดแวร์เฉพาะทางบางอย่างมันก็ทำออกมารองรับเฉพาะ Windows 10 นะ แต่ในทางกลับกัน ฮาร์ดแวร์เฉพาะทางบางอย่าง ที่คนใช้มักจะใช้กับ macOS มันก็ทำออกมาแบบไม่เผื่อคนใช้ Windows เช่นกัน ได้อย่างเสียอย่าง

ระบบปฏิบัติการ macOS รีดประสิทธิภาพฮาร์ดแวร์ได้สุดขีดสุดแล้ว

Mac mini รุ่นชิป Apple M1 นี่เป็นครั้งแรกที่ Apple ออกแบบเองทั้งหมดตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ยันซอฟต์แวร์ ฉะนั้นหมดห่วงเรื่องการรีดประสิทธิภาพออกมาใช้งานเลย ถึงแม้ว่าในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว ARM ที่เป็นพื้นฐานของชิป Apple M1 ดูจะยังไม่แรงเท่าชิปของ Intel แต่เมื่อต้องมาวัดระหว่าง คู่หู OS + ฮาร์ดแวร์ที่เข้ากันได้ดี (macOS + Apple M1) กับ OS ที่ต้องทำเผื่อๆ ไว้ + ฮาร์ดแวร์ (Windows 10 + Intel) ผมว่ามันผลัดกันแพ้ชนะได้ อยู่ที่ว่าคุณเอาเกณฑ์อะไรมาวัด

อย่างตอนที่ Apple ออกมาอวดประสิทธิภาพของ Apple M1 เขาก็บอกเลยว่าประสิทธิภาพก็เรียกได้ว่ามากกว่า 2 เท่าเลย เมื่อเทียบกับชิปคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด (ซึ่งน่าจะหมายถึงชิปของ Intel) ในขณะที่กินไฟแค่ 25%-33% เท่านั้น แต่เว็บ Android Authority เขาไปทดสอบด้วยโปรแกรม Cinebench ที่เป็นโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล ในสภาพแวดล้อมการใช้งานจริง มันให้ผลการทดสอบออกมาว่าชนะพวก Core-i7 Gen 7 และ Core-i9 Gen 9 ได้ และเป็นรอง Core i7 Gen 11 อยู่แบบเฉียดฉิว คือ ถ้าจะว่าผลออกมาดีไหม ก็ต้องบอกว่าออกมาดี แต่ถ้าถามว่ามันเป็นไปตามที่ Apple เขาโม้ไหม ตอบยากครับ เพราะที่ Apple บอกว่าเร็วกว่า Latest PC laptop chip นี่ มันคือตัวไหน บอกไม่ได้ และทาง Intel เองเขาก็ออกมาเปิดข้อมูลผลการทดสอบที่ทำด้วยฝั่งตนเองบ้าง ซึ่งผลก็ออกมาเป็นหนังคนละเรื่องเลย

แต่จากประสบการณ์ในการใช้งานส่วนตัวของผม ถ้าเราเปิดโปรแกรมเยอะๆ มากๆ เปิดเว็บเบราว์เซอร์แบบจำนวนแท็บเยอะมากๆ (20 แท็บขึ้นไป) บน Windows 10 นี่ถ้ามีแรมแค่ 8GB นี่จะรู้สึกถึงชีวิตบัดซบได้เลยครับ ถึงเป็นที่มาที่คอมพิวเตอร์สามเครื่องล่าสุดของผม ต้องมีแรม 16GB แต่กลับกัน Mac mini รุ่นชิป Apple M1 นี่ ผมซื้อรุ่นแรม 8GB มา มันก็ยังวิ่งได้สบายๆ ทั้งๆ ที่ผมเปิด Safari และ Google Chorme กับ Microsoft Edge แต่ละตัวเปิดอย่างน้อยๆ 10 แท็บ เดาว่ามันทำ Paging ได้ค่อนข้างดี (เอาข้อมูลไปเก็บไว้บน SSD แทน) แต่นั่นอาจต้องแลกมาด้วยอายุการใช้งานของ SSD ที่สั้นลงไปมาก จนถึงขั้นมีข่าวที่คนตั้งข้อสังเกตว่า SSD ของเครื่อง Mac ที่ใช้ชิป M1 นี่ เสื่อมสภาพไวเกิ๊น และอาจจะทำให้เริ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาเมื่ออายุซัก 2 ปี แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าปัญหานี้เกิดจากฮาร์ดแวร์หรือบั๊กกันแน่

แต่ผมลองใช้งานกับ Affinity Photo ตกแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ ใส่พวกกราฟิก และซับไตเติ้ล และเรนเดอร์วิดีโอแบบ Full HD ด้วย DaVinci Resolve บอกเลยว่าทำได้ดีไม่แพ้ Intel NUC Core-i5 Gen 8 แรม 16GB ที่ผมใช้ก่อนหน้านี้เลย ในทางกลับกัน พวก Gesture control ของ macOS และ Magic TrackPad 2 มันทำให้ใช้งานอะไรหลายๆ อย่างสะดวกกว่าการใช้เมาส์แบบปกติด้วย ซึ่งบน Windows เองมันยังไม่มีใครทำ TrackPad สไตล์ Magic TrackPad 2 ของ Apple ออกมาอะ ซึ่งถ้ามีคนทำออกมา และถ้าทำได้ดี ผมว่า Windows 10 เองก็โอเคอยู่นะ เพราะ Gesture control เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นมา

ราคาว่าแรงแล้ว แต่ราคาอุปกรณ์เสริม และโน่นนี่นั่นยิ่งแพงกว่า

Mac mini รุ่นชิป M1 ราคาไม่แพง ถ้าเทียบกับเครื่อง Mac ด้วยกัน แต่ถ้าเทียบกับ Intel NUC แล้ว ยังถือว่าราคาแพง แต่นั่นมันยังไม่จบด้วยเนี่ยสิ ตัว Mac mini รุ่นชิป M1 มันอัปเกรดแทบไม่ได้เลย ทั้งแรม และ SSD เป็นแบบติดกับบอร์ดหมดเลยจ้า ดูคลิปคนแกะเครื่องได้ที่นี่

การที่ทุกอย่างถูกติดไว้กับบอร์ดไว้หมดเลย อัปเกรดไม่ได้ ทำให้เราไม่สามารถปรับสเปกทีหลังได้ ดังนั้นจะซื้อใช้นี่คือต้องคิดให้ดีๆ ว่าอยากได้แรมเท่าไหร่ SSD ความจุเท่าไหร่เลย นอกจากนั้น เกิดพังขึ้นมาคือซ่อมเองไม่ได้เลยครับ ดังนั้นผมเลยต้องจำใจ ซื้อ AppleCare+ เอาไว้ อย่างน้อยให้มันประกันไป 3 ปี ก็ยังดี เพราะหลังจากนั้นถ้าพังก็อาจจะซื้อใหม่แล้วล่ะ ถือว่าใช้มาคุ้ม (สองหมื่นปลายๆ ใช้งานสามปี เอาวะ พอๆ กับซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่อง) แต่นั่นก็คือ +3,200 บาท อะ

คีย์บอร์ดของ Apple ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเท่าไหร่ ผมใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่งของ Windows PC ก็ยังโอเค แต่ถ้าอยากใช้ Gesture control ได้ดีสุดก็ต้องซื้อ Magic TrackPad 2 ไง นั่นก็อีก 4,290 บาท (ฮือๆ) รวมๆ แล้ว ซื้อ Mac mini ชิป Apple M1 ตัวถูกสุด ก็ต้องจ่ายรวมๆ ไปเฉียด 30,000 บาทแล้ว นี่ยังไม่นับว่าถ้าจำเป็นต้องซื้อ USB-C hub อีก นั่นก็อีกพันนิดๆ ไหมอะ

สรุปแล้ว ผมมองว่ายังไง? Intel NUC vs Apple Mac mini ชิป M1

ถ้างบน้อย อยากอัปเกรดได้ และกะว่าจะใช้งานร่วมกับคนอื่นได้ชัวร์ๆ 100% หรือคุ้นกับ Windows อยากอยู่กับ Windows มากกว่า แน่นอน คำตอบของคุณก็คือ Intel NUC (หรือ Windows PC แบบอื่นๆ นั่นแหละ) ด้วยราคาเท่าๆ กัน คุณได้สเปกไฮโซกว่ากันเยอะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้ประสิทธิภาพสูงกว่ากันหรอกนะ ทว่า ถ้ามองในแง่ของการเปิดเว็บซัก 20-30 แท็บหรือมากกว่านั้น มีแรมซัก 16GB ก็ถือว่าเหลือเฟือแล้ว ไม่ต้องไปง้อเรื่องการบริหารจัดการแรมดีๆ ของ macOS บน Mac mini Apple M1 ก็ได้

ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ติดใจเรื่องที่จะต้องใช้ macOS ที่อาจจะมีข้อจำกัดเยอะกว่าระบบปฏิบัติการ Windows ไปบ้าง แต่คาดหวังเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานที่ดี สมกับที่ยอมจ่ายราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับสเปกของฮาร์ดแวร์ที่ได้ไปบ้าง โดยเฉพาะ ถ้ารู้สึกว่าต้องทำพวกตกแต่งกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอเยอะๆ หน่อย ผมว่า Apple Mac mini ชิป M1 ก็เป็นทางเลือกที่ดี และนั่นก็คือเหตุผลที่ผมเปลี่ยนจาก Intel NUC ที่ออฟฟิศไปเป็น Apple Mac mini M1 นั่นแหละ เพราะหลังๆ มีงานเล็กงานน้อย ที่ต้องทำอะไรแบบนี้เพิ่มขึ้นเยอะ … อ้อ! ถ้าเป็นคนที่ใช้ Ecosystem ของ Apple เต็มเหนี่ยวอยู่แล้ว เช่น มี iPhone, iPad, Apple Watch การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ macOS ก็ยิ่งทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานมันต่อเนื่องมากขึ้นด้วยแหละ อันนี้เป็นอะไรที่ผมยังเข้าไม่ถึงมาก เพราะผมยังใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android อยู่อะ แถมสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ก็เป็น Fitbit Versa 3 อีก


ภาพแบ็กกราวด์ที่ใช้ในการทำภาพประกอบบล็อกโดย Background vector created by starline – www.freepik.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า